หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๑๖).pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๕๑

เป็นการยุ่งยากในการที่พิจารณาหน้าที่ของตำรวจ เพราะถ้าดูตามส่วนที่สองและที่สามซึ่งว่า มีหน้าที่รักษาการณ์ ตามความเข้าใจก็เพียงแต่ที่จะรักษามิให้เหตุการณ์เกิดขึ้น หามีหน้าที่ที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมไม่ ส่วนหน้าที่สืบสวนคงตกอยู่แก่ตำรวจสันติบาลก์ซึ่งเป็นส่วนที่สี่ ตามความเข้าใจแล้ว ตำรวจมีหน้าที่จะไปสืบสวนจับกุมได้ทุกแห่ง ถ้ามีประกาศเช่นนี้ เกรงว่า จะทำให้สงสัยว่า ตำรวจประเภทที่ ๒ กับ ๓ นั้นมีหน้าที่แต่รักษาการณ์ หากไปสืบสวน ก็จะเป็นการนอกเหนือหน้าที่ไป อีกข้อหนึ่ง คำที่ว่า บาล บางคำก็มี ก. การันต์ บางทีก็ไม่มี สงสัยว่า ด้วยเหตุใด เช่น ตำรวจนครบาล ไม่มี ก. การันต์ ส่วนตำรวจสันติบาลก์ มี ก. การันต์

พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า คำที่ว่า มีหน้าที่รักษาการณ์ ก็หมายถึงความ ไต่สวน และสืบสวน ตลอดถึงการที่จับกุมผู้กระทำผิดด้วย ส่วนคำว่า บาลก์ นั้นก็ได้มาจากภาษาสันสกฤต

พระยาวิชัยราชสุมนต์กล่าวว่า มีความเห็นพ้องกับพระยานิติศาสตร์ฯ และว่า เมื่อไม่ได้กล่าวระบุการต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด ก็เห็นควรจะตัดหน้าที่ออกเสีย เช่น กล่าวแต่เพียงว่า ส่วนที่ ๑ กองบัญชาการ ส่วนที่ ๒ ตำรวจนครบาล ส่วนที่ ๓ ตำรวจภูธร ส่วนที่ ๔ ตำรวจสันติบาลก์ ซึ่งจะมีหน้าที่อย่างใดนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดลงไว้ว่ามีอย่างใด ก็จะหมดปัญหา