อีกประการหนึ่ง พืชผลโดยมากมักจะมีอายุ ๙๐ วัน ซิงเป็นเหตุการณ์พอจะไปได้ ในการที่จะทำการปิดหรือเปิดประชุมนั้น มิใช่เราทำได้ตามชอบใจ เพราะเหตุว่าเป็นการบริหารที่เกี่ยวกับคนภายนอกด้วย เช่น สิทธิในการที่จะฟ้องร้องในโรงศาล ต้องกำหนดแน่นอนว่า วันนั้นวันนี้เป็นนีติกรรม (Legal act) คือ เป็นกรรมในการบริหาร ซึ่งเรื่องนี้อนุกรรมการได้พิจารณาและคิดโดยรอบคอบแล้ว
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ในการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ได้อาศัยความเห็นของนักเขียนบางคนประกอบการพิจารณาของตนเองด้วย คือว่า สำหรับข้อความในมาตรา ๒๙–๓๐–๓๒ และ ๓๓ นั้นเป็นข้อความโยงถึงกัน ซึ่งถ้าเราแก้ไขมาตราหนึ่งมาตราใดแล้ว จะต้องแก้ไขมาตราอื่นด้วย ว่าตามหลักการ คณะกรรมการราษฎรอยู่ในความควบคุมของสภา เพราะว่าสภานั้นมีสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม ก็เมื่อเรากำหนดให้มีประชุมเพียงสมัยเดียวดั่งในมาตรา ๒๘ และมีกำหนดเพียง ๙๐ วันดั่งในมาตรา ๓๐ เห็นว่า ไม่เป็นการเพียงพอ ที่ว่าไม่มีเพียงพอนี้ ก็เนื่องด้วยได้พิจารณาถึงเหตุการณ์ ถึงแม้จะไม่มีตัวอย่างก็ดี และเท่าที่เราได้เปลี่ยนแปลงและประชุมมาแล้วก็ดี เห็นว่า ยังเป็นประเทศที่ยังใหม่ มีกิจการงานที่จะต้องทำอีกเป็นอันมาก และถึงแม้จะมีในมาตราอื่นว่าขยายเวลาไปได้ก็ดี ยังมีความเห็นตามที่พระยาศรยุทธเสนีว่า จะเป็นการเอิกเกริก ยิ่งกว่านี้ ในมาตรา ๓๒–๓๓ ถ้าอ่านดูตามตัวอักษรแล้ว การที่สมาชิกจะร้องขอให้มีการประชุมลอย ๆ ดั่งในมาตรา ๓๓ นั้น คือ ขอให้ประธานนำความกราบบังคมทูล