หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๕๙

พระกรุณาขึ้นไป ส่วนในมาตรา ๓๒ ว่า พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมก็ย่อมได้ ซึ่งหมายความว่า จะเรียกประชุมหรือไม่เรียกก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา ๕๗ บังคับอยู่อีกว่า ในการที่พระมหากษัตริย์จะกระทำใด ๆ กรรมการราษฎรต้องลงนามรับพระบรมราชโองการ เมื่อเช่นนี้ ถึงแม้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบด้วยว่า ควรมีประชุมวิสามัญ หากแต่ว่า คณะกรรมการราษฎรไม่ลงนามเห็นด้วย ก็ไม่ได้ผลตามกฎหมาย และการที่คณะกรรมการราษฎรไม่กระทำเช่นนั้น ก็จะขัดกับสภาซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บังคับควบคุม (Control) เห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้จะใช้ให้ถาวร สมควรจะมีเครื่องผูกมัดคณะกรรมการราษฎรเพื่อให้สมกับรัฐธรรมนูญจริง ๆ และวิธีททีจะกระทำได้นั้นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิธีหนึ่ง ในมาตรา ๒๙ เราอาจจะเพิ่มว่า "ในปีหนึ่ง ท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือมากกว่านั้นแล้วแต่สภาจะกำหนด" ถ้าแก้เช่นนี้แล้ว ในมาตรา ๓๐ ก็ไม่จำเป็น ส่วนมาตรา ๓๒–๓๓ จะเอาไว้คงเดิมก็ได้ หรือว่า ถ้าไม่แก้มาตรา ๒๙ จะแก้มาตรา ๓๓ ก็ได้ว่า "เมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จะร้องขอให้มีประชุมสภา หรือพระเจ้าอยู่หัวก็ตาม จะต้องเรียกประชุม" ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีดั่งว่านี้ และถ้าแก้ในมาตรา ๓๓ ในมาตรา ๒๙ ก็ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ก็มิทำได้ในมาตรา ๓๐ คือ เพิ่มกำหนด ๙๐ วันเป็น ๑๘๐ วัน หรือสุดแล้วแต่จะเหมาะ แต่ทว่า วิธีนี้ไม่สู้จะเหมาะ เพราะเหตุว่า ในการที่ประชุมระหว่าง ๙๐ วันนั้น เราควรจะให้มี interval ไว้บ้าง