หน้า:รายงานการประชุม สร (๒๕๐๓-๐๘-๒๕).pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐๖๖

ปรากฏในประวัติศาสตร์เสมอมา และก็เชื่อกันว่า จะมีเสมอไป ตราบใดที่คนยังเป็นคนอยู่ เพราะฉะนั้น การที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่พยายามอวดดีที่จะไปเลิกการค้าประเวณีเสียเลยนี้ เป็นสิ่งถูกต้อง ถ้าว่าไปออกพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ค้าประเวณีเลย ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติแล้วนั่นซิ ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ควรรับหลักการ แต่เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้อวดดีถึงกับจะทำให้การค้าประเวณีหมดไปในประเทศไทยนี้ ก็ย่อมเป็นการถูกต้อง ข้าพเจ้าต้องขอประทานโทษใช้คำว่า คือ ยอมสู้ความจริง ทีนี้ สิ่งดีในพระราชบัญญัตินี้ขั้นถัดไปในด้านจะว่าสิทธิมนุษยชนหรือด้านนิติศาสตร์อะไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นการก้าวหน้า คือ ทำให้ชายกับหญิงมีความเสมอภาคกันยิ่งขึ้น เกี่ยวด้วยการค้าประเวณีหรือจำกัดการค้าประเวณี เพราะตามกฎหมายก่อน ๆ นี้ เรารู้กันแต่ว่า หญิงคนชั่ว หญิงโสเภณี ชายคนชั่ว ชายโสเภณี เราไม่เคยได้ยิน และไม่มีกฎหมายห้าม มาถึงกฎหมายนี้ พอขึ้นต้นด้วยมาตรา ๔ บทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่า การค้าประเวณี ก็ใช้คำว่า การกระทำต่าง ๆ ข้าพเจ้าไม่อยากจะไปอ่าน มันสะดุ้ง ๆ อะไรนี้ก็บอกว่า การกระทำอะไรก็ตามเถอะ เพื่อสำเร็จความใคร่ทางกามารมณ์ของบุคคลอื่น เป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง นี่ไม่ได้บอกว่า ผู้หญิงทำหรือผู้ชายทำ เพราะฉะนั้น ผู้หญิงทำหรือผู้ชายทำก็เป็นการค้าประเวณีเช่นกัน อันนี้หญิงกับชายเสมอภาคกันดี โดยมากที่เรามักกล่าวว่า ก็สภานิติบัญญัตินี้ผู้ชายเป็นคนทำ เป็นคนออกกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผู้หญิงเสียเปรียบอยู่เรื่อย คราวนี้แหละ ท่านประธาน ผู้หญิงกับผู้ชายเสมอภาคกันจริง ๆ ละ ทีนี้ ก้าวขั้นต่อไปถึงว่า การกระทำหรือยอมรับ การ กระทำที่กระทำต่อบุคคลประเภทเดียวกันหรือคนละเพศ ก็เป็นการค้าประเวณี อันนี้ดีมาก เพราะว่า สมัยนี้เป็นสมัยปรมาณู เกิดมีบุคคลจำพวกหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า กะเทย เตร็ดเตร่ทั่วไปหมด เป็นที่ทราบกันอยู่ นำมาซึ่งความน่าเกลียด สะอิดสะเอียน ขายหน้า และทำให้เกียรติคนของไทยเสื่อมลงเป็นอันมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สมัยปู่ย่าตายายเราเมื่อก่อนนี้ เราไม่เคยพบเคยเห็น เดี๋ยวนี้เป็นของธรรมดาและแพร่ไปในพวกนักทัศนาจร ซึ่งท่านนายกจะส่งเสริมเสียด้วย ก็เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะมีบทบัญญัติห้ามสิ่งอันน่าอับอายขายหน้านี้ เป็นก้าวชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลนี้อีกก้าวหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในด้านความดีของร่างพระราชบัญญัตินี้ ความจริงถ้าจะสาธยายไป ก็ยังมีมาก เอาแต่เพียงหอมปากหอมคอเท่านี้ก็เห็นจะพอ ทีนี้ ด้านที่ข้าพเจ้ามีความห่วงใยถึงความที่ไม่สมบูรณ์แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ถ้าจะแปลญัตติกันได้ หลักการนั้นดี ถ้าว่าโดยเฉียบขาดแล้ว เป็นเรื่องแปรญัตติ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้เป็นของใหม่ และ