หน้า:รายงานการประชุม สร (๒๕๐๓-๐๘-๒๕).pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐๕๗

นายบุญชนะ อัตถากร: กระผมรู้สึกว่า การที่จะเห็นชอบด้วยกับการที่รัฐบาลจะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศนั้น ทุกท่านก็คงจะเห็นพ้องด้วยกับเหตุผลที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงให้ทราบ แต่กระผมมีข้อข้องใจบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะขอกราบเรียนเพื่อทราบประกอบการพิจารณาด้วย ประการที่ ๑ กระผมรู้สึกว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีความจำเป็นนัก และก็ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เห็นว่า ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมาย เพราะว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับเงินคงคลัง งบประมาณ และเงินตรา ก็ดูเหมือนจะให้อำนาจที่รัฐบาลจะทำได้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเมื่อรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาแล้ว สภาก็คงจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยดี เมื่อได้ตรวจดูร่างพระราชบัญญัติทุกมาตรา ประกอบกับข้อตกลงในสัญญาว่าด้วยสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศแล้ว กระผมก็รู้สึกว่า มีหลายเรื่องซึ่งน่าคิดว่า ไม่ตรงกับสัญญาก็มี สัญญาที่ทำกันระหว่างประเทศนั้น กระผมรู้สึกว่า ถ้าตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ถือว่า เป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายพื้นเมือง เมื่อสูงกว่ากฎหมายพื้นเมือง ก็ไม่จำเป็นจะมาบัญญัติไว้ในกฎหมายที่เสนอต่อสภานี้ ถ้าเพียงแต่นำสัญญานั้นมาให้สภารับทราบ ก็น่าจะปฏิบัติไปได้เลยทีเดียว กระผมจะขอชักตัวอย่างเช่นในมาตรา ๘ บอกว่า ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถานที่รับฝากเงินตราไทยและสินทรัพย์อื่น ๆ ของสมาคม อันนี้ในสัญญาที่ทำไว้หรือที่ร่างไว้ว่า ที่จะก่อตั้งสมาคมขึ้นนั้น ในอาติเกิล ๖ เซคชั่น ๙ ก็ได้กำหนดไว้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาบัญญัติไว้ในนี้อีก เพราะว่า ถ้าจะมาบัญญัติไว้ในที่นี้ ข้อความอื่น ๆ ในสัญญานั้นก็ควรจะกำหนดไว้ด้วย เช่น ว่าด้วยการส่งเงินบำรุงหรือเงินตราที่จะนำส่งบำรุง หรือการติดต่อระหว่างสมาชิกของสมาคมต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ควรจะนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย ทีนี้ ตรวจดูต่อไปในมาตรา ๑๐ อนุมาตรา ๑ “ให้ยอมรับนับถือว่า สมาคมนี้เป็นนิติบุคคล” อนุมาตรา ๒ “ให้สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ บรรณสารของสมาคมได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การเวนคืน การแทรกแซงในรูปอื่นใด ไม่ว่าในทางบริหาร ในทางการปกครอง หรือทางการศาล” แต่ถ้าตรวจดูในสัญญาหรือข้อตกลงซึ่งเราจะเข้าเป็นสมาชิกนั้น เขาห้ามเฉพาะการยึด ริบ หรือการเวนคืน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เฉพาะในทางบริหาร กับในทางปกครอง และทางนิติบัญญัติ ส่วนในทางการศาลนั้นเขาไม่ห้าม