หน้า:สยามแพทย์ - ๒๔๖๗.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
สยามแพทยศาสตร์

หายเปนลำดับกันไป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่มิได้ขาดสูญหายพร้อมกันทีเดียว ย่อมจะสูญขาดไปแต่ทีละ ๒, ๓, ๔, ๕, สิ่ง ขาดถอยลงไปเปนลำดับ จึงจะให้เปนเพศต่าง ก็มี คือว่า บุทคลเมื่อจะสิ้นอายุของตนนั้น ปถวีธาตุ ๒๐ ก็ย่อมจะขาดไป ๑๙ หทยัง หัวใจก็ยังอยู่ อาโปธาตุทั้ง ๑๒ ขาดไป ๑๑ ปิตตัง ดีก็ยังอยู่ วาโยธาตุ ๖ ขาดไป ๕ อัสสาสปัสสาโส ลมหายใจเข้าออก ก็ยังอยู่ เตโชธาตุ ๔ ขาดไป ๓ สันตัปปัคคิ ไฟธาตุอบอุ่นกาย ก็ยังอยู่ ถ้าว่าธาตุทั้งหลายขาดสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวมานี้ ท่านย่อมตัดอาการว่า แพทย์ผู้ใดจะเยียวยารักษาสืบไปมิได้เลย ถ้าธาตุทั้ง ๔ จะขาดหย่อนไปแต่ ๑, ๒, ๓, สิ่งดังนั้น ยังจะพยาบาลได้ ให้พิจารณาดูดังกล่าวมานั้นเถิด ฯ

พระอาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์แพทย์ว่าด้วยธาตุพิการ คือ ตามธรรมดาโลกนิยม ปีหนึ่ง ๑๒ เดือนเปน ๓ ฤดู แต่ในคัมภีร์แพทย์นี้ท่านจัดเปน ๔ ฤดู ฤดูหนึ่ง ๓ เดือน คือ เดือน ๕, ๖, ๗, ทั้ง ๓ เดือนนี้ว่าด้วยเตโชธาตุ ชื่อว่า สันตัปปัคคิพิการ ให้เย็นในอก ให้วิงเวียนในอก มักให้กินอาหารถอย ถ้าบริโภคอาหารอิ่มนัก ให้จุกเสียดขัดในอก อาหารมักพลันแหลก มิได้อยู่ในท้อง ให้อยากบ่อย ๆ จึงให้เกิดลม ๖ จำพวก ๆ หนึ่งชื่อ อุทรันตวาต พักแต่สดือถึงลำคอ จำพวกหนึ่งชื่อ อุรปักขรันตวาต พัดให้นาสิกตึง จำพวกหนึ่งชื่อ อนุวาต พัดให้หายใจขัดไป คือว่า เปนลมจับให้นิ่งไป จำพวกหนึ่งชื่อ มหสกวาต คือ ลมมหาสดมภ์ แลลม ๖ ประการนี้เกิดเพื่อเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อกาลาธิจร เอาโกฎสอ ๑ โกฎพุงปลา ๑ ดีปลี ๑ หัวแห้วหมู ๑ เปลือกมูกมัน ๑ ผลผักชี ๑ อบเชย ๑ สะค้าน ๑ ขิง ๑ ผลเอ็น ๑ อำพัน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำให้เปนผงละลายน้ำร้อนแลน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้เตโชธาตุพิการ ฯ