หน้า:หลักภาษาไทย อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๑๒

‘ภันฺเต’ ต้องอ่าน ‘ภัน–เต’ จะอ่านว่า ‘ภน–เต’ อย่างไทยไม่ได้ เพราะสระโอะไม่มี ถึงมีสระโอก็มีรูปอย่างอื่น

เสียงพยัญชนะ ข้อ ๑๓. เสียงพยัญชนะในภาษาไทยมีซ้ำกันอยู่มาก ภาษาเดิมของเขามีสำเนียงต่างกันทุกตัว เป็นเพราะเราเรียกผิดเพี้ยนไปตามภาษาเรา ดังจะอธิบายต่อไปนี้

เสียงพยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤตเขาเรียกตามฐานดังต่อไปนี้:–

วรรค กะ กับตัว ห เกิดแต่ฐานคอ ตัว ค ของเขาเสียงเหมือนตัว G ในคำว่า “God” ของภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฆ

วรรค จะ กับตัว ย และ ศ เกิดแต่ฐานเพดาน แต่ตัว ช มีเสียงเหมือนตัว J ในภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฌ และในวรรคนี้เราเติมตัว ซ เข้าตัวหนึ่งซึ่งมีเสียงเกิดแต่ฟันอย่างตัว ส และตัว ญ ของเขามีเสียงขึ้นจมูก ส่วนไทยเราเรียกเหมือนตัว ย แต่ใช้สะกดในแม่กน และ ศ ของเขามีเสียงคล้าย Sh ในภาษาอังกฤษ แต่ใช้ลิ้นกดเพดาน และมีลมสั้นกว่า Sh แต่ไทยเราออกเสียงอย่างเดียวกับตัว ส

วรรค ฏะ กับตัว ร, ษ และ ฬ เกิดแต่ปุ่มเหงือกมีเสียงก้องขึ้นศีรษะ วรรคนี้ทั้งวรรคไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับวรรค ตะ ซึ่งเกิดแต่ฟัน ตัว ฑ เราเรียกตรงกับตัว ด บ้างเช่น มณฑป, ตรงกับตัว ธ บ้างเช่น กรีฑา, ตัว ร เรียกตรงกัน ตัว ษ ของเขามีเสียงเหมือนตัว Sh อังกฤษ แต่ไทยเราเรียกเหมือน ส และตัว ฬ ก็เรียกเหมือนตัว ล