หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/71

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๑

วินิจฉัยเรื่องผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าขึ้นเสวยราชย์ พระชันสาได้เพียง ๑๑ ปี คงต้องมีผู้ว่าราชการแผ่นดินต่างพระองค์ แต่ผู้ซึ่งจะสำเร็จราชการแผ่นดินเช่นนั้นมิใช่จะเปนได้โดยลำพังเปนพระญาติของพระเจ้าแผ่นดินหรือเปนข้าราชการที่สูงศักดิ์ ต้องมีผู้ตั้งให้เปน ดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนได้ดำรัสสั่งตั้งไว้ก็ดี หรือถ้าไม่ได้ทรงสั่งตั้งผู้ใดไว้ เสนาบดีแลข้าราชการทั้งปวงต้องสมมตมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้นั้นจึงจะเปนผู้สำเร็จราชการแผ่มดินได้ ตามความที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะได้ทรงสถาปนาพระแก้วฟ้าเปนรัชทายาท แลเลื่อนยศท้าวศรีสุดาจันทร์ขึ้นเปนแม่อยั่วเมืองในการสืบสันตติวงศ์นั้น พอจะสันนิษฐานต่อไปได้อีกข้อ ๑ เพียงว่า คงจะได้ตรัสสั่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดไว้ให้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสั่งตั้งผู้ใด ข้อนี้ควรวินิจฉัย ถึงในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็อาจจะได้เปนต่อชั้นหลัง ชั้นแรกนั้นเห็นมีทางที่จะเปนได้อย่างอื่น เพราะการที่จะให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีความขัดข้องอยู่เปนข้อสำคัญ ด้วยประเพณีในกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีแบบอย่างที่จะให้สตรีเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แม้มีแบบอย่างในประเทศที่ใกล้เคียง คือ เมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นเองมีนางพระยาว่าราชการเมือง ก็เปนอัปมงคลบ้านเมือง เกิดข้าศึกศัตรูไปย่ำยี ถึงต้องยอมแพ้แก่กองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช นับว่าเปนตัวอย่าง