หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ระฆัง ฆ้อง บางสิ่งทำด้วยไม้ เช่น กรับคู่ และกรับพวง ก็นับในพวกฆะนะ เพราะเป็นเครื่องสำหรับทำจังหวะเช่นเดียวกัน เครื่องสำหรับทำลำนำบางสิ่งพิจารณาเห็นได้ว่า คงมีผู้คิดแก้ไขเครื่องทำจังหวะเป็นชั้น ๆ จนเลยกลายเป็นเครื่องทำลำนำ เช่น ฆ้องวง เดิมก็เห็นจะแก้ฆ้องเดี่ยวเป็นฆ้องคู่ให้มีเสียงสูงต่ำ (อย่างฆ้องที่เล่นโนห์รา) แล้วแก้ฆ้องคู่เป็นฆ้องราวสามใบให้มีเสียงเป็นหลั่นกัน (อย่างฆ้องที่เล่นระเบงโอละพ่อ) แล้วเติมฆ้องให้ครบ ๗ เสียงเป็นฆ้องวงสิบหกใบ ก็เลยกลายเป็นเครื่องสำหรับใช้ลำนำ ระนาดก็น่าจะแปลงมาแต่กรับโดยทำนองเดียวกัน เครื่องที่กล่าวมาทั้งนี้มีในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ทั้งนั้น

กระบวนจัดเครื่องสังคีตเข้าประสมวงก็ดี ที่กำหนดว่าเครื่องสังคีตประสมวงอย่างไร ควรเล่นในการงานอย่างไรก็ดี ก็เป็นของมีมาแล้วในอินเดียแต่โบราณ พวกชาวอินเดียได้นำแบบแผนมาสู่ประเทศนี้ตั้งแต่ครั้งขอมยังเป็นใหญ่ ครั้นไทยได้มาปกครอง ก็รับต่อมาจากพวกขอม แล้วมาคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยลำดับมา จนเป็นเครื่องดีดสีตีเป่าที่ไทยเราเล่นกันในทุกวันนี้

เครื่องสังคีตที่ไทยได้แบบจากอินเดียนั้น ถ้าว่าโดยลักษณะประสมวงและกระบวนที่ใช้ ต่างกันเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "ดนตรี" คือ เครื่องดีดสีซึ่งมากลายเป็นมะโหรี อย่าง ๑ เรียกว่า "ดุริย" คือ เครื่องตีเป่าซึ่งมากลายเป็นปี่พาทย์ อย่าง ๑ เครื่อง ๒ อย่างนี้ใช้ในการต่างกัน เพราะเครื่องดนตรีเสียงอ่อนหวาน จึงใช้เข้ากับการขับร้องอันมักมีในห้องเรือนเป็นปกติ ส่วนเครื่องดุริยนั้นเสียงย่อมก้องกังวาล จึงใช้เข้ากับการฟ้อนรำอันมักมีกลางแจ้งเป็นปกติ ต้นเค้าของมะโหรีปี่พาทย์มีดังกล่าวนี้