แซหวุ่นกี้หมายจะตีเมืองให้ได้ก่อนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วย แต่เจ้าพระยาทั้ง ๒ ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าพยายามอย่างไรก็ไม่ได้เมือง จนอะแซหวุ่นกี้ออกปากชมฝีมือและขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี แล้วให้ตั้งล้อมเมืองไว้ด้วยเห็นว่า พม่ามีกำลังมากกว่า หมายจะให้เจ้าพระยาทั้ง ๒ ต้องยอมแพ้เมื่อถึงเวลาอดอยากสิ้นเสบียงอาหาร พม่าคอยตีตัดกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปช่วยมิให้ส่งเสบียงอาหารเข้าไปได้ เมืองพิษณุโลกถูกข้าศึกล้อมอยู่ ๔ เดือน จวนจะสิ้นอาหารที่ในเมือง แต่เจ้าพระยาทั้ง ๒ ไม่ยอมแพ้ ให้รวบรวมบรรดาคนฉกรรจ์ทั้งชายหญิงเข้าสมทบกองทหารแล้วยกออกไปปล้นค่ายข้าศึกซึ่งตั้งล้อมเมืองทางด้านตะวันออก ตีหักออกไปจากที่ล้อมได้ ไปตั้งอยู่ ณ เมืองเพชรบูรณ์ อะแซหวุ่นกี้จึงได้เมืองพิษณุโลก แต่พอได้เมืองก็ได้รับท้องตรามาแต่เมืองพม่าว่า เปลี่ยนรัชกาลใหม่ เกิดวุ่นวายในบ้านเมือง อะแซหวุ่นกี้ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เมื่อพม่าจะเลิกทัพกลับไปครั้งนั้น ให้เผาเมืองพิษณุโลกเสีย ในพงศาวดารว่า ไฟไหม้หมดทั้งเมือง เว้นแต่ที่บริเวณวัดมหาธาตุแห่งเดียวที่ไฟมิได้ไหม้
หน้า:เรื่องเมืองพิษณุโลก - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๖.djvu/35
หน้าตา