ในจำนวนนี้เป็นเงินค่าแรงแทนเกณฑ์และค่าผูกปี้เสียถึง ๑๔ ล้านบาท (โดยไม่นับส่วยอื่นๆ) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วรายได้จาก การเก็บเงินกินเปล่าตกราว ๕๖% ของรายได้ทั้งหมด!
๒) ฤชา
ฤชา คือเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บเอาจากราษฎรในการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมในโรงศาล เมื่อเกิดคดีความกันขึ้น ผู้ที่แพ้ความจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายชนะเท่าใด รัฐก็แบ่งเอาเป็นพินัยหลวงเสียครึ่งหนึ่งเป็นค่ธรรมเนียม ถ้าหากคดีนั้นเป็นคดีที่มีพระราชโองการให้จัดตุลาการชำระความจริง โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบหลายอย่าง เช่น ค่ารับสั่ง, ค่าเชิงประกัน, ค่าสืบพยาน, ค่าชันสูตร, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าคัดทูล ฯลฯ รวมแล้ว ๒๓ บาท ฝ่ายจำเลยต้องเสีย ๑๙ บาท (คือลดค่ารับสั่งให้ ๔ บาท) คราวนี้ ถ้าหากจำเลยต้องโทษจองจำ ก็ต้องฟาดเคราะห์เสียค่าธรรมเนียมอีกหลายอย่าง "นายพะทำมะรงผู้คุมเรียกเอาค่าธรรมเนียมลดขื่อ ๑ บาท น้ำมัน ๒ สลึง ร้อยโซ่ ๒ สลึง ถอด ๑ บาท ๒ สลึง ตรวจ ๒ สลึง รวม ๑ ตำลึง" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๑)
ค่าธรรมเนียมในสมัยศักดินานั้นมียุบยิบมากมายเรียกว่าขยับตัวก็เป็ นกระทบค่าธรรมเนียมทุกครั้งทีเดียว เช่นพวกที่ถูกเกณฑ์เข้าเวรรับราชการใช้แรงกษัตริย์ เมื่อเข้าเวรจนครบแล้ว ก็จะได้รับหนังสือสำหรับตัวสำหรับแสดงว่าเข้าเวรแล้ว ไม่ต้องเสียเงินส่วยแทนแรง และภาษีอากรบางอย่างเหมือนคนอื่น หนังสือนี้เรียกว่า "ตราภูมิคุ้มห้าม" แต่ตราภูมินี้มิใช่ได้เปล่าๆ ปลี้ๆ หากต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบดังนี้