หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
4
บทนำ

สิทธิและเอกสิทธิ์ของประชาชนอย่างที่พวกตนมี หรืออย่างที่ชาวอังกฤษในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมี ทั้งต้องระลึกไว้ด้วยว่า ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั้นร่างขึ้นโดยใช้ของเยอรมันเป็นแม่แบบ ซึ่งเหมาะสมที่สุดกับสภาพในญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ส่วนรัฐธรรมนูญทางการเมืองของสาธารณรัฐอเมริกาและจักรวรรดิบริเตนนั้นก่อความเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานจนเกินกว่าจะเป็นต้นแบบของชาติที่เพิ่งโผล่พ้นระบอบเจ้าขุนมูลนายและระบอบจักรพรรดิอำนาจสมบูรณ์อันมีมาหลายศตวรรษได้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบจักรพรรดินั้นไม่อาจกระทำอย่างสุดโต่งเกินควรหรือฉับพลันเกินไปได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างทีละเล็กและทีละน้อย ประชาชนทั้งปวงต้องได้รับการศึกษาจนถึงขั้นที่ตนสามารถเข้าใจและเห็นค่า ซึ่งมิใช่แต่ในเรื่องสิทธิและเอกสิทธิ์ทางการเมือง แต่รวมถึงเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย ฟูกูซาวะ[1] สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น เคยเขียนไว้ว่า

"เพราะธรรมเนียมอันพิลึกซึ่งดำรงอยู่มานานเหลือใจ เราจึงตายด้านไปทั้งหมดในเรื่องเอกสิทธิ์ของเราและสิทธิของเรา"

ชาวญี่ปุ่นจำต้องได้รับการศึกษาทีละขั้นจนกว่าจะเห็นค่าในสิทธิและหน้าที่ของปวงประชา ดังนั้น ในแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญจึงเป็นเหมือนครูใหญ่ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม

ทีนี้ เพื่อความสะดวก เรื่อง "ระบอบจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น" นี้จึงอาจแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

1. พระราชอำนาจ
2. องคมนตรีสภา
3. "รัฐบุรุษอาวุโส"
4. คณะรัฐมนตรี
5. สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
ก. สภาขุนนาง
ข. สภาผู้แทนราษฎร
6. ฝ่ายตุลาการ
7. สิทธิและหน้าที่ของคนในบังคับ
8. พรรคการเมือง
9. ความคิดเห็นสาธารณะ
10. บทสรุป
  1. ฟูกูซาวะ ยูกิจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
(324)