หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
1. พระราชอำนาจ

อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ เป็นหลักการรากฐานของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มาตรา 1 มีเนื้อความว่า

"ให้จักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ภายใต้รัชกาลและการปกครองของจักรพรรดิเป็นลำดับไม่ขาดสายไปชั่วกาลนิรันดร์"

โคชากุอิโต[1] ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมาตรานี้ไว้งานเรื่อง อรรถกถาว่าด้วยรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น[2] ของตนดังนี้

"เป็นที่มุ่งหมายกันว่า จักรพรรดิผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นย่อมทรงรวมอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐกับทั้งการปกครองประเทศและพสกนิกรเข้ามาไว้ในพระองค์เอง"

ในอังกฤษ มีการใช้ "เทวสิทธิ์ของราชา" อย่างสุดโต่งจนชาลส์ที่ 1[3] ต้องพระเศียรหลุด แต่ในญี่ปุ่น รับรู้กันว่า "เทวสิทธิ์ของจักรพรรดิ" นั้นมีอยู่จนถึงระดับที่สมาชิกราชวงศ์สทิวเวิร์ตคนใดก็ไม่อาจเคยนึกเคยฝันถึงได้ ในงานเขียนของเขาชื่อ พัฒนาการทางการเมืองของญี่ปุ่น[4] อูเอฮาระกล่าวประเด็นนั้นไว้แจ่มแจ้งนัก เขายืนกรานว่า ราชดำรัสอันเลื่องลือของหลุยส์ที่ 14 ที่ว่า "รัฐหรือ คือข้าเอง" นั้น จักรพรรดิญี่ปุ่น "ทรงนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งกว่าตัวผู้ตรัส" เสียอีก และนอกจากนี้ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้นี้ยังสรุปสถานะของจักรพรรดิไว้ว่า

"ตามความรู้สึกนึกคิดแบบญี่ปุ่นแล้ว พระองค์ทรงเป็นสิ่งสูงสุดในจักรวาลของญี่ปุ่น เฉกเช่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นในจักรวาลสำหรับนักปรัชญาแนวสรรพเทวนิยม ทุกสิ่งก่อกำเนิดจากพระองค์ ทุกสิ่งสถิตอยู่ในพระองค์ บนพื้นปฐพีญี่ปุ่น ไม่มีสิ่งไรดำรงอยู่โดยไม่ขึ้นกับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่เป็นเจ้าของจักรวรรดิ เป็นผู้สรรค์สร้างกฎหมาย ความยุติธรรม เอกสิทธิ์ และเกียรติยศ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติญี่ปุ่น ไม่ทรงต้องมีสังฆราชาหรือมุขนายกใดมาถวายมงกุฎให้ในยามขึ้นทรงราชย์ ทรงเป็นใหญ่ในบรรดากิจทางโลกของรัฐ กับทั้งในบรรดาเรื่องทางธรรม และทรงเป็นรากฐานศีลธรรมแห่งสังคมและพลเมืองญี่ปุ่น"[5]

  1. คือ อิโต ฮิโรบูมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วน "โคชากุ" นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นเอก ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "prince" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. Igirisu Horitsu Gakko, Tokyo, 1889, p. 3.
  3. พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. Dutton, New York, 1910, pp. 19–24.
  5. Ibid., p. 23.
(325)