ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
8
[เล่ม 6
ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น

นั้น ก็มิได้ต่างมากนักจากธรรมเนียมที่มีการให้ "อำนาจอันสงวนไว้" แก่ฝ่ายบริหารในประเทศอื่น ๆ จนถึงกับต้องออกความเห็นอันใดเป็นพิเศษ ขอชวนให้ไปดูมาตรา 11–16[1] ก็น่าจะพอแล้ว

ทว่า ในหัวข้อ "พระราชอำนาจ" นี้ มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่บทหนึ่งที่จำต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ รัฐธรรมนูญจะแก้ไขเพิ่มเติมมิได้ ถ้าไม่มีรับสั่งให้เสนอร่างกฎหมายเพื่อการนั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ และทีนี้ ไม่ว่าสภาใดก็ไม่สามารถอภิปรายกันเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมได้ เว้นแต่มีสมาชิกของตนมาประชุมอยู่ด้วยถึง 2 ใน 3 อนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมก็จะผ่านไม่ได้ ถ้าไม่มีการอนุมัติจาก 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม[2] ในเรื่องที่ว่า เหตุใดสภานิติบัญญัติจึงริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมมิได้นั้น อิโตอธิบายโดยกล่าวว่า "สิทธิแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นของจักรพรรดิเอง เพราะพระองค์แต่ผู้เดียวที่เป็นผู้สรรค์สร้างรัฐธรรมนูญ"[3] อย่างไรก็ดี คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า จักรพรรดิทั้งหลายที่ทรงพระปรีชา ย่อมจะสดับตรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม ดุจเดียวกับที่จักรพรรดิพระองค์ก่อน ซึ่งยามนี้เป็นที่รู้จักกันว่า จักรพรรดิเมจิ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญตามความปรารถนาหรือเสียงเรียกร้อง

เกี่ยวกับพระราชอำนาจในญี่ปุ่นนั้น โดยทั่วไปแล้วอาจพูดได้ว่า ถึงแม้จะไม่ถูกจำกัด ไม่ว่าในทางนิตินัยหรือในทางทฤษฎีก็ตาม แต่ในทางพฤตินัยนั้น ก็ยังถูกจำกัดอยู่บ้าง อูเอฮาระว่า "จะธรรมเนียมหรือกฎหมายใดก็ดี ทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจะรัฐธรรมนูญก็ดี มิได้จำกัดอำนาจอธิปไตยอันสูงสุดของพระองค์ไว้เลย พระองค์ทรงเป็นเจ้าใหญ่นายโตที่สุดในจักรวรรดิ"[4]

กระนั้น การบริหารราชการอย่างแท้จริง ก็หาได้ถูกจักรพรรดิแทรกแซง พระองค์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง จักรพรรดิพระองค์ก่อนทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการแผ่นดินอย่างลุ่มลึกเป็นการส่วนพระองค์ แต่ไม่เคยทรงแสดงความปรารถนาที่จะทรงดำเนิน "การปกครองด้วยพระองค์เอง" แม้แต่น้อยนิด เพราะเหตุนั้น จึงไม่ยากเย็นสำหรับจักรพรรดิที่จะเป็น "กษัตริย์โดยสมบูรณ์" และเป็นเจว็ดโดยสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กัน เว้นแต่จักรพรรดิพระองค์นั้นจะเป็นผู้ทรงพระบารมีแรงกล้า ซึ่งมักเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเก่า และก็มิใช่จะเป็นไปไม่ได้ในญี่ปุ่นใหม่ อูเอฮาระยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยวเป็นที่สุดว่า "ความแข็งแกร่งและคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นนั้น . . . มิได้ขึ้นอยู่กับพระบารมีของจักรพรรดิ"[5] 

  1. ที่ภาคผนวก
  2. มาตรา 73
  3. Op. cit., p. 140.
  4. Op. cit., pp. 193–194.
  5. Ibid., p. 201.
(328)