หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/51

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
41
พรรคการเมือง

ซึ่งเป็นการหลอมรวมกันเพียงหนึ่งเดียว ก็สลายตัวลงสู่องค์ประกอบดั้งเดิม ครั้นปี 1900 เซยูไก[1] พรรคใหม่ของอิโต[2] ซึ่งมีกลุ่มเสรีนิยมกลุ่มเดิมเป็นแกนกลาง ก็ได้รับเชิญให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน ซึ่งดำรงอยู่ต่อมาเพียงสั้น ๆ ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นดูประหนึ่งจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความนิยมในช่วงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ อนึ่ง ในเรื่องความพยายามครั้งแรกนั้น ก็เหมือนที่อูเอฮาระนำเสนอ คือ "ความสำคัญจริง ๆ อยู่ในข้อที่ว่า ได้ทำให้อคติเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพรรคเมืองจะเป็นรัฐมนตรีมิได้นั้นสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง"[3] คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิกับยามาโมโตะ[4] นั้นเป็น "คณะรัฐมนตรีแบบมีพรรคการเมือง" แท้ ๆ และคณะรัฐมนตรีของโอกูมะ[5] ก็เป็นเช่นนั้นยิ่งกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็น "คณะรัฐมนตรีที่อิงตัวบุคคล" โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีตัวโอกูมะเองเป็น "นายก" อยู่ด้วยก็ตาม

และนี่ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงลักษณะเด่นอย่างแปลกประหลาดของพรรคการเมืองญี่ปุ่น นี่เป็นองค์ประกอบส่วนบุคคลซึ่งทำให้ฝักฝ่ายและพรรคการเมืองต่าง ๆ ระดมตัวอยู่รายรอบคนมากกว่ารายรอบวิธีการ หรือก็คือ อิงตัวบุคคลมากกว่าจะอิงหลักการ แน่ล่ะ ลักษณะเด่นเช่นนี้เป็นสิ่งเหลือรอดมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ดังที่โอซากิ (บัดนี้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม)[6] เคยชี้เอาไว้ในบทความในนิตยสารชื่อ ชินเซกิ (ศตวรรษใหม่) เขาว่า "ข้อเท็จจริง ก็คือ นักการเมืองส่วนใหญ่ของพวกเรายังคงติดพันอยู่กับความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ทัศนคติที่พวกเขามีต่อประธานพรรคนั้น เป็นอย่างเดียวกับที่บริวารของไดเมียวมีต่อเจ้านายตนทุกประการ"

ความแปลกประหลาดอีกอย่าง คือ สายใยของพรรคการเมืองนั้นไม่แน่นแฟ้น และหลักการของพรรคการเมืองก็ไม่แน่นอน ปัจเจกบุคคลทั้งหลายย่อมเห็นว่า การแปรพักตร์จากพรรคหรือฝักฝ่ายหนึ่ง ๆ ไปสู่อีกอันหนึ่งนั้นไม่ยากเลย ซึ่งมักเป็นไปโดยไม่ต้องละทิ้งหลักการของตนก็ได้ ถ้าจะมีอยู่สักหลัก! โดยมากแล้ว สาเหตุในเรื่องนี้ คือ ความที่แนวนโยบายของพรรคนั้นไม่แน่นอนและกวาดกว้าง หรือสภาพที่ไร้หลักการเด่นชัดอย่างแท้จริงอันจะช่วยจำแนกพรรคต่าง ๆ ออกจากกัน ตัวอย่างเช่น มีการพบว่า การเพิ่มภาษีที่ดินนั้นได้เสียงสนับสนุนและคัดค้านจากพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน ตามแต่สถานการณ์ ส่วนโอกูมะ[7] และโอซากิ[6] ซึ่งตอนนี้ได้ "อยู่ในวงการ" แล้ว ก็นำเสนอแผนเพิ่มกำลังทหารบกซึ่งพวกคนเคยคัดค้านอย่างแข็งขันสมัยที่ "อยู่นอกวงการ" และบุคคลเหล่านี้ก็มิได้สนใจที่ใครกล่าวหาว่า ไร้ความคงเส้นคงวา พวกเขาดูจะเห็นพ้องกับเอเมอร์สัน[8] ว่า "ความคงเส้นคงว่าแบบโง่ ๆ ก็คือ เรื่องสยองขวัญสำหรับคนใจแคบ"

  1. ชื่อพรรคการเมือง ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. อิโต ฮิโรบูมิ ดู Itō Hirobumi (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. เรื่องเดิม, หน้า 241.
  4. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิ คิมโมจิ และยามาโมโตะ ทัตสึโอะ ดู Second Saionji Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. อาจหมายถึง คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. 6.0 6.1 ยูกิโอะ โอซากิ ดู Yukio Ozaki (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. โอกูมะ ชิเงโนบุ ดู Ōkuma Shigenobu (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. Emerson, R. W. (1841). "Self-Reliance". Essays: First Series: 79–117.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
(361)