จึงเห็นแล้วว่า: ในมูลค่าใช้สอยของสินค้าทุกชิ้นมีกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายเจาะจงหรือแรงงานที่มีประโยชน์อยู่ มูลค่าใช้สอยไม่สามารถเผชิญหน้ากันในฐานะสินค้าได้ หากแรงงานมีประโยชน์ข้างในมีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ในสังคมที่โดยทั่วไปผลผลิตมีรูปเป็นสินค้า กล่าวคือในสังคมของผู้ผลิตสินค้า ความแตกต่างเชิงคุณภาพของแรงงานมีประโยชน์ ซึ่งดำเนินโดยไม่ขึ้นต่อกันฉันธุรกิจเอกชนของผู้ผลิตอิสระ ก็จะพัฒนากลายเป็นระบบหลายแขนง กลายเป็นการแบ่งงานทางสังคม
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคนใส่เป็นช่างตัดเสื้อหรือลูกค้าของช่าง เสื้อคลุมก็ทำงานเป็นมูลค่าใช้สอยในทั้งสองกรณี ความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อคลุมกับแรงงานที่ผลิตมันในและโดยตัวเองก็ไม่เปลี่ยน แม้การตัดเย็บจะกลายเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง หรือกลายเป็นแขนงของตัวเองในการแบ่งงานทางสังคม ความต้องการเครื่องนุ่งห่มคาดคั้นให้มนุษย์ตัดเย็บเสื้อผ้ามาหลายพันปีก่อนมีใครได้เป็นช่างตัดเสื้อเสียอีก แต่การมีอยู่ของเสื้อคลุม ผ้าลินิน ตลอดทุกองค์ประกอบความมั่งคั่งเชิงวัตถุซึ่งไม่พบในธรรมชาติ ในทุกยุคทุกสมัย ต้องสื่อผ่านกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายเจาะจง ซึ่งกลืนกลายวัสดุธรรมชาติที่เจาะจงเข้ากับความต้องการของมนุษย์ที่เจาะจง ในฐานะผู้สร้างมูลค่าใช้สอย ในฐานะแรงงานมีประโยชน์ แรงงานจึงเป็นเงื่อนไขต่อการมีอยู่ของมนุษย์โดยไม่ขึ้นกับรูปแบบของสังคม เป็นความจำเป็นธรรมชาติโดยสถาพรในการสื่อวัสดุปริณาม[a]ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ และจึงเป็นสื่อของชีวิตมนุษย์
มูลค่าใช้สอยอย่างเสื้อคลุม ผ้าลินิน ฯลฯ โดยย่อว่ากายสินค้านั้นเป็นพันธะของธาตุสองชนิด คือวัสดุธรรมชาติกับแรงงาน หากเราถอนแรงงานมีประโยชน์ทั้งหมดออกมาจากเสื้อคลุม ผ้าลินิน ฯลฯ จนเกลี้ยง ก็จะเหลือเพียงวัสดุสารตั้งต้นเสมอ ซึ่งพบเจอได้ในธรรมชาติโดยไม่พึ่งมนุษย์ ในการผลิต มนุษย์กระทำเฉกเช่นธรรมชาติได้เท่านั้น กล่าวคือทำได้เพียงเปลี่ยนรูปของวัสดุ[1][b] ยิ่งกว่านั้น ในแรงงานที่เปลี่ยนรูปเอง
- ↑ „ปรากฏการณ์ทั้งปวงในจักรวาล ไม่ว่าจะผลิตด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือด้วยกฎสากลของฟิสิกส์ มิได้ทำให้นึกถึงการสร้างที่แท้จริง แต่เพียงแค่การดัดแปลงสสาร ในการวิเคราะห์มโนคติของการผลิตซ้ำ ปัญญามนุษย์พบเพียงองค์ประกอบของการประกบและการแยกออก และเช่นกันในการผลิตซ้ำมูลค่า (มูลค่าใช้สอย แต่ในบทโจมตีพวกฟิซิโอแครต แวร์รีเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่ากำลังพูดถึงมูลค่าแบบไหน) และความมั่งคั่ง เมื่อดิน อากาศ และน้ำในนาแปรเป็นธัญพืช เมื่อกาวจากแมลงแปรเป็นผ้ากำมะหยี่ด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือเมื่อชิ้นส่วนโลหะถูกจัดวางเพื่อประกอบเป็นนาฬิกา“. (ปีเอโตร แวร์รี: „Meditazioni sulla economia politica“ (พิมพ์ครั้งที่หนึ่งปี 1773) ใน italienischen Oekonomen ฉบับของกุสโตดี, Parte Moderna, เล่ม XV หน้า 22).
- ↑ Stoffwechsel หมายถึง Metabolism หรือกระบวนการสร้างและสลายในร่างกาย และหมายตรงตัวว่าการเปลี่ยนวัสดุ "วัสดุปริณาม" มาจากคำว่า ปริณาม ซึ่งแปลว่าการผันแปร/เปลี่ยนแปลง/ย่อยไป นอกจากนี้ยังมีคำว่า ปริณามัคคี ซึ่งหมายถึงไฟย่อยอาหารในการแพทย์แผนไทย จึงเป็นการรักษานัยทั้งสอง (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Verri, Pietro (1804). Scrittori Classici Italiani di Economia Politica Parte Moderna XV. น. 21, 22. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)