ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:Great & wonderful revolution in Siam (1690).pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
7
คำนำถึงผู้อ่าน

ณ ที่นั้น เขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจะถึงกาลแตกดับ และในสรรพสิ่งที่เขามี เขาก็รักษาไว้ได้ไม่ถึง 2,000 คราวน์ ในสภาพอันน่าเศร้านี้ ซึ่งมีความทุกข์ตรม เหนื่อยอ่อน และง่วงงุนถาโถม เรื่องประหลาดก็อุบัติขึ้นแก่เขา เขาทอดกายลงบนชายหาด จะหลับหรือตื่นอยู่เขาก็บอกตนเองไม่ถูกตอนที่เขาเพ้อไปว่า เห็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเปี่ยมสง่ามองมาที่เขาพร้อมสีหน้าแย้มยิ้มพลางกล่าวแก่เขาอย่างเอื้อเฟื้อเหลือล้นว่า "กลับไป กลับไปยังที่ที่เจ้าจากมา" ถ้อยคำนี้มีผลต่อเขามาก (เพราะนับแต่นั้นมาเขาก็มักไปแย้งเรื่องนี้กับคนรู้จักหลายคน) จนเขาถึงกับหลับไม่ลงตลอดราตรีที่ยังเหลือ ด้วยในห้วงความคิดมีแต่เรื่องจะหาหนทางกลับสยามได้อย่างไร

วันรุ่งขึ้น ขณะเดินอยู่ริมทะเล พลางใคร่ครวญถึงเรื่องที่ตนเห็นมาในยามราตรี และไม่แน่ใจว่า ควรคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ดี เขาก็เห็นชายคนหนึ่งมุ่งตรงมายังเขาด้วยกายชุ่มโชกพร้อมสีหน้าเศร้าโศกและขวัญเสีย นั่นคือเอกอัครราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเรืออับปางเมื่อกลับจากเปอร์เซีย โดยรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลยนอกจากชีวิตของตน คนทั้งคู่พูดภาษาสยามได้ ในไม่ช้าจึงได้รับรู้เรื่องราวการผจญภัยของกันและกัน เอกอัครราชทูตได้ประสบเองและแถลงว่า ตนต้องตกระกำลำบากแสนเข็ญเพียงไร เมอซีเยอกงสต็องส์ปลอบเขาในเรื่องความอับโชค และเสนอจะพาเขากลับสยาม และกงสต็องส์ได้ซื้อสำเภาขนาดย่อม เสื้อผ้า และเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยใช้เงิน 2,000 คราวน์ที่รักษาไว้ได้นั้น อุปนิสัยอันเอื้อเฟื้ออย่างเหลือหลายนี้ต้องใจเอกอัครราชทูตสยามผู้ซึ่งนับแต่นั้นมาก็ได้พากเพียรทุกทางในการแสดง[1] ความซาบซึ้งน้ำใจที่ตนมีต่อเขา ครั้นพวกเขามาถึงสยาม และเอกอัครราชทูตได้พรรณนาการเจรจาและเหตุเรือล่มต่อหัวหน้าเสนาบดีแล้ว ก็บอกหัวหน้าเสนาบดีถึงความช่วยเหลือทั้งหลายที่ตนได้รับจากเมอซีเยอกงสต็องส์ พร้อมคำเยินยอข้อดีของเขาเสียยกใหญ่ จนหัวหน้าเสนาบดีมีใจใคร่รู้จักเขาบ้าง หัวหน้าเสนาบดีได้แสดงอัธยาศัยไมตรีต่อเขาในการสนทนากับเขา[2] และชื่นชอบเขามากยิ่ง ถึงขั้นที่ตกลงใจจะเอาเขาไว้ข้างกายในตำแหน่ง

ที่
  1. ในภาษาเก่า "testify" แปลว่า (1) เป็นพยาย ยืนยัน (2) ทำให้ปรากฏ ทำให้เป็นที่รับรู้ ดังที่ Kersey (1708, น. 237) นิยามว่า "to witneſs, or certify; to make appear, or make known" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ในภาษาเก่า "entertain" แปลว่า (1) ดำรงไว้ รักษาไว้ มีไว้ (2) ได้รับ ยอมรับ (3) ต้อนรับ แสดงไมตรีจิต (4) ให้ที่อยู่ที่กิน ดังที่ Kersey (1708, น. 237) นิยามว่า "to maintain, keep, or lodge; to receive, or accept of, to treat" แต่ "entertain in discourse" (อาจแปลตรง ๆ ว่า "มีไว้ในการสนทนา", "แสดงไมตรีจิตในการสนทนา", ฯลฯ) ดูจะเป็นสำนวนโบราณที่อาจมีความหมายอย่างอื่น (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)