หน้า:Karl Marx - Wage Labor and Capital - tr. Harriet E. Lothrop (1902).djvu/51

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
บท VII
 
กฎทั่วไปซึ่งกำหนดการขึ้นลงของค่าจ้างและกำไร

เรากล่าวว่า: “ค่าจ้างฉะนั้นไม่ใช่ส่วนแบ่งที่คนงานมีในสินค้าที่เขาเองผลิต ค่าจ้างเป็นหนึ่งส่วนของสินค้าที่มีอยู่แล้ว ที่นายทุนใช้ซื้อพลังแรงงานการผลิตมาปริมาณหนึ่ง” แต่นายทุนเขาต้องทดแทนค่าจ้างเหล่านี้ด้วยราคาของสินค้าที่คนงานทำขึ้นมา เป็นกฎว่า เขาต้องทดแทนให้เหลือส่วนที่เกินไปจากต้นทุนการผลิตที่เขาจ่ายไป นั่นก็คือ เขาต้องทำกำไร จากมุมมองของนายทุน ราคาขายของสินค้าที่คนงานทำขึ้นแบ่งออกเป็นสามส่วน: หนึ่ง ที่ทดแทนราคาวัตถุดิบที่เขาจ่ายล่วงหน้า รวมถึงค่าบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ใช้แรงงานต่าง ๆ ที่เขาจ่ายไปล่วงหน้าเช่นกัน สอง ที่ทดแทนค่าจ้างที่เขาจ่ายล่วงหน้า และสาม ส่วนเกินที่เหลือ กล่าวคือ กำไรของนายทุน ขณะที่ส่วนแรกนั้นเพียงทดแทนมูลค่าที่มีอยู่ก่อน เห็นได้ชัดว่าที่ทดแทนค่าจ้างและส่วนเกิน (กำไรของทุน) โดยรวมแล้วเอามาจากมูลค่าใหม่ อันที่คนงานผลิตด้วยแรงงานและเพิ่มเข้าไปในวัตถุดิบ ในแง่นี้ เรามองได้ว่าค่าจ้าง อีกทั้งกำไร ในการนำมาเปรียบเทียบกัน เป็นส่วนแบ่งในผลผลิตของคนงาน