พระนเรศวรมหาราช แต่หลังแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปแล้ว ก็มีข้อความเหมือนกันเป็นส่วนมาก ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอสมุดแห่งชาตินั้น มีข้อความเหมือนกันตั้งแต่ต้นไปจนเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐
มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ ปรากฏว่ามีบานแพนกอีกแห่งหนึ่งซึ่งแสดงว่า ใน จ.ศ. ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระพระราชพงศาวดารตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จบเพียงให้เตรียมกองทัพไปตีเมืองละแวก บานแพนกนี้กรมศิลปากรได้ให้ตีพิมพ์ลงไว้ในหนังสือนี้ด้วยแล้ว ดังปรากฏอยู่ในหน้า ๕๑ และ ๕๒
ตอนปลาย คือ เริ่มตั้งแต่สมัยจลาจลและสมัยกรุงธนบุรีไปจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๗ อันเป็นปีที่ ๓ ของรัชกาลที่ ๑ ซึ่งหมดฉบับเพียงเท่านี้นั้น ปรากฏว่าข้อความในหนังสือนี้เหมือนข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีผิดกันก็แต่พลความเล็ก ๆ น้อย ๆ และการใช้ราชาศัพท์ แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ พระราชพงศาวดารฉบับนี้เขียนคำว่าศักราชไว้เฉย ๆ บ้าง เขียนวันไว้เฉย ๆ บ้าง ไม่มีตัวเลขลงไว้ว่าศักราชเท่าใดวันอะไรและขึ้นแรมเท่าใด ทั้งนี้คงจะเนื่องจากยังหาวันเดือนปีที่แน่นอนไม่ได้ จึงเว้นไว้ ไม่ได้ใส่ตัวเลขลงไป ส่วน