อธิบายเครื่องบูชา (2471)/อธิบาย
อธิบายเครื่องบูชา | หน้า | ๑ | |
เครื่องบูชาอย่างไทย | " | ๒ | |
เครื่องทองทิศของหลวง | " | ๒ | |
เครื่องทองห้าของหลวง | " | ๒ | |
เครื่องทองน้อย | " | ๓ | |
กระบะเครื่องนมัสการ | " | ๓ | |
กระบะเครื่องห้า | " | ๓ | |
กระบะบูชาวิปัสนาอย่างมีเชิง | " | ๔ | |
กระบะบูชาอย่างไม่มีเชิง | " | ๔ | |
เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ | " | ๔ | |
ลายฮ่อเครื่องแต่งเรือน | " | ๔ | |
ลายฮ่อเขียนผนังโบสถ์ | " | ๕ | |
ม้าหมู่ในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน | " | ๕ | |
หลักเครื่องบูชาห้าหมู่ | " | ๖ | |
เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน | " | ๗ | |
เครื่องโต๊ะบูชาตามแบบจีน | " | ๘ | |
เครื่องโต๊ะบูชาอย่างจีนซึ่งมาจัดแปลงเปนอย่างไทย | " | ๙ | |
แหล่เครื่องเล่นเทศมหาชาติว่าด้วยเครื่องโต๊ะบูชา | " | ๑๐ | |
โต๊ะกิมตึ๋ง | " | ๑๒ | |
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างใหญ่แบบหลวงในรัชกาลที่ ๕ | " | ๑๒ | |
การจัดโต๊ะบูชา | " | ๑๒ | |
ชิ้นหลักโต๊ะบูชา | " | ๑๓ |
เครื่องบูชาของไทย ถ้าว่าตามแบบแผน ใช้ของ ๔ สิ่งเป็นสำคัญ คือ เทียน ๑ ธูป ๑ เข้าตอก ๑ ดอกไม้ ๑ แต่ตามที่ใช้กันเป็นปกติในพื้นเมืองไทยทางฝ่ายใต้ เช่น ในกรุงเทพฯ นี้เป็นต้น ชอบใช้แต่ดอกไม้ธูปเทียน เข้าตอกหาใคร่ใช้ไม่ ส่วนไทยทางข้างเหนือ เช่น ในมณฑลพายัพ ชอบใช้แต่เทียนกับเข้าตอกดอกไม้ ธูปหาใช้ไม่ ที่ผิดกันเช่นนั้น สันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเป็นด้วยในท้องถิ่นหาของซึ่งลดเสียมิใคร่ได้สดวกเหมือน ๓ สิ่งซึ่งคงใช้อยู่ จึงมักลดเสียสิ่งหนึ่ง แล้วก็เลยติดเป็นประเพณีมา แต่เครื่องนมัสการของหลวงยังคงใช้ของ ๔ สิ่งตามแบบอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อจะแต่งหนังสือนี้ ได้ลองสืบสวนหาต้นตำราว่า เหตุใดจึงใช้ของ ๔ สิ่งดังกล่าวมาเป็นเครื่องบูชา จะมีมูลมาแต่ที่ไหน ได้ความว่า ตามตำราพราหมณ์ในมัชฌิมประเทศแต่โบราณ มีกระบวนใช้เครื่องบูชาหลายอย่างมาก เครื่องบูชาทั้ง ๔ สิ่งที่ไทยใช้ก็มีอยู่ในตำราพราหมณ์ด้วยเหมือนกัน ถ้าจะลงเนื้อเห็นว่า ไทยได้ตำราเครื่องบูชามาแต่พราหมณ์ชาวมัชฌิมประเทศ ก็เห็นจะพอไปได้ แต่มีข้อประหลาดน่าพิสวงอยู่อย่างหนึ่งที่เครื่องบูชาของชาวประเทศอื่น เช่น จีนแลยี่ปุ่นก็ดี หรือที่ถือศาสนาอื่น เช่น พวกฝรั่งถือศาสนาคฤศต์อย่างลัทธิโรมันคาโธลิกก็ดี หรือแขกถือศาสนาอิสลามก็ดี วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องบูชา ดูเป็นทำนองเดียวกันกับไทยทั้งนั้น คือ
๑สิ่งซึ่งให้แสงสว่าง ใช้เทียนบ้าง ตะเกียงบ้าง โคมบ้าง อย่าง ๑
๒สิ่งซึ่งเผาให้เกิดควันดับโสโครก ใช้ธูปบ้าง เนื้อไม้บ้าง แลกำยานบ้าง อย่าง ๑
๓สิ่งซึ่งให้เกิดประทินกลิ่นหอม ใช้ดอกไม้แลเข้าตอกเป็นต้น อย่าง ๑
จะเกิดด้วยมูลอย่างใด จะเอาอย่างตามกัน หรือว่าต่างพวกต่างติดแต่ไปพ้องกัน เป็นประการอันใด ยังค้นไม่ได้ความชัด
อธิบายเครื่องบูชาซึ่งจะแสดงในหนังสือนี้ จะว่าแต่ด้วยกระบวนแต่งตั้งเครื่องบูชา เช่นใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศสยามทุกวันนี้ มีลักษณะต่างกันเป็น ๓ ประเภท จะเรียกตามสดวกแก่การแต่งหนังสือนี้ว่า "เครื่องบูชาอย่างไทย" ประเภท ๑ "เครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน" หรือ "ม้าหมู่" ประเภท ๑ "เครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย" หรือ "โต๊ะจีน" ประเภท ๑ แสดงอธิบายทีละประเภทต่อไป
เครื่องบูชาอย่างไทยซึ่งใช้อยู่เป็นอย่างบริบูรณ์เต็มแบบในเวลานี้ คือ เครื่องนมัสการของหลวง อย่าง ๑ เรียกว่า "เครื่องทองทิศ" (ดู รูปที่ ๑) ซึ่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานพระราชพิธีใหญ่ มีเตียงทองตั้ง เชิงเทียนแถวหนึ่ง ๕ เชิง เชิงธูปแถวหนึ่ง ๕ เชิง พานเข้าตอกแถวหนึ่ง ๕ พาน พานดอกไม้แถวหนึ่ง ๕ พาน
รองลงมาถึงเครื่องห้า (ดู รูปที่ ๒) สำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาพระธรรมเวลาทรงสดับเทศนา มีเชิงเทียน ๒ กระถางปักธูป ๑ กรวยปักดอกไม้ ๕ กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี
อิกอย่างหนึ่งเรียกว่า "เครื่องทองน้อย" สำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาฉะเพาะวัตถุ เช่น พระบรมอัฏฐิ เป็นต้น มีเชิงเทียน ๑ เชิงธูป ๑ กรวยปักดอกไม้ ๓ กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี (ดู รูปที่ ๓)
มีเครื่องบูชาซึ่งเป็นอย่างย่อลงมาจาก ๓ ชนิดที่กล่าวแล้วอิกหลายอย่าง จะว่าแต่ฉะเพาะซึ่งมักใช้กันชุกชุม คือ
อย่างที่ ๑ เรียกว่า "กระบะเครื่องนมัสการ" มีแต่ของหลวงสำหรับทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานพระราชพิธีขนาดน้อย (ดู รูปที่ ๔) มีกระบะเชิงถมยาหรือประดับมุกด์ ในนั้นจัดเครื่องตั้งเหมือนอย่างเครื่องทองทิศที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นแต่ขนาดย่อมลง ตามวังเจ้านายผู้ใหญ่ก็ใช้อย่างนี้เป็นเครื่องทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานต่าง ๆ เช่นของหลวงใช้เครื่องทองทิศ (บางทีกระบะอย่างนี้จะเป็นเครื่องนมัสการของเดิม เอาแบบไปขยายเป็นเครื่องทองทิศก็เป็นได้)
อย่างที่ ๒ "กระบะเครื่องห้า" มีของหลวงสำหรับบูชาพระธรรมตั้งที่เตียงพระสวด แลมักใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยเวลามีงานตามวังเจ้านายแลบ้านขุนนางผู้ใหญ่ (ดู รูปที่ ๕) มีกระบะเชิง ของเจ้านายมักประดับมุกด์ล้วน ของขุนนางมักประดับมุกด์แกมเบื้อ[1] ในนั้น แถวหน้าตั้งเชิง ๕ เชิง เป็นเชิงเทียน ๔ เชิงธูปอยู่กลาง ๑ แถวในตั้งพานดอกไม้ ๔ พาน (สันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเป็นพานดอกไม้ ๒ พาน เข้าตอก ๒)
อย่างที่ ๓ เป็นเครื่องบูชาอย่างน้อย มีเชิงเทียน ๑ เชิงธูป ๑ พานหรือถ้วยใส่ดอกไม้ ๒ (สันนิษฐานว่า เดิมจะเป็นพานดอกไม้ ๑ พานเข้าตอก ๑) แต่เครื่องรองใช้ผิดกันตามชนิดบุคคล
ถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ ใช้กระบะเชิงอย่างเล็กเช่นถวายในบริขารบวชนาคแลบริขารกฐิน พระมักใช้เครื่องบูชาอย่างนี้เมื่อนั่งวิปัสนา จึงเรียกกันอิกอย่างหนึ่งว่า "เครื่องบูชาวิปัสนา" (ดู รูปที่ ๖)
ถ้าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายคฤหัสถ์ เครื่องรองมักใช้พาน แต่ผู้หญิงมักชอบใช้กระบะไม่มีเชิง (ดู รูปที่ ๗)
รองลงไปจากที่กล่าวมา ก็มีแต่เทียนดอก ๑ ธูปดอก ๑ ดอกไม้ช่อ ๑ (หรือกระทง ๑) ถือไปปักแลวางณะที่ซึ่งเขาเตรียมไว้รับในที่มีงาน
ที่สมมตว่า เครื่องบูชาชนิดนี้เป็นอย่างไทยแกมจีนนั้น เพราะความคิดที่จัดเป็นเครื่องบูชาเป็นความคิดไทย แต่กระบวนที่จัดเอาอย่างมาจากที่จีนเขาจัดตั้งเครื่องแต่งเรือน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลายฮ่อ" ซึ่งจีนชอบเขียนฉากแลเขียนเป็นลายแจกันแลของเครื่องถ้วยชามอย่างอื่น (ดู รูปที่ ๘) จีนเรียกว่า "ลายปักโก๊" เป็นของที่ได้เห็นกันมาในประเทศนี้ เห็นจะช้านานแล้ว แต่ตามเรื่องตำนานปรากฎว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างสวนขวาที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ครั้งนั้น ประจวบเวลาราชทูตไทยออกไปเมืองปักกิาฃ ไปได้เครื่องตั้งแต่งเรือนอย่างจีนเข้ามาจัดแต่งพระตำหนักที่ในสวนขวา เป็นเหตุให้เกิดนิยมกันขึ้นเป็นที่แรกว่าเป็นของงามน่าดูถึงเอาไปผูกเป็นลายเขียนผนังโบสถ์ แต่คิดดัดแปลงไปให้เป็นเครื่องพุทธบูชา ยังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้ที่พระอุโบสถวัดราชโอรส (ดู รูปที่ ๙) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธออยู่ในรัชชกาลที่ ๒ แล้วเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร) เอาอย่างมาเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรซึ่งสร้างเมื่อในรัชชกาลที่ ๓ นั้นเป็นต้น สันนิษฐานว่า แม้ในชั้นนั้นก็ยังไม่เกิดเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ มาจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบุรณะวัดพระเชตุพน เมื่อจะฉลองวัดพระเชตุพนใน พ.ศ. ๒๓๙๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหโดยอนุโลมตามลายฮ่อซึ่งเขียนผนังโบสถ์ดังกล่าวมาแล้ว ให้สร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน เป็นม้าหมู่ใหญ่ ๑๑ ตัว (ดู รูปที่ ๑๐) และทรงพระราชดำริให้สร้างม้าหมู่ขนาดน้อย มีม้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาหมู่ละ ๔ ตัว ตั้งประจำพระวิหารทิศ สันนิษฐานว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่เกิดมีขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุนเป็นเดิม แล้วผู้อื่นนิยม ก็เอาแบบอย่างทำกันต่อมาจนทุกวันนี้.
เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ที่ใช้เวลามีการงาน ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประกอบกับเครื่องบูชาเช่นในงานทำบุญเรือนเป็นต้นก็มี ใช้แต่เป็นอย่างเครื่องประดับเช่นตั้งที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่องานระดูหนาวเป็นต้นก็มี ถ้าใช้ตั้งพระพุทธรูป ต้องถือว่าที่ตั้งพระเป็นสำคัญ คือ จะตั้งอย่างไรให้เป็นสง่างาม เหลือที่ตั้งพระเท่าใด จึงจัดเครื่องบูชาเข้าประกอบ คือ เชิงเทียนแลเครื่องปักดอกไม้ เป็นต้น ถ้าตั้งม้าหมู่เครื่องบูชาเป็นอย่างเครื่องประดับ โดยฉะเพาะมีการประกวดกัน มีเครื่องกำหนดสำหรับตัดสินว่าดีหรือเลวด้วยหลักดังอธิบายต่อไปนี้ คือ
๑ความสอาดเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง ถึงตัวม้าหมู่แลเครื่องตั้งเครื่องประดับจะดีปานใด ถ้าปล่อยให้เปื้อนเปรอะสกกะปรก ก็อาจถูกตัดสินเป็นตก ไม่ได้รางวัล เพราะความผิดของเจ้าของ
๒ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือทำประณีตแลความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงามเพียงใด ก็ยิ่งนับว่าดีขึ้นเพียงนั้น ม้าหมู่ที่ทำมาขายแต่เมืองจีนไม่นับเข้าในองค์สำหรับตัดสินให้รางวัล เพราะเป็นของมีขายในท้องตลาดดาษดื่นนับด้วยร้อย หาวิเศษไม่
๓เครื่องบูชาที่ตั้งบนม้าหมู่ จะใช้เครื่องแก้ว หรือเครื่องถ้วย เครื่องโลหะ หรือทำด้วยสิ่งอันใดก็ได้ กำหนดเลือกว่าดีนั้น คือ เป็นของหายาก อย่าง ๑ สามารถหาของประเภทเดียวกันได้หมด ยกตัวอย่างดังเช่นว่า ถ้าใช้เครื่องแก้วเจียรไนหนามขนุน ก็ให้เป็นเครื่องแก้วหนามขนุนได้ทั้งสิ้น หรือใช้เครื่องแก้วแดง ก็ให้เป็นแก้วแดงทั้งสิ้น ดังนี้เป็นต้น อย่าง ๑ สิ่งของที่ตั้งไม่ขัดกับเครื่องบูชา ยกตัวอย่างข้อห้ามดังเอาชามอ่างสำหรับล้างหน้ามาตั้ง หรือเอาคณฑีเขาทำสำหรับใส่สุรามาใช้ปักดอกไม้ ดังนี้เป็นต้น นับว่าขัดกับเครื่องบูชา อย่าง ๑ แต่กำหนดเหล่านี้มีการผันผ่อนให้บ้าง เช่น บางทีคุมของที่หายาก ยกตัวอย่างดังคุมเครื่องแก้วเจียรไนอย่างกะหลาป๋า หาเชิงเทียนแก้วอย่างนั้นไม่มี จะใช้อย่างอื่นแทนก็ไม่ติเตียน เพราะพ้นวิสัยซึ่งจะหาได้ ถ้าว่าโดยย่อ เครื่องตั้งม้าหมู่นั้น ถ้าเป็นของหายาก แลหาได้ครบทั้งชุดหรือโดยมาก นับว่าดี
๔กระบวนจัดตั้งของบนม้าหมู่เครื่องบูชานั้น ต้องจัดให้เห็นสง่างามแก่ตา คือ ได้ช่องไฟและแลเห็นของเล็กของใหญ่ได้ถนัด แม้ในเวลากลางคืน ก็ให้แสงไฟเทียนที่จัดตั้งอาจส่องกระจ่างทั่วทั้งหมู่ม้า จึงนับว่าดี ยังของซึ่งจัดในเครื่องบูชา มีดอกไม้เป็นต้น ยิ่งจัดให้ประณีตงดงาม ก็ยิ่งดี
๕สิ่งของสำหรับจัดตั้งเครื่องบูชาม้าหมู่นั้น ของที่เป็นหลัก จะขาดไม่ได้ ก็คือ เทียน ธูป ดอกไม้ ๓ อย่างนี้ นอกนั้นเห็นอันใดเป็นของสมควร ดังเช่นผลไม้เป็นต้น จะใช้ด้วยก็ได้ แต่มีข้อห้ามตามตำราหลวงมิให้ใช้ดอกไมเหรือผลไม้ซึ่งสาธุชนมักรังเกียจกลิ่น ยกอย่างดังเช่นผลฝรั่ง ผลมะม่วง ผลจันทน์ ที่สุกงอมนั้น เป็นต้น
ซึ่งสมมตเรียกเครื่องบูชาอย่างนี้ว่า "จีนแกมไทย" นั้น เพราะเป็นแบบเครื่องบูชาของจีน ไทยเราเอามาคิดประกอบแก้ไขใช้ตั้งเป็นอย่างเครื่องบูชาไทย ไม่เหมือนกับที่จีนตั้ง จะเรียกว่าเป็นอย่างจีนหรืออย่างไทยไม่ได้ทั้งสองสถาน จึงเรียกว่า อย่างจีนแกมไทย หรือเรียกกันว่า "เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน"
เครื่องบูชาของจีนเขาใช้ตั้งบนโต๊ะ แต่เป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ เป็นโต๊ะเครื่องบูชา อย่าง ๑ เป็นโต๊ะเครื่องเส้น อย่าง ๑ ตั้งด้วยกันบ้าง ตั้งแยกกันบ้าง แล้วแต่ควรแก่การ โต๊ะเครื่องบูชานั้นไทยเราเรียกกันว่า "โต๊ะขวางหลัง" เป็นโต๊ะแคบยาวและสูงกว่าโต๊ะเครื่องเส้น บนโต๊ะเครื่องบูชาตามแบบจีนตั้งของ ๕ สิ่ง คือ เชิงเทียนคู่ ๑ แจกันสำหรับปักดอกไม้คู่ ๑ กระถางสำหรับเผาเครื่องหอมให้เป็นควันใบ ๑ เรียกรวมกันว่า โหงวไส่ โต๊ะเครื่องเส้นนั้น ไทยเราเรียกว่า โต๊ะหน้า เป็นโต๊ะสี่เหลี่ยม เตี้ยกว่าโต๊ะขวางหลัง บนนั้นตามแบบจีน ถ้าจะใช้ในการเส้น แถวหน้าตั้งเครื่องบูชาอย่างน้อย ไทยเราเรียกว่า "เครื่องหน้า" มีเชิงเทียนคู่ ๑ ขวดใบ ๑ สำหรับปักตะเกียบเขี่ยถ่านเครื่องหอม จานเนื้อไม้ ๑ กระถางเผาเครื่องหอมใบ ๑ กลางโต๊ะตั้งเครื่องเส้นตามแต่จะจัด ข้างในตั้งกระถางธูป ไทยเราเรียกว่า "กระถางใน" ปักธูปดอกใหญ่ในนั้น สันนิษฐานว่า จะเส้นสรวงผู้ใด จุดธูปใหญ่เป็นเครื่องหมายเชิญผู้นั้นมารับเครื่องเส้น (ดู รูปที่ ๑๑) โต๊ะเครื่องเส้นมีที่ใช้อิกอย่างหนึ่งในการพระสวดมนต์ ดังเช่นพระญวนทำกงเต๊ก ตั้งลับแลหรือพระพุทธรูป กับขวดปักดอกไม้ไว้แถวหลัง หนัาลับแลต่อออกมาตั้ง "เครื่องหน้า" เช่นกล่าวมาแล้ว ไว้ชานโต๊ะข้างตอนหน้าสำหรับวางหนังสือสวดมนต์และเครื่องสำหรับพระเคาะและโขกให้เสียงเป็นสัญญา โต๊ะอย่างนี้จึงได้นามอิกอย่างหนึ่งเรียกว่า "โต๊ะโขก"
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนซึ่งมาดัดแปลงเป็นอย่างไทย สืบได้ความว่า เริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุพนในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ ในคราว ๆ เดียวกับที่เกิดมีม้าหมู่ ครั้งนั้น โปรดฯ ให้ขอแรงจีนเจ้าภาษีนายอากรแลพวกพ่อค้าให้จัดโต๊ะเครื่องบูชามาตั้งเปนเครื่องประดับในลานวัดพระเชตุพน สันนิษฐานว่า เพราะเปนการตั้งในพิธีทางพระพุทธศาสนา ไม่สมควรจะมีเครื่องเส้น เป็นวิธีจัดโต๊ะจีนอย่างไทยเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ มีจดหมายเหตุปรากฎว่า ต่อมาถึงรัชชกาลที่ ๔ ในงานบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ เจ้าภาษีนายอากร พ่อค้านายสำเภา จัดโต๊ะเครื่องบูชาเข้าไปตั้งเป็นเครื่องประดับในบริเวณพระราชมนเทียรและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีจำนวนถึง ๑๐๐ โต๊ะ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ตั้งแต่งานฉลองวัดพระเชตุพนมาแล้ว คงจะเกิดนิยมเล่นเครื่องโต๊ะชูชาอย่างจีนแกมไทยเปนอันดับมา มีจดหมายเหตุปรากฎต่อมาอิกอย่างหนึ่งว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ นั้น เกิดนิยมทำบุญวันเกิดเปนการใหญ่ขึ้นในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง เมื่อถึงวันประสูติของเจ้านายผู้ใหญ่ก็ดี หรือวันเกิดของขุนนางผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเปนที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม เป็นต้นก็ดี มักเชิญบรรดาผู้ที่เล่นเครื่องโต๊ะอย่างจีนให้เอาเครื่องโต๊ะไปตั้งในงาน แลของใครดีมีรางวัล ก็เกิดเปนการประกวดกันขึ้น เช่น หาสิ่งของที่ตั้งให้เปนลายเดียวกันหมดทั้งโต๊ะ ใคร "คุม" ได้อย่างนั้น ก็นับถือกันว่าดีกว่าเพื่อน การประกวดโต๊ะเครื่องบูชากันครั้งนั้น ถึงมีผู้เอาไปแต่งเปนแหล่เครื่องเล่นเทศน์มหาชาติ กัณฑ์มหาพน ไว้ดังนี้
"พฺรหฺเม ดูกรมหาพรหามณ์สยามประเทศเพศผนวชชี เราจะแนะแนววนาลีศีขเรศ ที่พระชฎิลปิ่นเกศสำราญกาย ท่านจงมีมโนหมายมุ่งเขม้น ไปเถิดก็จะได้เห็นทางทุเรศระยะไพร จนกระทั่งถึงพระอาศรมศิวาลัยไทธิเบศร์ อันองค์อินทร์อมรเทเวศร์แสร้งเษกสรรค์ ประสาทให้พระวิษณุกรรม์นฤมิตร มีหลายอย่างช่างประดิษฐประดับไว้ ทั้งแท่นที่บรรธมในประทับเล่น อิกทั้งที่นั่งเย็นประทับร้อน มีห้องหับซับซ้อนแลสอาด ลออเอี่ยมโอภาสพรรณราย บัญชรเฉิดฉายลายจำหลัก พื้นกระจกแสงประจักษ์กระจ่างตา มีเพดานตระการฝ้าระย้าย้อย อัจกลับระยับห้อยโคมหวดแขวน พื้นชาลาหนาแน่นไปด้วยโต๊ะตั้ง ล้วนเครื่องครามงามสะพรั่งพะพรายตา มีหลายอย่างต่างภาษามาแต่นอก เหลือแล้วทีเราจะเล่าบอกบรรยาย เปนชุดชุดสุดที่จะอธิบายให้ถี่ถ้วน เซี่ยงไฮ้ฮ่อจีนญวนกระบวนลาย พร้อมสะพรั่งตั้งถวายพระชินวงศ บรรเจิดจริงยิ่งยงล้วนอย่างดี พราหมณ์เอ๋ย พรรณโต๊ะล้วนลายผักชีตั้งโรยหน้า ยังเล่าเหล่าคณามังกรเมฆ แลเปนหมู่ดูวิเวกว่ายเวหน ราวกันเปนเล่นลมบนโพยมเมศ บ้างโค้งสกลเพศผงกหัว ลางเหล่าเล่าก็เล่นตัวผงกหงาย พรรณโต๊ะลายมังกรหย่อม งามสอาดประหลาดค้อมขดอินทรีย์ เออเหตุผลจะพึงมีมาไฉน หรือซ่อนตัวกลัวภัยพระยาครุฑ ใครได้เห็นเปนที่วิมุติประหม่าใจ ยังโต๊ะลายมังกรไฟน่าใจหาย ดูเลื้อยเล่นเผ่นตะกายตะเกียกเกิง ช่างกระไรไฉนเพลิงไม่เผาผลาญ จึงแผลงฤทธิเริงรานทยานเผ่น บ้างก็โต๊ะลายสิงห์โตเต้นตามคนอง ดังว่าจะอ้าโอษฐพิโรธร้องคำรามรณ แลดูหน้ายู่ยี่ย่นแสยะเยื้อง อมวิเชียรชูชำเลืองเคืองเขม้น บ้างก็ผาดผันโผนเผ่นตะครุบแก้ว กอดกระหวัดรัดแล้วทลึ่งโลด เพื่อนลำพองคนองโดดเข้าช่วงชิง ดูดุจเปนเห็นจริงด้วยวาจา ยังเล่าเหล่าคณาโต๊ะต้วนยี่มีหนังสือ เขียนยี่ห้ออออืออ่านไม่ออก ส่งภาษามาแต่นอกอย่างไรหนอ เปนจนใจไม่รู้ข้อที่ความขัน บ้างก็แกล้งแสร้งเสกสรรค์แลงามเลี่ยน โต๊ะลายเซียนครบโป๊ยแซ่ เหมือนงิ้วเล่นเล่าเยี่ยแซแห่เทวดา บ้างเหยียบเมฆลอยมาก็มีมั่ง บ้างยืนเปนคู่ดูขึงขังเขม้นท่า บ้างเงยหงายบ่ายหน้าขึ้นดูดาว บ้างยุดมือถือไม้เท้าทำท่วงที ชะเฮียฮุดจุดอัคคีมีแส้พัด สุดแล้วที่เราจะแจงแจ้งจัดขนัดนาม อิกเขาไม้ลายครามก็ครึกครื้น แลดูดั่งพ่างพื้นพนัสสถาน บ้างเปนที่ถ้ำธารตระหง่านง้ำชะโงกเงื้อม บ้านแรระบายลายเลื่อมพิลึกแล ประสานซ้อนครามอ่อนแก่เข้าแกมกัน ยังโต๊ะเขียวไข่กานั้นก็ชอบกล ดูเขียวขำอำพนดังพื้นเมฆ ตั้งรายเรียงอดิเรกอร่ามงาม อิกสังกโลกลายครามก็ครบถ้วน งามสอาดประหลาดล้วนด้วยลายเหลือ อ้อของนี้มีมาแต่เมืองเหนือไฉนเล่า หรือจีนลักลงสำเภาไปเขียนคราม แล้วกลับส่งวงข้ามมาเสี้ยมโหล ถวายองค์พระอิศโรให้แต่งตั้งประกวดกัน ยังโต๊ะลายพุดตายนั้นน่าพิสวง ดูดังดอกพุดตาลดงระดาดาษ เปนพุ่มพุ่มกลุ่มกลาดสอาดตา ล้วนเปนของบพิตรมหิศราเฉลิมยศ พร้อมเสร็จสิบเอ็ดหมดด้วยกันหนอ ผ้าหน้าโต๊ะอ่อนลออวิลัยลักษณ์ แต่ละผืนประจงปักราวกับเปน ประดับด้วยขนนกกระเต็นเปนตัวลาย บ้างเปนช่อเชิงชายระบายห้อย ผ้าผืนหนึ่งอย่างน้อยก็ร้อยเหรียญ พราหมณ์เอ่ยท่านไปแล้วอย่าแวะเวียนหลงเลี้ยวลด ก็จะได้เห็นเช่นเรากำหนดแอบบาลี เหมือนมีในสถานที่นี้นั้นแล"
เมื่อเกิดนิยมหาเครื่องโต๊ะจีนให้เปนลายเดียวกันอย่างว่ามา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุล โชติกะพุกกณะ) จึงทูลขอให้กรมขึนราชสีหวิกรมทรงคิดแบบอย่าง แล้วสั่งเครื่องโต๊ะเข้ามาขายเปนชุด ๆ เรียกว่า "โต๊ะกิมตึ๋ง" (ดู รูปที่ ๑๒) แต่นั้น การตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทยก็เลยเป็นแบบ และใช้เครื่องถ้วยของจีนเป็นพื้นมาจนทุกวันนี้ แต่เดิม ผู้เล่นเครื่องโต๊ะไม่มีใครนับถือเครื่องกิมตึ๋ง อ้างว่า มีเงินแล้วก็ซื้อของลายเดียวกันได้ครบทั้งโต๊ะโดยง่าย ไม่ต้องลำบางพากเพียรเที่ยวเสะหามารวบรวมเหมือนอย่างที่เล่นกันมาเมื่อก่อนมีโต๊ะกิมตึ๋ง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดชื่อเรียกเครื่องโต๊ะจีนเปน ๒ อย่าง เรียก "เครื่องโต๊ะชุด" ซึ่งอาจหาซื้อได้ในคราวเดียวพร้อมกัน อย่าง ๑ เรียก "เครื่องผะสม" ซึ่งต้องเพียรพยายามหามารวบรวม อย่าง ๑ และนับถือกันว่า เครื่องโต๊ะผะสมดีกว่าเครื่องโต๊ะชุดมาจนทุกวันนี้
ถึงรัชชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน มีงานหลวงเมื่อใด มักโปรดฯ ให้ตั้งเครื่องบูชาประกวดกันเนือง ๆ (ดู รูปที่ ๑๓) และทรงพระราชดำริตั้งแบบแผนเพิ่มเติมขึ้นอิกหลายอย่าง แจ้งอยู่ในหนังสือ "ตำนาน เรื่อง เครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น" ซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยพิสดาร จะยกความมากล่าวในที่นี้แต่ที่พึงใช้ในการตั้งโต๊ะเครื่องบูชากันในปัจจุบันนี้ คือ
๑โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน จัดเปน ๒ อย่าง เรียกว่า "โต๊ะใหญ่" คือ ตั้งทั้งโต๊ะขวางหลังและโต๊ะหน้า อย่าง ๑ "โต๊ะโขก" ตั้งแต่โต๊ะหน้าตัวเดียว อย่าง ๑ เวลามีงานใหญ่ มักตั้งโต๊ะใหญ่ ถ้าเป็นงานที่ต้องการจำนวนโต๊ะตั้งให้มาก มักตั้งโต๊ะโขก เพราะเครื่องโต๊ะอย่างโต๊ะโขกมีมาก หาได้ง่ายกว่าโต๊ะใหญ่
๒บรรดาชิ้นที่จะจัดขึ้นบนโต๊ะนั้น จำต้องให้มีหย่องหรือเท้ารองทุกชิ้นไปตามชนิดของชิ้นนั้น ยกเสียแต่บางสิ่ง คือ เชิงเทียน กระถางต้นไม้ หรือตุ๊กกะตาที่มีฐานสำหรับตัวแล้ว ถ้าเป็นตุ๊กกะตาไม่มีฐาน ก็คงต้องมีเท้ารองเหมือนกัน
๓บรรดาชิ้นที่ควรเลี่ยม จำต้องให้เลี่ยมทุกชิ้น เว้นไว้แต่สิ่งที่ไม่ต้องเลี่ยม เช่น ตุ๊กกะตาหรือลับแลที่มีกรอบไม้แล้ว เป็นต้น
๔บรรดาชิ้นตั้งโต๊ะ จะต้องดูขัดเช็ดให้สอาด อย่าให้เปื้อนเปรอะโสโครกเป็นปฏิกูล ถึงกี๋หย่องและเท้าไม้ตลอดจนตัวโต๊ะก็ควรจะเช็ดล้างให้สอาด
๕การจัดชิ้นขึ้นโต๊ะ ถ้าเป็นโต๊ะมีขวางหลัง จะขาดลับแลและขวดปักดอกไม้ กระบอกธูป กระถางธูปใน กระถางธูปหน้า ขวดหน้า ชามลูกไม้หน้า เชิงเทียน ทั้ง ๘ อย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าเป็นโต๊ะ "โขก" ไม่มีขวางหลัง จะขาดลับแล ขวดปักดอกไม้ กระบอกธูป กระถางธูป ชามลูกไม้ เชิงเทียน ทั้ง ๖ อย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ (ดู รูปที่ ๑๔)
เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีนแกมไทยที่ตั้งในงานการทุกวันนี้ มักใช้แต่โต๊ะหน้าตัวเดียว อย่างเรียกว่า "โต๊ะโขก" และพระภิกษุสงฆ์เป็นเจ้าของเป็นพื้น เพราะงานตั้งโต๊ะเดี๋ยวนี้มักเป็นงานตามวัด เช่น รับเสด็จกฐิน เป็นต้น โต๊ะที่มาตั้งวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่องานระดูหนาวแล้วก็เป็นโต๊ะโขกอย่างว่ามาทัง้นั้น ถ้าว่าด้วยข้อกำหนดของการตัดสินว่าดีหรือเลว ก็อยู่ในความที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ
๑ถ้าเครื่องตั้งเป็นของเก่าและของงามประกอบกัน ถือว่า ดีกว่าของใหม่ หรือของเก่าแต่ไม่งาม เช่น เขียนลายเลอะเทอะ เป็นต้น อิกประการหนึ่ง ให้ตั้งชิ้นประเภทเดียวกันหรือลายเดียวกันทั้งโต๊ะ จะตั้งลายต่างกัน เรียกว่า "จับฉ่าย" ก็ได้ แต่เช่นนั้นต้องต่างกันให้หมดทั้งโต๊ะ ผ่อนให้ซ้ำได้เพียงลายละ ๒ ชิ้น
๒เครื่องตั้งต้องไม่ขาดดอกไม้ธูปเทียน แลต้องไม่ขาด "ชิ้นหลักโต๊ะ" กับทั้งต้องเลี่ยม ต้องมีกี๋และหย่องรอง ตามพระราชนิยมในรัชชกาลที่ ๕
๓กระบวนแต่ง ถ้าตั๋งกี๋หนุนให้เห็นชิ้นที่ตั้งเป็นลดหลั่น ไว้ช่องไฟให้เห็นถนัดไม่บังกัน และเครื่องที่จัดในนั้น คือ ดอกไม้ เป็นต้น จัดให้งามตาน่าชม และจัดให้สมกับภาชนะ คือ ห้ามมิให้ใช้กระบอกปักดอกไม้ เปนต้น จึงนับว่า จัดดี
ในการจัดตั้งเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน มีกำหนดดังกล่าวมา
- ↑ กระบะเชิงมุกด์แกมเบอของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยังอยู่ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณนคร) ผู้เป็นหลาน