เรื่องเมืองพิษณุโลก/ธมฺมตากถา

จาก วิกิซอร์ซ
ธมฺมตากถา
พระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดอรุณราชวราราม
ถวายเทศนาในงานพระกุศลทักษิณานุสรณ์
ศพคุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา
วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๕

หนฺหทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปามาเทน สมฺปาเทถาติ

บัดนี้ จะได้รับประทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในธมฺมตากถาเฉลิมพระศรัทธาประดับพระปัญญาบารมีในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ทรงบำเพ็ญพระกุศลบุญราศีทักษิณานุสรณ์ประทานแด่ศพคุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้เป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น เนื่องในงานพระกุศลสัตตมวารสมัย จัดเป็นส่วนพระกุศลจรรยาญาติสังคหกิจ ซึ่งเป็นกุศลวิธีของพุทธศาสนิกบัณฑิตผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ก็เพราะทรงนับถือและมีพระเมตตาอารีในคุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นพลวปัจจัย

คุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา อาศัยบุญบารมีที่ได้อบรมมาแต่ปางก่อนนำให้อุบัติในสกุลผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นบุตรีพระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) และคุณหญิงพิษณุโลกาธิบดี (ขรัวยายกลิ่น) และเป็นน้องสาวร่วมมารดาของเจ้าจอมมารดาพร้อมในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของพระบรมวงศบพิตร ทั้งเป็นผู้ที่สนิมชิดเชื้อกับพระบรมวงศบพิตรเป็นอย่างดี นอกจากนับเนื่องเป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่แล้ว ท่านยังเป็นผู้ประคับประคองผดุงพระบรมวงศบพิตรเยี่ยงพระพี่เลี้ยงผู้ใหญ่ด้วยความเชิดชูรักใคร่สนิทใจมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนตราบเท่าถึงวันมรณะ ในส่วนอุปนิสัย ท่านมีน้ำใจโอนอ่อนสุภาพ มีมารยาทสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเป็นอย่างดี ทั้งโอบอ้อมอารีแก่ญาติมิตร วางตัวตั้งอยู่ในที่ควรเคารพบูชา ทั้งเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และอุปการะบำรุงเลี้ยงอบรมญาติผู้เยาว์มาจนได้ดีเป็นหลักฐานมั่นคงก็หลายคน จึงเป็นที่ชื่นชมยินดีรักใคร่เคารพนับถือของบุตรนัดดาประยูรญาติและวิสสาสิกชน ในส่วนการกุศล ท่านก็ได้ร่วมบำเพ็ญกับหม่อมราชวงศ์จรัส อิศรางกูร ผู้สามี ตลอดมา เช่น สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างสะพาน ทำถนน และอื่น ๆ ตลอดจนได้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสภากาชาดไทย มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในทางพระพุทธศาสนา ตั้งหน้าทำบุญทำทานต่าง ๆ มามิได้ขาดจนตลอดชีวิต จัดเข้าในลักษณะของบัณฑิตตามในพระพุทธภาษิตว่า โชติ โชติปรายโน แปลว่า สว่างมาแล้วกลับสว่างไป ดังนี้

คนบางคน แม้เบื้องต้นมีความเจริญงอกงามตั้งอยู่ในฐานอันดีเพราะกุศลกรรมเก่าช่วยอุปถัมภ์ แต่ส่วนต่อไปจะเป็นอย่างไรมิได้คำนึงถึง เห็นแต่ปัจจุบันสุขซึ่งมีเฉพาะหน้า บาปก็ช่าง บุญก็ช่าง มิได้นำพา ผู้เช่นนี้ถูกตำหนิจากพระบรมศาสดาว่า โชติ ตมปรายโน แปลว่า สว่างมาแล้วแต่กลับมืดไปภายหน้า ดังนี้

อันคนทั้งหลายผู้เกิดมาในโลกนี้ ตามปรกติประเพณี จำต้องมีเกี่ยวข้องติดต่อกันเป็นธรรมดา เริ่มต้นแต่บิดามารดากับบุตร ญาติต่อญาติ มิตรสหายต่อมิตรสหาย เป็นต้น แต่ในระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกันนั้น บางท่านก็มีโชคเหมาะมีเคราะห์ดีเป็นบุญเป็นวาสนา ด้วยได้เกี่ยวข้องกันแต่คนที่ดีที่ชอบ เช่น มีบิดามารดา ก็มีที่น่ากราบไหว้บูชาเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านได้ทำอุปการคุณแก่บุตรธิดาตามหน้าที่จริง ๆ และทั้งในตนของท่านก็ยังมีคุณธรรมอย่างอื่นประจำอยู่ด้วย เช่น เป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันงาม บุตรธิดาที่ได้บิดามารดาเช่นนี้นับว่า มีโชคเหมาะ ส่วนมารดาบิดาที่มีโชคเหมาะนั้น คือ ได้บุตรธิดาแต่ที่ว่านอนสอนง่ายได้อย่างใจ ไม่ทำให้เป็นที่เดือดร้อน มีจรรยามารยาทเรียบร้อย มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถในกิจการนั้น ๆ ทำให้เป็นที่เชิดชูวงศ์สกุลให้เจริญรุ่งเรือง มารดาบิดาที่ได้บุตรธิดาชนิดนี้ชื่อว่า มีโชคเหมาะ ส่วนญาติที่มีโชคเหมาะนั้น คือ ได้ร่วมเป็นญาติกับท่านที่เป็นคนดีงาม มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ทอดทิ้งในเวลาทุกข์ยาก เช่น ในคราวป่วยไข้ เป็นต้น และเป็นผู้ที่มีเมตตากรุณา ควรจะสงเคราะห์อนุเคราะห์ต่อญาติได้ด้วยประการใดก็ประพฤติกระทำไปด้วยประการนั้น คนผู้ที่ได้ญาติเช่นนี้ชื่อว่า มีโชคเหมาะ ท่านที่มีโชคเหมาะเคราะห์ดีมีบุญวาสนาย่อมได้เกี่ยวข้องติดต่อกับคนที่ดีที่ชอบดังนี้ ส่วนผู้มีโชคดีเคราะห์ไม่ดีย่อมต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ดี กล่าวคือ จะมีบุตรธิดาก็มีแต่เหลวไหล ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่รู้จักเคารพนับถือบิดามารดา จะมีญาติพี่น้องก็มีแต่ที่ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอัธยาศัยไม่เข้าพี่เข้าน้อง ดังนี้เป็นต้น เช่นนี้นับว่า มีญาติเป็นเคราะห์ร้าย มีโชคไม่เหมาะ

แต่ในจำนวนคนที่เกี่ยวข้องกันนั้น ที่เป็นสำคัญชั้นที่หนึ่งก็คือ ในระหว่างมารดาบิดากับบุตร เพราะเป็นผู้ที่หาได้ยาก เมื่อหมดไปแล้วหาอีกไม่ได้ ผู้ที่เป็นสำคัญรองลงมานั้นก็คือ ระหว่างญาติต่อญาติ อันคนผู้เป็นญาติเป็นเชื้อสายเดียวกันแล้ว ตามปรกติธรรมดา ความสุขทุกข์ย่อมเนื่องกระเทือนถึงกัน คนผู้เป็นญาติกัน แม้จะใกล้ไกลกว่ากันสักเพียงใด ถ้าเป็นเวลาปรกติซึ่งไม่ใช่คราวสุขทุกข์ บางผู้ก็ดูเหมือนเรื่อย ๆ เฉย ๆ กันไป แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุการเปลี่ยนแปลง เช่น ได้รับส่วนอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม ความกระเทือนความรู้สึกของผู้เป็นญาติกันย่อมมักพลอยสุขทุกข์ไปด้วย ซึ่งต่างจากคนที่ไม่ใช่ญาติที่มิได้เกี่ยวข้องกัน ข้อนี้เปรียบเหมือนเถาวัลย์ซึ่งเจริญงอกงามขึ้นพันอยู่ตามต้นไม้หรือซุ้มรั้ว แม้จะมีกิ่งก้านสาขาทบพันกันไปสักเพียงไร เครือเถานั้นก็ชื่อว่า มีลำต้นเป็นอันเดียวกัน เมื่อจับฉุดเข้าเถาไหนก็ย่อมจะพลอยกระเทือนไปถึงเถาอื่นด้วย กล่าวคือ รั้งปลายกระเทือนถึงต้น รั้งต้นกระเทือนถึงปลาย รั้งส่วนอื่น ๆ ก็เป็นเช่นนั้น แต่จะกระเทือนมากหรือน้อยนั้นแล้วแต่เถาที่สำคัญหรือไม่สำคัญและอยู่ใกล้หรือไกล แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีใครจับฉุดเข้าที่เถาไหน ก็ย่อมพากันกระเทือนไปหมด ถ้าไม่มีใครทำอันตราย เถาวัลย์เหล่านั้นต่างย่อมนิ่งเป็นปรกติ ข้อนี้ฉันใด ความเป็นไปในระหว่างคนผู้เป็นญาติซึ่งเป็นสัมมาจารีชนแล้วก็เป็นฉันนั้น อาศัยเหตุนี้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้า แม้จะเสวยพระชาติเป็นอะไร ๆ มักปรากฏว่า มีพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เอาเป็นธุระแก่พระญาติเสมอมา จนถึงพระชาติครั้งสุดท้ายที่ได้ตรัสรู้พระโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังทรงนับถือในพระประยูรญาติ เช่น ได้ทรงประทานประโยชน์พิเศษบางประการ อาศัยเหตุนี้เป็นปทัฏฐาน พระพุทธจรรยาประเภทนี้จึงมีปรากฏมาในพระคัมภีร์ มีนามเรียกว่า ญาตตฺถจริยา คือ ความประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่พระญาติ จัดเป็นพระพุทธจริยาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการหนึ่ง

คุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา แม้จะเป็นผู้มีโชคดีมีวาสนา พร้อมพรั่งด้วยคุณสมบัติ เป็นที่เคารพรักของญาติมิตรสักปานใด ก็ตกอยู่ในวิสัยแห่งคติธรรมดาไม่ล่วงพ้นไปได้ ในที่สุด ท่านก็พลัดพรากจากผู้ที่รักใคร่ชอบใจไปด้วยอำนาจมรณะมาตัดรอน ทำให้เกิดความโศกเศร้าทอดถอนใจแก่ผู้อยู่ภายหลังเป็นอเนกประการ ยิ่งพระบรมวงศบพิตรด้วยแล้ว ก็ย่อมทำให้ทรงรู้สึกว่า ขาดพระญาติผู้ใหญ่สำคัญไป สมควรเป็นฐานที่ตั้งแห่งความวิปโยคทุกข์ และทรงเศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่หากอาศัยที่มาทรงหวนระลึกถึงความจริงที่ปรากฏแจ้งชัดแก่พระกมลว่า เกิดกับดับเป็นคู่กัน จึงทรงบรรเทาพระปิยวิปโยคทุกข์เสียได้ อันนี้นับว่า เป็นพระมนสิกาโรบายอันชอบด้วยทางธรรมสัมมาปฏิบัติของพุทธศาสนิกบัณฑิต พระปรีชาญาณความที่ทรงรู้เห็นโดยอาการเช่นนั้น เมื่อเจริญทวีแก่กล้าขึ้น อาจเป็นปัจจัยให้ได้ทรงบรรลุถึงอิฐวิบุลผลที่สูงปราณีตขึ้นไป ดังธรรมจักษุของพระอัญญาโกณฑัญญะเถรเจ้าที่ท่านเห็นธรรมดาความจริงที่ว่า ยงฺกิญจิ สมุทธยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ซึ่งแปลความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งมวลนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ดังนี้ คนทั้งหลาย ทั้งอ่อน ทั้งแก่ ทั้งโง่ ทั้งฉลาด ทั้งมั่งคั่งขัดสน ล้วนมีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เมื่อคนอันความตายครอบงำแล้วไม่มีบุตรธิดาไม่มีเผ่าพันธุ์ที่จะต่อต้าน ความต่อต้านไม่มีในญาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดามีพระประสงค์จะให้พุทธบริษัทได้ทราบเรื่องของสังขารว่า มีความเสื่อมสิ้นเป็นธรรมดา จะได้ไม่หลงมัวเมาประมาท จึงได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทแก่ภิกษุบริษัทในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า

หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมาสงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ดังนี้ โดยพรรณนาว่า สังขารคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น จำแนกโดยความเป็นส่วนผลเป็น ๒ ประการ คือ สังขารที่มีใจครอง ซึ่งเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร เช่น มนุษย์ และสัตว์ เป็นต้น และสังขารที่ไม่มีใจครอง ซึ่งเรียกว่า อนุปาทินนกสังขาร เช่น ภูเขา รถ เรือน เป็นต้น ทั้ง ๒ ประเภทนี้ย่อมเกิดขึ้นแลตั้งอยู่ เพราะเหตุตั้งขึ้นก็ต้องเป็นไปตามเหตุ แลยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น อาหารช่วยอุปถัมภ์ในปวัติกาล เหตุปัจจัยยังส่งอยู่เพียงไร สังขารทั้งหลายก็ยังเป็นไปอยู่เพียงนั้น ถ้าเหตุปัจจัยขาดลงโดยปรกติหรือถูกอะไรมาตัดรอนเสียในระหว่างในกาลใด สังขารก็ย่อมสลายไปในกาลนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่เกิดมา เมื่อเหตุยังส่งผลอยู่ ก็เป็นไปได้ผ่านวัยทั้ง ๓ คือ ปฐมวัย ตอนต้น มัชฌิมวัย ตอนกลาง ปัจฉิมวัย ตอนหลัง เมื่อเหตุสิ้น ก็สิ้นไปด้วย หรือถ้าภัยอันตรายอันใดอันหนึ่งมาตัดรอนเสียในระหว่าง ก็สิ้นไปเสียก่อน ยังไม่ผ่านวัยครบทั้ง ๓ ได้ตลอด แม้ในเวลาเป็นไปอยู่ ก็ย่อมเป็นไปสะดวก กล่าวคือ มีสุขสบายบ้าง และเป็นไปไม่สะดวก กล่าวคือ มักได้เจ็บไข้ได้ทุกข์ยากบ้าง ตามอำนาจของเหตุ กล่าวคือ กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่ทำไว้ ทั้งในเวลาที่เป็นอยู่เล่าก็ย่อมมีอาการทั้ง ๓ ประจำอยู่เสมอ คือ การที่ไม่เที่ยง เพราะย่อมแปรไปเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ซึ่งเรียกว่า อนิจฺจํ ๑ อาการที่ทนอยู่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ จึงจำต้องแปรเปลี่ยนไปเสมอ ซึ่งเรียกว่า ทุกฺขํ ๑ อาการซึ่งไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาของใคร จึงแปรเปลี่ยนไปไม่คงทนอยู่ได้ ซึ่งเรียกว่า อนตฺตา ๑ อาการทั้ง ๓ นี้ย่อมย่ำยีห้ำหั่นล้างผลาญเบียดเบียนสังขารทั้งปวงอยู่ทุกขณะ มิได้ว่างเว้นสักครู่หนึ่งเลย ครั้นย่ำยีห้ำหั่นล้างผลาญเสร็จล่วงไปแล้ว จึงได้แสดงลักษณะให้ปรากฏเป็นเครื่องหมายไว้ เหมือนไฟที่เผาเชื้อให้ไหม้แล้วแสดงเถ้าให้ปรากฏเหลืออยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้น สังขารทั้งปวงที่ปรากฏเกิดขึ้นจึงได้ชื่อว่า เป็นทุกข์อยู่เสมอ ถึงใครจะเห็นว่า เป็นทุกข์หรือไม่ก็ตาม สมด้วยความแห่งคาถาซึ่งภาษิตของนางวชิราภิกขุนีว่า ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏ ฐติ เวติ จ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่และเสื่อมไป นาญฺญตฺร สมฺโภติ นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ เพราะสิ่งใดที่เกิดปรากฏขึ้น สิ่งนั้นย่อมเป็นสังขาร และสังขารนั้นเมื่อเกิดขึ้นก็มีอาการทั้ง ๓ ซึ่งเป็นตัวทุกข์ประจำกำกับมาด้วยทีเดียว เหมือนดังไฟอันมีอาการร้อนประจำอยู่ฉะนั้น เมื่อสังขารเกิดขึ้น ชื่อว่า ทุกข์เกิดขึ้น เมื่อสังขารตั้งอยู่ ชื่อว่า ทุกข์ตั้งอยู่ เมื่อสังขารเสื่อมไป ชื่อว่า ทุกข์เสื่อมไป เหมือนดังไฟอันมีอาการร้อนประจำอยู่ เมื่อไฟเกิดขึ้น ก็ชื่อว่า ความร้อนเกิดขึ้น เมื่อไฟตั้งอยู่ ก็ชื่อว่า ความร้อนตั้งอยู่ เมื่อไฟดับไป ก็ชื่อว่า ความร้อนดับไปฉะนั้น ธรรมดาของสังขารเป็นอยู่เช่นนี้ บุคคลผู้ไม่รู้เท่าย่อมหลงมัวเมาอยู่ในวัยบ้าง ในความเป็นหนุ่มเป็นสาวบ้าง ในความเป็นคนไม่มีโรคบ้าง และในชีวิตบ้าง แล้วไม่อาศัยสังขารทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและแก่บุคคลอื่นตามสมควร ชื่อว่า ไม่ได้ถือเอาประโยชน์กาย กล่าวคือ อัตตภาพ หรือกลับอาศัยสังขารทำความชั่วอันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความประมาท คือ ความเลินเล่อเผลอเพลินขาดสติ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายให้บำเพ็ญความไม่ประมาท เมื่อความไม่ประมาทมีในสันดานของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมมีสติระลึกได้ และใช้ปัญญาพิจารณารู้เท่าธรรมดาของสังขาร แล้วอาศัยสังขารทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและบุคคลอื่นตามสามารถด้วยประการฉะนี้

ด้วยอำนาจพระกุศลทักษิณานุสรณ์ที่พระบรมวงศบพิตรทรงพระเมตตาบำเพ็ญในคราวนี้ ขอจงอำนวยอิฐวิบากสมบัติสำเร็จเป็นประโยชน์สุขแด่คุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา โดยควรแก่คติสัมปรายภพตามพระประสงค์ทุกประการ

ในอวสานแห่งเทศนานี้ พระสงฆ์จะได้รับประทานสวดคาถาธรรมบรรยายโดยสรภัญญวิธีฉลองพระศรัทธาปสาทาธิคุณสืบต่อไป ณ กาลบัดนี้ ขอถวายพระพร.