เรื่องเมืองพิษณุโลก/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่องเมืองพิษณุโลก
พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองโบราณ มีเรื่องเนื่องในพงศาวดารไทยยิ่งกว่าเมืองอื่น ๆ โดยมาก ได้เคยเป็นราชธานีแทนพระนครศรีอยุธยาอยู่สมัยหนึ่ง และเป็นราชธานีฝ่ายเหนือมีพระมหาอุปราชครองติดต่อกันมาหลายพระองค์ แม้ถึงสมัยเมื่อเป็นแต่หัวเมืองก็ยังนับว่า เป็นเมืองเอกคู่กับเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเมืองหน้าศึกข้างฝ่ายเหนือ เคยเป็นที่มั่นต่อสู้ศึกมาหลายครั้ง เดิมมีป้อมปราการตั้งทั้งสองฟาก เอาลำน้ำน่านไว้กลางเมือง แต่รื้อเสียเมื่อตอนปลายสมัยครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีหรือเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพราะในสมัยนั้นไม่มีรี้พลพอจะรักษา เกรงพม่าข้าศึกจะมายึดเอาเป็นที่มั่นสำหรับทำสงครามกับไทย

ตำนานเมืองพิษณุโลก

ตำนานเรื่องสร้างเมืองพิษณุโลกมีอยู่ในหนังสือ "พงศาวดารเหนือ" โดยพิสดาร หนังสือพงศาวดารเหนือนั้น พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตฝ่ายพระราชวังบวรฯ แต่งเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ เวลานั้น ยังไม่ได้สอบสวนศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เป็นแต่รวบรวมเอาเรื่องพงศาวดารเกล็ดต่าง ๆ ที่มีอยู่มาเรียบเรียงติดต่อเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ครั้นมาพิจารณาดูในปัจจุบันนี้จึงเห็นว่า ความที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารเหนือนั้นเคลื่อนคลาดจากหลักฐานที่ปรากฏทั้งในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยและลักษณะของโบราณวัตถุที่เมืองพิษณุโลก ไม่มั่นคงเหมือนเรื่องราวตอนสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้วซึ่งมีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะฉะนั้น เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกที่จะบรรยายต่อไปนี้จะต้องปันเป็นสองตอน คือ ตำนานตอนก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยากล่าวตามหลักฐานที่มีในศิลาจารึกและโบราณวัตถุประกอบเรื่องพงศาวดารเหนือ ตอน ๑ ตำนานตอนภายหลังสร้างพระนครศรีอยุธยา ตอน ๑

เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกตอนก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยานั้นมีหลักฐานปรากฏว่า เมืองพิษณุโลกนี้พวกขอมสร้าง แต่ในชั้นเดิมจะเรียกว่าเมืองอะไรหาทราบไม่ ปรากฏหลักฐานแต่ว่า เมืองเดิมอยู่ริมน้ำข้างฝั่งตะวันออกที่ตรงวัดจุฬามุณีใต้เมืองเดี๋ยวนี้ลงไปทางลำนำประมาณ ๘ กิโลเมตร เพราะยังมีเทวสถานของขอมซึ่งแก้ไขแปลงเป็นพระปรางค์วัดจุฬามุณีปรากฏอยู่เป็นสำคัญ แต่เทวสถานเป็นปรางค์ขนาดย่อมยอดเดียว ส่อให้เห็นว่า เมืองพิษณุโลกเมื่อครั้งขอมเป็นแต่เมืองน้อย คงเป็นเพราะในสมัยนั้นที่แผ่นดินยังลุ่มเป็นทะเลอยู่มาก ตรงที่สร้างเมืองเห็นจะเป็นชายทะเลทางข้างตะวันออก ต่อมาถึงสมัยเมื่อไทยลงมาเป็นใหญ่ในสยามประเทศ เห็นจะย้ายเมืองขึ้นไปตั้งตรงที่เมืองเดี๋ยวนี้ จึงเรียกชื่อในภาษาไทยว่า "เมืองสองแคว" เพราะตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำน่านกับลำน้ำน้อยซึ่งในสมัยนั้นสายน้ำยังไหลทางด้านหลังเมืองไม่ห่างนัก เมืองสองแควนในตอนแรกก็เห็นจะเป็นแต่เมืองน้อย ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงจึงเป็นแต่บอกชื่อไว้ในเหล่าหัวเมืองขึ้นของพระนครสุโขทัยซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ไม่กล่าวถึงสิ่งสำคัญอันใดว่า มีในเมืองเหมือนอย่างที่พรรณนาถึงพระมหาธาตุและสิ่งอื่น ๆ เมื่อกล่าวถึงเมืองสัชนาไลย (สวรรคโลก) ในจารึกนั้น เพราะฉะนั้น เห็นจะมาสร้างเมืองสองแควเป็นเมืองใหญ่เช่นเป็นเมืองลูกหลวงต่อภายหลังรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมา

ก็ตามเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยนั้นว่า เมื่อพระเจ้ารามคำแหงสวรรคตแล้ว ราชโอรสทรงพระนามว่า พระยาเลือไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาฤไทยไชยเชษฐ ได้ครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔ ในราชวงศ์พระร่วง ในรัชกาลนี้ อำนาจกรุงสุโขทัยเสื่อมลง พระเจ้าอู่ทองจึงตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ กรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสระได้ ๔ ปี พระเจ้าเลือไทยก็สวรรคต ครั้งนั้น ที่ในกรุงสุโขทัยเกิดแตกร้าวกัน พระยาลิไทย ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองสัชนาไลย ต้องยกกองทัพลงมาชิงราชธานีแต่ในเวลาพระราชบิดายังประชวรอยู่ จึงได้ราชสมบัติ ก็เป็นโอกาสให้สมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองขยายราชอาณาเขตรุกแดนกรุงสุโขทัยขึ้นไปจนถึงเมืองชัยนาท พระเจ้าลิไทยเห็นจะสู้ไม่ไหว จึงยอมเป็นไมตรีอย่างเป็นเมืองน้องของกรุงศรีอยุธยามาจนตลอดรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง

พระเจ้าลิไทยที่ครองกรุงสุโขทัยเป็นรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วงองค์นี้ ในศิลาจารึกและหนังสือที่แต่งทางฝ่ายเหนือ คือ หนังสือเรื่องตำนานพระสิหิงค์ และเรื่องชินกาลมาลินี เป็นต้น กล่าวเป็นยุติต้องกันว่า รอบรู้พระไตรปิฎกและทรงเอื้อเฟื้อต่อพระศาสนายิ่งนัก ยกย่องพระเกียรติยศเป็น "พระมหาธรรมราชา" มีวัดวาอารามที่เป็นของพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงสร้างปรากฏอยู่เป็นอันมาก ก็เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกตามที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารเหนือนั้นว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พระนามดูตรงกับเกียรติคุณของพระมหาธรรมราชาลิไทยยิ่งนัก เพราะศิลาจารึกและหนังสือโบราณเรื่องอื่นยกย่องแต่พระมหาธรรมราชาลิไทยพระองค์เดียวที่ว่า ทรงพระคุณวิเศษในทางรอบรู้พระไตรปิฎก ผิดกันแต่ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้นเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน แต่ก็หามีในตำนานเมืองเชียงแสนหรือหลักฐานอันใดประกอบไม่ หลักฐานที่มั่นคงบ่งความว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยนี้เองที่เป็นผู้สร้างเมืองพิษณุโลก ถ้าจริงเช่นนี้ เมืองพิษณุโลกเห็นจะสร้างเป็นเมืองใหญ่เมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐ แต่ชื่อที่เรียกว่า เมืองพิษณุโลก นั้น หาปรากฏในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ แม้ในกฎหมายกรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง (ปรากฏอยู่ในลักษณะลักพา บท ๑) ก็เรียกว่า เมืองสองแคว ชาวต่างประเทศยังเรียกว่า เมืองสองแคว มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ มีอุทาหรณ์ในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตั้งให้พระมหาธรรมราชามียศเป็นเจ้าฟ้าสองแคว ดังนี้ จึงสันนิษฐานว่า ชื่อที่เรียกว่า เมืองพิษณุโลก นั้น เห็นจะบัญญัติต่อเมื่อเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา

เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกตอนภายหลังสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น มีเนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองสวรรคตแล้ว พอสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ที่ ๑ ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ก็ตั้งต้นทำสงครามรุกราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยอีก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีได้เมืองนครพังคา (นครสวรรค์) เป็นที่มั่น แล้วยกขึ้นไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) เมืองนั้นมีป้อมปราการมั่นคง ตีไม่ได้ จึงย้ายทางไปตีเมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ จับได้ตัวเจ้าเมืองกับครอบครัวราษฎรลงมาเป็นอันมาก แต่หาปรากฏว่าได้เมืองพิษณุโลกไม่ คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่า มีข้าศึกยกกองทัพไปตีเมืองพิษณุโลก และเห็นได้ว่า เมืองพิษณุโลกได้ตั้งเมืองใหญ่แล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชพยายามทำสงครามอยู่ถึง ๗ ปี จน พ.ศ. ๑๙๒๑ เสด็จขึ้นไปตีเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ ๓ พระมหาธรรมราชาจึง "ออกมาถวายบังคม" ยอมแพ้แก่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้แยกอาณาเขตกรุงสุโขทัยออกเป็น ๒ มณฑล (ทำอย่างมณฑลนครสวรรค์กับมณฑลพิษณุโลกบัดนี้) ตั้งเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองหลวงของมณฑลทางลำน้ำพิง ให้ราชบุตรเลี้ยงเป็นที่พระยายุทธิศฐิระ หรือเรียกว่ากันอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาญาณดิศ ปกครองขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ส่วนอาณาเขตกรุงสุโขทัยที่เหลืออยู่ทางแม่น้ำแควใหญ่ ให้พระมหาธรรมราชาคงปกครองเป็นอย่างประเทศราชต่อไป

เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทยยอมแพ้แก่กรุงศรีอยุธยานั้น เสวยราชย์มาได้ ๒๔ ปี ต่อมาจะสวรรคตเมื่อปีใดไม่ทราบแน่ ในหนังสือฝ่ายเหนือกล่าวว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทยสวรรคตแล้ว พระยาไสลือไทยได้ครองราชสมบัติ ณ กรุงสุโขทัยต่อมา คงใช้พระนามว่า พระมหาธรรมราชา เหมือนกัน เรื่องเมืองพิษณุโลกมาปรากฏอีกในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (พ.ศ. ๑๙๒๑–๑๙๓๘) ว่า เมื่อสมเด็จพระราเมศวรเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ไปประทับสมโภชพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก เป็นครั้งแรกที่ปรากฏพระนามพระพุทธรูป ๒ พระองค์นั้นในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในตอนนี้ พระมหาธรรมราชาก็เห็นจะยังตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองสุโขทัย แต่เห็นได้ว่า คงอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาสนิท สมเด็จพระราเมศวรจึงสามารถเสด็จยกกองทัพหลวงผ่านแดนมณฑลสุโขทัยไปมาโดยสะดวก

ต่อมาในระหว่างเวลา ๑๐ ปีนั้น ปรากฏว่า พระมหาธรรมราชาย้ายราชธานีไปตั้งอยู่เมืองพิษณุโลก สันนิษฐานว่า จะเป็นพระมหาธรรมราชาอีกองค์ ๑ ซึ่งเป็นราชโอรสของพระมหาธรรมราชาไสลือไทย ได้ครองเมืองพิษณุโลกอยู่เมื่อเป็นลูกหลวง ครั้นได้รับรัชทายาท ไม่ย้ายไปอยู่เมืองสุโขทัย จึงได้ปรากฏนามว่า "พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก" ในตอนนี้ เมืองพิษณุโลกได้เป็นราชธานีของมณฑลสุโขทัยอยู่คราวหนึ่ง แต่ไม่ช้านานนัก พอถึง พ.ศ. ๑๙๕๔ "พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกสวรรคต" ก็เกิดจลาจลด้วยพระยาบานเมืองกับพระยาราม (กำแหง) ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ ทำนองจะเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยแล้วองค์ ๑ ได้รับรัชทายาทที่เมืองพิษณุโลกองค์ ๑ ชิงกันเป็นพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนครอินทราธิราชซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาต้องยกกองทัพขึ้นไประงับ เห็นจะแยกเขตแดนเมืองสุโขทัยกับเมืองพิษณุโลกให้ปกครองเป็นต่างอาณาเขตกัน จึงไม่ปรากฏว่า มีพระมหาธรรมราชาขึ้นอีกในชั้นนั้น

มาถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๖๗–๑๙๙๑) หัวเมืองเหนือระส่ำระสายทรุดโทรมด้วยไม่มีเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงซึ่งทรงความสามารถจะปกครองเป็นประเทศราชดังแต่ก่อน สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงให้รวมหัวเมืองเหนือทั้งปวงกลับเข้าเป็นมณฑลอันเดียวกัน แล้วทรงตั้งพระราเมศวร ราชโอรสซึ่งจะรับรัชทายาท ให้เป็นพระมหาอุปราชขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกสำเร็จราชการหัวเมืองเหนือทั้งปวง เมืองพิษณุโลกจึงเป็นราชธานีฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๙๘๙ เป็นต้นมา

แต่ต่อมาไม่ช้านัก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สวรรคต พระราเมศวรได้รับรัชทายาท ต้องเสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑–๒๐๓๑) บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทรงตั้งผู้ว่าราชการเมืองปกครองขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาทุกเมือง มิได้มีพระมหาอุปราชปกครองรวมเป็นมณฑลดังแต่ก่อน ก็เกิดเป็นจลาจลขึ้น ด้วยในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่ยังเป็นเอกราช พระเจ้าติโลกราชซึ่งเป็นมหาราชครองเมืองเชียงใหม่กำลังพยายามจะขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง พระยายุทธิศฐิระ เจ้าเมืองเชลียง (สวรรคโลก)[1] เอาใจออกหากไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราช นำกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาตีได้เมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย แล้วไปตีเมืองพิษณุโลก แต่หาได้ไม่ นับเป็นครั้งที่ ๒ ที่ข้าศึกตีพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ทำสงครามกันต่อมาช้านาน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอำนวยการศึกอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเนือง ๆ ถึง ๑๘ ปี จึงได้หัวเมืองเหนือกลับคืนมาหมด เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชดำริว่า ถ้าเสด็จกลับลงมาประทับ ณ พระนครศรีอยุธยาอย่างเดิม พวกเชียงใหม่ก็จะมาบุกรุกหัวเมืองเหนืออีก จึงเลยเสด็จประทับเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ให้พระบรมราชา ราชโอรสพระองค์ใหญ่ ครองพระนครศรีอยุธยาต่อมาจนตลอดรัชกาล เมืองพิษณุโลกได้เป็นราชธานีของสยามประเทศตลอดระยะเวลา ๒๕ ปีในสมัยนี้

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรารภถึงเหตุร้ายซึ่งเกิดเพราะเลิกมณฑลฝ่ายเหนือ จึงทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเชษฐา ให้เป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลกสำหรับจะได้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมเป็นมณฑลอย่างเดิม ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๑ พระบรมราชาซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาได้รับรัชทายาท พระเชษฐาก็ได้เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ๆ จึงกลับเป็นราชธานีฝ่ายเหนือมีเจ้านายในราชวงศ์ปกครอง เลยเป็นประเพณีสืบมาหลายรัชกาล นับรวมเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี

ในระหว่างนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงตั้งราชบุตรเขยเป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองมณฑลฝ่ายเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ในปีนั้นเอง พระเจ้าหงสาวดี (ตะเบงชเวตี้) ยกกองทัพพม่ามอญมาตีเมืองไทย เดินกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี มาตั้งประชิดติดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตั้งต่อสู้ที่พระนคร แล้วสั่งพระมหาธรรมราชาให้ยกกองทัพมณฑลฝ่ายเหนือลงมาตีกระหนาบข้าศึก พระเจ้าหงสาวดีเห็นจะเสียที ก็เลิกทัพถอยกลับไปทางเมืองกำแพงเพชรและเมืองตาก ครั้งนั้น เป็นทีแรกที่ข้าศึกต่างประเทศจะได้เข้ามาถึงพระนครศรีอยุธยา และเป็นคราวแรกที่ใช้ปืนใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการรบ เมื่อเสร็จสงครามแล้ว เห็นจะปรากฏว่า ป้อมปราการที่สร้างไว้แต่ก่อนยังไม่มั่นคง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงโปรดให้แก้ไขซ่อมแซมแปลงป้อมปราการพระนครศรีอยุธยาทั้งป้อมปราการเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองหน้าศึกฝ่ายเหนือทั้งปวงให้มั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อน (ยังมีเค้าการที่แก้ไขครั้งนั้นปรากฏอยู่ทั้งที่เมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย แต่ที่เมืองพิษณุโลก ป้อมปราการรื้อเสียหมดแล้ว จึงไม่มีที่สังเกต) ครั้งนั้น มีเวลาตระเตรียมอยู่ ๘ ปี ถึง พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวรีบุเรงนองก็ยกทัพพม่ามอญมาตีเมืองไทยอีก คราวนี้ ข้าศึกยกเข้ามาทางเมืองตาก ด้วยประสงค์จะตีมณฑลฝ่ายเหนือตัดกำลังที่จะช่วยเสียก่อน แล้วจึงจะลงมาตีพระนครศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีตีได้เมืองกำแพงเพชรแล้ว ให้ยกกองทัพแยกไปตีเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก ทาง ๑ ส่วนพระเจ้าหงสาวดียกไปตีเมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งข้าศึกตีเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาต่อสู้เป็นสามารถ คงเป็นด้วยป้อมปราการเมืองพิษณุโลกซึ่งได้ซ่อมแปลงใหม่นั้นมั่นคง พระเจ้าหงหงสาวดีตีเมืองไม่แตก จึงให้ล้อมไว้จนที่ในเมืองสิ้นเสบียงอาหาร แล้วซ้ำเกิดไข้ทรพิษขึ้นด้วย พระมหาธรรมราชาก็ต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี เป็นครั้งที่ปรากฏว่า เสียเมืองพิษณุโลกแก่ข้าศึก แต่นั้นมา พระเจ้าหงสาวดีก็ยุยงส่งเสริมจนพระมหาธรรมราชากลายเป็นอริกับกรุงศรีอยุธยา ๆ จึงเป็นใจให้พระไชยเชษฐา เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ยกกองทัพเมืองเวียงจันทร์ลงมาตีเมืองพิษณุโลก แต่ครั้งนี้ พระมหาธรรมราชาต่อสู้รักษาเมืองไว้ได้

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๑๑๑ พระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช แล้วอภิเษกพระมหาธรรมราชาให้ครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงให้พระนเรศวร ราชโอรสองค์ใหญ่ เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ในสมัยนั้น เมืองไทยต้องเป็นประเทศราชขึ้นพระเจ้าหงสาวดีอยู่ ๑๕ ปี ถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ เมื่อพระนเรศวรประกาศตั้งเมืองไทยเป็นอิสรภาพอย่างเดิม เตรียมจะต่อสู้ศึกหงสาวดีที่จะมาปราบปราม ทรงเห็นว่า กำลังไทยมีน้อยกว่าข้าศึก จะต่อสู้รักษามณฑลฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้อย่างแต่ก่อนคงสู้ข้าศึกไม่ไหว จึงให้กวาดผู้คนหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือลงมารวบรวมตั้งต่อสู้พวกข้าศึกที่พระนครศรีอยุธยาแห่งเดียว ทิ้งเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองทั้งปวงในมณฑลฝ่ายเหนือให้เป็นเมืองร้างตลอดเวลาที่รบพุ่งต่อสู้ข้าศึกอยู่ ๘ ปี จนสมเด็จพระนเรศวรได้ครองกรุงศรีอยุธยาและมีชัยชนะคราวชนช้างกับพระมหาอุปราชหงสาวดี ทรงเห็นว่า ข้าศึกเข็ดขยาดแล้ว จึงโปรดให้กลับตั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอีก แต่มาถึงชั้นนี้ พวกชาวเมืองเหนือกับเมืองใต้รวบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเวลาต่อสู้ข้าศึกมาช้านาน ไม่จำเป็นจะต้องปกครองแยกกันดังแต่ก่อน สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้เลิกมณฑลฝ่ายเหนือเสีย ให้หัวเมืองเหล่านั้นต่างขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่นั้นมา เมืองพิษณุโลกก็เป็นแต่หัวเมืองอันหนึ่ง แต่นับเป็นเมืองเอกคู่กับเมืองนครศรีธรรมราช ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศเป็นเจ้าพระยา บรรดาศักดิ์สูงกว่าเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ตำแหน่งเมืองวังคลังนา เพราะยังถือว่า เมืองพิษณุโลกเป็นหัวเมืองสำคัญยิ่งกว่าเมืองอื่นทางฝ่ายเหนือ

ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรกลับตั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ มาจนพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาคราวหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๘ ในระหว่างเวลา ๑๗๓ ปีนี้ เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกมีข้อสำคัญปรากฏแต่เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ. ๒๑๙๙–๒๒๓๑ ว่า ได้เสด็จขึ้นไปประทับที่เมืองพิษณุโลกในเวลาทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ๒ ครั้ง และได้โปรดให้ช่างฝรั่งเศสคิดแบบอย่างซ่อมแปลงป้อมปราการเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง ๑ มาถึงรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕–๒๓๐๑ เสด็จขึ้นไปประพาสถึงเมืองพิษณุโลก เมืองทุ่งยั้ง และเมืองฝาง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์สถานในหัวเมืองเหล่านี้ ยังปรากฏอยู่หลายอย่าง นอกจากนี้ หาปรากฏเรื่องราวเป็นข้อสำคัญอย่างใดไม่

เมืองพิษณุโลกมามีเรื่องตำนานเป็นข้อสำคัญในพงศาวดารอีกตอนหนึ่งตั้งแต่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๘ มาจนเสร็จสงครามคราวศึกใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ รวมเป็นระยะเวลา ๒๐ ปี เรื่องตำนานตอนนี้ปรากฏว่า เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลังนั้น ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีทาง ๑ ลงมาจากเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ เป็น ๒ ทางด้วยกัน เวลานั้น เจ้าพระยาพิษณุโลกชื่อ เรือง เป็นคนเข้มแข็งในการสงคราม พม่าไม่กล้าไปตีเมืองพิษณุโลก ยกหลีกเลยลงมาทางเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลกยกกองทัพติดตามไปตีพม่า กำลังรบพุ่งติดพันกันอยู่ทางเมืองพิษณุโลก มีพวกไทยด้วยกันชิงเมือง เจ้าพระยาพิษณุโลกก็ต้องล่าทัพกลับไปรักษาเมืองอยู่ตามเดิม เมืองพิษณุโลกมิเสียแก่พม่าข้าศึกในคราวที่เสียพระนครศรีอยุธยา พวกข้าราชการในกรุงฯ ที่หนีพม่าได้เห็นพระยาพิษณุโลกเข้มแข็งก็พากันขึ้นไปอยู่เป็นอันมาก ครั้นไม่มีพระราชาธิบดีปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลกก็ตั้งตัวเป็นอิสระก๊ก ๑ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไปคล้ายกับเมื่อครั้งเป็นมณฑลราชธานีฝ่ายเหนืออยู่แต่โบราณ แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญในที่เขตแดนมณฑลข้างเหนือ พระสังฆราชาสวางคบุรีชื่อ เรือน อยู่ที่เมืองฝาง ตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นบ้าง ทั้งเป็นพระด้วย คนทั้งเชื่อถือว่า มีวิชาอาคม พากันไปอ่อนน้อมยอมเป็นพรรคพวกเป็นอันมาก เจ้าพระยาพิษณุโลกมิรู้ที่จะทำประการใด ก็ได้แต่ตั้งรักษาเมืองมั่นไว้ ในไม่ช้าพอเจ้าพระฝางมีรี้พลมาก ก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๕ ที่มีข้าศึกตีเมืองพิษณุโลก เจ้าพระฝางตั้งล้อมอยู่๗ เดือน ตีไม่ได้เมือง ก็ต้องล่าทัพกลับไป ในปีนั้นเอง พอถึงฤดูน้ำ พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพขึ้นไปหมายจะตีเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลกให้กองทัพลงมาซุ่มดักตีกองทัพกรุงธนบุรีที่ปากน้ำเกยไชย แขวงเมืองนครสวรรค์ พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกปืน ต้องล่าทัพกลับมา เจ้าพระยาพิษณุโลกมีชัยชนะข้าศึกทั้ง ๒ ทาง เห็นว่า ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ ก็ทำพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เผอิญเกิดโรคที่ในคอ พอราชาภิเษกได้ ๗ วันก็ถึงพิราลัย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเห็นว่า เพราะยกตนเกินวาสนา แต่นั้น พวกชาวพิษณุโลกก็ย่อท้อ เจ้าพระฝางได้ทียกกองทัพลงมาอีก นับเป็นครั้งที่ ๖ ที่มีข้าศึกตีเมืองพิษณุโลก ตั้งล้อมอยู่ ๒ เดือนก็ได้เมืองพิษณุโลก เจ้าพระฝางให้เก็บทรัพย์กวาดผู้คนขึ้นไปเมืองฝางเสียเป็นอันมาก คงรักษาเมืองไว้เป็นแต่อย่างหัวเมืองขึ้นอันหนึ่ง

ถึง พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีตีมณฑลนครราชสีมาและมณฑลนครศรีธรรมราชได้แล้ว เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปปราบปรามเจ้าพระฝาง ได้ตีเมืองพิษณุโลกครั้ง ๑ นับเป็นครั้งที่ ๗ แต่ในครั้งนี้ ได้เมืองโดยง่าย เพราะเจ้าพระฝางกวาดเอาผู้คนไปไว้ในเมืองฝางเสียเป็นอันมาก ไม่มีกำลังพอจะป้องกันเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เขตแดนของเจ้าพระฝางหมดแล้ว จึงทรงตั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีหพิศณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกเป็นหัวเมืองเอกอย่างครั้งกรุงเก่าต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๓๑๘ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก คราวนี้ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่า ทำสงครามตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองตากหมายจะตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังเสียก่อน แล้วจึงมาตีกรุงธนบุรี ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เตรียมจะไปตีเอาเมืองเชียงแสนจากพม่า ครั้นทราบว่า มีกองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านเมืองตาก เจ้าพระยาทั้ง ๒ ก็รีบล่าทัพกลับลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกคอยกองทัพธนบุรีที่จะขึ้นไปสมทบรบพุ่งข้าศึก ด้วยในสมัยนั้น หัวเมืองพึ่งเป็นปรกติ ไพร่บ้านพลเมืองยังน้อย ไม่มีกำลังพอจะบุกรุกกองทัพใหญ่ของข้าศึกได้ อะแซหวุ่นกี้ได้ทีก็ยกกองทัพใหญ่ตรงไปตีเมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๘ และเป็นครั้งที่สุดที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ข้าศึกตีเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้หมายจะตีเมืองให้ได้ก่อนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วย แต่เจ้าพระยาทั้ง ๒ ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าพยายามอย่างไรก็ไม่ได้เมือง จนอะแซหวุ่นกี้ออกปากชมฝีมือและขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี แล้วให้ตั้งล้อมเมืองไว้ด้วยเห็นว่า พม่ามีกำลังมากกว่า หมายจะให้เจ้าพระยาทั้ง ๒ ต้องยอมแพ้เมื่อถึงเวลาอดอยากสิ้นเสบียงอาหาร พม่าคอยตีตัดกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปช่วยมิให้ส่งเสบียงอาหารเข้าไปได้ เมืองพิษณุโลกถูกข้าศึกล้อมอยู่ ๔ เดือน จวนจะสิ้นอาหารที่ในเมือง แต่เจ้าพระยาทั้ง ๒ ไม่ยอมแพ้ ให้รวบรวมบรรดาคนฉกรรจ์ทั้งชายหญิงเข้าสมทบกองทหารแล้วยกออกไปปล้นค่ายข้าศึกซึ่งตั้งล้อมเมืองทางด้านตะวันออก ตีหักออกไปจากที่ล้อมได้ ไปตั้งอยู่ ณ เมืองเพชรบูรณ์ อะแซหวุ่นกี้จึงได้เมืองพิษณุโลก แต่พอได้เมืองก็ได้รับท้องตรามาแต่เมืองพม่าว่า เปลี่ยนรัชกาลใหม่ เกิดวุ่นวายในบ้านเมือง อะแซหวุ่นกี้ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เมื่อพม่าจะเลิกทัพกลับไปครั้งนั้น ให้เผาเมืองพิษณุโลกเสีย ในพงศาวดารว่า ไฟไหม้หมดทั้งเมือง เว้นแต่ที่บริเวณวัดมหาธาตุแห่งเดียวที่ไฟมิได้ไหม้ เมืองพิษณุโลกและหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือยับเยินในครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้เกือบจะเป็นร้างหมดทุกเมือง ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ยังมิทันที่จะได้ทำนุบำรุงหัวเมืองเหนือให้กลับคืนดีดังเก่า พม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ คราวนี้ พม่ายกมาทุกทางเป็นกองทัพใหญ่หลวงยิ่งกว่าเคยปรากฏมาแต่ก่อน ๆ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ทิ้งหัวเมืองเหนือเหมือนอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คงรักษาขึ้นไปเพียงปากพิงข้างใต้เมืองพิษณุโลกและตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ ครั้นพม่าพ่ายแพ้ในคราวนั้นแล้ว จึงได้กลับตั้งหัวเมืองเหนือขึ้นอีก

ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา ไม่มีเหตุการณ์เป็นข้อสำคัญในพงศาวดารที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองพิษณุโลก นอกจากปรากฏว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์ไปถึงเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก และเมืองสุโขทัย ทรงได้พระแท่นมนังคศิลากับหลักศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง และหลักศิลาจารึก (ภาษาเขมร) ของพระมหาธรรมราชาลิไทยลงมา เป็นต้นที่จะได้สอบศิลาจารึกรู้เรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยเป็นหลักฐานมาแต่ครั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลกอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งมณฑลและเทศาภิบาล เอาเมืองพิษณุโลกเป็นที่ว่าการมณฑล ๑ แต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ เป็นต้นมา และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เสด็จประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองลงมาเป็นประธานวัดเบญจมบพิตร ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก พ.ศ. ๒๔๕๔ อีกครั้งหนึ่ง เรื่องตำนานเมืองพิษณุโลกมีเนื้อความดังพรรณนามานี้

ของโบราณในเมืองพิษณุโลก

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญชั้นหลังเก่าแก่เหมือนเมืองลพบุรี และเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ถึงเป็นราชธานีก็ไม่นานเท่าเมืองสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้น ของโบราณที่เมืองจึงมีน้อยกว่า ๔ เมืองนั้น แต่ทว่า โบราณวัตถุซึ่งนับถือกันว่า เป็นของสำคัญชั้นที่สุดสิ่งหนึ่งในสยามประเทศนี้ มีอยู่ในเมืองพิษณุโลก คือ พระพุทธรูปซึ่งทรงพระนามว่า "พระพุทธชินราช" อันประดิษฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุ พระพุทธรูปองค์นี้นับถือกันทั่วทั้งประเทศ แม้สมเด็จพระราชาธิบดีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถ้าพระองค์ใดมีโอกาสเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเหนือ ก็คงเสด็จไปกระทำสักการะบูชาสมโภชพระพุทธชินราชทุกพระองค์ ที่จะเว้นหามีไม่ ของโบราณที่เมืองพิษณุโลกนอกจากพระพุทธชินราชยังมีพระราชวังและวัดอื่น ๆ อันมีเรื่องตำนานหลายแห่ง จะพรรณนาต่อไปโดยลำดับ

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุอยู่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออก เป็นวัดใหญ่และสำคัญว่าวัดอื่นในเมืองพิษณุโลก มีพระมหาธาตุรูปพระปรางค์อยู่กลาง เห็นจะสร้างแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ซ่อมแซมแก้ไขมาหลายครั้งหลายสมัย รูปเช่นคงอยู่ทุกวันนี้ดูเป็นแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา รอบพระมหาธาตุมีพระระเบียงและมีวิหาร ๔ ทิศ วิหารหลวงอยู่ทางทิศตะวันออก วิหารพระพุทธชินราชอยู่ทิศตะวันตก วิหารพระพุทธชินสีห์อยู่ทิศเหนือ วิหารพระศาสดาอยู่ทิศใต้ วิหารทั้ง ๔ ทิศนี้ยังบริบูรณ์อยู่ตามแบบเดิมแต่วิหารพระพุทธชินราชหลังเดียว และมีบานประตูประดับมุกฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งพระเจ้าบรมโกศทรงสร้าง มีอักษรจารึกอยู่เป็นสำคัญ วิหารพระพุทธชินสีห์กับวิหารพระศาสดานั้นเดิมหักพังหมด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นใหม่แต่เล็กกว่าเดิม และโปรดให้ปั้นพระพุทธรูปแทนพระพุทธชินสีห์และพระศาสดา (ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ) ไว้ในวิหารนั้นด้วย วิหารหลวงทิศตะวันออกนั้นยังหักพัง เหลือแต่ผนังอยู่จนบริบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากที่กล่าวมายังมีวิหารและพระเจดีย์อีกมาก แต่ไม่เป็นสิ่งสำคัญ

ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์

มีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกซึ่งสร้างเมืองพิษณุโลกนั้นทรงดำริจะสร้างพระพุทธรูป ๓ พระองค์ ให้ช่างสุโขทัยกับช่างเชียงใหม่ช่วยกันปั้นหุ่นพระพุทธรูปนั้น แล้วเททองสัมฤทธิ์หล่อเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ (ประมาณว่า ในปีจอ พ.ศ. ๑๙๐๗) สำเร็จเรียบร้อยแต่ ๒ พระองค์ คือ พระพุทธชินสีห์ กับพระศาสดา แต่พระพุทธชินราชนั้นต้องหล่อหลายครั้งจึงสำเร็จ แล้วเอาเศษทองที่เหลือหล่อพระพุทธรูป ๓ พระองค์นั้นหล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดน้อยไว้อีกพระองค์ ๑ จึงเรียกกันว่า "พระเหลือ" ประดิษฐานไว้ในกุฎีที่ใต้ต้นโพธิ์สามเส้าซึ่งปลูกไว้ตรงที่หล่อพระพุทธรูป ๓ พระองค์นั้น กุฎีพระเหลือนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงหล่อจำลองพระพุทธชินราชมาเป็นประธานวัดเบญจมบพิตร โปรดให้ปลูกต้นโพธิ์ตรงที่หล่ออีกต้นหนึ่งต่อต้นโพธิ์สามเส้าลงมาข้างใต้ แล้วทรงหล่อพระเหลืออีกองค์ ๑ แต่โปรดให้ประดิษฐานไว้ให้ราษฎรบูชา ณ เมืองลับแล

ลักษณะของพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์ แม้พิจารณาดูในบัดนี้ ก็เห็นได้ว่า เลือกเอาลักษณะที่งามในแบบอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยกับเชียงใหม่มาปรุงผสมกัน สมดังความที่กล่าวในพงศาวดารเหนือ จึงงามหาที่เปรียบมิได้ แต่พระศาสดานั้นลักษณะต่างไป สงสัยว่า จะหล่อมาต่อชั้นหลัง มิใช่ฝีมือช่างเดียวกัน ถึงในจดหมายเหตุเก่าซึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระราชาธิบดีครั้งกรุงศรีอยุธยาเสด็จขึ้นไปสมโภชก็ออกพระนามแต่พระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์ หาได้กล่าวถึงพระศาสดาไม่ แต่พระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์นั้นประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกด้วยกันมาตลอดเวลากว่า ๔๐๐ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะเป็นปีใดไม่ปรากฏ วิหารพระศาสดาหักพัง จึงมีผู้เชิญพระศาสดาลงมากรุงเทพฯ เดิมไว้ที่วัดบางอ้อช้าง แขวงจังหวัดนนทบุรี ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ เชิญไปไว้วัดประดู่ แขวงจังหวัดธนบุรี ครั้นรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เชิญมาไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ต่อมา ทรงสร้างพระวิหารที่วัดบวรนิเวศ แล้วโปรดให้เชิญพระศาสดาไปประดิษฐานไว้ในวิหารนั้นสืบต่อมาจนบัดนี้ พระพุทธชินสีห์อยู่ที่วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก จนรัชกาลที่ ๓ วิหารปรักหักพัง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงโปรดให้เชิญมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ ประดิษฐานไว้ในวัดบวรนิเวศซึ่งพระองค์ทรงสร้าง เดิมไว้ที่มุขหลังพระอุโบสถ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ายังทรงผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น จึงโปรดให้เชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถสืบมาจนบัดนี้

วัดวิหารทอง

วัดวิหารทองเป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่งในเมืองพิษณุโลก อยู่ทางฝั่งตะวันตกเยื้องกับวัดมหาธาตุหน่อยหนึ่ง วัดนี้เดิมมีพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ยืนสูง ๑๘ ศอก เมื่อรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเป็นเพราะด้วยวิหารหักพัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ ทรงสร้างวิหารประดิษฐานไว้ในวัดสระเกศเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงเฉลิมพระนามว่า พระอัษฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร แต่ที่วัดวิหารทองเดิมนั้นหักพังหมดแล้ว ยังเหลือแต่ผนัง

วัดจุฬามณี

วัดจุฬามณีอยู่ริมฝั่งตะวันออกใต้เมืองพิษณุโลกลงไปทางเรือสัก ๘ กิโลเมตร วัดนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๗ สร้างตรงที่เมืองเดิมแต่ครั้งขอม แปลงเทวสถานของขอมเป็นพระปรางค์ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารหลวง ครั้นสร้างเสร็จแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชศรัทธาเสด็จออกทรงผนวชอยู่ที่วัดจุฬามณี ๘ เดือนกับ ๑๕ วันจึงได้ลาผนวช ยังมีโคกถมดินกับรอยก่ออิฐอยู่แห่งหนึ่งทางริมน้ำตอนหน้าวัดข้างฝ่ายเหนือ เห็นจะเป็นที่ปลูกพระตำหนักทรงผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏอยู่จนบัดนี้ และมีมณฑปพระพุทธบาทอยู่ในวัดจุฬามณีนั้นอีกแห่งหนึ่ง มีศิลาจารึกครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเล่าเรื่องที่พระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดจุฬามณีและที่เสด็จผนวชดังกล่าวว่ามา แล้วกล่าวความต่อไปว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๒ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้เอาผ้าวัดรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพตแล้วจำลองรอยพระพุทธบาทลงแผ่นศิลาไปประดิษฐานไว้ ณ วัดจุฬามณีนั้น

พระราชวังเมืองพิษณุโลก

พระราชวังเมืองพิษณุโลกอยู่ทางฝั่งตะวันตกข้างใต้โรงทหารเดี๋ยวนี้ ยังมีสระข้างพระราชมนเทียรกับเนินดิน และมีศาลเทพารักษ์ที่พวกชาวเมืองไปบูชาปรากฏอยู่ สิ่งอื่นหามีไม่ สมเด็จพระราชาธิบดีซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาได้เคยประทับอยู่ที่พระราชวังนี้หลายพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธังกูร พระองค์หนึ่ง (เข้าใจว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชด้วย พระองค์หนึ่ง) สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์หนึ่ง รวมเป็น ๖ พระองค์ด้วยกัน แต่ชั้นเจ้าเมืองเห็นจะตั้งจวนอยู่ที่อื่น

สระแก้ว

สระแก้วอยู่นอกเมืองพิษณุโลกทางด้านตะวันออก คือ ตรงที่บริเวณสถานีรถไฟบัดนี้ เดิมมีสระ และเห็นจะมีตำหนักที่ประพาสของเจ้านายที่ครองเมืองพิษณุโลกคล้าย ๆ กับสระปทุมวันที่กรุงเทพฯ นี้ และว่า เป็นที่ทำพิธีสรงสนานเวลามีชัยชนะข้าศึกด้วย เวลาเมื่อก่อนทำทางรถไฟยังมีสระและเกาะกลางสระเหลืออยู่พอเห็นเป็นเค้าบ้าง

ของโบราณในเมืองพิษณุโลกมีสิ่งสำคัญดังพรรณนามา


  1. เมืองสวรรคโลก เดิมเป็น ๒ เมือง เมืองเชลียงอยู่ข้างใต้ เมืองสัชนาไลยอยู่ข้างเหนือไม่ห่างกันนัก หนังสือเก่าเรียกชื่อทั้งสองอย่าง