ข้ามไปเนื้อหา

เหตุใดไทยจึงพูดซ้อนคำ ฯลฯ/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชพัสดุรักษ์ (เนตร เนตรศิริ)

ประวัติพระราชพัสดุรักษ์

พระราชพัสดุรักษ์ (เนตร เนตรศิริ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ณบ้านในตลาดพลู คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายพลาย มหาดเล็ก และนางสำฤทธิ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน ซึ่งขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่คนเดียว คือ นายช่วง เนตรศิริ น้องคนสุดท้อง

พระราชพัสดุรักษ์มีบุตรซึ่งมีอายุอยู่จนเป็นผู้่ใหญ่ คือ

๑.นายร้อยตรี ขุนทัศนวิภาค (ชิต เนตรศิริ) ประจำกรมแผนที่ทหารบก (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๒.นางยุติกรดำรงสิทธิ์ (เชื้อ รสานนท์) ภรรยาพระยุติกรดำรงสิทธิ์ ข้าราชการสังกัดกระทรวงยุตติธรรม

๓.พระประมณฑ์ปัญญา (ประมณฑ์ เนตรศิริ) รับราชการกระทรวงเศรษฐการ

๔.นายแพทย์อรุณ เนตรศิริ ประจำศิริราชพยาบาล

๕.นางสาวพจนา เนตรศิริ

๖.นายไพบูลย์ เนตรศิริ

เมื่ออายุได้ ๘ ปี พระราชพัสดุรักษ์ได้ไปอยู่กับพระอาจารย์เผือกซึ่งเป็นลุงณสำนักวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ตำบลคลองบางกอกใหญ่ และได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยและมคธจากสำนักนั้น

พระราชพัสดุรักษ์ได้เริ่มเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กเวรเดชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ขณะมีอายุได้ ๑๗ ปี มีตำแหน่งเป็นมหาดเล็กยาม และมีหน้าที่เป็นพนักงานน้ำร้อน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๘ บาท

พระราชพัสดุรักษ์ได้รับราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมาเป็นเวลา ๔๗ ปี จึงได้ออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ขณะออกจากราชการ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๐๐ บาท

พระราชพัสดุรักษ์ได้รับพระราชทานยศทางกรมมหาดเล็กเป็นรองหัวหมื่น และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้:—

พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นนายราชภัณฑ์ภักดี

พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นหลวงราชบุตรบำรุง

พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นพระสมานบริกร

พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นพระราชพัสดุรักษ์

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศรืยาภรณ์ในรัชชกาลที่ ๕ คือ

ตรามงกุฎ ชั้นที่ ๕

ตราช้างเผือก ชั้นที่ ๕

เหรียญราชรุจิยากาไหล่ทอง

เหรียญประพาศยุโรป

เหรียญทวีธาภิเศกเงิน

เหรียญรัชมงคลเงิน

เหรียญรัชมังคลาภิเศกเงิน

เข็มพระชนมายุสมงคล

ในรัชชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ คือ

ตรามงกุฎ ชั้นที่ ๔

ตราช้างเผือก ชั้นที่ ๔

เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๔

เหรียญราชรุจิยากาไหล่ทอง

เหรียญจักรพรรดิมาลา

เข็มข้าหลวงเดิม

เข็มพระบรมนามาภิธัย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระราชพัสดุรักษ์ ครั้งยังเป็นนายราชภัณฑ์ภักดี ได้ย้ายมาประจำโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และมีหน้าที่เป็นพระอภิบาลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และหม่อมเจ้าในพระเจ้าน้องยาเธออีกหลายพระองค์ซึ่งทรงศึกษาวิชาณโรงเรียนนั้น โดยเหตุที่พระราชพัสดุรักษ์มีหน้าที่ราชการดังนี้ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชบุตรบำรุง (อาลักษณ์คิดนามถวายว่า หลวงบำรุงราชบุตร แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงแก้เป็น หลวงราชบุตรบำรุง)

พระราชพัสดุรักษ์ได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาศหัวเมืองต่าง ๆ แทบทุกคราว และนอกประเทศได้ตามเสด็จถึงสิงคโปร์และปีนัง ในสมัยรัชชกาลที่ ๖ ก็ได้มีโอกาสตามเสด็จประพาศหัวเมืองหลายครั้ง แม้พื้นความรู้เดิมจะได้มาจากวัด โดยที่สมัยนั้นไม่มีโรงเรียนดี ๆ จะเรียนเหมือนสมัยนี้ก็ตาม แต่โดยเหตุที่ได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายตลอดมา จึงเท่ากับได้เข้าวิทยาลัยชั้นสูงวิทยาลัยหนึ่ง เป็นเหตุให้พระราชพัสดุรักษ์มีการศึกษาทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดี ทำให้มีสติปัญญา ความชั่งใจ และความคิดความเห็นอันไม่ล้าสมัย แม้แต่บุตรหลานที่ได้มีโอกาสเข้าโรงเรียนดี ๆ และได้เคยไปต่างประเทศมามาก ถึงคราวจนปัญญาเข้า ก็ยังต้องมาพึ่งความคิดความเห็น และมักจะได้รับคำแนะนำที่ตนเองคิดไม่ถึงกลับไปเสมอ

พระราชพัสดุรักษ์มีนิสสัยมัธยัสถ์ แต่ไม่เหนียวแน่น ในการทำบุญทำทาน แม้จะตั้งต้นชีวิตด้วยได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเพียงปีละ ๘ บาท และได้เงินเดือนในตอนออกจากราชการเพียงเดือนละ ๓๐๐ บาท ก็ยังอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบไว้หาผลประโยชน์โดยชอบธรรมตามพระราชกำหนดกฎหมาย สระสมทรัพย์ไว้บำรุงตนและครอบครัวให้เป็นสุขได้ทั่วกัน อุปถัมภ์บุตรให้ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดที่จะพึงทำได้ และประกอบการกุศลทาน สร้างถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณะประโยชน์ไว้หลายอย่าง แม้เมื่อสิ้นชีพไปแล้ว ก็ยังมีมรดกตกเหลือเป็นเครื่องเกื้อกูลภรรยาและบุตรหลานพอควรแก่อัตตภาพ

พระราชพัสดุรักษ์เชื่อมั่นในพุทธภาษิตว่า "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ตนของตนเป็นที่พึ่งตนเอง และได้นำหลักนี้มาใช้แก่บรรดาบุตรที่เติบโดไปแล้วทุกคน ทั้ง ๆ ที่ได้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงเจ้านายมา แต่ก็ยังมีเจ้านายบางพระองค์ไม่ทราบว่า บุตรของพระราชพัสดุรักษ์รับราชการอยู่กับพระองค์ จนกระทั่งได้ทรงทราบเองโดยเผอิญ

พระราชพัสดุรักษ์เป็นผู้รักษาอนามัยจัด และเคร่งในการกินอยู่หลับนอนมาก ถึงเวลาอาบน้ำ ต้องอาบ ถึงเวลานอน ต้องนอน ถึงเวลารับประทาน ต้องรับประทาน ไม่มีการรับประทานนอกเวลาเลย ทั้งเป็นผู้ชอบออกกำลังกายเสมอ และการออกกำลังกายของท่าน ก็คือ ใช้แครงรดน้ำสวน ซึ่งท่านได้ทำเป็นอาจิณ แม้พวกลูก ๆ ซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มก็ไม่ทนออกแรงด้วยวิธีนี้อยู่ได้นานเท่ากับท่านซึ่งมีอายุถึง ๘๐ เศษ

พระราชพัสดุรักษ์ป่วยเป็นลมอัมพาตถึงแก่กรรมโดยอาการสงบดุจคนนอนหลับเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ เวลา ๕ นาฬิกา ณบ้านคลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี

พระราชพัสดุรักษ์เป็นบุคคลชะนิดที่เรียกว่า สร้างตนเองเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม มีความซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที เป็นที่พึ่งของบุตร ภรรยา และญาติมิตร เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยจะป่วยไข้ เป็นผู้ได้รับราชการนานถึง ๔๗ ปี และมีอายุยืนยาวถึง ๘๒ ปี เมื่อถึงคราวมรณภาพ ก็มิได้ป่วยไข้ทนทุกข์ทรมาน เมื่อสิ้นชีพไปแล้ว ก็มิได้ทำให้บุตรภรรยาได้รับความเดือดร้อน ดังที่เรียกกันว่า คนตายขายคนเป็น จึงนับว่า เป็นผู้ที่มาดีและไปดีด้วยประการทั้งปวง.

เจ้าภาพ
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒