เหตุใดไทยจึงพูดซ้อนคำ ฯลฯ/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
เหตุใดไทยจึงพูดซ้อนคำ

จะตอบปัญหาที่จ่านาไว้ข้างบนนี้ ก็ควรต้องอธิบายเสียก่อนว่า ปัญหาหมายความอย่างไร เพราะที่เราเลือกใช้ว่า ซ้อนคำ นั้น มิใช่อย่างเดียวกับนักเลงหนังสือเรียกว่า ทับศัพท์ "ซ้อนคำ" กับ "ทับศัพท์" ถ้าจะแปลตามคำ ก็อย่างเดียวกัน แต่ในที่นี้ เราตั้งใจให้หมายความแปลกไปคนละอย่าง เป็นการตั้งศัพท์ใหม่ในภาษาหนังสือ จึงควรอธิบายให้แจ่มแจ่งเสียก่อน

ที่เรียกว่า ทับศัพท์ นั้น เป็นคำใช้กันมาเก่าในวิธีพูดของคนแต่งหนังสือ หรือที่เรียกว่า ภาษาหนังสือ ซึ่งไม่เหมือนกันทีเดียวกับภาษาพูด วิธีทับศัพย์นั้น คือ เอาคำ ๒ คำซึ่งรู้อยู่ทั่ว ๆ กันแล้วมาใช้ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจ เป็นต้นว่า

"แสงบุหลันจันทร์กระจ่างกลางเวหา

หอมบุบผากลิ่นกลบกระหลบสวน"

ฉนี้ คำว่า บุหลัน กับ จันทร์ ก็แปลว่า เดือน ทั้ง ๒ คำ กลบ กระหลบ ก็คำเดียวกันอีก จะว่า บุหลัน คำเดียวก็พอ จันทร์ คำเดียวก็ กลบ หรือ กระหลบ คำเดียวก็พอเหมือนกัน เหตุที่ผู้แต่งกลอนใส่ลงไปทั้ง บุหลัน และ จันทร์ ทั้ง กลบ และ กระหลบ ก็เพราะจะเอาสัมผัสให้กลอนไพเราะ เป็นการแสดงความแร้นแค้นในเรื่องถ้อยคำ เป็นทางเสีย ไม่ใช่ทางดี เพราะเติมคำเข้าไปอีกคำหนึ่งโดยไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจ กวีพลาดในทางนี้บ่อย ๆ เพราะไม่ทันคิดบ้าง เพราะอับจนบ้าง เพราะบางสมัยไม่ถือกันว่าไม่ดีบ้าง การใช้คำ ๒ คำควบกันเช่นนี้ เรียกว่า ทับศัพท์

ส่วนที่เราใช้ว่า ซ้อนคำ ในที่นี้ หมายความคนละอย่าง ก่อนที่จะชี้แจงต่อไป ขอกล่าวเหตุดั้งเดิมเสียแต่บัดนี้ว่า วิธีซ้อนคำนั้นจำเป็นเพื่อความเข้าใจ

ตัวอย่างซ้อนคำที่เรายังใช้อยู่มีเป็นต้นว่า "เสื่อสาด" เสื่อ ก็แปลว่า สาด สาด ก็แปลว่า เสื่อ "ทั้งสิ้น" ทั้ง ก็แปลว่า หมด สิ้น ก็แปลว่า หมด ยังมี "ทั้งหลาย" อีกคำหนึ่ง หลาย (ลาย) คำเดิมก็แปลว่า หมด เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราใช้แปลว่า มาก คำที่เราใช้ซ้อนเช่นนี้ยังมีอีกมาก เช่น เย่าเรือน เกียจคร้าน ยักย้าย กว้างขว้าง ฝักใฝ่ หรือ ฝักฝ่าย (ฝัก แปลว่า ข้าง แล ฝ่าย ก็เหมือนกัน) เป็นต้น

ไทยกรุงสยามสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องพูดซ้อนคำ ที่ยังใช้อยู่เช่นนี้ ก็เพราะติดมาแต่สมัยที่ภาษาไทยยังแคบ และยังไม่มีวิธีที่จะพูดและเขียนได้อย่างในสมัยนี้ ภาษาไทยเป็นภาษาพยางค์เดียว คำที่เป็นคำไทยแท้เป็นคำพยางค์เดียวทั้งนั้น คำ ๆ เดียวจึงต้องใช้มีความหลายอย่าง และเมื่อยังมีตัวหนังสือน้อยและยังไม่ได้จัดอักขรวิธีให้กว้างขวาง ก็ต้องเขียนคำซ้ำ ๆ กัน เช่นที่เดี๋ยวนี้เราเขียนว่า ขายไข่ แต่ก่อนต้องเขียนว่า ไขไข ฉะนั้น ก็ยากที่จะรู้ความหมายได้ ภาษาไทยใหญ่ (เงี้ยว) ก็ยังเขียน ไขไขไก แทนที่เราเขียน ขายไข่ไก่ อยู่จนเดี๋ยวนี้ คำพูดและหนังสือไทยใหญ่ปัจจุบันย่อมจะจำเริญมาแล้วไกลจากไทยบุราณแท้ ๆ แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะเขียนแปลคำอังกฤษว่า This fire is very hot ก็ต้องเขียนว่า ไฝไนไมเตเต (ดูสมุดคู่มือของดอกเตอร์คุฉิง) ซึ่งถ้าเขียนตามอักขรวิธีของไทยกรุงสยาม ก็เขียนว่า ไฟนี้ไหม้แท้ ๆ (ไหม้ แปลว่า ร้อน) ฉะนี้

ส่วนวิธีออกเสียงพูดนั้น ไทยมีสำเนียงผันมาแต่เดิม อาจพูดเสียงสูงต่ำ เช่น ไข ออกเสียงเป็น ไข่ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่แน่ว่า คนฟังจะเข้าใจ จึงต้องพูดซ้อนคำ คือ เอาคำ ๒ คำที่ความอย่างเดียวกันมาพูดซ้อนให้แปลกันไปเองในตัว จะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ต้องยกไทยพวกที่ภาษายังไม่เดินมาถึงคั่นเจริญของเรา เป็นต้นว่า ไทยในอาสาม จะพูดว่า ตัด ต้องว่า ขาฟัน (ฆ่าฟัน) เพราะ ขา แปลได้หลายอย่าง และ ฝัน ก็แปลได้หลายอย่าง แต่ทั้ง ๒ คำแปลว่า ตัด ได้ ถ้าใช้รวมกัน ก็เป็นคำอรรถคำแปลในตัว เราไทยกรุงสยามยังพูดว่า ฆ่าฟัน อยู่จนบัดนี้ แต่ไม่ใช่โดยความจำเป็นเลย อันที่จริง ตามความเดิมแห่งภาษาของเรา ฆ่า กับ ฟัน เดี๋ยวนี้ก็มีความคนละอย่าง แต่ถึงกระนั้น เมื่อเราจะพูดถึง ฆ่า ก็มักจะแถม ฟัน ด้วย ต่างว่า คน ๒ คนที่เรารู้จักเกิดวิวาทเรื่องเล็กน้อย ถึงจะยิงกันด้วยปืน เราเป็นผู้ห้าม เราอาจพูดว่า เรื่องเล็กน้อยเท่านี้ จะถึงฆ่าฟันกันทำไม ฉะนี้ ที่จริงเราหมายว่า ฆ่า คำเดียว เราจะหมายความว่า ฟัน ด้วยก็หามิได้ เพราะเขาจะยิงกันต่างหาก อธิบายเรื่องซ้อนคำโดยนัยที่กล่าวนี้ได้มีแล้วในปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่าด้วย "ความขายตัวแห่งภาษา" (พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๒) แต่ยังหาได้ตั้งศัพท์ "ซ้อนคำ" ลงในคราวนั้นไม่

หลักในเรื่องซ้อนคำ ก็คือ ไทยเรามักพูดเช่นนั้น เพราะจำเป็นเพื่อความเข้าใจของผู้ฟัง ผิดกับทับศัพท์ ซึ่งไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจของผู้ฟัง (หรือผู้อ่าน) นี้เป็นข้อต้น แต่ต่อมา เราพูดซ้อนคำจนติดปาก แม้นาน ๆ มาเมื่อลืมความในคำหนึ่งของสองคำนั้นแล้ว คำที่ลืมนั้นก็เลยเป็นคำสร้อย เป็นต้นว่า พูดว่า ครูบา และ วัดวา บา และ วา จะแปลว่าอะไรก็ลืมเสียแล้ว

เหตุที่เราชอบพูดคำสร้อยมีอีกอย่างหนึ่ง คือ ไทยเราเป็นชาตินักกลอน ชอบพูดคำคล้องจนถึงเติมคำให้ยาวออกไปอีกก็มี เช่น ครูบาอาจารย์ วัดวาอาราม เป็นต้น พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตรัสว่า "ไม่เป็นแก้วเป็นการ" ซึ่งเป็นคำซ้อนชะนิดที่กล่าวนี้

(หนังสือข้างบนนี้แต่งเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗)