ข้ามไปเนื้อหา

แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
  • อ.ท. พระอุปกรศิลปศาสตร์
  • (เจริญ อากาศวรรธนะ)
  • ชาต – ๗ มิถุนายน ๒๔๒๒
  • มรณะ – ๒๒ ตุลาคม ๒๔๒๒

ประวัติย่อ
อ.ท. พระอุปกรศิลปศาสตร์
(เจริญ อากาศวรรธนะ)

อ.ท. พระอุปกรศิลปศาสตร์ (เจริญ อากาศวรรธนะ) เกิด ณ วันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๒๒ ที่ตำบลบ้านขมัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บุตรนายแจ้ง นางสิน อากาศวรรธนะ

แรกเข้ารับราชการ เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร ป.ป. และได้เลื่อนเป็นครูประกาศนียบัตร ป.ม. เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

หน้าที่ราชการ

เข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤศภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ในตำแหน่งครูน้อย โรงเรียนสายสาวลี

เป็นครูผู้ช่วย โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๑

เป็นครูใหญ่ โรงเรียนบ้านหลวงอภัย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒

เป็นครูใหญ่ โรงเรียนเอี่ยมสกุล เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒

เป็นอาจารย์ใหญ่ จัดการศึกษามณฑลพายัพ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔

เป็นข้าหลวงธรรมการ มณฑลพายัพ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖

เป็นพนักงานตรวจ กระทรวงศึกษา เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖

เป็นพนักงานสอบไล่ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑

เป็นธรรมการ มณฑลนครไชยศรี เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

เป็นศึกษาธิการ มณฑลนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมเวลาที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลา ๓๔ ปี ๘ เดือน

ยศและบรรดาศักดิ์

เป็น ขุนอุปกรศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖

เป็น หลวงอุปกรศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

เป็น รองอำมาตย์เอก เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔

เป็น อำมาตย์ตรี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖

เป็น อำมาตย์โท เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

เป็น พระอุปกรศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

ราชอิสสริยาภรณ์ ได้รับพระราชทาน

เหรียญทวิธาภิเศก เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖

เหรียญรัชมังคลา เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐

เหรียญรัชมงคล เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔

เหรียญบรมราชาภิเศก เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕

เบญจมาภรณ์ มงกุฎสยาม ชั้น ๔ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙

เหรียญจักรพรรดิมาลา เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๕

จตุรภาภรณ์ ช้างเผือก ชั้น ๔ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

เหรียญบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้รับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมด้วย.

ราชการพิเศษและคุณวิเศษ

เป็นแม่กองทำพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงค์พระยศเป็นพระยุพราช ที่ตำบลห้วยส่วนหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นหัวหน้าจัดการแต่งพลับพลาประทับแรมตำบลองครักษ์กับพลับพลาประทับแรมในจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นหัวหน้าทำรางน้ำเอาน้ำข้ามฟากใส่นาตำบลบางใหญ่กับตำบลบางกะเมฆโดยน้ำฝั่งตะวันตกไม่ตกเข้าทุ่ง ราษฎรได้น้ำที่ทำรางน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวหลายพันไร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒.

อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ณวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ อำเภอพระราชวัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักพระธรรมราชานุวัติ.

อ.ท. พระอุปกรศิลปศาสตร์ เจริญ อากาศวรรธนะ ได้สมรสกับนางอุปกรศิลปศาสตร์ (ย้อย อากาศวรรธนะ) บุตรีพระสาครสงคราม รับราชการในกรมเจ้าท่าครั้งรัชชกาลที่ ๔ บ้านที่หน้ากฎีเจ้าเซ็น บางกอกน้อย เกิดบุตรและธิดาด้วยกันหลายคน นางอุปกรศิลปศาสตร์ ย้อย ได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียถึงแก่กรรมแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ ทิ้งให้บุตรและธิดาซึ่งยังเล็กอยู่ในความเลี้ยงดูของท่านผู้วายชนม์แต่ผู้เดียว อ.ท. พระอุปกรศิลปศาสตร์ เป็นผู้มีน้ำใจเมตตากรุณาแก่บุตรธิดาของท่านตลอดจนวงศ์ญาติมิตร์สหายด้วยดียิ่ง รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความอุสาหะวิริยะ มิได้เห็นแก่เหนื่อยยากลำบากอย่างใดเลย เมื่อกราบถวายบังคมลาออกจากราชการแล้ว ได้พาครอบครัวอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และได้เริ่มป่วยเป็นโรคลมอัมพาธเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแม็คคลอมิค อาการก็ทุเลาดีขึ้น จนเดินได้จนเกือบเป็นปกติ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๐ อาการกลับเป็นอีก จนลุกเดินและพูดไม่ได้ เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก นับแต่นั้นมา อาการก็มีแต่ทรงกับทรุดลง จึงได้พาท่านลงมารักษาตัวอยู่ที่บ้านปากน้ำโพ อาการก็หากลับดีขึ้นไม่ บุตรหลานจึงปรึกษากันนำท่านมารักษาตัวอยู่ในจังหวัดพระนครเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ นี้ อาการก็ค่อยรู้สึกดีขึ้น จนอยู่มาจนกระทั่งเมื่อคืนวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. นี้ มีอาการหอบเกิดขึ้น และเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดคืน จนวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ก็ถึงแก่อนิจกรรม ทิ้งความวิปโยคและเศร้าใจอย่างยิ่งไว้แก่บุตรธิดาและญาติพี่น้องอย่างสุดซึ้ง รวมอายุของท่านได้ ๖๐ ปีบริบูรณ์.

"บุญใดที่ลูกได้ สร้างสรรค์
ขออุทิศอภินันท์ แด่พ่อ
ชาตินี้, ชาติหน้า, บรร- พชาติ ใดฤๅ
ขอเกิดเป็นลูกพ่อ ดุจได้อธิษฐาน"