โคลงกวีโบราณ/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

หนังสือที่เรียกว่า ประชุมโคลงกวีโบราณ นี้ คือ โคลงที่กวีแต่งครั้งกรุงเก่า เปนของคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง มีตั้งแต่พระราชนิพนธ์เปนต้นลงมา ล้วนนับถือกันในพวกกวีแต่โบราณว่า เปนของแต่งดี จึงจดจำบอกเล่ากันสืบต่อมา ดูเหมือนจะไม่มีนักเรียนหนังสือไทยคนใด แม้ในปัจจุบันชั้นหลังลงมา ที่จะไม่เคยได้พบเห็นโคลงเหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะยังไม่มีใครได้เคยเห็นรวบรวมโคลงกวีโบราณไว้ได้มากเหมือนที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ซึ่งได้ฉบับมาแต่พระราชวังบวรฯ เปนของพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ประทานแก่หอพระสมุดฯ

ต้นฉบับประชุมโคลงกวีโบราณซึ่งได้มาจากพระราชวังบวรฯ มีบานแพนกว่า "ข้าพระพุทธเจ้า พระยาตรัง จ่าโคลงบุราณไว้ ได้ถวาย" พระยาตรังคนนี้เปนกวีมีชื่อเสียงคน ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งโคลงนิราศไว้เรื่องหนึ่งซึ่งเรียกว่า "นิราศพระยาตรัง" พวกกวีแต่ก่อนยกย่องกันเข้าไว้ในตำรา กับแต่งโคลงดั้นยอพระเกียรดิรัชกาลที่ ๒ ไว้อีกเรื่อง ๑ เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบเพลงยาวนิราศพระยาตรังแต่ง ว่าด้วยครั้งไปวางตราเปนผู้ว่าราชการเมืองตรัง สำนวนพระยาตรังแต่งกลอนสู้แต่งโคลงไม่ได้ แต่ได้ความในเรื่องประวัติของพระยาตรังในเพลงยาวนั้นประกอบกับที่ได้ทราบคำบอกเล่า เข้าใจว่า พระยาตรังคนนี้เปนชาวนคร จะเปนเชื้อแถวอย่างไรทางเจ้าพระยานครพัฒน์ เปนพระญาติกับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้เปนตำแหน่งพระยาตรังเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้น ยกเมืองตรังขึ้นเปนเมืองตรีมาขึ้นกรุงเทพฯ เห็นจะเปนด้วยเหตุนี้ พระยาตรังจึงไม่ถูกกับเจ้าพระยานครน้อย เมื่อพระยาตรังออกไปวางตรา พาภรรยาไปด้วย ภรรยาเปนญาติเจ้าพระยานครน้อย พักอยู่เสียทีเมืองนคร ไม่ออกไปเมืองตรังด้วย เข้าใจว่า พระยาตรังว่าราชการเมืองอยู่เพียงสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้วต้องกลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมืองตรังกลับเปนเมืองขึ้นเมืองนครต่อไป โคลงโบราณที่พิมพ์ในเล่มนี้ เข้าใจว่า พระยาตรังรวบรวมถวายกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเวลาเมื่อตัวกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ

โคลงโบราณที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้ายังนึกเสียดายอยู่น่อยว่า ยังไม่มีเวลาที่จะสอบค้นประวัติกวีที่มีชื่อเปนผู้แต่งโคลง แลจะเขียนเล่าเรื่องตำนานของโคลงบางบทซึ่งรู้อยู่ตามที่เล่ากันมาอธิบายลงไว้ด้วยไม่ทัน ด้วยการที่สอบไม่สู้ง่ายนัก เปนต้นว่า โคลงที่อ้างว่า เปนพระราชนิพนธ์ ไม่ได้บอกไว้ว่า รัชกาลไหน จะเปนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายน์มหาราชฤๅสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐก็เปนได้ จะต้องค้นคว้าหาหลักฐานว่า เปนพระราชนิพนธ์ของพระองค์ไหนแน่ แต่กวีที่มีชื่อบางคนก็พอรู้ได้แน่ เหมือนเช่นพระมหาราชครูนั้น กล่าวกันมาว่า เปนกวีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ฯ เปนผู้ตั้งต้นแต่งฉันท์เรื่องสมุทโฆษ ศรีปราชญ์นั้นว่า เปนบุตรพระมหาราชครู มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อศรีปราชญ์แรกรุ่นหนุ่มแต่งหนังสือเรื่องอันใดอันหนึ่งเอาไปให้บิดาดู บิดาติเตียน ศรีปราชญ์ขัดใจ ครั้นเมื่อเปนกวีมีชื่อเสียง แต่งฉันท์เรื่องอนิรุทธ จึงไม่แต่งคำนมัสการ เพราะไม่อยากจะแสดงความเคารพต่อบิดา เลยกล่าวหากันมาว่า เปนบาปกรรมให้ทุกข์โทษไภยแก่ศรีปราชญ์ จนถึงต้องประหารชีวิตรเปนที่สุด เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา มีเรื่องประวัติของศรีปราชญ์ปรากฎอยู่ในหนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงน่า ๑๒๖ แต่โคลงในสุมดเล่มนี้ยังมีชื่อกวีอื่น ๆ อยู่อิกหลายคน เช่น พระเจ้าล้านช้าง เปนต้น ถ้าจะสืบสวนให้รู้ว่าเปนใคร จะกินเวลามากอยู่ ยังไม่มีเวลาจะทำ จึงต้องทอดธุระไว้ที.

หนังสือเรื่องนี้ได้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ บัดนี้ หนังสือนั้นหมด นายเล็ก สมิตะสิริ มหาดเล็ก ขออนุญาตพิมพ์เปนครั้งที่ ๒ กรรมการหอพระสมุดเห็นเปนการสมควร จึงอนุญาตให้พิมพ์ตามประสงค์

ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑