ข้ามไปเนื้อหา

โฉมหน้าศักดินาไทย/ระบบศักดินาในประเทศไทย

จาก วิกิซอร์ซ
ระบบศักดินาในประเทศไทย


ลักษณะทางเศรษฐกิจ

๑. การถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยแห่งการผลิต

ปัจจัยแห่งการผลิตของสังคมศักดินาไทย ก็เป็นเช่นเดียวกับปัจจัยแห่งการผลิตของสังคมศักดินาในประเทศอื่นๆนั่นคือ ที่ดิน อันเป็นปัจจัยแห่งการผลิตสําคัญตกอยู่ในมือของชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า ชนชั้นศักดินา อันประกอบด้วย เจ้าที่ดิน และ เจ้าขุนมูลนาย

การไหวตัวของชนชั้นศักดินาไทยครั้งใหญ่ เพื่อรวบอํานาจที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของชนชั้นตนโดยสิ้นเชิง ก็คือการเคลื่อนไหวที่มีพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้นําเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘

พวกชนชั้นศักดินาในทางอยุธยานี้ ภายหลังจากที่ได้ขับเคี่ยวต่อสู้กับพวกเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ทางแคว้นสุโขทัย, สุวรรณภูมิ, นครสวรรค์, ฉะเชิงเทรา (คือเมืองแสงเชราในพงศาวดาร) ฯลฯ จนอานแล้ว ก็ได้ชัยชนะขั้นเด็ดขาด กล่าวคือประกาศโอนเอาที่ดินทั่วทั้งอาณาจักรเข้าไว้เป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อยึดอํานาจที่ดินไว้ได้ทั้งมวลแล้ว ศักดินาใหญ่แห่งอยุธยาก็จัดการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินอย่างขนานใหญ่

การที่ศักดินาใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาจัดการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินอย่างยกใหญ่ กล่าวคือพระราชทานที่ดินให้แก่ใครต่อใครอย่างทั่วถึงนั้น เป็นเพราะศักดินาใหญ่ทรงมีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาหรือฉไน? คําถามนี้ต้องขอโทษอย่างมาก ที่ต้องตอบว่าเปล่า!

สาเหตุที่บังคับให้ศักดินาใหญ่ต้องแจกจ่ายที่ดินก็คือ

๑) ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของชนชั้นศักดินาพวกเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งแต่ละคนได้เข้าร่วมมือกับกษัตริย์ในการแผ่ขยายแผ่นดิน และรวบอํานาจเหนือที่ดินมากจากเจ้าขุนมูลนายอื่นๆ นั้น ต่างคนก็หวังที่จะได้ผลประโยชน์ในที่ดินด้วยกันทุกคน ทุกคนต้องการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยสําคัญในการผลิตพวกเจ้าขุนมูลนายที่เป็นเจ้าของสุภาษิต "อาสาเจ้าจนตัวตาย รับใช้นายจนพอแรง" นั้น ไม่มีใครยินยอมกระทําตามภาษิตนี้ โดยมิได้รับผลประโยชน์ ถ้ากษัตริย์ไม่แบ่งปันให้พวกเจ้าขุนมูลนายได้มีผลประโยชน์จากที่ดินบ้าง ก็ต้องเกิดจลาจล กบฏ รัฐประหารเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ไม่หยุดหย่อน ข้อผูกพันที่ดีที่สุดที่กษัตริย์จะผูกมัดพวกเจ้าขุนมูลนายทั้งปวงไว้ได้ก็คือ การแบ่งที่ดินให้แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้เป็นการแบ่งโดยมีเงื่อนไข กล่าวคือเมื่อแบ่งที่ดินให้ไปแล้ว ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งจะต้องส่งส่วยสาอากรถวายเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ปกเกล้าปกกระหม่อมตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

๒) ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นศักดินาความจริงปรากฏเป็นกฏตายตัวแล้วว่า อํานาจทางการเมืองของพวกเจ้าขุนมูลนายย่อมมีมากหรือน้อยตามขนาดของอํานาจทางเศรษฐกิจ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตมาก ย่อมมีอํานาจทางการเมืองมาก การปล่อยให้พวกเจ้าขุนมูลนายครอบครองผืนดินโดยไม่มีขอบเขตจํากัด เป็นการเสริมสร้างอํานาจทางการเมืองของพวกนั้น ขยายออกไปอย่างไม่มีวงจํากัดเป็นเงาตามตัว ซึ่งกรณีนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของศักดินาใหญ่ การออกกฏหมายจํากัดขนาดของปัจจัยการผลิตคือ ที่ดิน เป็นทางเดียวที่จะจํากัดอํานาจทางการเมืองขั้นพื้นฐานของพวกเจ้าขุนมูลนายไว้ได้อย่างมีผลชะงัดแน่นอน ฉะนั้นกฏหมายพระราชทานที่ดินจึงต้องเดินควบคู่ไปกับการกําหนดอัตราสูงสุดของปริมาณที่ดินที่เจ้าขุนมูลนายแต่ละคนจะพึงมีได้ อนึ่ง การประทานที่ดินให้แก่ข้าราชบริพาร และส่งออกไปเป็นเจ้าขุนมูลนายแทนเจ้าขุนมูลนายชุดเดิมนี้ เป็นการประกันได้อย่างหนึ่งว่ากษัตริย์จะได้เจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ที่ภักดีแน่นอนกว่า การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นไปตามแผนการเพื่อรวบอํานาจให้เข้าสู่ศูนย์กลางได้อย่างมีผล

๓) กฏทางภววิสัยของความพัฒนาแห่งระบบผลิต ระบบผลิตยุคทาสได้ทลายลงแล้วโดยสิ้นเชิง ทาสที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของศักดินาใหญ่กลับกลายเป็น "ไท" ศักดินาใหญ่ไม่มีทาสเหลืออยู่เป็นเครื่องมือทํามาหากินอีกแล้ว สิ่งที่ศักดินาใหญ่มีอยู่ก็คือที่ดินอย่างเดียว ทางเดียวที่จะแสวงหาผลประโยชน์ได้ก็คือ แจกจ่ายที่ดินให้ไปแก่เสรีชนและเจ้าขุนมูลนาย ให้ทุกคนผลิตผลประโยชน์ออกมาจากที่ดินทั้งมวล แล้วจึงแบ่งปันมาให้ตนในรูปส่วยสาอากร นั่นคือระบบการขูดรีดของชนชั้นผู้ขูดรีดต้องเปลี่ยนไปตามความผันแปรของสภาพความเป็นจริงของการผลิตในสังคม การแจกจ่ายที่ดินจึงเป็นสิ่งจําเป็น และทางออกทางเดียวของชนชั้นผู้ขูดรีดของสังคมศักดินาไม่ว่าประเทศใด

ด้วยเหตุผลขั้นพื้นฐานสามข้อ (อย่างน้อย) ดังกล่าวนี้เอง ศักดินาใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาจึงต้องดําเนินการจัดสรรที่ดินครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดําเนินงานจัดสรรปันส่วนและจํากัดขนาดที่นาในครั้งนั้นก็คือ "ขุนวัง" ผู้เป็นหัวหน้างานฝ่ายรักษาความมั่นคงของพระราชวัง (ที่อยู่ของตระกูลกษัตริย์) และผู้ชําระตัดสินคดีความส่วนกลาง ในที่นี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าตามการปกครองของไทยในสมัยโบราณนั้น "ขุนวัง" เป็นผู้มีอํานาจในการบังคับบัญชาข้าราชการกว้างขวางที่สุด มีอํานาจที่จะตั้งศาลชําระความที่เกี่ยวเนื่องด้วยผู้คนในสังกัดของพระราชวังและกรมกองต่างๆ ที่ขึ้นตรงต่อพระราชวังได้ทุกกระทรวงและมีกรมต่างๆ อยู่ในบังคับบัญชามากที่สุด ผู้ที่รับราชการในตําแหน่งนี้ ต้องมีความสามารถพิเศษมากกว่าข้าราชการในกรมและกระทรวงอื่น๖๔ ด้วยความจริงข้อนี้เอง ขุนวังจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสําคัญในการนี้ และก็ด้วยความดีความชอบนี้เอง หลังจากการจัดสรรแล้ว ตัวขุนวังเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "เจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล" มีตําแหน่งเป็น "เสนาบดีกรมวัง" อันเป็นหนึ่งในจํานวนเสนาบดีทั้งหมดที่มีเพียง ๔ คน และได้รับส่วนแบ่งที่ดินหนึ่งหมื่นไร่ อันเป็นส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่พวกข้าราชการจะได้รับ

ผลของการจัดสรรที่ดินและจํากัดขนาดที่ดินในครั้งนั้น ในที่สุดก็ได้ปรากฏออกมาเป็น "พระอัยการตําแหน่งนาทหารและพลเรือน" ซึ่งพระบรมไตรโลกนาถประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ตามพระอัยการนี้ กษัตริย์-คือพระบรมไตรโลกนาถได้ประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่า เป็นผู้ครอบครองที่ดินทั้งมวลทั่วทั้งพระราชอาณาจักร พระอัยการฉบับนั้นเรียกขานกษัตริย์ว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายกดิลกผู้เป็นเจ้าเกล้าภูวมณฑลสกลอาณาจักร ฯลฯ" เมื่อเช่นนี้แล้ว กษัตริย์จึงได้ทรงพระกรุณาประทานที่ดินให้แก่พวกวงศ์วานว่านเครือของตนและข้าราชบริพารไปทํามาหากินอีกทอดหนึ่ง

ส่วนแบ่งของที่ดินและอัตราจํากัดขนาดของที่ดินตามที่ปรากฏในพระอัยการนั้นมีดังนี้ คือ

(๑) อัตราของพระบรมวงศานุวงศ์หรือวงศ์วานว่านเครือกษัตริย์รวมทั้งข้าราชการฝ่ายใน :

- สมเด็จพระอนุชาธิราชหรือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ได้เฉลิมพระราชมณเฑียรดํารงตําแหน่งมหาอุปราช
ศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระอนุชา (เจ้าฟ้า) ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๕๐,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (เจ้าฟ้า) ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๔๐,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระอนุชา (เจ้าฟ้า) ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๒๐,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (เจ้าฟ้า) ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๑๕,๐๐๐ ไร่
- พระอนุชา (พระองค์เจ้า) ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๑๕,๐๐๐ ไร่
- พระเจ้าลูกเธอ (พระองค์เจ้า) ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๑๕,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๑๕,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จหลานเธอ ที่ทรงกรมแล้ว
ศักดินา ๑๑,๐๐๐ ไร่
- พระอนุชา (พระองค์เจ้า) ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๗,๐๐๐ ไร่
- พระเจ้าลูกเธอ (พระองค์เจ้า) ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๖,๐๐๐ ไร่
- สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๖,๐๐๐ ไร่
- พระเจ้าหลานเธอ ที่ยังมิได้ทรงกรม
ศักดินา ๔,๐๐๐ ไร่
- หม่อมเจ้า
ศักดินา ๒,๕๐๐ ไร่
- หม่อมราชวงศ์
ศักดินา ๕๐๐ ไร่

ที่ว่า "ทรงกรม" นั้น หมายถึงพวกเจ้าต่างกรม กล่าวคือเจ้านายที่โตพอแล้ว พอที่จะบังคับบัญชาไพร่พลได้ ก็ได้รับอนุญาตให้ตั้ง "กรม" ขึ้นในบังคับบัญชา กรมที่ตั้งนี้มีเจ้ากรม ปลัดกรม และ สมุห์บัญชี เป็นผู้ปฏิบัติงาน งานของกรมก็คือ เที่ยวตระเวนออกสํารวจผู้คนภายในผืนที่ดินของเจ้านายพระองค์นั้นแล้วลงทะเบียนชายฉกรรจ์ทุกคนในอาณาบริเวณนั้นเข้าบัญชีไว้ใช้สอย การลงทะเบียนก็คือจดชื่อลงบัญชีกระดาษยาวเฟื้อยเหมือนหางว่าวปักเป้า เรียกว่า บัญชีหางว่าว แล้วเอาน้ำหมึกสักเลขหมายหมู่กรมกองลงบนข้อมือบ้าง ท้องแขนบ้างของชายฉกรรจ์ผู้นั้นทั้งนี้ เพื่อใช้ต่างบัตรประจําตัวและกันการหลบหนี พวกคนที่ลงทะเบียนสักเลขแล้วนี้ เรียกว่า "เลข" หรือ "เลก" ซึ่งจะต้องเข้าเวรทํางานให้แก่เจ้าขุนมูลนายของตัวเอง ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

อัตราศักดินาเท่าที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเพียงอัตราของพวกเจ้าสําคัญๆ เท่านั้น ยังมีพวกเจ้านายอีกมากมายที่ได้รับบรรดาศักดิ์ (เรียกว่าเจ้ามีชื่อ) และรับราชการในตําแหน่งต่างๆ สําหรับขี่ช้างขี่ม้าประดับยศบารมี และเป็นกองกําลังรักษาโขลงกระบือส่วนพระองค์ เป็นต้นว่า เจ้าพิเทหราช , เจ้าเทวาธิราช, เจ้าทศเทพ ฯลฯ พวกนี้ มีศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่ ๘๐๐ ไร่ และ ๕๐๐ ไร่ ตามลําดับ เจ้าพวกนี้มีอยู่ทั้งสิ้น ๒๐ ตําแหน่ง

คราวนี้ก็มาถึงพวกเมียเล็กเมียน้อยของกษัตริย์คือพวกสาวสวรรค์กํานัลในที่รับใช้ทั้งการบ้านการครัว อัตราของพวกนี้ มีดังนี้ :

- สมเด็จพระพี่เลี้ยง (ตําแหน่งท้าววรจันทร์)
ศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
- นางท้าวพระสนมเอกทั้ง ๔ (คือ ท้าวอินทรสุเรนทร์, ท้าวศรีสุดาจันทร์,๖๕ ท้าวอินทรเทวี, ท้าวศรีจุฬาลักษณ์)๖๖
ศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
- แม่เจ้า แม่นาง
ศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
- นักพฤฒิชราฉลองพระโอษฐ์ทั้ง ๔ (คือ ท้าวสมศักดิ์, ท้าวโสภา, ท้าวศรีสัจจา และท้าวอินทรสุริยา)
ศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
- นางสนม นางกํานัล
ศักดินา ๘๐๐ ไร่
- นางกํานัลแต่งเครื่องวิเสท (คือทําเครื่องเสวย)
ศักดินา ๖๐๐ ไร่
- พระสนมและพระพี่เลี้ยงของพระอนุชา, พระราชกุมาร, พระราชบุตรี
ศักดินา ๔๐๐ ไร่
- นางสนมและพระพี่เลี้ยงของราชบุตร, ราชนัดดา
ศักดินา ๒๐๐ ไร่
- สาวใช้ต่างกรม
ศักดินา ๑๐๐ ไร่

นอกจากที่นํามาแสดงไว้ ณ ที่นี้ แล้วยังมีอีกมากมายหลายชั้นหลายตําแหน่ง สรุปว่า พวกผู้หญิงที่รับราชการทั้งที่เป็นเมียก็ดี ไม่ได้เป็นเมียก็ดี ลงอยู่ในวังแล้วเป็นได้รับอัตราที่ดินทั้งสิ้น

(๒) อัตราของข้าราชการทั่วไป ทั้งในกรุงและหัวเมือง :

ส่วนแบ่งและอัตราขั้นสูงสุดของพวกข้าราชการมีเพียงหมื่นไร่ซึ่งก็นับว่าเป็นอัตราสูงทีเดียว เพราะพวกเจ้าเอง บางพวกก็ได้รับต่ำกว่าหมื่น พวกที่ได้รับส่วนแบ่งและอัตราที่ดินหมื่นไร่นี้ ทุกคนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา จึงเรียกกันว่า "พระยานาหมื่น"

ตําแหน่งข้าราชการศักดินาหมื่นไร่

ก. ตําแหน่งพิเศษ :

เจ้าพระยามหาอุปราช : ที่ปรึกษาราชการ

ข. ตําแหน่งพลเรือน

เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ : อัครมหาเสนาบดีว่าที่สมุหนายก (ศูนย์รวมฝ่ายพลเรือน)

พระยายมราช : เสนาบดีกรมพระนครบาล (จตุสดมภ์เมือง)

พระยาธรรมาธิบดี : เสนาบดีกรมพระธรรมาธิกรณ์ (จตุสดมภ์วัง)

พระยาศรีธรรมาธิราช : เสนาบดีกรมพระโกษาธิบดี (จตุสดมภ์คลัง)

พระยาพลเทพ : เสนาบดีกรมพระเกษตราธิบดี (จตุสดมภ์นา)

พระมหาราชครู พระครูมหิธร : ว่าการฝ่ายพระราชพิธี (พราหมณ์โหรดา)

พระมหาราชครู พระราชครู ปุโรหิตาจารย์ : ว่าการฝ่ายที่ปรึกษากฏหมาย (พราหมณ์ปุโรหิต) ทั้งคู่ว่าการศาลด้วย

พระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี: ว่าการศาสนา (กรมธรรมการ)

ค. ตําแหน่งทหาร :

เจ้าพระยามหาเสนาบดี : อัครมหาเสนาบดีว่าที่สมุหพระกลาโหม (ศูนย์รวมฝ่ายทหาร)

พระยาสีหราชเดโชชัย : ประจํากรุง

พระยาท้ายน้ำ : ประจํากรุง

เจ้าพระยาสุรสีห์ : กินเมืองพิษณุโลกเมืองเอก

เจ้าพระยาศรีธรรมราช : กินเมืองนครศรีธรรมราชเมืองเอก

พระยาเกษตรสงคราม : กินเมืองสวรรคโลกเมืองโท

พระยารามรณรงค์ : กินเมืองกําแพงเพชรเมืองโท

พระยาศรีธรรมาโศกราช : กินเมืองสุโขทัยเมืองโท

พระยาเพชรรัตนสงคราม : กินเมืองเพชรบูรณ์เมืองโท

พระยากําแหงสงคราม : กินเมืองนครราชสีมาเมืองโท

พระยาไชยาธิบดี : กินเมืองตะนาวศรีเมืองโท

พวกพระยานาหมื่นทั้งปวงนี้ ยังมีข้าราชการในบังคับบัญชาเป็นตําแหน่งรองลงไปอีกมากมาย มีศักดินาตั้งแต่ ๕๐ ไร่ขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๕,๐๐๐ เป็นที่สุด ถ้าเป็นพระยามหานคร กินเมืองเอกเมืองโท ก็มีตําแหน่งปลัดเป็นผู้ช่วย (เทียบตําแหน่งพระมหาอุปราชในกรุง), มียกกระบัตรเป็นที่ปรึกษาประจําตัว (เทียบเจ้าพระยามหาอุปราชของเมืองหลวง), มีสัสดีเป็นผู้เกณฑ์ไพร่พล (เทียบสมุหพระกลาโหม), มีมหาดไทยเป็นผู้ปฏิบัติการฝ่ายพลเรือน (เทียบสมุหนายก) นอกจากนั้นก็มีกรมเมือง, กรมวัง, กรมคลัง, กรมนา ครบตามขบวนของการบริหารเหมือนในกรุง ถ้าหากใหญ่โตมาก ถือตัวเป็นเจ้าสืบเชื้อวงศ์ อย่างทางนครศรีธรรมราช ก็ยังมีกรมมหาดเล็ก, กรมโหร, กรมล้อมวัง ฯลฯ แม้กระทั่งกรมอาลักษณ์, กรมลูกเธอ๖๗ และแต่ละเมืองก็ยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเมืองขึ้น พวกข้าราชการเหล่านี้ ล้วนมีศักดินาเป็นอัตราตายตัวกําหนดไว้ทั้งสิ้น

นอกจากพระยานาหมื่นที่ส่งออกไปกินเมืองทั้ง ๘ ดังกล่าวแล้ว ยังมีพระยาพระหลวงอีกมากมายที่ส่งออกไปกินเมืองตรี เมืองจัตวา พวกนี้ มีศักดินาตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ลงไป ถ้าจะคัดมาแสดงไว้ก็จะเกินจําเป็น

ส่วนพวกเมียของพระยาพระหลวงทั้งหลาย ต่างได้รับส่วนแบ่งและศักดินาดังนี้

เมียพระราชทาน และเมียหลวง ศักดินาครึ่งศักดินาผัวเมียน้อยทั้งปวง ศักดินาครึ่งศักดินาเมียหลวง

เมียทาส ถ้ามีลูก ศักดินาเท่าศักดินาเมียน้อย

(๓) อัตราสําหรับภิกษุสงฆ์ และนักบวช

ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งที่นา และมีอัตรากําหนดที่ดินมิใช่มีแต่พวกวงศ์วานว่านเครือ ท้าวพระยาและข้าราชการอันเป็นผู้ที่ยังมิได้ตัดกิเลสเท่านั้น หากพวกพระภิกษุสงฆ์และนักบวชทั้งปวงก็ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากที่ดินด้วย อัตรามีดังนี้ :

พระครูรู้ธรรม เสมอนา ๒,๔๐๐ ไร่
พระครูไม่รู้ธรรม เสมอนา ๑,๐๐๐ ไร่
พระภิกษุรู้ธรรม เสมอนา ๖๐๐ ไร่
พระภิกษุไม่รู้ธรรม เสมอนา ๔๐๐ ไร่
สามเณรรู้ธรรม เสมอนา ๓๐๐ ไร่
สามเณรไม่รู้ธรรม เสมอนา ๒๐๐ ไร่
พราหมณ์รู้ศิลปศาสตร์ เสมอนา ๔๐๐ ไร่
พราหมณ์มัธยม เสมอนา ๒๐๐ ไร่
ตาปะขาวรู้ธรรม เสมอนา ๒๐๐ ไร่
ตาปะขาวมิได้รู้ธรรม เสมอนา ๑๐๐ ไร่

(๔) อัตราสําหรับไพร่หรือประชาชน

ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ (เพิ่มเติม) ซึ่งตราไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๙๐๓) ก็ได้มีข้อความประกาศไว้ชัดแจ้งว่า : "ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรัมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้" ฉะนั้นพวกราษฎรผู้เป็นข้าแผ่นดินที่อาศัยแผ่นดินท่านอยู่ จึงไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร นอกจากยอมรับเอาอัตรานี้ เข้าไว้ด้วยความขมขื่น

ไพร่หัวงาน มีศักดินา ๒๕ ไร่
ไพร่มีครัว มีศักดินา ๒๐ ไร่
ไพร่ราบ มีศักดินา ๑๕ ไร่
ไพร่เลว มีศักดินา ๑๐ ไร่
ยาจก (คนจน) มีศักดินา ๕ ไร่
วณิพก (ขอทาน) มีศักดินา ๕ ไร่
ทาสและลูกทาส มีศักดินา ๕ ไร่

ไพร่หัวงาน คือ พวกไพร่ที่เป็นหัวหน้างานในการรับใช้ราชการและงานของพวกเจ้าขุนมูลนาย

ไพร่มีครัว คือ พวกไพร่ที่มีครัวอพยพในความควบคุม

ไพร่ราบ คือ พวกไพร่ธรรมดารวมทั้งพลเมืองทั่วไปที่เป็นคนงานธรรมดา

ไพร่เลว คือ พวกไพร่ชั้นต่ำ เป็นคนรับใช้ของคนอื่น มีฐานะดีกว่าทาสตรงที่มีอิสรภาพ, ดีกว่ายาจก (คนจน) ที่อดมื้อกินมื้อตรงที่มีนายเลี้ยง และดีกว่าวณิพก (ขอทาน) ตรงที่ไม่ต้องขอทานเขากิน

นี่คือฐานะที่แท้จริงของไพร่ทั้งปวง พวกนักพงศาวดารมักจะอ้างอย่างบิดเบือนเสมอว่า สามัญชนมีนาได้ ๒๕ ไร่ เป็นต้นว่าในหนังสือ "สยามปฏิวัติ" ภาคหนึ่งของ ม.ร.ว. ทรงสุจริต นวรัตน์ และในหนังสือ "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่หลักฐานตามที่ปรากฏในพระอัยการตําแหน่งนาทหารและพลเรือนที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ กลับปรากฏความจริงว่า สามัญชนมีนาได้อย่างสูงสุดก็เพียง ๑๕ ไร่ คือในอัตราของไพร่ราบ ถ้าหากเป็นคนยากจนอันเป็นคนส่วนข้างมากแล้ว ก็มีได้เพียง ๕ ไร่เสมอกับทาส อย่างดีถ้าไปสมัครเป็นเลว (คนรับใช้) ของเจ้าขุนมูลนายเข้าก็มีนาได้เพียง ๑๐ ไร่เท่านั้น!

อีกข้อหนึ่งที่พวกนักพงศาวดารศักดินาทั้งปวงพยายามบิดเบือนอธิบายก็คือ ศักดินานั้นดั้งเดิมหาได้หมายถึงจำนวนไร่ของที่นาที่อนุญาตให้ซื้อได้๖๘ หรือไม่ก็แถลงสาเหตุเดิมของการตั้งทำเนียบศักดินาไว้อย่างน่าฟังว่า "มูลเหตุเดิมเห็นจะประสงค์เพียงห้ามมิให้ใครหวงที่นาไว้เกินกว่ากำลังที่จะทำให้เกิดผลได้"๖๙ คำอธิบายเช่นนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อปกปิดความเป็นจริงในการขูดรีดของชนชั้นศักดินาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงจะพยายามบิดเบือนอย่างไรเขาก็ไม่สามารถปกปิดความจริงข้อหนึ่งได้ว่า ชนชั้นศักดินาเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ มีสิทธิในการครอบครองที่นาได้มากมายกว่าไพร่ทั้งหลายทั้งปวง พวกไพร่ทั้งปวงได้ถูกชนชั้นศักดินากีดกันที่ดินสงวนไว้แบ่งปัน แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจนกระทั่งทุกคนต้องกลายเป็น "ไพร่เลว" เป็น "เลก" เป็น "ทาส" กันเต็มบ้านเต็มเมือง

ถ้าเราจะมองย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือเอเซียจะเห็นชัดว่าระบบการแบ่งปันที่ดินในยุคศักดินานี้ มิใช่ระบบที่ตั้งขึ้นเล่นโก้ๆ เฉยๆ หากได้กระทำกันอย่างจริงจังและจำเป็นต้องกระทำด้วย เหตุผลของความจำเป็นก็คือ ๑) ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของชนชั้นศักดินา, ๒) ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นศักดินา และ ๓) กฏทางภววิสัยของความพัฒนาแห่งระบบการผลิตดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นของบทนี้ แต่อย่างไรก็ดีจะขอย้ำว่าระบบการแบ่งปันที่ดินนี้ พระบรมไตรโลกนาถจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อใช้ผลประโยชน์บนที่ดินเข้าผูกใจบรรดาข้าราชบริพารที่ร่วมงานกันมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกบฏ, จลาจล, เปลี่ยนราชวงศ์, เพื่อจัดตั้งเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ขึ้น ซึ่งชุดใหม่นี้ย่อมจัดตั้งขึ้นจากข้าราชบริพารที่เห็นว่าซื่อสัตย์และจงรักภักดี ทั้งนี้ เพื่อขจัดอำนาจของเจ้าขุนมูลนายชุดเดิม ที่ต่างก็วางโตถือว่าตนเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ และพร้อมกันนั้นก็ได้จำกัดขนาดที่ดินของเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการจำกัดอำนาจทางการเมืองของเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่นี้ไว้จากขั้นพื้นฐานกล่าวคือ จำกัดอำนาจทางการเมืองโดยการควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เหตุผลสำคัญขั้นหัวใจอีกข้อหนึ่งก็คือ พระบรมไตรโลกนาถไม่มีทาสจำนวนมหึมามหาศาลเป็นเครื่องมือในการผลิตเหมือนกษัตริย์ในยุคทาส ทางเดียวที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินได้ก็คือแจกจ่ายที่ดินให้กับเสรีชน และข้าราชบริพารไปทำการผลิตแล้วส่งส่วนแบ่งคืนมาเป็นส่วยสาอากร พ้นจากวิธีนี้ แล้วกษัตริย์ของสังคมศักดินาก็ไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินได้เลยแม้แต่น้อย... ทั้งนี้เพราะกษัตริย์มิได้ทำนาเอง!

ถ้าหากพวกศักดินายังจะยืนยันว่า กฏหมายศักดินาเป็นกฏหมายลม มิได้มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินกันจริงๆ เราก็ต้องปรับเอาว่า พระบรมไตรโลกนาถมีเงินใช้มีข้าวกินก็โดยการใช้ทาสจํานวนมโหฬารทำงานในที่ดิน นั่นคือเป็นกษัตริย์ในยุคทาส แล้วตั้งกฏหมายศักดินาขึ้นเล่นโก้ๆ เพื่อปลอบใจพวกทาส เมื่อปรับเอาเช่นนี้ พวกศักดินาก็คงจะร้องค้านโวยวายขึ้นอีก เพราะมันเป็นข้อน่ารังเกียจหนักขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เมื่อระบุว่าพระบรมไตรโลกนาถเป็นศักดินาใหญ่แจกจ่ายที่ดินเพื่อเก็บผลประโยชน์ ก็ไม่ยอมรับ ครั้นขยับให้ย้อนหลังไปเป็นนายทาสใหญ่ ก็ปฏิเสธเช่นนี้ ทางเดียวที่พวกศักดินาจะพอใจก็คือการกล่าวว่า พระบรมไตรโลกนาถเป็นกษัตริย์ "ประชาธิปไตย" กระนั้นหรือ?

การที่พวกศักดินาโต้เถียงว่ากฏหมายศักดินาเป็นกฏหมายลม มิได้มีการแจกจ่ายที่ดินอย่างจริงจัง ก็เพราะในชั้นหลังๆ ลงมาเมื่อเกิดการสืบทอดมรดกที่ดินกันขึ้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานที่ดินไปแล้ว เมื่อออกจากราชการหรือตายลงไม่ต้องเวนคืนที่ดินมาให้กษัตริย์แจกจ่ายให้ผู้อื่นใหม่ ที่ดินในกรรมสิทธิ์เอกชนเพิ่มมากขึ้นและขยายวงออกไป ที่ดินใหม่ที่หักร้างถางพงแล้วจึงลดน้อยลง และถ้ามีขึ้น กษัตริย์ก็มักจะยึดไว้ครอบครองเสียเอง หรือแบ่งให้ลูกหลานของตนเองเสียหมด พวกข้าราชการจึงได้รับแต่บรรดาศักดิ์และเครื่องยศและอัตราที่ดินซึ่งต้องไปหาที่ดินเอาเอง เมื่อต้องขวนขวายหาที่ดินเอาเอง พวกนี้ ก็มักใช้อำนาจเข้าเบียดเบียนกดขี่ไพร่ พวกไพร่หลวงไพร่ราบไพร่เลวจนกรอบลงทุกที เพราะการขูดรีดของเจ้าที่ดินและของรัฐ การกู้หนี้จำนองก็เกิดขึ้น ลงท้ายที่ดินก็หลุดมือไปเป็นของพวกเจ้าขุนมูลนายผู้มีเงินและอำนาจ ในยุโรปและประเทศอื่นๆ ทางเอเซียก็มีลักษณะการสืบทอดมรดกที่ดินและการแสวงหาสวาปามที่ดินลงรอยเดียวกันนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นถึงในชั้นหลังกฏหมายศักดินาจะมิได้แจกจ่ายที่ดินให้แก่ผู้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จริงๆ แต่มันก็ได้ควบคุมปริมาณที่ดินของพวกไพร่ไว้ และเปิดช่องทางให้พวกเจ้าขุนมูลนายขูดรีดครอบครองที่ดินได้ตามอำเภอใจ

อนึ่ง แม้ว่าพวกขุนนางในชั้นหลังจะไม่มีที่ดินพระราชทาน แต่พวกนี้ ส่วนมากก็มักมีที่ดินเป็นทุนเดิมสืบสกุลอยู่แล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพราะพวกขุนนางวางน้ำส่วนมาก ก็มักจะมีชาติกำเนิดในชนชั้นศักดินาทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแต่พวกนี้เท่านั้นที่ได้มีโอกาสศึกษาและถวายตัวเข้าทำราชการ พวกไพร่จะได้ศึกษาอย่างมากก็โรงเรียนวัด หรือบวชเป็นพระภิกษุเพื่อการศึกษา แต่พวกบวชแล้วสึกออกมานี้ ราชการก็ไม่พึงประสงค์เสมอไป แน่นอน สังคมของศักดินาก็ย่อมต้องดำเนินไปเพื่อดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาและโดยศักดินาอย่างไม่มีข้อสงสัย ตำแหน่งราชการต่างๆ ล้วนได้ผูกขาดไว้สำหรับลูกหลานในชาติตระกูลของพวกศักดินาทั้งนั้น พวกไพร่ และพวกชาววัดที่จะขยับเขยื้อนขึ้นมาได้นั้นมีน้อยตัวเต็มที นับตัวได้ พวกนี้แม้จะ "ชำนิชำนาญกระบวนการในกระทรวงยิ่งกว่าพวกผู้ดีที่เป็นขุนนางโดยสกุล แต่พวกนี้น้อยตัวที่จะได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนาง"๗๐ และมีที่บางคนที่ขยับเขยื้อนขึ้นไปเป็นขุนนางได้ ก็เป็นในขณะที่ชนชั้นศักดินาอยู่ในสภาพจนตรอกหมดตัวคนเข้าแล้วเท่านั้น องค์พยานของการผูกขาดตำแหน่งราชการไว้สำหรับชาติตระกูลศักดินานั้นจะเห็นได้จาก "ประกาศพระสงฆ์ที่จะสึกมารับราชการ" ของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ มีความตอนหนึ่งว่า :

"ครั้นบัดเดี๋ยวนี้ พระราชาคณะ พระครู ฐานานุกรม เปรียญบางองค์ที่เป็นโลภัชฌาศัย (คือโลภเป็นสันดาน ผู้เรียบเรียง) ใจมักมากแสวงหาแต่ลาภสักการะแลยศแต่ถ่ายเดียว เที่ยวประจบฝากตัวในเจ้าขุนนาง ไว้ตัวเป็นคนกว้างขวางในกรมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า ด้วยคิดเห็นว่าท่านเหล่านี้มีบุญวาสนาจะช่วยกราบทูลให้สึกออกมาเป็นขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า แห่งใดแห่งหนึ่งได้ ก็ซึ่งพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญรูปใด คิดดังนี้นั้นคงไม่สมประสงค์แล้ว อย่าคิดเลยเหนื่อยเปล่า เพราะว่าจะต้องพระราชประสงค์ แต่คนที่มีชาติตระกูลเป็นบุตรขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า ไม่ต้องพระประสงค์คนชาววัดเป็นพระยา พระหลวง ขุน หมื่นในกรมมหาดไทย ฯลฯ"๗๑

ความจริงข้อนี้ ทำให้พวกชนชั้นศักดินาสามารถขูดรีดได้อย่างทนทานมั่นคง มีที่ดินเป็นทุนเดิมโดยไม่ต้องเดือดร้อนต่อการมิได้รับที่ดินจริงตามตำแหน่งพระอัยการ อีกประการหนึ่งศักดินาแม้จะไม่มีที่ดินจริงในชั้นหลังแต่ก็ยังมีอภิสิทธิ์ในการอื่นๆ ได้อีกมากอย่างเช่น ใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยหวัดเงินปี อัตราปรับไหมและการว่าทนายแก้ต่างในโรงศาล (ศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไปจึงว่าจ้างทนายแก้ต่างได้)๗๒ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นแม้กฏหมายศักดินาครั้งพระบรมไตรโลกนาถจะมาเป็นกฏหมายลมอย่างที่พวกศักดินาอ้างเสียในชั้นหลัง พวกชนชั้นศักดินาก็ไม่เดือดร้อน และดูเหมือนจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นมากกว่าจะให้มีการเวนคืนแล้วแบ่งปันที่ดินใหม่ทุกรัชกาล

แต่อย่างไรก็ดี กษัตริย์ทุกรัชกาลก็ยังคงถืออำนาจเป็นเจ้าของที่ดินทั้งมวล มีสิทธิที่จะจับจอง ที่จะยกผืนดินให้ใครๆ ได้ตามความพอใจ ทั้งนี้ จะเห็นได้จาก "ประกาศร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ" ของรัชกาลที่ ๔ เมี่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ ดังต่อไปนี้ :

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๔ ในพระบรมวงศ์ปัจจุบันนี้ ขอประกาศแก่ชนที่ควรจะรู้คำประกาศนี้ว่า ที่ท้องทุ่งริมคลองขุดใหม่ตั้งแต่บางขวางออกไปบ้านงิ้วรายนั้น เป็นแขวงเมืองนนทบุรี นครไชยศรี เดิมรกร้างว่างเปล่าหาผู้เป็ นเจ้าของไม่ ครั้นขุดคลองไปตลอดแล้ว ข้าพเจ้าได้สั่งเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีว่าที่พระคลัง ผู้เป็นแม่กองขุดคลอง ให้จับที่ว่างเปล่านั้นเป็นที่นา อยู่แขวงเมืองนนทบุรีฝั่งเหนือ ๑,๖๒๐ ไร่ อยู่ในแขวงเมืองนครไชยศรีฝั่งเหนือ ๙,๓๙๖ ไร่ ฝั่งใต้ ๕,๑๘๔ ไร่ รวมเป็นที่นา ๑๖,๒๐๐ ไร่ แบ่ง ๕๐ ส่วน ได้ส่วนละ ๓๒๔ ไร่ เป็นที่นายาว ๑๐ เส้น กว้าง ๕ เส้น ๘ วา ที่นาทั้งปวงนี้ เพราะไม่มีเจ้าของมาแต่เดิม เป็ นที่จับจองของข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าขอยกส่วนที่ว่านั้นให้เป็นของบุตรชายข้าพเจ้าคนละส่วนบ้าง สองส่วนบ้าง ให้เป็นที่บ่าวไพร่ไปตั้งทำนา ฤๅจะให้ผู้อื่นเช่าทำก็ตาม"

ส่วนหนึ่งซึ่งจะมีสำคัญด้วยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ข้าพเจ้ายอมยกให้...(ชื่อลูก)...ให้... จงเอาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไปเป็นสําคัญและขอให้พระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีนำข้าหลวงไปรังวัด แล้วทำตราแดงให้เป็นสำคัญตามอย่างธรรมเนียมแผ่นดินเมืองเถิด"๗๓

หลักฐานนี้เป็นหลักฐานที่พวกศักดินาจะเถียงไม่ได้เลยว่าชนชั้นศักดินามิได้จับจองและแบ่งปันที่นากันและกันในหมู่ชนชั้นตนตามใจชอบ การแบ่งปันครั้งนี้ชนชั้นศักดินาทำอย่างแนบเนียนว่าตนได้ขุดคลองพบที่ดินว่างเปล่าจึงจับจอง แท้ที่จริงก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ร้างทิ้งอยู่จึงส่งแม่กองออกไปขุดคลอง ซึ่งจุดประสงค์ในการขุดก็หาใช่เพื่อระบายน้ำให้ประชาชนผู้ทำนาอื่นๆ ทั่วไปไม่ หากเพื่อระบายน้ำเข้าที่นาอันรกร้างนั้นสำหรับจะได้ทำให้มีค่าและทำนาได้ พอขุดเสร็จ พวกไพร่ยังไม่ทันได้จับจอง ชนชั้นศักดินาก็รีบจับจองแบ่งสรรปันส่วนกันเสียแล้ว! การทุกอย่างทำไปเพื่อรับใช้ชนชั้นศักดินาโดยเฉพาะวงศ์วานว่านเครือเนื้อหน่อของกษัตริย์ทั้งสิ้น!

ตกลงที่ดินดีมีคลองระบายน้ำก็ตกเป็นของชนชั้นศักดินาเสียทั้งสิ้นไม่มีเหลือไว้สำหรับทวยราษฎร์

มิหนำซ้ำในประกาศฉบับเดียวกันนั้นยังบอกไว้อีกว่า นาที่ยกให้ลูกๆ นี้ เป็นนาจับจองใหม่ อยู่นอกข่ายการเก็บค่านา ถ้านารายนี้ ยังเป็นของลูก ยังไม่ขายอยู่ตราบใดก็ "ขอยกค่านาให้แก่...(ชื่อลูก) ผู้เป็นเจ้าของนา" จะเก็บค่านาตรงนั้นได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนมือซื้อขายทำตราแดง (โฉนด) ใหม่!!

การแบ่งสัดส่วนที่ดินยกให้แก่ข้าราชบริพารครอบครองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ครั้งใหญ่ยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือการยกเขตแดนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗!

"ครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ได้รั้งราชการกรุงกัมพูชาอยู่ช้านาน มีบำเหน็จความชอบแต่มิใช่พวกนักองค์เองซึ่งเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาขึ้นใหม่ จึงมีพระราชดำรัสขอเขตแดนเมืองพระตะบอง เสียมราฐให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ นักองค์เองก็ยินดี (??) ถวายตามพระราชประสงค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และเป็นต้นตระกูลวงศ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ซึ่งได้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองสืบมา"๗๔

นี่เป็นหลักฐานเพียงบางส่วนเท่าที่หาได้จากเอกสารอันกระท่อนกระแท่นของเรา และก็เพราะเรามีเอกสารเหลืออยู่น้อยนี้เองจึงทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นกระจ่างชัดนักว่าเราได้เคยมีการมอบที่ดินให้แก่กันจริงจังในครั้งใดเท่าใด และบางทีก็มองไม่เห็นว่า จะมอบให้แก่กันอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราจะหันไปมองดูในประวัติศาสตร์ต่างประเทศที่มีการเก็บรักษาเอกสารไว้อย่างครบถ้วน เราก็จะมองเห็นได้ชัดถึงระบบการแจกจ่ายที่ดิน เช่น การแจกจ่ายที่ดินในประเทศต่างๆ แถบอเมริกาใต้ ในสมัยที่ลัทธิอาณานิคมของสเปนกำลังขยายอิทธิพลออกไป (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖)

ในสมัยนั้น เมื่อสเปนรุกรานพวกอินเดียนแดงและครอบครองดินแดนกว้างใหญ่ทางอเมริกาใต้ไว้ได้แล้วกษัตริย์สเปนผู้เป็นเจ้าที่ดินใหญ่ (Suzerain) ก็ประทานที่ดินให้แก่ขุนศึกทั้งหลายที่มีความดีความชอบเพื่อปกครองแสวงหาผลประโยชน์ส่งไปเป็นส่วนแบ่งถวาย กอร์เตส (Cortes) ได้รับพระราชทานเมือง ๒๒ เมือง เนื้อที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ตารางไมล์ มีชาวอินเดียนแดงติดที่ดินเป็นเลกในสังกัด ๑๑๕,๐๐๐ คน นี่เป็นสามนตราช (Vassal) หนึ่ง, ปิสซาโร (Pizarro) ได้ที่ดินขนาดเดียวกัน ซ้ำยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็น Marques de la Conquista อีกด้วย จํานวนชาวอินเดียนแดงติดที่ดินเป็นเลกของปิสซาโรมีจํานวน ๑๐๐,๐๐๐ คน พวก Conquistadors (ผู้พิชิต) อื่นๆ๗๕ ต่างก็ได้รับส่วนแบ่งที่ดินและบรรดาศักดิทั่วกัน ผืนดินที่ได้รับเฉลี่ยแล้วอยู่ในระหว่างคนละ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ตารางไมล์ พร้อมด้วยเลกและทาส ทาง Rio dela Plata อันได้แก่ประเทศอาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย และบราซิลทางใต้ในปัจจุบัน ได้ประทานให้แก่เจ้าที่ดินใหญ่ ๖๔ คน เป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์๗๖

ในประเทศไทยสมัยอยุธยาตอนต้น ก็มีสภาพเช่นเดียวกับสเปนสมัยนั้น กล่าวคือกำลังทำการขยายอาณาเขตแย่งชิงที่ดินจากพวกเขมรที่ครอบครองอยู่แต่เดิม พวกเมืองของเขมรที่มีมากมายแถวภาคอีสาน เช่น พิมาย, พนมรุ้ง, เมืองต่ำ, เมืองอีจาน (ในดงอีจานทางใต้ของสุรินทร์และโคราช), เมืองเพชรบูรณ์ ฯลฯ ต้องร้างไปก็เพราะการช่วงชิงของเจ้าขุนมูลนายไทยอย่างไม่มีปัญหา การปูนบำเหน็จความชอบเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ ก็คือที่ดินอย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอน พวกชนพื้นเมืองเดิมก็ต้องตกเป็นพวกทาสสําหรับทํา งานโยธางานบ่าวของเจ้าขุนมูลนายแต่ละคน เจ้าขุนมูลนายพวกนี้เดิมทีอาจมีที่ดินได้อย่างมหาศาลตามแต่ความสามารถในการเข่นฆ่าชนพื้นเมืองเดิมของแต่ละคน จนมาถึงในสมัยพระบรมไตรโลกนาถเกิดมองเห็นภัยของการมีอำนาจเหนือที่ดินอันไม่จำกัดเข้า จึงได้ออกกฏหมายพระราชทานที่ดินเสียเองเพื่อเป็นบุญเป็นคุณ และขณะเดียวกันก็ได้เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจของพวกเจ้าขุนมูลนายไปอีกแง่หนึ่งด้วย

อาจจะมีการสงสัยเกิดขึ้นก็ได้ว่า ตามที่ปรากฏในทำเนียบดูพระราชทานที่ดินมากมายเหลือเกิน กษัตริย์จะเอาที่ดินที่ไหนมาพระราชทานหวาดไหว

ต่อข้อสงสัยนี้ เราจะต้องย้อนกลับไปดูสภาพความเป็นจริงของปริมาณของผู้คนและผืนที่ดินจำนวนของประชาชนในครั้งพระบรมไตรโลกนาถมีอยู่เท่าใดไม่มีสถิติ แต่เราลองเทียบดูก็แล้วกันว่า เพียงแต่ย้อนหลังขึ้นไปถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๓ คือเมื่อร้อยปีที่แล้วมานี้ ประเทศไทยขณะนั้นซึ่งโตกว่าสมัยพระบรมไตรโลกนาถตั้งมากมาย มีพลเมืองอยู่เพียงไม่กี่ล้านคน ตามการอนุมานที่น่าเชื่อถือได้ของ "เซอร์จอห์น เบาริง" ปรากฏว่ามีเพียงสี่ล้านครึ่งถึงห้าล้านเท่านั้น หรือถ้าจะขยับไปเชื่อการอนุมานของสังฆราช "ปัลเลอกัวซ์" ก็มีอย่างมากเพียงหกล้านคน และในจำนวนนี้ ล้านครึ่งเป็นคนจีน ถึงแม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีอยู่เพียงราวแปดล้านเศษ (๘.๓ ล้าน)๗๗ จนชั้นใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เราก็มีพลเมืองเพียงสิบเอ็ดล้านเศษ๗๘ ตามความจริงข้อนี้ เราก็พอจะมองดูคร่าวๆ ได้ว่าจำนวนพลเมืองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถคงมีไม่กี่ล้าน ที่ดินที่เพาะปลูกได้ทั่วประเทศไทยมีจำนวนนับสิบๆ ล้านไร่ เมื่อได้กดคนลงเป็นไพร่มีนาเพียง ๑๕ ไร่ หรือ ๑๐ ไร่ หรือ ๕ ไร่ หรือไม่มีเลยเพราะเป็นเลกล้มละลาย เช่นนี้แล้วที่นาก็มีเหลือเฟือแก่การแบ่งปันเป็นแสนเป็นหมื่นและเป็นพันไร่ในหมู่พวกศักดินาด้วยกัน ปัญหาที่พระบรมไตรโลกนาถประสบนั้นมิใช่ปัญหาไม่มีนาจะประทาน หากประสบปัญหาไม่มีคนจะทำนา นาต้องทิ้งว่างเปล่าๆ! ข้อที่ทรงวิตกก็คือ ตัวเองมีแต่ที่ดินไม่มีคนพอที่จะให้รับนาไปทำ ทำให้ตนได้ผลประโยชน์น้อย ความจริงข้อนี้จะเห็นได้จากกฏหมายลักษณะขบถศึก ซึ่งทรงบัญญัติออกใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งกล่าวว่า :

"อนึ่ง ป่าดงทุ่งว่างร้างเซหาผู้อยู่ทำมาหากินมิได้แลผู้ใดชักชวนราษฎรให้เข้ามาทำมาหากิน เอาส่วย สาอากรขึ้นพระคลังบำนาญเป็นลหุ (คือให้บำนาญอย่างเบาะๆ)"จะเห็นได้ว่า ได้พยายามป่าวประกาศทั่วไปให้คนเข้ามาทำนา ถึงกับตั้งบำนาญให้แก่ผู้ที่ชักชวนคนเข้าทำมาหากิน ถ้าย้อนไปดูกฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จสมัยพระเจ้าอู่ทอง ก็จะพบว่ามีที่ว่างร้างอยู่มากมาย กฏหมายบังคับให้นายบ้านคอยจัดหาคนเข้าอยู่ทำประโยชน์ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ามีที่ทางพร้อมเสมอที่จะแจกจ่ายให้แก่ทุกๆ คน ในการสงครามสมัยศักดินาการรบแต่ละครั้งจะลงเอยด้วยการกวาดต้อนครัวข้าศึกเข้ามา ที่เอาเข้ามานั้นมิได้ประสงค์จะกดลงเป็นทาสทั้งหมดเหมือนสมัยทาส หากกวาดเข้ามาสำหรับใช้เป็นกำลังผลิต ฉะนั้นพอกวาดเข้ามาได้แล้ว ก็มักประทานที่ให้อยู่เป็นแห่งๆ ไป ที่นครสวรรค์ ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก หัวเมืองปักษ์ใต้ ล้วนเป็นที่รองรับครัวที่กวาดต้อนอพยพมาทั้งนั้น ในพงศาวดารมักจะปรากฏเสมอว่า ไม่เขมรก็พม่าแอบเข้ามากวาดต้อนครัวไทยไปดื้อๆ นั่นก็คือลักษณะของการแสวงหาและช่วงชิงกำลังผลิตนั่นเอง พวกครัวต่างๆ นี้ เมื่อผลิตออกมาจากที่ดิน ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าพระคลัง กษัตริย์จึงโปรดปรานครัวพวกนี้นักหนา

ด้วยเหตุผลและหลักฐานเท่าที่แสดงมานี้ คงจะพอลบล้างคำอธิบายบิดเบือนของพวกนักพงศาวดารศักดินาได้ว่า กฏหมายศักดินาที่ตราออกในครั้งนั้น พระบรมไตรโลกนาถมิได้ตราออกเล่นสนุกๆ หากได้ปฏิบัติและพระราชทานที่ดินจริงจัง พวกขุนนางนอกจากจะได้ที่ดินแล้ว ยังได้ผู้คนในบริเวณที่ดินของตนอีกด้วย ที่ตรงไหนมีคนทำอยู่แล้วก็ต้องส่งผลประโยชน์แบ่งปันมาให้ตน ที่ตรงไหนยังว่างเปล่าอยู่ก็ไปเที่ยวตระเวนเกณฑ์ผู้คนเข้ามาทำ ซึ่งตามกฏหมายการตระเวนหาผู้คนมาทำนั้นเป็นสิ่งที่มีความดีความชอบเสียอีกด้วย!

แม้มาในชั้นหลังที่มิได้มีการพระราชทานที่ดินกันจริงจังศักดินาก็ยังเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของชนชั้นศักดินาที่จะจำกัดขนาดและปริมาณที่ดินของพวกไพร่ไว้และเป็นช่องทางที่พวกตนจะได้รวบกรรมสิทธิ์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ "มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย" ถึงอย่างไรเสีย กฏหมายนี้ ก็มิใช่กฏหมายลมอยู่ดี

ด้วยเหตุผลที่กฏหมายศักดินามิใช่กฏหมายลมๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ รัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการจัดระเบียบศักดินาใหม่ครั้งใหญ่โดยตราออกเป็นกฏหมายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ อันเรียกว่าพระราชกำหนดตำแหน่งศักดินาบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งในครั้งนี้ ได้รวบเอาอำนาจที่ดินเข้าไว้เป็นอภิสิทธิ์ของพระญาติพระวงศ์ของกษัตริย์มากขึ้นกว่าในสมัยอยุธยาหลายเท่า การกำหนดศักดินาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีดังนี้ :

"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชดำรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ สมเด็จพระเจ้าปัยกาเธอ สมเด็จพระอัยกาเธอ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามีกรมแล้ว ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๓๐,๐๐๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมีกรมแล้ว ๔๐,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๒๐,๐๐๐ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ ามีกรมแล้ว ๓๐,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๑๕,๐๐๐ พระเจ้าปัยกาเธอ พระเจ้าอัยกาเธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระเจ้าน้องยาเธอ พระอัยยิกาเธอ พระราชวีรวงศ์เธอ และพระเจ้าน้องนางเธอมีกรมแล้ว ๑๕,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๗,๐๐๐ พระเจ้าลูกเธอมีกรมแล้ว ๑๕,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๖,๐๐๐ พระอัครชายาเธอ มีกรมแล้ว ๒๐,๐๐๐ ไม่มีกรม ๖,๐๐๐ พระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระวรวงศ์เธอมีกรมแล้ว ๑๑,๐๐๐ ยังไม่มีกรม ๔,๐๐๐ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระประพันธวงศ์เธอและพระวรวงศ์เธอมีกรมแล้ว ๑๑,๐๐๐ยังไม่มีกรม ๓,๐๐๐ พระวรวงศ์เธอ ๒,๐๐๐ ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ยังคงมีศักดินาอย่างต่ำ ๒๕ ไร่ จนถึง ๕,๐๐๐ ไร่"๗๙

หลักฐานและความเป็นจริงของการแจกจ่าย และถืออภิสิทธิ์รวบที่ดินไว้แต่ในชนชั้นศักดินานี้ ทำให้นักคิดของฝ่ายศักดินาบางคนตระหนักว่า การปกปิดความจริงเช่นนั้นเป็นการไร้ประโยชน์ จึงยอมรับการแจกจ่ายที่ดินและผูกขาดที่ดินเสียอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่แล้วจึงไปอธิบายบิดเบือนถึงลักษณะของศักดินาเสียอย่างน่าชื่นชม เพื่อแก้หน้าและชักชวนให้คนเลื่อมใสในพระมหากรุณาธิคุณของพวกศักดินา โดยนักคิดฝ่ายศักดินาสมัยใหม่

"ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน

ประชาชนทุกคนที่เจริญวัยแล้ว แต่ละคนจะต้องมีที่ดินไว้สำหรับทำมาหาเลี้ยงชีพ

ประชาชนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ครอบครองที่ดิน และได้อยู่ภายใต้การป้องกันของพระเจ้าแผ่นดินในขณะเดียวกัน เพื่อตอบแทนแก่อภิสิทธิ์นี้ แต่ละคนที่ครอบครองที่ดินจะต้องส่งเงินหรือสินค้าถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นภาษีหรือส่วย หรือต้องใช้แรงรับใช้รัฐซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข

ปริมาณของที่ดินที่แต่ละคนครอบครองกำหนดโดยความรับผิดชอบที่เขามีต่อรัฐ"๘๐

คำอธิบายของนักคิดศักดินาสมัยใหม่ อ่านแล้วทำให้น่าขอบพระเดชพระคุณที่กษัตริย์กลัวประชาชนจะอดตาย ฉะนั้นจึงพยายามแจกจ่ายที่ดินให้ทุกคนเมื่อเติบโตแล้ว แต่น่าสงสัยอยู่นิดเดียวแหละว่า ถ้าเห็นว่าทุกคนควรมีที่ดินทำกินแล้ว ทำไมจึงให้แก่คนยากจนเพียงคนละ ๕ ไร่ ซึ่งไม่พอกิน (ทั้งนี้โดยเทียบจาก สถิติของ ดร. คัส เซเบาวน์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ซึ่งปรากฏว่ากสิกรที่ทำนาต่ำกว่าหกไร่ต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชยรายจ่าย๘๑) และที่น่าขำนักหนาก็คือเขาอธิบายว่า การที่ประชาชนได้ครอบครองที่ดินทำมาหากินนี้เป็น "อภิสิทธิ์" และจะต้องส่งส่วยแก่กษัตริย์เพื่อตอบแทน "อภิสิทธิ์" นั้น! นี่คืออภิสิทธิ์ในทรรศนะของศักดินา อภิสิทธิ์ถ้าจะมีก็คืออภิสิทธิ์ที่ชนชั้นศักดินาสวาปามที่ดินได้ผืนมหาศาลนั้นต่างหาก ส่วนอภิสิทธิ์ของประชาชนผู้ยากจนทั่วไปก็คืออภิสิทธิ์ในการอดอยากยากแค้น! ที่น่าขำอีกอันหนึ่งก็คือคำอธิบายที่ว่าคนๆ หนึ่งจะมีที่ดินได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบที่เขามีต่อรัฐ ถ้าเช่นนั้นจริงประชาชนนั่นแหละจะต้องได้ครอบครองที่ดินร่วมกันทุกๆ หมื่นไร่แทนพวกพระยานาหมื่น พวกศักดินานี้หนอช่างมองข้ามหัวไพร่ที่ไถนาให้พวกตัวนอนกระดิกตีนกินเอาๆ เสียอย่างนี้ เสมอ! เอาเถอะแม้ว่าเขาจะถือว่าการทำราชการสำคัญกว่าการไถนา พวกข้าราชการมีความรับผิดชอบต่อรัฐมากกว่าไพร่ จึงได้ศักดินามากกว่า แต่ยังสงสัยอยู่นิดเดียวแหละว่าพวกสาวสวรรค์กำนัลในเป็นร้อยๆ! ในฮาเร็มของกษัตริย์นั้น มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อรัฐ พวกเมียเล็กเมียน้อยของขุนนางทั้งปวงนั้น มีความรับผิดชอบต่อรัฐตรงไหน ทุกนางจึงได้มีศักดินากันมากกว่าพวกไพร่ทั้งมวล เรารู้ว่าถ้าไม่มีพวกไพร่สังคมก็ทลายครืนเพราะไม่มีผู้ผลิต ไม่มีข้าวกินกันทั้งเมือง แต่การไม่มีพวกนางสนมกรมในและเมียเล็กเมียน้อยมิได้ทำให้รัฐต้องฉิบหายลงเลย ตรงข้ามกลับจะเหลวแหลกน้อยลง และเจริญขึ้นเสียด้วยซ้ำ! ฉะนั้นข้อที่ปราชญ์ฝ่ายศักดินาว่าไว้ว่าใครจะมีที่ดินมากหรือน้อย สุดแท้แต่หน้าที่รับผิดชอบต่อรัฐนั้นเห็นจะเชื่อไม่ได้เสียแล้วเป็นแม่นมั่น ... ที่ถูกมันควรจะเป็นว่าใครจะได้ที่ดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะรับใช้กษัตริย์ได้อย่างใกล้ชิดเด็ดดวงถึงอกถึงใจกว่าใครอย่างนี้ต่างหาก!

วัดและมิสซัง...เจ้าที่ดินใหญ่

การแบ่งสรรปันส่วนปัจจัยการผลิตของชนชั้นศักดินานั้น นอกจากจะแบ่งปันในหมู่วงศ์วานว่านเครือกษัตริย์และขุนนางแล้ว วงการที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากที่สุดอีกวงการหนึ่งก็คือ วงการศาสนา วัดวาอารามที่มีอยู่ทั่วประเทศส่วนหนึ่งได้รับพระราชทานที่ดินเป็นวิสุงคามสีมา และที่ดินโดยรอบวัดเป็นที่สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงเลี้ยงวัดและพระสงฆ์ จากพระอัยการตำแหน่งนา สังเกตได้ว่าพระสงฆ์และนักบวชไม่ได้รับที่ดินมาครอบครองเป็นรายตัว เป็นแต่ได้รับผลประโยชน์เท่ากับที่พวกขุนนางได้รับจากจำนวนที่ดินเท่านั้นๆ ฉะนั้นจึงใช้คำว่า "เสมอนา" เช่นพระครูรู้ธรรมเสมอนา ๒,๔๐๐ ไร่ ผลประโยชน์นี้เรียกกันว่า "นิตยภัต" คือข้าวปลาอาหารที่ถวายสม่ำเสมอ ข้าวปลานี้ได้มาจากไหน? คำตอบก็คือได้มาจากผลประโยชน์บนที่ดินที่ประทานให้แก่วัด พระสงฆ์ และนักบวชทั้งหลายในวัดจึงถือผลประโยชน์บนที่ดินนั้นร่วมกัน และได้รับส่วนแบ่งมากน้อยตามขนาดของศักดินาที่ทางราชสำนักเทียบเสมอให้

การยกที่ดินให้เป็นสมบัติของวัด หรืออยู่ในความดูแลของวัดนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไปทุกประเทศในโลก ที่ขึ้นชื่ลือชามากที่สุดก็คือในประเทศฝรั่งเศสยุคโบราณ ในยุคนั้นพวกพระหรือวัดครอบครองที่ดินผืนมหึมาเก็บค่าเช่าและผลประโยชน์จากประชาชนที่อาศัยเช่าธรณีสงฆ์ ค่าเช่านี้เรียกกันว่า Tithe (เป็นอากรร้อยละ ๑๐) ในประเทศอังกฤษก็มีที่ดินธรณีสงฆ์เช่นนี้จำนวนมหึมามหาศาลพวกกษัตริย์ฝรั่งเศสและอังกฤษต้องทะเลาะเบาะแว้งกับวัดและสังฆราชไม่ได้หยุดหย่อน ก็เพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินนี้เอง เช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ของอังกฤษ ทะเลาะกับสันตะปาปาแห่งวาติกันผู้เป็นกษัตริย์แห่งพระแห่งนิกายโรมันคาทอลิค การทะเลาะกันครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในประวัติศาสตร์สมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เจ้าประกาศปลดพระ พระประกาศปลดเจ้า ว่ากันให้วุ่น ในประวัติศาสตร์จดไว้ว่าเขาทะเลาะกันด้วยเรื่องเพียงโป๊ปไม่ยอมให้เฮนรี่ที่ ๘ หย่าเมียเก่าไปแต่งเมียใหม่ แต่สาเหตุอันแท้จริงมันอยู่ตรงที่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เหนือที่ดิน เฮนรี่ที่ ๘ หาเรื่องเพื่อจะยึดที่ดินของวัดอันมีจำนวนมหาศาลพร้อมด้วยทรัพย์สินบนที่ดินนั้นๆ ให้กลับคืนมาเป็นของชนชั้นศักดินาอังกฤษเท่านั้นเอง แล้วที่อีตาโป๊ปถึงกับประกาศอัปเปหิหรือบัพพาชนียกรรมพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ก็เหตุตรงที่ตาแกสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลไปต่างหาก!

ธรรมเนียมการถวายที่ดินและเลกให้แก่วัดนี้เป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องจากสมัยทาส ในสมัยนั้นพวกราชะทั้งหลายจะถวายทั้งที่ดินและทาสไว้แก่วัดเป็นจำนวนมากมายแทบทุกองค์ ในเมืองเขมรพระราชาแทบทุกองค์ก็ได้ถวายทาสหรือ "ข้าพระ" ไว้สำหรับทำไร่ไถนาเอาข้าวปลามาถวายวัด คอยดูแลปัดกวาดและร้องรำทำเพลงประโคมกันตลอดวันตลอดคืน ส่วนมากก็ให้เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ช้าง ม้า สำหรับฆ่าแล้วปรุงเป็นอาหารถวายพระ หรือเพื่อใช้เป็นพาหนะและลากล้อเลื่อนด้วย พวกกษัตริย์เขมรสมัยตั้งมั่นอยู่ที่นครธม (ซึ่งเรียกว่าสมัยพระนครหลวง พ.ศ. ๑๔๔๕-๑๙๗๕) เที่ยวตระเวนไปยกที่ดินยกทาสให้วัดต่างๆ จนทั่วอาณาจักร ที่ศาลพระกาฬลพบุรีก็เคยเป็นวัดที่มีที่ดินมีทาสรับใช้มาก่อน๘๒ ในเมืองเขมรนั้น ธรรมเนียมนี้ทำกันแม้ในหมู่พวกขุนนางข้าราชการที่มั่งคั่งร่ำรวย ต่างคนต่างแข่งขันกันอุทิศที่ดินและทาสให้แก่วัดจำนวนมากๆ ทั้งนั้น เมื่อทำแล้วก็จารึกอักษรคุยอวดไว้ยืดยาวลงชื่อพวกทาสที่อุทิศให้ไว้นั้นๆ ด้วยครบทุกคน บัญชีชื่อพวกทาสจึงยาวเฟื้อยเป็นแถว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการยกที่ดินยกทาสให้เป็นสมบัติและเครื่องแสวงหาผลประโยชน์ของวัด ก็คือการทำพิธีกัลปนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ คนที่เคยกล่าวถึงมาครั้งหนึ่งแล้ว (พ.ศ. ๑๗๒๔-หลัง ๑๗๔๔) กษัตริย์องค์นี้คลั่งไคล้ในการสร้างวัดสร้างวาเอาเสียจริงๆ ได้สร้างวัดวาขึ้นมากมายนับยอดปรางค์ที่สร้างไว้ทั้งหมดได้ถึง ๕๑๔ ยอด วัดทั้งหมดที่ทรงสร้างไว้นี้ได้ทรงยกผลประโยชน์ทั้งมวลอันเกิดแต่หมู่บ้าน ๘,๑๗๖ หมู่ ที่อยู่รอบบริเวณวัดให้เป็ นผลประโยชน์ของวัด พร้อมกันนั้นได้ถวายทาสไว้เป็น "ข้าพระ" เพื่อดูแลวัดและทำการผลิตเพื่อนำผลประโยชน์มาบำรุงพระ จำนวนทาสทั้งสิ้นมี ๒๐๘,๕๓๒ คน ในจำนวนนี้ เป็นพวกนักฟ้อนรำบำเรอพระและรูปปฏิมารวมอยู่ด้วย ๑,๖๒๒ คน!๘๓ การอุทิศที่ดินผู้คนผลประโยชน์นี้ แหละที่เรียกว่า "พระกัลปนา" อันเป็นต้นกำเนิดของพิธีกัลปนาในเมืองไทย

ทีนี้ เราหันมาดูการทำพิธี "พระกัลปนา" หรือถวาย "พระกัลปนา" ในเมืองไทย การทำพิธีนี้ เราได้รับมาทำกันตั้งแต่สมัยทาส เดิมทีเดียวเป็นการยกทาสถวายวัด จึงได้เรียกพวกนั้นว่า "ข้าพระ" นั่นคือ "ทาสรับใช้พระ" มาภายหลังตกถึงสมัยศักดินาเปลี่ยนจากทาสมาเป็น "เลก" จึงได้เรียกว่า "เลกวัด" แต่ก็ยังมีที่เรียกข้าพระกันอยู่ตามเดิมทั่วไป

ตัวอย่างของการยกที่ดินและผลประโยชน์ให้แก่วัดก็คือการยกที่ดินและผลประโยชน์ให้แก่วัดก็คือการยกที่ดินให้แก่วัดในเขตเมืองพัทลุง และเมืองขึ้นของพัทลุงในสมัยพระเพทราชาเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๒ ที่ดินทั้งหมดที่ยกให้แก่วัดในครั้งนั้นไม่ทราบจำนวนเนื้อที่แต่ทราบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น ๒๙๐ วัด นอกจากที่ดินที่ยกอุทิศให้แก่วัดแล้ว บรรดาไพร่ทั้งปวงที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ดี พวกชาวเหนือที่อพยพกวาดต้อนลงไปไว้ทางปักษ์ใต้ก็ดี ยกให้เป็นคนของวัดทั้งสิ้น ผลประโยชน์ทั้งปวงที่ทำาได้ตกเป็นของวัดสำหรับบำรุงพระสงฆ์ที่อาศัยและซ่อมแซมวัดนั้นๆ พวกคนที่ตกเป็นของวัดนี้เรียกกันว่า "เลกวัด" เพราะมีสภาพเดียวกับเลกของเจ้าขุนมูลนาย บางทีก็เรียกว่า "ข้าพระ" หรือไม่ก็ "โยมสงฆ์" หรือเรียกควบว่า "ข้าพระโยมสงฆ์" คนพวกนี้ ทั้งหมดได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องเสียภาษีอากรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผลประโยชน์ที่ได้ใช้บำรุงวัดโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว๘๔

การยกที่ดิน เลก และผลประโยชน์ให้แก่วัดที่ขึ้นชื่อลือชามากอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย ก็คือที่พระพุทธบาทสระบุรี เมื่อสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๑๗๑) ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ตาพรานบุญผู้มีบุญได้พบรอยพระพุทธบาท พระเจ้าทรงธรรมได้สร้างวัดสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทแล้วจึง :

"ทรงพระราชอุทิศที่ดิน ๑ โยชน์ (คือ ๑๖ กิโลเมตร-ผู้เรียบเรียง) รอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งกัลปนาผลซึ่งเก็บได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น ก็ถวายไว้สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดีย์สถานที่พระพุทธบาท และโปรดให้ชายฉกรรจ์อันมีภูมิลำเนาในเขตที่ทรงอุทิศนั้นพ้นจากราชการอื่น จัดเป็นพวกขุนโขลนเข้าปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว ที่บริเวณที่ทรงพระราชอุทิศนั้น ให้นามว่าเมืองปรันตปะ แต่เรียกโดยสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท"๘๕

พวก "ขุนโขลน" นี้ ก็คือพวก "ข้าพระ" หรือ "เลกของพระพุทธบาท" พวกนี้ มีหัวหน้าควบคุมอีกสี่คน คือ หมื่นพรหม พันทต พันทอง และพันคำ หน้าที่ของทั้งสี่คนนี้ ก็คือ "สำหรับได้ว่ากล่าวข้าพระโยมสงฆ์ให้สีซ้อมจังหันนิตยภัตถวายพระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ เขาจังหวัดพระพุทธบาทองค์ละ ๓๐ ทะนาน๘๖ พวกข้าพระที่พระพุทธบาทนี้ มีจำนวนมากมายพอดู เมื่อครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ์รบกับเจ้าฟ้าอภัย เป็นสงครามกลางเมืองพวกข้าพระภายใต้การนำของขุนโขลนได้ยกกำลังไปช่วยทำสงคราม ๑๐๐ คน พอเสร็จศึกจึงได้รับพระราชทานอะไรต่ออะไรเพิ่มเติมยกใหญ่ และช่วยออกเงินไถ่พวกข้าพระที่ต้องตกไปเป็นขี้ข้าขี้ทาสต่างเมืองกลับมาอยู่ ณ พระพุทธบาทตามเดิม พวกข้าพระในพระพุทธบาทจึงเพิ่มมากขึ้นนับเฉพาะแต่คนฉกรรจ์มีถึง ๖๐๐ ครัว (สถิติ พ.ศ. ๒๓๒๗)๘๗

พวกข้าพระที่อยู่ในบริเวณพระพุทธบาทนั้น นอกจากจะเป็น "ข้าพระไถนาหลวง เอาขึ้นถวายพระสงฆ์" แล้ว ยังต้องเสียภาษีอากรให้แก่วัดอีกด้วย (รูปเดียวกับ Tithe ของยุโรป) อัตราของอากรวัดพระพุทธบาทมีดังนี้ :

อากรค่านาเก็บโดยนับจำนวนวัวที่ใช้ไถ วัวคู่หนึ่งเก็บอากร ๑๐ สลึง ที่อ้อยไร่ละบาท อากรยางปีละ ๒ สลึง ตัดไม้เล็กๆ ขนาดแบกได้ด้วยพร้า อากรปีละ ๑ เฟื้อง อากรตัดเสาไม้ใหญ่ปีละ ๒ สลึง พวกตัดหวาย "ฉีกตอกลอกเชือกสารพัดการทั้งปวง" ถ้าผู้ชายเสียอากรปีละ ๑ สลึง ผู้หญิงเสียอากรปีละเฟื้อง อากรตลาดร้านละ ๒ สลึง อากรหาบเร่หาบละเฟื้อง (คำให้การขุนโขลนเรื่องพระพุทธบาทในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ น.๖๔)

การอุทิศที่ดิน และคนให้เป็นสมบัติและผลประโยชน์ของวัดคือ "กัลปนา" นี้ ได้ทำกันเป็นครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเอกาทศรถ (อยุธยาตอนกลาง) แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรหาหลักฐานไม่ได้ เชื่อว่าการกัลปนาวัดที่กษัตริย์ทำแล้วพงศาวดารมิได้จดลงไว้เป็นล่ำเป็นสันก็คงจะมีอีกมาก บางทีอาจจะมีแทบทุกสมัยรัชกาลก็ได้ ทั้งนี้สังเกตได้จากกฏหมายที่ชนชั้นศักดินาประกาศใช้ รู้สึกว่าเอาธุระเรื่องกัลปนามาตั้งแต่สมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวงซึ่งตราออกใช้ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง รามาธิบดีที่ ๑ กษัตริย์องค์แรกของอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ต่อ ๒๐) ก็มีอยู่มาตราหนึ่งที่ห้ามซื้อขายที่ดินและผู้คนในกัลปนาดังนี้

"มาตราหนึ่ง ไพร่หลวงงานท่านก็ดี ไพร่อุทิศกัลปนาให้เป็นข้าพระก็ดี เรือกสวนไร่นาสำหรับสัด (ส่วน) พระสัดสงฆ์ก็ดี ท่านมิให้ผู้ใดซื้อขายถ้าแลไพร่หลวงไพร่อุทิศต้องสุขทุกข์ประการใดแลเรือกสวนไร่นาสัดพระสัดสงฆ์เกี่ยวข้องอยู่ก็ดี ท่านให้บังคมทูลให้ทราบแล้วแต่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถ้าแลผู้ใดเอาไพร่หลวงไพร่อุทิศแลเรือกสวนไร่นาอันเป็นสัดพระสัดสงฆ์ไปซื้อขายแก่ผู้ใด ผู้ใดใครสมคบไถ่ซื้อไว้ท่านว่าผู้นั้นมิชอบ ให้เอาไพร่หลวงไพร่อุทิศกัลปนาและเรือกสวนไร่นา สัดพระสัดสงฆ์คงไว้ในราชการ ส่วนทรัพย์อันไถ่อันซื้อนั้นให้เรียกคืนไว้เป็นหลวง" (อาญาหลวง ๑๓๘)

ขอให้สังเกตด้วยว่า การพระราชทานที่เป็นกัลปนาแก่วัดนั้นมี ๒ วิธี วิธีหนึ่งเป็นการพระราชทานที่เด็ดขาดไม่เหมือนกับที่พระราชทานแก่เอกชน ซึ่งอาจเรียกเวนคืนได้ ในสมัยพระนารายณ์มหาราชเคยยกที่ดินในวังลพบุรีให้เป็นกัลปนาวัด ทั้งนี้ เพื่อบวชพวกข้าราชการที่จะต้องถูกพระเพทราชาและพระเจ้าเสือดักจับฆ่าตอนพระองค์สวรรคต รัชกาลที่ ๔ อยากได้วังคืนมาเป็นของเจ้าสำหรับอยู่ให้สบายอารมณ์ ก็ต้องหา ที่ดินผืนใหม่มาแลกเปลี่ยนดังปรากฏใน "ประกาศพระราชทานแลกเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี" ลงวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๒๔ (พ.ศ. ๒๔๐๕) ดังนี้

"จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสให้เจ้าพนักงานกรมพระเกษตราธิบดีจัดซื้อที่นาตำบลหนึ่งใหญ่กว่าที่พระราชวังนั้น แลใหญ่กว่าที่บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ด้วยเพราะได้เห็นว่าที่บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น พระสงฆ์ได้เข้าไปอยู่ครอบครองเอาเป็นวัดในคราวหนึ่ง... ที่นาที่จัดซื้อนั้นจึงทรงพระราชอุทิศถวายในพระพุทธจักร เป็นของจาตุทิศสงฆ์แลกเปลี่ยนที่พระราชวังแลที่บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์คืนมาเป็นของในพระราชอาณาจักร..." (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๖ น.๕๘)

ที่นาซึ่งรัชกาลที่ ๔ ซื้อถวายกัลปนาแลกเปลี่ยนเอาวังคืนมานั้น พระสงฆ์ผู้ครอบครองก็ให้ประชาชนเช่าทำนาเก็บผลประโยชน์เป็นรายปี ประกาศฉบับเดียวกันกล่าวต่อไปว่า

"ได้ยินว่าค่าเช่าได้ปีละ ๑๐ ตำลึง สองบาท สองสลึง (๔๒ บาท ๕๐ สต.) พระสงฆ์ในเมืองลพบุรีได้เก็บเป็นตัตรุปบาตบริโภคอยู่ทุกปี... ค่านาก็ไม่ได้เก็บเป็นหลวง..."

ที่ว่าค่านาก็ไม่ได้เก็บเป็นของหลวงนั้นหมายความว่า กษัตริย์ยกให้วัดเด็ดขาด ไม่เก็บภาษีที่ดินจากวัดอีกเลย ที่ดินของวัดเป็นอิสระจากอำนาจของกษัตริย์โดยสิ้นเชิง เป็นเสมือนที่ลอยๆ นั่นคือ "ทรงพระราชอุทิศกำหนดถวายเป็นวิสุงคามสีมาแขวงหนึ่ง ต่างหากจากพระราชอาณาเขต" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๖ น.๕๕) โดยนัยนี้ ผลประโยชน์ที่วัดเก็บได้วัดได้เป็นกรรมสิทธิ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องแบ่งเป็นภาษีที่ดินให้รัฐต่อเหมือนที่เคยทำกันในยุโรป ประกาศนั้นได้อธิบายว่า

"ทรงพระราชอุทิศยกไปเป็นที่สงฆ์ ให้สงฆ์เป็นเจ้าของด้วย ให้บริโภคค่านาเป็นกัลปนาด้วย เหมือนหนึ่งราษฎรเช่านาท่านผู้อื่นทำ ต้องเสียค่าเช่าให้เจ้าของนาด้วย ต้องเสียค่านาแทนเจ้าของด้วยฉันใด ผู้ที่เข้าไปทำนาในที่ของสงฆ์อันนั้น ต้องเสียค่าเช่าส่วนหนึ่ง ค่านาส่วนหนึ่ง เป็นของสงฆ์ทั้งสองส่วน"

ที่กล่าวมานี้ เป็นการอุทิศถวายที่กัลปนาอย่างพิเศษซึ่งที่ตกเป็นของสงฆ์เด็ดขาด รัฐไม่เก็บภาษีที่ดินจากสงฆ์เลย นี่เป็นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นการถวายที่แบบธรรมดา วิธีนี้วัดเก็บค่าเช่าแต่อย่างเดียว ฝ่ายกษัตริย์เก็บค่านา ผู้เช่าจึงเสียค่าเช่าให้วัดและเสียค่านาให้หลวง แต่รวมความแล้ว ผู้เช่าก็ต้องเสียทั้งสองชั้นทั้งนั้น ผิดกันก็ที่จะเสียให้แก่ใครเท่านั้น

ส่วนพระภิกษุสงฆ์ในวัด เมื่อเก็บได้ผลประโยชน์เท่าใดจากที่ดิน ก็จะแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้บำรุงพระพุทธ นั่นคือใช้เพื่อซื้อดอกไม้ธูปเทียน น้ำมันสำหรับบูชาพระบ้าง ซ่อมแซมพระบ้างโบสถ์บ้าง แต่ส่วนนี้ไม่ค่อยได้ใช้เท่าใดนัก เช่น น้ำมันตามตะเกียงบูชาพระ ถ้าเป็นวัดหลวงกษัตริย์ก็พระราชทานให้ (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔) ส่วนที่สองใช้บำรุงพระธรรมนั้นก็คือสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา ทำตู้พระธรรม ฯลฯ ส่วนที่สามใช้บำรุงพระสงฆ์ไปตามลำดับยศศักดิ์

ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนกำาหนดตำแหน่งศักดินานักบวชไว้เป็นลำดับ ตั้งแต่ศักดินานา ๒,๔๐๐ ลงมาจนนา ๑๐๐ อัตราศักดินาของนักบวชนี้ พระอัยการใช้คำว่า "เสมอนา" เช่น พระครูมิได้รู้ธรรมเสมอนา ๑,๐๐๐ ซึ่งหมายความว่า พระครูมิได้รู้ธรรมให้มีผลประโยชน์ และบรรดาศักดิ์เสมอกับขุนนางที่มีศักดินา ๑,๐๐๐ ที่ต้องใช้เช่นนี้ ก็เพราะกษัตริย์มิได้แจกจ่ายที่ดินให้แก่พระสงฆ์หรือนักบวชเป็นรายตัว หากแจกจ่ายให้แก่วัด วัดเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์แล้วแบ่งปันกันในหมู่พระสงฆ์ตามลำดับศักดิ์อีกทอดหนึ่ง

โดยลักษณาการเช่นนี้ วัดในพระพุทธศาสนา จึงกลายสภาพเป็น "เจ้าที่ดินใหญ่" ไปโดยมาก ทางฝ่ายชนชั้นปกครองของศักดินาต้องเอาธุระเกื้อกูลดูแลพวกเลกวัดหรือข้าพระโดยยกไปเป็นหน้าที่ของกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งมีตำแหน่งศักดินาเป็นกรมใหญ่ แต่ในภายหลังได้ย้ายไปเป็นหน้าที่ของ "กรมวัง" เท่าที่ปรากฏก็มีจำนวนมากมายอยู่ คือมี ข้าพระสิบสองพระอารามเป็นเบื้องแรก และต่อมาก็ได้พวกข้าพระในวัดต่างๆ ทั่วไปมาขึ้นต่อกรมวังอีกด้วย๘๘

ประเพณีการยกที่ดินกัลปนาวัดนี้ มิได้มีเฉพาะในพิธีของกษัตริย์แต่ผู้เดียว แม้พวกเจ้าพระยามหานครที่มั่งคั่งใหญ่โตก็ได้ปฏิบัติเหมือนกันทั้งสิ้น เช่นที่นครศรีธรรมราชในสมัยก่อนก็มี "กรมข้าพระ" อยู่ในระเบียบการปกครองเมืองด้วย๘๙

ประเพณีกัลปนาวัดอย่างโบราณนี้ แม้เดี๋ยวนี้จะยกเลิกไป แต่ทางปฏิบัติแล้วก็ยังคงมีการปฏิบัติที่คล้ายคลึง นั่นคือยังคงมีการพระราชทานที่เป็นวิสุงคามสีมาให้แก่วัดต่างๆ ซึ่งวัดเหล่านั้นได้ใช้เพื่อสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ และแบ่งให้ประชาชนเช่าเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพระสงฆ์ที่มียศศักดิ์และความรู้ในธรรมะก็ได้รับเงินเดือนเป็นค่านิตยภัต (ค่าอาหาร) แทนข้าวปลาอาหารที่เคยได้รับจากพวกเลกวัดในครั้งก่อน

ตามสถิติของกรมประชาสัมพันธ์เมื่อ ปี ๒๔๙๗ ปรากฏว่ามีวัดในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นถึง ๒๐,๙๔๔ วัดทั่วประเทศ ในจำนวนทั้งหมดนี้จะมีสักกี่วัดที่ได้รับพระราชทานที่เป็นวิสุงคามสีมา ไม่สามารถจะหาสถิติได้ (เฉพาะเวลาที่เขียนเรื่องนี้) เท่าที่หาได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีการพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหนึ่ง จำนวนวัดที่ได้รับพระราชทานทั้งสิ้นในครั้งนั้น ๑๙๕ วัด เนื้อที่ของวิสุงคามสีมาที่พระราชทานทั้งสิ้นประมาณ ๑๐๘,๒๑๘,๖๔๐ ตารางเมตร (ประมาณ ๖๗,๖๓๗ ไร่เศษ)๙๐ ตัวเลขนี้คงพอจะให้ความคิดได้บ้างอย่างคร่าวๆ ว่า วัดทั่วประเทศจะมีที่ดินในครอบครองสำหรับแสวงหาผลประโยชน์สักเท่าใด

นอกจากวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว วัดในคริสต์ศาสนาของพวกบาทหลวงฝรั่งเศสก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ซื้อหาที่ดินได้ เพื่อทำการเพาะปลูกแสวงหาผลประโยชน์เป็นทุนในการเผยแพร่ศาสนา ทั้งนี้ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลศักดินาไทยกับรัฐบาลจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้าขายและการเดินเรือ ลงวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปี มะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ (ในรัชกาลที่ ๔) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๖

ที่ดินที่อนุญาตให้พวกวัดฝรั่งเศสหรือมิสซังแสวงหาผลประโยชน์นี้ กำหนดให้ไม่เกินอัตราเมืองละสามพันไร่ ทั้งนี้ โดยไม่คิดเนื้อที่ที่ใช้ตั้งวัดรวมด้วย แต่อัตรานี้ ก็มีข้อยกเว้นเป็นแห่งเป็ นที่เหมือนกัน เช่น เมืองชลบุรีให้เพิ่มเนื้อที่ดินขึ้นเป็น ๑๔,๐๐๐ ไร่ เมืองราชบุรีเป็น ๑๓,๐๐๐ ไร่ เมืองฉะเชิงเทรา ๙,๐๐๐ ไร่

รายชื่อเมืองและที่ดินของวัดบาทหลวงฝรั่งเศสในวันที่ออกพระราชบัญญัติมิสซัง มีดังนี้

๑. มณฑลกรุงเทพฯ

กรุงเทพ ๔๐๒ ไร่
นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ๓๕ ไร่
สมุทรปราการ ๔๐ ไร่
ธัญบุรี ๑๐๐ ไร่
มีนบุรี ๕๐๐ ไร่
รวมทั้งมณฑล ๑,๐๗๗ ไร่

๒. มณฑลปราจีนบุรี

ฉะเชิงเทรา ๑,๗๗๕ ไร่
(ภายหลังเพิ่มเป็น ๙,๐๐๐ ไร่)
ปราจีนบุรี ๑,๓๒๕ ไร่
นครนายก ๒๙๕ ไร่
ปราจีนบุรี ๑,๓๒๕ ไร่
ชลบุรี ๑๒,๓๗๗ ไร่
(ภายหลังเพิ่มเป็น ๑๔,๐๐๐ ไร่)
รวมทั้งมณฑล ๒๒,๗๗๒ ไร่

๓. มณฑลนครไชยศรี

นครไชยศรี ๑,๙๗๐ ไร่
สุพรรณบุรี ๓๕๐ ไร่
สมุทรสาคร ๑๕๐ ไร่
รวมทั้งมณฑล ๒,๔๗๐ ไร่

๔. มณฑลอยุธยา

อยุธยา ๑,๒๙๙ ไร่
สระบุรี ๑๖๐ ไร่
สิงห์บุรี ๑๖๔ ไร่
รวมทั้งมณฑล ๑,๖๒๓ ไร่

๕. มณฑลราชบุรี

ราชบุรี ๑๑,๖๑๗ ไร่
(ภายหลังเพิ่มเป็น ๑๓,๐๐๐ ไร่)
กาญจนบุรี ๕๐ ไร่
สมุทรสงคราม ๘๓๔ ไร่
รวมทั้งมณฑล ๑๒,๕๐๑ ไร่

๖. มณฑลนครสวรรค์

นครสวรรค์ ๑๒ ไร่

๗. มณฑลจันทบุรี

จันทบุรี ๒๑๕ ไร่
รวมทั้งสิ้น ๔๐,๖๗๐ ไร่

สรุปความในตอนนี้ทั้งตอนได้ว่า ผู้ถือกรรมสิทธิในปัจจัยการผลิต (ที่ดิน) ในระบบศักดินาของไทยก็คือ

๑. กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งลูกเมีย

๒. ขุนนางข้าราชบริพารและชนชั้นเจ้าที่ดินทั่วไป

๓. วัดในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

นั่นก็คือ ทั้งสามพวกนี้ คือเจ้าที่ดินใหญ่ในสังคมไทยในสมัยศักดินา

ไพร่–กับการถือกรรมสิทธิที่ดิน

คราวนี้ก็มาถึงพวกไพร่พวกไพร่ถือกรรมสิทธิในที่ดินอย่างไร ?

ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อได้มีการแจกจ่ายที่ดินกันครั้งใหญ่นั้น พวกไพร่ต่างก็ได้รับส่วนแบ่งที่ดินโดยทั่วกัน โดยปกติพวกนี้จะได้รับที่นาเพียงคนละ ๕ ไร่เท่านั้น ทั้งนี้เพราะพวกนี้ส่วนมากเป็นทาสที่เพิ่งได้หลุดพ้นมาเป็นไท ยังตั้งตัวกันไม่ติด มักจะเป็นพวกที่ยากจนข้นแค้นเสียส่วนมาก ซึ่งเข้าอยู่ในเกณฑ์ยาจก วนิพก ทาส และลูกทาส

ส่วนพวกไพร่ที่รับใช้งานเจ้านายเป็นไพร่เลว ถ้ามีคนฝากฝังให้เป็น "เลว" ของเจ้าขุนมูลนายได้ พวกนี้ก็นับว่ามีวาสนาได้เป็นข้าเจ้านาย ได้รับส่วนแบ่งนาคนละ ๑๐ ไร่

ถัดมาอีกขั้นหนึ่งเป็นพวก "ไพร่ราบ" พวกนี้คือไพร่ชั้นสูง มีฐานะดีกว่าพวกไพร่เลว เป็นอิสระแก่ตัว ไม่ต้องขอใครกินหรือพึ่งพาใครอยู่ พวกนี้ได้คนละ ๑๕ ไร่

นี่คืออัตราสูงสุดที่แต่ละคนจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนของพระราชอาณาจักรสยามหรือในฐานะที่เป็นข้าแผ่นดินของท่าน

อัตราเหนือขึ้นไปนี้ยังมีอีกสองอัตรา นั่นคือ

อัตรา ๒๐ ไร่ สำหรับไพร่มีครัว ไพร่มีครัวนี้ มิได้หมายถึงไพร่ที่มีครอบครัว หากหมายถึงไพร่ที่คุมครัวมาจากที่อื่น เช่น ทิดโตคุมครัวลาวมาจากเวียงจันทน์มีพวกลาวอยู่ในการนำหมู่หนึ่งอาจจะเป็น ๒๐-๓๐ หรือ ๕๐ ดังนี้ ทิดโตก็เป็นไพร่มีครัว ได้รับส่วนแบ่ง ๒๐ ไร่ เป็นความดีความชอบฐานที่มันชักชวนผู้คนมาทำนาให้ในหลวงท่าน

อัตรา ๒๕ ไร่ สำหรับไพร่หัวงาน นั่นคือสำหรับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานของแต่ละย่าน ทิดโตที่คุมครัวลงมานั้น ถ้าเกิดได้เป็นหัวหน้างานโยธาทำถนนในพระราชวังหรือรอบพระราชวัง ทิดโตต้องคอยดูแลเร่งรัดงาน คอยควบคุมคนมิให้หลบหนี ฯลฯ แกก็ได้รับส่วนแบ่ง ๒๕ ไร่ เป็นรางวัลพิเศษ

อย่างดีที่สุด ถ้าทิดโตได้รับแต่งตั้งเป็น "ห้าสิบ" คือหัวหน้าของประชาชนในสิบหลังคาเรือน แกก็ได้ส่วนแบ่งเขยิบสูงขึ้นอีก ๕ ไร่ เป็น ๓๐ ไร่ ซึ่งในกรณีนี้ แกก็กลายเป็นข้าราชการไปเสียแล้ว หาใช่สามัญชนธรรมดาไม่

ในต้นสมัยของระบบศักดินา เป็นยุคสมัยของการปลดปล่อยทาสครั้งใหญ่ พวกทาสจึงได้รับส่วนแบ่ง หรือ "รับพระราชทาน" ที่ดินด้วยทุกตัวคน คนหนึ่งได้ ๕ ไร่ เสมอกันกับพวกยาจก (คนจน) และวนิพก (ขอทาน) พวกทาสและพวกยาจกวนิพกที่ได้รับพระราชทานที่ดินนี้ มิได้รับที่ดินไปเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาด หากให้เพียงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองทำผลประโยชน์ดังกล่าวแล้วแต่ต้น ขอให้เราสมมุติว่าบัดนี้มีทาส, ลูกทาส, ขอทาน, คนยากจนจำนวน ๓๐๐ คนได้ครอบครองที่ดินในตำบลสำโรงเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑,๕๐๐ ไร่ (๕×๓๐๐) พวกนี้ ได้กลายเป็นเสรีชนไปแล้วโดยสิ้นเชิงหรือไฉน?

ยังก่อน!

ในคราวเดียวกันนั้นพระยายมราชฯ เสนาบดีกรมเมืองได้รับพระราชทานส่วนแบ่งที่ดินหมื่นไร่ ในจำนวนที่ดินหมื่นไร่นั้นได้ครอบเอาที่ดิน ๑,๕๐๐ ไร่ของพวกเสรีชนใหม่นั้นเข้าไว้ด้วย ฉะนั้นคนทั้ง ๓๐๐ คนผู้ทำการผลิตบนที่ดินคนละ ๕ ไร่นั้น จึงต้องกลายเป็นคนภายในสังกัดของพระยายมราช พระยายมราช จึงออกกฏบังคับภายในอาณาเขตของตนให้พวกผู้คนเหล่านั้นมาช่วยทำนาให้ตนด้วย ให้ส่งส่วยเสียให้แก่ตนด้วย อัตราที่จะต้องเสียมีต่างๆ กันแล้วแต่จะตกลงกันได้ ถึงปีพระยายมราชก็ออกสำรวจจำนวนคนลงบัญชีไว้ เอาน้ำหมึกสักหมายเลขลงบนข้อมือบ้างบนท้องแขนบ้าง พวกที่ถูกสักแล้วต้องไปทำงานรับใช้นายจนตลอดชีวิตทุกคน จะหนีก็ไม่มีทางหนีเพราะน้ำหมึกดำติดอยู่ลบไม่ออก ตกลงก็เป็นขี้ข้าเจ้าขุนมูลนาย ต่อไปตนกว่าจะตาย หาเวลาทำนาตัวเองยากเต็มที

คราวนี้พวกไพร่ทั้งปวงที่มีนาเพียง ๕ ไร่ หรือจะพูดให้ถูกมีสิทธิ์ทำนาเลี้ยงตนเองบนที่ดิน ๕ ไร่เท่านั้น ทำเลี้ยงตนเองอยู่ไปมาพักเดียวก็ตระหนักว่าทำนาบนพื้นที่ ๕ ไร่ ไม่พอกิน ครั้นจะซื้อที่ดินเพิ่มก็ไม่มีสตางค์ และถึงมีสตางค์กฏหมายก็ห้ามซื้อขายที่ดินภายนอกเมืองหลวง หรือถึงมีกฏหมายอนุญาตให้ซื้อได้เขาก็ไม่อาจซื้อ เพราะกฏหมายของชนชั้นศักดินาอนุญาตให้เขามีที่ดินในครอบครองเพื่อทำผลประโยชน์ได้เพียง ๕ ไร่เท่านั้น เมื่อประสบปัญหาไม่พอกินเขาก็ต้องกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ ๓๗.๕๐ ต่อเดือน (= ๑ เฟื้องต่อ ๑ ตำลึงในเวลา ๑ เดือน) ไม่ก็ขายฝาก (ซึ่งกฏหมายอนุญาต) พอหมดหนทางชำระหนี้เข้า เจ้าหนี้ก็ยึดที่ดินเสียซึ่งกฏหมายให้ยึดได้ ที่ดินก็หลุดมือไป ที่บางคนที่ดินหลุดมือไปแล้วก็ยังไม่รอดหนี้ ก็ต้องตีค่าตัวขายเป็นทาสต่อไป ตอนนี้ก็เลยถูกพวกนายเงินใช้ให้ไถนาสบายใจเฉิบไปเลย

ทีนี้ในฝ่ายพวกทาสของเจ้าขุนมูลนายอันที่จริงแล้วเมื่อพระบรมไตรโลกนาถแบ่งที่ดินให้คนละ ๕ ไร่นั้น มิใช่ว่าจะโลดแล่นออกไปทำนาของตัวได้ก็เปล่า พวกนี้ยังคิดค่าตัวอยู่กับเจ้าขุนมูลนาย ตัวมีนาก็มีไป ส่วนที่เป็นทาสก็เป็นไป (นี่เป็นลักษณะทาสของระบบศักดินาซึ่งทาสมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินเอกชนได้) เมื่อมีสตางค์มาไถ่ตัวหลุดเป็นไทเมื่อใดจึงจะไปทำนาของตัวเองได้และพอย่างเท้าเข้าไปสู่ที่นาของตนก็กลับต้องตกเป็นเลกของผู้ครอบครองเหนือผืนดินบริเวณนั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ส่วนมากแล้วพวกทาสที่พยายามดิ้นรนจนหลุดเป็นไทไปนั้น ลงท้ายก็เดินหลีกบ่วงของชนชั้นศักดินาไปไม่พ้นต้องฉิบหายขายตัวกลับเป็นทาส หรือไม่ก็เอาลูกเมียขายเป็นทาสกันแทบทั้งนั้น

นี่คือลักษณะการถือกรรมสิทธิในปัจจัยการผลิตของไพร่ซึ่งเป็นชนส่วนข้างมากในสังคม

๒. การขูดรีดของชนชั้นศักดินา หรือการแสวงหาผลประโยชน์จากปัจจัยแห่งการผลิต

การขูดรีดของชนชั้นศักดินาที่ต่อไพร่ทั้งมวลนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายแบบหลายวิธีเป็นต้นว่า ภาษีอากรจากที่ดิน, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย, และการผูกขาดภาษีจะขออธิบายโดยย่อพอมองเห็นลักษณะคร่าวๆ ดัง ต่อไปนี้

ค่าเช่าและดอกเบี้ย

๑) ค่าเช่า หลักฐานการขูดรีดค่าเช่าของเจ้าที่ดินในสมัยศักดินาแต่โบราณไม่มีตกทอดมาถึงปัจจุบันเป็นล่ำเป็นสันนัก เราจึงรู้ได้ยากว่าได้มีการวางกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินกันอย่างไร แต่ตามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ระเบียบการเช่าที่นามักเก็บค่าเช่าประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของผลที่ได้ แม้จนในสมัยหลังๆ และแม้ในปัจจุบันก็ปฏิบัติกันอยู่ดาษดื่น ที่นาไร่หนึ่ง นาอย่างดีที่สุดจะได้ผลระหว่าง ๓๐-๔๐ ถัง ผลได้นี้ต้องส่งเป็นค่าเช่าเสียประมาณ ๑๐ ถัง อย่างกรุณาก็ ๖ ถัง แม้ในพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ ก็ยังได้กำหนดอัตราค่าเช่าไว้ดังนี้ :

(๑) นาที่ได้ข้าวเปลือกปี หนึ่งไร่ละ ๔๐ ถังขึ้นไป เก็บไม่เกินไร่ละ ๑๐ ถัง

(๒) นาที่ได้ข้าวเปลือกปี หนึ่งไร่ละ ๓๐ ถังขึ้นไป เก็บไม่เกินไร่ละ ๖ ถัง

(๓) นาที่ได้ข้าวเปลือกปี หนึ่งไร่ละ ๒๐ ถังขึ้นไป เก็บไม่เกินไร่ละ ๓ ถัง

(๔) นาที่ได้ข้าวเปลือกปี หนึ่งไร่ละไม่ถึง ๒๐ ถัง เก็บไม่เกินไร่ละ ๑ ถัง

ซึ่งอัตรานี้ เป็นอัตราค่าเช่านาในยุคทุนนิยมที่ชนชั้นศักดินาอ่อนกำลังลงไปแล้วด้วยซ้ำ

แต่อัตราการเช่าที่แพร่หลายที่สุดที่ใช้กันอยู่ทั่วไปก็คืออัตราค่าเช่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของผลที่ได้ นั่นคือ "การทำนาแบ่งครึ่ง" ซึ่งเป็นระบบการเช่าที่แพร่หลายใช้กันทั่วไปในประเทศศักดินาอื่นๆอีกหลายประเทศ เช่นประเทศจีนก่อนสมัยการปลดแอก เป็นต้น

การเช่าที่นาของประชาชนในยุคศักดินา เป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่งของชนชั้นศักดินา ทั้งนี้เพราะชนชั้นศักดินาได้เข้ายึดครองที่นาดีทั้งมวลไว้ในมือของตนเสียแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อชนชั้นศักดินาได้ขุดคลองระบายน้ำแล้ว ก็มักกว้านซื้อจับจองที่ดินไว้ในมือแทบทั้งหมด

"ในท้องทุ่งรังสิตอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น... ที่นาส่วนมากมิใช่เป็นกรรมสิทธิของกสิกร กสิกรต้องเช่าเขาทำ และกสิกรได้เช่านาทำเป็นจำนวนเนื้อที่พอเหมาะแก่กำลังที่จะทำได้ เพราะถ้าขืนเช่ามามากเกินกำลังที่จะทำได้หมด ก็จำต้องเสียค่าเช่าทุกไร่ จะทำหรือไม่ทำก็ต้องเสียค่าเช่าให้แก่เจ้าของนาทั้งนั้นมิได้มีการยกเว้น... ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่านาในทุ่งรังสิตส่วนมากนั้นเป็นของบุคคลที่มิใช่กสิกร กสิกรในทุ่งรังสิตบางจังหวัด เช่น จังหวัดปทุมธานี กสิกรไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินเฉลี่ยร้อยละ ๗๒.๕๑ กสิกรเหล่านี้ ส่วนมากไม่มีที่ดินของตนเองเลยสักไร่เดียว ต้องเช่าเขาทำทุกตารางนิ้ว..."๙๑

ในสมัยศักดินากฏหมายไดูช่วยรักษาผลประโยชน์ชนชั้นเจ้าที่ดินเป็นอย่างดี เพราะถ้าผู้เช่าไม่มีค่าเช่าให้ตามกำหนดสัญญา กฏหมายให้เกาะกุมตัวมาปรับให้เสียค่าเช่า ๒ เท่า ค่าเช่าที่เรียกเก็บ ๒ เท่านั้น ให้ยกค่าเช่าแท้ๆ ให้เจ้าของที่ดินไป ส่วนที่เหลือรัฐบาลยึดไว้ครึ่งหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียม (เงินพินัย) อีกครึ่งหนึ่งเป็นค่าปรับ (สินไหม) ยกให้แก่เจ้าของที่ดิน (เบ็ดเสร็จเพิ่มเติมบทที่ ๗)

โดยปกติในสมัยศักดินา การชำระค่าเช่านา จะยกไปชำระกันปลายปี คราวนี้ถ้าหากเจ้าของที่นาเห็นว่าผู้เช่าคนเดิมทำท่าจะทำนาไม่ได้ผล มีกำลังไถไม่พอ ตกปลายปีนั้นจะไม่มีค่าเช่าให้ตน ในกรณีนั้นเจ้าของที่นาก็มีสิทธิ์ที่จะยกที่ดินผืนนั้นให้คนอื่นเช่าซ้อนทับลงไปได้ทันที เจ้าของนาจะทำเช่นนั้นไม่ได้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าได้ชำระเงินล่วงหน้าแล้วเท่านั้น (เบ็ดเสร็จเพิ่มเติม บทที่ ๖)

อย่างไรก็ดี ฐานะของชาวนาเช่าที่ในสมัยศักดินาเป็นฐานะที่เสี่ยงต่อการหมดตัว ลูมละลายขายตัวเป็นทาสอยตลอดเวลาเช่นเดียวกันกับในสมัยปัจจุบัน ที่สังคมยังมีลักษณะกึ่งศักดินาคือชาวนาต้องเสี่ยงต่อการล้มละลายกลายเป็นทาส กรรมกรวิ่งเขูามาขายแรงงานในกรุงอยู่ร้่าไป

๒) ดอกเบี้ย การที่ชาวนาต้องประสบกับการขูดรีดอย่างหนักหน่วงทำให้แทบทุกครัวเรือนต้องกู้หนี้ยืมสิน แม้ในปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงอยู่ในสภาพเช่นนั้น ในตอนปลายระบบศักดินา หรือนัยหนึ่งตอนปลายของยุคที่ศักดินามีอำนาจทางการเมือง ได้มีผู้สำรวจหนี้สินของชาวนาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๕ ปรากฏว่าชาวนามีหนี้สินเฉลี่ยแล้วดังนี้

ภาคกลาง มีหนี้สินครอบครัวละ ๑๙๐ บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหนี้สินครอบครัวละ ๑๔ บาท

ภาคเหนือ มีหนี้สินครอบครัวละ ๓๐ บาท

ภาคใต้ มีหนี้สินครอบครัวละ ๑๐ บาท

อัตราดอกเบี้ยที่กสิกรไทยในยุคศักดินาต้องเสียให้แก่นายเงินในระยะ พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๕ มีดังนี้

ภาคกลาง ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างต่ำ ๔% อย่างสูง ๑๒๐%

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างต่ำ ๑๓% อย่างสูง ๕๐%

ภาคเหนือ ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างต่ำ ๒% อย่างสูง ๓๘%

ภาคใต้ ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างต่ำ ๑๒% อย่างสูง ๒๔๐%

จำนวนของกสิกรที่ต้องเป็นหนี้คิดเฉลี่ยแล้วดังนี้

ภาคกลาง กสิกร ๑๐๐ คน ต้องเป็นหนี้ ๔๙.๑๗ คน

ภาคอีสาน กสิกร ๑๐๐ คน ต้องเป็นหนี้ ๑๐.๗๕ คน

ภาคเหนือ กสิกร ๑๐๐ คน ต้องเป็นหนี้ ๑๗.๘๓ คน

ภาคใต้ กสิกร ๑๐๐ คน ต้องเป็นหนี้ ๑๘.๒๕ คน

(สถิติจากบทความของ ดร.แสวง กุลทองคำ ในเศรษฐสาร เล่มที่ ๒๓ ปี ที่ ๒ ฉบับที่ ๙ ปักษ์แรก ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

อัตราดอกเบี้ยในสมัยศักดินาที่ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามที่ปรากฏในกฏหมายลักษณะกู้หนี้ บทที่ ๙ มีอัตราดังนี้ คือ

๑ เฟื้อง ต่อ ๑ ตำลึงในระยะเวลา ๑ เดือน

นั่นคือกู้เงิน ๔ บาทต้องเสียดอกเบี้ย ๑๒ สตางค์ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละได้ร้อยละ ๓๗.๕๐!

ลาลูแบร์ได้เล่าไว้ว่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีกฏหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและพวกนายเงินก็พากันเรียกดอกเบี้ยยกันอย่างสูงหามีจำกัดไม่

"แต่ในข้อนี้ลักษณะกู้หนี้บทที่ ๖๘ บัญญัติว่า หากอัตราดอกเบี้ยได้ตกลงกันกำหนดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามปกติ อัตรานี้ จะใช้บังคับได้แต่เพียงเดือนหนึ่งเท่านั้น ภายหลังระยะเวลานี้ จะต้องลดลงให้เท่ากับอัตราหนึ่งเฟื้องต่อหนึ่งตำลึงซึ่งผิดกับข้อความที่ลาลูแบร์กล่าวไว้ หนังสือของลาลูแบร์โดยมากมีน้ำหนักน่าเชื่อเป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ได้ จึสันนิษฐานว่า ข้อบัญญัติบทที่ ๖๘ ซึ่งห้ามมิให้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานี้ได้ตราขึ้นภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ หรืออีกนัยหนึ่งข้อบัญญัตินี้ เลิกใช้และมิได้ถือตามในทางปฏิบัติและที่จริงจะเห็นได้ภายหลังว่า ตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือในสมัยที่ข้อบัญญัติบทที่ ๖๘นี้ยังคงเป็นกฏหมายอยู่ เจ้าหนี้ก็ยังมิได้ปฏิบัติตาม และเรียกเอาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราซึ่งกำหนดไว้ตามกฏหมายเนืองๆ...เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงนี้เอง ลูกหนี้ซึ่งไม่ชำระดอกเบี้ยตามระยะเวลา จึงตกอยู่ในภาวะอันหนักของดอกเบี้ยที่ทบทวีขึ้นโดยรวดเร็ว จำนวนเงินค้างชำระเพิ่มขึ้นจนลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้ และหมดหนทางที่จะรอดตัวได้ นอกจากยอมตัวลงเป็นทาส"๙๒

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีแรกที่ได้ขึ้นเสวยราชย์ได้ออกกฏหมายเพื่อแสดงความปรารถนาจะช่วยลูกหนี้ทาสขึ้นฉบับหนึ่ง (ประกาศเมื่อวันพุธ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๑) แต่ก็เป็นกฏหมายประหลาดกล่าวคือทีแรกก็ช่วยลูกหนี้ทาสโดยให้ชำระเพียงเงินต้นเท่านั้น ดอกเบี้ยไม่ต้องชำระต่อไป แต่ดอกเบี้ยค้างชำระไว้กี่ปี ๆ ต้องชำระด้วย และยังระบุว่า ถ้าหากลูกหนี้ทาสไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยที่ค้างนั้น ให้นายเงินเฆี่ยนลูกหนี้ได้แทนดอกเบี้ยในอัตรา ๓ ทีต่อ ๑ ตำลึง! นั่นเป็นลักษณะของโทษทางอาญาโดยตรง!

"ดอกเบี้ยร้อยละ ๓๗.๕๐ ต่อเดือนนั้น จะได้ใช้กันตามกฏหมายมานานเพียงใดไม่ปรากฏ แต่เท่าที่พบหลักฐาน การกู้เงินอย่างเปิดเผยได้ลดดอกเบี้ยลงมามากในรัชกาลที่ ๔ ลดลงมาเหลือร้อยละ ๑๕ ต่อปี๙๓ และได้ลดลงมาเรื่อยๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นชั่งละบาท แต่พวกนายเงินก็มักโกงขึ้นเป็นชั่งละ ๕ บาทอยู่เสมอ" (ร. แลงกาต์)

อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยและค่าเช่าจะมีอัตราสูงหรือต่ำเพียงใดก็ตาม โดยลักษณะของมันแล้ว มันก็คือระบบการขูดรีดหลักของชนชั้นศักดินาทั้งมวลที่กระทำต่อไพร่ในยุคนั้นนั่นเอง โดยเฉพาะดอกเบี้ยนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นเจ้าที่ดินที่จะอ้างเพื่อยึดทรัพย์และที่ดินรวมทั้งลูกเมียของไพร่ไปเป็นของตน "สืบสาวเอาลูกเต้าข้าคนช้างม้าวัวควายเหย้าเรือนเรือกสวนไร่นาที่ดินให้แก่เจ้าสินโดยควรแก่สินท่าน..." (กู้หนี้ ๕๐) นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ดอกเบี้ยได้ใช้เป็นเครื่องมือที่จะเอาคนลงเป็นทาส นั่นคือนำออกตีค่าขายตัวเอาเงินใช้หนี้ "กู้หนี้ท่านเมื่อเป็นไท และจำเนียร (นาน) ไปแลผู้กู้ยาก (ตกยาก) เป็นทาสท่านและให้เอาตัวผู้ถือหนี้นั้นออกมาตีค่าขายแจกแก่เจ้าหนี้ทั้งปวง" (กู้หนี้ ๑๕)

นี่คือพิษสงของดอกเบี้ยในสมัยศักดินา ซึ่งแม้ในยุคกึ่งศักดินาปัจจุบันนี้ ก็ยังมีพิษสงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดนัก

ภาษีอากร

ผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาโดยเฉพาะพวกชนชั้นปกครองศักดินาในด้านภาษีอากรนี้ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท กล่าวคือ :

๑) ส่วย

๒) ฤชา

๓) จังกอบ

๔) อากร

จะขออธิบายคร่าวๆ พอให้เห็นลักษณะการขูดรีดของชนชั้นศักดินาและจะเลือกเน้นกล่าวแต่เฉพาะที่จำเป็นและที่สำคัญตามลำดับ

๑) ส่วย

ส่วย หมายถึงเงินหรือสิ่งของที่รัฐบาลศักดินาบังคับเก็บกินเปล่าเอาจากประชาชนและคนในบังคับของตน การเก็บส่วยมิใช่เป็นการเก็บส่วนลดจากผลประโยชน์หรือรายได้ใดๆ ทั้งสิ้น หากเป็นการเก็บเอาดื้อๆ ใครอยู่บนผืนดินของฉัน อาศัยอากาศฉันหายใจ อาศัยน้ำในลำคลองฉันดื่มก็ต้องเสียเงินหรือสิ่งของที่ฉันต้องการให้แก่ฉันเป็นสิ่งตอบแทน ถ้าจะพูดให้กระจ่างแจ้งส่วยก็คือเงินค่าเช่าดินฟ้าอากาศหรือเช่าดินน้ำลมไฟจากกษัตริย์ ถ้าไม่เช่นนั้นก็คือเงินแป๊ะเจี๊ยะเราดีๆ นี่เอง

ประเภทของส่วยมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภทคือ

ก. เครื่องราชบรรณาการ คือส่วยที่พวกเจ้าประเทศราชหรือสามนตราช (Vassals) ต้องส่งมาถวายเป็นประจำ ปีละครั้งบ้าง สามปีต่อครั้งบ้าง ของที่จะส่งมาเป็นส่วยหรือบรรณาการก็มักมีสิ่งของพื้นเมืองที่หาได้ยากในราชสำนักของศักดินาเมืองไทย เช่น ประเทศญวนก็จะมีแพรอย่างดี ประเทศลาวก็จะมีของป่าที่หายาก ดังนี้เป็นต้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น ส่งควบเข้ามาสำหรับบูชาพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในกรุง การกะเกณฑ์ส่วยสาบรรณาการนี้ เป็นการขูดรีดระหว่างชนชั้นศักดินาต่อชนชั้นศักดินาด้วยกัน ซึ่งแน่นอนย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีดประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย

ข. พัทธยา คือการริบเอาสมบัติทรัพย์สินของเอกชนเข้าเป็นของกษัตริย์ ในสมัยพระนารายณ์ ลาลูแบร์เล่าไว้ว่า ริบเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินมรดกของผู้ตาย ซึ่งรัฐบาลศักดินาเห็นว่ามีอยู่เกินศักดิ์ของทายาท ทรัพย์สินของพวกนี้ เรียกว่า ต้อง "พัทธยา" พัทธยานั้นตามตัวแปลว่า การฆ่า การประหาร ทรัพย์สินพัทธยาจึงมิได้หมายถึงแต่เพียงทรัพย์สินมรดกที่มีมากเกินศักดิ์ของผู้รับทายาทเท่านั้น หากหมายถึงทรัพย์สินทั้งปวงที่รัฐบาลศักดินาริบมาจากผู้ที่ต้องโทษประหาร ถ้าเราเปิดดูกฏหมายเก่าๆ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปจะพบโทษ ฟันคอ, ริบเรือน, ริบราชบาตร มีอยู่แทบทุกมาตรา พวกที่ถูกฟันคอริบเรือนนี้คือผู้ต้อง "พัทธยา" เมื่อตัวเองคอหลุดจากบ่าแล้ว บ้านช่องเรือกสวนไร่นาก็ต้องถูกริบเข้าเป็ นของพัทธยา โอนเข้าเป็ นของหลวงทั้งสิ้น ถ้าหากริบราชบาตร ก็หมายถึงริบหมดทั้งลูกเมีย บ่าวไพร่ผู้คน เอาเข้าบัญชีเป็นคนของกษัตริย์ทั้งสิ้น ลักษณะนี้เป็นลักษณะของโจรปล้นทรัพย์โดยตรง แต่ทว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ที่ใช้กฏหมายของตนเองเป็นเครื่องมือรักษาความเที่ยงธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โทษฟันคอริบเรือนหรือริบราชบาตรจึงเป็นโทษที่นิยมใช้อยู่ทั่วไป เฉพาะในกฏหมายอาญาหลวงแล้วดูเหมือนเกือบจะทุกมาตราและในบางมาตราก็วางโทษเอาไว้น่าขำ เช่น

"มาตราหนึ่ง ผู้ใดใจโลภนักมักทำใจโหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบรรดาศักดิ์อันท่านให้แก่ตน แลมิจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว (คือไม่ระวังว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงชอบอย่างไหน) และถ้อยคำมิควรเจรจาเอามาเจรจาเข้าในระหว่างราชาศัพท์ (คือใช้คำราชาศัพท์ผิดเอาคำไพร่มาใช้ปน) แลสิ่งของมิควรประดับเอามาทำเป็นเครื่องประดับตน (ตีเสมอเจ้า!) ท่านว่าผู้นั้นทะนงองอาจ ท่านให้ลงโทษ ๘ สถาน สถานหนึ่งให้ฟันคอริบเรือน ๑ สถานหนึ่งให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก ๑ สถานหนึ่งให้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ๑ สถานหนึ่งให้ไหม (ปรับ) จตุรคูณแล้วเอาตัวออกจากราชการ ๑ สถานหนึ่งให้ไหมทวีคูณ ๑ สถานหนึ่งให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ที ใส่ตรุไว้ ๑ สถานหนึ่งให้จำไว้แล้วถอดเสียเป็นไพร่ ๑ สถานหนึ่งให้ภาคทัณฑ์ไว้ ๑ รวม ๘ ฯ" (อาญาหลวง พ.ศ. ๑๘๙๕, รัชกาลที่ ๑ ชำระมาตรา ๑)

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การยกทัพไปตีปล้นสะดมแย่งชิงเอาทรัพย์สินของศัตรูมาก็ดี กวาดต้อนผู้คนทรัพย์สมบัติประชาชนมาก็ดี เหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ "พัทธยา" คือ ของได้เปล่าจากการฆ่าฟันประหารชีวิตทั้งสิ้น

ตัวอย่างของผู้ต้องพัทธยา คือ โทษฟันคอริบเรือนและลูกเมียข้าคน ก็คือ "ขุนไกรพลพ่าย" พ่อของขุนแผนในวรรณคดีอิงเรื่องจริงของเรา ครั้งนั้นขุนไกรฯ ต้องออกไปเป็นแม่กองต้อนควายเข้าโขลงหลวง ควายตื่นไล่ขวิดผู้คน ขุนไกรเห็นว่าชีวิตคนสำคัญกว่าควาย จึงเข้าสกัดใช้หอกแทงควายตายลงหลายตัว ควายเลยตื่นหนีเข้าป่าไปสิ้น ข้างสมเด็จพระพันวัสสาทรงกริ้วเสียดายควายมากกว่าคน เลยพาลพาโลสั่งพวกข้าหลวงว่า :

"เหวยเหวยเร่งเร็วเพชฌฆาต ฟันหัวให้ขาดไม่เลี้ยงได้
เสียบใส่ขาหยั่งขึ้นถ่างไว้ ริบสมบัติข้าไทอย่าได้ช้า"

เมื่อโดนเข้าไม้นี้ ขุนไกรก็คอหลุดจากบ่า ลูกเมียเดือดร้อนกระจองอแง นางทองประศรีเมียขุนไกรนั้นนอกจากจะเสียผัวรักแล้ว "ยังจะถูกเขาริบเอาฉิบหาย" อีกทอดหนึ่ง๙๔

นี่คือ ธรรมะ ของศักดินา และนี่ก็คือ พัทธยาของศักดินา!

ค. เกณฑ์เฉลี่ย คือ การเกณฑ์เงิน เกณฑ์แรงงานช่วยกิจการของกษัตริย์เป็นครั้งคราว เช่น กษัตริย์ชอบถวายน้ำมันมะพร้าวให้แก่วัดวาอารามสำหรับตามประทีปบูชาพระ ก็จะออกหมายเกณฑ์เฉลี่ยเอามะพร้าว หรือน้ำมันมะพร้าวจากเจ้าของสวน หรือถ้าจะเลี้ยงแขกเมืองก็เกณฑ์เฉลี่ยให้ประชาชนช่วยเงินทองข้าวของตามแต่จะกำหนด บางทีก็เกณฑ์แรงเพื่อสร้างป้อมปราการกำแพงวังหรือเกณฑ์ไพร่ไปล้อมช้าง เป็นต้น การเกณฑ์เช่นนี้ไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของกษัตริย์เป็นครั้งคราว เรียกว่าถ้ากษัตริย์จะต้องเสียอะไรจะทำอะไร ก็ต้องหันขวับมาเกณฑ์ให้ประชาชนช่วยออกเงินและออกแรงเฉลี่ยเอาเสมอไป

ง. ส่วยแทนแรง ส่วยแทนแรงนี้ คือเงินหรือสิ่งของที่กษัตริย์เรียกเก็บเอาจากประชาชนทั่วไปที่ไม่ไปใช้แรงช่วยงานเกณฑ์ของรัฐบาลศักดินา พึงเข้าใจเสียก่อนว่าในยุคศักดินานั้นผู้ชายที่ร่างกายครบอาการ ๓๒ ทุกคนถือว่าเป็นชายฉกรรจ์จะต้องถูกเกณฑ์ให้เข้ารับราชการ ที่ว่ารับราชการนี้ก็คือออกแรงทำงานรับ ใช้ชนชั้นศักดินา จะเป็นงานไถนา ดำนา โยธา ฯลฯ ก็แล้วแต่ มีกำหนดปีละ ๖ เดือนเรียกว่า เข้าเวร (เวรจริงๆ!) และต้องเข้าไปตั้งแต่อายุ ๑๘ ถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อเกณฑ์คนนั้นได้คัดเอามาแต่ที่ล่ำสันหรือไม่ล่ำสันก็ได้ แต่ต้องให้พอจำนวนต้องการ (เหมือนเกณฑ์ทหาร) พวกที่เหลือไม่ต้องการใช้แรง ก็ได้รับอนุญาตให้ไปทำมาหากิน แต่ต้องส่งเงินมาให้หลวงใช้ หรือคนที่ถูกเกณฑ์ แต่ไม่ชอบรับใช้เจ้านาย ก็อาจจะส่งเงินให้หลวงเพื่อหาจ้างคนอื่นคนอื่นไปเข้าเกณฑ์แทนตนก็ได้ซึ่งต้องส่งไปจนถึงอายุ ๖๐ ปีเช่นกัน เงินนี้ เรียกว่า "ส่วนแทนแรง" อัตราที่จะเสียนั้นกำหนดไว้ว่าปี ละ ๑๒ บาท (อัตราสมัยพระนารายณ์) ที่เก็บสิบสองบาทนั้น หลวงอธิบายว่าเพื่อจ้างคนมาทำงานแทน โดยให้ค่าแรงเดือนละบาท ๖ เดือน ๖ บาท และให้ เบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละบาท รวมทั้งสิ้น ๑๒ บาท ซึ่งว่ากันที่จริงแล้วก็ไม่ได้จ้างใคร หลวงเก็บเงินเข้าพระคลัง มหาสมบัติเงียบไปเลยเท่านั้นเอง

เรื่องอัตราจ้างคนรับราชการแทน หรือเสียเงินเป็นส่วยแทนแรงนี้ ตามที่ปรากฏในพระราชกำหนดเก่าบทที่ ๘๘ พ.ศ. ๒๒๙๑ (ปลายอยุธยา) ปรากฏว่าอัตราไม่คงที่ คืออัตราบางทีก็คิด ๓ บาทต่อเดือนบางทีก็ ๔ บาทต่อเดือน (ปีละ ๑๘-๒๔ บาท) ถ้าหากถูกเกณฑ์ไปล้อมช้าง, จับสลัด, จับผู้ร้าย คนที่ไม่ไปต้องเสียเงินในอัตรา ๕-๖-๗ บาทต่อเดือน หรือบางทีก็ ๘ บาทต่อเดือน "ถ้าจะคิด ไพร่ท้องหมู่ต้องเสียเงินค่าจ้างแต่ละปี เป็นเงิน ๔ ตำลึง ๒ บาท (๑๘ บาท) บ้าง หกเจ็ดตำลึง (๒๔-๒๘ บาท) บ้าง"

"มีความข้อหนึ่งเนื่องต่อการที่ชายฉกรรจ์ต้องมาเข้าเวรดังกล่าวมา ซึ่งคนทั้งหลายยังไม่รู้หรือเข้าใจผิดอยู่โดยมาก ควรจะกล่าวอธิบายแทรกลงตรงนี้ คือเมื่อตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา รัฐบาลต้องการตัวเงินใช้จ่ายยิ่งกว่าได้ตัวคนมาเข้าเวร จึงยอมอนุญาตให้ไพร่ซึ่งไม่ปรารถนาจะเข้าเวรเสียเงิน "ค่าราชการ" เหมือนอย่างจ้างคนแทนตัวได้ เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ค่าราชการต้องเสียปีละ ๑๘ บาท มีผู้สมัครเสียเงินค่าราชการแทนเข้าเวรเป็นพื้น"๙๕

"เงินค่าราชการ" นี้ เก็บเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารขึ้นแล้วได้ปรับปรุงการเก็บเงิน "ค่าราชการ" เสียใหม่โดยออก "พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. ๑๒๐" (พ.ศ. ๒๔๔๔) การเก็บเงินคราวนี้ ได้พยายามเปลี่ยนชื่อเรียกเดิมที่ว่า "ค่าแรงแทนเกณฑ์" มาเป็น "ค่าราชการ" และวางอัตราใหม่ คือเก็บปีละ ๖ บาทจากทุกคนที่มิได้ถูกเกณฑ์ทหาร เก็บตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี ไปจนถึง ๖๐ ปี

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระราชดำริว่า การเก็บเงินตามพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. ๑๒๐ นั้น ได้ปฏิบัติตามหลักแห่งการเก็บเงินส่วยแต่เดิมมา จึงมีบุคคลซึ่งได้รับความยกเว้นจากการเสียเงินเป็นจำนวนมากมายหลายประเภท สมควรจะแก้ไขให้ชายฉกรรจ์ทั้งปวงต้องเสียเงินโดยความเสมอภาคยิ่งขึ้น กับกำหนดระเบียบการสำรวจให้รัดกุมจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ "พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช ๒๔๖๒"...๙๖

ด้วยเกรงว่าประชาชนจะไม่ได้เสียเงินหรือพูดให้ถูก "ถวายเงินค่าราชการ" ได้ทั่วถึงเสมอภาคกันนี้เอง พระราชบัญญัติเก็บเงินใหม่จึงออกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ คราวนี้เปลี่ยนเรียกชื่อเงินเป็น "รัชชูปการ" คือ "บำรุงแผ่นดิน" หรือ "บำรุงกษัตริย์" ในพ.ร.บ. นั้นให้คำนิยามไว้ว่า

"คำว่า "เงินรัชชูปการ" ให้พึงเข้าใจว่า บรรดาเงินซึ่งบุคคลต้องถวายหลวงตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้"

อัตราที่เก็บคราวนี้ก็คงเท่าเดิม คือเก็บ ๖ บาทต่อปี จากอายุ ๑๘ จนถึง ๖๐ ผิดกันก็คือตัดบุคคลที่ได้รับยกเว้นออกไปเสียบ้าง คงไว้แต่เพียง ๑) นักบวช (เฉพาะบางนิกายและมีเงื่อนไขต่างหาก), ๒)ทหาร ตำรวจ ที่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรและกองหนุนประเภทที่ ๑, ๓) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร แพทย์ประจำตำบล, ๔) คนพิการทุพพลภาพ, ๕) คนบางพวกที่ยกให้เฉพาะแห่ง

การแก้ไขการเสียเงินค่ารัชชูปการให้ได้เสียอย่าง "เสมอภาค" นี้ เป็นสิ่งที่ศักดินา "ผเอิดผเสิน" กันหนักหนาถึงกับมีผู้เขียนสรรเสริญรัชกาลที่ ๖ ไว้ว่า :

"แม้ที่สุดจนพระองค์เองก็ทรงยอมเสียค่ารัชชูปการปีละ ๖ บาท เหมือนกับคนอื่นๆ"๙๗

ไม่ทราบว่าจะให้เข้าใจว่าอย่างไรเพราะถึงแม้จะทรงควักพระกระเป๋าเสียเงินสักล้านบาทก็คงเป็นเงินรัชชูปการ (บำรุงพระราชา) อยู่นั่นเอง!

เงินรัชชูปการนี้ มาถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ (รัชกาลที่ ๗) ได้เลื่อนเกณฑ์อายุจาก ๑๘ ขึ้นเป็น ๒๐ อัตรายังคงเดิมและยังคงต้องเสียไปจนถึงอายุ ๖๐ ปี เช่นนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนท้ายที่สุดมายกเลิกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง

คราวนี้เรื่องก็มีต่อไปว่า ถ้าคนไม่มีเงินรัชชูปการเสียจะว่าอย่างไร? ตามอัตรา ๑๐ ของ พ.ร.บ. เงินรัชชูปการ พ.ศ. ๒๔๖๘ กล่าวว่าให้มีหมายเกาะกุมเอาตัวมาสอบสวนแล้วให้ทำประกันด้วยหลักทรัพย์เท่ากับจำนวนเงินรัชชูปการที่ค้างชำระ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำมาชำระภายใน ๑๕ วัน ถ้ามิฉะนั้นก็จะปฏิบัติตามข้อ ๓ แห่งมาตรา ๑๐ กล่าวคือ

"ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างเงินรัชชูปการออกขายทอดตลาดเพื่อใช้เงินรัชชูปการกับค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติลักษณะวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ร.ศ. ๑๒๗"

ถ้าปฏิบัติตามนั้นไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติขั้นต่อไป คือ ตามข้อ ๔ (อนุมาตรา-แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓) กล่าวคือ

"ให้มีนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งให้เอาตัวผู้นั้นใช้งานโยธาของหลวงมีกำหนดตามจำนวนปี ที่เงินรัชชูปการค้างปีละ ๑๕ วัน แต่ไม่เกิน ๓๐ วัน ในระหว่างทำงานโยธานั้นผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการจะต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานและกักตัวไว้ให้อยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซี่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดให้และให้จ่ายอาหารของหลวงเลี้ยงชีพ"

ข้อที่จะลืมกล่าวเสียไม่ได้ก็คือ เจ้าพนักงานผู้ทำการสำรวจเก็บเงินจะได้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่เกินอัตราร้อยละ ๕ ของเงินที่เก็บได้! (ม. ๑๓ พ.ร.บ. ลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พ.ศ. ๒๔๖๒)

"ฝ่ายชาวต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทย" ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีน ก็ต้องใช้แรงหรือเสียส่วยเช่นกันโดยกำหนดให้ ๓ ปี เรียกส่วยครั้งหนึ่ง ส่วนมากชาวจีนมักยอมเสียส่วย เมื่อเสียแล้วก็มีปี้ผูกข้อมือไว้ให้เป็นสำคัญ จึงเรียกกันว่าเงินผูกปี้ วิธีเก็บมีดังนี้

"บรรดาจีนทั้งปวงที่ไม่ได้สัก ไม่มีจำนวนในทะเบียนหางเลขว่าวกรมพระสัสดีนั้น เกณฑ์ให้ทำการพระนครคนละเดือน ถ้าจะไม่ทำ ให้เสียเงินคนละตำลึง กับค่าฎีกาสลึงหนึ่งทุกคน ถ้าจีนคนใดจะไม่ให้ผูกปี้ที่ข้อมือ จะขอแต่ฎีกาเปล่าให้เสียเงินค่าจ่ายราชการตำลึงกึ่ง ค่าฎีกาสองสลึง"๙๘

เป็นอันว่าชาวจีนคนหนึ่งๆ จะต้องเสียเงินส่วย ๔.๒๕ บาททุกสามปีเป็นปกติ ถ้าหากไม่อยากให้ผูกปี้ ครั่งที่ข้อมือให้รุงรังก็ต้องเสียเงินเพิ่มเป็น ๖.๕๐ บาท อัตรานี้เป็นอัตราที่สูงกว่าสมัยรัชกาลที่ ๒ ตามที่จอห์น ครอเฟิดจดไว้ ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ บังคับเรียกจากชาวจีนปีละ ๕๐ สตางค์ เท่ากับพวกทาสกรรมกร ๓ ปี เก็บครั้งหนึ่งเป็นเงิน ๑.๕๐ บาท

ในภายหลังเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรัชชูปการแล้วพวกชาวต่างประเทศทุกคนในไทย ต้องเสียค่ารัชชูปการเท่ากับคนไทยไม่มีการลดราวาศอกอีกต่อไป

สถิติของเงินรัชชูปการเท่าที่หาได้ในขณะที่เขียนนี้ ในรัชกาลที่ ๖ เก็บได้ถึง ๗,๗๔๙,๒๓๓ บาท (พ.ศ. ๒๔๖๔)

ส่วยประเภทที่กล่าวมานี้เป็นส่วยประเภทตัวเงิน

ส่วยอีกอย่างหนึ่งเป็นส่วยสิ่งของที่รัฐบาลกษัตริย์ต้องการใช้ ไม่ยอมให้ไพร่ส่งสิ่งของเหล่านั้นเข้ามาถวายเป็นส่วยแทนการเข้ามารับราชการใช้แรงได้ ส่วยประเภทนี้มักมาจากหัวเมืองไกล เช่นเมืองพระยามหานคร ซึ่งในเมืองเหล่านั้น "ในเวลาปกติ ไม่ต้องการตัวไพร่เข้ามาประจำราชการมากเหมือนในราชธานีรัฐบาลจึงคิดให้มีวิธีส่งส่วยแทนเข้าเวร เพราะหัวเมืองเหล่านั้นมีป่าดง และภูเขาอันเป็นที่มีหรือที่เกิดสิ่งของต้องการใช้สำหรับราชการบ้านเมือง"๙๙ "ยกตัวอย่างดังเช่นยอมอนุญาตให้ราษฎรที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ชายดงพระยาไฟ (คือดงพญาเย็นบัดนี้) หาดินมูลค้างคาว อันมีตามถ้ำที่ภูเขาในดงนั้น มาหุงดินประสิวส่งหลวงสำหรับทำดินปืน หรือเช่นยอมให้ราษฎรชาวเมืองถลางหาดีบุกอันมีมากในเกาะนั้น (เกาะภูเก็ต) ส่งหลวงสำหรับทำลูกปืนแทนแรงรับราชการ เป็นต้น อัตราส่วยที่ต้องส่งคงกำหนดเท่าราคาที่ต้องจ้างคนรับราชการแทนตัว"๑๐๐

พวกส่วยสิ่งของที่นำมาส่งหลวงตามอัตราทุกปี นี้ ถ้าหากพวกไพร่เกิดหาไม่ได้ก็ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้หลวงตามจำนวนของที่ขาดไป หรือถ้าหาไม่ได้เลยก็ต้องใช้เงินทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ส่วยทองคำเมืองปักธงชัย (คืออำเภอปักธงชัยในจังหวัดนครราชสีมาปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พวกเลกหรือไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็ นพวกเลกส่วยทองคำ ต้องร่อนทองให้ได้คนละ ๒ สลึงทุกคน๑๐๑ แต่ปรากฏว่าทำไม่ค่อยได้ตามที่เกณฑ์ ต้องใช้เงินแทนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ส่วยทองคำลงมาจากเมืองปักธงชัย (รวมทั้งส่วยที่ค้าง) เป็นทองคำหนัก ๓ ชั่ง ๘ ตำลึง ๓ บาท (=๔๑.๒๕ กิโลกรัม) พร้อมกันนั้นก็ต้องส่งเงินใช้ค่าทองลงมาด้วย เป็นเงิน ๑๐ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท๑๐๒

ถึงส่วยดีบุก เมืองถลาง (ภูเก็ต) ถ้าไม่เอาดีบุกมาส่งต้องเสียเงินแทนคนละ ๑๐ บาท ไพร่เลว (เลวทาส) คนละ ๕ บาท ส่วยฝาง ถ้าไม่มีฝางส่งต้องเสียเงินแทนคนละ ๗.๕๐ บาท ไพร่เลว (เลวทาส) ๓.๗๕ บาท ส่วยหญ้าช้าง (ไพร่หมู่ตะพุ่น) ถ้าไม่เกี่ยวหญ้าส่งให้ช้างหลวงกินต้องเสียคนละ ๙ บาท (พระราชกำหนดเก่าบทที่ ๔๘)

สิ่งที่น่าจะทำความเข้าใจกันเสียในที่นี้ด้วยก็คือ นักพงศาวดารฝ่ายศักดินา มักพยายามอ้างอธิบายว่า ส่วยนั้นคือการเรียกสิ่งของที่จำเป็นใช้ในราชการแทนแรง เช่น เรียกดินประสิวทำดินปืน เรียกดีบุกทำลูกปืน๑๐๓ ที่จริงนั่นเป็นความจริงผิวเผินเพียงด้านเดียว แต่อีกด้านหนึ่ง ส่วยเป็นของที่กษัตริย์พยายามเร่งรัดเกณฑ์เอาให้ได้เพื่อขนลงสำเภาไปขายต่างประเทศ เรือค้าหรือการค้าสำเภาของกรมท่าอันเป็นการค้าผูกขาดของกษัตริย์แต่โบราณมาเป็นการค้าของส่วยทั้งนั้น ถ้าของส่วยไม่พอจึงซื้อ กษัตริย์ชอบค้าของส่วยมากกว่าของซื้อเพราะของส่วยไม่ต้องลงทุน!!๑๐๔

รายได้ของรัฐบาลศักดินาจากส่วยนี้ เป็นรายได้จำนวนมหึมามหาศาลทีเดียว ตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ รายได้ของกษัตริย์ที่ได้จากเงินส่วยมีดังนี้ :

ค่าแรงแทนรับราชการ (ทุกปี) ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
เงินผูกปี้ข้อมือจีน (๓ ปีครั้ง) ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ค่าภาคหลวงบ่อทองบางตะพาน ๑๐,๐๐๐ บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๕๐,๐๐๐ บาท
รวม ๑๔,๑๐๐,๐๐๐ บาท

ทั้งนี้ไม่รวมส่วยสิ่งของที่ขนลงสำเภาอีกเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี

โดยปกติ หัวเมืองต่างๆ มักส่งส่วยไม่ทันกำหนดพอกษัตริย์เร่งเกรี้ยวลงไป พวกพนักงานก็เร่งลงอาญากับไพร่หรือเลกอีกทอดหนึ่ง "ก็ธรรมดาของการเร่งเงินนั้นย่อมต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงินบางทีก็ถึงต้องกักขังควบคุม คงต้องทำให้คนเดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้าง"๑๐๕ แต่ทั่วๆ ไปแล้ว ล้วนก็ต้องเดือดร้อนกันมากๆ เสียทั้งนั้น เงินส่วยที่ติดค้างนี้ แม้พวกเจ้าขุนมูลนายและเจ้าพนักงานจะเร่งรัดทารุณอย่างไร ไพร่ก็ยังคงยอมทนอาญาขอค้างเงินอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพราะยากจนด้วยกันทั้งสิ้น มาถึงรัชกาลที่ ๕ เงินส่วยสั่งสมถมทับกันจนแทบจะสางบัญชีไม่ถูก รัชกาลที่ ๕ จึงตั้งกรมเงินส่วยขึ้น ๒ กรม อยู่ในกระทรวงกลาโหมกรมหนึ่ง ในกระทรวงมหาดไทยกรมหนึ่ง สำหรับเร่งเงินส่วยตามหัวเมืองส่งพระคลังมหาสมบัติ แต่พวกศักดินารู้เสียแล้วว่าถึงจะเร่งรัดอย่างไรก็คงไม่ได้เงิน และซ้ำจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นเกลียดชังจึงใช้วิธีล่อด้วยส่วนลด กล่าวคือถ้าใครชำระหมดจะลดให้ครึ่งหนึ่งทีเดียว ผู้ที่ค้างเงินเห็นเป็นช่องทางที่จะปลดหนี้ปลดอาญาที่เกาะกุมตัวก็พากันมาเสียส่วย เพราะทางหัวเมืองเหนือภาคเดียวได้เงินมาโดยวิธีลดครึ่งนี้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท "เวลานั้นยังไม่ใช้ธนบัตร ได้เป็นเงินบาททั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องให้หาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวายกรมพระนราฯ (เสนาบดีกระทรวงพระคลังขณะนั้น[a]–ผู้เรียบเรียง) ก็ทรงยินดี" (กรมดำรงฯ เทศาภิบาล น.๘๙)

เงินแทนแรงหรือที่ยักกระสายเรียกกันว่า ค่าราชการหรือรัชชูปการนี้ ในรัชกาลหลังๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนลดลงเพราะลดราคาลงเหลือเพียง ๖ บาท แต่ก็ยังนับว่าเป็นรายได้รองลงมาจากอากรค่านา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ รัฐบาลศักดินาเก็บอากรค่านา ได้กว่า ๗ ล้านบาท ขณะเดียวกันเงินรัชชูปการก็เก็บได้ถึง ๗,๗๔๙,๒๓๓ บาท ถ้าเราจะเทียบกับรายได้ทั้งสิ้นของรัฐบาลศักดินาใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งมีจำนวน ๘๕,๕๙๕,๘๔๒ บาท จะเห็นได้ว่าเงินรัชชูปการเป็นรายได้ที่มากเกือบ ๙% ของรายได้ทั้งหมดของคณะกรรมการจัดการดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินา ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยแล้ว รายได้ทั้งหมดของ รัชกาลที่ ๔ ตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ว่ามีปีหนึ่งเฉลี่ยราว ๒๖,๙๖๔,๑๐๐ บาทในจำนวนนี้เป็นเงินค่าแรงแทนเกณฑ์และค่าผูกปี้เสียถึง ๑๔ ล้านบาท (โดยไม่นับส่วยอื่นๆ) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วรายได้จาก การเก็บเงินกินเปล่าตกราว ๕๖% ของรายได้ทั้งหมด!

๒) ฤชา

ฤชา คือเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บเอาจากราษฎรในการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมในโรงศาล เมื่อเกิดคดีความกันขึ้น ผู้ที่แพ้ความจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายชนะเท่าใด รัฐก็แบ่งเอาเป็นพินัยหลวงเสียครึ่งหนึ่งเป็นค่ธรรมเนียม ถ้าหากคดีนั้นเป็นคดีที่มีพระราชโองการให้จัดตุลาการชำระความจริง โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบหลายอย่าง เช่น ค่ารับสั่ง, ค่าเชิงประกัน, ค่าสืบพยาน, ค่าชันสูตร, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าคัดทูล ฯลฯ รวมแล้ว ๒๓ บาท ฝ่ายจำเลยต้องเสีย ๑๙ บาท (คือลดค่ารับสั่งให้ ๔ บาท) คราวนี้ ถ้าหากจำเลยต้องโทษจองจำ ก็ต้องฟาดเคราะห์เสียค่าธรรมเนียมอีกหลายอย่าง "นายพะทำมะรงผู้คุมเรียกเอาค่าธรรมเนียมลดขื่อ ๑ บาท น้ำมัน ๒ สลึง ร้อยโซ่ ๒ สลึง ถอด ๑ บาท ๒ สลึง ตรวจ ๒ สลึง รวม ๑ ตำลึง" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๑)

ค่าธรรมเนียมในสมัยศักดินานั้นมียุบยิบมากมายเรียกว่าขยับตัวก็เป็ นกระทบค่าธรรมเนียมทุกครั้งทีเดียว เช่นพวกที่ถูกเกณฑ์เข้าเวรรับราชการใช้แรงกษัตริย์ เมื่อเข้าเวรจนครบแล้ว ก็จะได้รับหนังสือสำหรับตัวสำหรับแสดงว่าเข้าเวรแล้ว ไม่ต้องเสียเงินส่วยแทนแรง และภาษีอากรบางอย่างเหมือนคนอื่น หนังสือนี้เรียกว่า "ตราภูมิคุ้มห้าม" แต่ตราภูมินี้มิใช่ได้เปล่าๆ ปลี้ๆ หากต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบดังนี้
ค่ากระดาษ ๒๕ สตางค์
ค่าพิมพ์ ๑๒ สตางค์
ค่าอาลักษณ์ สตางค์
ค่าตราพระคชสีห์ สตางค์
ค่าตราพระราชสีห์ สตางค์
ค่าตราพระคลังมหาสมบัติ สตางค์
ค่าตรวจแม่กอง สตางค์
เสียให้มหาดไทย สตางค์
เสียให้กลาโหม สตางค์
เสียให้มหาดเล็ก (ไม่รู้เสียทำไม) สตางค์
ค่าหางว่าวแม่กอง ๒๕ สตางค์
อาลักษณ์ (สองหนแล้ว) ๒๕ สตางค์
กลาโหมเสมียนตรา ๒๕ สตางค์
มหาดไทยพระราชเสนา ๒๕ สตางค์
คลังมหาสมบัติเสมียนตรา ๒๕ สตางค์
มหาดเล็กเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ ๒๕ สตางค์๑๐๖

รวมทั้งสิ้นกว่าจะได้ตราภูมิใบหนึ่งตกเข้าไป "เก้าสลึงเฟื้อง" (๒.๓๕ บาท) รวมความว่าไพร่เกณฑ์แรง ต้องทำงานให้เจ้าขุนมูลนายฟรีๆ เงินเดือนก็ไม่ได้ ข้าวปลาก็ต้องหากินเอง มาทำงานให้นายเดือนหนึ่งกลับไปไถนาตัวเองเดือนหนึ่ง ตลอดปี และตลอดจนอายุ ๖๐ ซ้ำยังต้องเสียเงินให้หลวงอีกเก้าสลึงเฟื้องเพื่อให้เขาเชื่อว่าตัวกูนี้ ได้ทำงานรับใช้เจ้าแผ่นดินแล้ว มันก็ประหลาดดี! และที่เล่ามานี้เป็นเพียงค่าธรรมเนียมที่หลวงกำหนดกำชับลงมาแล้วด้วยซ้ำ โดยปกติแล้ว "เจ้าพนักงานแลเจ้าหมู่มูลนายจะเรียกค่าธรรมเนียมเหลือเกินไป" (ประกาศฉบับเดียวกัน)ค่าธรรมเนียมหรือฤชาของรัฐบาลศักดินานั้นมีมากมายและพิสดารจนเหลือที่จะกล่าวให้ทั่วถึงได้เพราะมียุบยิบไปหมดทุกแห่ง จนแม้พวกชนชั้นศักดินาด้วยกันเองก็ถูกค่าธรรมเนียมทับถมเอาย่ำแย่ไปเช่นกัน เช่นผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองก็ต้องเสียค่าตราตั้ง ๙๖ บาท และยังค่าตราตั้งปลัด, ตั้งพล, ตั้งกรมการเมือง, วัง, คลัง, นา, มหาดไทย และสัสดีของเมือง รวมทั้งสิ้นตั้งเจ้าเมืองใหม่ กรมการเมืองทีหนึ่ง กษัตริย์เรียกค่าตราตั้ง ๑๕ ชั่ง (๑,๒๐๐ บาท)!๑๐๗

ค่าธรรมเนียมที่มีพิสดารและมากมายเช่นนี้ เนื่ องมาจากชนชั้นปกครองของศักดินาทั้งมวลในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปมิได้มีเงินเดือน กษัตริย์เก็บภาษีอากรทั้งปวงเข้าพระคลังมหาสมบัติและแบ่งปันไปยังคลังของวังหน้าบ้าง ไปยังเจ้านายที่มีอิทธิพลมากๆ บ้าง แล้วก็เก็บเงียบ พวกข้าราชการทั้งหลายต้องออกหากินโดยเรียกค่าธรรมเนียมเอาจากประชาชน ไม่มีเงินเดือน ใครมีเล่ห์เหลี่ยมดี ล่อหลอกหรือใช้อำนาจบังคับเรียกค่าธรรมเนียมได้มากก็ได้ผลประโยชน์ใช้มาก ได้กินข้าวร้อนนอนสายมีเมียสาวหลายๆ คน ซึ่งลักษณะการปล่อยให้ขุนนางเที่ยวเก็บค่าธรรมเนียมกินนี้ ได้กลายมาเป็นการทุจริตในหน้าที่ขึ้นอย่างมหาศาล แต่เป็นการทุจริตที่ประชาชนรู้ไม่เท่าทัน และที่ทุกคนก็ทำเหมือนกันหมดจนกลายเป็นของถูกกฏหมายไปในที่สุด และยิ่งไปกว่านั้น พวกขุนนางที่เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ก็มักจะทำงานเร็วหรือช้า ดีหรือเลว โดยขึ้นอยู่กับช่องทางที่จะเรียกค่าธรรมเนียม ถ้าจะเรียกอย่างปัจจุบัน ก็คือค่าน้ำร้อนน้ำชา! เช่น ขุนนางในแผนกตุลาการ คือพวกลูกขุน ก็มักจะใช้อุบายถ่วงความไว้ร้อยสีร้อยอย่าง ถ้าไม่มีค่าธรรมเนียม เรื่องก็ไม่เดิน "อธิบดีผู้ซึ่งบังคับการในกระทรวงนั้นๆ เล่า ก็ไม่ใคร่มีใครเป็นธุระใส่ใจที่จะให้ถ้อยความในกรมเบาบางไป ด้วยไม่เป็นประโยชน์อันใดคุ้มค่าเหนื่อย สู้นั่งว่าภาษีอากรไม่ได้"๑๐๘ อีกอย่างหนึ่งกรมนี้ มีผลประโยชน์น้อยกว่ากรมอื่นๆ "คนดีๆ จึงไม่ใคร่จะมี มีแต่คนที่หาผลประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้แล้วจึงหันมาหาผลประโยชน์ในทางนี้"

ฝ่ายพวกที่บังเอิญได้ว่าการกรมท่าอันเกี่ยวกับการค้าขายเข้าออก พวกนี้เหมือนหนูตกถังข้าวสาร นั่งเสวยทั้งค่าธรรมเนียม ทั้งของกำนัล ทั้งฉ้อโกงเบียดบัง พวกที่ว่าการคลังก็เช่นเดียวกัน ได้รับค่าธรรมเนียมประมูล ได้รับของกำนัลอย่างฟุ่มเฟือย ดูเป็นของธรรมดาๆ เสียเต็มที (หน้า ๔๐-๔๑)

ทางฝ่ายกรมนาก็นอนเสวยค่าธรรมเนียมออกใบโฉนดนา โฉนดสวน ออกใบจอง เท่านั้นยังไม่พอ "ยังคงต้องเป็นธุระอีก ๒ อย่างที่เต็มใจทำ คือจัดซื้อข้าวขึ้นฉาง จ่ายข้าวในราชการทั้งปวงอันเป็นช่องทางที่จะหาเศษหาเลยได้ และตั้งข้าหลวงเสนาออกไปเก็บเงินค่านา การที่จะเก็บค่านาจะได้ถ้วนฤๅไม่ได้ถ้วนถี่ประการใดไม่ได้ตรวจสอบสวนอันใด เป็นแต่ผู้รับเงินส่งคลังอย่างเดียว ง่ายกว่าเป็นเจ้าจำนวนภาษีอากร เพราะไม่ต้องรับผิดชอบในเงิน ที่จะได้มามากฤๅน้อยเท่าใดเป็นกำหนดแน่นอน ด้วยข้าหลวงเสนาก็ไม่ได้มาว่าประมูลเหมือนเจ้าภาษีนายอากรอื่นๆ กรมนาเกือบจะว่าไม่ต้องรับผิดชอบอันใดในกรมของตัว แลไม่ต้องทำการหนักอันใด เป็นแต่ผู้ที่จะได้ผลประโยชน์ดีกว่ากรมอื่นๆ ทั้งสิ้น" (หน้า ๑๒)

คราวนี้กรมเมืองผู้อาภัพ มีค่าธรรมเนียมน้อยแต่ก็ต้อง "ตะเกียกตะกายหาผลประโยชน์แข่งกรมอื่นๆ" นี่เป็นของธรรมดาแต่ "ครั้นจะหาโดยตรงๆ ก็ไม่ได้ทันอกทันใจ จึงต้องหาไปตามแต่จะได้ ต้องตกไปในทางทุจริต" (หน้า ๙-๑๐)

พวกศักดินามักจะอวดอ้างเสมอว่า ในสมัยศักดินาไม่มีการคอร์รัปชั่น ความจริงได้มีอยู่อย่างเละเทะทีเดียวหากแต่มักจะเป็นการคอร์รัปชั่นที่ถูกกฏหมายเสียเท่านั้น

สรุปว่า ในระบบศักดินานั้น ค่าฤชาหรือธรรมเนียมเป็นการขูดรีดที่พวกศักดินากระทำต่อพวกไพร่อีกชั้นหนึ่งต่อจากภาษีอากรต่างๆ ตลอดจนเงินกินเปล่า นับเป็นการขูดรีดชั้นที่ ๒-๓

การขูดรีดในชั้นค่าฤชานี้ กษัตริย์และขุนนางมีผลประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ ในการเรียกค่าธรรมเนียมนั้น ส่วนหนึ่งเรียกเข้าคลังหลวง เช่น ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่เรียกเข้ากระเป๋าของขุนนาง ประชาชนในสมัยศักดินาจึงได้จนกันอานแทบทุกคน ยกเว้นชนชั้นศักดินาไม่กี่คน!

จากสถิติเท่าที่หาได้ รายได้ของรัฐบาลศักดินาในด้านค่าฤชาเฉพาะเงินค่าธรรมเนียมความอย่างเดียว ๑๕,๐๐๐ บาทต่อปี ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดที่เข้าคลังหลวง และกี่เท่าที่เข้ากระเป๋าของขุนนางศักดินา!

๓) จังกอบ

คือการเก็บชักส่วนสินค้า เมื่อจะขนส่งเข้าออกหรือเมื่อทำการขาย พูดง่ายๆ ก็คือภาษีสินค้า ผิดกับอากรตรงที่อากรเป็นภาษีเก็บจากผลิตผลที่ทำได้ จังกอบเก็บทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่ว่าจะต้อนฝูงควายไปขายหรือค้าสำเภา ลักษณะของการเก็บจังกอบก็คือ "สิบหยิบหนึ่ง" นั่นคือสิบชักหนึ่งหรือร้อยละสิบ ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวงมีอธิบายไว้ว่า "แลจะเก็บจังกอบในสำเภานาวาเรือใหญ่เรือน้อยก็ดี หนบก หนเกวียน หนทางอันจะเข้าถึงขนอนใน ท่านให้นับสิ่งของจนถึงสิบ ถ้าถึงสิบไซร้ ท่านจึงให้เอาจังกอบนั้นหนึ่ง ถ้ามิถึงสิบไซร้ ท่านมิให้เอาจังกอบนั้นเลย"

การเก็บจังกอบอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเก็บควบไปกับการเก็บจังกอบสินค้า ก็คือ เก็บเงินเป็นอัตรา ตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้ามา เช่นในสมัยพระนารายณ์ เก็บจังกอบตามขนาดเรือ คือ วัดความยาววาละหนึ่งบาท และได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยว่า ถ้าเรือลำใดปากกว้างกว่า ๖ ศอก ถึงแม้จะยาวไม่ถึงหกวา ก็ให้เก็บจังกอบ ๖ บาท เป็นอันว่า ผู้ค้าขายต้องเสียสองต่อ คือ เสียภาษีสินค้าภายในเรือด้วย เสียภาษีปากเรือด้วย

จังกอบสินค้าเก็บทั้งสินค้าเข้าและสินค้าออก และเก็บทั้งเป็นภาษีสินค้าภายในด้วย อัตราที่เก็บขาเข้าไม่เท่ากับขาออก และมีอัตราไม่เท่ากันเสมอไป เช่นในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า (หน้า ๒๖๑) เล่าว่า "ถ้าเป็นเมืองที่มีทางพระราชไมตรี และไปมาค้าขายกันไม่ขาดแล้ว เก็บภาษีตามราคาสินค้าเข้าร้อยชักสาม ค่าปากเรือกว้าง ๔ วาขึ้นไป เก็บวาละ ๑๒ บาท ไม่ลดราวาศอก ถ้าสินค้าที่เข้ามาเป็นสินค้าที่กษัตริย์มีความประสงค์ ก็ไม่เก็บภาษีสินค้าเข้า เก็บแต่ค่าปากเรืออย่างเดียว"

"เมื่อรัฐบาลตั้งพระคลังสินค้า ทำการค้าขายเสียเอง สินค้าขาเข้าในส่วนที่รัฐบาลเลือกซื้อไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๐ น. ๓๓) ในส่วนสินค้าออกซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ขาย ก็น่าจะไม่ต้องเสียภาษีในทำนองเดียวกัน" (ตำนานศุลกากร, พระยาอนุมานราชธน น.๕๑)

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จอห์น ครอเฟิด จดไว้ว่า ภาษีสินค้าขาเข้า เก็บร้อยละแปดจากราคาสินค้าที่นำเข้ามา ส่วนภาษีปากเรือเก็บอัตราต่างๆ กัน แล้วแต่เป็นของชาติใด และจะไปเมืองใด เบาว์ริงจดไว้ว่า เรือใบทะเลเก็บวาละ ๘-๔๐ บาท เรือสำเภาใหญ่เก็บวาละ ๘๐-๒๐๐ บาท

ครั้นเมื่อได้ทำสัญญาค้าขายกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ แล้ว มีกำหนดตามสัญญาว่า เรือกำปั่นใบ ๓ เสาต้องเสียตามขนาดกว้างของเรือวาละ ๘๐ บาท ถ้าสองเสาเสียกึ่งอัตรา ภาษีสินค้าขาเข้าคิดร้อยละ ๘ ส่วน ภาษีสินค้าขาออกมีอัตราเก็บตายตัวตามชนิดของสินค้า เช่น น้ำตาล ภาษีหาบละ ๒ สลึง เป็นต้น

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้แก้ไขวิธีเก็บมาเป็นเก็บแต่จากขนาดเรืออย่างเดียว คือ ถ้าเรือมีสินค้าเข้ามาเก็บวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเรือเปล่าเข้ามาซื้อของเรียกวาละ ๑,๕๐๐ บาท แล้วไม่เรียกจังกอบภาษีอย่างอื่นอีก ไม่เรียกค่าธรรมเนียมต่างๆ จากผู้ที่มาซื้ อขายกับอังกฤษตั้งแต่ก่อนด้วย

รายได้ของรัฐบาลศักดินาเกี่ยวกับ "จังกอบ" (หรือภาษีศุลกากร) นี้ เป็นเรื่องยืดยาวและพัวพันอยู่กับระบบการค้าผูกขาดของศักดินาอย่างใกล้ชิด จึงจะขอยกไว้กล่าวในตอนที่ว่าด้วยระบบการค้าผูกขาดของศักดินา ในที่นี้ ขอสรุปแต่พอเข้าใจว่า จังกอบคือภาษีศุลกากรเก็บทั้งภายในจากพ่อค้าแม่ค้าเล็กน้อยประจำวันไปจนถึงสินค้าเข้าออก

คราวนี้ประชาชนจะต้องถูกขูดรีดอย่างไรบ้าง การขูดรีดที่ได้รับจากรัฐบาลศักดินาก็คือ เมื่อปีนต้นมะพร้าวอยู่ที่บ้าน ก็ถูกเรียกอากรมะพร้าวไปเป็นภาษีที่ดิน คืออากรสวนเสียก่อนครั้งหนึ่ง ครั้งจะเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวก็ต้องไปแจ้งความกับเจ้าภาษีน้ำมันมะพร้าวว่า เดี๋ยวนี้ ฉันจะเคี่ยวน้ำมันแล้ว ออกใบอนุญาตให้หน่อยซิจ๊ะ เจ้าภาษีก็จะออกใบอนุญาตให้เรียกค่าธรรมเนียม (ฤชา) เสียด้วยตามธรรมเนียม มากน้อยขึ้นอยู่กับหน้าตาของผู้มาขออนุญาต ถ้าเซ่อมากก็แพงมาก พอได้ใบอนุญาตแล้วก็มาเคี่ยว้ำนมัน พอเคี่ยวเสร็จก็เอาลงเรือแจวเรือออดๆ มาจอดด่าน ที่ด่านเจ้าพนักงานจะเรียกเก็บจังกอบ ๑๐ ชัก ๑ ฝ่ายเจ้าภาษีน้ำมันที่ออกใบอนุญาตก็รออยู่ข้างๆ ด่านนั้นด้วย พอเรือผ่านมาก็เก็บภาษีตามพิกัดของสินค้าเสียอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงจะขายได้ ถ้าเจ้าภาษีไปตั้งอยู่ห่าง ก็ต้องแวะท่าโรงภาษีเสียก่อน ไม่งั้นถูกหาว่าหนีภาษี ปรับ เจ็บยับเยินทีเดียว สถานที่เก็บจังกอบนั้น เรียกกันว่า ขนอน หรือ ด่าน มีทั้งขนอนบก ขนอนน้ำ ตั้งดักไว้ตามหนทางเข้าออกต่างๆ รอบเมือง ส่วนที่เก็บภาษีของเจ้าภาษีเรียกว่าโรงภาษี โดยมากเจ้าภาษีมักทำหน้าที่เป็นนายทุนนายหน้าผูกขาดด้วย หรือบังคับซื้อสินค้าประเภทที่ตนเก็บภาษีนั้นไว้ทั้งหมดเสียแต่ผู้เดียว ใครๆ ก็ต้องขายให้เจ้าภาษี แล้วเจ้าภาษีจึงนำออกขายแต่เอากำไรตามความพอใจ ข้อนี้ จะกล่าวต่อไปข้างหน้าในข้อที่ว่าด้วยอากรและการผูกขาดภาษี

๔) อากร

หมายถึงการเก็บชักส่วนผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้จากการทำงานด้านต่างๆ เช่น ทำนา, ทำไร่, ทำสวนนี่อย่างหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่งมอบสิทธิ์สัมปทานให้แก่ประชาชนไปทำการบางอย่างโดยเรียกเงินเป็นค่าอากรผูกขาด เช่น การเก็บของป่า, จับปลาในน้ำ (อากรค่าน้ำ), ต้มกลั่นสุรา, ตั้งบ่อนเบี้ย (การพนัน), ตั้งโรงโสเภณี ฯลฯ ลักษณะการเก็บอากรมีดังนี้ :

อากรค่านา อากรค่านานี้ คือการเก็บจากชาวนาโดยตรง ชาวนาที่เช่านาเจ้าที่ดินจึงต้องเสียผลประโยชน์สองต่อ ต่อแรกเสียเป็นค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่นา ต่อที่สองต้องเสียค่าอากรเช่านาให้แก่หลวง (คือกษัตริย์) การเสียอากรให้แก่หลวงนี้ ถือเป็ นการเสียค่านาแทนเจ้าของนา นั่นคือ เจ้าของที่นาไม่ต้องเสียภาษีที่ดินให้แก่กษัตริย์ ชาวนาหรือไพร่เสียภาษีแทนให้เสร็จทีเดียว รัชกาลที่ ๔ ได้กล่าวถึงความจริงข้อนี้ ไว้ว่า "ราษฎรเช่านาท่านผู้อื่นทำ ต้องเสียค่าเช่าให้เจ้าของนาด้วย ต้องเสียค่านาแทนเจ้าของนาด้วย"๑๐๙ ส่วนพวกเจ้าที่ดินที่เกณฑ์บ่าวไพร่และเลกทำนาของตนเอง พวกนี้ก็ต้องเสียอากรค่านา ซึ่งเป็นการเสียเพียงต่อเดียว ค่าแรงของพวกบ่าวไพร่หรือเลกไม่ต้องเสีย มิหนำซ้ำพวกเลกพวกไพร่จะต้องขนเอาไถเอาคราดวัวควายของตนมาทำนาให้เจ้าขุนมูลนายเสียอีกด้วยซ้ำ พวกเจ้าที่ดินในยุคศักดินาจึงได้สวาปามผลประโยชน์เต็มที่

การเก็บอากรค่านานั้น เดิมทีเดียวเรียกเก็บเป็ นข้าวเปลือก ประชาชนจะต้องส่งข้าวเปลือกให้แก่ฉางหลวงทุกปี ข้าวที่เก็บนี้ เรียกกันว่า "หางข้าว" หางข้าวที่จะเก็บขึ้นฉางหลวงนี้ ประชาชนจะต้องส่งด้วยเครื่องมือและกำลังของตนเองไปจนถึงฉางหลวง เจ้าพนักงานประจำฉางมีหน้าที่ "นั่งกระดิกตีนจดบัญชีรับหางข้าว" อยู่กับที่เท่านั้ นเอง มิหนำซ้ำยังใช้อำนาจบาตรใหญ่เอาแก่ประชาชนเสียอีกชั้นหนึ่งตามธรรมเนียมเหยียดหยามประชาชนของวัฒนธรรมศักดินาอีกด้วย ฉางหลวงที่ประชาชนจะต้องลำเลียงขนหางข้าวมาส่งนั้น มีทั้งฉางหลวงในกรุงฯ และฉางหลวงหัวเมือง ใครจะเอาไปส่งที่ฉางไหนนั้น ไม่มีกฏเกณฑ์แน่นอน ขึ้นอยู่กับความพอใจของพวกข้าหลวงที่จะบังคับเอา เรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนี้ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นตามหลักฐานโดยมีปรากฏในประกาศรัชกาลที่ ๔... "ราษฎรต้องขนมาส่งถึงฉางในกรุงฯ และฉางหัวเมืองตามแต่เจ้าพนักงานจะบังคับ ราษฎรได้รับความยากบ้างง่ายบ้างไม่เสมอกันที่ได้ความยากก็ร้องทุกข์กล่าวโทษข้าหลวงเสนา และเจ้าพนักงานไปต่างๆ ต้องมีผู้ตัดสินเป็นถ้อยความอยู่เนืองๆ" (ประกาศปี ชวด พ.ศ. ๒๔๐๗)

อากรหางข้าวที่เก็บมาแต่เดิมทีเดียวนั้น จะเป็นจำนวนไร่ละกี่ถังยังค้นไม่พบ แต่มาภายหลังได้เปลี่ยนมาเก็บเงินแทนข้าว ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เรียกเก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ตลอดไม่มีข้อแม้

เดิมทีเดียวนั้น การเก็บอากรค่านาหรือหางข้าวนี้เรียกเก็บเฉพาะที่นาที่ได้ทำนามีผลประโยชน์ ที่ใดที่มิได้ทำนาก็ยกเว้นไม่เก็บ การยกเว้นไม่เก็บอากรในที่นาที่มิได้ทำประโยชน์นี้ หาได้มีประโยชน์แก่ไพร่หรือประชาชนไม่ ทั้งนี้เพราะประชาชนหรือไพร่ทั่วไปที่มีที่ดินจำนวนจำกัดเพียง ๕ ไร่ ๑๐ ไร่ หรือ ๑๕ ไร่ ต่างทำนาของตนด้วยมือของตนทุกคน เขาไม่อาจไปจับจองนา สวาปามไว้เป็นกรรมสิทธิเกินอัตราศักดินาได้ มีแต่พวกเจ้าที่ดินที่มีศักดินามากมายไพศาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากวิธีการเก็บภาษีโดยเรียกเก็บแต่เฉพาะที่ได้ทำนา พวกเจ้าขุนมูลนายทั้งปวงสวาปามที่ดินเอาไว้มาก มีกำลังทาสของตนเองน้อย กำลังไพร่ที่เที่ยวบังคับเที่ยวเกณฑ์มาก็ไม่พอเพียงที่จะทำนาให้ทั่วถึงได้ทุกปี บางปีก็ทำได้ตลอด บางปีก็ทำได้ไม่ตลอดแต่ต้องเสียภาษีอากรรวดทุกไร่ ตามจำนวนที่ดินที่ปรากฏในโฉนด พวกนี้ก็รู้สึกว่าตนเดือดร้อน การลดหย่อนอากรค่านาที่กษัตริย์ยอมลดให้ จึงมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นศักดินาด้วยกันเอง ถ้าไพร่หรือประชาชนได้รับผลประโยชน์บ้างจากการลดหย่อนนี้ก็เป็นการพลอยฟ้าพลอยฝนที่น้อยเต็มที

โดยการลดหย่อนอากรให้แก่เจ้าที่ดินเช่นนี้ กษัตริย์จึงต้องแต่งตั้งข้าหลวงเสนาออกไป "เดินนา" นั่นคือออกสำรวจเพื่อจะได้ลงบัญชีแน่นอนว่าเจ้าขุนมูลนายไหนได้ทำไปจำนวนกี่ไร่ เนื้อที่ที่ปลูกข้าวจริงๆ มีเท่าใด การเดินนานี้เรียกหลายอย่าง บ้างก็เรียกว่า "รังวัดนา" บ้างก็เรียกว่า "ประเมินนา" เจ้าพนักงานในกรมนาจะออกสำรวจหรือเดินนาทุกๆ ปี ก่อนจะเก็บอากรค่านา แต่มาในสมัยหลังๆ มีการขัดแย้งกันมากๆ ขึ้น ก็มักเดินนากันเพียงรัชกาลละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น พวกเจ้าขุนมูลนายจึงได้ผลประโยชน์ช่ำใจขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เพราะนาที่บุกเบิกใหม่ยึดได้ใหม่ในระหว่างที่ไม่มีการสำรวจ ไม่ต้องเสียอากรให้กษัตริย์เลย ได้กินผลประโยชน์เต็มกอบเต็มกำอย่างสบายใจ

ครั้นในสมัยพระนารายณ์ กษัตริย์องค์นี้ลอกเลียนชีวิตในราชสำนักมาจากราชสำนักอันฟุ่มเฟือยหรูหราของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระปิยสหาย ถึงกับไปสร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองพักร้อนเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ของหลุยส์ที่ ๑๔ เงินทองในราชสำนักจึงฝืดเคือง การเก็บอากรหางข้าวจึงได้ถูกเปลี่ยนมาเก็บเป็นเงิน โดยเก็บไร่ละสลึงรวด เก็บทั้งนาที่ทำและนาที่ไม่ได้ทำ โดยถือเนื้อที่นาในครอบครองเป็นเกณฑ์ อัตราที่เก็บไร่ละสลึงนี้ ถ้าคิดเทียบว่าราคาข้าวสมัยนั้น โดยประมาณเกวียนละ ๑๐-๑๒ บาท ราคาข้าวก็ตกถังละ ๑๐-๑๒ สตางค์ อากรที่เก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ของพระนารายณ์จึงตกเป็นข้าวเปลือกราว ๒ ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (๑ ไร่ทำนาได้ผลราว ๒๐-๓๐-๔๐ ถังเป็นอย่างสูง)

อัตราการเก็บไร่ละสลึงของพระนารายณ์สมัยนั้น มิได้ขูดรีดแพงขึ้นกว่าเดิม หากมีวิธีเก็บที่เข้มงวด คือเก็บทั้งนาที่ทำและไม่ทำ ใครมีนามากก็เสียมาก เหตุผลที่ให้ไว้ก็คือเพื่อที่จะให้เจ้าของนามีมานะบากบั่นทำนาให้เต็มเนื้อที่ แต่พวกเจ้าที่ดินส่วนมากไม่เห็นด้วยและไม่พอใจ การเก็บจึงเก็บได้เฉพาะบางส่วนของประเทศคือเฉพาะในเมืองที่พระนารายณ์มีอำนาจบังคับบัญชาสมบูรณ์เท่านั้น (Du Royaume de Siam ของลาลูแบร์)

ความขัดแย้งครั้งใหญ่ของชนชั้นศักดินาซึ่งมีประชาชนพวกไพร่ส่วนหนึ่งรวมอยู่ในฝ่ายที่ต้องเสียผลประโยชน์ด้วย ทำให้กษัตริย์ต้องปรับปรุงวิธีเก็บอากรค่านาใหม่ จึงทำให้เกิดการเก็บอากรค่านาอย่างใหม่ขึ้น โดยมีการเก็บอากรเป็นสองประเภทเรียกว่า "นาคู่โค" อย่างหนึ่งและ "นาฟางลอย" หรือ "นาน้ำฝนฟางลอย" อีกอย่างหนึ่ง

"นาคู่โค" คือนาที่กษัตริย์เรียกเก็บอากรตามขนาดเนื้อที่ที่มีในกรรมสิทธิ์ แต่การจะเก็บโดยปริมาณเนื้อที่ตามจำนวนไร่ที่มีอยู่ในครอบครอง พวกเจ้าขุนมูลนายที่ครอบครองนาจำนวนมหาศาลก็ไม่พอใจ จึงต้องยักย้ายวิธีให้เป็นที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย กล่าวคือนับจำนวนวัวหรือควายที่ใช้ในการไถนา แล้วประเมินว่าวัวหรือควายคู่หนึ่งจะทำนาในที่นั้นได้ผลปี ละเท่าไร แล้วคิดอากร โดยถือวัวควายเป็นเกณฑ์ วิธีนี้พวกเจ้าที่ดินพอรับเงื่อนไขได้ เพราะเวลาทำนาจริง ตัวยังเกณฑ์เอาวัวควายของพวกเลกพวกไพร่มาช่วยทำได้อีก ผลที่ได้เป็นผลส่วนเกินก็ไม่ต้องเสียอากร ได้กินอย่างเหนาะๆ ปีละไม่น้อย นาประเภทนี้เมื่อข้าหลวงเสนาออกมาสำรวจเดินนาแล้วก็จะออกโฉนดตีตราด้วยชาดสีแดงให้เป็นสำคัญในการเสียอากรเรียก ว่า "ตราแดง" หรือ "โฉนดตราแดง"

เมื่อกล่าวถึง "โฉนด" ณ ที่นี้แล้วก็จะขออธิบายเพิ่มเติมเสียด้วยว่า ที่เรียกว่าโฉนดๆ ในสมัยก่อนนั้น มิได้หมายถึงหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากหมายถึงหนังสือสำคัญที่ระบุปริมาณของที่ดินและระบุจำนวนอากรที่จะต้องเสียตามขนาดของที่ดิน พวกข้าหลวงเสนาของกรมนาเอาหนังสือนี้ ไว้ให้แก่ผู้ทำนา เวลามาเก็บอากรก็เรียกโฉนดออกมาดู แล้วเก็บตามนั้น ส่วนที่ใดไม่มีโฉนดบอกที่ดินบอกจำนวนอากร ผู้ครอบครองก็ถูกข้อหาบุกเบิกที่โดยพลการไม่แจ้งในหลวงมีเจตนาหนีภาษีอากรทำให้ผลประโยชน์หลวงเสียไป ต้องมีโทษ พวกชาวนาที่จะบุกเบิกใหม่จะต้องขวนขวายไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานเสียแต่แรกว่าผมจะทำนาตรงนี้ ขอให้ออกโฉนดบอกปริมาณที่ดินและอากรที่จะต้องเสียให้ด้วย เวลาข้าหลวงเสนามาสำรวจเดินนา ผมจะได้มีหนังสือสำคัญแสดงแก่เขาว่า ผมพร้อมที่จะเสียภาษีไม่ตั้งใจหลบหนีเลย ตรงนี้ควรทราบเสียด้วยว่า เดิมทีเดียวการทำนาของประชาชนนั้นไม่มีหนังสือสำคัญอะไรชาวนาทำนาไป เจ้าขุนมูลนายก็ขูดรีดไป ต่อมาประชาชนทนการขูดรีดไม่ไหวก็หาทางเลี่ยงภาษีอากรโดยอ้างว่าที่ตรงนี้ ตนเพิ่งเริ่มก่นสร้างได้ปี หนึ่งสองปี กฏหมายว่ายกอากรให้แก่ผู้เริ่มก่นสร้าง ("เบ็ดเสร็จ" ครั้งเริ่มสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา) ข้าหลวงไปเก็บอากรค่านาที่ใดก็ต้องพบแต่ข้ออ้างเช่นนี้ ต้องถกเถียงกันเก็บอากรไม่ได้ กษัตริย์ต่อมาคือพระบรมราชาธิราชที่ ๒ จึงออกพระราชกำหนดเมื่อปี พ.ศ. ๑๗๙๖ บังคับให้ผู้หักร้างนาใหม่มาแจ้งข้าหลวง เอาโฉนดบอกจำนวนที่ดิน และอากรไปถือไว้ ใครไม่มีโฉนดจะต้องข้อหาหลบหนีบดบังอากร มีโทษหนักกล่าวคือ :

"ท่านให้ลงโทษ ๖ สถาน ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บ่ให้ฆ่าตีเสีย ให้เอาอากรซึ่งบังไว้แขวนคอประจานสามวันแล้วไหมจตุรคูณ (ปรับสี่เท่าเงินอากร)" (อาญาหลวงบท ๔๗)

ที่ว่าให้ลงโทษ ๖ สถานนั้นมีต่างๆ กันคือ : ฟันคอ ริบเรือน, จำใส่ตรุไว้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (คือให้ตัดหญ้าให้ช้างหลวงกิน ซึ่งเป็นงานชั้นต่ำสุดเพราะถูกหญ้าบาด งูกัด เหม็นขี้ เยี่ยวช้าง ฯลฯ), ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที, จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวถอดลงเป็นไพร่, ไหมจตุรคูณ (ปรับสี่เท่า), และไหมทวีคูณ (ปรับสองเท่า) ใน ๖ สถานนี้ ในหลวงจะเลือกลงโทษสถานใดก็ได้ (อาญาหลวง ๒๗)

การลงโทษอย่างหนักราวกับโจรปล้นทรัพย์ (ริบเรือน, ริบราชบาตร) หรือราวกับกบฏ (ฟันคอ) เช่นนี้ ทำให้ประชาชนต้องขวนขวายมาขอโฉนด "จึงเห็นได้ประจักษ์ว่าการที่ปฏิบัติให้มีโฉนดนั้นเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ไม่มีประสงค์อย่างใดที่จะให้เจ้าของมีหลักฐานแสดงสิทธิ์ของตน การออกโฉนดจึงได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระคลัง หาใช่เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าของที่ไม่"๑๑๐

การออกโฉนดแบบนี้ ได้มาเร่งรัดให้รัดกุมทั่วถึงกันอีกครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลายในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์๑๑๑ โฉนดแบบที่เป็นใบสำคัญเก็บภาษีนี้ได้ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การออกโฉนดอย่างใหม่เพิ่งมาเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ (รัชกาลที่ ๕) นี้ เอง๑๑๒

การออกโฉนดอย่างใหม่ที่เริ่มทำในครั้งนั้น ได้เริ่มงานเป็น ๓ ขั้นคือ

๑. ตั้งข้าหลวงเกษตรออกสำรวจไต่สวนหลักฐานของบรรดาเจ้าของที่ในแต่ละเขต

๒. ตั้งหอทะเบียนสำหรับเก็บโฉนดใหม่

๓. ยกเลิกหนังสือสำคัญเก่าแก่ทั้งปวง และออกใหม่แทน

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงได้ออก "พระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗" (วันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๕๑) ประชาชนจึงได้เริ่มมีกรรมสิทธิเหนือที่ดินมาแต่นั้น

"นาฟางลอย" นาพวกนี้เป็นนาในที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ต้องพึ่งน้ำฝนอย่างเดียว ถ้าฝนไม่ตกนาก็แล้งทำนาไม่ได้ ผิดกับนาคู่โคอันเป็นนาดี ซึ่งอาจทดน้ำทำระหัดวิดน้ำเข้านา ทำนาได้โดยไม่ต้องรอฝน พวกนาดอนนี้จึงเรียกว่านาน้ำฝน เวลาข้าหลวงมาประเมินนา ก็จะมาดูว่าที่นานั้นๆ ทำนาได้จริงเท่าใด โดยสังเกตดูตอฟางเป็นเกณฑ์แล้วทำรังวัดเนื้อที่เก็บอากรตามนั้น นาพวกนี้ส่วนมากเป็นนาของพวกไพร่ ทำได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทางกรมนาของกษัตริย์จะออกเพียง "ใบจอง" ให้ชั่วคราว ถ้าหากทำไม่ได้สามปีติดๆ กัน กรมนาก็หาว่าเกียจคร้านรับนาคืนเข้าเป็นของหลวง ชีวิตของพวกไพร่เจ้าของนาน้ำฝนฟางลอย จึงลอยตุบป่องตามน้ำฝน

เมื่อชีวิตขึ้นอยู่กับน้ำฝนก็ทำให้เกิดมีประเพณีการแห่นางแมวขอฟ้าขอฝนขึ้นในหมู่พวกไพร่ที่ทำนาทั่วไป ทางฝ่ายกษัตริย์นั้นมีหน้าที่เพียงมาตรวจดูว่าไพร่ทำนาได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เหมาเอาว่าขี้เกียจ ริบนาคืนไป การช่วยเหลือชาวนาของพวกศักดินาอย่างมากก็เพียงชักชวนให้ทำพิธีขอฝน กษัตริย์จะแสดงพระมหากรุณาธิคุณโดยส่งพระพุทธรูปปางขอฝนเรียกว่าพระคันธาราษฏร์ ออกไปตามหัวเมืองต่างๆ สำหรับนำออกมาทำพิธีขอฝน เรียกว่า พิธีพิรุณศาสตร์ ถ้าปีฝนแล้งทำนาไม่ได้ ก็มักจะโทษเอาว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ทำพิธีพิรุณศาสตร์กันอย่างทั่วถึง พระเจ้าเลยไม่โปรด ไม่ใช่ความผิดของกษัตริย์ที่ไม่เอาใจใส่ทำการทดน้ำ ขุดคลองทำชลประทาน ประชาชนเลยหลงไปฝากชีวิตไว้กับเทวดาฟ้าดิน เมื่อฝนไม่ตกก็เท่ากับฟ้าดินไม่โปรดเป็นเพราะวาสนาตัวไม่ดีเอง โทษใครไม่ได้!

"ประเพณีในประเทศนี้ ถ้าเวลาใดฝนฟ้าบกพร่องขาดแคลน ย่อมเชิญพระพุทธปฏิมาคันธารราษฏร์ออกประดิษฐานในที่มณฑล ทำโรงพิธีสวดคาถาพระบาลีอธิษฐานขอฝน การพิธีอันนี้ยังหาสามารถทำได้ทั่วทุกจังหวัดในพระราชอาณาเขตไม่ เพราะเหตุตามจังหวัดหัวเมืองยังไม่มีพระพุทธรูปปฏิมาคันธารราษฏร์ สำหรับการพิธีขอฝนอยู่โดยมาก ในปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๘–ผู้เรียบเรียง) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อสร้างพระพุทธปฏิมาคันธารราษฎร์ขนาดสูง ๓๓ เซนต์ขึ้น ๘๐ องค์ สำหรับส่งไปไว้ตามจังหวัดหัวเมืองทั่วไป เพื่อมีเหตุฝนแล้งเมื่อใด จะได้ทํำพิธีพิรุณศาสตร์ ณ ที่นั้นที"๑๑๓

นี่คือการช่วยเหลือเพียงประการเดียวที่ฝ่ายศักดินายื่นโยนมาให้ประชาชนอยู่เสมอเป็นประจำ

การทำพิธีขอฝนหรือพิธีพิรุณศาสตร์นี้ ทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พิธีในสมัยสุโขทัยนั้น รัชกาลที่ ๕ เคยกล่าวถึงไว้ว่า "อยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย"๑๑๔ พิธีนั้นทำกันใหญ่โตทุกปี มีทั้งพิธีพุทธพิธีพราหมณ์และยังมีการบูชาโองการขอฝนอีกอย่างหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่า "ถ้าฝนไม่ตกให้เอาคำโองการออกอ่านฝนก็ตก ดังนี้คำโองการนี้...บางทีจะเกิดขึ้นในแผ่นดินบรมโกษฐ์นั้นเองก็จะได้ด้วยตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมาเรื่องเสกๆ เป่าๆ เชื่ออะไรต่ออะไรยับเยินมีมาก ยิ่งชั้นหลังลงมาดูยิ่งหนักแก่มือขึ้นไป"๑๑๕

และทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่อร่าหยาบคาย และยังเป็นเรื่องเสกๆ เป่าๆ ยับเยิน พวกศักดินาก็ยังคงสงวนพิธีนี้ไว้ ทั้งนี้เพราะเป็นทางเดียวที่จะมอมเมาประชาชนและปัดความผิดไปจากตนได้อย่างแนบเนียน

การยื่นมือมาช่วยเหลือประชาชนของกษัตริย์เท่าที่พบหลักฐานก็มีอยู่บ้างนานครั้งนานคราว แต่ถ้าได้ช่วยสักครั้งหนึ่งก็ต้องทวงบุญทวงคุณกันไปนานทีเดียว จะขอยกตัวอย่างในรัชกาลที่ ๔ เมื่อคราวน้ำน้อย พ.ศ. ๒๔๐๗

"อนึ่งในปีนี้เมื่อเดือน ๑๑ เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรน้ำกรุงเก่า ทรงเห็นว่าน้อย ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์ข้าราชการไปปิดน้ำ (คือปิดทำนบไว้มิให้น้ำลด–ผู้เรียบเรียง) แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์แจกเป็นเงินค่ากับข้าวผู้ทำการคนละบาท แลจ่ายข้าวสารเสบียงคนละ ๑๐ ทะนาน และจ่ายจัดซื้อไม้เพิ่มเติมไม่เกณฑ์ตัดให้ทันการณ์ สิ้นพระราชทรัพย์ ๕๐ ชั่งเศษโดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎร ทั้งแขวงกรุงเก่าแลลพบุรี แลอ่างทองตามกำลังจะทำได้ เป็นพระเดชพระคุณแก่ราษฎรอยู่ ควรราษฎรจะคิดถึงพระเดชพระคุณอย่าต้องให้ลำบากนัก"๑๑๖

นี่คือประกาศที่รัชกาลที่ ๔ ทรงเขียนเองด้วยพระหัตถ์ ที่ว่าขอให้คิดถึงพระเดชพระคุณบ้างอย่าให้ต้องลำบากมากนักนั้น หมายถึงความลำบากของกษัตริย์ในการเก็บอากรหางข้าว เนื่องมาจากน้ำแล้งทำนาไม่ได้ผลประชาชนร้องทุกข์กันมากว่า เก็บอากรค่านาแรงจนเกินควร

ที่คุยว่าอุตส่าห์ลงทุนทำคันปิดน้ำเสีย "พระราชทรัพย์" ไปถึง ๕๐ ชั่งเศษ (๔,๐๐๐ บาทเศษ) นั้นดูเป็นเงินจำนวนใหญ่โตที่จะต้องทวงบุญทวงคุณกันเสียจริงๆ แต่ถ้าจะเทียบดูผลประโยชน์บ้างก็จะเห็นได้ว่าในแขวงกรุงเก่า ลพบุรี และอ่างทองที่ได้ช่วยกันน้ำไว้ให้นั้น "คิดจำนวนนาถึง ๓๒๐,๐๐๐ ไร่เศษ... ค่านา ๓๒๐,๐๐๐ ไร่นั้น เมื่อเรียกไร่ละสลึงเฟื้องได้เงินปีละ ๑,๕๐๐ ชั่ง เมื่อเรียกไร่ละสลึงได้เงินปี ละ ๑,๐๐๐ ชั่ง" (จากประกาศฉบับเดียวกัน) รายได้ปีละ ๑,๐๐๐ ชั่งถึง ๑,๕๐๐ ชั่ง (๘๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ บาท) ได้มาตลอดนับสิบๆ ปี เมื่อมาเสียค่าปิดกั้นน้ำเข้าทีหนึ่งก็ดูบ่นอุบอิบทวงบุญทวงคุณเอาเสียจริงจัง ทั้งๆ ที่การไปปิดน้ำคราวนั้น ก็เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาโดยตรง คือ ถ้าทำข้าวได้ตนก็ได้หางข้าว และเงินที่ ลงทุนไปปิดน้ำเพียง ๔,๐๐๐ บาทนั้น ก็เป็นเงินจากอากรค่านาที่เก็บจากประชาชนไร่ละสลึงหรือสลึงเฟื้องนั่นเอง

ข้อที่ว่าเงินนั้นมาจากภาษีอากรนี้ศักดินาใหญ่ก็รู้เจนอยู่ในใจ เวลาพวกเจ้านายฉ้อโกงเงินภาษีที่ควรเก็บส่งหลวงหรือใช้อิทธิพลออกบัตรแข็งให้ลูกน้องสำหรับเบ่งไม่ต้องเสียภาษี รัชกาลที่ ๔ ก็จะบ่นว่าได้เงินมาไม่พอแจกเป็นเงินปีให้พวกเจ้านาย จะต้องลดส่วนเงินปีลง ซ้ำยังอธิบายเสียด้วยว่า

"เงินซึ่งพระราชทานแจกเบี้ยหวัดแก่ข้าราชการทุกๆ ปี นั้น มิใช่เงินได้มาแต่บ้านเมืองอื่นนอกประเทศคือเงินในจำนวนภาษีอากรนั่นเอง"

แต่พอมาพูดกับพวกไพร่พวกชาวนา ก็กลับมาอ้างเอาว่าเป็นเงิน "พระราชทรัพย์" บ้าง ต้อง "สิ้นพระราชทรัพย์ ๕๐ ชั่งเศษโดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎร...ตามกำลังจะทำได้ เป็นพระเดชพระคุณแก่ราษฎรอยู่ ควรราษฎรจะคิดถึงพระเดชพระคุณอย่าต้องให้ลำบาก (ในการเก็บภาษีอากร) นัก!"

นี่แหละคือธรรมเนียมทวงบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของพวกศักดินา มันก็น่าคิดว่าใครมีบุญคุณแก่ใครกันแน่

เพราะการที่กษัตริย์ไม่ค่อยเอาใจใส่ช่วยเหลือประชาชนและเพราะการที่มัวแต่เสียดายราชทรัพย์อยู่นี้เองจึงทำให้นาแล้งบ้าง ล่มจมบ้างตลอดมาในสมัยศักดินา ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ข้าวยากหมากแพง" จึงเกิดขึ้นเสมอ ถ้าตรวจดูในจดหมายเหตุเก่าๆ จะพบเรื่อง "ข้าวแพงๆ ๆ" อยู่เสมอ เช่น

ปีขาล จ.ศ. ๑๑๒๐ (พ.ศ. ๒๓๐๑) ปีนี้ข้าวแพงเกวียนละ ๑๒ ตำลึง (ราคาข้าวปกติเกวียนละ ๓-๕-๖ ตำลึง)

ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) น้ำมากข้าวแพงเกวียนละชั่ง

ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) ข้าวเกวียนละ ๗ ตำลึง ข้าวสารถังละ ๓ สลึงเฟื้อง ปีนี้งูน้ำกัดคนตายมาก

ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕) ข้าวเกวียนละ ๑๑ ตำลึง

ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๙๓ (พ.ศ. ๒๓๗๔) ปีนี้น้ำท่วม ข้าวแพงเกวียนละ ๘ ตำลึง

ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๙๕ (พ.ศ. ๒๓๗๖) เดือน ๘ ฝนแล้ง ข้าวแพงเกวียนละ ๗ ตำลึง ๒ บาท

ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๐๕ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ปีนี้ข้าวแพงตั้งแต่เดือน ๑๒ จนถึงเดือน ๔ ข้าวสารถังละบาท เป็นไข้ตายกันมาก น้ำก็น้อยทำนาไม่ได้ (คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘)

เราย้อนมาเข้าเรื่องอากรค่านาของเราต่อไป

การขูดรีดของศักดินานอกจากจะเก็บค่าหางข้าวกินเปล่าไร่ละ ๒ ถัง โดยที่มิได้ช่วยเหลือตอบแทนอะไรเลยแล้ว ยังบังคับซื้อเป็นราคาหลวงอีกไร่ละ ๒ ถัง โดยให้ราคาถังละ ๖ สตางค์ การบังคับซื้อนี้ พวกไพร่ต้องเสียผลประโยชน์มากกว่าใคร เพราะราคาขายทั่วไปถังละ ๑๐-๑๒ สตางค์ ราคาหลวงที่บังคับซื้อตัดลงตั้งครึ่ง พวกไพร่ที่เช่นนาทำจึงต้องเสียสามต่อ คือ ๑) อากรค่านาให้หลวง (กษัตริย์) ๒) ค่าเช่าให้เจ้าที่ดิน ๓) เสียเปรียบในการบังคับซื้อ! ส่วนพวกเจ้าที่ดินที่มีที่ให้เช่าไม่เดือดร้อนเลย คงได้ตามปกติ ส่วนพวกที่ได้บ่าวไพร่ทำนาหรือเกณฑ์เลกมารับใช้ทำนาฟรีๆ ก็ไม่เดือดร้อนอะไรที่จะต้องเสียหางข้าวเล็กๆ น้อยๆ นับว่าพวกเจ้าที่ดินและเจ้าขุนมูลนายมีแต่ทางได้เพียงประตูเดียวตลอดปี

การเก็บอากรหางข้าวขึ้นฉางหลวงไร่ละสองถังบังคับซื้อสองถังโดยให้ราคาถังละ ๖ สตางค์นี้ ได้ใช้มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แต่ผลประโยชน์ที่เก็บได้นั้นไม่พอจ่าย "ราชการ" ซึ่งแปลว่าการของพระเจ้าแผ่นดิน๑๑๗ นโยบายสงครามของรัชกาลที่ ๓ ทำให้ "มีศึกสงครามจำเป็นต้องการเงินใช้ราชการมากกว่าแต่ก่อน๑๑๘ รัชกาลที่ ๓ จึงแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรใหม่ คือ เก็บภาษีอากรค่านาเป็นตัวเงินแทนเก็บหางข้าว อัตราที่เก็บก็คือเก็บไร่ละสลึง เมื่อเก็บเช่นนี้ ทำให้ประชาชนไม่ต้องขนข้าวมาส่งฉางหลวง...อย่าคิดว่า ประชาชนจะสบายขึ้น...เพราะ...ยังเก็บเงินแทนค่าขนข้าวขึ้นฉางหลวงซึ่งไม่ต้องขนแล้วนั้นอีกไร่ละเฟื้อง รวมเป็นสลึงเฟื้ องคือ ๓๗ สตางค์ หนักข้อขึ้นไปกว่าสมัยพระนารายณ์ และการเก็บก็เก็บดะทั้งนาคู่โคและนาฟางลอย พวกไพร่ที่ทำนาฟางลอยจึงเดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหงจนเกิดการร้องทุกข์กันขึ้น พวกนาคู่โคก็ร้องทุกข์บ้างเพราะเหตุที่ตัวต้องเสียภาษีอากรตามจำนวนไร่รวด ไม่มีการเว้นว่าเก็บเฉพาะที่ได้ไถได้ทำ "ที่เป็นไพร่หลวงฝีพายแลพวกพ้องของพวกฝีพายมาเข้าชื่อถวายฎีกากันในกรุงเทพฯ บ้าง...บางทีก็โปรดให้ยกให้ลดให้แต่ไพร่หลวงกรมฝีพายที่ลงมารับราชการ บางทีก็โปรดให้ประเมินเรียกเอาแต่ตามที่ได้ทำ บางทีก็โปรดลดให้ไร่ละเฟื้องเสมอไปในปีหนึ่งนั้น" (ประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับเดียวกับที่อ้างมาข้างต้น) เมื่อเป็นดังนี้ก็เกิดมีอภิสิทธิขึ้น พวกไพร่หลวง ฝีพาย ก็รอดตัวสบายไป พวกไพร่ราบไพร่เลวยาจกยากจนก็ต้องก้มหน้าทนให้ขูดรีดต่อไป

ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ การเก็บอากรไร่ละสลึงเฟื้องรวดนั้นทำให้พวกนาคู่โคทั้งปวงร้องทุกข์กันอีกว่าเสียเปรียบนาฟางลอย เพราะตัวต้องเสียอากรทั้งนาที่ทิ้งเปล่าๆ ไม่ได้ทำ นาฟางลอยเสียแต่เฉพาะที่ได้ทำในแต่ละปี เสียงร้องของพวกนาคู่โคนี้ที่ตั้งอื้ออึงก็ด้วยการหนุนการให้ท้ายของพวกเจ้าที่ดิน ซึ่งตนต้องกระทบกระเทือนผลประโยชน์ นับว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนเจ้าของนาคู่โคที่มีอยู่บ้างก็ถูกเจ้าที่ดินฉกฉวยไปใช้เสียสบายอารมณ์ รัชกาลที่ ๔ เห็นจะสู้กำลังประชาชนและเจ้าที่ดินไม่ไหวก็เลยยอมลดค่านาให้แก่พวกนาคู่โค คือลดลงเป็นไร่ละสลึง เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๘

ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๔๐๗ คือถัดมา ๑๐ ปี เกิดฝนแล้วน้ำน้อยอีกครั้งหนึ่ง พวกเจ้าของนาคู่โคก็ร้องทุกข์ว่าสู้อากรไม่ไหว รัชกาลที่ ๔ จึงประกาศโต้ว่าได้อุตส่าห์ลดให้ไร่ละสลึงแล้ว นาในเขตกรุงเก่าอ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรีนั้น คิดเป็นจำนวนนาถึง ๓๒๐,๐๐๐ ไร่เศษคิดลดให้ไร่ละเฟื้องก็ตกเข้าไปปีละ ๕๐๐ ชั่ง (สี่หมื่นบาท) คิดดูเถอะอุตส่าห์ลดลงมาให้ตั้ง ๑๐ ปีแล้ว ในหลวงต้องขาดเงินไปถึง ๕,๐๐๐ ชั่ง (สี่แสนบาท) "ราษฎรได้เปรียบในหลวงกว่าแต่ก่อนมาถึง ๙ ปี ๑๐ ปีแล้ว" ฉะนั้น "ก็ในปีนี้ ฝนแล้งน้ำน้อยจะคงเรียกอยู่ไร่ละสลึงตามธรรมเนียมไม่ได้หรือ" และยังมีข้อคิดให้ไว้ด้วยว่า "ถ้าใครยังเห็นอยู่ว่าจะทนเสียค่านาไปไม่ได้ ก็ให้เวนนาคืนแก่กรมนาผูกเป็นของหลวงเสียทีเดียว" พวกเจ้าที่ดินโดนไม่นี้เข้าก็ สงบปากสงบคำ พวกไพร่โดนไม้นี้เข้าก็หน้าหงายหวานอมขมกลืนต่อไป

แต่ยังก่อน ลวดลายการเก็บอากรค่านายังไม่หมดเรื่องยังมีต่อไปอีกว่าถ้าหากในปีน้ำน้อย (พ.ศ. ๒๔๐๗) นี้ประชาชนผู้ยากจนคนใดจะขอผ่อนปรนชำระอากรค่านาเฉพาะแต่ที่ได้ทำได้เก็บได้เกี่ยวก็ยินยอมให้ แต่มิได้หมายความว่าจะยกอากรค่านาที่มิได้ทำให้ หากให้เป็นหนี้ค้างไว้ชำระปีหน้า ถึงปีหน้าต้องชำระเงินต้นไร่ละสลึงบวกด้วยดอกเบี้ยอีก ๑ เฟื้อง (๑๒ สตางค์) รวมเป็นไร่ละสลึงเฟื้อง เป็นอันว่าผู้ที่ต้องค้างค่านาหลวงจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๔๘ หรือ ๕๐ ต่อปี!! (ดอกเบี้ยหนึ่งเฟื้องต่อเงินต้น ๑ สลึง)

อนึ่งขอให้สังเกตว่า นาน้ำฝนฟางลอยอันอยู่ในที่ดอนนั้นดูสงบเงียบไม่มีการร้องทุกข์เอะอะเหมือนนาคู่โคอันอยู่ในที่ลุ่มเป็นนาดี ทั้งนี้ก็เพราะพวกชาวนายากจนที่ทำไร่ทำนาคนละ ๕ ไร่ ๑๐ ไร่ บนนาดอนนั้นแม้จะร้องขึ้น เสียงก็เงียบหายไปเหมือนสีซอให้ควายฟังที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเจ้าขุนมูลนาย เจ้าที่ดินใหญ่ไม่มีที่นาอยู่ในแดนกันดารเช่นนั้น เสียงของชาวนาถึงถูกกดลงและลืมเสีย ส่วนในพื้นที่นาลุ่ม (นาคู่โค) พวกเจ้าของที่ดินใหญ่ต่างได้ครอบครองที่ดินไว้มากมายแทบทุกคน พอชาวนายากจนร้องทุกข์ขึ้นพวกนี้ ก็สวมรอยเข้าใช้ความไหวตัวของชาวนาให้เป็นประโยชน์ ทางฝ่ายชาวนายากจนก็ติดข้องอยู่กับการพึ่งบารมีตัวบุคคล ต่างก็ถือว่ามีเจ้าขุนมูลนายหนุนหลัง มีบารมีคุมกบาลหัวอยู่ จึงไม่ค่อยหวาดกลัว ได้เรียกร้องเคลื่อนไหวกันยกใหญ่ รูปของการเคลื่อนไหวจึงเป็นไปโดยที่ชาวนามองข้ามกำลังของตนเอง คิดอยู่แต่ว่าที่กษัตริย์ต้องอ่อนข้อก็เพราะพวกตัวมีเส้นใน มีเจ้าขุนมูลนายหนุนหลัง แล้วก็เลยปล่อยให้พวกเจ้าที่ดินและเจ้าขุนมูลนายฉกฉวยเอากำลังมหึมาของพวกตนไปใช้เสียอย่างลอยชาย!

อากรค่านาเป็นอากรสำคัญขั้นเส้นเลือดใหญ่ของชีวิตชนชั้นศักดินา ฉะนั้นจึงได้รับการเอาใจใส่ คอยดูแลเพิ่มอัตราและปรับปรุงวิธีเก็บอยู่เสมอ จนในที่สุดถึงรัชกาลที่ ๖ มีอัตราอากรค่านาดังนี้

นาคู่โค

นาเอก ไร่ละ ๑.๐๐ บาท
นาโท ไร่ละ ๐.๘๐ บาท
นาตรี ไร่ละ ๐.๖๐ บาท
นาจัตวา ไร่ละ ๐.๔๐ บาท
นาเบญจ ไร่ละ ๐.๓๐ บาท

นาฟางลอย

นาเอก ไร่ละ ๑.๐๐ บาท
นาโท ไร่ละ ๐.๘๐ บาท
นาตรี ไร่ละ ๐.๖๐ บาท
นาจัตวา ไร่ละ ๐.๖๐ บาท
นาเบญจ ไร่ละ ๐.๔๐ บาท

สถิติรายได้ของรัฐบาลศักดินาจากอากรค่านาในรัชกาลที่ ๔ ได้ถึงสองล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดล้านบาทในสมัยรัชกาลที่ ๖ เฉพาะในรัชกาลที่ ๖ นั้นภาษีที่ดินทั้งมวลได้เป็นจำนวนถึง ๙,๗๐๐,๐๐๐ เศษ (สถิติ ๒๔๖๔)

"อากรสวน" อากรสวนนี้ มักเรียกว่าอากรสวนใหญ่ อันหมายถึงสวนผลไม้เป็นอากรที่ดินอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอากรคู่กับอากรค่านาหางข้าว

การเก็บอากรสวนนั้น มีวิธีเก็บเช่นเดียวกับวิธีเก็บอากรค่านา กล่าวคือกษัตริย์ส่งเจ้าพนักงานข้าหลวงออกไปสำรวจสวนต่างๆ เรียกว่า "เดินสวน" (คู่กับ "เดินนา") หน้าที่นี้ตกอยู่กับกรมพระคลังสวน การจะออกเดินสวนนั้น ทำกันเป็นพิธีรีตองไสยศาสตร์อย่างศักดิ์สิทธิ์ มีการบวงสรวงเทวดา คือ พระรามและเจ้าแม่กาลีเป็นต้น พวกข้าหลวงจะออกสำรวจรังวัดที่ดินและออกโฉนด (ใบสำคัญเก็บอากร) เช่นเดียวกับการเดินนา และพร้อมกันนั้นก็ลงบัญชีต้นไม้นานาชนิดที่จะต้องเสียภาษีลงไว้เป็นหลักฐาน ถ้าหากขณะเดินสวนนั้น เจ้าของสวนไม่ปรากฏตัวต่อเจ้าพนักงาน มัวไปงานศพพ่อตาเสียที่อื่น ก็ถือว่าเป็นสวนร้าง เวนคืนเป็นสวนของหลวง ซึ่งเจ้าพนักงานจะจัดการขายหรือให้แก่ใครก็ได้เป็นสิทธิ์ขาด การเดินสวนนั้นทำกันตอนต้นรัชกาลหนเดียว แล้วใช้ไปตลอดรัชกาล ต้นไม้จะตายจะปลูกใหม่ในระหว่างนั้นอยู่นอกประเด็น แต่ในบางรัชกาลก็เดินสวนถึง ๒-๓ ครั้ง เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ การเก็บอากรสวนนั้นเรียกเก็บเอาจากต้นไม้ ในสมัยพระนารายณ์ ลาลูแบร์จดไว้ว่าอากรทุเรียนต้นละ ๒ สลึง พลูค้างละ ๑ บาท หมากต้นละ ๓ ผล มะพร้าวต้นละ ๒ สลึง, ส้ม, มะม่วง, มังคุด, พริกต้นละ ๑ บาท

หลักฐานของการเดินสวนเก็บอากรต้นผลไม้นั้นค่อนข้างจะหายากเต็มที เท่าที่มีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เดินสวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ ครั้งหนึ่ง และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ อีกครั้งหนึ่ง ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้ออกทำการเดินสวนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตั้งแม่กงออกสำรวจกองละ ๘ คน กองหนึ่งๆ มีขุนนางวังหลวง ๖ คน ขุนนางวังหน้า ๒ คน ควบกันไป ทั้งนี้ เพราะอากรนั้นจะต้องแบ่งปันกันในระหว่างวังทั้งสอง ในครั้งนั้นได้ตั้งกองสำรวจเดินสวนขึ้น ๓ กอง กองหนึ่งออกเดินสวนทางฝั่งเหนือ กองหนึ่งออกเดินสวนทางฝั่งใต้ กองที่สามออกเดินสวนในเขตจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม นครไชยศรี สาครบุรี (สมุทรสาคร)

อัตราการเก็บอากรมีดังนี้

หมาก

หมากเอก สูง ๓-๔ วา ต้นละ ๕๐ เบี้ย ร้อยต้น ๓ สลึง ๒๐๐ เบี้ย

หมากโท สูง ๕-๖ วา ต้นละ ๔๐ เบี้ย ร้อยต้น ๒ สลึงเฟื้อง

หมากตรี สูง ๗-๘ วา ต้นละ ๓๐ เบี้ย ร้อยต้น ๑ สลึงเฟื้อง ๖๐๐ เบี้ย

หมากผการาย (ออกดอกประปราย)๑๑๙ ต้นละ ๔๐ เบี้ย ร้อยต้น ๒ สลึงเฟื้อง

หมากกระรอก ต้นละ ๑๑ ผล

มะพร้าว

มะพร้าวเล็กตั้งปล้องสูงศอกหนึ่งขึ้นไป ต้นละ ๕๐ เบี้ย

มะพร้าวใหญ่สูง ๘ ศอกขึ้นไป ต้นละ ๑๐๐ เบี้ย ๘ ต้นเฟื้อง ถ้ามีน้ำมันต้องแบ่งถวาย

มะพร้าวมูลสี, นาฬิเก, หกสิบบาท เป็นของสำหรับทูลเกล้าถวาย จึงไม่เสียอากร!

พลู

พลูค้างทองหลาง (ค้างพลูทำด้วยไม้ทองหลาง) สูง ๗-๘ ศอกขึ้นไป ๔ ค้าง ๑ เฟื้อง ร้อยค้าง ๓ บาท ๑ เฟื้อง

ทุเรียน, มะม่วง

วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนขึ้นไปเพียงตาแล้วโอบรอบได้ ๑ รอบกับ ๓ กำ นับเป็นใหญ่ทุเรียนต้นละ ๑ บาท มะม่วงต้นละเฟื้อง

มังคุด, ลางสาด

วัดแต่โคนต้นสูงขึ้นไปสองศอกคืบ นั่งยองๆ เพียงตาโอบรอบได้ ๑ รอบกับ ๒ กำ เรียกต้นละเฟื้อง

มะปราง

วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนเพียงตาโอบรอบได้ ๑ รอบ ๓ กำ เรียกต้นละ ๒ เฟื้อง ส่วนไม้ที่ต่ำกว่าขนาดยกอากรให้ปี หนึ่ง จะเก็บในปีต่อไป

นอกจากจะต้องเสียอากรค่าต้นไม้แล้ว เจ้าของสวนยังต้องเสียเงินจุกจิกยุบยับอีกไม่รู้จักแล้วจักรอด เช่นจะต้องตั้งพิธีทำบายศรีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่สำรับหนึ่ง กรุงพาลีสำรับหนึ่ง อันเป็นข้อบังคับให้ต้องทำ ค่าใช้จ่าย ดังนี้

หัวหมู ๑ คู่ ๑.๒๕ บาท
เสื่ออ่อน ๑ ผืน ๐.๑๒ บาท
ผ้าขาว ๑ ผืน ๐.๓๗ บาท
ขันรองเชือกรังวัดและ
ทำน้ำมนต์ประพรมสวน
๐.๑๒ บาท
ค่ารังวัดหัวเชือก ๐.๒๕ บาท
หางเชือก ๐.๑๒ บาท
รวมทั้งสิ้น ๒.๓๕ บาท

ทางฝ่ายเจ้าของสวนเมื่อมาเห็นการตั้งพิธีพะรุงพะรังเข้าก็เลยเข้าใจไปเลยว่าในหลวงท่านกรุณาส่งคนมาทำน้ำมนต์พรมสวนให้ได้ผลดี เลยดีอกดีใจลืมนึกไปว่าเขามาเก็บภาษีอากร พวกข้าหลวงก็เป็นตัวแทนที่เก็บอากรไปด้วยลำเลิกบุญคุณไปด้วย

สิ่งที่เจ้าของสวนจะต้องเสียอีกก็คือถ้าสวนใดได้ทำการเดินสวนมาแล้วครบ ๕ ครั้ง จะต้องจ่ายเงินให้แก่ข้าหลวงอีกสวนละเฟื้อง และต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้อีกสวนละสองสลึง เป็นอันว่าโดนเข้าอีกสวนละสามสลึงเฟื้อง

อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนเจ้าของสวนจะต้องเสียก็คือเมื่อข้าหลวงออกมาเดินสวน จะต้องนำเอาโฉนดเก่าออกมาสอบทานยืนยัน แล้วรับเอาโฉนดใหม่ไป ในการนี้ จะต้องเสียเงินค่าโฉนดอีกใบละ ๑ บาท ๒ สลึง

ท้ายที่สุดก็คือการผูกขาดซื้อแก่นไม้ ๓ จำพวก กล่าวคือไม้มะเกลือซึ่งเป็นไม้ดำ, ไม้ละมุดสีดาอันเป็นไม้แดงเนื้อละเอียด และไม้จันทน์ซึ่งเป็นไม้เนื้อขาวละเอียด เจ้าของจะโค่นจะฟันต้องมาแจ้งให้ข้าหลวงรับรู้แล้วขนไม้มาทูลเกล้าฯ เมื่อโค่นแล้วก็ต้องปลูกซ่อมแซมขึ้นใหม่ตามข้อบังคับ

อากรสวนนั้นยังมีวิธีเก็บอีกอย่างหนึ่งคือ เก็บโดยวัดพื้นที่เป็นไร่ เช่น สวนจากเสียอากรไร่ละเฟื้อง สวนแบบนี้มีเจ้าพนักงานออกเดินสำรวจที่ดินเป็นครั้งคราวเช่นกัน สรุปว่าอากรสวนในสมัย ร.๔ ได้ปีละ ๕,๕๔๕,๐๐๐ บาท

"อากรค่าน้ำ" อากรค่าน้ำ ก็คืออากรที่เก็บจากการจับปลาในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง และทะเล มีทั้งอากรค่าน้ำจืด และนํ้ำเค็ม วิธีเก็บอากรค่าน้ำนี้ มักใช้วิธีให้คนผูกขาดเก็บภาษีรับไปทำ กษัตริย์ออกกฏหมายตั้งอัตราเก็บภาษีอากรไว้เป็นมาตรฐานตามชนิดของเครื่องมือทำมาหากิน เช่น โพงพางน้ำจืดโพงพางละ ๑๒ บาท เรือแพพานลำละ ๑๐ บาท เรือแหโปงลำละ ๖ บาท เรือแหทอดลำละ ๑ บาท เก็บดะไปทุกชนิดมีรายการยืดยาวจนถึงสวิงกุ้งสวิงปลาคนละ ๑๒ สตางค์ ฉมวกคนละ ๑๒ สตางค์ เบ็ดราวคนละ ๕๐ สตางค์ เบ็ดธรรมดา ๑๐๐ คัน ๕๐ สตางค์ พวกที่มารับทำการผูกขาดเก็บภาษีก็จะยื่นจำนวนเงินประมูลกันใครให้เงินมากก็ได้สัมปทานไปทำ เช่นในรัชกาลที่ ๔ พระศรีชัยบานขอผูกขาดเก็บภาษีในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ๓๗ เมืองกับ ๘ ตำบล โดยให้เงินประมูล ๓๗๐ ชั่ง (๒๙,๖๐๐ บาท) ต่อปี พระศรีชัยบานยื่นเงินประมูล ๒๙,๖๐๐ บาท โดยสัญญาว่าจะส่งเงินไปถวายพวกเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ดังนี้ :

(๑) ถวายพระคลังมหาสมบัติ ๓๑๔ ชั่ง
(๒) ถวายพระคลังเดิม (ส่วนตัว) ๒๐ ชั่ง
(๓) ถวายวังหน้า ๓๐ ชั่ง
(๔) ถวายกรมสมเด็จพระเดชาดิศร

๑๐
ชั่ง,
ตำลึง
(๕) ถวายกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ชั่ง
(๖) ถวายกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ชั่ง
(๗) ถวายกรมหลวงภูวเนตรรินทรฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง
(๘) ถวายกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ชั่ง
(๙) ถวายกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง
(๑๐) ถวายพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง
รวม ๓๗๐ ชั่ง

(ภายหลังอากรค่าน้ำขยับสูงขึ้นจนถึง ๗๐,๐๐๐ บาท)

เมื่อได้ยื่นเงินประมูลและเงื่อนไขที่จะถวายเงินอย่างทั่วถึงในหมู่ชนชั้นศักดินาที่สำคัญๆ ขึ้นมาแล้วผู้ที่มีส่วนผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และที่มีอำนาจในแผ่นดินก็ปรึกษาหารือกัน ในที่สุดก็ :

"ปรึกษาพร้อมกันว่า.........ซึ่งราษฎรทำการปาณาติบาตหาผลประโยชน์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพจะไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำนั้นเห็นว่าเหมือนหนึ่งยินดีด้วยคนทำปาณาปาติบาตหาควรไม่ ซึ่งพระศรีชัยบานทํำเรื่องราวมาว่าจะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำนั้นก็ชอบอยู่แล้ว..."๑๒๐

เป็นอันว่าการที่ประชาชนตกเบ็ดตกปลากินนั้นเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถ้าไม่เก็บภาษีอากรก็จะกลายเป็นเข้าด้วยพวกทำบาปมิจฉาชีพจึงต้องเก็บภาษีอากรเสียให้เข็ด!!! นี่คือเหตุผลในการที่จะอ้างอิงเอาศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดของชนชั้นศักดินา!

เรื่องของอากรค่าน้ำนี้เป็นเรื่องสนุก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เคยเก็บอากรค่าน้ำโดยการผูกขาด มีรายได้ปีละกว่า ๗๐๐ ชั่ง (๕๖,๐๐๐ บาท) ต่อมาได้เพิ่มภาษีขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง จึงลดอากรค่าน้ำลงเหลือ ๔๐๐ ชั่ง (๓๒,๐๐๐ บาท) และต่อมาเลิกหมดเลยไม่เก็บ สาเหตุที่เลิกนั้น มิใช่อยากจะช่วยเหลือแบ่งเบาแอกภาษีจากบ่าของราษฎร หากเป็นเพราะรัชกาลที่ ๓ ธรรมะธัมโมจัดหน่อยเห็นว่าการจับปลาเป็นมิจฉาชีพทำปาณาปาติบาทจึงไม่เก็บ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ ต้องลดอากรค่านาลงดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงต้องขวนขวายหาทางเก็บภาษีอากรใหม่ ในที่สุดก็มาลงเอยที่จะเก็บอากรค่าน้ำ กะว่าจะเก็บปีละกว่า ๔๐๐ ชั่ง รายได้จริงตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์สำรวจ ปรากฏว่าในรัชกาลที่ ๔ ได้อากรค่าน้ำถึง ๗๐,๐๐๐ บาท ครั้นจะประกาศเก็บเอาดื้อๆ ก็เกรงจะไม่แนบเนียน ผู้คนจะนินทาว่าเก็บแต่ภาษีไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนสักนิด รัชกาลที่ ๔ จึงออกประกาศอ้างว่า การที่รัชกาลที่ ๓ เลิกเก็บอากรค่าน้ำนั้นถึงเลิกแล้ว "ก็ไม่เป็นคุณอันใดแก่สัตว์เดรัจฉาน สมดังพระราชประสงค์ และไม่ได้มาเป็นคุณเกื้อกูลหนุนแก่พระพุทธศาสนาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นคุณแก่ราชการแผ่นดินเลย" (ประชุมประกาศ ร.๔ ภาค ๓ ประกาศ พ.ศ. ๒๓๙๙) และยังว่าต่อไปอีกว่า "และพวกที่หาปลาได้รับผลประโยชน์ยกภาษีอากรที่ตัวควรจะต้องเสียปีละเจ็ดร้อยชั่งเศษทุกปีนั้น... ก็ไม่ได้มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในหลวงให้ปรากฏเห็นประจักษ์เฉพาะแต่เหตุนั้นสักอย่างหนึ่งเลย" ฉะนั้นจึง "ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่าอากรค่าน้ำซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เลิกเสีย ไม่เป็นคุณประโยชน์อันใดแก่สัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นคุณความเจริญแก่พระพุทธศาสนา..." ถ้าแม้ไม่เก็บ "ซ้ำ" จะตกที่นั่งเป็นคนมีบาปที่เป็นใจให้พวกมิจฉาทิฐิทำปาณาปาติบาต จึงต้องเก็บค่าน้ำใหม่ในแผ่นดินนี้ และเหตุนี้ จึงได้ตั้งพระศรีชัยบานเป็นเจ้าภาษี!

คราวนี้ผู้ที่ทำการผูกขาดการเก็บภาษีซึ่งเรียกว่า "เจ้าภาษี" ก็มีสิทธิแต่งตั้งคนของตนเป็น "นายอากร" คอยเก็บอากรแก่ชาวประมงในเขตต่างๆ แบ่งเป็นหลายๆ เขต พวกนายอากรก็คอยเร่งรัดเก็บภาษีด้วยอำนาจบ้าง เรียกภาษีเกินพิกัดอัตราบ้าง พวกประชาชนที่ทำการจับปลาก็ต้องเดือดร้อนกันไปตามเพลง ชนชั้นศักดินาก็คอยแต่จะนั่งเสวยบุญกินอากรของพวกมิจฉาชีพไปตามสบาย

"อากรสุรา" นอกจากภาษีอากรหลักๆ คืออากรค่านาหางข้าว อากรสวนใหญ่ อากรค่าน้ำ สามประเภทนี้ แล้วยังมีภาษีอากรอีกมากมายหลายอย่าง เช่น อากรสุรา รายได้จากอากรประเภทนี้สูงมาแต่โบราณ ในสมัยพระนารายณ์เก็บเทละ ๑ บาท ถ้าเมืองใดไม่มีเตาต้มกลั่นเหล้าผูกขาดภาษี ประชาชนก็ต้องต้มกันเองตามอำเภอใจ ในหลวงเรียกเก็บอากรสุราเรียงตัวคน (ชายฉกรรจ์) คนละ ๑ บาทรวด รายได้จากอากรสุราสูงมากมาแต่ไหนแต่ไร ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตามการสำรวจของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ภาษีสุราสูงถึง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาในสมัยศักดินาของการปฏิวัติของชนชั้นกลาง พ.ศ. ๒๔๗๕ อากรประเภทนี้สูงนับจำนวนสิบๆ ล้านบาท (พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ ๑๑,๙๒๙,๕๕๑ บาท ๖๒ สตางค์)

"อากรโสเภณี" อากรที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ลาลูแบร์จดไว้ว่าเพิ่งเริ่มตั้งขึ้นเมื่อครั้งพระนารายณ์ก็คืออากรโสเภณี โดยอนุญาตให้ออกญาแบนตั้งโรงหญิงนครโสเภณีขึ้น โสเภณีที่กล่าวถึงนี้เดิมก็คงจะมีอยู่แล้วนมนาน แต่กษัตริย์เห็นว่ามีรายได้ดี ลูกค้ามาก จึงคิดเก็บตั้งโรงโสเภณีผูกขาดขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ในหนังสือจดหมายเหตุเก่าว่าด้วยภูมิสถานเมืองนครศรีอยุธยามีจดไว้ว่าพวกผู้หญิงโสเภณีอยู่ในย่านที่เรียกว่า "สำเพ็ง"๑๒๑ เมื่อย้ายกรุงลงมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังยืมเอามาเรียกย่านหญิงโสเภณีว่าสำเพ็งอยู่อีกนาน (สำเพ็งในสมัยนั้นจึงมีความหมายไม่ค่อยดี พวกพ่อแม่ที่ด่าลูกว่า "อีดอกสำเพ็ง" ก็มาจากสภาพชีวิตเช่นนี้เอง)

อาชีพโสเภณีในยุคศักดินาก็มีลักษณะเดียวกับในยุคทุนนิยมกล่าวคือมีสตรีที่ทนต่อสภาพความอดอยากยากแค้นไม่ได้ต้องขายตัวกันมากมาย ยิ่งในสมัยที่พวกชาวยุโรปเข้ามาค้าขายในกรุงฯ พวกนี้จ่ายเงินไม่อั้น จึงเป็นการยั่วยุให้ผู้หญิงที่หาทางออกของชีวิตไม่ได้หันมายึดอาชีพนี้กันมากขึ้น ในปลายสมัยอยุธยาผู้หญิงที่เคราะห์ร้ายต้องกัดฟันหลับหูหลับตาขายตัวกับพวกชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจนเลื่องลือ ฝ่ายศักดินาก็มิได้มองหาทางแก้ไข เพราะเห็นว่าเป็น "สันดาน" อันร่านของผู้หญิงเอง คงคอยเก็บแต่ภาษี พวกที่ทนภาษีไม่ไหวก็ลักลอบขายตัวกันลับๆ เป็นครั้งคราว รัฐบาลศักดินาเห็นว่าทำให้ตนเสียผลประโยชน์ จึงออกพระราชกำหนดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๖ มีความว่า "แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ไทย มอญ ลาว ลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วย แขก ฝรั่ง อังกฤษ คุลา มลายู ซึ่งถือเป็นฝ่ายมิจฉาทิฐิ (พวกนอกศาสนาพุทธ) เพื่อจะมิให้ฝูงทวยราษฎร์ไปสู่อบายทุกข์... ถ้าผู้ใดมิฟังลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วยผู้ถือมิจฉาทิฐิ พิจารณาสืบสาวจับได้...เป็นโทษถึงสิ้นชีวิต ฝ่ายพ่อแม่ญาติพี่น้องซึ่งมิได้กำชับห้ามปรามเป็นโทษด้วยตามใกล้แลไกล" (พระราชกำหนดเก่า ๕๕)

เป็นอันว่าถ้าเป็นโสเภณีซ่องเสพกับไทยด้วยกันเป็นของถูกต้องดีอยู่แล้วไม่ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิผิดหลักศาสนา เพราะเป็นพุทธด้วยกัน!

รัฐบาลศักดินาได้ผลประโยชน์จากภาษีโสเภณี ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินมิใช่น้อยตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ ปรากฎว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ เก็บภาษีโสเภณีได้ถึงปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท

"อากรฝิ่น" อากรฝิ่นนี้เป็นอากรใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ จำนวนอากรที่ได้รับจากการผูกขาดของเจ้าภาษีนั้นปี หนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินถึง ๒,๐๐๐ ชั่ง (๑๖๐,๐๐๐ บาท) ถ้าเป็นปีอธิกมาส (มี ๑๓ เดือน คือมีเดือน ๘ สองหน) ให้เพิ่มภาษีขึ้นอีก ๑๖๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ตามการสำรวจของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ภาษีฝิ่นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นสูงไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี นับว่าเป็นภาษีอากรจำนวนมหึมาทีเดียว (ตำนานภาษีอากรบางอย่างในลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๖)

เรื่องของภาษีฝิ่นนี้น่าขำ เดิมทีเดียวในเมืองไทยห้ามสูบฝิ่นเด็ดขาด เมื่อรัชกาลที่ ๒ เคยออกประกาศห้ามสูบฝิ่นมาครั้งหนึ่ง ลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๓ ปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๕๔) ใครสูบฝิ่นจับได้ "พิจารณาเป็นสัตย์ จะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน ๓ ยก ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน ริบราชบาตรบุตรภรรยาและทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าวจะให้ลงอาญาเฆี่ยน ๖๐ ที" มิหนำซ้ำยังได้ตั้งนรกขุมใหม่คือนรกฝิ่นขึ้นอ้างขู่ประชาชนอีกด้วยว่า "ครั้นตายไปตกมหาดาบนรก นายนิริยบาล (คือยมบาล) ลงทัณฑกรรมกระทำโทษต้องทนทุกข์เวทนาโดยสาหัสที่สุดมิได้ ครั้นพ้นจากดาบนรกแล้วก็ต้องไปเป็นเปรตวิสัยมีควันไฟพุ่งออกมาจากทางปากจมูกเป็นนิจ"๑๒๒

แต่มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กำลังต้องการเงิน เพราะมีสนมกรมในและลูกเธอมากต้องปลูกสร้างวัดสร้างสวนที่นาไว้ให้ เงินทองไม่พอใช้ จึงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องนรกจกเปรตอะไรที่อ้างไว้นั้นเสีย แล้วอนุญาตให้ตั้งภาษีฝิ่นมีเจ้าภาษีผูกขาดกันขึ้น จนในที่สุดได้มาตั้งเป็นกรมดำเนินการโดยรัฐบาลศักดินาเองในสมัยรัชกาลที่ ๖

"อากรบ่อนเบี้ย" อากรนี้มีมาโบรมโบราณเต็มทีลักษณะของมันก็คือให้มีการประมูลตั้งบ่อนการพนันขึ้นตามหัวเมืองและตำบลต่างๆ เปิดให้ประชาชนเข้าเล่นการพนันได้อย่างเสรี (แบบเดียวกับบ่อนคาสิโนของรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ผู้ผูกขาดทำภาษีเปิดบ่อนเบี้ยได้รับตำแหน่งเป็นขุนพัฒนสมบัติทุกคน ซ้ำมีศักดินา ๔๐๐ ไร่อีกด้วย การพนันที่เล่นกันข้างในบ่อนมีอยู่สามอย่าง คือ ถั่ว ๑ กำตัด ๑ และไพ่งา ๑ ต่อมาในชั้นหลังเปลี่ยนเป็นถั่ว, โปกำ และโปปั่น

การทำอากรบ่อนเบี้ยเป็นรายได้ชั้นหัวใจอย่างหนึ่งของรัฐบาลศักดินา ทั้งนี้ เพราะการละเลยไม่ช่วยพัฒนาการผลิตทางเกษตร ปล่อยให้การเกษตรล้าหลังทำให้รายได้ของประชาชนทางเกษตรต่ำลงจนถึงไม่พอเลี้ยงชีวิต ต้องขายตัวเป็นทาสกันชุกชุม และผลสะท้อนก็คือรายได้ของรัฐต่ำลงฮวบฮาบเสมอ ทางเดียวที่รัฐบาลศักดินาจะใช้แก้ไขเพื่อหาเงินก็คือเปิดบ่อนการพนันเพื่อขูดรีดประชาชนผู้หมดหนทางออกกระเซอะกระเซิงเข้ามาเล่นเบี้ย การเล่นเบี้ยทำให้รัฐบาลแก้ไขการไม่มีงบประมาณเพียงพอไปได้ชั่วระยะหนึ่งๆ แต่ปัญหาขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจหาได้ดีขึ้นไม่ แต่รัฐบาลศักดินาก็พอใจในการแก้ปัญหาแบบปัดสวะให้พ้นท่าเช่นนั้น ได้เปิดบ่อนเบี้ยขึ้นทั่วประเทศ การขูดรีดจึงเป็นไปอย่างหนักหน่วงและทั่วถึง ตามสถิติในพ.ศ. ๒๔๓๑ ปรากฏว่ามีบ่อยเบี้ยในกรุงเทพฯ ถึง ๔๐๓ บ่อน บ่อนใหญ่ ๑๒๖ บ่อนเล็ก ๒๗๗ ตั้งอยู่อย่างทั่วถึงทุกตำบล

ตามสถิติจำนวนบ่อนเบี้ยใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ปรากฏว่าในหัวเมืองต่างๆ มีจำนวนบ่อนเบี้ยดังนี้ :

มณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) ๗๑ ตำบล
มณฑลนครไชยศรี ๑๘ ตำบล
มณฑลนครสวรรค์ ๒๖ ตำบล
มณฑลพิษณุโลก ๑๕ ตำบล
มณฑลปราจีน ๓๓ ตำบล
มณฑลนครราชสีมา ๑๑ ตำบล
มณฑลจันทบุรี ๒๖ ตำบล

มณฑลนครศรีธรรมราช, มณฑลชุมพร, มณฑลราชบุรี, มณฑลภูเก็ต, มณฑลบูรพา (เขมรใน) และมณฑลอุดรหาสถิติไม่ได้

รายได้จากอากรบ่อนเบี้ยตั้งแต่สมัยอยุธยาเห็นจะเป็นจำนวนหลายแสนบาท เพราะเพียงอากรที่มีผู้ขอทำในเมืองราชบุรี, สมุทรสงคราม และสมุทรปราการเพียง ๓ เมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ ก็ตกเข้าไปถึง ๒๙,๖๘๐ บาท ต่อปีแล้ว

รายได้จากอากรบ่อนเบี้ยในสมัยรัตนโกสินทร์ตามที่จอห์น ครอเฟิด ทูตอังกฤษจดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ว่ามีจำนวน ๒๖๐,๐๐๐ บาท

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ อากรบ่อนเบี้ยขยับสูงขึ้นเป็น ๔๐๐,๐๐๐ บาท พอถึงรัชกาลที่ ๔ เพิ่มขึ้นเป็นราว ๕๐๐,๐๐๐ บาท ตกถึงรัชกาลที่ ๕ อากรบ่อนเบี้ยเพิ่มขึ้นจนเป็ นอากรประเภทเงินมากอย่างหนึ่ง แต่ในระยะนั้นรัชกาลที่ ๕ ได้ปรับปรุงวิธีการเก็บภาษีอากรให้มีระเบียบได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น โดยตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ (๒๔๑๘) จึงคิดหาทางเลิกอากรบ่อนเบี้ย เพราะตระหนักว่าการหมกมุ่นเล่นเบี้ยทำให้ผลประโยชน์ของประเทศในด้านอื่นเสียหายไปมากมาย ในสมัยนั้นจึงยุบบ่อนเบี้ยลงเรื่อยเป็นระยะๆ จนในที่สุดเหลือเพียง ๕ ตำบลในกรุงเทพฯ บ่อนเบี้ยเพียง ๕ แห่งนี้ ยังทำเงินให้ถึงปีละ ๖,๗๕๕,๒๗๖ บาท (พ.ศ. ๒๔๕๙) จนในที่สุดมาเลิกลงเด็ดขาดใน พ.ศ. ๒๔๖๐

"อากรหวย ก.ข." อากรหวยเริ่มเมื่อรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ สาเหตุที่จะตั้งการเล่นหวย ก.ข. นั้นเนื่องมาจากเกิดเหตุทุพภิกขภัยสองปีซ้อนกันคือ พ.ศ. ๒๓๗๔ น้ำมากข้าวล่ม พ.ศ. ๒๓๗๕ น้ำน้อยข้าวไม่งาม พวกศักดินาได้พยายามทำพิธีไล่น้ำ (ให้ลด) ก็แล้ว ได้ตั้งพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) ก็แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล หงายหลังไปทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ ผลจึงปรากฏว่า "ข้าวแพงต้องซื้อข้าวต่างประเทศเข้ามาจ่ายขายคนก็ไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องมารับจ้างทำงานคิดเอาข้าวเป็นค่าจ้าง เจ้าภาษีอากรก็ไม่มีเงินจะส่ง ต้องเอาสินค้าใช้ค่าเงินหลวง ที่สุดจนจีนผูกปี้ก็ไม่มีเงินจะให้ ต้องเข้ามารับทำงานในกรุง" (พระนิพนธ์รัชกาลที่ ๔) เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลศักดินาก็เดือดร้อน คิดไปคิดมาก็คิดไม่ตกว่า ทำไมเงินไม่มี ทำไมไม่มีเงินเข้าคลัง ชักสงสัยว่า "เงินตราบัว เงินตราครุฑ เงินตราปราสาทได้ทำใช้ออกไปก็มาก หายไปเสียหมด" รัฐบาลศักดินาลืมนึกไปว่า ปกติชาวนาปลูกข้าว เอาข้าวมาขายได้เงินไปใช้ชั่วปี หนึ่งๆ บางทีหรือส่วนมากก็มักไม่พอใช้ เมื่อตัวเองทำข้าวไม่ได้จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าวกิน มีทางเดียวก็คือทิ้งที่นามารับจ้างทำงานในกรุง ทุกคนเข้ามาแต่มือ หิ้วท้องมาด้วยท้องหนึ่ง เวลารับจ้างก็ขอค่าจ้างเป็นข้าว ไม่รับค่าจ้างเป็นเงิน ทั้งนี้ เพราะข้าวหายาก แพง ซื้อยาก พอดีพอร้ายได้เงินไปแล้ว เงินก็ไม่มีค่าหาซื้อข้าวไม่ได้ หรือได้ก็แพงเสียจนซื้อได้ไม่ พอกิน เงินที่หายไปก็อยู่ที่พวกพ่อค้าข้าวที่ซื้อข้าวเข้ามาขายกักตุนไว้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ไหลออกไปนอกประเทศเพื่อซื้อข้าวเขากิน แล้วจะให้ประชาชนเอาเงินมาจากไหน?

รัฐบาลศักดินาเดือดร้อนเรื่องเงินไม่เข้าคลังมากแต่แทนที่จะช่วยเหลือให้ชาวนาผลิตสิ่งที่มีคุณค่า (คือข้าว) ออกมา จะได้มีเงินใช้ทั่วกันทั้งชาวนาและตัวเอง รัฐบาลศักดินากลับมองหาทางหมุนเงินคือคิดสะระตะว่าทำยังไงจึงจะดึงเอาเงินในมือพวกพ่อค้ามั่งคั่งมาใช้ได้หนอ ที่จริงรัฐบาลศักดินาคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าเงินตกอยู่ในมือของพ่อค้าหมุนเงินสองสามคน ไพล่ไปคิดว่า "เงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎรเก็บฝังดินไว้มากไม่เอาออกใช้" คือกลับเห็นไปว่าราษฎรรักเงิน เอาเงินฝังดินไม่ยอมขุดขึ้นมาซื้อข้าวกิน ยอมตายเพราะเสียดายเงิน!

เมื่อคิดเห็นไปเช่นนี้ ก็ตั้งหวย ก.ข. ขึ้น ในปี แรกได้อากร ๒๐,๐๐๐ บาท พวกประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากก็หันเหเข้าหาอาจารย์บอกใบ้หวยหวังรวยกันยกใหญ่ แทงหวยกันทุกวัน คนละเฟื้องคนละสลึง แทงทุกวันยิ่งเล่นประชาชนก็ยิ่งจนลงทุกวัน ผู้ผูกขาดภาษีกับรัฐบาลก็รวยขึ้นเท่าๆ กับที่ประชาชนจนลง อลัชชีฉวยโอกาสก็มอมเมาเป่าเสกบอกหวยเสียจนประชาชนงอมพระรามไปตามๆ กัน การเล่นหวยระบาดไปจนเสียกระทั่ง "พอถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มีคนเข้ามากรุงเทพฯ มากมายหลายร้อยหลายพัน มาทั้งทางรถไฟแลทางเรือ ถึงเพลาค่ำลงคนแน่นท้องถนน ตั้งแต่หน้าโรงหวยสามยอดไปจนในถนนเจริญกรุงทุกปี"๑๒๓ ที่พากันลงมากันมากมายนั้นก็เพื่อมาแทงหวย เพราะหวยมีแต่ในมณฑลกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น ๓๘ แขวง (เคยออกไปตั้งที่เพชรบุรีและอยุธยา เล่นเอาคนจนกรอบไปทั้งสองเมือง ภายหลังจึงต้องเลิก)

รัฐบาลศักดินาได้รายได้จากการเก็บอากรหวย ก.ข. นี้เป็นจำนวนมากมายทุกปี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ปีละราว ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในรัชกาลที่ ๕ เงินอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ยรวมกันได้ถึงปี ละ ๙,๑๗๐,๖๓๕ บาท ภายหลังแม้จะเลิกบ่อนเบี้ยไปมากแล้ว อากรทั้ง ๒ อย่างก็ยังรวมกันเป็นจำนวนถึง ๖,๖๐๐,๐๐๐ บาท (พ.ศ. ๒๔๕๘) เฉพาะอากรหวยอย่างเดียวในปีท้ายสุดก่อนเลิกยังได้ถึง ๓,๔๒๐,๐๐๐ บาท (หวย ก.ข. เลิก พ.ศ. ๒๔๕๙)

นอกจากภาษีอากรที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอากรใหญ่น้อยอีกหลายสิบอย่าง มีรายการยืดยาว เป็ต้นว่า ภาษีกระทะ, ภาษีไต้ชัน, ภาษีพริกไทย, ภาษีเขาควาย ฯลฯ ขอสรุปว่าในรัชกาลที่ ๓ มีภาษีตั้งใหม่ทั้งสิ้น ๓๘ อย่าง ถึงรัชกาลที่ ๔ มีเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๕๒ อย่าง (ผู้สนใจเชิญดูรายละเอียดใน ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๖ ตำนานภาษีอากรบางอย่าง" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

การผูกขาดภาษี

การเก็บอากรต่างๆ ก็ดี การเก็บจังกอบจากสินค้าก็ดี ในสมัยหลังๆ นี้ ได้เริ่มมีการผูกขาดกันขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง "ชนชั้นศักดินาผู้ทำการผูกขาดการค้าภายนอก" กับ "ชนชั้นกลาง (ซึ่งกำลังเติบโต) ผู้ทำการผูกขาดการค้าภายใน" การขูดรีดจึงได้งอกเงยจากการขูดรีดภาษีเพียงชั้นเดียวจากชนชั้นศักดินา กลายมาเป็นการขูดรีดสองชั้น โดยการร่วมมือของชนชั้นกลาง

การผูกขาดภาษีนี้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากเพราะมิได้จำกัดวงอยู่แต่เพียงอย่างสองอย่าง หลังจากรัชกาลที่ ๓ ลงมาเกิดการผูกขาดภาษีขึ้นมากมายหลายประเภท รัชกาลที่ ๓ กำลังตั้งหน้าตั้งตาสร้างวัดวาอารามอย่างขนานใหญ่ เงินทองกำลังเป็นสิ่งที่ต้องการ จึงได้ยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขในการผูกขาดภาษีของพวกชนชั้นกลางอย่างดีอกดีใจเสมอมา พวกชนชั้นกลางหรือนักผูกขาดก็คอยจ้อง พอเห็นของชนิดใดเกิดมีขึ้นพอจะเป็นสินค้าซื้อขายกันได้ พวกนักผูกขาดพวกนี้ ก็จะพากันเดินเรื่องราวเข้าเส้นนอกออกเส้นใน ขอผูกขาดเก็บภาษีส่งหลวง โดยตั้งราคาให้ปีละเท่านั้นเท่านี้ ยิ่งกว่านั้นพวกเดินเรื่องขอผูกขาดนี้จะต้องจับเส้นถูกว่าใครบ้างกำลังมีอำนาจ ใครบ้างที่กำลังเป็นเสือนอนกิน เมื่อสืบรู้ได้แล้วก็จะเสนอเงื่อนไขที่แบ่งผลประโยชน์ให้แก่ผู้ยิ่งใหญ่เสือนอนกินทุกคนอย่างทั่วถึงมากบ้างน้อยบ้างตามขนาดของอิทธิพล (ดังที่ได้เล่ามาแล้วในตอนที่ว่าด้วยอากรค่าน้ำ) เมื่อทางฝ่ายศักดินาอนุญาตยอมรับเงื่อนไขผลประโยชน์ เจ้าภาษีก็แต่งตั้งนายอากรขึ้นทำการเก็บภาษี "ส่วนที่จัดเก็บอยู่แล้วเมื่อต้องแย่งกันประมูลส่งเงินหลวงเป็นจำนวนมาก ก็หาทางเก็บนอกเหนือพิกัดอัตราที่กำหนดไว้ และบังคับปรับไหมลงเอาแก่ราษฎร เกิดเป็นถ้อยความวิวาทชกตีและทุ่มเถียงกันเป็นคดีขึ้นโรงศาลอยู่บ่อยๆ เช่น ผูกอากรค่าน้ำ ก็ส่งคนไปเก็บตามครัวเรือน เมื่อมีเครื่องดักสัตว์จับปลาก็เรียกเก็บภาษีเอาจากเครื่องเหล่านั้น เพียงเท่านี้ก็พอทำเนา เพราะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตราตั้ง แต่ที่เรียกเก็บเอาจากครัวเรือนซึ่งไม่มีเครื่องดักจับสัตว์น้ำนี้เต็มที โดยออกอุบายว่า ถึงไม่ได้จับสัตว์น้ำ แต่ก็กินน้ำด้วยหรือเปล่า ถ้าตอบว่ากิน ก็ว่าแม่น้ำลำคลองเป็นของหลวง เมื่อกินน้ำก็ต้องเสียค่าน้ำ บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเป็น "ค่าน้ำ" ราษฎรที่ไม่รู้อะไรก็ยอมเสียให้ไป"๑๒๔

เล่ห์เหลี่ยมการขูดรีดของพวกนายหน้าผูกขาดนี้ยังมีอีกมากมายหลายวิธี เช่น รับผูกขาดภาษีกล้วย ว่าจะเก็บอากรเป็นกอ แต่เวลาไปเก็บจริง เก็บดะทั้งที่เป็นต้นเดี่ยวยังไม่แตกหน่อออกกอ พอเจ้าของไร่กล้วยร้องค้าน ก็อ่านข้อความตราตั้งให้ฟังว่าเก็บเป็นรายต้น เมื่อพบคนอ่านหนังสือออกเข้าก็มีเรื่องกันเสียที เมื่อถึงคราวเคราะห์เจ้าภาษีก็ยกอากรให้เป็นค่าปิดปากจะได้เงียบไปเสีย

การผูกขาดภาษีนี้ ต่อมาการเป็นการเซ็งลี้สิทธิ์ตราตั้งกันเป็นล่ำเป็นสัน กล่าวคือ "เจ้าภาษีรับทำภาษีแล้วขายช่วงให้ผู้อื่นเป็ นตอนๆ ไป ตามระยะแขวงหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และผู้ที่ซื้อช่วงไปนั้นหาเรียกภาษีตามพิกัดท้องตราไม่ ไปยักย้ายเรียกให้เหลือๆ เกินๆ เอารัดเอาเปรียบแก่ราษฎร ราษฎรที่ไม่ได้รู้พิกัดในท้องตราก็ต้องยอมเสียให้ตามใจผู้เก็บที่รับช่วงไปจากเจ้าภาษีใหญ่" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๗ น.๙๒) ว่าดังนั้นแล้วรัฐบาลศักดินาก็พิมพ์พิกัดอัตราภาษีแจกเป็นการใหญ่ เพื่อกันมิให้เจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีเกินพิกัด ทั้งนี้คงจะลืมนึกไปว่าต้นเหตุใหญ่นั้นมันอยู่ที่ระบบผูกขาดภาษีนั่นต่างหาก แต่อย่างไรก็ดีการพิมพ์พิกัดแจกนั้น ศักดินาถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นอย่างหนึ่ง แต่ใครจะเชื่อได้สักกี่คน เพราะมีความจริงอักอันหนึ่งปรากฏอยู่ คือ :

ในการเก็บภาษีนั้น เจ้าภาษีต่างก็หวังจะให้ได้กำไรมาก จึงใช้อำนาจเกาะกุมเอาตามอำเภอใจ มักเป็นถ้อยเป็นความกับประชาชนผู้ฉลาดรู้เท่าทันหรือผู้ไม่มีเงินจะเสียเนืองๆ พอเป็นความเข้า เจ้าภาษีนายอากรก็ต้องไปศาล ว่าความของตน ทั้งนี้ เพราะในสมัยก่อนนั้นประชาชนธรรมดาจะแต่งทนายว่าความแทนตัวไม่ได้ต้องเป็นขุนนางมียศชั้นขุนถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป จึงจะให้ทนายว่าความแทนตัวได้ พวกศักดินาก็หากินอยู่กับนายหน้าผูกขาดเหล่านี้ จึงต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือดูแลผลประโยชน์ให้ เพราะทั้งคู่ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นก็คือใครที่ผูกขาดภาษีจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนถือศักดินา ๔๐๐ ไร่๑๒๕ เพื่อที่จะได้มีอภิสิทธิ์ว่าจ้างทนายไปว่าความแทนตัวได้ ไม่เสียเวลาออกไปรีดภาษี นี่ย่อมยืนยันให้เห็นว่าชนชั้นศักดินาย่อมใช้สิทธิและอภิสิทธิ์ทั้งปวงเพื่อรับใช้ชนชั้นตนอยู่ตลอดไป

เจ้าภาษีกลายเป็น "นายทุนนายหน้าผูกขาด" (monopoly-comprador capitalist) ที่อาศัยอำนาจของชนชั้นศักดินาหากินขูดรีดประชาชน ขอยกตัวอย่างด้วยภาษีน้ำมันมะพร้าว

โดยปกติราคามะพร้าวตกอยู่ในราวร้อยละ ๕๐ สตางค์ (สองสลึง) หรือถูกหน่อยก็ ๒๗ สตางค์ (สลึงเฟื้อง) เจ้าภาษีขอผูกขาดรับซื้อมะพร้าวแต่ผู้เดียวโดยเข้าถึงสวน ให้ราคาร้อยละ ๖๒ สตางค์ (สองสลึงเฟื้อง) ฟังดูแค่นี้ ก็ทำท่าจะดีมีประโยชน์แก่เจ้าของสวนมะพร้าว เพราะขายได้ราคา แต่เรื่องมันไม่เป็นเช่นนั้น พวกเจ้าภาษีพอไปซื้อมะพร้าวในสวนเข้าจริงๆ ก็ซื้อถูกๆ ให้ราคาไม่ถึงอัตราที่สัญญาไว้กับกษัตริย์ ซ้ำยังเกณฑ์เอามะพร้าวแถมอีกร้อยละ ๒๐-๓๐ ผล ครั้นประชาชนขัดขืนไม่ขาย ก็มีผิดฐานขัดขืนเจ้าภาษี เจ้าภาษีก็ "เที่ยวจับปรับไหมลงเอาเงินกับราษฎร โดยความเท็จบ้างจริงบ้าง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนต่างๆ" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓)

บทบาทที่เจ้าภาษีจะเป็นนายหน้าผูกขาดใหญ่ก็คือ เมื่ออาละวาดซื้อมะพร้าวมาได้ในอัตราร้อยละ ๖๒ สตางค์แล้ว (ซึ่งที่จริงไม่ถึงดังที่กล่าวมา) ก็เอามาขายส่งให้ผู้ที่จะทำน้ำมันมะพร้าวโดยขายเอากำไรเท่าตัว คือขายให้ร้อยละ ๑.๒๕ บาท (ห้าสลึง) พวกพ่อค้าน้ำมันมะพร้าวก็ยอมรับซื้อโดยดี เพราะถ้าไม่ซื้อจากเจ้าภาษีผู้ผูกขาดก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ใคร ที่ยอมซื้อแพงหูฉี่ก็เนื่องด้วย "น้ำมันมะพร้าวเป็นสินค้าใหญ่บรรทุกไปขายต่างประเทศมีกำไรมาก" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓ ฉบับเดียวกับข้างต้น) คราวนี้ในฝ่ายพวกประชาชนที่ต้องซื้อน้ำมันมะพร้าวใช้ก็ต้องซื้อแพงหูฉี่ เพราะเจ้าภาษีทำเอามะพร้าวแพงขึ้นไปตั้งเท่าตัวมาเสียตั้งแต่ในสวน พวกนี้บ่นไปก็มีแต่คนสมน้ำหน้าที่มันขี้เกียจไม่รู้จักปลูกมะพร้าวทำน้ำมันใช้เอง แต่ขืนไปเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวเองก็ถูกเจ้าภาษีปรับถึง ๕๐๐ บาท! ส่วนในหลวงท่านก็ขออภิสิทธิ์ให้สงวนน้ำมันไว้เป็นส่วยส่งขึ้นมาใช้ในราชการคือ ตามไฟในวัดพระแก้วและแจกไปให้วัดต่างๆ ฯลฯ ท่านไม่เดือดร้อน ผู้เดือดร้อนก็คือมหาชนตามเคย, ทำน้ำมันเองไม่ได้ต้องซื้อเขาใช้แพงลิบตลอดชาติ

ความเดือดร้อนในเรื่องมะพร้าวนี้ระอุไปทั่วเมืองจนในที่สุดรัชกาลที่ ๔ จึงต้องเลิกการผูกขาดภาษีมะพร้าวเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ใช้วิธีเก็บใหม่คือ เรียกอากรสามต้นสลึงมะพร้าวต้นหนึ่งได้ผลประมาณ ๓๐ ผล (ไม่ดก) ไปจนถึง ๘๐ ผล (คราวดก) เป็นอย่างสูง คำนวณแล้วโดยเฉลี่ยเจ้าของสวนมะพร้าวต้องเสียภาษีร้อยละ ๒๕

ในตอนท้ายเมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้ตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่ถึง ๑๔ อย่างแล้ว จึงได้เลิกภาษีมะพร้าวโดยเด็ดขาดเพื่อล้างมลทินที่ได้ทำให้ประชาชนอึดอัดมาแต่ก่อน

การผูกขาดภาษีแบบเป็นนายทุนผูกขาดสินค้านี้ ได้ทำกันอย่างทั่วถึง แม้กระทั่งภาษีผักบุ้งซึ่งเป็นเรื่องขำน่ารู้ ดังจะขอเล่าแทรกไว้ในที่นี้ด้วย

"ภาษีผักบุ้ง" เป็นภาษีที่เกิดขึ้นในสมัยปลายอยุธยารัชกาลพระเจ้าเอกทัศ ในรัชกาลนี้บ้านเมืองกำลังเหลวแหลกเต็มที พวกชนชั้นศักดินามัวแต่ "ค่ำเช้าเฝ้าสีซอเข้าแต่หอล่อกามา" ตัวพระเจ้าเอกทัศเองก็ดื่มเหล้าพระเศียรราน้ำ ซ้ำยังเที่ยวซ่องเสพผู้หญิงซุกซนจนเกิดโรคบุรุษ พระเนตรบอดไปข้างหนึ่ง เมื่อใช้เงินทองกันอย่างฟุ่มเฟือยก็ต้องเร่งภาษีเป็นธรรมดา ในที่สุดก็หันมาลงเอยเอาที่ผักบุ้ง ทั้งนี้เพราะประชาชนยากจนกินแต่ผักบุ้งเป็นเดนภาษีนี้นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามเป็นผู้ผูกขาด นายสังผู้นี้เป็นพี่ชายของเจ้าจอมฟักพระสนมเอก ซ้ำน้องสาวของหมออีกคนชื่อปาน ก็ได้เป็นพระสนมด้วย เมื่อมีพี่สาวน้องสาวเป็นพระสนมปิดหัวท้ายเช่นนี้ นายสังก็ผูกขาดรับซื้อผักบุ้งแต่ผู้เดียว ใครมีผักบุ้งจะต้องนำมาขายให้นายสังเจ้าภาษี ถ้าลักลอบไปขายผู้อื่นต้องปรับ ๒๐ บาท นายสังกดราคาซื้อไว้เสียต่ำสุด แล้วนำไปขายราคาแพงลิ่วในท้องตลาด เมื่อประชาชนโดนฝีมือนายทุนนายหน้าผูกขาดเข้าเช่นนี้ ก็พากันเดือดร้อนเพราะเดิมทีก็เดือดร้อนมากอยู่แล้วจนถึงกับต้องหนีมากินผักบุ้ง ครั้นจะหนีไปกินหญ้าเหมือนวัวควายก็กินไม่ได้ พากันร้องทุกข์ขุนนางผู้ใหญ่ พวกขุนนางผู้ใหญ่ต่างคนก็กลัวคอจะหลุดจากบ่าต่างคนต่างก็อุบเอาเรื่องไว้

จนวันหนึ่ง พระเจ้าเอกทัศนอนไม่หลับไม่สบายมาหลายวัน จึงให้หาละคนมาเล่นแก้รำคาญ ในคณะละครนั้นมีศิลปินของประชาชนได้พยายามแทรกปะปนเข้าไปด้วย ๒ คน คือ "นายแทน" กับ "นายมี" จำอวด ทั้งสองคนเล่นเป็นผู้หญิงคนหนึ่งผู้ชายคนหนึ่ง เล่นจับมัดกันเร่งจะเอาเงินค่าราชการ (เงินเก็บกินเปล่ารายปี ปีละ ๑๘ บาท) นายมีตัวจำอวดหญิงจึงแกล้งร้องว่า "จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี" แกล้งร้องอยู่ถึงสามหน พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังเข้าก็เกิดละอายพระทัยเพราะอยู่ต่อหน้าธารกำนัล เลยพาลพาโลจะประหารนายสัง แต่เมื่อนึกถึงพี่สาวน้องสาวนายสังที่เป็นสนมเอกทั้งคู่ก็ค่อยคลายพิโรธสั่งเลิกภาษี และชำระเงินที่นายสังกดขี่ปรับเอามานั้นคืนแก่เจ้าของไป๑๒๖

การผูกขาดภาษีทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ส่วนมากชาวจีนเป็นผู้ผูกขาดแทบทั้งสิ้น เมื่อผูกขาดแล้วก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหมื่นเป็นขุนให้มีศักดินา ๔๐๐ สำหรับจะได้มีอภิสิทธิแต่งทนายว่าความกับไพร่ที่ไม่มีปัญญาเสียภาษีแทนตัวเองได้ การเรียกขานเจ้าภาษีจึงมักมีคำว่าจีนนำหน้า เช่น จีนขุนพัฒนสมบัติ ผูกขาดอากรบ่อนเบี้ย, จีนพระศรีชัยบาน ผูกขาดภาษีค่าน้ำ, จีนหมื่นมธุรสวาณิช ผูกขาดภาษีน้ำตาลกรวด, จีนขุนศรีสมบัติ ผูกขาดภาษีเบ็ดเสร็จ (เก็บจากของลงสำเภา-นี่เป็ นก้าวใหม่ คือ ผูกขาดจังกอบ)

โดยธาตุแท้แล้ว จีนผู้ผูกขาดภาษีเหล่านี้ ก็คือ "นายหน้า" ของศักดินาที่ออกทำการเสาะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ศักดินาและทำการขูดรีดแทนศักดินา และในขณะเดียวกันก็ได้ "ผูกขาด" เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกตนเองอีกด้วย สภาพของจีนพวกนี้ จึงเป็น "นายทุนนายหน้าผูกขาด" ของ "ศักดินาหรือนายทุนขุนนางผูกขาด" หน้าที่ของเขาก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับพวก "นายทุนนายหน้า" (Comprador Capitalist) หรือ "นายทุนขุนนางกึ่งนายหน้า" (Bureaucrat comprador capitalist) ที่เป็นตัวแทนหรือสมุนของ "นายทุนจักรวรรดินิยม" ในปัจจุบัน

การขูดรีดอย่างหนักหน่วงของชนชั้นศักดินาทำให้พวกศักดินาเองเริ่มหวั่นหวาดว่า สักวันหนึ่งประชาชนจะมองเห็นความจริงว่า ผู้ขูดรีดที่แท้จริง หรือต้นตอของการขูดรีดก็คือพวกตน ความหวาดหวั่นนี้ ทำให้พวกศักดินาเริ่มหาทางบิดเบนสายตาของประชาชน นั่นก็คือ คอยออกประกาศเป็นห่วงประชาชน คอยเตือนประชาชนเรื่อยไปว่าระวังนะอย่าเสียภาษีเกินพิกัด ไอ้พวกเจ๊กเจ้าภาษีน่ะมันขี้โกงเอาเปรียบราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ราษฎรคอยระวัง นี่คราวนี้ได้พิมพ์พิกัดภาษีอันถูกต้องตามต้นฉบับหลวงมาแจกให้แล้ว พวกเจ้าจงดูจงจำกันเสีย จะได้ไม่เสียเปรียบไอ้พวกเจ๊กหางเปียมัน หรือไม่เช่นนั้นก็จะออกประกาศนานๆ ครั้ง นานๆ คราวว่า แน่ะเดี๋ยวนี้ไอ้เจ๊กคนนี้มันมาขอทำภาษีพลูอีกอย่างหนึ่งแล้ว ในหลวงเห็นว่าราษฎรจะเดือดร้อนจึงไม่อนุญาต ไอ้พวกนี้มันดีแต่จะขูดรีดเอาเปรียบจะเก็บแต่ภาษี ขอห้ามขาดว่าทีหลังอย่าได้มาร้องขออนุญาตทำภาษีพลูทีเดียวนะ (ประกาศห้ามมิให้ขอทำภาษีพลูรัชกาลที่ ๔)

ประชาชนถูกรีดทั้งภาษีอากร จังกอบ ส่วน ฤชา จนอานอยู่แล้ว นึกเจ็บใจแต่วาสนาตัวเองมาก็นานเต็มที มาในคราวนี้มีผู้อื่นเอาตัวที่เขาจะได้สาปแช่งได้มาให้เห็นเป็นตัวเป็นตน พวกเขาก็รับเอาไว้ทันที แล้วมันก็สมจริงเสียด้วย ไอ้เจ๊กนี่เทียวที่มันขูดรีด ดูซิวานนี้บอกว่าไม่มีเงินเสียภาษี วันนี้มันเอาหมายมาเกาะตัวแล้ว ไอ้หมอนี่ทารุณนัก ใครๆ ก็คิดกันเช่นนี้จนเกิดคติขึ้นทั่วไปว่า พวกเจ๊กทั้งพวกขูดรีดคนไทย ทุกคนต้องเกลียดมัน เจ็บใจมัน ประชาชนในสมัยศักดินาถูกศักดินามอมเมาเสียจนมองไม่เห็นว่าอันที่จริงแล้ว "พวกเจ๊ก" ที่เขาด่าแม่นั้นเป็นเพียง "นายหน้า" ของศักดินาเท่านั้น "ไอ้ตัวหัวเหม่งสำคัญนั้นคือศักดินาต่างหาก!"

พวกศักดินามอมเมาให้คนไทยเกลียด "เจ๊ก" มาแต่โบรมโบราณเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีนไปด้วยถึงกับเขียนไว้ว่า :

"ถึงโรงเจ้าภาษีตีฆ้องดัง ตัวโผนั่งแจ่มแจ้งด้วยแสงเทียน
ไว้หางเปียเมียสาวขาวสล้าง เป็นจีนต่างเมืองมาแต่พาเหียร
ที่ความรู้สิ่งไรมิได้เรียน ยังพากเพียรมาได้ถึงใหญ่โต
เห็นดีแต่วิชาขาหมูใหญ่ เราเป็นไทยนึกมาน่าโมโห
มิได้ทำอากรบ่อนโป มาอดโซสู้กรรมท้ากระไร"

(นิราศพระปฐม ของมหาฤกษ์)

นั่นก็คือเลือดรักชาติไทยชักจะเดือดปุดๆ นี่คือเลือดรักชาติแบบศักดินา และในสมัยต่อมาได้กลายมาเป็น "ชาตินิยมกระฎุมพี" (Bourgeois nationalism)

พวกศักดินาได้โฆษณาให้เกลียดชังจีนนี้อย่างหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ทั้งนี้เพื่อบิดเบนสายตาของประชาชนไปเสียจากตน พวกนี้ไม่ทำอะไรมากไปกว่าชักชวนประชาชนไทยให้เจ็บใจคนจีน ดูซิมันกำเอาการค้าไว้หมดแล้ว พวกเรานับวันจะอดตาย แต่แล้วก็ไม่เห็นทำอะไร นอกจากหลอกลวงให้ประชาชนด่า "เจ๊ก" ไปชั่ววันๆ

รัชกาลที่ ๕ เคยแสดงความแค้นใจเช่นนี้ ไว้ว่า :

"พิเคราะห์ดูคนไทยตามเสียงเล่าฤๅ มันเหมือนพวกลาวเมืองหลวงพระบาง เจ๊กนี้คือข่า ถ้าไม่ได้อาศัยข่าก็ไม่มีอะไรกิน ข่าขัดขึ้นมาครั้งไรก็ตกใจเหลือเกิน ไปหวั่นหวาดย่อท้อให้พวกเจ๊กได้ใจ...น่าน้อยใจจริงๆ"๑๒๗

ถึงสมัย ร.๖ เมื่อกลิ่นอายของประชาธิปไตยกรุ่นขึ้นทั่วไป ร.๖ ก็พยายามระดมให้ประชาชนหันไปเกลียดคนจีนมากขึ้น ชี้ให้ประชาชนเห็นว่าที่ต้องลำบากยากแค้นทุกวันนี้ เป็นเพราะคนจีนในเมืองไทยไม่ใช่เพราะระบบศักดินา การแก้ไขมิใช่อยู่ที่เปลี่ยนจากศักดินาเป็นประชาธิปไตยดอก หากอยู่ที่ช่วยกันบ้อมพวกจีน แล้วต่างคนก็ต่างนอนกระดิกตีนเกลียดจีนอยู่บนเตียง! บทบาทของ ร.๖ ในการรณรงค์เพื่อเบนสายตาและมอมเมาประชาชนก็คือ บทความเรื่อง "ยิวในบูรพทิศ" และ "เมืองไทยจงตื่นเถิด" ที่เขียนออกมาในนามปากกา "อัศวพาหุ"

แต่อย่างไรก็ดี เราต้องขอคารวะต่อความคิดอันแยบคายของศักดินา เล่ห์กลมนต์คาถาที่เขาใช้ศักดิ์สิทธิ์ได้ผลจริงน่าพึงใจ ประชาชนหันมาเกลียด "เจ๊ก" กันพักใหญ่ ซากเดนแห่งความคิดที่ศักดินาสอดใส่ไว้ให้นี้ ยังได้มาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง โดยการรณรงค์ของพวกขุนศึกฟัสซิสต์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีประชาชนจำนวนมากจำนวนหนึ่ง ยังมีใจมั่นคงและมีทรรศนะอันยาวไกลและถูกต้อง เขายังมองฝ่าเมฆหมอกของการมอมเมาออกไปได้ เขามองเห็นว่าเจ้าภาษีคือนายหน้าตัวแทนของศักดินาผู้เป็นตัวการใหญ่ ความเดือดร้อนในเมืองไทยมิได้มาจากพวกชาวจีน หากมันมาจากความร่วมมือระหว่างศักดินากับนายทุนนายหน้าผูกขาด!

ถึงแม้ประชาชนจะขับไล่ชาวจีนผู้ผูกขาดภาษีออกไปได้หมดสิ้นไม่หลงเหลือในเมืองไทย ก็ใช่ว่าชาวไทยทุกคนจะพ้นจากการขูดรีดภาษีโดยวิธีผูกขาด ตราบใดที่ระบบผูกขาดภาษีของศักดินายังคงอยู่ การขูดรีดแบบนี้ก็ยังคงมีต่อไปตราบนั้น แม้จะไม่มีชาวจีนผูกขาด ชาวไทยก็ผูกขาดได้ แม้พวกชนชั้นศักดินาเองก็ผูกขาดทำได้เช่น เมืองสงขลา อากรรังนก กุ้งแห้ง พระยาสงขลารับผูกขาดเอง เมืองนครศรีธรรมราช พระยานครรับผูกขาด บางเมืองเก็บเป็นของหลวงโดยตรง เช่น ฝ้ายเม็ด ฝ้ายบด เมืองปราณบุรี กรมการเมืองเป็นผู้เก็บให้หลวงโดยได้รับค่าส่วนลด ลองได้ทำการผูกขาดภาษีเช่นนี้ แล้วถึงจะเป็นไทย เป็นลาว เป็นมอญ เป็นเขมร เป็นฝรั่งตาน้ำข้าวจัดทำผูกขาด มันก็เดือดร้อนเหมือนกันทั้งนั้น ความเดือดร้อนมิได้มาจาก "ชาวจีน" ชาวจีนก็คงมีสภาพเป็นคนธรรมดา ไม่มีพิษอยู่ในตัวเหมือนงูเห่า ที่มันมีพิษนั้นคือระบบผูกขาดภาษีของชนชั้นศักดินาต่างหาก! ซึ่งความจริงข้อนี้ ไม่ใช่หรือที่ศักดินาพยายามปิดบังไว้?

นี่คือเล่ห์กลของศักดินาที่จะบิดเบือนสายตาของประชาชนจากการเกลียดชังระบบผลิตของตน ไปเป็นการเกลียดชังเชื้อชาติ

"การขูดรีด" หรือนัยหนึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ของศักดินาโดยการยึดถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตไว้แต่ผู้เดียวตามที่กล่าวมาแล้ว คือในด้านภาษีอากรทั้งมวลนี้ อาจมีความฉงนฉงายกันอยู่บ้างว่าในทุกรัฐ แม้ในรัฐสังคมนิยม ก็ย่อมมีภาษีอากรด้วยกันทั้งสิ้น ทำไมจึงจะมาระบุเอาว่าภาษีอากรของศักดินาเป็นการขูดรีด ความสงสัยข้อนี้อาจจะขจัดให้หายไปได้ โดยคำนึงถึงปัญหาขั้นพื้นฐานว่าใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยแห่งการผลิต ในระบบศักดินานี้ชนชั้นศักดินาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยแห่งการผลิต กล่าวคือที่ดิน เมื่อได้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แล้วก็มีอิทธิพลพอที่จะเสวยอำนาจทางการเมือง เรียกเก็บภาษีที่ดินเอาตามความพอใจ ภาษีที่ดินเป็นหมวดภาษีใหญ่ที่รวมเอาภาษีค่านา, ภาษีสวน, ภาษีสมพัตสร, ภาษีนาเกลือ, ภาษีโรงเรือนร้าน (อากรตลาด) และภาษีเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เข้าไว้ด้วยอีกมาก, ถัดจากภาษีที่ดินก็ได้แก่ส่วย หรือรัชชูปการซึ่งเป็นการเรียกเก็บกินเปล่าโดยชนชั้นศักดินา นอกจากนั้น ก็จัดเป็นพวกภาษีเบ็ดเตล็ด เป็นต้นว่า ภาษีสุรา, อากรค่าน้ำ ฯลฯ เมื่อชนชั้นศักดินาเป็นผู้เก็บภาษีทั้งมวลเช่นนี้ เงินที่ได้ก็ย่อมตกไปเป็นสิ่งบำรุงบำเรอชนชั้นศักดินา ปล่อยให้ประชาชนเสวยเคราะห์กรรมไปตามเพลง เมื่อเป็นเช่นนี้ การเก็บภาษีอากรของศักดินาจึงเป็นการขูดรีดอันมโหฬารอย่างสำคัญ (โดยเฉพาะที่ดิน) ภาษีในสังคมทุนนิยมก็เป็นการขูดรีดของชนชั้นนายทุนเช่นกัน มีเพียงภาษีในสังคมระบบสังคมนิยมที่ประชาชนผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยแห่งการผลิตร่วมกันเท่านั้นที่มิได้เป็นการขูดรีด ทั้งนี้เมื่อประชาชนถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยแห่งการผลิตร่วมกัน เขาย่อมถืออำนาจทางการเมืองร่วมกันด้วย และแน่นอนภาษีอากรต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่บำรุงความสุขสบายและสภาพชีวิตอันสมบูรณ์ของพวกเขาทั้งมวล!...

เชิงอรรถวิกิซอร์ซ

[แก้ไข]
  1. ที่จริงเป็นรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ