ข้ามไปเนื้อหา

โฉมหน้าศักดินาไทย/ไทยจากระบบทาสมาสู่ระบบศักดินา

จาก วิกิซอร์ซ
ไทยจากระบบทาสมาสู่
ระบบศักดินา
 

ไทยได้ผ่านพ้นระบบทาส และเริ่มเข้าสู่ระบบศักดินาตั้งแต่เมื่อไหร่? ปัญหานี้ ต้องสันนิษฐานเอาด้วยอัตวิสัยเพราะหาหลักฐานไม่ได้ การเดาที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ ไทยผ่านพ้นระบบทาสและย่างเข้าสู่ระบบศักดินาก็ตรงตอนหัวเลี้ยงหัวต่อก่อนตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั่นเอง

รัฐทาสของไทยสมัยก่อนหัวเลี้ยงหัวต่อนี้ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐทาสเขมร ดังได้กล่าวมาแล้วและแน่นอนพวกผู้ครองรัฐทาสของไทยในครั้งนั้นได้ต่อสู้กับรัฐทาสของเขมรอย่างทรหด รัฐทาสของไทยคงจะได้อํานาจอิสระคืนมาอีกครั้งในตอนที่อาณาจักรเขมรถูกพวกจามรุกรานใน พ.ศ. ๑๗๒๐ ในคราวนั้นกองทัพจามขยี้เมืองหลวงของเขมรเสียย่อยยับไม่ผิดอะไรกับการปล้นสะดม รัฐทาสของเขมรแตกกระจัดกระจายหมดสิ้นอํานาจไปถึงกว่า ๑๐ ปี ในระหว่างนี้ ไทยคงจะปลดแอกเขมรออกได้ทั่วกัน พวกนายทาสของไทยคงคุมกันเข้าตั้งเป็นรัฐต่างๆ ได้สําเร็จ แต่ชาตาของรัฐทาสไทยทั้งปวงไม่ยั่งยืน พ้นจากสิบปีไปแล้ว พวกเขมรกลับตั้งข้อแข็งเมืองต่อพวกจามได้สําเร็จ ผู้ที่ตั้งข้อแข็งเมืองนี้ก็คือ ชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-หลัง ๑๗๔๔) กษัตริย์ของรัฐทาสเขมรองค์นี้เข้มแข็งผิดปกติ บุกเข้าไปจนถึงเมืองหลวงจามถอดพระเจ้าแผ่นดินจามเสีย ตั้งคนของตนขึ้นแทนเสร็จแล้วก็หันมาเล่นงานรัฐทาสต่างๆ ของไทย บุกเข้ายึดได้ลพบุรี ถอดเจ้าทาสไทยลพบุรีลงเสีย แล้วตั้งลูกชายขึ้นเป็นเจ้าทาสแทน ลูกชายคนนี้ ชื่อ อินทรวรมัน๔๒ ทางเหนือรุกไล่ขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตั้งโขลนลําพังขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ๔๓ แล้วรุกเลยขึ้นไปจนถึงอาณาจักรพุกาม รัฐทาสของไทยจึงถูกขยี้ ลงอย่างย่อยยับ มิหนําซ้ำพวกชุมชนของไทยทางเหนือ (คืออาณาจักรไชยปราการของท้าวมหาพรหมครั้งกระโน้น) ยังถูกพวกมอญรุกรานจนแตกกระเจิงลงมาอยู่เมืองแปป (ในกําแพงเพชร) เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๓๑ รัฐทาสของไทยจึงระส่ำระสายและทลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี

เมื่อพวกเจ้าทาสทั้งปวงถูกจับถูกฆ่าถูกถอดโดยฝีมือเขมร พวกทาสก็หลุดพ้นออกเป็นไท และชุมนุมกันอยู่เป็นแห่งๆ ทํานองเดียวกับที่ยุโรปเคยเป็นมาในสมัยเมื่อพวกอนารยชนรุกราน พวกเสรีชนเหล่านี้ ต่างเข้าพึ่งพาผู้ที่มีกําลังเหนือกว่า และรวมกันอยู่เป็นเหล่าๆ ความสัมพันธ์ในรูปแบบศักดินาคงจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในตอนนี้ แบบเดียวกับที่เกิดมาแล้วในยุโรปตามที่กล่าวมาแต่ต้น พวกชุมนุมของไทยเหล่านี้ก็คงต้องถูกเขมรกดขี่รุกรานบังคับให้ส่งส่วยสาอากรเอาตามอําเภอใจ ความขัดแย้งหลักของสังคมขณะนั้นจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทาสเขมรกับชุมชนไทยที่ล้มละลายมาจากระบบทาส กษัตริย์ทาสของเขมรได้ช่วยปลดปล่อยประชาชนไทยให้พ้นจากระบบทาสไปแล้วเปลาะหนึ่ง แต่ระบบทาสเปลาะใหม่ที่ไทยจะต้องปลดก็คือ นายทาสเขมร

ความเคลื่อนไหวของประชาชนไทยทั้งมวลเพื่อปลดแอกตนเองในยุคนั้นที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือ การปลดแอกภายใต้การนําของ "นายร่วง" ลูกชายของ "นายคงเครา" หัวหน้าชุมชนไทยที่เมืองลพบุรี ชุมชนไทยที่เมืองลพบุรีในครั้งนั้นต้องถูกนายทาสเขมรบังคับให้ส่งส่วยประหลาด นั่นคือ "ส่วยน้ำ" ส่วยน้ำนี้ไม่ใช่เรื่องโกหกเลย เป็นเรื่องจริง ที่ว่าจริงก็เพราะพวกเจ้าทาสใหญ่เมืองเขมรพยายามเหลือเกินที่จะยกตนขึ้นเป็นเทวดาให้ได้ ลัทธิที่จะเป็นเทวดานี้ ในเมืองเขมรสมัยโน้นเรียกกันว่า "ลัทธิเทวราช" God-king cult พวกนายทาสขนาดเล็กขนาดย่อมล้วนคลั่งลัทธินี้กันทั้งนั้น๔๔ ฉะนั้น ไม่ว่าจะทําอะไร จะต้องให้มีลักษณะเป็นการกระทําอันศักดิสิทธิ์ของเทวดาเสมอไป เช่น จะอาบน้ำ กินน้ำ ก็ต้องสร้างสระอาบน้ำให้มีรูปเหมือนทะเลน้ำนม (คือเกษียรสมุทร) ตรงกลางสระก็ทําเป็นรูปพญาอนันตนาคราชขดตัวให้เป็นที่นอนของพระนารายณ์ บนนั้นเป็นที่ตั้งเทวรูปของพระนารายณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับตําราของพวกพราหมณ์ที่ว่าพระนารายณ์นอนหลับบนหลังนาคในสะดือทะเลน้ำนม! คราวนี้ เมื่อจะสรงน้ำในงานพิธี เรื่องมันก็ต้องใช้น้ำศักดิสิทธิ์ นั่นคือใช้น้ำจากทะเลสาบชุบศรที่เชื่อกันว่าพระนารายณ์ลงมาตั้งพิธีชุบศรให้มีฤทธิ ณ ที่นั้น เมื่อทะเลชุบศรนั้นอยู่ในเมืองลพบุรี เจ้าทาสใหญ่ก็เกณฑ์พวกทาสไทยทั้งหลายให้ขนน้ำไปถวายเป็นรายปี ทุกปี การสรงน้ำนี้ทํากันในเดือนสี่๔๕ พวกชุมชนไทยจึงต้องช่วยกันบรรทุกน้ำด้วยโอ่งไหใส่เกวียนรอนแรมไปเมืองเขมร บุกกันไปเป็นเดือนๆ ขากลับก็ต้องกินเวลาอีกนับเป็นเดือน ตกลงต้องถูกแอกของรัฐทาสเขมรกดขี่เสียจนงอมพระรามไปตามๆ กัน

เรื่องที่เล่าถึงการขนส่วยน้ำอันทารุณนี้ บางทีอาจจะรู้สึกว่าออกจะมากไปหน่อย แต่ที่จริงยังน้อยไปด้วยซ้ำ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้น เมื่อขยี้รัฐต่างๆ ของไทยลงราบเรียบเป็นหน้ากลองแล้ว ก็ตั้งเจ้าเขมรบ้าง นายทหารเขมรบ้าง นายทาสไทยที่ซื่อสัตย์ต่อเขมรบ้าง ขึ้นเป็นเจ้าทาสครองเมืองเพื่อที่จะประกันความซื่อสัตย์ของเจ้าทาสคนใหม่ที่ตั้งตัวขึ้นไว้ ชัยวรมันที่ ๗ มีวิธีพิสดารอยู่อันหนึ่ง นั่นคือสร้างพระพุทธรูปขึ้นหลายองค์ แต่หน้าตาของพระพุทธรูปนั้นคือหน้าตาของชัยวรมันที่ ๗!๔๖ แล้วก็ส่งไปให้เจ้าทาสทั้งหลายตั้งบูชาไว้กลางเมือง พอถึงเดือนสี่จะมีการสรงน้ำทําพิธีไล่ซวยปีเก่า (ไม่ต้อนรับปีใหม่) ชัยวรมันที่ ๗ ก็เตรียมงานพิธีใหญ่ที่ปราสาทหินพระขัน (ในยุคนั้นเรียกว่านครชัยศรี) ตรงเหนือเมืองนครธมในการสรงน้ำนี้ นอกจากจะเกณฑ์น้ำสรงจากทะเลสาบชุบศรเมืองลพบุรีแล้ว ยังเกณฑ์ให้พวกเจ้าทาสเจ้าเมืองต่างๆ ยกขบวนแห่แหนพระพุทธรูปพิสดารนั้นมายังเมืองนครธม เพื่อเข้าร่วมพิธีสรงน้ำอีกด้วย หัวเมืองที่อยู่ไกลแสนไกลอย่างเมืองพิมาย, เมืองเพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี, สุพรรณภูมิ (อู่ทอง), สิงห์บุรี (เมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรี) ฯลฯ๔๗ ต้องระทมข้าทาสแห่แหนรูปของชัยวรมันที่ ๗ ไปยังนครธมทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะถ้าไม่แห่แหนไป ก็ต้องข้อหากบฏแข็งข้อ เป็นอันว่าพวกไทยในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องถูกเจ้าทาสเขมรทารุณกรรมอย่างแสนสาหัส ปี หนึ่งๆ ไม่ต้องทําอะไร เพียงแต่ยุ่งอยู่กับแห่พระไปแห่พระกลับก็เกือบหมดปีเสียแล้ว

ความทารุณกดขี่ของพวกเขมรที่กระทําต่อไทยนี้ ทําให้ความขัดแย้งดําเนินไปสู่ขั้นแตกหัก พวกชุมชนไทยจึงรวมกันเข้าเพื่อสลัดแอกเขมร ในขณะนั้นเอง "นายร่วง" ลูกชายหัวสมองดีของ "นายคงเครา" หัวหน้ากองจัดส่วยน้ำ ได้มองหาวิธีผ่อนคลายความทารุณได้สําเร็จ นั่นคือคิดสานภาชนะด้วยไม้ไผ่แล้วยาด้วยชันกับน้ำมันยางขึ้นได้ ภาชนะนี้บรรจุน้ำได้ไม่รั่วซึม คือที่ชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานยังใช้อยู่และเรียกว่า "ครุ" ครุที่นายร่วงประดิษฐ์ขึ้นได้เป็นเครื่องมือใหม่แห่งยุคทีเดียว เขมรเองก็ไม่เคยคิดไม่เคยรู้จัก การคิดสร้างครุขึ้นสําเร็จทําให้เบาแรงในการขนส่งขึ้นมากมาย

การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ได้ใหม่ในยุคทาสนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่นับได้ว่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งยวดของยุค เพราะมันเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของระบบชีวิต พวกประชาชนจึงร่ำลือกันไปตามความมหัศจรรย์ว่านายร่วงมีวาจาสิทธิ์เอาชะลอมตักน้ำได้ ข่าวการประดิษฐ์ "ครุ" ของนายร่วงเล่าลือไปถึงชุมชนไทยทุกถิ่น พวกเสรีชนที่กระจัดกระจายอยู่แต่ครั้งการพังทลายของรัฐทาสจึงพากันเข้ามารวมอยู่ภายใต้การนําของนายร่วง ทางเมืองเขมรลูกชายของชัยวรมันที่ ๗ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ (หลัง พ.ศ. ๑๗๔๔-๑๗๘๖) ได้ข่าวการประดิษฐ์ครุของนายร่วงและการรวมตัวของพวกเจ้าขุนมูลนายและเสรีชนไทยเข้าก็ตกใจใหญ่๔๘ ยกกองทัพมาปราบปราม แต่เขมรต้องทําศึกสองหน้าเสียแล้วตอนนี้ นั่นคือต้องหันไปปราบหันไปปราบพวกจามที่ตั้งแข็งข้อขึ้นใหม่เมื่อปี ๑๗๖๓ และก็ปราบไม่ได้ พวกทาสในเมืองเขมรเองก็ระอานายทาสทั้งปวงเต็มทนอยู่แล้ว ความมั่นคงภายในของเขมรจึงเป็นภาระรีบด่วนของกษัตริย์เขมร มิใช่ภาระที่ปราบปรามไทย ทัพเขมรจึงถูกไทยตีโต้ถอยกระเจิงออกไป ตามพงศาวดารนั้นถึงกับกล่าวว่านายร่วงรุกเข้าไปจนถึงเมืองนครธม แต่ไปถูกทีเด็ดของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ เข้าอย่างใดไม่ทราบ การเลยกลับตาลปัตร นายร่วงยอมรับนับถือกษัตริย์เขมร ไม่จับฆ่า เรื่องนี้จะเชื่อถือพงศาวดารนักก็ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าพงศาวดารแล้วตอนปลายมักจะบานๆ ทุกทีไป แต่เรื่องทีเด็ดของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ นั้นมีแน่ ทีเด็ดนี้ก็คือ "นโยบายแต่งงานทางการเมือง" (Politique de mariages) นโยบายนี้เท่าที่พบหลักฐาน ชัยวรมันที่ ๗ ก็ได้เริ่มใช้แล้ว๔๙ อินทรวรมันที่ ๒ ลูกชายได้รับเอานโยบายนี้สืบทอดมาใช้เป็นการใหญ่ นโยบายที่ว่านี้ ก็คือ ยกลูกสาวให้พวกเจ้าเมืองไทยที่กําลังทําท่าจะแข็งข้อ เจ้าเมืองไทยคนหนึ่งชื่อ "พ่อขุนผาเมือง" เป็นเจ้าอยู่ที่เมืองราด๕๐ ทําท่าจะเก่งเกินไปนัก อินทรวรมันที่ ๒ ก็ยกลูกสาวให้เสียคนหนึ่ง ลูกสาวคนนี้สวยไหมไม่ทราบได้ แต่ชื่อเพราะพริ้งนักคือ "พระนางสีขรมหาเทวี" นอกจากจะยกลูกสาวให้เป็นเมียแล้ว ยังผสมตั้งยศให้เป็นถึงขนาดพระยาพานทองเสียอีกด้วย กล่าวคือยกขึ้นเป็น "กัมรเดงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์" แถมยังประทานพระแสงขรรค์อาญาสิทธิ์ชื่อ "พระขรรค์ชัยศรี" ให้อีกเล่มหนึ่ง๕๑ และนัยว่าจะล่อให้พ่อขุนผาเมืองหลงใหลเคลิบเคลิ้มรักเขมรกดขี่ไทยด้วยกันเองต่อไป๕๒ และนัยว่าก็คงจะให้ขุนผาเมืองตกเป็นแกะดําของหมู่เจ้าขุนมูลนายไทยที่เพิ่งรวมกันติด แต่เขมรก็ผิดหวัง การตื่นตัวของประชาชนคนไทยสูงมากถึงขนาดที่เขมรไม่อาจซื้อได้ พ่อขุนผาเมืองได้นํากําลังของเสรีชนไทยทั้งมวลในเมืองราดเข้าร่วมกับกําลังของประชาชนในเมืองบางยาง ภายใต้การนําของพ่อขุนบางกลางทาว ประชาชนของทั้งสองเมืองได้ร่วมกันปลดแอกเขมรอันหนักอึ้งออกไปได้โดยการเข้าขับไล่นายทาสเขมรที่สุโขทัยนั่นคือ "โขลนลําพัง" ที่กล่าวมาข้างต้น

นายร่วงของประชาชนไทยหายต๋อมไป จะไปโดนทีเด็ดอะไรของเจ้าทาสเขมรเข้าไม่ทราบได้ แต่ตามพงศาวดารเก่าๆ เล่าไว้ว่า ภายหลังนายร่วงได้เป็นเจ้าสุโขทัยเรียกว่า "พระร่วง" หรือ "พญาร่วง" นักพงศาวดารเลยโมเมจับเอาพระร่วงเข้าไปรวมเป็นคนเดียวกับพ่อขุนบางกลางทาวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งจะเชื่อได้หรือไม่ยังสงสัย

เมื่อประชาชนไทยจากเมืองราด เมืองบางยางร่วมกับประชาชนไทยในเมืองสุโขทัยรวมกําลังกันขับไล่นายทาสเขมรออกไปได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็ยกสหายของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งพิธีราชาภิเษกให้แล้วซ้ำยังยกราชทินนามของตนที่ได้รับมาจากเจ้าเมืองเขมรให้แก่พ่อขุนบางกลางทาวอีกด้วย พ่อขุนบางกลางทาวจึงได้เป็นกษัตริย์มีชื่อว่า "พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งภายหลังมาตัดให้สั้นลงเพียง "ศรีอินทราทิตย์"

พร้อมกับรัฐสุโขทัย พวกประชาชนไทยอีกหลายแห่งได้ลุกฮือขึ้นสลัดอํานาจของเขมรออกไปได้สิ้น เช่น รัฐเชียงใหม่ (พญาเมงราย), รัฐพะเยา (พญางําเมือง), รัฐฉอด (ขุนสามชน), รัฐสุพรรณภูมิ (อู่ทอง), รัฐอีจาน (ในดงอีจานใต้จังหวัดนครราชสีมาและสุรินทร์)๕๓ ฯลฯ รัฐไทยเหล่านี้มีลักษณะเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ที่มีป้อมปราการมั่นคง เช่นเดียวกับเจ้าขุนมูลนายที่มีป้อมใหญ่ๆ ของยุโรป ทุกรัฐจึงเป็นจุดศูนย์กลางสําหรับการรวมตัวของพวกเสรีชนและเจ้าขุนมูลนายย่อย ลักษณะของสังคมมีสภาพเช่นเดียวกับยุโรปตอนแรกเริ่มเกิดระบบศักดินาไม่มีผิด

หลักฐานที่ว่าจะชี้ให้เห็นว่าสภาพนี้เป็นความจริงก็คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหง ในจารึกนั้น มีเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า;

"คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟื้อกู้มัน (คือช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกอบกู้มัน) บ่มีช้าง บ่มีม้า บ่มีปั่ว (บ่าว) บ่มีนาง บ่มีเงือน (เงิน) บ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวง (ตั้ง) เป็นบ้านเป็นเมือง"

ลักษณะของการขี่ช้างมาหาพาเมืองมาสู่นี้ เป็นลักษณะของการเข้ามาสามิภักดิ์ของพวกเจ้าขุนมูลนายที่เข้ามาขอพึ่งต่อเจ้าที่ดินใหญ่ ส่วนการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อประทานช้างม้าบ่าวไพร่ชายหญิงเงินทองให้ช่วยจัดตั้งให้เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นนี้ เป็นลักษณะของการช่วยเหลือที่ฝ่ายเจ้าที่ดินใหญ่ให้แก่พวกเจ้าที่ดินย่อยที่มาขอพึ่งบุญ อันเป็นลักษณะที่เคยเป็นมาแล้วในยุโรปดังกล่าวมาแต่ต้น

ถ้าจะพิจารณาศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงให้ทั่วถึงแล้ว เราก็จะมองเห็นเบาะแสอีกแห่งหนึ่งที่ทําให้น่าเชื่อว่าสมัยสุโขทัยเป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบทาสที่พังทลายไปกับระบบศักดินาที่กําลังพัฒนาขึ้นแทนที่ เบาะแสนั่นก็คือตอนที่จารึกคุยอวดไว้ว่า "ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ (ลาง-ขนุน) หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน" ที่ต้องเอามาคุยอวดไว้ว่า "ใครสร้างได้ไว้แก่มัน" นี้ ทําให้มองเห็นได้ว่าก่อนสมัยนี้ รูปการณ์เป็นคนละแบบกล่าวคือ "ใครสร้างไว้ไม่ได้แก่คนนั้น" ที่ว่าไม่ได้แก่คนนั้น หมายถึงไปได้แก่คนอื่น...ทาสสร้างได้ไว้แก่เจ้าทาส! นั่นคือ ก่อนยุคนั้นขึ้นไปพวกทาสยังมีสมบัติส่วนตัวไม่ได้ ทําอะไรได้เท่าไหร่ต้องตกเป็นของเจ้าทาสหมด พวกทาสเริ่มมามีกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวอันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนก็เมื่อปลายยุคทาสต่อกับยุคศักดินาซึ่งทาสกําลังกลายเป็นเลก การเปลี่ยนแปลงเรื่องกรรมสิทธิ์เช่นกล่าวนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของสังคม จารึกจึงอดไม่ได้ที่จะเก็บมาคุยอวดไว้ให้คนทั้งหลายทั้งปวงฟัง หากเป็นเรื่องธรรมดาๆ อยู่นานนมแล้วจะต้องเก็บมาคุยอวดไว้ทําไม?

เจ้าที่ดินใหญ่ หรือ "พ่อขุน" ของสุโขทัยนั้นสังเกตได้ว่าเป็นเจ้าที่ดินหน้าใหม่ ยังไม่มีที่ดินใหญ่โตมากมายเท่าใดนัก๕๔ พวกเจ้าขุนมูลนายย่อยๆ จึงยังมีอํานาจสมบูรณ์และมักขัดขืนช่วงชิงที่ดินและผลประโยชน์กับสุโขทัยเสมอ จะเห็นได้ว่าพอตั้งรัฐสุโขทัยขึ้นสําเร็จพักเดียว รัฐฉอดของขุนสามชนก็ยกเข้ามารุกรานสุโขทัยทางเมืองตาก ขุนจัง (รัฐใดไม่ปรากฏ)๕๕ กับท้าวอีจานก็รุกรานเมืองราด แต่เจ้าที่ดินใหญ่ของสุโขทัยก็พยายามต่อสู้และรวบอํานาจทั้งทางเศรษฐกิจคือที่ดินและอํานาจทางการเมืองเข้าไว้ในมือเสมอ เจ้าที่ดินใหญ่สุโขทัยไม่รั้งรอให้ใครเข้ามาสามิภักดิ์แต่ด้านเดียว หากได้ออกทําสงครามแย่งชิงที่ดินเอาด้วยกําลังทีเดียว จะเห็นได้จากที่พ่อขุนรามคําแหงเล่าอวดไว้ในศิลาจารึกว่า "กูไปท่ (ตี) บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่ว (บ่าว) ได้นาง ได้เงิน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู" แต่ถึงกระนั้นสุโขทัยก็ไม่อาจขยายที่ดินออกไปได้กว้างขวางนัก ทั้งนี้ก็เพราะรัฐไทยต่างๆ ส่วนมากมีความเข้มแข็งพอๆ กับสุโขทัย เจ้าที่ดินใหญ่ของแต่ละรัฐจึงคบกับสุโขทัยในฐานะเป็นเพื่อนน้ำมิตร เช่น รัฐเชียงใหม่ของพญาเมงราย, รัฐพะเยาของพญางําเมือง, รัฐหริภุญชัย (ลําพูน) ของพญาญี่บา อาณาเขตผืนดินของสุโขทัยจึงสะดุดกึกลงที่เขตแดนของรัฐเหล่านี้

ถ้าหากจะพิจารณาดูการวางระบบเมืองแล้ว ก็จะเห็นความคับแคบของที่ดินในกรรมสิทธิ์ของเจ้าที่ดินสุโขทัยได้ชัด กล่าวคือ เมืองด่านสําคัญสี่ทิศ (เมืองลูกหลวง) ของสุโขทัย อยู่ใกล้ๆ ตัวกรุงสุโขทัยทั้งสิ้น สวรรคโลก (สัชชนาลัย) อยู่ด้านเหนือ, พิษณุโลก (สองแคว) อยู่ด้านตะวันออก, พิจิตร (สระหลวง) อยู่ด้านใต้ และกําแพงเพชร (ชากังราว) อยู่ด้านตะวันตก ทั้งสี่เมืองมีระยะทางห่างจากสุโขทัยเพียงทางเดินสองวันทั้งสิ้น เมืองที่อยู่ภายในวงนี้ เท่านั้นที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยโดยตรง นอกจากนั้นจะเป็นหงสาวดีก็ดี หลวงพระบางก็ดี สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ก็ดี เพชรบุรีก็ดี นครศรีธรรมราชก็ดี ล้วนเป็นเพียงเมืองประเทศราชและพวกสามนตราช (Vassal) ที่ยังมีอํานาจมากอยู่ทั้งนั้น สุโขทัยยังรวบอํานาจเหนือที่ดินของรัฐและเมืองเหล่านี้ ไม่ได้เด็ดขาดแท้จริง ถ้าหากผลประโยชน์เหนือที่ดินเกิดขัดกันขึ้นเมื่อใด พวกรัฐเล็กรัฐและโตเหล่านี้ ก็เป็นแข็งข้อเอาเสมอ และตามที่ปรากฏรัฐที่แข็งข้อได้สําเร็จอย่างลอยชายก็คือ รัฐสุพรรณภูมิของพระเจ้าอู่ทองซึ่งต่อมาได้ย้ายมาตั้งมั่นอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา

ระบบผลิตศักดินาของสังคมไทยในสมัยแรกเริ่มคือก่อนต้นยุคสุโขทัยขึ้นไปเล็กน้อย หรือตอนแรกตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้นจะมีลักษณะการแบ่งปันที่ดินกันอย่างใดไม่ทราบชัดเพราะไม่มีหลักฐาน เรารู้ได้แต่เพียงว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นได้มีการแบ่งปันที่นากันแล้วอย่างมีระเบียบเรียบร้อยตามศักดิ์ของแต่ละคน คือ พวกเจ้าที่ดินเป็นลูกหลานพ่อขุนก็ได้มาก ที่เป็นเพียงลูกขุนข้าราชการก็ได้น้อย แต่จะมีอัตรากําหนดอย่างไรหาทราบไม่ ในกฏหมายลักษณะโจรของกรุงสุโขทัย ซึ่งตราขึ้นในราวปี ๑๙๑๖ นั้น ได้มีที่กล่าวถึงการปรับไหมว่าปรับกันตาม "ศักดิ์"๕๖ นั่นก็คือปรับกันตามศักดินาของแต่ละคนอย่างเดียวกับการปรับไหมของสมัยอยุธยาที่มีวิธีคํานวณปรากฏอยู่ในกฏหมาย "กรมศักดิ์" (หรือพระอัยการพรมศักดิ์)

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแบ่งปันที่ดินกันอย่างมีระเบียบ ระบบศักดินาของสุโขทัยก็ยังคงอยู่ในระยะแห่งการพัฒนาขั้นต้น ที่กล้ากล่าวดังนี้ ก็เพราะในตอนต้นยุคสุโขทัยทีเดียวนั้น พวกราชะยังคงมีลักษณะเป็น "พ่อขุน" อยู่ ความสัมพันธ์ในทางการเมืองมีดังนี้ คือ ข้าราชการเป็น "ลูกขุน" เจ้าเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นขุน เช่น ขุนสามชน๕๗ ราชะใหญ่คือ กษัตริย์ เป็นพ่อขุน แม้ว่าพวกพ่อขุนจะพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์ใหญ่ ชาวบ้านชาวเมืองก็ยังเรียกว่า "พ่อขุน" ด้วยความเคยชินอยู่ ยังมิได้เปลี่ยนธรรมเนียมเรียกโดยฉับพลัน แต่ถึงกระนั้นการพัฒนาของระบบศักดินาสุโขทัยก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นว่ากษัตริย์สุโขทัยมีที่เป็นพ่อขุนอยู่เพียง ๒-๓ องค์เท่านั้น เช่น พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนรามคําแหง พอพ้นจากนี้ แล้วกษัตริย์ก็กลายมาเป็น "พญา" อย่างพญาเลอไทย จากพญาก็ขยับตรงเข้าสู่ขั้น "เจ้าพญา" แล้วถัดจากนั้นก็ขอยืมคําเขมรมาเดาะเข้าให้เป็น "สมเด็จเจ้าพญา"๕๘ ท้ายที่สุดก็กลายเป็น "พระเจ้าแผ่นดิน" ดังที่ปรากฏอยู่ในกฏหมายลักษณะโจรที่ได้กล่าวถึงพัฒนาการของฐานะกษัตริย์นี้ เป็นพยานที่แสดงให้เห็นว่า การพยายามรวบอํานาจเหนือที่ดินของพวกกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้น ได้บรรลุผลสําเร็จอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงร้อยปีเศษ กษัตริย์สุโขทัยดูเหมือนจะรวบอํานาจในที่ดิน ยกตนขึ้นเป็น "พระเจ้าแผ่นดิน" ตามคติของศักดินาได้สําเร็จมั่นคงรวดเร็ว พอๆ กันกับกษัตริย์ทางฝ่ายอยุธยา ต่อหลังจากนั้น ศักดินาสุโขทัยจึงได้ถูกศักดินาอยุธยาช่วงชิงผืนดิน จนในที่สุดผืนดินทั้งมวลของสุโขทัยก็ตกเป็นของ "พระเจ้าแผ่นดิน" อยุธยาโดยสิ้นเชิงและสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๑ เป็นอันว่าระบบศักดินาของอาณาจักรสุโขทัยได้พัฒนามาอย่างเอกเทศเพียงชั่วระยะ ๒๐๐ ปี เท่านั้นเอง

คราวนี้ ก็มาถึงระบบศักดินาของไทยทางใต้ คือ ทางอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเพิ่งจะสร้างขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ทั้งนี้ โดยประชาชนไทยภายใต้การนําของพระเจ้าอู่ทองได้พากันอพยพหนีโรคระบาดอันเกิดจากความกันดารน้ำ (เพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน) ลงมาช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองหักร้างถางพงเป็นไร่เป็นนาขึ้น

ก่อนนั้นขึ้นไป ประชาชนไทยได้รวมกันอยู่เป็นปึ กแผ่นอย่างเรียบร้อย และมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง (ในสุพรรณบุรี) ชุมชนของไทยในแคว้นอู่ทอง ก่อนที่จะอพยพย้ายครัวมายังอยุธยานั้น ได้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยมาแล้วระยะหนึ่งในฐานะเป็นเมืองประเทศราช ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงว่า "สุพรรณภูมิ"

ไม่ต้องสงสัย ระบบผลิตของประชาชนไทยในแคว้นสุพรรณภูมิหรืออู่ทอง ก็คือระบบผลิตศักดินาที่ได้ก่อรูปขึ้นแล้วอย่างเรียบร้อย ฐานะของกษัตริย์ในแคว้นนี้ เป็นฐานะที่สูงส่งกว่าทางสุโขทัย ทั้งนี้เพราะไปได้แบบอย่างที่ถือว่ากษัตริย์คือ "เทวะ" มาจากเขมร พระเจ้าอู่ทองจึงได้ตั้งชื่อตัวเองเสียเต็มยศอย่างกษัตริย์เขมรว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีวิสุทธิวงศ์ องคบุริโสดม บรมจักรพรรดิราชาธิราชตรีภูวนาธิเบศ บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"๕๙ อันแปลว่า พระเจ้ารามาธิบดี ผู้มีชาติกําเนิดในโคตรตระกูลอันสูงส่ง เป็นบุรุษผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าจักรพรรดิคือผู้มีเมืองขึ้นโดยรอบ เป็นพระราชาแห่งราชาทั้งปวงและเป็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือหัวของทวยราษฎร์ การปกครองของแคว้นสุพรรณภูมิหรืออู่ทองเป็นไปโดยมีระเบียบแบบแผนสมบูรณ์เท่าที่มีเอกสารอยู่เป็นพยานก็คือ "กฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ" อันว่าด้วยการพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน กฏหมายนี้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๖ ก่อนสร้างอยุธยา ๘ ปี อีกฉบับหนึ่งคือ "กฏหมายลักษณะทาส" ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ ก่อนสร้างอยุธยา ๔ ปี๖๐

ฐานะของกษัตริย์ที่มีต่อที่ดินของแคว้นสุพรรณภูมินี้ไม่ปรากฏว่าเป็นไปในรูปใด แต่ภายหลังจากที่ได้อพยพย้ายครัวกันลงมาอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาแล้ว ฐานะของกษัตริย์ที่มีเหนือที่ดินก็ปรากฏให้เราศึกษาได้ชัด กล่าวคือ "เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินทั้งมวลในอาณาจักร" ทั้งนี้ เห็นได้จากคําปรารภของกฏหมายเบ็ดเสร็จส่วนที่ ๒ อันเป็นกฏหมายที่ดิน ซึ่งพระเจ้าอู่ทองได้ตราขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๓ หลังจากการสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๑๐ ปี ตอนหนึ่งของคําปรารภนั้นมีว่า:-

"จึ่งพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดํารัสตรัสแก่เจ้าขุนหลวงสพฤๅแลมุขมนตรีทั้งหลายว่า ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้"

เป็นอันว่าฐานะของกษัตริย์ตอนต้นอยุธยาได้ถูกประกาศอย่างกึกก้องเต็มปากโดยไม่ต้องเกรงกลัวใครแล้วว่า กษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดิน และกษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาประทานที่ให้ราษฎรทํามาหากิน แน่นอนเมื่อที่ดินทั้งมวลเป็นของกษัตริย์ ประชาชนก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ที่ว่าเช่นนี้ ก็เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าประชาชนจะขายจะซื้อที่ดินกันได้ก็เพียงแต่ในบริเวณตัวเมืองหลวงเท่านั้น นอกเมืองหลวงออกไปแล้วที่ดินเป็นกรรมสิทธิของกษัตริย์โดยเด็ดขาดจะซื้อขายกันไม่ได้ หลักฐานที่ว่านี้ก็คือข้อความในมาตรา ๑ ของกฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จส่วนที่ ๒ (เพิ่มเติม) ที่กล่าวถึงนั้นเอง มาตรานั้นมีความว่า

"ถ้าที่นอกเมืองหลวง อันเป็นแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กัน..."

นั่นก็คือกรรมสิทธิในที่ดิน ซึ่งประชาชนจะมีได้นั้นมีอยู่เพียงในตัวเมืองหลวงเท่านั้น ประชาชนผู้ที่อยู่นอกเมืองหลวงออกไป จนถึงปลายอาณาเขตแห่งอาณาจักรศรีอยุธยาไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดินเลยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ลักษณะนี้เป็นลักษณะการผูกขาดที่ดินของเจ้าที่ดินใหญ่คือกษัตริย์ ประชาชนมีหน้าที่อาศัยผืนแผ่นดินท่านอยู่ มีหน้าที่เสียภาษีอากรอันหนักหน่วง เป็นการตอบแทนการอาศัยที่ดินของท่าน เรื่องของมันก็ลงเป็นรอยเดียวกับศักดินาใหญ่ของประเทศลาวในสมัยโบราณ ซึ่งบาทหลวงบูรเลต์กล่าวถึงไว้ว่าในเมืองหัวพันทั้งหกนั้น "ชาวบ้านไม่รู้จักกรรมสิทธิที่ดิน อาณาเขตเป็นของเจ้าชีวิต หรือพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบาง ประชาชนเป็นแต่ผู้เก็บกินหรือผู้ทํา ก่อนที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองประเทศนี้ ภาษีอากรที่ดินซึ่งชาวบ้านชําระทุกปี จึงดูเหมือนว่าเสียไปเพื่อเป็นค่าอาศัยที่เจ้าของชีวิตอยู่"๖๑

เมื่อที่ดินทั้งหมดตกเป็นของกษัตริย์แต่ผู้เดียวเช่นนี้ ประชาชนส่วนข้างมากจะตกอยู่ในฐานะเช่นไร?

ฐานะของประชาชนในระบบศักดินายุคต้นของอยุธยาก็คือเป็นผู้ทํางานบนผืนดินส่งส่วยสาอากรแก่เจ้าที่ดิน การที่จะทํางานบนผืนที่ดินนั้นโดยที่ตนมิได้มีกรรมสิทธิเป็นเหตุให้การทํางานอืดอาดไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่มีแก่ใจ กษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และผู้เสวยผลประโยชน์จึงต้องออกกฏหมายบังคับไว้ว่าที่ดินในรัฐทุกแห่ง "อย่าละไว้ให้เป็นทําเลเปล่า แลให้นายบ้านนายอําเภอร้อยแขวงและนายอากรจัดคนเข้าไปอยู่ในที่นั้น" และเพื่อให้เป็นกําลังใจแก่ประชาชนที่จะทําการผลิต กฏหมายฉบับเดียวกันจึงบ่งไว้อีกว่า "อนึ่ง ที่นอกเมืองชํารุดอยู่นานก็ดี แลมันผู้หนึ่งล้อมเอาไว้เป็นไร่เป็นสวนมัน มันได้ปลูกต้นไม้สรรพอัญมณี (= ของกินได้) ในที่นั้นไว้ ให้ลดอากรไว้แก่มันปี หนึ่ง พ้นกว่านั้นเป็นอากรของหลวงแล" นั่นก็คือลดภาษีอากรให้เป็นกําลังใจแก่ผู้ก่นสร้างที่ดิน

ยิ่งกว่านั้น กฏหมายยังให้กําลังใจแก่ผู้ทํางานไว้อีกข้อหนึ่งด้วยว่า "หัวป่าแลที่มีเจ้าของสืบสร้าง แลผู้นั้นตาย ได้แก่ลูกหลาน" นี้ เป็นลักษณะเดียวกันกับที่มีคุยอวดไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงว่าป่าหมากป่าพลูทั้งมวล "ใครสร้างได้ไว้แก่มัน" และพอมันตายลง พ่อมันก็ "ไว้แก่ลูกมันสิ้น"

แต่อย่าเพิ่งดีใจ ที่กฏหมายของศักดินาอยุธยาระบุไว้ว่า "ผู้นั้นตายได้แก่ลูกหลาน" นั้น มิได้หมายถึงว่าลูกหลานได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากได้กรรมสิทธิ์เพียงผลประโยชน์บนผืนดินเท่านั้นเอง ถ้าหากทอดทิ้งที่ดินผืนนั้ นไปเสียเป็นระยะเก้าปีสิบปี กฏหมายระบุให้แขวงจัดคนที่ไม่มีที่อยู่เข้าทํากินต่อไปเป็นเจ้าของใหม่ ถ้าหากต้นไม้และผลประโยชน์อื่นมีติดที่ดินอยู่ ก็ให้ผู้มาอยู่ใหม่คิดเป็นราคาชดใช้ให้พอสมควร "ส่วนที่นั้นมิให้ซื้ อขายแก่กันเลย" (เบ็ดเสร็จ-เพิ่มเติม) นี่ก็คือประชาชนมิได้มีกรรมสิทธิเด็ดขาดในที่ดินที่ตนทํามาหากิน ที่ดินยังคงเป็นของกษัตริย์ ประชาชนมีสิทธิในฐานะเป็นผู้ครอบครองเพื่อทําการผลิตและแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่กษัตริย์เท่านั้น กษัตริย์ยังคงมีสิทธิสมบูรณ์เหนือที่ดิน จะริบจะโอนอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากกฏหมายเบ็ดเสร็จ (เพิ่มเติมมาตรา ๑๒) กฏหมายมาตรานี้ระบุว่า กษัตริย์มีสิทธิ์สมบูรณ์ในการจะยกที่ดินให้แก่ใครๆ ก็ได้ แม้ที่ดินผืนนั้นจะมีผู้เข้าครอบครองทํามาหากินอยู่ก่อนแล้ว ใครจะมาโต้เถียงคัดค้านสิทธิของผู้ที่ได้รับพระราชทานไม่ได้ ถ้าคัดค้านโต้เถียงก็เป็นการขัดขืนพระราชโองการประชาชนใช้สิทธิในการครอบครองที่ดินอ้างยันต่อกันเองได้ แต่จะอ้างยันต่อกษัตริย์ไม่ได้

สรุปรวมความได้ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เกี่ยวเนื่องแก่ที่ดินในตอนต้นสมัยอยุธยา มีดังนี้:-

๑. กษัตริย์เป็นเจ้าที่ดินใหญ่ มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดเหนือผืนดินทั้งอาณาจักรแต่ผู้เดียว

๒. ประชาชนส่วนข้างมากไม่มีกรรมสิทธิในที่ดินต้องอาศัยที่ดินของกษัตริย์ทํามาหากินโดยเสียภาษีอากรซึ่งเป็นการขูดรีดโดยตรงระหว่างกษัตริย์กับเสรีชนทั่วไป

๓. สิทธิเอกชนเหนือที่ดินมีได้เพียงภายในเมืองหลวงซึ่งภายในเขตนี้ ซื้อขายที่ดินกันได้, เช่าได้, จํานําได้, ขายฝากได้, (เบ็ดเสร็จ-เพิ่มเติม) การขูดรีดภายในเมืองหลวงจึงเป็นการขูดรีดที่ชนชั้นเจ้าที่ดินทั้งมวลกระทําต่อไพร่ผู้อาศัยที่ และต่อเสรีชนผู้เช่าที่

๔. ระบบการแจกจ่ายที่ดินให้แก่ผู้มีความชอบในราชการปรากฏมีขึ้นชัดเจนทั้งที่ดิน ช้าง ม้า วัว ควาย และผู้คนภายในผืนดิน ตกอยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับพระราชทานด้วย (เบ็ดเสร็จ-เพิ่มเติม) การขูดรีดระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินโดยเฉพาะเจ้าขุนมูลนายกับเลกหรือไพร่ปรากฏมีขึ้นทั่วไป

๕. การครอบครองที่ดินในทั้งภายนอกและภายในเขตเมืองหลวงเป็นไปได้โดยการหักร้างถางพงก่นสร้างทั้งนี้ ทั้งโดยสมัครใจและโดยการเร่งรัดกะเกณฑ์ของพวกนายบ้าน ทุกคนมีสิทธิครอบครองแต่ในระยะที่ยังทําผลประโยชน์เท่านั้น กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินจึงเป็นกรรมสิทธิ์ที่เบาบางเต็มที

การที่พระเจ้าอู่ทองประกาศกึกก้องว่าที่ดินทั้งมวลเป็นของตนแต่ผู้เดียวนั้น โดยการปฏิบัติแล้วคําประกาศนี้มีผลเฉพาะในหมู่ไพร่เท่านั้น แต่ในหมู่เจ้าขุนมูลนายแล้ว คําประกาศนี้ไม่มีน้ำหนักมากเท่าใดนักพระเจ้าอู่ทองรวบอํานาจของที่ดินในบริเวณรัฐอยุธยาของตนไว้ได้เด็ดขาดจริง, แต่รัฐเล็กรัฐน้อยของพวกเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ที่ต่างก็เป็นเจ้าที่ดินใหญ่นั้น พระเจ้าอู่ทองหามีอํานาจเหนือเท่าใดนักไม่ ตัวอย่างก็คือรัฐสุพรรณภูมิของขุนหลวงพงัว รัฐนี้แข็งแรงใหญ่โต หลังจากพระเจ้าอู่ทองอพยพลงมาแล้ว ขุนหลวงพงัวก็ตั้งตนเป็นเจ้าครอบครองที่ดินแทน พอพระเจ้าอู่ทองตายลง ขุนหลวงพงัวก็ปลดแอกและช่วงชิงราชบัลลังก์อยุธยาไปเสียอย่างเหนาะๆ นอกจากรัฐสุพรรณภูมิแล้ว อยุธยายังต้องเผชิญกับการขัดแข็งของเจ้าขุนมูลนายอีกหลายรัฐต้องปราบปรามอยู่หลายสิบปี และท้ายที่สุดก็พยายามรวบอํานาจในที่ดินของสุโขทัยพากเพียรอยู่นานเต็มทีรบกันหลายครั้งในที่สุดก็รบชนะ แต่อยุธยาก็ยังไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของอาณาจักรสุโขทัยได้ สุโขทัยยังเข้มแข็งพอที่จะรักษาอํานาจเหนือที่ดินของตนไว้ได้ต่อมาในฐานะเจ้าประเทศราช เมื่อเช่นนี้ เจ้าที่ดินใหญ่อยุธยา จึงต้องใช้นโยบายสําคัญ ที่เรียกว่า "แบ่งแยกแล้วปกครอง" (Divided and Rule)๖๒ วิธีการก็คือยุยงให้พญาบาลเมือง (พี่) พญารามคําแหง (น้อง) ลูกเจ้ากรุงสุโขทัย ทะเลาะกันแย่งผลประโยชน์กัน ทั้งคู่รบกันเป็นสงครามกลางเมืองผู้คนล้มตายกันมากมาย จุดประสงค์ก็คือแย่งราชบัลลังก์กัน พอรบกันแล้วเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาก็เข้าแทรกแซง จัดการแบ่งอาณาเขตให้ทั้งสองฝ่ายปกครองเป็นสุโขทัยตะวันออก สุโขทัยตะวันตก ทางตะวันออกให้พญาบาลเมืองครอบครองตั้งเป็นเมืองหลวง ณ พิษณุโลก ส่วนพญารามคําแหงให้ครอบครองสุโขทัยตะวันตกตั้งเมืองหลวง ณ กําแพงเพชร๖๓ นี่เป็นขั้นแรก พอถึง พ.ศ. ๑๙๘๑ พญาบาลเมืองที่ครองพิษณุโลกตายลง เจ้าที่ดินใหญ่แห่งอยุธยาก็ประกาศล้มเลิกอาณาจักรสุโขทัย ริบเอาที่ดินทั้งมวลในกรรมสิทธิของพญาบาลเมืองและพญารามคําแหงมาเป็นของตนเองเสียดื้อๆ สุโขทัยโดนนโยบายแบ่งแยกและปกครองเข้ารูปนี้ ก็กลับตัวไม่ทัน จึงต้องยอมลงหัวให้แก่อยุธยา แต่พวกเจ้าขุนมูลนายเดิมทางสุโขทัยทั้งปวงก็พยายามหาทางสลัดแอกของเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาอยู่เสมอ บางพวกจึงหันไปพึ่งกําลังของท้าวลก (พระเจ้าติโลกราช) ศักดินาเชียงใหม่ให้ช่วยปลดแอกอยุธยาจากบ่าตน แต่กําลังของอยุธยาเข้มแข็งมากเสียแล้ว ความพยายามของพวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้นจึงเป็นอันล้มเหลว ที่ดินทั้งมวลของรัฐสุโขทัยแต่เดิมตกเป็นของเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาโดยตรงเป็นอันว่าระบบศักดินาของไทยเริ่มมีความมั่นคงแท้จริงภายหลังจากที่ได้รวบที่ดินของสุโขทัยเข้าไว้ได้นี่เอง

ความเคลื่อนไหวสุดท้ายเจ้าที่ดินใหญ่แห่งอยุธยากระทําเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบศักดินาก็คือ การออกกฏหมายศักดินาที่เรียกว่า "พระอัยการตําแหน่งนาทหารและพลเรือน" เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๘ กฏหมายฉบับนี้แหละที่ได้เป็นเครื่องมือสําคัญในการรักษาสถาบันของชนชั้นศักดินาไทยให้ยืนยาวอยู่ได้ จนกระทั่งถูกโค่นอํานาจทางการเมืองไปโดยการปฏิวัติของชนชั้นกลาง พ.ศ. ๒๔๗๕

ข้อความทั้งมวลที่ได้กล่าวมาในตอนที่ว่าด้วย "กําเนิดของระบบศักดินาในประเทศไทย" นี้ เป็นเพียงการสันนิษฐานด้วยอัตวิสัย โดยยึดหลักวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์เป็นแนวทาง ผู้ที่ศึกษาและอ้างอิงขอได้โปรดคํานึงถึงความจริงข้อนี้ไว้ในใจอย่างเคร่งครัด