โฉมหน้าศักดินาไทย/จากระบบชุมชนไทยบุพกาลมาสู่ระบบทาส
มาสู่ระบบทาส
ในตอนที่กล่าวถึงคํา "ไพร่ฟ้า" ได้วิเคราะห์กันแล้วว่า ไพร่ฟ้าเป็น "พวกเลกพวกไพร่" ซึ่งเป็นทั้งไพร่สม ไพร่หลวง เป็นทั้งเลกสักสมกําลังอันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของรูปแบบทางการเมืองในระบบศักดินา จึงทําให้น่าเชื่อว่าระบบศักดินาได้เกิดขึ้นแล้วในยุคสุโขทัย แต่เมื่อคํานึงถึงร่องรอยของระบบทาสในรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้า รัฐสิบสองเจ้าไทยและรัฐของขุนบูลมที่กล่าวมาแล้ว ก็น่าคิดว่าระบบศักดินาคงจะไม่เกิดก่อนสมัยสุโขทัยนานนัก ทั้งนี้ เพราะพวกรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้า สิบสองเจ้าไทย และขุนบูลมเหล่านี้ อยู่ถัดสมัยสุโขทัยขึ้นไปไม่นานเท่าใดนัก (ราว ๔๐๐ ปี)
การวิเคราะห์ความคลี่คลายแห่งระบบผลิตของสังคมไทยที่เรากําลังพยายามค้นคว้าสันนิษฐานกันอยู่นี้ บางทีอาจจะช่วยให้กระจ่างขึ้น ถ้าเราจะมองออกไปยังสังคมของชนเชื้ อชาติไทยในดินแดนอื่นๆ สังคมของชนชาติไทยที่จะพิจารณาเป็นลําดับแรกก็คือ สังคมของชนชาติไทยในตังเกี๋ย สมัยก่อนที่จะมีการแบ่งปันประเทศเวียดนามออกเป็นสองภาค คือเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
ในสังคมของพวกไทยที่อาศัยอยู่ตามภูเขาในตังเกี๋ย ความสัมพันธ์ในการผลิตของเขามีดังนี้ คือ "ผู้เป็นกวานเจ้า๓๐ เป็นเจ้าของที่ดินทั่วอาณาเขตที่ตนมีอํานาจปกครอง ชาวนาจึงไม่เป็นเจ้าของที่ที่ตนทํา ไม่มีสิทธิ์ที่จะโอนให้แก่ใคร และเมื่ออพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่นก็ต้องเวนคืนที่แก่กวานบ้าน๓๑ เพื่อให้กวานบ้านแบ่งปันไปให้กับชาวบ้านที่เหลืออยู่"๓๒ นอกจากนั้นก็มีพวกชนชาติไทยที่เรียกว่า "เมือง" ซึ่งอยู่ในบริเวณภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของตังเกี๋ย ความสัมพันธ์ในการผลิตของเขาก็คือเป็น "กวนลาง" หรือ "โถตี" คือหัวหน้า "ถือตนเป็นเจ้าของที่ดินทุกแปลงในอาณาเขต ทั้งแปลงที่มีผู้ทําเป็นนาเป็นสวนและแปลงซึ่งยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าด้วย หากให้ราษฎรเข้าครอบครองอยู่ก็โดยทรงเมตตาให้อยู่"๓๓ การถือสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินนี้ ผู้เป็นกวานเจ้ามิได้ถือกรรมสิทธิ์ ไว้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินดังเช่นเจ้า ที่ดินของระบบศักดินา หากเป็นเพียงประมุขผู้เป็นหลัก และเป็นผู้แบ่งปันที่ดินให้แก่ประชาชนมากบ้างน้อยบ้างตามตามตําแหน่งและอํานาจตามที่ได้แต่งตั้งกันไว้ ในชุมนุมเชื้อชาติไทยที่อาศัยอยู่ตามภูเขาประเทศตังเกี๋ย ผู้เป็นกวานจะเลือกเอาที่ดินแปลงใหญ่ๆ ไว้เพื่อตนเองเสียก่อนแล้วประทานแปลงที่มีขนาดรองลงมา (แต่ยังมีขนาดใหญ่) ให้แก่ผู้เป็น "เจ้าของ" หรือ "เทอหลาย" ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการบริหารบ้านเมืองและเป็นที่สองรองจากกวานเจ้า เสร็จขั้นนี้ แล้วกวานเจ้ายังแบ่งปันที่ดินให้แก่นายบ้านทุกคน ที่ที่แบ่งให้มีขนาดเล็กลงอีกขนาดหนึ่ง ต่อจากนั้นก็แบ่งให้แก่ท้าวทุกคนลดหลั่นลงตามฐานะและยศศักดิ์ ลักษณะเช่นนี้ทําทีคล้ายกับระบบศักดินา แต่หากไม่ใช่ ทั้งนี้เพราะพวกนายบ้านซึ่งเรียกว่ากวานบ้าน นั่นคือหัวหน้าของหมู่บ้านได้ทําการแบ่งปันที่นาให้แก่ครัวเรือนต่างๆ อีกทอดหนึ่งสําหรับทํามาหากินโดยมิได้เรียกร้องค่าเช่า เมื่อชาวบ้านคนหนึ่งอพยพออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ต้องเวนคืนที่ดินไปให้นายบ้าน (กวานบ้าน) เมื่อกวานบ้านรับที่ดินคืนมาแล้วก็จัดการแบ่งปันที่ดินกันใหม่ในหมู่คนที่ยังอยู่ หรือถ้ามีคนเพิ่มเข้ามาอยู่ใหม่ ก็ต้องมีการแบ่งปันที่นากันใหม่ พวกไทยขาวที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำแดง (ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม-เวียดนามเหนือ) ก็เคยมีประเพณีเดิมอยู่อย่างหนึ่งคือจัดการแบ่งปันที่นากันใหม่ทุกๆ สามปี ระหว่างครัวเรือนหนึ่งๆ ที่นาที่แต่ละครัวได้รับจากการแบ่งปันนั้นยึดถือเอาจํานวนคนในครัวเรือนเป็นมาตรฐานสําหรับคํานวณส่วนแบ่ง (ประเพณีนี้เลิกเสียนานแล้ว) วิธีแบ่งของเขาก็คือแบ่งนาออกเป็นแปลงๆ แล้วแต่ละครัวเรือนก็มาจับฉลากเอา เมื่อพ้นสามปีแล้ว ก็นําที่นามารวมกันเป็นผืนเดียวแล้วจับฉลากใหม่ ในการแบ่งปันที่นานี้โดยมากนายบ้านมักจะสงวนนาไว้ให้แก่ผู้มีตําแหน่งในการบริหารบ้านเมืองอันเป็นอภิสิทธิ์ที่ให้ตอบแทนหน้าที่บริหารของพวกนั้น และนาของพวกที่ทําหน้าที่บริหารนี้พวกชาวบ้านจะถูกเกณฑ์มาทําแทนให้๓๔ การเกณฑ์แรงงานชาวบ้านมาทํานาของพวกผู้บริหารบ้านเมืองนี้ใกล้กันกับการเกณฑ์แรงของระบบศักดินา แต่ทว่าไม่ใช่ ทั้งนี้ เพราะผู้บริหารมิได้เป็นเจ้าขุนมูลนายที่ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเด็ดขาดไว้ในมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และชาวบ้านก็มิได้เป็นเลกเป็นไพร่อย่างระบบศักดินาระบบการผลิตของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมานี้ ลักษณะของมันใกล้เคียงไปในทางระบบชมรมกสิกรรมของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาล (Primitive commune) ซึ่งถือกันว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ยุคดึกดําบรรพ์ ระบบของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาลนี้ จะมีหัวหน้าชาติกุลใหญ่เทียบได้กับกวานเจ้า หัวหน้าชาติกุลใหญ่จะแบ่งปันที่ดินออกให้หัวหน้าครอบครัวแต่ละครัวไปทํามาหากินโดยมีกําหนดระยะเวลาและมีการแบ่งปันกันใหม่ทุกกําหนดระยะ เดิมทีเดียวหัวหน้าชาติกุลยังคงไถนาด้วยตนเอง แต่มาในตอนท้าย พวกที่มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของชุมชนและหัวหน้าชาติกุลใหญ่จะทําหน้าที่ทางบริหารของตนแต่ประการเดียว พวกสมาชิกในชาติกุลจะช่วยทํานาแทนให้ ซึ่งการนี้มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการขูดรีด จึงจะเรียกว่าระบบงานเกณฑ์อย่างของศักดินาไม่ได้ การเป็นผู้แบ่งปันที่ดินทําให้หัวหน้าชาติกุลและหัวหน้าหมู่บ้านเริ่มมีอภิสิทธิในการเลือกที่ดินไว้ก่อน อันนี้ ตรงกันกับลักษณะของชุมชนไทยในตังเกี๋ย และเมื่อได้แบ่งที่ดินกันเช่นนี้ นานเข้า ก็เกิดความเคยชินในการครอบครอง เกิดการครอบครองถาวรกันขึ้นและในที่สุดก็มีการรับช่วงมรดกเกิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตนขึ้น
หัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคของการถือกรรมสิทธิในที่ดินเป็นทรัพย์สินเอกชน พอจะมองเห็นได้จากชุมชนชาติไทยในบริเวณหัวพันประเทศลาว ในบริเวณนั้นยังคงใช้วิธีแบ่งปันที่ดินอยู่ แต่มิได้กระทําเป็นกําหนดระยะสม่ำเสมออย่างไทยขาว แต่ทํากันตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่นทําเมื่อผู้อยู่ในครอบครัวแยกครัวออกไปตั้งครัวใหม่ต่างหากหรือเมื่อมีคนเพิ่มเข้ามาสู่ชมรมใหม่ หรือในกรณีที่ชาวบ้านร้องค้านว่าที่ดินที่ตนทํากินอยู่นั้นทําประโยชน์ได้ยาก นั่นก็คือเกิดการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินระยะยาวไม่มีกําหนด พวกชุมชนชาติ "เมือง" ที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีการแบ่งปันที่ดินโดยพวกที่เป็นกวานลางและท้าว ถืออภิสิทธิ์เลือกที่ดินไว้ก่อน นาที่เหลือจึงปันไปสู่ครอบครัวมากบ้างน้อยบ้างตามกําลังผลิตและความต้องการของครอบครัวนั้นๆ แต่การแบ่งปันก็มิได้มีกําหนดระยะสม่ำเสมอ หากทําในแบบเดียวกันแถบหัวพันของลาว ฉะนั้นครอบครัวหนึ่งๆ จึงอาจครอบครองที่นาไปจนตลอดชีวิตของพ่อ เมื่อพ่อตายลง ลูกก็รับช่วงครอบครัวที่ดินต่อไป นี่ก็คือกําเนิดของทรัพย์สินเอกชนและการสืบมรดก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการแบ่งใหม่ได้ในกรณีที่จํานวนครอบครัวเปลี่ยนไป และการแบ่งใหม่นี้ โดยมากก็ไม่รวมเอานาทุกรายเข้ามารวมกันแล้วแบ่งกันใหม่ หากมักใช้วิธีนําเอานาบางรายมาแบ่งเท่านั้น
ลักษณะของการครอบครองที่ดินของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ตามการสํารวจปรากฏว่าอํานาจการครอบครองมักจะเริ่มมีระยะยาว ไม่เปลี่ยนมือกันบ่อยครั้งนัก ชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกขึ้นบ้างเล็กน้อยว่ามีกรรมสิทธิเหนือที่นา ในที่นี้ พึงสังเกตไว้ว่า ที่ดินที่จะต้องเวนคืนมาแบ่งปันกันใหม่นั้น มีแต่ที่นาแต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่ที่ใช้สําหรับปลูกเรือนพร้อมด้วยทําสวนครัวโดยมากไม่ต้องเวนคืนแบ่งปันใหม่ผืนดินที่ตั้งบ้านเรือนจึงเป็นกรรมสิทธิถาวรตกทอดไปสู่ลูกหลาน ในบางหมู่ก็ยอมให้ซื้อขายกันได้ด้วย ส่วนป่าดงรกร้าง ประมุขก็ถืออภิสิทธิ์ยึดเอาเป็นเจ้าของ ถ้าใครจะไปแผ้วถางก็จะมีสิทธิครอบครองเด็ดขาด แต่ต้องเสียภาษีให้แก่ประมุข ในชั้นหลังๆ ที่สุดนี้ แม้ที่นาก็ชักจะไม่ค่อยแบ่งปันกันนัก ระบบการแบ่งปันก็กําลังสูญหายไป ดังที่ได้เคยสูญไปแล้วในชุมชนไทยขาว นานๆ การแบ่งปันจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง โดยมากมักเป็นในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีกําลังลดน้อยลงไม่สามารถทํานาเต็มเนื้อที่ของตนได้ หรือในกรณีทึ่ครอบครัวสูญสิ้นไป เกิดมีที่นาว่างเปล่าขึ้น จึงแบ่งปันกันไปให้แก่ครัวเรือนที่มีกําลัง (หรือพลังการผลิต) มาก ในตอนนี้ พวกสกุลที่มีอิทธิพลมากจึงมักฉวยโอกาสยึดถือเอาที่นาว่างเปล่านั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วใช้ทาสทํานาบนที่ดินนั้น หรือไม่ก็จ้างเขาทํา๓๕
นี่คือระยะช่วงต่อระหว่างชุมชนบุพกาลกับสังคมทาส ลักษณะของชุมชนเชื้ อชาติไทยที่ระบบการแบ่งปันที่นากําลังสูญ ระบบกรรมสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนกําลังเริ่มต้นนี้ ก็คือการสลายตัวของ "ชมรมกสิกรรม" อันเป็นรูปแบบสุดท้ายของชุมชนบุพกาลนั่นเอง และจากจุดนี้ เองเมื่อมีการทําสงครามระหว่างชาติกุลหรือชมรมขึ้น เชลยที่จับได้มาก็จะได้รับการไว้ชีวิตและกดลงเป็นทาสเพื่อทําการผลิตในที่นาของแต่ละครัว ต่อจากนั้นสกุลโตๆ ที่ได้ใช้อิทธิพลขยายเขตที่นาดังกล่าวก็จะขยายเขตของตนออกไป จะโดยแย่งชิงขับไล่ราษฎรออกจากที่ทํากินเพื่อเข้าครอบครองเสียเอง๓๖ หรือจะโดยรุกรานเข้าไปยังที่ของชมรมอื่นหรือจะโดยให้ทาสหักร้างถางพงเพื่อจับจองก็ได้ทั้งสิ้น
เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ชมรมของชนชาติไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นชมรมกสิกรรมของปลายยุคชุมนุมชนบุพกาลหรือคอมมิวนิสต์ยุคดึกดําบรรพ์นี้ ดอกเตอร์ ร. แลงกาต์ อาจารย์ผู้ปาฐกถาวิชาประวัติศาสตร์กฏหมายไทยสําหรับชั้นปริญญาโท ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์กฏหมายไทย" ว่า
"ควรสังเกตว่า ระบอบที่ดินของชนเชื้อชาติไทยนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ถือว่า ที่ดินเพาะปลูกควรเป็นของกลางในหมู่ชนที่ผู้เป็นประมุขมิได้แทรกแซงแบ่งปันโดยเห็นแก่บุคคล แต่เอาใจใส่ให้การแบ่งปันไปตามระเบียบเรียบร้อย ก็เสมือนหนึ่งว่าที่ดินเป็นของประชาชนร่วมกัน นอกจากนี้โดยเหตุที่ชาวนาร่วมแรงกันทํานายืมปศุสัตว์และเครื่องมือซึ่งกันและกันและดําข้าวเกี่ยวข้าวด้วยกัน นักศึกษาขนบธรรมเนียมบางคนจึงกล่าวว่า ชุมชนเชื้อชาติไทยปฏิบัติตามลัทธิโซเชียลิสม์..."
ตามการศึกษาข้อเท็จจริงของชุมชนไทยที่ยังล้าหลังเช่นนี้ ทําให้เราพอจะสันนิษฐานได้ว่า ในยุคที่ไทยทั้งมวลแตกแยกออกจากกัน เพราะการรุกรานของจีนนั้น คงจะได้แยกออกมาในลักษณะของชมรมกสิกรรม อันเป็นระบบของชุมชนที่แยกกันอยู่เป็นชาติกุลใหญ่ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบ พ่อครัว (Patriachal Family) ของปลายยุคชมรมบุพกาล
พวกที่แตกแยกไปทางตะวันตก ได้พุ่งไปสู่แคว้นไทยใหญ่ตั้งเป็นชมรมขึ้น พวกนี้ต้องต่อสู้กับชนพื้นเมืองเดิมและอํานาจการปกครองของพม่า มอญ ระบบทาสจึงเกิดขึ้น และปรากฏออกมาในรูปรัฐประชาธิปไตยของนายทาสที่เรียกว่ารัฐ "สิบเก้าเจ้าฟ้า" และต่อจากนี้ ก็ได้แยกออกจากรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้ามุ่งเข้าสู่แคว้นอัสสัมกลายเป็นไทยอาหม ซึ่งพัฒนาระบบผลิตไปเป็นระบบศักดินา อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับศักดินาของไทยสมัยอยุธยา๓๗
ส่วนพวกที่กระจายไปทางตะวันออกได้เลยไปสู่ดินแดนตังเกี๋ย ไปหมกตัวอยู่ในทําเลป่าเขา การรบพุ่งกับอํานาจปกครองเดิมของท้องถิ่นไม่สู้มีปรากฏ จึงไม่เกิดระบบทาสขึ้นและยังคงพัฒนาระบบชมรมกสิกรรมของตนต่อไปตนมีลักษณะชนชั้นและการขูดรีดขึ้นภายในชมรม อันเป็นเงื่อนไขที่จะผ่านไปสู่ระบบทาสดังได้กล่าวมาแล้ว
ทางฝ่ายพวกที่พุ่งลงมาทางลําน้ำโขง เข้าสู่ดินแดนของแคว้นลานนา พวกนี้ต้องต่อสู้กับชนพื้นเมืองเดิมอย่างหนักหน่วง และขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับรัฐทาสของเขมรที่แผ่ขึ้นไปจนเลยเวียงจันทน์๓๘ เงื่อนไขจึงเปิดทางให้เกิดระบบทาสและรัฐทาสที่เรียกว่า "สิบสองเจ้าไทย" อันเป็นลักษณะของรัฐประชาธิปไตยของนายทาสขึ้น แล้วภายหลังจึงกลายมาเป็นรัฐศักดินาของราชอาณาจักรลานนา (ศรีสัตนาคนหุต) ในที่สุด
คราวนี้ก็มาถึงไทยพวกที่แตกกระเจิงลงมาทางลุ่มแม่น้ำปิงคือแคว้นลานนา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ แคว้นอยุธยา ไทยพวกที่ลงมาในทางนี้ ต้องปะทะกับชนพื้นเมืองเดิมหลายชนชาติเป็นต้นว่าชาติละว้าที่รบรับขับเคี่ยวกับไทยอยู่ได้พักหนึ่งก็ต้องอพยพหนีเข้าป่าเข้าดงไป นอกจากนั้นก็ต้องปะทะกับอํานาจการปกครองของมอญในแคว้นลําพูน (หริภุญชัย) ซึ่งพวกมอญนี้เองได้ถ่ายทอดกฏหมาย "ธรรมศาสตร์" อันเป็นแม่บทสําคัญในยุคนั้นไว้ให้ไทย นอกจากมอญ อํานาจที่เราต้องต่อสู้ขับเคี่ยว เดี๋ยวแพ้เดี๋ยวชนะไม่หยุดหย่อนก็คือเขมร พวกเขมรยกกองทัพออกตีต้อนเอาคนไทยคนมอญกลับไปเป็นทาสคราวละมากๆ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการสร้างเทวสถานหินขนาดใหญ่น้อยของตน พวกไทยที่ลงมาอาศัยและถูกกดขี่อยู่ในแคว้นมอญคงจะถูกกวาดต้อนไปเป็นทาสเชลยของเขมรสําหรับการที่ว่านับด้วยจํานวนไม่ถ้วน ที่กล่าวว่าพวกเขมรเที่ยวทําสงครามชิงทาสไปสร้างเทวสถานศิลานั้นไม่ใช่ยกเมฆเอาดื้อๆ การก่อสร้างปราสาทหินของเขมรได้ใช้พวกทาสเชลยจากแคว้นต่างๆ จํานวนมหึมาจริงๆ ตัวอย่างเช่น ปราสาทหินพระขันเหนือเมืองนครธมซึ่งสร้างในสมัยชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ ถึงหลัง ๑๗๔๔) มีคําจารึกของชัยวรมันเล่าไว้ว่า ได้ใช้ทาสเชลยทั้งชายหญิงจากประเทศจาม, ญวน, พุกาม และมอญ เป็นจํานวนถึง ๓๐๖,๓๗๒ คน๓๙ พวกไทยในแคว้นมอญก็คงรวมอยู่ในจํานวน "ผู้สร้างสรรค์" ที่ถูกกดขี่เหล่านี้ด้วย ครั้นพอพวกประเทศจามตั้งตัวติด ก็ยกพวกมาชิงทาสไปจากเขมรบ้าง เป็นสงครามชิงทาสระหว่างรัฐทาส พวกทาสเชลยไทยทั้งปวงก็ถูกต้อนไปเป็นทาสสําหรับงานโยธา สร้างเทวสถานศิลาในเมืองจามอีกทอดหนึ่ง ตรงนี้ ไม่ใช่นึกเดาเอาเอง มีหลักฐานอ้างอิงได้ กล่าวคือมีศิลาจารึกจามเล่าถึงการอุทิศถวายทาสให้เป็นผู้ทํางานรับใช้ในวัด (เทวสถานศิลาที่สร้างขึ้น) ของจาม ในนั้นมีระบุด้วยว่ามีทาส "สยาม" (เขาใช้คํานี้จริงๆ)๔๐ พวกทาส "สยาม" ที่จามได้ไปนี้ นอกจากจะได้ไปโดยการทําสงครามชิงทาสแล้ว ยังได้ไปโดยจับเป็นเชลยศึก ที่ว่าดังนี้ก็เพราะพวก "สยาม" ต้องถูกเกณฑ์ให้จัดกองทัพไปช่วยเขมรรบ ที่ว่านี้ก็มีหลักฐานอีกนั่นแหละ ใครที่ไปเที่ยวนครวัต จะได้เห็นภาพสลักนูน (Basrelief) บนผนังของระเบียงนครวัต (เหมือนระเบียงวัดพระแก้วของไทย) ตอนหนึ่งเป็นภาพการยกทัพของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๗-๑๖๘๘) ผู้สร้างนครวัต ในขบวนทัพนั้นกองหน้าสุดอันเป็นพวกทหารเลวตายก่อนก็คือพวก "สยาม" มีหนังสือเขียนบรรยายภาพเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งสองแห่ง นอกจากนั้นถัดมาเป็นอันดับที่สองคือตายที่สองก็คือพวกไพร่พลเมือง "ละโว้" มีคําจารึกบรรยายภาพไว้ด้วยเหมือนกัน๔๑
สภาพของชีวิตอันเกิดมีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงแหล่งทําเลทํามาหากินที่ไทยต้องทํากับชนพื้นเมืองเดิมก็ดีหรือการต่อสู้ช่วงชิงทาสระหว่างไทยกับรัฐทาสของเขมรก็ดี เหล่านี้ เป็นเงื่อนไขที่จะทําให้ระบบผลิตของสังคมไทยพัฒนาไปสู่ระบบทาสได้อย่างสมบูรณ์ การรบชนะเจ้าของดินถิ่นเดิมหรือรบชนะพวกชาติกุลอื่นทําให้ไม่จําเป็นต้องผลิตรวมหมู่แบบช่วยกันทําเหมือนสมัยชมรมกสิกรรมของยุคชุมชนบุพกาลอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะแต่ละครัวหรือสกุล ต่างมีทาสเชลยเป็นพลังแห่งการผลิต การผลิตโดยเอกเทศแบ่งแยกกันก็เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการขูดรีดแรงงานทาส
แต่ถึงอย่างไรก็ดี แม้จะได้เกิดรัฐทาสขึ้นแล้วลักษณะของการปกครองแบบพ่อครัว (Patriachal Family) ที่ไทยพวกนี้ เคยใช้มาแต่ยุคชุมชนบุพกาลก็ยังหาได้สูญสิ้นซากไปทีเดียวไม่ ไทยพวกนี้ ยังคงเรียกประมุขว่า "พ่อ" ดังจะเห็นได้จากที่ได้ตกทอดมาจนถึงสมัยสุโขทัย ในรัฐสุโขทัยเราก็ยังเรียกประมุขของรัฐว่า "พ่อขุน" และพวกข้ารัฐการ เราก็เรียกว่า "ลูกขุน" เป็นคําคู่กันอยู่นี่คือร่องรอยของระบบชุมชนยุคบุพกาลที่ตกทอดผ่านลงมาในสังคมทาส และในที่สุดก็มาสูญไปตอนที่สังคมได้กลายเป็นระบบศักดินาอย่างเต็มที่ และในยุคทาสนี้เอง ที่สรรพนามกูและมึงของเราเกิดถูกรังเกียจ เงื่อนไขของชนชั้นทางภาษาได้เกิดขึ้น กูและมึงใช้ได้เฉพาะกับผู้ที่เสมอกัน หรือผู้ที่โตกว่าเขื่องกว่าใช้กับผู้น้อย ถ้าเป็นทาสกับเจ้าทาสหรือข้ากับเจ้าข้าแล้ว พวกทาสต้องเรียกตัวเองว่า "ข้า" เรียกนายว่า "เจ้า" และเวลาตอบรับก็ต้องใช้คําว่า "เจ้าข้า" จะใช้คําว่า "เออ" อย่างมีภราดรภาพแบบเดิมไม่ได้เสียแล้ว
ด้วยหลักฐานอันยืดยาวประกอบกับข้อสันนิษฐานดังกล่าวมานี้เอง จึงทําให้น่าจะเชื่อถืออยู่ครามครันว่าสังคมไทยได้ผ่านยุคทาสมาแล้วช่วงระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ ๔๐๐ ปี และสังคมของไทยได้เริ่มคืบคลานไปสู่ระบบศักดินาในราวยุคสุโขทัย หรือแม้ก่อนหน้านั้นก็คงไม่กี่ปี