ข้ามไปเนื้อหา

โฉมหน้าศักดินาไทย/สังคมไทยกับระบบทาส

จาก วิกิซอร์ซ
สังคมไทยกับระบบทาส
 

ในการศึกษาถึงกําเนิดของระบบศักดินาไทย สิ่งแรกที่จักต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน ก็คือ ระบบศักดินาของไทยเป็นระบบที่ได้เกิดขึ้นโดยมีระบบทาสเป็นพื้นฐาน พูดง่ายๆ ก็คือสังคมของประชาชนไทยได้มีระบบทาสมาก่อนแล้วจึงพัฒนามาสู่ระบบศักดินา

ทําไม?

ที่ต้องวิเคราะห์ปัญหานี้ให้เข้าใจเสียก่อนก็เพราะนักประวัติศาสตร์ของฝ่ายศักดินาได้เพียรพยายามมานานนับด้วยสิบๆ ปีที่จะพิสูจน์ว่า สังคมไทยแต่เดิมก่อนที่จะลงมาอยู่ที่สุโขทัยหาได้มีระบบทาสไม่ ตามความเข้าใจของนักประวัติศาสตร์ศักดินานั้น ปรากฏว่าไทยไม่เคยมีระบบทาสเลย ทั้งนี้โดยอ้างว่าชื่อชนชาติที่เรียกว่า "ไทย" นั้นก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นเสรีชน (ไท) ตลอดมาแต่ไหนแต่ไร ระบบศักดินานั้นในทรรศนะของเขาอยู่ๆ ก็โผล่ผลัวะออกมาเฉยๆ โดยมิได้ผ่านการพัฒนาขั้นระบบทาส! การมีทาสกรรมกรใช้ของไทยในยุคศักดินานั้น มามีขึ้นก็เมื่อมาพบกับเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นว่าเป็นของดีก็เลยยืมมาใช้เล่นโก้ๆ ยังงั้นเอง!๒๓ พวกลูกหลานของบิดรแห่งประวัติศาสตร์ไทยทั้งปวงในชั้นหลังๆ ก็พยายามเจริญรอยตามคําสั่งสอนกันทั่วไปจนแพร่อยู่ตามในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยว่า สมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีทาส!

ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบที่โผล่ผลัวะออกมาได้เองโดยไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย ระบบศักดินามิใช่ระบบที่กษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งนึกสนุกตั้งขึ้นโดยเห็นว่าเป็นของดี หากระบบศักดินาเกิดขึ้นได้โดยผ่านการพัฒนาเป็นระดับขั้นของการผลิตเสียแล้ว ระบบศักดินาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นี่เป็นกฏทางภววิสัยอันตายตัว

แน่นอน ถ้าไม่มีระบบทาสอันเป็นพื้นฐานเสียก่อนแล้ว ระบบศักดินาย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด

ในยุค ชุมชนบุพกาล (Primitive Commune) มนุษย์ทุกคนเป็นเสรีชน ต่างคนต่างช่วยกันทําช่วยกันกิน มีหัวหน้าชาติกุลเป็นผู้นําของกลุ่ม กลุ่มหนึ่งๆ อาจมี ๕๐ คน หรือ ๑๐๐ คน ตามแต่ขนาดของสกุลหรือชาติกุล กลุ่มเหล่านี้ มีอยู่มากมายหลายร้อยหลายพันกลุ่ม แล้วใครหน้าไหนหนอที่จะมีอํานาจรวบเอากลุ่มทั้งปวงมากองไว้ที่ปลายตีน ริบเอาที่ดินและปัจจัยการผลิตของกลุ่มเหล่านั้นมาเป็นของตน ตั้งระบบศักดินาขึ้นแล้วแบ่งที่ดินออกไปให้แก่กลุ่มพวกพ้องของตนปกครองและทํามาหากิน? พระอินทร์ได้ยกพลลงมานับพันนับหมื่นเพื่อปราบกลุ่มชาติกุลเหล่านั้นแล้วสถาปนาระบบศักดินาขึ้นหรืออย่างไร?

ชาติกุลหนึ่งๆ ซึ่งมีกําลังเพียงหยิบมือเดียวไม่สามารถเที่ยวตระเวนริบที่ดินมาจากชาติกุลอื่นๆ นับเป็นร้อยๆ พันๆ แห่ง มาตั้งเป็นระบบศักดินาและเหยียดชนในชาติกุลอื่นลงมาเป็นเลกไพร่ได้เหนาะๆ อย่างที่คิดเดาเอาเลย

พัฒนาการแห่งการผลิตเท่านั้นที่กําหนดสภาพการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของสังคม ชาติกุลของชุมชนบุพกาลต้องรบพุ่งแย่งชิงอาหาร ที่ทางทํากินกันและกันอยู่นมนานเสียก่อน เมื่อชาติกุลหนึ่งชนะอีกชาติกุลหนึ่งก็ฆ่าทิ้งเสียทั้งหมดเพื่อให้สิ้นเสี้ยนหนาม ต่อมาภายหลังเกิดความคิดที่จะเก็บเอาพวกเชลยศึกไว้ใช้งานเพื่อให้ทําการผลิตแทนตน จึงได้เลิกฆ่าเชลยศึก พวกเชลยศึกจึงตกเป็นทาส เป็นเครื่องมือหรือปัจจัยแห่งการผลิตที่สําคัญ ชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาสจึงเกิดขึ้น นายทาสต่อนายทาสเกิดรบพุ่งชิงที่ทางทํามาหากินและชิงทาสกันและกันอีกนมนาน จึงเกิดนายทาสขนาดใหญ่ เกิดกลุ่มนายทาส เกิดรัฐทาส ซึ่งทาสทั้งมวลในรัฐทาสนี้ แหละจะกลายมาเป็นเลกของยุคศักดินาเมื่อรัฐทาสทลายลง

ถ้าไม่มีทาสมาก่อนแล้ว "เลก" ของศักดินาจะมาจากไหน? พระอินทร์ประทานลงมาจากสวรรค์กระนั้นหรือ?

การวิเคราะห์สังคมมนุษย์ โดยที่มิได้ยึดถือปัจจัยแห่งการผลิตหรือเครื่องมือในการทํามาหากินเป็นหลักและมิได้ยึดพัฒนาการของการผลิตเป็นแนวทางแล้ว ผลที่ได้ก็คือการโผล่ผลัวะขึ้นมาของระบบสังคมต่างๆ เช่นที่ปราชญ์ของศักดินาได้กระทํานี้อย่างไม่ต้องสงสัย

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นว่า ระบบศักดินาจําเป็นต้องเกิดขึ้นโดยผ่านพัฒนาการของสังคมทาสตามกฏทางภววิสัยของการผลิต นักประวัติศาสตร์กลุ่มศักดินาอาจจะสงสัยว่า มีร่องรอยอะไรบ้างไหมที่แสดงว่าไทยเคยมีระบบทาส และมีอะไรบ้างที่เป็นร่องรอยอันยืนยันได้จริงจังว่ายุคสุโขทัยนั้นมีทาส

ความสงสัยนี้ อาจขจัดให้หายไปได้ไม่ยาก หลักฐานที่จะแสดงว่าในยุคสุโขทัยเราก็มีทาส ก็คือศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงนั่นเอง

ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงตอนหนึ่งบรรยายถึงลักษณะการสืบมรดกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใด" เกิดล้มหายตายจากลง สมบัติของพ่อไม่ว่าจะเป็นเหย้าเรือนก็ดี ช้างก็ดี ขอสับหัวช้างก็ดี ลูกเมียก็ดี ฉางข้าวก็ดี "ไพร่ฟ้าข้าไท ป่าหมาก ป่าพลู" ก็ย่อมตกทอดไปเป็นสมบัติของลูกทั้งสิ้น

ขอให้สังเกตคําว่า "ไพร่ฟ้าข้าไท" ในที่นี้ให้ใกล้ชิด "ไพร่ฟ้า" ในที่นี้มิได้แปลว่า "ประชาชน" อย่างที่เราเข้าใจในภาษาปัจจุบันเด็ดขาด จารึกเล่าอวดไว้ว่า พ่อมันตายก็ยก "ไพร่ฟ้า" ของพ่อมันให้ลูกมันรับมรดกไป พ่อมันจะมี "ประชาชน" เป็นสมบัติได้อย่างไร ไพร่ฟ้าในที่นี้ ก็คือพวกไพร่สม, ไพร่หลวง หรือพวกเลกสักสมกําลังในสังกัดของพ่อเมื่อพ่อตาย "เลก" ก็ต้องโอนไปเข้าสังกัดของลูกมันตามธรรมเนียมขอให้สังเกตด้วยว่าศิลาจารึกนี้ ใช้คําว่า "ไพร่ฟ้า" ในความหมายดังกล่าว พยานอีกอันหนึ่งก็คือ ตอนที่จารึกเล่าถึงเล่าถึงการรบระหว่างขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตอนนี้ ได้กล่าวถึงขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก "พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย (คือโอบเข้าทางปีกซ้าย) ขุนสามชนขับเข้ามาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (คือกระจkยกําลังล้อมเข้ามา) พ่อกูหนีญะญ่ายไพร่ฟ้าหน้าใสพ่ายจะแจ (คือหนีกระจัดกระจาย)" ในที่นี้ ไพร่ฟ้าหน้าใส ก็คือ ไพร่หลวง หรือทหาร ในระบบศักดินานั่นเอง! หาได้แปลว่า ประชาชน อย่างในภาษาไทยปัจจุบันไม่ ในกฏหมายลักษณะลักพาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๙) ก็เรียกพวกนี้ว่า "ไพร่ฟ้าข้าหลวง" บ้าง หรือ "ไพร่ฟ้าข้าคนหลวง" บ้าง๒๔ อันหมายถึงพวกไพร่ พวกเลกที่สักข้อมือลงสังกัดเป็นคนของหลวง ซึ่งปรกติก็อยู่ในความบังคับของพวกเจ้าขุนมูลนาย

การตีความคําว่า "ไพร่ฟ้า" ในที่นี้เป็นข้อพิสูจน์ทางภาษาที่จะแสดงถึงระบบศักดินาของสุโขทัย ยังไม่เกี่ยวกับร่องรอยของทาสที่พวกนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ของระบบศักดินาปรารถนา ร่องรอยของการมีทาสอยู่ที่คําว่า "ข้าไท"

พ่อขุนรามคําแหงเล่าอวดไว้ว่า พ่อมันตายก็ต้องยก "ไพร่ฟ้าข้าไท" ให้ลูกมันไป ข้าไท นี้ คืออะไร? "ไพร่ฟ้า" ก็คือ "ไพร่ของฟ้า" และแน่นอน "ข้าไท" ก็คือ "ข้าของไท" นั่นก็คือ "ทาส" นั่นเอง! "ข้าไท" ก็คือ "ทาสของเสรีชน"

การพิสูจน์ว่า ข้าก็คือ ทาสโดยใช้เหตุผลเพียงเท่านี้ บางทีจะยังไม่จุใจพวกนักพงศาวดารศักดินา จึงขอเสนอด้วยหลักฐานอีกอันหนึ่ง นั่นก็คือศิลาจารึกกฏหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย ซึ่งเข้าใจว่าได้จารึกลงในปี พ.ศ. ๑๙๑๖ ในกฏหมายนั้น มีตอนหนึ่งว่าด้วยการยักยอก "ข้า" ซึ่งจะขอคัดมาให้ได้อ่านและพิจารณากันดังนี้

"ครั้นรู้ว่า ข้า ท่านไปสู่ตนวันนั้นจวนค่ำ และบ่ทันส่งคืนข้า ท่าน...บ่เร่งเอาไปเวน (=คืน) แก่จ่าข้า ในรุ่งนั้นจ่าข้าสุภาบดีท่านหากรู้ (จงติดตาม) ไปหา (ข้า) ให้แก่เจ้าข้า หากละเมิดและไว้ ข้า ท่านพ้นสามวัน... ท่านจักให้ปรับไหมวันละหมื่นพัน..."๒๕

ตามที่ปรากฏในกฏหมายนี้ "ข้า" ก็คือ "ทาส" อย่างไม่ต้องสงสัย จ่าข้า ก็คือผู้มีหน้าที่เกี่ยวแก่การควบคุมดูแลทาส และ "เจ้าข้า" ก็คือ "เจ้าทาส" กฏหมายตอนนี้ ก็คือกฏหมายว่าด้วยการละเมิดทรัพย์สินนั่นก็คือการยักยอกทาสโดยแท้

ตามความจัดเจนเท่าที่ได้ผ่านมา พอยกหลักฐานอันนี้ พวกนักพงศาวดารของศักดินาก็โต้กลับมาว่ากฏหมายนี้ เป็นกฏหมายของกรุงสุโขทัยชั้นหลัง ทาสที่มีกล่าวถึงนั้น อาจจะเป็นการมีทาสที่รับเอาแบบอย่างขึ้นไปจากทางอยุธยาก็ได้ เขาโต้เช่นนี้จริงๆ

เมื่อเช่นนี้ ก็ขอพิสูจน์อีกครั้งหนึ่ง เอกสารที่จะพิสูจน์ก็คือศิลาจารึกครั้งสุโขทัยที่เพิ่งพบใหม่ อันเป็นจารึกที่ทําขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๕ ตอนหนึ่งในจารึกนั้นมีว่า

"ผิ (=แม้ว่า) ไพร่ ไท ช้าง ม้า ข้า... (จารึกลบ...)"๒๖

ประโยคนี้ แม้จะไม่จบ แต่มันก็บอกเราว่าในสุโขทัยมีทั้งไพร่ทั้งข้าสองอย่าง และอย่างที่สามคือ ไท (เสรีชน) ไพร่นั้นต้องเป็นคนละอย่างกับข้า เมื่อไพร่ก็คือเลกดังได้พิสูจน์มาแล้ว ข้ามันก็ต้องเป็นทาสจะเป็นอื่นไปไม่ได้ จริงอยู่เอกสารชิ้นนี้ เป็นเอกสารยุคปลายสมัยสุโขทัยลงมาก็จริง โดยตัวของมันเองแล้ว พวกศักดินาก็แย้งได้ตามเคยว่า ระบบข้าหรือทาสในที่นี้ สุโขทัยรับขึ้นไปจากอยุธยา แต่สิ่งที่เราต้องการพิสูจน์ให้พวกนักพงศาวดารศักดินาเห็นประจักษ์ก็คือ ในภาษาสมัยสุโขทัยนั้น ไพร่กับข้าแปลผิดกันแน่นอน ที่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงอันทําขึ้นตอนต้นของยุคสุโขทัยกล่าวถึงไพร่ด้วยข้าด้วยนั้นมันต้องหมายถึงเลกและทาส ตามคําแปลสมัยนั้นอย่างไม่มีข้อเถียง เมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคําแหงก็ปรากฏว่ามีทาสอย่างเถียงไม่ขึ้น

เมืองสุโขทัยที่ปราชญ์ฝ่ายศักดินาอวดอ้างว่ามีแต่ไทนั้น มีทาสอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าก็คือทาสและทาสก็คือข้า ข้าเป็นภาษาไทย ทาสเป็นภาษาบาลี เดี๋ยวนี้ เราก็ยังพูดกันว่า "ข้าทาสบริพาร"

สรรพนามของไทยเรามีคําคู่กันอยู่สองคําคือ ข้า (กู) และ เจ้า (มึง) ผู้พูดเรียกตัวเองว่าข้า ก็เพราะเป็นการพูดเพื่อถ่อมตนลงว่าตนเองเป็น "ทาส" เป็น "ขี้ข้า" ผู้ต่ำต้อย และขณะเดียวกันก็ยกย่องผู้ที่เราพูดด้วยว่า "เจ้า" อันหมายถึงผู้เป็นนายเป็นเจ้าของพวกทาส จะพูดกันอย่างมีภราดรภาพว่ากูว่ามึงก็เกรงใจกันเต็มที ไม่รู้ว่าคนที่พูดด้วยนั้นเป็นใครแน่ ถ้าได้รู้แน่ว่าเป็นชนชั้นทาสด้วยกัน เขาก็เป็นซัดกันด้วยคํากูคํามึงอย่างไม่มีปัญหา ส่วนคําตอบรับว่าเจ้าข้า, พระเจ้าข้า (ซึ่งเลื่อนมาเป็นค่ะ, เจ้าค่ะ, พะยะค่ะ) ก็แปลได้ว่า นายทาสอีกนั่นเอง เช่นพูดว่า "ไม่กินเจ้าข้า" ก็เท่ากับ "ผมไม่กินดอกท่านนายทาส" (เทียบ I don't eat, my lord.) คําว่าเจ้าข้านี้ ได้ใช้ในกฏหมายลักษณะลักพา (พ.ศ. ๑๘๙๙) ด้วยความหมายตรงกับคําว่าเจ้าทาส (เจ้าของทาส)

ถึงในภาษาของประชาชนลาวก็เช่นกัน ลาวเรียกทาสว่า ข้อย เช่น "ข้อยพาของเจ้ามันลักหนี"๒๗ ข้อยในที่นี้ ก็คือทาส และเจ้าในที่นี้ ก็คือนายทาส เวลาพูดประชาชนลาวก็นิยมเรียกตัวเองว่าข้อย เรียกผู้ที่ตนพูดด้วยว่าเจ้า ถ้าหากจะให้อ้างภาษาเขมรด้วย พวก เขมร เรียกตัวว่า ขญม ซึ่งก็แปลว่าทาส ที่ว่า ขญม ของเขมรแปลว่าทาสนี้ มิได้ยกเมฆเอาลอยๆ พวกเขมรปัจจุบันยังใช้คํานี้ เรียกพวกทาสอยู่ แม้ในศิลาจารึกสมัยสังคมทาสของเขมรเมื่อพันปี ก่อนหรือกว่านั้นก็เรียกพวกทาสด้วยคํานี้ทั้งนั้น

ร่องรอยของระบบสังคมที่กล่าวมานี้ เป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ในภาษา แน่นอน มันเป็นระเบียบวิธีพูดที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคทาสอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าไทยไม่ผ่านระบบทาส สรรพนามเช่นนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

เท่าที่พยายามพิสูจน์มานี้ อย่างน้อยก็คงจะพอลบล้างคําเอ่ยอ้างของฝ่ายนักประวัติศาสตร์ศักดินาได้โดยสิ้นเชิงแล้วว่าในสมัยสุโขทัยนั้นมีทาสแน่ๆ!

ส่วนร่องรอยของระบบทาสในสังคมไทยนั้น นอกจากเรื่องสรรพนามแล้ว ถ้าเราจะย้อนไปดูในประวัติศาสตร์เมื่อไทยเราตั้งมั่นอยู่ทางแคว้นไทยใหญ่ พวกนั้นก็ได้ปกครองกันเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจํานวน ๑๙ รัฐ แต่ละรัฐมีหัวหน้าเรียกว่า "เจ้าฟ้า" รัฐทั้งสิบเก้านี้ ได้รวมกันเป็นรัฐเดียวแบบสหภาพเรียกว่า "สิบเก้าเจ้าฟ้า" ลักษณะของการรวมกันแบบนี้ เป็นลักษณะของการปกครองแบบ "ประชาธิปไตยของนายทาส" ซึ่งเคยมีใช้มาแล้วในยุโรป เป็นต้นว่ารัฐทาสของโรมันและกรีกตลอดจนอารยันในอินเดีย ในทางแคว้น "สิบสองเจ้าไทย" ก็มีลักษณะส่อไปในทางประชาธิปไตยของนายทาสเช่นเดียวกัน พ่อขุนบูลม (หรือที่ลากเข้าวัดเป็นบรม) ผู้เป็นบรรพบุรุษของไทยและลาว ตามพงศาวดารก็ว่าได้ส่งลูกชายเจ็ดคนไปสร้างบ้านแปลงเมืองคนละแหล่งคนละทิศ นั่นก็คือคุมพวกข้าทาสไปตั้งกลุ่มชาติกุลใหม่แยกออกไปต่างหาก อันเป็นลักษณะของระบบชาติกุลในยุคทาส ซึ่งก็ตกทอดมาจากปลายยุคชุมชนบุพกาล นี่ยังนับว่าดีที่ส่งผู้ชายออกไปตั้งชาติกุลเพราะการใช้ผู้ชายไปตั้งชาติกุลนั้นย่อมแสดงว่าสังคมไทยพัฒนารวดเร็วผ่านพ้นคติถือสตรีเป็นใหญ่ (Mother Right) มาแล้วโดยสิ้นเชิง ในเมืองเขมรการส่งคนออกไปตั้งชาติกุลหรือขยายชาติกุลในยุคทาส (ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕) พวกเขมรยังส่งผู้หญิงออกไปตั้งหรือขยายชาติกุลอยู่ด้วยซ้ำไป ซึ่งระบบการถือผู้หญิงเป็นใหญ่นี้เป็นระบบที่อยู่ในต้นยุคชุมชนบุพกาลสมัยที่ยังสมรสหมู่เหมือนสัตว์นั่นทีเดียว๒๘

ร่องรอยของระบบทาสในสังคมไทยอีกแห่งหนึ่งก็คือ ข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงตอนที่เล่าว่า "ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตี" จารึกวัดป่ามะม่วงก็เล่าสรรเสริญคุณงามความกรุณาของพญาลือไท (หลานพ่อขุนรามคําแหง) ไว้ว่า "ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตี ย่อมเอามาเลี้ยงมาขุน บ่ให้ถึงที่ฉิบที่หาย"๒๙ ที่เอามาคุยอวดทําเขื่องๆ ไว้นี้ มิใช่เป็นประเพณีที่อยู่ๆ ก็คิดขึ้นได้เอง การไม่ฆ่าเชลยศึกเป็นคติที่เกิดขึ้นในปลายยุคชุมชนบุพกาลต่อยุคทาส ถ้าเราคํานึงว่าประเพณีต่างๆ ก็คือการสืบทอดความจัดเจนในชีวิตของมนุษย์ในข่ายการผลิตแล้ว เราก็จะต้องยอมรับว่าประเพณีเอาเชลยศึกมาเลี้ยงมาขุน มิให้ถึงแก่ฉิบหายตายโหงลงไปคามือนี้ย่อมเกิดขึ้นในสมัยสังคมทาสของไทยนั่นเอง

เท่าที่ได้อุตสาหะค้นหาหลักฐานมาแสดงยืดยาวในเรื่องทาสนี้ ก็เพื่อที่จะเลิกล้มความเชื่อถือในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน ที่ยึดถือตามนักประวัติศาสตร์ศักดินาว่ายุคสุโขทัยไม่มีทาสและไทยไม่เคยผ่านระบบทาสอันเป็นความเชื่อถือที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของกฏทางภววิสัยแห่งการพัฒนาสังคมเป็นจุดมุ่งหมายสําคัญ

เมื่อข้ออ้างของนักปราชญ์ศักดินามีเพียงประการเดียวว่า ไทย แปลว่า อิสระ ฉะนั้นคนไทยไม่เคยมีระบบทาสมาก่อน มาเพิ่งมีเอาในยุคหลังเพราะคบกับเขมร แต่หลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และภาษาที่ได้แสดงมาโดยลําดับมีมากมายหลายข้อเช่นนี้ ปราชญ์ทางพงศาสดารของศักดินาปัจจุบันจะยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวต่อไปอีกไหมหนอ?