ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 1

จาก วิกิซอร์ซ
ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร
๑ เรื่องดินแดนเขมร

มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ สุทธสมมติเทพยพงษวงษาดิศวรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสงกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๔ ในพระบรมราชวงศนี้ ครอบครองเป็นเจ้าของแดนดินซึ่งเป็นเขตแขวงเมืองถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั้งปวง แลเป็นที่พึ่งแก่เมืองประเทศราชต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง คือ เมืองลาว เมืองกัมพูชา แลมลายูประเทศ แลอื่น ๆ ให้ประกาศ[1] ความที่จะว่าต่อไปนี้แก่ชนทั้งปวงหรือผู้หนึ่งและพวกหนึ่งซึ่งจะได้อ่านแลฟังคำประกาศนี้ว่า ด้วยเมืองกัมพูชา คือ เมืองเขมร ที่มีชาวบ้านชาวเมืองเป็นชาติหนึ่งภาษาหนึ่งถือพระพุทธศาสนาโดยมาก แลปะปนด้วยแขกจาม แลจีน แลชนที่เป็นเชื้อสายฝรั่งเศสแลโปรตุเกศเดิมบ้าง ได้เป็นอาณาจักรน้อยตั้งอยู่ในระหว่างเขตแดนต่อกันกับพระราชอาณาจักรสยามแลอาณาจักรญวน เป็นแผ่นดินใหญ่ เพราะมีเจ้าแผ่นดินมีอำนาจกว่าเขมรทั้งสองฝ่าย เจ้านายฝ่ายเขมรมีอำนาจน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามและเจ้าแผ่นดินญวนมานานแล้ว แต่ได้ยินตามหนังสือพงศาวดารเมืองเหนือบ้าง ได้อ่านตามเสาศิลาจารึกของโบราณบ้าง ได้ความว่า ในก่อน ๗๐๐–๘๐๐ ปีแต่บัดนี้ขึ้นไปนั้น เมืองเขมรเป็นเมืองมีอำนาจใหญ่โตครอบงำมาจนถึงเมืองลพบุรี เมืองศรีอยุธยาเดิม แลเมืองไชยศรีที่แขวงนครไชยศรี แผ่นดินไทยฝ่ายใต้ทั้งปวงนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นแผ่นดินกัมพูชาต่อกันกับแผ่นดินมอญที่เรียกว่า เปกูหงษาวดี แผ่นดินไทยฝ่ายเหนือก็ยังต้องเสียส่วยส่งบรรณาการแก่เมืองเขมรอยู่ เมืองเขมรในครั้งนั้น พระนครทม ที่เรียกอีกคำหนึ่งว่า พระนครหลวง เป็นเมืองหลวงของเขมร ว่า สร้างแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าเขมรชื่อ พระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ กว่า ๑,๐๐๐ ปีเศษมาแล้ว ภายหลัง อำนาจเจ้าแผ่นดินในวงศ์นั้นเสื่อมไปในประเทศแผ่นดินเขมรนั้นเอง เมืองไกล ๆ ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่เป็นเจ้าแข็งเมืองขึ้นในที่ต่าง ๆ แล้วก็รบพุ่งกัน ด้วยเหตุนั้น จึงได้ยินเรื่องแต่โบราณว่า เมืองศรีอยุธยาเดิมก็ดี เมืองลพบุรีก็ดี เมืองไชยศรีก็ดี ก็ได้มีผู้ตั้งตัวเป็นเจ้ายกยศเป็นพระมหานครทุกเมืองก่อนแต่ ๗๐๐–๘๐๐ ปีภายหลังแต่นี้ขึ้นไป ครั้นภายหลังก่อนแต่บัดนี้ขึ้นไปในระหว่าง ๖๐๐–๗๐๐ ปีนั้น สมเด็จพระร่วง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอรุณราช เป็นพระเจ้ากรุงสยามฝ่ายเหนือ เสด็จคอรบครองเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย ที่เรียกว่า เมืองสวรรคโลก ได้มีอำนาจเอาไชยชนะตลอดลงมาจนกระทั่งถึงชายทะเล จนถึงเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องมาเป็นเมืองออกถวายบรรณาการแก่กรุงสุโขทัย กรุงศรีสัชนาลัย ได้ความว่า ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอรุณราชได้ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมเสียส่วยแก่เมืองเขมร เพราะได้กระด้างกระเดื่องต่อเมืองเขมรแต่ครั้งพระเจ้าธรรมาโศกราช ผู้สมเด็จพระบิดาสมเด็จพระร่วงนั้น มาแล้ว ฝ่ายเขมรก็มีอำนาจอ่อนมานานแล้ว หาอาจทำประการใดได้ไม่ ถึงแผ่นดินเขมรที่มาเป็นส่วนฝ่ายใต้ของแผ่นดินไทยนั้นก็แข็งเมืองแก่เมืองหลวงพระนครทมนั้นมาเสียนานแล้ว ต่อภายหลัง สมเด็จพระร่วงได้เสวยสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอรุณราชแล้ว จึงได้ไชยชำนะประเทศของเมืองเขมรที่แข็งเมืองแก่เมืองหลวงนครทมอยู่นั้นมาอยู่ในอำนาจ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ได้เป็นศึกกับเมืองหลวงนครทมเพราะเหตุที่ไปเอาประเทศแผ่นดินเขมรเดิมมาเป็นแผ่นดินของไทยนั้น ตั้งแต่นั้นมา ประเทศแผ่นดินฝ่ายใต้ตั้งแต่เมืองไชยนาทลงมาจนกระทั่งทะเลก็ได้มีนามว่า เป็นเมืองไทยใต้ เชื้อวงศ์เจ้านายฝ่ายเขมรที่เนื่องลงมาแต่พระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ ผู้สร้างพระนครทมนั้น ก็สาบสูญสิ้นไป สุดพระวงศ์ลงเพียงเจ้าหญิงเป็นราชินีขึ้นครองแผ่นดิน เพราะไม่มีเจ้าผู้ชายจะสืบพระวงศ์ เจ้าผู้หญิงนั้น มีคำเล่ามาว่า ครั้นได้สมบัติเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว พระยาพระเขมรทั้งปวงยอมให้หาชายไว้ใช้ชิดตามชอบพระทัย เจ้าผู้หญิงราชินีพระองค์นั้นป่าวร้องให้หาชายที่รูปงามมาเลือกทุกบ้านทุกเมือง แลแต่งคนให้ไปเที่ยวสืบหาชายรูปงามในแผ่นดินใกล้เคียงต่าง ๆ ด้วย ภายหลัง เลือกได้ชายรูปงามในเขมรสองคนเอามาเลี้ยงไว้ใช้ชิดในวัง แล้วยังให้สืบเสาะหาต่อไป ภายหลัง ผู้รับอาษาไปเที่ยวสืบแต่ไกลได้ชายไปแต่แผ่นดินเขมรเก่าซึ่งกลายเป็นแผ่นดินไทยฝ่ายใต้แล้วนั้นคนหนึ่งพาไปถวายราชินีเจ้าแผ่นดินเขมร ๆ ก็ชอบพระทัยชายคนนั้น จะรับเลี้ยงไว้ด้วย ชายทั้งสองที่อยู่ก่อนมีความหึงหวง ไม่ยอมให้อยู่ ชายที่เลือกไปจากแผ่นดินไทยนั้นก็ไม่ยอมอยู่ จะใคร่มาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมใกล้พระบิดามารดาแลญาติ เจ้าแผ่นดินเขมรจึ่งได้มาขอแต่ผู้ครองฝ่ายไทยสร้างเมืองเมืองหนึ่ง คือ เมืองนครนายก อยู่ในแผ่นดินไทยฝ่ายใต้ใกล้กับอาณาจักรเมืองเขมร ให้ชายผู้นั้นกับบิดามารดาแลญาติอยู่ ผู้ครองฝ่ายไทยก็ยอมให้สร้าง ครั้นสร้างเมืองนครนายกแล้ว ราชินีเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงก็เสด็จมาอยู่ที่เมืองนครนายกกับชายผู้นั้นบ้าง กลับไปเมืองหลวงพระนครทมบ้าง ครั้นเมื่อไป ๆ มา ๆ อยู่ดังนี้ ได้ยินว่า ราชินีเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงนั้นก็ประชวรสิ้นพระชนม์เสีย ไม่มีราชบุตรสืบพระวงศ์ต่อไป จึ่งมีเขมรในพระนครทมที่คนนับถือมากตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินเขมรมาหลายชั่วตระกูลจนถึงเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่สุดวงศ์นั้น ในครั้งนั้น มีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นชาวไร่แตง ปลูกแตงมีรสอันหวานมากกว่าแตงเจ้าของอื่นในแผ่นดินเขมรเป็นอัศจรรย์ ไพร่บ้านพลเมืองเล่าลือกันว่า บุรุษผู้นั้นอัศจรรย์ มีบุญมาก นับถือมาก เจ้าแผ่นดินเมืองเขมรจึ่งให้หาบุรุษนั้นมาบังคับว่า แตงในไร่ของบุรุษนั้นมีเท่าไร ให้มาขายแก่ในหลวงทั้งสิ้น อย่าให้ขายแก่ผู้อื่นเลย ถ้ามีผู้ใดเข้าไปลักแตง ให้ฆ่าเสีย ครั้นภายหลังมา เจ้าแผ่นดินองค์นั้นทราบว่า ชาวบ้านชาวเมืองนับถือบุรุษชาวไร่แตงหวานนั้นมาก ก็มีจิตคิดริษยา จะใช้ผู้อื่นไปทำร้ายแก่บุรุษนั้น ก็ไม่ไว้วางพระทัย เวลากลางคืน จึงลอบเสด็จเข้าไป ด้วยหวังว่า จะทำร้ายแก่บุรุษเจ้าของไร่แตง บุรุษเจ้าของไร่แตงสำคัญว่า โจร ก็ให้ประหารด้วยหอก เจ้าแผ่นดินเขมรองค์นั้นสิ้นชีวิตอยู่ในไร่แตงนั้น ครั้งนั้น คนทั้งปวงเป็นอันมากเห็นพร้อมกันว่า บุรุษเจ้าของไร่แตงหวานนั้นเป็นผู้มีบุญแท้ จึ่งบันดาลให้เจ้าแผ่นดินนั้นบัญชาสั่งให้อาญาสิทธิให้ฆ่าคนเป็นผู้ร้ายลักแตง แล้วเสด็จเข้าไปให้บุรุษนั้นฆ่าเสียเองเป็นอัศจรรย์ ถ้าจะยกแผ่นดินไปให้ผู้อื่น บ้านเมืองก็จะไม่เป็นสุขต่อไป เจ้าแผ่นดินที่สิ้นชีวิตแล้วนั้น ก็ไม่มีราชบุตรราชนัดดาที่เป็นชาย มีแต่ราชธิดาอยู่องค์หนึ่ง ครั้นจะยกขึ้นให้เป็นราชินีเหมือนอย่างครั้งหลังในที่สุดพระวงศ์สมเด็จพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์นั้น ก็กลัวจะวุ่นวายหาชายสองชายสามไปอย่างก่อน เพราะฉะนั้น จึ่งได้ปรึกษาพร้อมกันอัญเชิญชายชาวไร่แตงหวานนั้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้อยู่กับราชธิดา เรียกว่า พระเจ้าแตงหวาน จึ่งได้มีราชโอรสราชนัดดาปนัดดาสืบ ๆ ต่อมาจนเจ้านายฝ่ายเขมรในกาลบัดนี้นาน ๕๐๐ ปีขึ้นไป ๖๐๐ ปีลงมา วงศ์แตงหวานนี้ตั้งขึ้นเมื่อแผ่นดินเขมรมีอำนาจอ่อนหย่อนไปแล้วนาน หาได้เป็นเจ้าของแผ่นดินใหญ่ดังกล่าวแล้วนั้นไม่ ถึงกระนั้น เพราะเจ้านายฝ่ายเขมรพวกแตงหวานนั้นมีเชื้อวงศ์สืบสาวยาวยืดต่อมาในผู้ครองแผ่นดินเขมรนั้นนานกว่า ๕๐๐–๖๐๐ ปีมาแล้ว สกุลเจ้าจำพวกนี้จึ่งเป็นที่นับถือของเขมรทั้งแผ่นดินกัมพูชามาก แต่เพราะเจ้าแผ่นดินเมืองเขมรอำนาจน้อย มีเมืองตั้งอยู่ในระหว่างเมืองมีอำนาจใหญ่ทั้งสอง ต้องฝากตัวอ่อนน้อมพึ่งพิงอิงอาศัยเมืองไทยบ้าง เมืองญวนบ้าง เมื่อใดขุ่นข้องหมองหมางกับไทย ก็เหหันผันไปพึ่งพิงอิงเมืองญวน เมื่อถูกรบกวนรังแกแต่ญวนแล้ว ก็กลับป่วนปรวนเปรเหมาหาไทยเล่า ลางทีเจ้านายฝ่ายเขมรนั้นเกิดวิวาทกันแล้วก็ย้ายแยกแตกเป็นพวกเป็นเหล่า ข้างหนึ่งไปพึ่งญวน ข้างหนึ่งมาพึ่งไทย รบกวนกันไป ข้างไหนมีกำลังขึ้นได้เป็นเจ้าเป็นนาย เจ้านั้นนายนั้นสนัดนับถือข้างไหน ก็พาไพร่บ้านพลเมืองโอนอ่อนไปอยู่ข้างนั้น ถ้ามิใช่เจ้าในสกุลนี้แล้ว จะให้ผู้อื่นแม้นเป็นเขมรด้วยกันก็ดีให้ได้ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรไม่ได้ ไม่มีใครยินยอมเลย คงต้องเลือกสันจัดเอาผู้ซึ่งเกิดในสกุลเจ้านั้น คือ ผู้ใดจะเป็นที่ชอบใจของชนทั้งปวงนั้น ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองเขมร จะว่าแต่การในเร็ว ๆ ภายใน ๑๐๐ ปีลงมา ตั้งแต่เวลาองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตนซึ่งเป็นอัยกาธิบดีขององค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีที่ถึงพิราลัยไปในเร็ว ๆ ยังไม่ลุเลิกศพอยู่ที่เมืองอุดงมีไชยบัดนี้นั้น แต่ครั้งแผ่นดินกรุงพระมหานครศรีอยุธยาโบราณราชธานี ก็ได้เคยมาพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเก่า ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเมืองออกอ่อนน้อม ครั้นกรุงศรีอยุธยาเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว จึ่งหันไปพึ่งพิงอิงอำนาจเจ้าเวียดนามเก่า ครั้นเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้น สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน วิวาทรบกันขึ้นกับนักองค์ราม[2] ซึ่งเป็นญาติอยู่ในเชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินเมืองเขมรเก่าด้วยกัน นกองค์รามรามแพ้สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ๆ ให้จับนักองค์ราม นักองค์รามหนีได้ จึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์อยู่กับเจ้ากรุงธนบุรี ๆ จะช่วยนักองค์รามให้ได้เมืองเขมร จึ่งแต่งผู้รับใช้ให้ไปทวงดอกไม้เงินดอกไม้ทองว่า สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน แต่ก่อนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่า เคยมาอ่อนน้อมคำนับถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเครื่องราชบรรณาการอยู่อย่างไร บัดนี้ เมืองไทยมีเจ้าแผ่นดินใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว ให้เมืองเขมรอ่อนน้อมถวายบรรณาการอย่างแต่ก่อน องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ไม่ยอม เถียงว่า มิใช่วงศ์พระเจ้าแผ่นดินเก่า เจ้ากรุงธนบุรีจึ่งแต่งกองทัพใหญ่ออกไปทั้งทางบกทางเรือ จะตีเอาเมืองเขมรทั้งสิ้นให้แก่นักองค์ราม ครั้งนั้น สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน สู้ไม่ได้ ต้องทิ้งเมืองบรรทายเพชรไปอาศัยแผ่นดินญวน ภายหลัง เจ้าเวียดนามเก่าช่วย จึ่งได้คืนมาอยู่เมืองบรรทายเพชรดังเก่า ถึงกระนั้น เจ้ากรุงธนบุรียังได้เขตแดนเขมรไว้ในอำนาจหลายเมือง จึ่งให้นักพระองค์รามไปตั้งอยู่ที่เมืองกำปอดแล้วคิดอ่านรบกวนเขมรต่อไป ครั้งนั้น อำนาจญวนอ่อนลงเพราะมีศึกข้างเมืองตังเกี๋ย ไม่ใคร่จะมาช่วยเขมรได้ถนัด องค์สมเด็จพระอุทยราชาธิราช ตน จึ่งมายอมอ่อนน้อมคำนับถวายบรรณาการแก่เจ้ากรุงธนบุรี ภายหลัง เมื่อชราลงแล้ว มีความกริ่งเกรงว่า นักองค์รามจะพึ่งบุญเจ้ากรุงธนบุรีแล้วคิดอ่านเอาเมืองเขมรทำอันตรายแก่บุตรหลานและพระยาพระเขมรทั้งปวงต่อไป จึ่งได้เอาใจดีต่อ ยอมยกแผ่นดินเขมรให้แก่นักองค์ราม แล้วขอตัวออกจากที่เจ้ากรุงกัมพูชา แล้วอยู่ไปไม่ช้าก็ถึงแก่พิราลัย นักองค์รามได้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองเขมรแล้วมีนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แล้วก็มาพึ่งพิงอิงอาศัยอยู่ในอำนาจเจ้ากรุงธนบุรีฝ่ายเดียว ไม่ได้พึ่งญวน ครั้นสืบมา องค์สมเด็จพระรามาธิบดีนั้นมีความขุ่นข้องหมองหมางกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายนาย เพราะการดุร้ายต่าง ๆ พระยาพระเขมรพวกนั้นก็กลับไปพึ่งพิงอิงอำนาจญวน แล้วคิดการกระด้างกระเดื่องต่อสู้กับสมเด็จพระรามาธิบดี จับสมเด็จพระรามาธิบดี โนน สำเร็จโทษเสีย แล้วยกย่องนักพระองค์เอง ผู้ราชดนัยน้อยของสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน มีพระชนม์พรรษาเพียง ๗ ปี ขึ้นเป็นที่เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี แล้วพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ ๓ นายซึ่งคิดร้ายแก่สมเด็จพระรามาธิบดี โนน นั้น ว่ากล่าวราชการบ้านเมืองอยู่ เจ้ากรุงธนบุรีทราบเหตุแล้ว ให้มีท้องตราไปขอเอาตัวพระยายมราช แบน ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระรามาธิบดี โนน นั้นเข้ามาไล่เลียงไต่ถาม ได้ความว่า พวกพระยาพระเขมรซึ่งคิดร้ายแก่องค์สมเด็จพระรามาธิบดี โนน นั้น คิดอ่านไปสมคบเอาอำนาจองญวนที่เมืองไซ่ง่อนเป็นที่พึ่ง เจ้ากรุงธนบุรีมีความพิโรธ จึ่งให้จัดแจงแต่งกองทัพใหญ่ยกออกไปกำราบปราบปรามเมืองเขมรเพื่อจะให้คืนมาอยู่ในอำนาจ แล้วจะจัดแจงการบ้านเมืองเสียใหม่ กองทัพยกไปถึงเมืองบัตบอง แลเมืองนครวัด แล้ว ฝ่ายพระยาพระเขมรสามนายนั้นก็จัดแจงแต่งตั้งกองทัพสู้เป็นสามารถ การกองทัพทั้งสองฝ่ายยังรั้งรอเป็นเชิงกันอยู่ ยังไม่ได้รับกัน ฝ่ายข้างกรุงธนบุรีนั้น เจ้ากรุงธนบุรีเสียอารมณ์ไป ประพฤติการผิดต่าง ๆ ก่อเหตุให้บ้านเมืองเป็นจลาจล จนถึงมีคนร้ายเข้าคิดกันเป็นอันมากล้อมวังจับเจ้ากรุงธนบุรีเสีย เมื่อฝ่ายกรุงธนบุรีมีเหตุใหญ่ดังนี้ กองทัพไทยที่ยกไปก็ต้องยกกลับมาจัดแจงการบ้านเมืองฝ่ายสยามให้เรียบร้อยราบคาบ การที่เรื่องเมืองเขมรก็เป็นอันรั้งรออยู่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยานี้ขึ้น ทรงทำนุบำรุงแผ่นดินฝ่ายสยามนี้ให้มีอำนาจเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ฝ่ายพระยาพระเขมรสามนายซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเขมรในครั้งนั้นก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ เขียนใบบอกเข้ามาอ่อนน้อมต่อพระบารมีให้กราบทูลขอพระยายมราช แบน ซึ่งเข้ามาค้างอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ก่อนนั้น ให้ออกไปช่วยราชการรักษาเมืองเขมร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดอำนวยให้ออกไปตามประสงค์ ครั้นพระยายมราช แบน ออกไปอยู่ในเมืองเขมรไม่ช้า ก็เกิดวิวาทกันขึ้นกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่สามนายนั้น เพราะคิดการบ้านเมืองมิต้องกัน พระยายมราช แบน จับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่สามนายนั้นฆ่าเสีย แล้วก็ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ทำนุบำรุงนักพระองค์เอง ซึ่งเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีชนมายุเยาว์นั้น รักษาแผ่นดินอยู่มาช้า พวกแขกจามเป็นอันมากคุมสมัครพรรคพวกทำการกระด้างกระเดื่องต่อผู้ครองแผ่นดินเมืองเขมร พระยายมราช แบน กับพระยาพระเขมร จะกำราบต่อสู้เอาชัยชนะมิได้ จึ่งได้พานักพระองค์เอง เจ้ากรุงกัมพูชา กับเจ้าผู้หญิง เป็นพระท้าวสององค์ เป็นพระเรียมสัตรีสององค์ เข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ภายหลัง พวกญวนทราบว่า เมืองเขมรเป็นจลาจล ก็ยกขึ้นมาช่วยกำจัดพวกแขกจามแล้วก็ยึดเอาเมืองเขมรฝ่ายใต้ไว้ในอำนาจ แต่เมืองเขมรฝ่ายเหนือ คือ เมืองบัตบอง เมืองนครวัด แลอื่น ๆ ยังคงอยู่ในอำนาจฝ่ายกรุงเทพมหานคร ภายหลัง เจ้าเวียดนามเสียเมืองเว้แก่องไกเซิน ญวนสิ้นอำนาจไป องเชียงสือ บุตรเจ้าเวียดนาม ต้องทิ้งเมืองหนีเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น ญวนที่เข้ามาครอบงำยึดเอาเมืองเขมรไว้นั้นก็เสื่อมถอยน้อยอำนาจหลีกเลี่ยงไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึ่งมีพระราชโองการดำรัสให้พระยายมราช แบน กลับออกไปรักษาแผ่นดินเมืองเขมรทำนุบำรุงไว้ให้นักพระองค์เองซึ่งยังมีชนมานุเยาว์ย่อมอยู่ ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงทำนุบำรุงสั่งสอนอยู่ในกรุงเทพมหานครหลายปี ครั้นมาเมื่อปีขาล ฉศก ศักราช ๑๑๕๖[3] นักพระองค์เอง เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีชนมายุได้ ๒๑ จึงได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภิเศกให้มีนามว่า องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ มีสร้อยนามต่อไปอีกโดยสมควร พระราชทานเครื่องยศอย่างสูงเป็นเจ้าประเทศราชอย่างเอก แล้วโปรดให้ออกไปครอบครองแผ่นดินเมืองเขมรซึ่งแผ่นดินเดิมของพระบิดา คือ สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ตามสกุลวงศ์ แลให้สมประสงค์พระยาพระเขมรผู้น้อยผู้ใหญ่ตลอดลงไปจนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเมืองกัมพูชา โปรดให้องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแผ่นดินเขมรทั้งสิ้น ขอยกไว้แต่แดนดินของเขมรเป็นเอกเทศ คือ แขวงเมืองบัตบอง เมืองนครวัด ตัดพระราชทานให้อยู่ในอำนาจพระยายมราช แบน ซึ่งโปรดให้เป็นพระยาอภัยภูเบศร อยู่ครอบครอง แลยกมาขึ้นแก่กรุงเทพมหานครทีเดียว ไม่ได้ขึ้นแก่เมืองบรรทายเพชร เพราะทรงเห็นว่า พระยายมราช แบน เคยเป็นผู้ใหญ่ได้บังคับบัญชาการบ้านเมืองอยู่ช้านาน แลมีความชอบเป็นอันมากมาแต่ก่อน ที่เมืองบรรทายเพชรนั้น โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก เป็นผู้ใหญ่สิทธิ์ขาดในราชการ ทำนุบำรุงองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ให้ว่าราชการบ้านเมืองรักษาแผ่นดินโดยสุขสวัสดิ์เป็นประเทศราชใหญ่อันหนึ่งขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร ฝ่ายองเชียงสือ ราชบุตรเจ้าเวียดนามเก่า ซึ่งเข้ามาอาศัยพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น มีหนังสือเข้าออกกับพวกพ้องที่เมืองไซ่ง่อนให้ซ่องสุมผู้คนพลพาหนะได้มาก แล้วก็กราบถวายบังคมลากลับออกไปคิดอ่านทำศึกกับพวกองไกเซินอยู่ช้านาน ก่อนแต่กาลเมื่อองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีได้กลับออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้นมา ภายหลัง ก็ได้สมความปรารถนาโดยสวัสดีมีไชยได้ชนะพวกญวนไกเซินทั้งสิ้น ได้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองญวน มีอำนาจโตใหญ่ยิ่งกว่าเก่า ตั้งแต่นั้นมา ผู้ครองฝ่ายญวนก็กลับมีใจเอื้อมเอิบจะมาเกลี้ยกล่อมเอาเมืองเขมรไปให้อยู่ในอำนาจเหมือนอย่างครั้งสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ซึ่งเป็นพระบิดาขององค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เอง นั้น แต่องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เอง กับสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก ยังถือความซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพมหานครอยู่ ยังหาเข้าเกลี้ยกล่อมญวนไม่ เป็นแต่รับรองโอภาปราสัยพวกญวนที่ไปมาโดยฉันเมืองไมตรี องค์พระนารายน์รามาธิบดีได้เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีไม่ช้า อยู่ได้ ๓ ปี ได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่ง กลับออกไปแล้วก็ถึงแก่พิราลัย ในปีมะโรง ฉศก ศักราช ๑๑๕๘[4] องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เมื่อยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีราชดนัย ๔ คือ นักองค์จัน ๑ นักองค์พิม ๑ นักองค์สงวน ๑ นักองค์อิ่ม ๑ นักองค์สงวนนั้นเป็นน้องมารดาเดียวกับนักองค์จัน ครั้นเมื่อออกไปอยู่เมืองบรรทายเพชรพร้อมกับราชดนัยทั้ง ๔ นั้น จึ่งได้มีราชดนัยน้อยอีกองค์หนึ่ง ชื่อ นักองค์ด้วง ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีถึงพิราลัยแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก ก็ได้ยกย่องทำนุบำรุงนักองค์จันเป็นราชดนัยใหญ่ ซึ่งเมื่อพระบิดาถึงแก่พิราลัย มีชนมายุเพียง ๖ ขวบนั้น เป็นที่อ้างว่า เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี แล้วทำนุบำรุงรักษาแผ่นดินโดยความซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพมหานครอยู่ถึง ๙ ปี ในระหว่างนี้ นักองค์พิมถึงชีพิตักษัยเสีย ยังคงราชดนัยสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีแต่ ๔ เมื่อนักองค์จันมีชนมายุได้ ๑๕ สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะจึงได้พานักองค์จันเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อเข้ามาครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะป่วยถึงอสัญกรรมลงในกรุงเทพมหานคร จึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระราชทานเพลิง แล้วทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภิเศกนักองค์จันให้เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี พระราชเครื่องยศบรรดาศักดิ์เจ้าประเทศราชอย่างสูงเหมือนกับองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีผู้พระบิดาของนักองค์จันนั้น แล้วโปรดให้กลับออกไปครองแผ่นดินกัมพูชาโดยอย่างครั้งองค์สมเด็จพระรามาธิบดีนั้นทุกประการ พระยาพระเขมรสองนาย คือ พระยาจักรี ๑ พระยากลาโหม ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ใหญ่ช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช จัน ว่าราชการแผ่นดินดังสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะนั้นต่อมา ฝ่ายเจ้าเวียดนามยาลอง คือ องเชียงสือ เมื่อได้มีอำนาจใหญ่โตขึ้นแล้ว ครั้นทราบไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะซึ่งได้เป็นผู้ใหญ่รักษาเมืองเขมรแต่ก่อนนั้นถึงอสัญกรรมเสียแล้ว สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช จัน เจ้าเมืองเขมร มีชนมายุเพียง ๑๕–๑๖ ปี ดังนี้ ก็เห็นว่า เป็นท่วงทีที่จะเกลี้ยกล่อมนั้นมากเข้ากว่าแต่ก่อน ก็ยั่งยุองญวนเมืองไซ่ง่อนแลเมืองอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับเมืองเขมรให้ทำแก่เขมรต่าง ๆ คือ มาเกลี้ยกล่อมบ้าง ขู่เข็ญบ้าง เนือง ๆ มากไปกว่าแต่ก่อน ภายหลัง สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช จัน มีศุภอักษรให้เข้ามากราบทูลพระกรุณาขอนักองค์เจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าป้าหลายองค์ซึ่งเข้ามาพร้อมกันกับสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี องค์เอง แต่ก่อนนั้น กลับออกไปอยู่ด้วยที่เมืองบรรทายเพชร ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดให้ไปตามสมัคร นักองค์เจ้าหญิงทุกองค์ก็สมัครยอมกราบถวายบังคมลากลับออกไป แต่นักองค์อีองค์หนึ่งนั้น เมื่อยังอยู่กรุงเทพฯ ได้ประสูติพระองค์เจ้าเป็นพระราชบุตรีในพระเจ้าอยู่ หัวกรมพระราชวังสองพระองค์มีความรักในพระองค์เจ้าซึ่งเป็นพระบุตรีมากนัก ไม่สมัครออกไป จึ่งต้องค้างอยู่ในกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันได้เจ้าผู้หญิงเขมรพวกนั้นออกไปอยู่ด้วยแล้ว คิดถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึ่งได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งโดยอย่างองค์พระนารายน์รามาธิบดีผู้พระบิดา เมื่อเวลาจะกราบถวายบังคมลากลับไปนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระประชวรอยู่ หาได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นสถานที่ขุนาเฝ้าโดยปกติไม่ เป็นแต่ลางเวลาเสด็จออกพระแกลทอดพระเนตรต้นไม้กระถางที่ชาลาสนามจันท์ เวลาเสด็จออกนั้นเป็นเวลาว่าง ไม่มีขุนนางเฝ้า.

สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันมีความรอนใจจะใคร่กลับไปเร็ว ครั้นทราบว่า เสด็จออกพระแกล ก็พาพระยาพระเขมรเข้าไปกราบทูลถวายบังคมลาเอง ไม่มีเจ้าพนักงานกรมมหาดไทยกราบทูลถวายบังคมลาให้ตามอย่างธรรมเนียม จึ่งทรงพระราชดำริติเตียนว่า นักองค์จันนี้เห็นทีจะเสียจริตเสียแล้ว ตัวก็เกิดในกรุงเทพฯ ควรจะรู้การสูงต่ำผิดชอบควรแลไม่ควร ก็บัดนี้มีกิริยาอันทลึ่งเกินการไป พาเอาพระยาพระเขมรเป็นคนห่างคนไกลเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบทูลถวายบังคมลาเอง ไม่ให้เจ้าพนักงานนำนั้น มิชอบเลย เมื่อสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันต้องพระราชดำริดังนี้ ความก็อึงมี่ไปในข้าราชการ มีผู้ต่อว่าต่อขานมากมายหลายปากด้วยดัน สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันได้ความอัปยศเป็นอันมาก เมื่อจะกลับไปได้ออกปากว่า ในกรุงเทพฯ นี้ เห็นจะไม่ได้กลับเข้ามาเห็นต่อไปอีกแล้ว ครั้นเมื่อสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันกับพระยาพระเขมรกราบถวายบังคมลากลับออกไปเมืองบรรทายเพชรแล้ว ก็มีใบบอกเข้ามาว่า เขมรไปตัดไม้กระดานไว้ในป่าใกล้เขตรแดนญวนเป็นอันมาก พวกญวนคุมสมัครพรรคพวกมามาก ๆ แย่งชิงเอากระดานไปเสีย ครั้นจะแต่งคนให้ไปจับกุม ก็กลัวจะวิวาทกับญวน จะเกิดการรบพุ่งกันขึ้น ด้วยญวนบัดนี้มีกำลังมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว ขอพระบารมีโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นที่พึ่ง เมื่อความในใบบอกกราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริจะแต่งกองทัพออกไปให้เป็นกำลังช่วยองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจัน ให้ต่อว่าแก่เมืองญวนด้วยเรื่องญวนผู้ร้ายล่วงเกินเข้าแย่งชิงกระดานของเขมร กองทัพยังไม่ทันได้จัดให้ยกไป ก็ทรงพระประชวรหนักลง เสด็จสวรรคต จึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเศกในปีมะเส็ง เอกศก ศักราช ๑๑๗๑[5] ในปีนั้น อ้ายพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางทางหนึ่ง เข้ามาทางทองธาตรีด้วยหวังว่าจะเข้ามาตีเอาเมืองราชบุรีทางหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ต้องกะเกณฑ์กองทัพใหญ่ออกไปสู่รบพม่า จึ่งได้มีท้องตราไปเกณฑ์เขมรให้ยกกองทัพมาช่วยในการรบพม่าครั้งนั้นด้วย ครั้งนั้น สมเด็จพระอุทัยราชาธิราจันจึ่งกะเกณฑ์พระยาพระเขมรเป็นอันมาก เลือกเอาแต่ผู้ที่มีใจซื่อสัตย์สวามิภักดิ์ข้างกรุงเทพฯ ให้คุมไพร่เข้ามากับนักองค์สงวนแลนักองค์อิ่มผู้น้อง แลจัดแจงสิ่งของทูลเกล้าฯ ถวายในเวลาแผ่นดินใหม่ แลเครื่องฉลองพระเดชพระคุณในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเข้มาด้วย ครั้นนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม แลพระยาพระเขมรเป็นอันมากที่ซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ที่เมืองบรรทายเพชรแล้ว องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันจึงคิดอ่านกับพระยาพระเขมรที่สนิทกับตัวเป็นอันมากว่า จะขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ดังก่อนนั้น เห็นจะไม่มีความสุข เพราะเมืองเขมรอยู่ใกล้เมืองญวน ญวนก็มีอำนาจใหญ่โตขึ้นแล้ว ถ้าญวนจะคิดยกกองทัพมาทำแก่เมืองเขมร จะต้องให้กรุงเทพฯ ช่วย ฝ่ายกรุงเทพฯ ก็ย่อมมีราชการทัพศึกณรงค์สงคราม เพราะพม่ายกมาย่ำยีในเขตรแดนด้านตะวันตกเนือง ๆ เมื่อคราวมีข่าวว่า พม่าจะยกมาอยู่แล้ว ที่ไหนจะจัดกองทัพให้มาช่วยเขมรได้ เพราะเห็นว่า การที่จะกันพม่านั้นเป็นการสำคัญ ถ้าเป็นเวลาไม่มีทัพศึกโดย จะให้ยกมาช่วย ทางก็ไกล กว่าจะมาถึงได้ก็เนิ่นช้า รี้พลที่มาก็บอบช้ำ มีกำลังน้อย ฝ่ายเขมรอยู่ใกล้กับญวน เมื่อถูกญวนรบกวน ก็จะยับไปเสียก่อน เหมือนคั่วถั่วกับงาพร้อมกัน กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ แต่ก่อนเมื่อครั้งเมืองเวียตนามยังมีอำนาจใหญ่ ก่อนมีศึกกับองไกเซินนั้น องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชตนซึ่งเป็นพระเจ้าปู่ก็ได้ขึ้นเมืองญวนแต่เดิมมา ป้องกันรักษาพ้นภัยจากกองทัพไทยกรุงธนบุรี ต่อเมื่อเมืองเวียตนามมีศึกกับพวกองไกเซิน จึ่งต้องไปของ้ออ่อนน้อมแก่กรุงธนบุรี แลต้องยอมยกแผ่นดินให้แก่พระองค์รามตามชอบใจของผู้ครองฝ่ายไทย ต่อเมื่อพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ไม่ชอบใจพระองค์รามสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ก็ได้ไปอาศัยพึ่งกำลังญวนเมืองไซ่ง่อนมาทำลายล้างพระองค์รามลงเสีย แล้วจึ่งได้ยกองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีพระองค์เองให้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมร แต่แรกนั้น ก็ยังพึ่งญวนอยู่ ต่อภายหลังเมืองเวียตนามเสียแก่พวกไกเซิน อำนาจญวนอ่อนไป แล้วแขกจามกำเริบขึ้นในบ้านเมือง เขมรจึงต้องมาพึ่งกรุงเทพฯ ก็บัดนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลองได้คืนบ้านเมืองฝ่ายญวนเป็นปรกติตั้งขึ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลองก็มิใช่วงศ์อื่น เป็นวงศ์เจ้าเวียตนามเก่าที่เขมรเคยนับถือมา ควรที่เราจะกลับไปเข้าหาอ่อนน้อมเอาเป็นที่พึ่ง ดังครั้งสมเด็จพระเจ้าปู่แลพระบิดานั้น จึ่งจะชอบ ถ้ามีราชการกะเกณฑ์เกิน ๆ มาแต่ข้างกรุงเทพฯ จะได้ช่วยขัดไว้บ้าง ไม่ให้เขมรได้ความลำบากนัก เจ้าเวียตนามก็จะได้มีเมตตาอารีรักแก่เราว่า เป็นเมืองขึ้นพึ่งบุญ จะได้ห้ามไม่ให้ญวนที่อยู่เมืองใกล้มาย่ำยีต่าง ๆ ครั้งนั้น ขุนนางพระยาพระเขมรใหม่ ๆ ก็มีความคิดเห็นไปตามสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันนั้นมาก จึงได้คิดกันแต่งทูตเขมรคุมศุภอักษรแลเครื่องบรรณาการไปขออ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นพึ่งอำนาจเจ้าเวียตนาม ๆ ก็ให้หองตั้งอย่างญวน และให้ตราทองเหลืองมาไว้สำหรับแผ่นดินเขมร แล้วให้องญวนไปมายุแยงให้ขัดแข็งต่อกรุงเทพฯ เนือง ๆ

ฝ่ายนักองค์สงวนกับนักองค์อิ่มได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของเครื่องราชบรรณาการแลเครื่องช่วยในการพระบรมศพปรากฏเป็นการทำแทนองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันซึ่งเป็นสมเด็จพระเรียม ก็ครั้งนั้น ข้าราชการในกรุงเทพฯ พูดกันว่า กิริยาองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันหาสมควรไม่ ด้วยการครั้งนี้เป็นแผ่นดินตั้งใหม่ ควรจะให้น้องชายอยู่รักษาเมืองแล้วเข้ามาถวายบังคมรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วยตัวเองจึ่งจะชอบ เมื่อแผ่นดินก่อนสิมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเองได้ ครั้นเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ใช้ให้น้องมาแทน ดูเห็นเป็นการไม่มีเคารพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรารภเหตุนั้น จึ่งทรงยกความชอบนักองค์สงวนแลนักองค์อิ่มซึ่งเข้ามาทูลลอองธุลีพระบาทครั้งนั้น แล้วทรงตั้งนักองค์สงวนให้เป็นสมเด็จพระมหาอุปโยราช นักองค์อิ่มให้เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช พระราชทานเครื่องยศพานทองอย่างใหญ่ แลเต้าน้ำทอง แลสิ่งของอื่นเป็นมาก แล้วให้ตราตั้งออกไปทีเดียว ไม่ได้มีศุภอักษรออกไปหารือสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันก่อน ครั้นสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช ออกไปถึงเมืองบรรทายเพชรแล้ว สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันก็มีความโทมนัสใจมาก ด้วยการที่กรุงเทพฯ ตั้งสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราชไป ไม่ได้มีศุภอักษรออกไปหารือก่อนนั้น เห็นไปว่า เป็นอันเสื่อมเสียเกียรติยศมาก จึ่งให้หาพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ กับสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราชนั้น ไปไต่ถามการทั้งปวงที่ได้พบได้เห็นเมื่อเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แล้วก็เกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้าคิดอ่านในการที่จะคิดขอลดเลิกเครื่องราชบรรณาการที่เคยส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายในกรุงเทพฯ ทุกปีอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย คิดว่า จะไว้ตัวเป็นกลาง ต่อถึงปีที่สามจึงจะแต่งบรรณาการไปคำนับเมืองไทยฝ่ายหนึ่ง เมืองญวนฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน พระยาพระเขมรพวกนั้นจึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ พึ่งได้เสวยราชสมบัติขึ้นใหม่ ถ้าไม่ถวายราชบรรณาการเหมือนอย่างแต่ก่อน จะเป็นที่ทรงเห็นไปว่า ไม่นับถือในพระบารมีเหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน จะทรงขัดเคืองแล้วให้ยกกองทัพออกมาทำแก่เมืองเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันจึ่งว่า ถ้าดังนั้น ก็จะไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงเวียตนามมาช่วย จึ่งเอาหองแลดวงตราของประทานที่ได้มาแต่เจ้ากรุงเวียตนามนั้นออกอวดออกอ้าง แล้วก็ให้พระยาพระเขมรพวกนั้นไปปรึกษาความคิดนั้นกับสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วงผู้น้อง แลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ในหัวเมืองต่าง ๆ สมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วง ทั้งสามไม่เห็นชอบด้วย ไม่ยอมเข้าคิดตาม ก็เป็นความขุ่นของหมองหมางกันขึ้น พระยาพระเขมรในเมืองบรรทายเพชรแลหัวเมืองต่าง ๆ ที่เห็นไปตามสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันก็มี ที่เห็นตามสมเด็จพระมหาอุปโยราชสงวนก็มี ครั้งนั้น พระยาจักรี พระยากลาโหม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่สองนาย ปรึกษากันว่า เมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งให้สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพุชาธิบดี ได้ทรงมอบหมายการแผ่นดินให้เราทั้งสองเป็นผู้ใหญ่ทำนุบำรุงสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจัน ดังสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะเก่าเคยฉลองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อน แลเราทั้งสองก็ได้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้านายของเรากับพระยาพระเขมรผู้น้อยเป็นอันมากคิดการวุ่นวายไปไม่สุจริตต่อกรุงเทพมหานครดังนี้ เราจะพลอยคิดเห็นตามไปด้วยก็ดี จะนิ่งความเสียไม่มีใบบอกเข้าไปให้ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกรุงเทพมหานครก็ดี เห็นจะไม่สมควรแก่เราที่เป็นผู้ใหญ่ใจซื่อสัตย์นั้นเลย ความซึ่งพระยาทั้งสองพูดกันนั้น องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันได้ทราบแล้ว จึ่งได้คิดการนัดพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ไปประชุมกินเลี้ยงในสวนเป็นการมงคล มีปี่พาทย์ประโคมสี่ทิศ และกระบวนตั้งกองรักษารอบ แล้วจึงให้จับพระยาจักรี พระยากลาโหม ทั้งสองนั้น แล้วตัดสินว่า ซึ่งพูดกันดังนั้นเป็นอันคิดขบถต่อองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจัน แล้วสั่งให้ฆ่าเสียในสวนนั้น การนั้นก็เป็นที่สะดุ้งสะเทือนแก่สมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วง ซึ่งไม่เข้าคิดด้วย สมเด็จพระมหาอุปโยราชจึ่งได้นัดพระยาสวรรคโลกเมืองโพธิสัตว์และพระยาพระเขมรอื่นที่เป็นพวกไม่เห็นด้วยความคิดองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันนั้น นัดให้มารับที่เมืองบรรทายเพชร แล้วละนักมารดาเสีย หนีออกจากเมืองบรรทายเพชรในเวลากลางคืน แล้วก็พากันไปอยู่เมืองโพธิสัตว์ แล้วยึดเอาเมืองอื่นหลายเมือง ตั้งขัดแขงต่ออำนาจเมืองบรรทายเพชร แล้วก็มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ฟ้องกล่าวโทษสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันตามเหตุที่เป็นทั้งปวงนั้นจนถึงฆ่าพระยาจักรี พระยากลาโหม เสีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึ่งทรงพระราชดำริพร้อมด้วยความคิดอ่านท่านเสนาบดีแต่งให้เจ้าพระยาอภัยภูธร ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าพระยายมราช เป็นแม่ทัพคุมนายทัพนายกองเป็นพระยาพระหลวงหลายนาย กับไพร่พลเครื่องศาสตราอาวุธพอสมควร ปรากฏเป็นผู้มีอำนาจ ให้ยกออกมาเมืองเขมร เพื่อจะให้ว่ากล่าวสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันแลสมเด็จพระมหาอุปโยราชให้ประนีประนอมกัน แล้วจัดแจงการบ้านเมืองเสียให้เรียบร้อยโดยปกติ เจ้าพระยายมราชกับนายทัพนายกองกราบถวายบังคมลาออกมาถึงเมืองพระตะบอง แล้วคิดเห็นว่า ถ้าจะมีหนังสือไปเชิญองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันแลสมเด็จพระมหาอุปโยราชสงวนให้มาพร้อมกันที่เมืองพระตะบอง แล้วจะได้ว่ากล่าวไกล่เกลี่ยจัดแจงการให้เรียบร้อย ก็เหนว่า จะหาไปไม่ จึงได้คิดจะยกลงไปถึงเมืองบรรทายเพชรทีเดียว เพื่อจะว่ากล่าวให้พร้อมกันกับสมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วง แลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อย เจ้าพระยายมราชจึ่งได้บังคับให้พระยาสุรสงครามคุมไพร่พลพอสมควรลงเรือล่องไปทางทะเลสาบก่อน เพื่อจะให้ไปแจ้งความแก่องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจัน แลพระยาพระเขมร แลไพร่บ้านพลเมือง ว่า กองทัพซึ่งยกออกมาครั้งนี้ไม่ได้ประสงค์จะรบราฆ่าฟันรันตีเมืองเขมร เป็นแต่รับพระราชโองการออกมาเพื่อจะว่ากล่าวไกล่เกลี่ยองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชกับสมเด็จพระมหาอุปโยราชพี่น้องซึ่งวิวาทกันนั้นให้คืนดีกันเป็นปกติ แล้วจัดแจงการบ้านเมืองเสียใหม่ให้เรียบร้อย มิให้พระยาพระเขมรในเมืองนอกเมืองถือแยกย้ายเป็นสองพวกสามเหล่า พระยาสุรสงครามยกไปถึงท่ากะพงหลวง มีเขมรพวกองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันมาคอยสกดเอาปืนยิงห้ามไม่ให้ขึ้นบก พวกพระยาสุรสงครามก็มิได้ยิงตอบ โบกธงห้ามให้รอฟังคำประกาศ ก็หาฟังไม่ เอาปืนยิงไล่จนพระยาสุรสงครามถอยล่าไปหาแม่ทัพใหญ่ ฝ่ายองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจัน เมื่อทราบว่า กองทัพในกรุงเทพมหานครยกออกไป ก็พานักมารดา ครอบครัว บุตร ภรรยา ลงเรือล่องทิ้งบ้านเมืองเสียหนีไปเมืองญวน สมเด็จพระมหาอุปราชกับนักองค์ด้วงผู้น้องห้ามปรามไว้ก็หาฟังไม่ มีองญวนคุมเรือญวนขึ้นมาหลายลำ ป้องกันพาองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชล่องลงไป สมเด็จพระมหาอุปราชกับนักองค์ด้วย ด้วยเหตุที่ได้เกียดกันสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันมิให้ไปนั้น ครั้นญวนพากันไปจนได้ ก็มีความสะดุ้งตกใจกลัวภัยแก่ญวน จึ่งพานักมารดา ครอบครัว บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ หนีออกจากเมืองบรรทายเพชรขึ้นมาหาแม่ทัพใหญ่ ขอให้ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะกราบทูลความสมัครสวามิภักดิ์ ขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ แล้ว ไม่สมัครอยู่ด้วยสมเด็จพระเรียม ณ เมืองบรรทายเพชร เจ้าพระยายมราชแม่ทัพก็ได้ส่งสมเด็จพระมหาอุปราชกับนักองค์ด้วงเข้าไปยังกรุงเทพฯ ตามสมัคร แต่สมเด็จพระมหาอุปโยราชนั้นยังให้ตั้งรั้งรออยู่ที่เมืองโพธิสัตว์เอาใจเขมรไพร่บ้านพลเมืองว่า เจ้านายยังมีอยู่ แล้วเจ้าพระยายมราชจึงได้ยกลงไปเมืองบรรทายเพชร ครั้งนั้น เขมรครอบครัวพากันลงเรือล่องไปเมืองญวนตามองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันบ้าง เตรียมจะล่องไปบ้างเป็นอันมาก เจ้าพระยายมราชได้ให้ประกาศห้ามปรามให้เขมรทั้งปวงขึ้นอยู่ตามภูมิลำเนา กองทัพเจ้าพระยายมราชก็ตั้งรักษาอยู่ที่เมืองบรรทายเพชร ครั้งนั้น เมืองญวนยกขึ้นมาว่าแก่เจ้าพระยายมราชว่า นักองค์จันเจ้าเมืองเขมรไม่ได้เป็นขบถต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครดอก เป็นแต่วิวาทกันกับเจ้าน้องชาย ๆ เข้าไปฟ้องกล่าวโทษ ณ กรุงเทพฯ แล้วขอกองทัพออกมา นักองค์จันมีความตกใจกลัว จึ่งได้หนีไปพึ่งเมืองญวน ๆ ก็เป็นเมืองมีพระราชไมตรีกับกรุงเทพฯ อยู่ใกล้เมืองเขมร จะพานักองค์จันเจ้าเมืองเขมรคืนมาเมืองบรรทายเพชร ให้เจ้าพระยายมราชพาเจ้าน้องไปพร้อมกัน จะได้ช่วยกันว่ากล่าวไกล่เกลี้ยให้ดีกันเสียเป็นปกติ บ้านเมืองเขมรซึ่งอยู่ในระหว่างเมืองญวนกับเมืองไทยเป็นเมืองใหญ่ทั้งสอง จะได้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ก่อน เมืองเขมรเคยประพฤติอ่อนน้อมคำนับแก่เมืองไทยเมืองญวนอย่างไร ก็จะให้ประพฤติอยู่อย่างเดิม[6] . . . . . . . . . .

เลขที่ ๒๐๑ ก.
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ไม่มี
ประวัติ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  1. เรื่อง "ประกาศ เรื่อง แผ่นดินเมืองขมร" นี้ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ต้นฉบับมาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  2. ชื่อ นน หรือ โนน
  3. พุทธศักราช ๒๓๓๗
  4. พุทธศักราช ๒๓๓๙
  5. พุทธศักราช ๒๓๕๒
  6. หมดฉบับพระราชนิพนธ์เพียงนี้ เรื่องต่อไปความเชื่อมกันไม่สนิท