ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร

จาก วิกิซอร์ซ
ตราสำนักนายกรัฐมนตรี
ตราสำนักนายกรัฐมนตรี
ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร


ประมวลเอกสาร
จาก
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
กระทรวงมหาดไทย
กรมศิลปากร
ฯลฯ


สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
พิมพ์แจกในการถวายกฐินพระราชทาน
ณ วัดพนัญเชิง
พระนครศรีอยุธยา
๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕

  • จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
  • นายกรัฐมนตรี

คำปรารภ

หนังสือเรื่อง ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ที่สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในการทอดกฐินพระราชทานสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดพนัญเชิง[1] ครั้งนี้ เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยก่อนนั้นได้รับมอบงานทั้งมวลมาจากกรมราชเลขาธิการในพระองค์สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ และกรมราชเลขาธิการในพระองค์นั้นเล่าก็มีส่วนราชการขึ้นอยู่ในสังกัด ๓ กรม คือ (๑) กรมบัญชาการ (๒) กรมราชเลขานุการในพระองค์ และ (๓) กรมพระอาลักษณ์

กรมราชเลขาธิการในพระองค์มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงภายหลังที่กระทรวงมุรธาธรได้ยุบไปตามพระบรมราชโองการ และเป็นที่รวมของราชการแผ่นดิน เพราะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ราชการของกระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติหรือถวายรายงานเพื่อทรงทราบจึงต้องผ่านกรมราชเลขาธิการในพระองค์ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงมีเอกสารหลายหลากชนิดเก็บรักษาไว้เป็นอันมาก และบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เก็บรักษาไว้ ณ กรมราชเลขาธิการในพระองค์นั้นก็ได้เก็บรักษามาตั้งแต่ต้นทุกรัชกาล ลางเรื่องเป็นเอกสารสมัยอยุธยา ลางเรื่องเป็นเอกสารสมัยกรุงธนบุรี และลางเรื่องเป็นเอกสารตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ แต่ละเรื่องล้วนมีค่าทางประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติไทย นับจำนวนหลายพันเล่ม (สมุดไทย) ต่อมาเมื่อได้มีประกาศพระบรมราชโองการยุบกรมราชเลขาธิการในพระองค์เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ งานในหน้าที่ของกรมราชเลขาธิการในพระองค์จึงมาเป็นของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบเอกสารต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ตามหน้าที่ และเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๒ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ที่กรมศิลปากร และเนื่องจากต้นฉบับเดิมเป็นสมุดไทยดำ เป็นกระดาษเพลา กระดาษสา นับวันจะผุเปื่อยย่อยยับไปตามกาลเวลา จึงเห็นสมควรจัดพิมพ์เอกสารเหล่านี้ขึ้นไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร และหลักฐานทางวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทยสืบไป

ในชั้นต้น สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้จัดพิมพ์เอกสารเรื่อง ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ขึ้นก่อน เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ไทยเราทรงสถาปนากษัตริย์เขมรให้ครอบครองบ้านเมืองที่เป็นดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เรื่องนี้พิมพ์จากเอกสารที่เก็บรักษาไว้ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายประวัติที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนานักพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร แล้วต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๐๖–๒๔๑๐ ชนชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งมารบได้ประเทศญวนแล้วเลยมาบีบบังคับเอาประเทศเขมรเป็นเมืองขึ้นโดยอ้างว่า ประเทศเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นประเทศญวนมาก่อน บังคับกษัตริย์เขมร คือ องค์สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษมหาอุปราช ทำสัญญากับแม่ทัพใหญ่ของประเทศนั้นผู้ซึ่งมาปกครองประเทศญวน องค์สมเด็จพระนโรดมฯ ได้กราบบังคมทูลชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างละเอียด (ตามเรื่องที่พิมพ์) และว่า ที่จำต้องลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๐๖ ก็เพราะถูกบีบบังคับ จะทัดทานให้รอฟังคำสั่งจากกรุงเทพ (ประเทศไทย) ก่อนก็ไม่ยอม จำใจจำลงนามให้ แต่ความจงรักภักดียังคงมีอยู่เช่นเดิม และสุดท้ายไทยก็ได้เสียเขมรทั้งประเทศเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐

อนึ่ง เอกสารต่าง ๆ ที่พิมพ์ในคราวนี้ด้วยแสดงให้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ครอบครองดินแดนเขมรมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๗๕ สืบมาจนกึงกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ประเทศไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมากที่สุด (ตามแผนที่ที่พิมพ์[2]) พระองค์ก็ได้สถาปนานักพระองค์เอง ราชบุตรบุญธรรม ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองดินแดนเขมรเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ จากเอกสารแต่ละเรื่องที่พิมพ์ไว้ตามลำดับนั้น ล้วนแต่แสดงหลักฐานให้เห็นว่า ประเทศไทยได้ดูแลและให้ความคุ้มครองแก่กษัตริย์เขมร ชนชาวเขมร มาตั้งแต่แรกจนถึงองค์สมเด็จพระนโรดมฯ กษัตริย์เขมรผู้ยินยอมทำสัญญาอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศสโดยถูกบีบบังคับ

องค์สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษมหาอุปราช มีนามเดิมว่า นักองค์ราชาวดี เป็นโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ธรรมิกวโรดม มีน้องชาย ๒ คน ชื่อ นักองค์ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งองค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า และนักองค์วัตถา เมื่อองค์สมเด็จพระนโรดมฯ สิ้นพระชนม์ ได้เวนราชสมบัติให้นักองค์ศรีสวัสดิ์ ที่พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า เป็นสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ ครอบครองแผ่นดินเขมรสืบสันตติวงศ์ โดยไม่ยอมมอบราชสมบัติให้แก่ราชโอรสผู้มีนามว่า พระองค์เจ้าสุทธารสนโรดม

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่พระเจ้าศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ ผู้เป็นโอรส พระเจ้าศรีสวัสดิ์มณีวงศ์มีโอรส คือ เจ้าฟ้ามณีเรศ เป็นมกุฏราชกุมารและทรงเป็นกรมพระ แต่พอพระเจ้าศรีสวัสดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อพทุธศักราช ๒๔๘๓ แทนที่ฝรั่งเศสจะสถาปนาเจ้าฟ้ามณีเรศ ผู้เป็นรัชทายาท เป็นกษัตริย์ต่อไป กลายเป็นยกเอาหม่อมราชวงศ์นโรดมสีหนุ ผู้เป็นลูกหม่อมเจ้านโรดมสุรามฤตขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (หม่อมเจ้านโรดมสุรามฤตเป็นลูกพระองค์เจ้าสุทธรารสนโรดม) ขณะนั้น หม่อมราชวงศ์นโรดมสีหนุยังเป็นเด็ก และเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยลีเซ่ซักเซอร์โลบา ไซ่ง่อน

เรื่องราวของกษัตริย์เขมรยุ่งยากมาก สมดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชทรงพระราชข้อวินิจฉัยไว้ว่า เกิดแตกแยกขึ้นเป็นสามก๊กในราชวงศ์เขมร คือ พระนโรดมก๊กหนึ่ง พระศรีสวัสดิ์ก๊กหนึ่ง นักองค์วัตถาก๊กหนึ่ง ผลของการแตกแยก คือ ต้องเสียเมืองให้แก่ฝรั่งเศสในที่สุด

ผู้ได้อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเราดำเนินกุศโลบายในการปกครองเขมรด้วยดีมาตั้งแต่แรก และได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้เขมรอยู่ร่มเย็นเเป็นสุขฉันลูกหลาน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ แต่น่าเสียดายที่เขมรต้องไปขึ้นแก่ฝรั่งเศสสิ้นเชิงเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๐ เป็นอันว่า ไทยได้เสียดินแดนเขมรและเขมรกลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปตั้งแต่คราวนั้น

สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีหวังว่า บรรดาผู้ที่ได้อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้คงจะพอใจโดยทั่วกัน

  • สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
  • ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕

สารบัญ
หน้า
๑. ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร
๒. พระบรมราชปฏิญญา ๒๑
๓. คำให้การของหลวงศรีเสนา ๒๖
๔. พระราชหัตถ์เลขาฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงอาญัติศุภอักษร ๓๒
๕. ศุภอักษรองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ขอศัสตราวุธ ๓๓
๖. ศุภอักษรองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ถวายรายงานรบญวน ๓๙
๗. องค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการ ๔๒
๘. พระบรมราชโองการเตือนให้ถวายรายงาน ๔๓
๙. องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถวายช้าง ๔๘
๑๐. องค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ถวายรายงานอาการประชวร ๔๙
๑๑. รายงานข้อราชการเมืองอุดงมีไชย ๕๐
๑๒. พระยาอนุชิตชาญไชยจางวางบอกเรื่องพระยาอภัยภูเบศฯ ๕๒
๑๓. หนังสือสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะถึงพระยาคทาธรธรณินทร์ ๕๗
๑๔. พระราชดำริ เรื่อง โกศศพองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ๖๐
๑๕. ข้าหลวงไทยรายงานข้อราชการเมืองอุดงมีไชย ๖๖
๑๖. โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชไปฟังราชการเมืองพระตะบอง ๖๘
๑๗. องค์สมเด็จพระนโรดมองค์พระหริราชดนัยขอพึ่งพระบารมี ๗๐
๑๘. องค์สมเด็จพระนโรดมกับพระหริราชดนัยรบญวนรบแขกจาม ๗๖
๑๙. ข้าหลวงเมืองพระตะบองถวายรายงานเขมรรบญวน ๘๐
๒๐. โอรสธิดาองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี ๘๒
๒๑. โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งมรดกองค์สมเด็จพระหริรักษ์ ๘๔
๒๒. พระบรมราชโองการให้องค์สมเด็จพระนโรดมถวายคำชี้แจง ๘๘
๒๓. พรรณนาความวุ่นวายในเมืองอุดงมีไชย ๙๑
๒๔. พระราชหัตถ์เลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙๘
๒๕. หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ๑๐๓
๒๖. สัญญาที่องค์สมเด็จพระนโรดมฯ ว่า ถูกบังคับให้ลงนาม ๑๐๕
๒๗. องค์พระนโรดมฯ กราบทูลว่า ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญา ๑๑๐
๒๘. พระราชทานพระบรมราโชวาทแด่องค์สมเด็จพระนโรดม ๑๑๕
๒๙. พระราชหัตถ์เลขากระแสพระราชดำริถึงพระยาราชวรานุกูล ๑๑๗
๓๐. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พาพระหริราชดนัยฯ ไปพระตะบอง ๑๒๐
๓๑. พระราชหัตถ์เลขาพระราชทานทูต ๑๒๒
๓๒. พระราชหัตถ์เลขาพระราชทานทูต ๑๒๖
๓๓. หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ๑๓๑
๓๔. สัญญาภาษีสุราร้อยชักสาม ๑๓๔
๓๕. สัญญาแก้ข้อสัญญาสุรา ๑๓๖
๓๖. ตราสมุหนายกถึงผู้รักษาเมืองนครเสียมราฐ ๑๓๗


  1. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า "จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าเจ้าพะแนงเชิง"
  2. ดูแผนที่ท้ายเล่ม

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (ผู้รวบรวม). (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร. พระนคร: บริษัทธนะการพิมพ์ จำกัด. (สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในการถวายกฐินพระราชทาน ณ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา 26 ตุลาคม 2505).

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก