ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 14

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชดำริ เรื่อง โกศศพองค์สมเด็จพระหริรักษ์
แลทรงกำชับให้ป้องกันรักษาเมืองเขมร

ศุภอักษรมายังองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมรเมืองอุดงมีไชย ด้วยมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้แจ้งความออกมาว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีมีศุภอักษรให้พระพิพิธราชาเมืองพระตะบองถือเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ณ วัน ๑๒ ค่ำ ปีวอก โท ว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีป่วย ได้ทราบความ ทรงพระวิตกนักว่า องค์สมเด็จพระหริรักษามีวัยวัฒนาการมาก ชนมายุถึง ๖๔–๖๕ ปีแล้ว บัดนี้ ก็ป่วยมานาน อาการโรคฟังดูก็มาก เกรงว่า อาการจะทรุดหนักไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นทิพย์เสนา ปลัดกรมพระตำรวจในขวา หลวงจินดารักษ์ กรมมหาดไทย พาหมื่นวิเศษแพทยา หมื่นไชยแพทยา หมอยา หมื่นวาตาพินาศ หมอนวด หมื่นไชยโลกนาศ หมอบาดแผล ลงเรือจรจับโจร ซึ่งให้หลวงศรีมหาราชา กรมอาษาจาม เป็นนายลำ คุมไพร่พลทหารพร้อมไปด้วยเครื่องศัสตราวุธออกมาลาดตระเวนในท้องทะเล ได้ล่องเร็วจากกรุงเทพฯ เมื่อจมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ กับหมอ ๔ นาย กราบถวายบังคมลา แล้วเชิญศุภอักษรลงเรือจรจับโจรล่องลงไปจากกรุงเทพฯ แล้วแต่ ณ วัน ๑๐ ๑๒ ค่ำ ปีวอก โท ล่วงมาได้ ๕ วัน เรือยังข้ามสันดอนอยู่ ครั้นวัน ค่ำ มีหนังสือบอกของจางวางกรมพระตำรวจ หลวงนิกรจำนงค์ หลวงไตรเทพ ข้าหลวง ซึ่งให้ออกมาฟังราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบอง กับพระคทาธรธรณินทร์ กรมการ ส่งเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แจ้งความว่า พระยารัตนาวิเศษ ผู้สำเร็จราชการเมืองสวายจิก ที่องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีนับถือว่า เป็นหมอ ขอออกไปรักษาโรคแต่ก่อน บัดนี้ ไปเมื่อเดือน ๑๐ ได้กลับเข้ามาถึงเมืองพระตะบอง ณ วัน ๑๓ ฯ  ๑๒ ค่ำ แจ้งความว่า พระยารัตนาวิเศษออกไปอยู่ ณ เมืองอุดงมีไชย ๒๖ วัน ได้ถามอาการที่พระยาพระเขมรเสมอทุกวัน ณ วัน ๑๒ ค่ำ พระยาพระเขมรว่า อาการทรุดหนักลง รุ่งขึ้น ณ วัน ๑๒ ค่ำ[1] องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัย องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช พระยาพระเขมร รักษาศพไว้ในหีบ แล้วได้เกณฑ์ไพร่รักษาป้อมประตูเชิงเทินค่ายเมืองอุดงมีไชยไว้มั่นคง จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ถ้าองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัยจริงดังข่าวซึ่งได้ฟังมา องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมร ก็คงจะบอกเข้าไป ณ กรุงเทพฯ แต่ครั้งนี้ ราชการบ้านเมืองของเขมรเป็นทัพศึกอยู่กับญวน องค์พระนโรดมกับพระยาพระเขมรจะคิดอ่านป้องกันรักษาบ้านเมืองประการใดกระมัง จึ่งยังไม่ได้ช่องเวลาทำใบบอกส่งเข้าไป แลข่าวนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระยารัตนาวิเศษเป็นหมอ ได้ออกไปอยู่ที่เมืองอุดงมีไชย เข้ามาแจ้งความที่ข้าหลวงเมืองพระตะบองดังนี้ ดูก็เห็นเป็นข่าวแน่นอน ก็ควรจะเชื่อฟังได้ บัดนี้ ทรงพระราชวิตก มีความอาลัยเสียดายองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดียิ่งนัก จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นายไตรภักดี นายเวร กรมพระตำรวจในขวา รีบเชิญศุภอักษรฉบับนี้ตามมาให้ทันจมื่นทิพย์เสนา ให้จมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ นายไตรภักดี รีบออกไปฟังข่าวองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี และข่าวราชการทางเมืองญวน เมืองเขมร เข้าไปให้ถ้วนถี่แน่นอน ให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมร ปรองดองช่วยกันรักษาค่ายคูด่านทางให้มั่นคงจงทุกแห่งทุกตำบล เกลือกว่า ญวนรู้ว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัย จะยกกองทัพรุกเขตแดนเมืองเขมรเข้ามา ถ้าเป็นดังนั้น ก็ให้คิดสู้รบรับรองให้แข็งแรง อย่าให้เสียท่วงทีฤๅเสียเขตแดนไปแก่ญวนแต่อย่างใดอย่างหนึ่งได้เลย การงานเป็นประการใด ให้รีบมีศุภอักษรบอกเข้าไป ณ กรุงเทพฯ โดยเร็ว ถ้าจะต้องรบพุ่งกับญวน ก็จะได้แต่งให้กองทัพบกทัพเรือรีบยกออกมาช่วยคิดราชการต่อไป ครั้งนี้ ถ้าองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัยลงแล้ว ก็ให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมร จัดแจงการศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีให้สมควรเกียรติยศตามอย่างเจ้าแผ่นดินเมืองเขมรแต่ก่อนตั้งไว้พลาง ครั้งนี้ จะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดโกศ แลเครื่องเสื้อทรงประพาส ชฎาสำหรับประดับศพ ที่สมควรเจ้าเมืองประเทศราช ออกมาพระราชทาน ด้วยทรงนับถือ ตามเคยพระราชทานแก่เจ้าประเทศราชใหญ่นั้น ก็คงจะไม่ทันเวลาอาบน้ำศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี แล้วเมืองอุดงมีไชยก็ยังไม่ได้มีศุภอักษรบอกเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ทั้งยังไม่ทราบว่า ครั้งนี้ องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมร จะปรึกษาหารือพร้อมกันจะใคร่จัดแจงการศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีอย่างไร จะประสงค์สิ่งใดอย่างใดบ้าง หรือใคร่ทำการศพเป็นการใหญ่น้อยเพียงใด สมควรแก่กำลังบ้านเมืองเขมรในกาลบัดนี้ ก็ไม่ทราบเป็นแน่ถนัด จึงโปรดให้ข้าหลวงพวกนี้ออกมาฟังการดูก่อน แลเครื่องสำหรับรับใส่ไว่ศพเป็นอย่างดีสมควรแก่เจาประเทศราชตามขนบธรรมเนียมเคยพระราชทานเป็นยศเจ้าประเทศราชนั้น ลางสิ่งก็เป็นของใหญ่ของหนัก คือ โกศลองในลองนอก มีเตียงแว่นฟ้ารองสองชั้นบ้างสามชั้นบ้าง และมีฐานไม้ปิดทองเป็นที่ปักเครื่องสูงทั้งสำรับตั้งล้อมรอบโกศ เครื่องหนักเครื่องใหญ่อย่างนี้ ถ้าทางที่จะไปยังเมืองประเทศราชซึ่งศพอยู่นั้นเป็นทางจะไปด้วยเรือได้เหมือนดังเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน แลเมืองนครศรีธรรมราชนั้นแล้ว ก็เคยพระราชทานเต็มตามที่ทุกอย่าง บางทีที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใกล้ฝั่งทะเล ไปมาขึ้นลงง่าย เมื่อเวลาชักศพออกมาเมรุ เคยพระราชทานให้โขนให้หุ่นไปเล่นก็มี แลในสิ่งของหนักซึ่งเป็นเครื่องรองรับประดับศพอย่างนี้ ถ้าหนทางจะไปยังเมืองประเทศราชนั้นต้องเดินบกเป็นทางไกลกันดารหรือไม่กันดาร ต้องใช้การแรงช้างแรงเกวียนขนส่งไปมาเดินดินราบหรือข้ามห้วยเขาประการใด เคยมีท้องตราไปหารือผู้มีตำแหน่งรองรักษาเมืองและเป็นเจ้าภาพนั้น ๆ ให้พร้อมกันกับข้าหลวงคิดอ่านให้ตกลงสิ่งไรจะแบกจะหามหรือจะบรรทุกช้างบรรทุกเกวียนขนไปให้ถึงได้ สิ่งไรจะไปไม่ได้ จะไปทางใดเมื่อใด ต้องคิดอ่านวันเวลาฤดูให้ควรไปได้โดยสะดวก แล้วจึ่งพระราชทานไปให้ทันการกำหนดของเจ้าภาพ ก็แล ครั้งนี้นี่ หนทางที่จะส่งสิ่งของเครื่องรองรับประดับศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีที่ควรจะพระราชทานออกมานั้น ก็มีอยู่สองทาง คือ ออกทางกรุงมาทางทะเลแล้วขึ้นบกทางเมืองกำปอดทางหนึ่ง คือ ออกจากกรุงโดยทางเรือแล้วขึ้นบกที่เมืองกบินทร์บุรีเดินบกมาลงเรือที่เมืองพระตะบองส่งมาทางทะเลสาบทางหนึ่ง ต้องเดินบกทั้งสองทาง จะไปทางเรือให้ถึงเมืองอุดงมีไชยทีเดียวไม่ได้แล้ว ถึงกระนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า โกศลองนอกลองในควรจะต้องพระราชทานให้ได้ เตียงแว่นฟ้าเป็นของใหญ่ เครื่องสูงเป็นของมาก จะแบกหามยาก ขนไปโดยทางบกหลายคืนลำบาก ขอให้องค์พระนโรดมกับองค์พระหริราชดนัยแลพระยาพระเขมรคิดอ่านทำเทียมอย่างให้สมควรคอยรับอยู่ เครื่องสูงเป็นของพระราชทานไปเป็นเครื่องยศแต่ก่อนนั้นก็มีอยู่ ให้ทำฐานที่ปักมีหมุดกรึงกับพื้นแล้วก็ปักเครื่องสูงรายรอบล้อมศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีไว้ แลเสื้อผ้าหมวกมาลาชฎาเครื่องประกอบใดใดซึ่งเป็นของพระราชทานแต่ก่อนนั้น สิ่งใด ๆ เมื่อเวลาอาบน้ำศพแล้ว ให้คิดกันสวมใส่ประดับศพเข้าไว้ การนั้นก็เป็นชอบสมควรอยู่แล้ว สิ่งงที่เหลือนั้น กับทั้งพานหมาก เต้าน้ำ เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นของพระราชทานทั้งปวง ก็ให้จัดแจงเรียบเรียงตั้งเคียงไว้ข้างศพให้สมควรเป็นเกียรติยศกว่าจะถึงเวลาพระราชทานเพลิง ครั้งนี้ มีข่าวมาว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศริบดีถึงแก่พิราลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัสในพระราชหฤทัย มีความอาลัยเสียดายมาก ทรงพระราชดำริอยู่ว่า บอกอาการข่าวไข้เข้ามานั้นจวนนัก ไม่ทันพระราชทานแพทย์หมอแลยาเคยทรงนับถือใช้มาแต่ก่อนบ้างออกไปเยียวยารักษาให้เต็มมือ ศุภอักษรบอกข่าวไข้เข้ามาถึงกรุงเมื่อเวลาที่ภายหลังทราบมาว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัยเสียแล้ว บัดนี้ พระราชทานผ้าไตร ๑๐ ไตร ให้นายไตรภักดีคุมออกมาให้ทำบุญบังสุกุลในศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีก่อน เป็นของควรจะพระราชทานให้ทำบุญเมื่อเวลาไข้หนัก โดยหากว่า ถ้าข่าวว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัยแล้วนี้จะกลับเป็นไม่จริงไป ก็ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสกำชับห้ามนายไตรภักดีออกมา แล้วว่า อย่าให้เอาศุภอักษรฉบับนี้วางเลย แต่ผ้าไตร ๑๐ ไตรนั้นให้มอบให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชแลองค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้ารับเข้าไปส่งให้องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี บอกว่า เป็นของพระราชทานมาให้ทำบุญเสียเคราะห์เสดาะบาปเสีย เพื่อจะให้โรคคลายหายไข้นั้นเถิด ถ้าจมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ นายไตรภักดี ออกมาถึง สืบราชการได้ความประการใด โกศลองนอกลองในควรจะให้ไปทางใด จะทำการศพ แลเห็นการควรจะทำในการศพองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีประการใด มากน้อยเพียงเท่าใด จะใคร่ไว้ช้าเร็วเท่าใด จะใคร่ได้ทราบเป็นแน่แล้ว จะทรงพระดำริการที่สมควรแล้วจะจัดของพระราชทานให้เจ้าพนักงานคุมออกมาได้กับเวลาประสงค์ ให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า พระยาพระเขมร มีศุกอักษรให้จมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ นายไตรภักดี รีบถือเข้าไป ณ กรุงเทพฯ โดยเร็ว ศุกอักษรมา ณ วัน ปีวอก โท[2]

เลขที่
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ชื่อ ศุภอักษรถึงองค์พระนโรดม
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

  1. ตรงกับวันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๐๓
  2. ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๓
    ศุภอักษรฉบับนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเรียบเรียง