ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 3

จาก วิกิซอร์ซ
คำให้การของหลวงศรีเสนา

ข้าพระพุทธเจ้า หลวงศรีเสนา ขอประทานกราบเรียน[1] พณ ลูกขุน ณ ศาลา ได้ทราบ ด้วย ณ วัน ๑๑ ค่ำ ปีมะแม เอกศก[2] อ้ายทุเจียว ญวน เสมียน องตงดกหุงยอง เจ้าเมืองโจดก นำอ้ายต่วนแสน อ้ายสูเสนาจักวัตร แขกจามปลอมเป็นลูกค้าลอบเข้ามาเกลี้ยกล่อมญาติพี่น้องพรรคพวกครอบครัวแขกจามซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพนมเปญพาครัวหนี องค์พระหริรักษ์ทราบความ ให้พระยาพระเขมรแย่งชิงฆ่าฟันตัดเอาครัวไว้ได้บ้าง ฤดูน้ำเดือน ๑๑ ที่เมืองพนมเปญไหลเชี่ยว อ้ายแขกจามลงเรือได้ก่อน ก็ล่องเรือหนีไปทางเมืองโจดก ครั้นจะให้พระยาพระเขมรติดตามลงไป ก็จะปะทะทัพญวนที่จะมารับครอบครัวแขกจาม เขมรกับญวนจะวิวาทกันขึ้น ณ วัน ๑๒ ค่ำ ปีมะแม เอกศก องค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีได้มีหนังสือไปถึงองตงดกหุงยอง เจ้าเมืองโจดก ว่า อ้ายทุเจียว ญวน นำอ้ายต่วนแสน อ้ายสูเสนาจักรวัตร มาลอบลักครอบครัวแขกจามหนีไปเมืองโจดก ขอให้องตงดกหุงยองส่งตัวอ้ายต่วนหลี อ้ายต่วนแสน อ้ายสูเสนาจักรวัตร กับครอบครัวแขกจาม ไป ณ เมืองอุดงมีไชย องตงดกหุงยองก็มีหนังสือผัดเพี้ยนมา องค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีคอยท่าอยู่หลายเดือน ญวนก็ไม่ส่งครอบครัวแขกจามมา ณ เมืองอุดงมีไชย ถึงญวนจะไม่ส่งครอบครัวแขกจามมาทั้งสิ้น จะส่งแต่แขกที่กบฏ ก็คงจะไม่เสียทางไมตรี ครั้น ณ วัน ๑๒ ฯ  ค่ำ ปีมะแม เอกศก[3] องค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีให้พระยาพระเขมรคุมช้างไปปกสิ่งของบรรณาการ ไปทางเรือ ญวนก็ไม่ออกมารับรอง แลไม่ให้เข้าไปบ้านเมือง พระยาพระเขมรคอยอยู่ถึงเดือนเศษ พ้นกำหนดส่งบรรณาการ พระยาพระเขมรก็กลับมา ณ เมืองอุดงมีไชย องค์พระหริรักษ์คิดเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ญวนถือแขกจามจะให้มารบเมืองเขมร ญวนก็รบข้างฝรั่ง ญวนก็จะถ่ายเมืองญวนมาอยู่เมืองเป็นเมืองดอน และเมื่อญวนไม่รับบรรณาการเมืองอุดงมีไชยนั้น เขมรเมืองตรัง เมืองป่าสัก เมืองกระมวนสอ รู้ความว่า ญวนกับเขมรเมืองอุดงมีไชยเห็นจะขาดทางไมตรี เขมรเมืองป่าสัก เมืองตรัง เมืองกระมวนสอ จึงได้ลุกลามฆ่าฟันญวน แล้วมีหนังสือใช้คนมาถึงพระยาพระเขมรให้แจ้งแก่องค์พระหริรักษ์ขอกองทัพไปตั้งเมืองตรัง ขอปืน กระสุนดินดำ ไปส่งที่เมืองป่าสัก ถ้าเขมรสู้ญวนไม่ได้ จะได้พาครอบครัวมาหากองทัพที่เมืองตรัง องค์พระหริรักษ์เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เมืองตรัง เมืองป่าสัก เมืองกระมวนสอ เป็นข้าขึ้นกับเมืองอุดงมีไชยมาแต่เดิม ญวนเกียดกันไปไว้ ญวนคุมเหงเขมรได้ความเดือดร้อน เขมรคิดอ่านจะพาครอบครัวมาพึ่งเมืองอุดงมีไชย องค์พระหริรักษ์[4] ... ... ... พระยาโสภาธิบดี พระยาณรงค์ธิบดี นายไพร่ ๑๐๐ คนเศษ ไปเมืองป่าสักแห่ง ๑ พระยายมราช พระยานรินทรนายก ปลัดเมืองพนมกรอจ เจ้าเมืองบาที เจ้าเมืองนองปรศรี ไปตั้งค่ายที่บ้านโสน แขวงเมืองตรังด้วย รับครอบครัวคน ๑๗,๐๐๐ แห่ง ๑

ให้พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองเปียม พระยาพิศณุโลก เจ้าเมืองตรัง ข้ามฟากคลองไปตั้งรักษาครอบครัวเมืองตรังซึ่งขึ้นกับเมืองอุดงมีไชย คน ๕๐๐ แห่ง ๑

พระยาจักรีไปตั้งค่ายที่เมืองตบงขมุม คน ๑๐,๐๐๐ แห่ง ๑

พระยาจักรีให้พระยาณรงค์เสนา พระยาธนาธิบดี ไปตั้งค่ายที่เมืองรำดวน แขวงเมืองบาพนม คน ๓,๐๐๐ แห่ง ๑

๕ กอง คน ๓๐,๖๐๐

ตะวันออก ให้พระยาวงษาสงครามธิบดี เจ้าเมืองเปียมจอ ตั้งค่ายที่แพรกอ้ายเลือง แขวงเมืองบ้านพนมจโรจกำปอง แขวงเมืองเปียม คน ๔๕๐ คน แห่ง ๑ คน ๕๐๐ แห่ง ๑ ๒ แห่ง คน ๙๕๐

ลำน้ำตะวันออก ให้พระยาจัตุรงคเดช เจ้าเมืองเกาะกาม พระยาอินทรวิไชยเดโช เจ้าเมืองเลิกแดก นำตั้งค่ายที่เกาะเดยิวสองฟาก คน ๑,๔๐๐ แห่ง ๑

พระยาไชยโยธา เจ้าเมืองไพรกบาท ตั้งค่ายนครบุรีแห่ง ๑ เขาปดลบแห่ง ๑ แขวงเมืองไพรกบาท สองแห่ง คน ๑,๐๘๐ คน

๓ กอง คน ๓,๔๓๐

สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะตั้งค่ายที่พนมเปญริมน้ำ ค่ายพระยาลี ๑ จโรยจำแรง ๑ พนมเปญ ๑ จอยลลัว ๑ แพรกจะตาหลง ๑ แพรกตโนด ๑ แพรกปา ๑ จำปุกะแอก ๑ ๘ ค่าย คน ๑๐,๐๐๐ คน

สมเด็จเชษฐามนตรีข้ามฟากไปตั้งค่ายจะโรยจังวา ๑ มกกะสอ ๑ จะโรยตาพรหม ๑ ละวาแอน ๑ ตาไชย ๑ ๕ ค่าย คน ๘,๐๐๐ คน

สมเด็จเจ้าพระยา ทัพเรือ เรือ ๓๕ ลำ คน ๑,๕๐๐๐ คน

๓ กอง คน ๑๙,๕๐๐ คน รวม ๑๑ กอง คน ๕๓,๕๓๐ คน

แต่ที่เมืองอุดงมีไชยนั้น องค์พระบริรักษ์ให้พระยาอุไทยธิราช เจ้าเมืองสำโรงทอง คุมไพร่ ๑,๐๐๐ คน พระยาแสนเสนา เจ้าเมืองละแวก คุมไพร่ ๓,๐๐๐ คน มาประจำรักษาเมือง แล้วเจ้ากรมการนายทัพนายกองส่งครัวญวรเขมรมาถึงพระยาจักรี พระยายมราช ครัวเขมร ๑,๑๑๖ ญวน ๕๑๙ รวม ๑,๖๓๕ คน แลเมื่อเดือน ๖ ข้างขึ้น พระยาจักรี พระยาธรรมาเดโช เจ้าเมืองบาพนม มีหนังสือมาถึงพระยาพระเขมรเมืองอุดงมีไชย ๒ ฉบับ ๆ หนึ่งว่า ได้ยกกองทัพไปตีค่ายญวนที่ตั้งอยู่เปียมพเตีย โดนไทย เจียนสิว ได้ ๓ ค่าย ณ วัน ค่ำ พระยาสงครามธิบดี นายทัพนายกองเมืองบาพนม ให้พระยาจบทมแล้ว พระเทพอาญา ไปสืบราชการข้างแม่น้ำข้างตะวันตกถึงกะพงกะเบา แขวงเมืองมัศจรุก พบพระยาติ นายทิตคง เขมรเมืองมัศจรุก แจ้งว่า เจ้าเวียตนามให้องพระทำตานดายทันมาถามองดงตกหุงยอกว่า ที่ค่ายเมืองมัศรุก เหตุไรเขมรจึงกำเริบ องดงตกหุงยอกบอกว่า เพราะแขกจามหนีมา องทำตานดายทันให้องดงตกหุงยอกไปปราบปรามศึกเขมรเสียให้ราบคาบเหมือนแต่ก่อน ถ้าองดงตกหุงยอกไม่ไปปราบปรามเสียให้ราบคาบ จะทำโทษ แล้วองทำตานดายทันมาปรึกษาองค์พระหริรักษ์ที่เมืองอุดงมีไชย จึงจะรู้ราชการ องดงตกหุงยอกกลัว จะเอาเงิน ๕๐ แนนไปให้องทำตานดายทันไม่ให้มาเมืองอุดงมีไชย องดงตกหุงยอกจะอาสาปราบปรามเมืองเขมรเสียให้ราบคาบ ให้องทำตานดายทันด้วยอยู่ที่เมืองมัศจรุก องดงตกหุงยอกยกมาที่เมืองตรังเมื่อวัน ค่ำ เขมรเมืองตรังยกกองทัพมารบองดงตกหุงยอกที่ดายพนก กองทัพเขมรเอาปืนยืงถูกองโดยตาย ๒ คน ชิงได้ปืนใหญ่ ๓ บอก องดงตกหุงยอกกลับมาเมืองมัศจรุก องทำตานดายทันเอาตัวองดงตกหุงยอกไว้ที่เมืองมัศจรุก มีเรืองแง่ทราย ๒ ลำ เรือแง่โอ ๔ ลำ มาแต่เมืองหลวงโห ว่า มาคอยรับกองทัพเมืองเว้ ๓ หมื่น จะมาตีเมืองเขมรทุกทาง แต่ข้างแม่น้ำตะวันออก คนใช้กลับมาแจ้งความว่า ได้ไปถึงแทรกวันแดง สำนักอยู่เรือนญวนแป ได้ถามข้อราชการฝรั่งรบกับญวน ญวนแปบอกว่า ณ วัน ค่ำ ปีวอก โทศก ญวนยกกองทัพมารบฝรั่งที่ค่ายดนกะแกร ถึงวัน ๑๐ ค่ำ องวาง บุตรเจ้าเวียตนาม มีหนังสือไปทูลเจ้าเวียตนาม ๆ บังคับมาให้องวางทำค่ายด่านทางฝรั่งไว้ แล้วองวางให้องทำตานดายทันถามองดงตกหุงยอกว่า ฝรั่งเป็นข้าศึกมาตีบ้านเมืองแล้ว เขมรเมืองตรัง เมืองป่าสัก เมืองกระมวนสอ เป็นข้าญวน เหตุใดจึงกำเริบ องดงตกหุงยอกว่า เขมรกำเริบขึ้นทางนี้ เพราะอ้ายทุเจียวกวาดครัวแขกจามที่เมืองอุดงเมืองไชย เมืองพนมเปญ มา เขมรจึงได้กำเริบ ฉบับหนึ่งว่า ญวนหนีมาแต่เมืองไซ่ง่อนให้การว่า เจ้าเวียตนามให้องกำมาง แม่ทัพเมืองกวางนาม องหงเจองโปจัน องลันบิน องสาท แม่ทัพเมืองไซ่ง่อน ให้ยกกองทัพไปกำจัดกองทัพฝรั่ง กองทัพเขมรนั้นให้งดไว้ องญวนแม่ทัพมีหนังสือไปทูลว่า ขจัดกองทัพ แต่องคำมางคิดเข้าแก่ฝรั่ง ถ้าฝรั่งยกมารบ องคำมางว่าให้ถอย ฝรั่งก็ถอย ให้หยุด ฝรั่งก็หยุด องทงเจองโปจัน องอันสาท องลันบิน มาตั้งอยู่ที่ค่ายป่าแก้ว คน ๑,๐๐๐ หนึ่ง ฝรั่งยกมาล้อมค่ายถอนขวากหน้าค่ายเสีย แม่ทัพญวนไปบอกองทงเจ ๆ ว่า ไม่มีฝรั่งมาถอนขวาก ทุกวันนี้ ฝรั่งทำการสิ่งไร แม่ทัพญวนไม่อาจบอก และเมื่อกองทัพพระยาพระเขมรไปเผาบ้านเรือนญวนที่เปียมตกู ว่า มีกองทัพเขมรยกมาจุดเผาบ้านเรือน ทำไมไม่บอกฝรั่ง ๆ จะได้มาห้ามทัพเขมรฝรั่งที่นายด่าน ณ วัน ๕๐ ที่แจ้งอยู่ในต้นหนังสือนั้นแล้ว ครั้น ณ วัน ค่ำ ปีวอก โทศก องค์พระหริรักษ์ส่งสำเนาหนังสือฝรั่งเศสซึ่งมีมาแต่เมืองไซ่ง่อนให้บาทหลวงแปลออกเป็นคำเขมรแล้วแปลออกเป็นไทย ได้ความว่า หนังสือบาทหลวงบาเรนให้มาถามบาทหลวงเกล้ามิเฉ มีหนังสือมาให้รู้ ด้วยราชการฝรั่งรบกับญวนนั้น ฝรั่งได้รื้อล้างค่ายที่เมืองกวางนามเสียสิ้น แล้วฝรั่งถอยมาอยู่พร้อมกับรักษาค่ายเมืองไซ่ง่อน คอยฟังแม่ทัพใหญ่ที่ไปตีเมืองจีน ถ้าไปตีเมืองจีนได้เมื่อใด ฝรั่งจึงจะคิดตีเมืองญวนอีก ทุกวันนี้ ฝรั่งคิดรักษาแต่ค่ายเมืองไซ่ง่อนไว้ ยังไม่ได้คิดรบกับญวน ด้วยแม่ทัพใหญ่ไปตีเมืองจีน แลพระราชดำรัสเจ้าเขมรที่ให้ไปแม่ทัพนั้น แม่ทัพเล็กฝรั่งที่อยู่เมืองไซ่ง่อนได้รู้แล้ว ไม่อาจมีหนังสือตอบกราบทูลมาเลย แต่ญวนแต่ก่อนไม่กล้าเกณฑ์จับเอาญวนที่เข้าศาสนามาใส่เข้าเป็นไพร่กองทัพ เดี๋ยวนี้ ญวนเห็นฝรั่งไม่คิดรบญวน ๆ ที่เป็นใหญ่อยู่เมืองหลวงโห เมืองสาแดก ให้จับขุนนางญวนที่เข้ารีตฝรั่งมาใส่กรวนทั้งสิ้น แลญวนเข้ารีตฝรั่งนั้น ญวนให้จับส่งไปเป็นกองทัพรักษาเมืองโจดก เมืองเปียม เป็นอันมาก แล้วญวนให้ถอนเอาญวนกองทัพเมืองสมิถอ ๑,๐๐๐ หนึ่ง ที่ตั้งต่อแดนกับฝรั่ง ให้ขึ้นมาเมืองโจดก รักษาทางคลองขุด สู้รบกับเขมร และพวกเข้ารีตคนใดไม่อาจมารบ ญวนเรียกเอาเงินและอีแปะ ๓ มัด ที่ฆ่าเสียมากกว่าแต่ก่อน ที่เมืองหลวงโห เมืองสาแดก ทุกวันนี้ ข้าวสารแพง ถังหนุ่งเป็นอีแปะ ๓๐ พวง หนังสือทำที่หลวงโห ๑๗ วัน ณ วัน ค่ำ ปีวอก โทศก[5] องค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีมอบมาให้ข้าพระพุทธเจ้าคุ้มเข้ามา

เลขที่ ๒๗
ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย
คัดจากฉบับของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

  1. เรื่องนี้เป็นคำให้การของหลวงศรีเสนารายงานความเคลื่อนไหวที่ญวนรบกับฝรั่งเศสและกับแขกจามมาให้กรุงเทพฯ ทราบ แสดงให้รู้ว่า ไทยเราได้ติดตามสอดส่องการที่ฝรั่งเศสมาพัวพันอยู่ทางกัมพูชาและญวนอยู่โดยไม่ขาดระยะ (ต้นฉบับนี้ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย)
  2. ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒
  3. ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒
  4. ต้นฉบับเลือน อ่านไม่ได้ความ
  5. วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๓