ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 31

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชหัตถ์เลขาพระราชทานราชทูต
ทรงปรารภที่ฝรั่งเศสแลอังกฤษทำแก่ไทยเหมือนคนป่าเถื่อน

จดหมายมายังพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน ราชทูต[1] พระราชเสนา อุปทูต ฝ่ายสยาม ซึ่งไป ณ กรุงปารีส ให้ทราบว่า หนังสือของท่านที่ลงวัน ๑๒ ฯ  ค่ำ ปีขาล อัฐ ได้ยื่นที่เมืองปารีสนับเป็นที่ ๖ นั้น ได้มาถึงมือ ฯข้าฯ ที่วังจันทรเกษม กรุงเก่า เมื่อวันที่ ๑๔ ค่ำ[2] ปีเถาะ นพ เวลาเช้า เดินทางอยู่ถึง ๔๗ วัน และคุณศรีสุริยวงศ์ท่านก็ขึ้นมาอยู่กรุงเก่ากับ ฯข้าฯ หนังสือที่มีมาถึงท่านนั้น ท่านก็ได้ให้ ฯข้าฯ ดูด้วยแล้ว ฯข้าฯ ตอบมาครั้งนี้ ก็ตอบมาตามธรรมเนียม แต่ที่จริง ฯข้าฯ คิดเห็นว่า หนังสือนี้ก็จะไม่ทันทูตที่กรุงปารีสหรือที่กรุงลอนดอน เพราะจะไปถึงเมืองฝรั่งเศสหรือเมืองอังกฤษก็ต่อราวแรมเดือน ๗ เมื่อเห็นว่า ท่านทูตเมื่อว่าได้การตามประสงค์ก็ดี ไม่ได้ก็ดี ก็คงจะกลับมาเสียแล้วแต่แรมเดือน ๖ นี้หรือขึ้นเดือน ๗ หนังสือก็คงจะคลาดแคล้วไป อนึ่ง ถึงจะส่งให้ว่าให้ทำอย่างไร ความที่สั่งกว่าจะถึงเวลาก็จะล่วงเสียแล้ว การที่ฝรั่งเศส ฯข้าฯ เข้าใจว่า เพราะหอมชื่อแม่น้ำของ[3] ว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ไปไกลเหมือนลำเอราวดีที่แผ่นดินพม่า แลแม่น้ำคัญเชช[4] คือ แม่น้ำคงคา เมืองเบงคอล ของอังกฤษ แลแม่น้ำของไหลลงเมืองเขมรที่ข้าวนาหอมเอมเปเรอ แลมีปากน้ำออกใกล้ไซ่ง่อน จึงคิดจะเอาแม่น้ำนี้เข้าไปทำนุบำรุงของฝรั่งเศส เป็นเกียรติยศว่า มีแม่น้ำใหญ่ยาวอยู่ในอำนาจเอมเปเรอ เห็นเหมือนอังกฤษได้แม่น้ำคัญเชชคงคาไว้ในคอลอนี แลเกือบจะได้แม่น้ำเอราวดีอยู่ด้วยแล้วนั้น จึงตะกุยตะกายไป ก็ความจริง แม่น้ำคัญเชชคงคาเบงคอลเป็นแม่น้ำใหญ่ ไปได้หลายทิศหลายแคว ตลอดแผ่นดินหินดุสตาน[5] มีเมืองบ้านโต ๆ ใหญ่ ๆ ผลประโยชน์ทางค้าขายมากมาย หาที่เปรียบได้ด้วยยาก แม่น้ำเอราวดีเมืองพม่าก็มีร้องน้ำเรือกลไฟเดินได้จนเกินอังวะขึ้นไป ไม้ซุงสักก็มีมาก ทางค้าขายก็ง่ายแลสะดวกดี ถึงแม่น้ำสาลวิน คือ แม่น้ำเมืองเมาเลเมียน[6] ก็โตใหญ่ ในคลองมีทางล่องไม้ขอนสักแต่แดนลาวเชียงใหม่แลสิบเก้าเจ้าเมืองมอกใหม่ไล่ข่าก็ล่องไม้ขอนสัก เป็นไม้มีราคา เป็นสินค้าของต้องการได้ ก็แม่น้ำลำของนี้ ถึงมีชื่อว่า แม่น้ำใหญ่ยาว มีเมืองลาวหลายเมือง ก็ไม่มีไม้ซุกสักเป็นไม้มีราคา มีแต่ไม้ยางแดงแลไม้กระยาเลยทั้งนั้น สินค้าก็มีบ้างเล็กน้อย แต่นอระมาดงาช้างไหมลาวบ้างเล็กน้อย ไม่ควรจะเป็นทางค้าขายโตใหญ่ ถึงโดยสินค้าจะมีมาก ไม้ซุงสักในป่าจะหาได้ก็ไม่มีทางล่อง แลทางเรือเดินติดแก่งลิผีอยู่ชั่วนาตาปี เพราะฉะนั้น สินค้าจะไปมาได้แต่ทางบก ของจึงไม่เจริญขึ้น ฝ่ายฝรั่งเศสฟังแต่ชื่อแม่น้ำว่า ใหญ่และยาว มีเมืองลาวเป็นอันมาก ก็คิดฝัน ๆ แลด้วยลโมภลุกลามล้นไป ดูที่ที่ให้กัปตันลาเครไปดูครั้งนี้ ประสงค์จะให้ไปเกลี้ยกล่อมเมืองหลวงพระบางที่ได้ยินชื่อลือไปว่า เป็นเมืองเจ้าลาวโตใหญ่ ให้ยอมทำสัญญาเข้าอยู่ในทำนุบำรุงฝรั่งเศสเช่นเขมร แลจะว่า จะช่วยตัดเอาเมืองลาวต่าง ๆ ในลำน้ำของไปขึ้นให้หมด ให้เป็นเอกราช ไม่ขึ้นแก่ไทยอย่างเขมร ที่จะคิดจะไปว่าเช่นนี้ แต่กัปตันลาเครไปครั้งนี้ เห็นลู่ทางยากง่ายใกล้ไกลแลสมบัติบ้านเมืองของลาวแล้ว จะคิดอย่างไร จะท้อถอยไป หรือจะคิดวุ่นไปเปล่า ๆ จะเอาแต่เกียรติยศชื่อหรือว่าอำนาจเอมเปอเรอแผ่กว่าไปในแม่น้ำใหญ่ยาวอย่างไรก็ไม่ทราบ ว่าแต่ตามใจ ฯข้าฯ คิดว่า ถ้าตัวเป็นเอมเปเรอเอง จะคิดเอาเมืองญวนเข้าอยู่ในอำนาจ เห็นจะดีกว่าเมืองลาว จะเอาจริงก็จะได้ดอกกระมัง ญวนเจ้ารีตฝรั่งก็มาก จะกลับเป็นกอลอนีฝรั่งเศสก็จะง่าย ผลประโยชน์ก็จะมากกว่าคิดเดินทางยากในแม่น้ำเมืองลาว แต่เห็นเขาจะคิดว่า ญวนอยู่ในเนื้อมือแล้ว คิดทางอื่นไปพลางกระมัง ตัดหลังเสียให้ญวนจนไม่มีทางหนี ว่ามาทั้งนี้ นึกอะไรได้ก็ว่ามา แต่เห็นหนังสือนี้ไม่ทัน ทูตในยุโรปกลัวจะพบเมื่อกลับคืนดอกกระมัง

คำที่กราบเรียน ฯพณฯ สมุหพระกลาโหมมาว่า ถ้อยคำพระสยามธุรานุรักษ์[7] ฟังดูเหมือนฟังเสียงหีบ ฝ่ายที่ว่ามาทั้งนี้ ถูกต้องจริงทีเดียว ถึงมีหนังสือมาที่กรุงเทพฯ ก็เช่นนั้น อมเออกลมกลืน ควรคิดแปลไปต่าง ๆ ไม่ว่าชัดตรงออกมา เป็นทั้งนี้ก็เพราะมันไม่ได้นับถือเราว่า เป็นมนุษย์เหมือนตัวพวกมันนั้นแล ถึงมองติกนีก็ดี คนอื่นก็ดี เหมือนมันทั้งปวง ทั้งฝรั่งเศสแลอังกฤษก็คงคิดแต่ว่า เราเป็นสัตว์สำหรับพวกมันจะแทะและแล่เถือหรือหลอกใช้แรงดังโคกระบือ เห็นจะถือว่า ตีรันฟันฆ่าแลแย่งชิงเราไม่มีบาปเลย เพราะมิใช่ลูกศิษย์เยซู เป็นแต่ต้องระวังความนินทา เพราะทำหุนหันเหลื่อมลามเกิน ๆ ไป ไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น เราจะหมายให้ลูกศิษย์เยซูช่วยเรานั้น จะได้ด้วยยากนัก เว้นแต่ถ้าพวกนั้น ถ้ามันหึงหวงช่วงชิงกันจริง ๆ ไม่ล้มกัน เราจะถูกร้อนข้างหนึ่งเย็นข้างหนึ่งกระมัง ถึงเย็นก็คงไม่จืดหรือหวานสนิท คงจะกลับกร่อยหรือเปรี้ยวบูดไปเร็ว ๆ ง่าย ๆ นั้นแล

พระยาสยามธุรานุรักษ์ว่ามาในหนังสือเขา ลงวัน ๑๐ มาร์จ เป็นวัน ค่ำ ปีขาล อัฐ พระยาสยามธุรานุรักษ์ว่าดังนี้ ฯข้าฯ จะเขียนความถวายด้วยเรื่องราชการบ้านเมืองแลที่ตั้งใหม่ของพระราชอาณาจักรของพระองค์ท่าน แลการที่ท่านทูตสยามมา ก็ยังไม่มีเวลาว่างที่จะได้เขียน จะได้เขียนต่อไปน่าต่อไป การที่ว่าแหลมมาเป็นคำอังกฤษว่า New Situation of Your Majesty’s Kingdom นี้ว่ากระไร ดูเหมือนจะว่า จะต้องจัดเขตแดนแผ่นดินสยามเสียใหม่มิใช่หรือ ในหนังสือที่ลงวัน ๑๘ มาร์จ เป็นวัน ๑๔  ฯ  ค่ำ ปีขาล อัฐศก ก็เล่าแต่เรื่องที่มาชุมนุมกันที่บ้างมองติกนีปรึกษากับท่าน พูดอยู่ถึง ๖ วัน จึงตกลงกัน แลตกลงกันอย่างไรก็ไม่ได้ว่าชัดอย่างท่านทูตว่ามา ผัดไปต่อเมล์น่าอีกเล่า คำอื่นอย่าให้เล่ามาเลย ไม่ต้องการ ล้วนเป็นแต่ท่วงทีมนุษย์ทำแก่สัตว์ดิรัจฉานหรือสำนวนชาวเมืองชาวบ้านพูดแก่คนเถื่อนคนป่า

จดหมายมา ณ วัน ค่ำ ปีเถาะ นพ[8]

เลขที่
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๙
ชื่อ จดหมายถึงพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน ราชทูต เรื่อง อังกฤษฝรั่งเศสเกี่ยวข้องเขตแดนกรุงสยาม
ประวัติ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  1. ชื่อ วร บุนนาค
  2. วันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐
  3. คือ แม่น้ำโขง
  4. คือ แม่น้ำคงคา ทรงเรียกตามฝรั่งว่า Ganges
  5. Hindustan
  6. Moulmein เมืองมะละแหม่ง
  7. ชื่อ มิสเตอร์นอกซ์ เป็นกงศุลสยามประจำกรุงฝรั่งเศส
  8. วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐