ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 32

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชหัตถ์เลขาพระราชทานราชทูต
ทรงเล่าถึงความโอ่อวดของพระสยามธุรานุรักษ์กับพระสยามานุกูลกิจ

จดหมายมายังพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน ราชทูต พระราชเสนา อุปทูต ให้ทราบ หนังสือฉบับนี้เห็นจะพบท่านที่สิงคโปรกระมัง เรือยงยศอโยชฌิยา ฯข้าฯ ให้ลงไปคอยรับหนังสือเมล์ที่เมืองสิงคโปรแต่วัน ค่ำ[1] กลับมาถึงกรุงเทพฯ วัน ค่ำ[2] คราวเรือนี้หามีหนังสือของทูตมาไม่ มีแต่หนังสือของพระสยามธุรานุรักษ์ฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๕ เดือนเม เป็นวัน ค่ำ ปีเถาะ นพ[3] แลลงวันที่ ๑๐ เดือนเม เป็นวัน ค่ำ ความในหนังสือพระสยามธุรานุรักษ์สองฉบับนั้นก็เป็นแต่พูดยกตัวไปว่า ตัวมีความชอบ คอร์นเวอนแมนต์เขานิ่งเสียไม่รับทูตสยามถึงเกือบสองเดือนแล้ว ตัวได้ตะกุยตะกายช่วยมาก เขาจึงกลับรับ จนจวนจะได้เฝ้าเอมเปเรออยู่แล้ว การก็คงจะสำเร็จดังประสงค์ลงบ้าง ปลายว่า เอมเปเรอจะให้กงศุลเยเนราลเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จะให้มาชำระความทั้งปวงที่คอร์เวอนแมนต์สยามกับกงศุลออบาเรตแลกงศุลก่อน ๆ วิวาทกันอยู่นั้นให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น ขอให้ ฯข้าฯ ตั้งตัวพระสยามธุรานุรักษ์เป็นแอมเบฉาโด[4] ของสยามอยู่กรุงปารีส โดยไปภายหน้า มีถ้อยความอะไรก็จะได้ว่ากัน ไม่ต้องแต่งทูตออกไป และอวดไปว่า เฝ้าแหนเพดทูลแอมเปเรอได้ กับคนนั้นก็รู้จัก กับคนนี้รู้จัก วันนั้นคนนี้เชิญมากินโต๊ะ วันนี้คนนั้นเชิญมากินโต๊ะเพ้อไป แต่หนังสือสองฉบับนั้นก็เป็นอันมาก่อนวันทูตเข้าไปเฝ้าแอมเปเรอ ๒ วัน มาถึงกรุงเทพฯ ทีหลัง ข่าวที่บอกมาทางเตเลแกรฟว่าได้เฝ้านั้น ๑๔ วัน

อนึ่ง เซอร์ยอนโบวริ่ง[5] มีหนังสือมาถึง ฯข้าฯ ลงวันที่ ๕ เดือนเม คือ วัน [6] ปีเถาะ นพ ในหนังสือนั้นว่า ได้รับหนังสือ ฯข้าฯ ที่ฝากไปแก่มิศเตอนอกซ์ให้ช่วยพระยาสุรวงศ์นั้น ก็รับว่า จะเอาเป็นธุระได้ มีหนังสือมาถึงพระยาสุรวงศ์แล้ว จะรับให้ความคิดเป็นความลับก็ได้ เป็นความแจ้งก็ได้ ไม่ต้องกลัวอะไร ราชการฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกันอยู่อย่างไร เซอร์ยอนโบวริ่งได้ปรึกษากับเลอรดสตันเลและทูตของแอมเปเรอซึ่งอยู่ในเมืองลอนดอนแล้ว แล้วก็ว่าถากถาง ฯข้าฯ ว่า เห็นชรอยเขาจะคิดว่า ถ้า ฯข้าฯ ใช้เซอร์ยอนโบวริ่งเป็นคนอังกฤษให้เป็นทูตสยามไปว่าการกับฝรั่งเศส เห็น ฯข้าฯ จะกลัวว่า ฝรั่งเศสจะคิดหึงหวงเกียดกันไม่ให้อังกฤษเข้ามาแซกแซงในราชการไทยกับฝรั่งเศส ก็จะไม่รับพูดด้วยเซอร์ยอนโบวริ่งกระมัง เซอร์ยอนโบวริ่งคิดว่า ฯข้าฯ จะคิดอย่างนี้ ฯข้าฯ จึงส่งทูตเมืองนี้ไปเอง ด้วยเข้าใจว่า ชาวสยามเป็นคนแปลกหน้าไปหา ฝรั่งเศสเห็นเข้าจะดีใจรับโดยเร็วโดยสะดวก ก็ที่แท้ฝรั่งเศสกลับพาโลทำเฉยเสีย ทำให้ทูตไทยไปเก้ออยู่จนบัดนี้นั้น ก็เพราะเขาไม่รู้จักมักคุ้นแลนับถือมากเหมือนตัวเซอร์ยอนโบวริ่ง ถ้าเซอร์ยอนโบวริ่งได้ไปเป็นทูต การก็จะสำเร็จเสียนานแล้ว เลอรดสตันเลและทูตฝรั่งเศสที่อยู่ในเมืองลอนดอนก็จะช่วย ลงข้างปลายกลับอ้อนวอนให้ ฯข้าฯ ตั้งเป็นทูตสยามไปให้ได้ อย่าให้ได้อายแก่คนทั้งหลายที่เขาได้ฟังข่าวมาแต่ก่อนว่า เซอร์ยอนโบวริ่งจะได้เป็นทูตสยามนั้น อนึ่ง กงศุลนอกซ์มีหนังสือมาถึงมิศเตอรอาลปัศเตอร์ให้กราบเรียนคุณศรีสุริยวงศ์ว่า เดี๋ยวนี้ เลอรดสตันเลเขามีอำนาจมาก การที่ฝรั่งเศสวิวาทกับเมืองปรุศเซียจนถึงจะรบกันด้วยเรื่องเมืองลุกเซมเบิร์กนั้น เลอรดสตันเลได้ว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้ความแล้วกันได้โดยสะดวก ฝรั่งเศสก็ยอมตาม ก็ในความเรื่องเมืองเขมรนี้ เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสเพิกเฉยเสีย ไม่รับไม่พูดกับทูตไทยแล้ว ขอให้รีบตั้งเซอร์ยอนโบวริ่งเป็นทูตสยามไปเจรจราความกับฝรั่งเศสด้วยเรื่องเมืองเขมรโดยเร็วเถิด เลอรดสตันเลคงจะช่วยให้ความสำเร็จเหมือนเรื่องเมืองลุกเซมเบิร์ก เพราะใช้คนอังกฤษเป็นทูตมา ถ้าไม่สำเร็จ เขาก็จะได้อายด้วย เขาคงช่วยให้สำเร็จเป็นแน่ หนังสือมิศเตอร์นอกซ์ก็ลงวันที่ ๕ เดือนเม เหมือนหนังสือเซอร์ยอนโบวริ่งมาถึงกรุงเทพฯ วัน ค่ำ โดยคาดการณ์ตามวันของหนังสือ ก็เห็นการชัดว่า เซอร์ยอนโบวริ่งแลมิศเตอร์นอกซ์เมื่อวันเขียนหนังสือนั้นยังงมเถรอยู่ด้วยการในกรุงปารีสอยู่ หารู้ถนัดไม่

มองซิเออออบาเรตป่วยมาแต่ป่วยเป็นโรคบิดจนลุกนั่งไม่ได้มาหลายวัน จนถึงเดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ หมอเยอรมันชื่อ ดอกเตอร์ฮูเคนสตราเดิน ซึ่งท่านกรมท่าเชิญมารักษาจักษุท่านแต่เมืองเปตาเวียนั้น ไปให้ยารักษาแก้ไขฟื้นคืนหายขึ้นได้ เมื่อเรือยงยศอโยชฌิยามาถึงวัน ค่ำนั้น เห็นเขาจะได้หนังสือคำสั่งแต่คอร์เวอนแมนต์ฝรั่งเศส หรือเพื่อนฝูงบอกเล่าเขาอย่างไรไม่รู้ ให้คนมานัดคุณศรีสุริยวงศ์จะมาหาถึงสองเวลาแล้ว จึงมาหาท่าน กลับกิริยากายวาจาเป็นดีไปหมด เหมือนกับเปลี่ยนตัวคน ไปแจ้งความว่า การที่ทูตสยามไปกรุงปารีส ผู้ครองฝ่ายสยามสั่งไปให้ขออย่างไร ก็จะได้สำเร็จดังประสงค์ทุกประการ การที่ว่าขานตกลงกันจะเป็นอันสุดสำเร็จในวันที่ ๑๓ เดือนเม คือ วัน ๑๐ ฯ  ค่ำ เป็นแน่ ตั้งแต่นี้ไป การไทยกับฝรั่งเศสจะเกี่ยวข้องกันเพราะเมืองเขมรจะไม่มี แลเรื่องจีนสับเยคนั้น กงศุลออบาเรตก็ออกตัวว่า ตัวไม่ได้รับจีนต่าง ๆ เป็นสับเยคฝรั่งเศสดอก มองซิเอออิศตริยารับไว้แต่ก่อน บัดนี้ ได้ชำระเอาออกเสียหมดแล้ว ยังคงไว้แต่จีนที่มีสำคัญมาแต่เมืองไซ่ง่อน ๒๗ คนเท่านั้น อนึ่ง การผูกปี้จีน กงศุลอื่นลางพวกขัดไม่ให้ผูกปี้จีนลูกจ้างของเขา แต่กงศุลออบาเรตเห็นว่า ไม่ควรที่จะขัด กงศุลออบาเรตยอมให้ผูกปี้จีนลูกจ้างฝรั่งเศสก่อนกงศุลอื่นทีเดียว อนึ่ง กงศุลออบาเรตว่า การกบฏเมืองเขมร พวกโพกำปอ ฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อนก็ดี ที่กรุงปารีสก็ดี เขาสงสัยว่า ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามเข้าถือท้ายพวกกบฎให้วุ่นวาย แต่ตัวกงศุลออบาเรตอยู่ที่นี้ ได้เงี่ยหูสืบสวนการในกรุงเทพฯ แลเมืองบัตตะบอง เสียมราฐ เมืองลาว มานานแล้ว ไม่เห็นว่องแววว่า ฝ่ายสยามจะไปถือท้ายพวกกบฎเลย ตัวกงศุลออบาเรตไม่ได้มีความสงสัยสักนิดเดียว แลแจ้งความว่า อัดมิราลคราดีเยมีหนังสือเข้ามาว่า ได้ข่าวไปแต่เมืองสิงคโปร ว่า เรือจีนลูกค้าหลายลำบรรทุกเครื่องศัสตราอาวุธเป็นอันมาก เข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสาม ให้กงศุลออบาเรตสืบถามผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามดูว่า ศัสตราอาวุธนี้ซื้อเข้ามาทำไม กงศุลว่า ได้มีหนังสือออกไปว่า ไม่ควรจะถาม เพราะความเนิ่นวันมาแล้ว ก็ถ้าสงสัยอย่างนี้ ควรกงศุลฝรั่งเศสที่เมืองสิงคโปรจะมีหนังสือมาถึงกงศุลออบาเรตให้ทันทีเมื่อเวลาเรือบรรทุกของมา จึงจะสืบได้ แลแจ้งข่าวว่า บัดนี้ ผู้ครองแผ่นดินฝรั่งเศสจะให้กงศุลเยเนราลอยู่แทน ตัวกงศุลเยเนราลจะเข้ามาถึงประมาณในเดือน ๘ เมื่อกงศุลใหม่มาถึงแล้ว กงศุลออบาเรตก็เป็นสิ้นธุระ ควรจะกลับไปเมืองฝรั่งเศส แต่เห็นว่า ที่ทะเลแดง ในเดือน ๙ ร้อนหนัก ตัวยังป่วยอยู่ ไม่หายปกติ กลัวจะไปป่วยหนักลงที่ทะเลแดง จะต้องรออยู่ในกรุงเทพฯ จนเดือน ๑๐ แล้ว จึงจะลากลับไป กงศุลออบาเรตมาพูดนี้ก่อนเรือกลไฟเจ้าพระยามาถึง เรือกลไฟเจ้าพระยามาถึงเมื่อวัน ๑๒ หนังสือของท่านที่ลงวัน ๑๒ ฯ  ค่ำ[7] นัมเบอร์เป็นที่ ๑๐ ฯข้าฯ รับแล้วด้วยความยินดี

เลขที่
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๙
ชื่อ เรื่องกงศุลฝรั่งขอให้ตั้งตนเป็นแอมเบฉาโดของสยาม
ประวัติ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  1. วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๐
  2. วันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๐
  3. วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐
  4. Ambassador เอกอัครราชทูต
  5. พระสยามานุกูลกิจสยามมิศรมหายศ
  6. วันที่ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๐
  7. วันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๑