ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 33
พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม และสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอกรุงฝรั่งเศส มีความปรารถนาให้ตกลงกันว่าด้วยเมืองไทยเมืองเขมร เพราะผู้ครองแผ่นดินฝรั่งเศสผู้ครองแผ่นดินเขมรได้ทำหนังสือสัญญาที่เมืองอุดงมีไชย วันที่ ๑๑ เดือนออคุสต์ ในปีนี้ คริสต์ศักราช ๑๘๖๓ ตรงกันกับวันที่ ๒๗ เดือนออชักปีกอร์ จุลศักราช ๑๒๒๕ ปี ไม่ให้มีเกิดข้อขัดขวางทางพระราชไมตรีหมองหมางทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้ตั้งให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒนเป็นราชทูต พระราชเสนาเป็นอุปทูตเต็มอำนาจ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอกรุงฝรั่งเศสได้ตั้งให้มองซิเออร์เอามารกีลิออเนน เดอร์บุคต์กิโอ กรานกรัวเดอร์อา เลชิยองดอนเนอร์ มินิสเตอร์ผู้ว่าการต่างประเทศเต็มอำนาจ ได้ตรวจหนังสือเกรเดนแฉลถูกต้องพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ได้ตำลงทำหนังสือสัญญากันตามว่ามานี้
ข้อ๑.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยอมความป้องกันซึ่งสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอได้ป้องกันเมืองเขมร
ข้อ๒.ว่า หนังสือสัญญาซึ่งไทยแลเขมรทำไว้ในเดือนเดเซมเบอร์ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๓ ใช้ไม่ได้ ไปเบื้องหน้าผู้ครองฝ่ายสยามจะอ้างข้อหนึ่งข้อใดในหนังสือสัญญานั้นไม่ได้
ข้อ๓.ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแลพระเจ้าแผ่นดินจะสืบพระราชอิศริยยศจะไม่ขอส่วยอากรเครื่องบรรณาการหรือของอื่น ๆ ซึ่งเป็นสำคัญเมืองขึ้น ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอฝรั่งเศสสัญญาจะไม่เอาแผ่นดินเขมรเพิ่มเติมแก่หัวเมืองญวนซึ่งเป็นของฝรั่งเศส
ข้อ๔.ว่า เมืองบัตบองแลเมืองนครเสียมราฐคงอยู่เป็นของไทย เขตแดน ๒ เมืองนี้และเขตแดนเมืองอื่น ๆ ของไทยซึ่งติดต่อกับเขตแดนของเขมรคงอยู่ตามสังเกตกันตามในกาลบัดนี้ จะต้องกำหนดโดยเร็ว ผู้ครองฝ่ายสยามแลผู้ครองฝ่ายเขมรจะให้ขุนนางไปปักปันเขตแดนเป็นสำคัญต่อหน้าพร้อมกันกับขุนนางฝรั่งเศสซึ่งคอเวอนเนอร์ผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อนจะใช้ไปปักเขตแดนตกลงกันแล้ว ขุนนางฝรั่งเศสจะทำแผนที่เป็นสำคัญโดยซื่อตรง
ข้อ๕.ว่า ไทยจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตแดนเขมร ๆ จะไม่ล่วงเข้ามาในเขตแดนของไทย คนฝ่ายไทยฝ่ายเขมรจะไปค้าขายแลอาศัยไปมาหากันโดยดีก็ได้ ถ้าคนอยู่ในบังคับไทยจะทำผิดกฎหมายในที่เมืองเขมร เจ้าพนักงานเขมรจะทำโทษโดยยุติธรรมตามกฎหมายฝ่ายเขมร ถ้าคนอยู่ในบังคับเขมรทำผิดกฎหมายในที่เมืองไทย เจ้าพนักงานไทยจะทำโทษตามกฎหมายไทยโดยยุติธรรม
ข้อ๖.ว่า เรือฝรั่งเศสจะขึ้นลงตามลำแม่น้ำของแลในทะเลสาบเขตแดนไทยได้โดยสะดวก คอเวอนแมนต์ไทยจะทำเบิกร่องสำหรับตัวผู้ซึ่งจะไป สุดแต่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะกำหนดกี่ฉบับ ให้ไว้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสเมืองไซ่ง่อน ลงชื่อประทับตราฝรั่งเศสให้แก่ผู้ซึ่งจะไปเข้าในแผ่นดินของไทย จะต้องถือตามหนังสือสัญญาในคริสตศักราช ๑๘๕๖ เบิกร่องนี้จะใช้ได้อย่างเดียวกันกับเบิกร่องที่ว่าในข้อ ๗ หนังสือสัญญาคริสต์ศักราช ๑๘๕๖ ปี แลผู้ถือหนังสือเบิกร่องนั้นมีข้อขัดขวาง จะได้พึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายข้างไทย
ข้อ๗.ว่า คอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะบังคับฝ่ายเขมรถือตามหนังสือสัญญานี้
ข้อ๘.ว่า หนังสือสัญญานี้เขียนเป็นอักษรไทย อักษรฝรั่งเศส ถูกต้องกัน ใช้ได้เหมือนกัน
ข้อ๙.ว่า หนังสือสัญญานี้จะต้องรัตติไฟเปลี่ยนกันที่กรุงสยามในกำหนด ๕ เดือนหรือเร็วกว่าตามแต่จะได้ ผู้รับสั่งเต็มอำนาจทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อประทับตราเป็นสำคัญ
หนังสือสัญญาทำไว้ที่กรุงปารีสสองฉบับ วันที่ ๑๕ เดือนยุไล ในปีคริสตศักราช ๑๘๖๗ ปี ตรงกับวัน ๒ ๑๔ ฯ ๘ ค่ำ จุลศักราช[1] ๑๒๒๙ ปีเถาะ นพศ๑ก๗
เลขที่ | ๓๕ | |
หมู่ | จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๙ | |
ชื่อ | สัญญา เรื่อง สัญญาเมืองไทยกับเมืองฝรั่งเศส และสัญญาเรื่องสุรา | |
ประวัติ | ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
- ↑ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐