ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 12

จาก วิกิซอร์ซ
พระยาอนุชิตชาญไชย จางวาง
บอกเรื่องพระยาอภัยภูเบศถึงอนิจกรรม
และสำรวจอาวุธแลข้าวเปลือก

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุชิตชาญไชย จางวางกรมพระตำรวจขวา[1] หลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ กรมมหาดไทย หลวงไตรเทพ ปลัดกรมอาษาใหญ่ช่วยข้าหลวง พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด พระณรงค์เรืองเดช ยกกระบัตร พระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วย พระสุเรนทรฦๅไชย มหาดไทย กรมการ บอกมายังออกพันนายเวรได้นำขึ้นกราบเรียนพณหัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลาให้ทราบ ด้วยข้าพระพุทธเจ้า ข้าหลวง กราบถวายบังคมลาเชิญศุภอักษรหนึ่ง ตราพระราชสีห์สองฉบับ รวมกันสามฉบับ กับคุมเอาสำเนาหนังสือฝรั่งสี่ฉบับ ดินดำยี่สิบหีบหนักห้าหาบ กระสุนแตกสามนิ้วสี่นิ้วห้านิ้วสามสิบหกกระสุน กระสุนไฟสิบสองกระสุน ดีบุกหนักหาบหนึ่ง ดินประสิวห่อหนึ่ง แร่ดินประสิวชลอมหนึ่ง ชนวนแก๊ปพันหนึ่ง ออกไปถึงเมืองพระตะบอง ณ วันพฤหัส เดือนสิบ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีวอก โท พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด กรมการ เมืองพระตะบอง แจ้งความแก่ข้าพระพุทธเจ้า กับหลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ ว่า พระยาอภัยภูเบศ ผู้สำเร็จราชการเมือง ป่วยมาแต่ ณ วันเดือนสี่ ข้างขึ้น ปีมะแม เอก อาการให้เฟ้อ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ รับพระราชทานอาหารสวยได้เวลาละถ้วยฝาขนาดกลางบ้าง ขนาดน้อยบ้าง ครั้น ณ วันเดือนสิบ แรมสามค่ำ สี่ค่ำ ปีวอก โท อาการไข้พระยาอภัยภูเบศให้อาเจียนเป็นโลหิตจับเชื่อมมัวทรุดหนักไป พระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วย บุตร หลาน และญาติ กรมการ ได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาพยาบาล อาการพระยาอภัยภูเบศประทังอยู่ ข้าพระพุทธเจ้า หลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ ได้เชิญศุภอักษรตราสองฉบับวางต่อพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด กรมการ เมืองพระตะบอง ๆ ทราบความตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปทุกประการแล้ว แล้วข้าพระพุทธเจ้า กับหลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ ข้าหลวง พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด กรมการ เมืองพระตะบอง พร้อมกันแต่งให้พระพิพิทธราชา กรมการเมืองพระตะบอง นายไพร่สิบคน เชิญศุภอักษร กับคุมเอาสำเนาหนังสือฝรั่งสี่ฉบับ ดินดำยี่สิบหีบหนักห้าหาบ กระสุนแตกสามนิ้วสี่นิ้วห้านิ้วสามสิบหกกระสุน กระสุนไฟสิบสองกระสุน ดีบุกหนักาบหนึ่ง ดินประสิวห่อหนึ่ง แร่ดินประสิวชลอมหนึ่ง ชนวนแก๊ปพันหนึ่ง ออกไปยังองค์พระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี ณ เมืองอุดงมีไชย แล้วให้พระพิพิทธราชาสืบฟังราชการทางเมืองอุดงมีไชยมาด้วย พระพิพิทธราชา นายไพร่ ได้ออกไปจากเมืองพระตะบอง ณ วันพฤหัส เดือนสิบ ขึ้นสิบค่ำ ปีวอก โท ครั้น ณ วันเดือบสิบ แรมสี่ค่ำห้าค่ำหกค่ำ อาการพระยาอภัยภูเบศให้ร้อนในอก สอึกเป็นกำลัง ณ วันศุกร เดือนสิบ แรมเจ็ดค่ำ เพลาเช้า สี่โมงเศษ พระยาอภัยภูเบศถึงแก่อนิจกรรม พระคทาธรธรณินทร์[2] ผู้ช่วย บุตร หลาย กรมการ และญาติพี่น้อง ได้ทำหีบใส่ศพพระยาอภัยภูเบศ นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมอยู่ทุกวัน ข้าพระพุทธเจ้า หลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ กับพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด พระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วย กรมการ ได้ตรวจดูฉางข้าว กับปืนใหญ่ ปืนคาบศิลา กระสุน ดินดำ สำหรับเมืองพระตะบอง ฉางข้าวมีอยู่สองหลัง ๆ หนึ่งขื่อสามวาคืบ ห้าห้อง ยาวเจ็ดวาสองศอก จุข้าวสองร้อยห้าสิบเกวียน หลังหนึ่งขื่อสามวาสามศอก เจ็ดห้อง เฉลียงกว้างสี่ศอก โดยรอบยาวสิบวาสองศอก จุข้าวสามร้อยแปดสิบเกวียน รวมกันสองหลังมีเม็ดข้าวเปลือกคงฉางอยู่สองร้อยสิบเจ็ดเกวียนสิบสองถัง ค้างพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด ค้างเก่าเก้าสิบสามเกวียนสิบสองถัง ค้างใหม่สิบสองเกวียน รวมกันร้อยห้าเกวียนสิบสองถัง ค้างกรมการและราษฎรสามสิบเอ็ดรายเป็นข้าวเปลือกหกสิบหกเกวียนห้าสิบหกถังสิบสองทนาน แจ้งอยู่ในหางว่าวนั้นแล้ว แต่ฉางข้าวหลังห้าห้อง พื้นฝาเครื่องบนชำรุดบ้าง เสาชำรุดบ้างเสียเจ็ดต้น หลังเจ็ดห้อง เสาฝาเครื่องบนยังดีอยู่ พื้นชำรุดผุพังเสียมาก จะต้องจัดแจงซ่อมแซมให้ดีเหมือนอย่างเก่า แต่เม็ดข้าวเปลือกซึ่งค้างเก่ารายปีมา ข้าพระพุทธเจ้า หลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ กับพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด กรมการ ยังชำระอยู่ และปืนใหญ่ ปืนคาบศิลา คาบชุด กระสุน ดินดำ ซึ่งโปรดพระราชทานออกไปไว้สำหรับเมืองพระตะบองเป็นจำนวนปืนใหญ่กระสุนเจ็ดนิ้วสองบอก ปืนป้อมกระสุนสองนิ้วเจ็ดกระสุน สามนิ้วยี่สิบกระสุน สี่นิ้วสิบกระสุน ห้านิ้วสอง รวมกันสามสิบเก้าบอก ปืนมีล้อกระสุนสามนิ้วสิบบอก ปืนหามแล่นทองสิบแปด เล็กสิบห้า รวมกันสามสิบสามบอก รวมกันปืนใหญ่สอง ปืนป้อมสามสิบเก้า ปืนล้อสี่ ปืนหามแล่นสามสิบสาม รวมกันเจ็ดสิบแปดบอก ปืนคาบศิลาร้อยสามสิบหก ปืนคาบชุดหกสิบเก้า รวมกันสองร้อยห้าบอก กระสุนห้าหมื่นห้าพันแปดร้อยสิบหกกระสุน ศิลาปากนกหมื่นสี่ร้อยเก้าสิบ ดินดำหนักสี่สิบห้าหาบสามสิบชั่ง กำมะภันหนักหาบห้าสิบชั่ง แต่ปืนป้อมรางชำรุดยี่สิบบอก ปืนหามแล่นชำรุดสองบอก รวมกันยี่สิบสองบอก ข้าพระพุทธเจ้า หลวงนิกรจำนงค์ หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงไตรเทพ กับพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด พระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วย กรมการ ได้เกณฑ์กรมการเมืองพระตะบองตัดเสาฉางข้าวไม้พื้นแลรางปืน เร่งรัดช่วยกันระดมทำอยู่แล้ว ถ้าพระพิพิทธราชา นายไพร่สิบคน ซึ่งออกไปสืบราชการทางเมืองอุดงมีไชยกลับมาถึงเมืองพระตะบองวันใด สืบได้ข้อราชการประการใด ได้ทำฉางข้าวและได้ชำระเม็ดข้าวเปลือกขึ้นไว้คงฉางมากน้อยเท่าใด และได้ทำรางปืนแล้วเท่าใด ข้าพระพุทธเจ้าจะบอกเข้ามาให้ทราบครั้งหลัง บอกมา ณ วันศุกร เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสามค่ำ ปีวอก โท[3]

ตราพระยาอนุชิตชาญไชย ตราหลวงเสนีย์พิทักษ์
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระยาคทาธรธรณินทร์ ตราพระมหาดไทย
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระบุรินทร์รักษาเมือง ตราพระภักดีสมบัติพระคลัง
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระยากระสัตรีธิบดี ตราพระสัสดี
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระยาโกษาธิบดี ตราพระสุภาแพ่ง
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระสุภามนตรี ตราพระสุภาสิทราช
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระเพชรสงคราม ตราพระศรีพิพัฒน์
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระสมบัติธิบาล ตราพระอินทราชัย
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระเสนานุชิต ตราพระจรัญภักดี
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
ตราพระมนตรีนายก ตราพระสัตรีนุชิต
(มีรูปตีตราไว้) (มีรูปตีตราไว้)
เลขที่ ๑๖
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ชื่อ ใบบอกเมืองพระตะบอง

  1. ข้าหลวงประจำเมืองพระตะบอง
  2. ชื่อ เยีย อภัยวงศ์ ผู้นี้เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์
  3. ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๓