ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 24

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชหัตถ์เลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว
พระราชทานองค์ศรีสวัสดิ์ พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า

จดหมายมายังศรีสวัสดิ์ องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า ให้ทราบว่า หนังสือของเธอที่บอกมายังพระคทาธรธรณินทร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง เล่าการที่เมืองอุดงมีไชยเข้ามานั้น พระคทาธรธรณินทร์เขาได้ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ ได้ฟังทราบความแล้วทุกประการ หนังสือนั้นไปถึงกรุงเทพฯ วัน ๑๒ ค่ำ[1] ฯข้าฯ คิดเห็นว่า การที่เธอไม่ทิ้งศพบิดาแลอยู่เพื่อนย่ากับญาติพี่น้องที่จะตามองค์พระนโรดมออกจากเมืองไปไม่ได้แลรักษาเมืองอุดงมีไชยอยู่นั้นก็ดี เมื่อพวกเขมรที่ลุกลามมาล้อมเมืองได้พูดเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มาพร้อมกันถือน้ำสัตย์ต่อเจ้านายแล้วชวนให้สงบอยู่คอยฟังท้องตราแลข้าหลวงผู้ใหญ่กรุงเทพฯ ได้ ไม่หลบหนีเสีย ทำให้พวกนั้นปล้นเอาบ้านเมืองรั้ววังไม่ได้นั้นก็ดี ก็เป็นความชอบของเธอมากอยู่แล้ว

เมื่อเธอบอกมายังพระคทาธรธรณินทร์ดังนี้นั้น[2] เธอได้บอกมาถึงพระนโรดมฯ ผู้พี่ด้วยฤๅไม่ องค์พระนโรดมเมื่อรู้ข่าวการเป็นดังนี้ จะว่ากะไรก็ยังไม่ทราบมาถึงกรุงเลย องค์พระนโรดมบัดนี้ได้ยินว่า มาตั้งอยู่ที่เปียมเสมา เมืองพระตะบอง องค์พระนโรดมจะเห็นว่า เธอทำชอบ ฤๅจะเห็นไปว่า กลับใจไปเข้ากับข้าศึกเป็นเล่ห์กลอย่างไร ก็ไม่ทราบเลย ถ้าองค์พระนโรดมจะกลับเห็นไปว่า เธอไม่ซื่อต่อตัวองค์พระนโรดมผู้พี่ กลับไปเข้าด้วยข้าศึกเป็นอุบายจะแกล้งกำจัดดังนั้นแล้ว จะขอเอากำลังกองทัพกรุงไปปราบปรามพวกที่เข้าล้อมเมืองนั้นไปถ่ายเดียวแล้ว ฯข้าฯ เห็นว่า ผู้ครองแผ่นดินกรุงเทพฯ จะทำตามใจองค์พระนโรดมดังนั้นไม่ควร เพราะเธอผู้เกลี้ยกล่อมพวกนั้นไว้ก็ดี พวกที่มาล้อมเมืองแล้วเข้าเกลี้ยกล่อมยอมสงบอยู่ก็ดี ปรากฏอยู่ชัดว่า ไม่ได้คิดออกหาก ไปพึ่งบ้านอื่นเมืองอื่นนอกจากกรุงเทพฯ เหมือนครั้งองค์จันวิวาทกับองค์สงวนเมื่อองค์สงวนหนีเข้าไปเมืองโพธิสัตว์ใกล้เมืองพระตะบอง องค์จันก็หนีไปเมืองญวนขออำนาจญวนมาช่วยนั้นเลย เพราะฉะนั้น ผู้ครองแผ่นดินกรุงเทพฯ ไม่ควรจะประพฤติเอาร้ายต่อเธอแลพวกนั้นด้วยเห็นแก่องค์พระนโรดมผู้เดียวโดยว่า ถ้าผู้ปกครองแผ่นดินฝ่ายกรุงเทพมหานครจะเห็นว่า องค์พระนโรดมเป็นบุตรใหญ่ในองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี แลบิดาได้ขอให้ตั้งเป็นมหาอุปราช แลผู้ครองแผ่นดินกรุงเทพฯ ได้ตามใจองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี ตั้งแต่งไปเป็นเกียรติยศปรากฏแล้ว แลครั้งนี้ เมื่อเหตุมีขึ้น ก็ได้มีใบบอกเหตุที่เป็นเข้ามาเป็นคำนับแก่กรุงเทพฯ เนือง ๆ ถึงจะมีความชัดแจ้งก็ดี ไม่สู้ชัดแจ้งก็ดี ก็เป็นอันมีกิริยาอันสมควรอยู่ ถึงเมื่อบ้านเมืองมีความวุ่นวาย ก็ยังได้อุตสาหส่งบรรณาการแลส่วยตามปีอยู่ การนั้นก็เป็นอันมีความชอบ ครั้นเขมรหัวเมืองกำเริบกล้า หาที่พึ่งอื่นมิได้ ก็คิดยกครอบครัวแลพระยาพระเขมรตัวสำคัญที่คนชังมากเป็นตังต้นเหตุให้ไพร่กำเริบนั้นพากันเข้าไปเมืองพระตะบอง หันหน้าไปหากรุงเทพฯ บอกเข้ามาว่า จะขอเป็นที่พึ่งดังนี้ ก็ยังปรากฏว่า จงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ อยู่ดังนี้

เพราะเหตุนั้น ไม่ควรจะยกองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชออกเสียจากความเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองเขมร จะต้องคิดให้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมรให้ได้ แล้วผู้ครองแผ่นดินฝ่ายกรุงเทพฯ ก็คงจะต้องมาว่ากล่าวปรึกษาหารือกับเธอแลพระยาพระเขมรในเมืองนอกเมืองทั้งปวงให้ประนีประนอมพร้อมใจกันลงจริง ๆ แลกิริยาใด ๆ ขององค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชแต่ก่อน ไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนเป็นอันมาก ก็จะต้องขอให้ทำสัญญาเสีย ไม่ให้มีให้เป็นต่อไปแน่นอน แลพระยาพระเขมรที่เขาชังมากนั้น ก็จะต้องขอเอาตัวไปให้อยู่เสียที่เมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ หรือในกรุงเทพฯ ทีเดียว ให้พ้นวิสัยร้ายเสีย ต่อยอมกันลงจริง ๆ จนเชื่อได้ว่า การต่อไปจะเรียบร้อยกันเป็นแน่แล้ว จึ่งจะตั้งแต่งให้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมรได้

บัดนี้ ฯข้าฯ กับท่านเสนาบดีคิดกันจัดให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ[3] บุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ว่าสมุหนายก ตามเจ้าพระยามุขมนตรี[4] พระยาสิงหราชฤทธิไกร[5] ออกไปเมืองพระตะบอง แล้วให้พบกับองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชหารือปรึกษาดูในการเรื่องนี้ องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชจะว่าอย่างไรจะเห็นอย่างไร ให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์กลับเข้ามาบอกก่อน จึ่งจะคิดอ่านการให้ตกลงว่า จะอย่างไรดีได้ เมื่อตกลงแล้ว จึงจะได้บังคับออกไปให้เจ้าพระยามุขมนตรี ข้าหลวงผู้ใหญ่ บังคับบัญชาแลจัดแจงการให้สมควรแก่เหตุผล

วิสัยการประเทศราชใหญ่ดังเมืองเขมรนี้ การก็คงจะต้องตกลงตามใจคนทั้งปวงเป็นอันมาก ในเมืองนั้นจะชอบใจอย่างไรนั้น การบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยสืบไปได้ จะเอาแต่ตามชอบใจผู้ครองแผ่นดินกรุงเทพฯ ไปกดขี่คุมเหงให้เป็นไปไม่ได้ ด้วยเมืองเขมรอยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเมืองชั้นใน เพราะจะต้องรอฟังความคิดขององค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชดูก่อน การที่จะบังคับออกไปเมืองอุดงมีไชยนั้น จะช้าไปหลายวัน ขอให้เธอกับพระยาพระเขมรในเมืองอุดงมีไชยคิดกับพระศรีเสนา จมื่นราชามาตย์ และพระพลเมืองพระตะบอง เกลี้ยกล่อมพวกเขมรที่มาล้อมเมืองอยู่นั้นให้สงบรอฟังบังคับแต่กรุงเทพฯ ต่อภายหลังครั้งนี้ ข่าวพึงมาถึงในวันเดียวก่อน แต่เวลาเขียนจดหมายมานี้ คิดอ่านการให้ทั่วถึงรอบคอบไม่ทัน ขอผัดต่อไปอีกคราวหนึ่งไม่ช้านักดอก วัตถากับศิริวงศ์นั้น ได้ยินว่า เข้ามากลางทางเกือบจะถึงกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ถ้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ก็จะไล่เลียงไต่ถามดี ๆ ไม่จิดจำทำโทษดอก เมื่ออยู่ที่เมืองพระตะบองนั้น ฯข้าฯ ก็ได้ให้เสื้อผ้านุ่งผ้าห่มไปแจกให้ แลได้ให้เงินไป ๒ ชั่งให้ซื้อกิน ไม่ได้ขู่เข็ญอะไรดอก แต่วัตถาคนนี้ ฯข้าฯ รังเกียจแต่ที่สูบฝิ่นนั้นแล เป็นข้อใหญ่ทีเดียว ตัวเธอนั้นไม่มีที่รังเกียจด้วยการสุรายาฝิ่นแลข่าวร้ายต่าง ๆ ดังว่าแล้ว ในจดหมายของ ฯข้าฯ ที่ให้พระศรีเสนาถือไปให้เธอนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้วิตกอยู่ตัวเธอกับองค์พระนโรดมผู้พี่นั้นจะสนิทกันอยู่จริง ๆ หรือจะมีความขุ่นข้องหมองหมางกันอยู่ในใจในทีในการลูกเมียอย่างไร ก็ยังไม่แน่ใจเลย เพราะเป็นการไกลหูไกลตา ไม่รู้อะไรด้วยเลย สงสัยอยู่ที่จงกลนีนั้น[6] ได้ยินว่า เป็นเมียเธอแล้ว โกรธกันหรือ จึงตามพี่ชายมา ทิ้งเธอเสีย แลได้ยินมาแต่ก่อนว่า เจ้าหญิงใหญ่ไม่ชอบกับองค์พระนโรดมมาแต่เมื่อบิดายังอยู่ ครั้นบิดาถึงพิราลัยแล้ว ไม่อยู่ในวังนั้น มาอยู่กับเธอ การนี้ก็เป็นการในเย่าเรือนของเธอดอก ไม่ควรเลยที่ ฯข้าฯ จะพักถาม ซึ่งว่าทั้งนี้ด้วยจะชี้เหตุที่เป็นต้นเดิมความวิตกของ ฯข้าฯ ว่า เธอกับองค์พระนโรดมนั้นจะขุ่นข้องหมองมัวกันอยู่เงียบ ๆ ในใจในทีอย่างไรบ้างนั้นดอกจึ่งว่า ถ้าไม่ชอบใจ ก็ขอโทษเสียเถิด

ถ้ามีความขุ่นข้องหมองมัวกันอยู่อย่างไร ก็อย่างเกรงใจกลัว ฯข้าฯ เลย จงจดหมายเป็นหนังสือลับบอก ฯข้าฯ จริง ๆ เหมือนหลานที่รักพูดกับอาว์เถิด เขียนแล้วจงมอบให้จมื่นราชามาตย์ถือมาให้เร็ว ๆ ได้ทราบแล้วจะได้คิดอ่านให้เป็นคุณแก่ตัวเธอแลญาติพี่น้องของเธอที่สนิทกันแลไม่สนิทโดยควรแก่อุบายอันเป็นธรรม มิให้ร้าวฉานกันมากต่อไปในภายหน้า จงเชื่อเถิดว่า ฯข้าฯ จะคิดให้เป็นคุณจริง ๆ ดังคิดให้บุตรหลานของตัว ชอบใจว่า ความนี้จะเป็นจดหมายหนังสือลับหรือท้องตราก็ตาม จะเห็นควรจะมอบให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญฤๅพระยามหาเทพเขมรถือออกไปให้องค์สวัสดิ์หริราชดนัยไกรแก้วฟ้า จะควรหรือไม่

เลขที่ ๓๒๒
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ไม่มี[7]
ชื่อ จดหมายถึงองค์หริราชดนัยไกรแก้วฟ้าไกล่เกลี่ยให้สามัคคีกับองค์นโรดมฯ

  1. น่าจะเป็นปีระกา ตรีศก จศ. ๑๒๒๓ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔
  2. ชื่อ เยีย อภัยวงศ์ ต่อมาเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์
  3. ชื่อ รอด กัลยาณมิตร ต่อมาเป็นเจ้าพระยารัตนบดินทร์
  4. ชื่อ เกษ บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  5. ชื่อ สุด
  6. พระธิดาของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
  7. น่าจะเป็นปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔