ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 21

จาก วิกิซอร์ซ
โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งมรดกองค์สมเด็จพระหริรักษ์
แก่องค์พระวัตถา

หนังสือเจ้าพระยานิกรบดินทรฯ มายังองค์พระนโรดมพรหมบริรักษา องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า มหาอุปราช สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมรเมืองอุดงมีไชย ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อพระวัตถาจะกราบถวายบังคมลาออกไป แจ้งว่า องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชา มีความขัดเคืององค์วัตถาอยู่สองข้อ ๆ หนึ่งว่า องค์วัตถาสูบฝิ่น ข้อหนึ่งว่า คบหญิงในพระบรมมหาราชวังมาไว้เป็นภรรยา จนชั้นองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีแต่งพระยาพระเขมรคนใดคนหนึ่งคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ฤๅให้เข้ามาด้วยกิจการสิ่งใด ก็กำชับสั่งไม่ให้ไปมาแวะเยี่ยมเยียน ทั้งเรือก็ห้ามไม่ให้มาจอดที่วัง เมื่อองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีป่วยมาก เอาทรัพย์ออกจำหน่ายทำบุญแลแจกบุตรชายบุตรหญิงขององค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี ส่วนแบ่งปันองค์วัตถาก็ไม่มีในบัญชีนั้น ได้ทราบแล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ความในพระบรมมหาราชวังนั้น เดิมเกิดขึ้นเพราะฟ้อนเป็นข้าสมเด็จพระนางเจ้า[1] ได้ใช้สอยอยู่ในตำหนักแต่เล็ก แล้วให้หัดเป็นละคอน ครั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิ้นพระชนม์ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ชำระไต่ถามละคอนในสมเด็จพระนางเจ้าคนใดสมัครเป็นละคอนหลวงก็ให้เอาตัวมาสมทบไว้เป็นละคอน ๆ คนใดไม่สมัครก็แล้วไป แต่ฟ้อนคนนี้ไม่ยอมรับพระราชทานเงินเบี้ยหวัด สมัครเป็นข้าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมวดี อยู่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วฟ้อนไปคบหารักใคร่กับนายบัว มหาดเล็ก ได้ทำโทษนายบัวครั้งหนึ่งแล้ว อยู่มา มีผู้กล่าวโทษนายบัว มหาดเล็ก ว่า เป็นชู้กับหญิงในพระบรมมหาราชวังที่ไม่ได้ห้ามประตูหลายคน จึงได้มีพระบรมราชโองการสั่งให้ชำระไล่เลียงเอาตัวฟ้อน ได้ความว่า ฟ้อนไปอยู่ที่วังองค์วัฐถา ให้เอาตัวมาถามแล้วยึดตัวไว้ แต่องค์วัตถาไม่ได้เกี่ยวข้องมีความผิดด้วยเรื่องฟ้อน เพราะฟ้อนนั้นไม่ได้เป็นคนห้ามประตู จะไปไหนก็ไปได้ อยู่มา องค์วัตถาสูบฝิ่น จึงทรงพระกรุณาดำรัสว่า องค์วัตถาก็เป็นบุตรองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี ตั้งพระราชหฤทัยจะทรงชุบเลี้ยงให้สมควรกับเกียรติยศ องค์วัตถามาประพฤติการเป็นพาลให้เสียวงศ์ตระกูลไป หาชอบไม่ จึงได้ให้เจ้าพนักงานเอาตัวองค์พระวัตถามากักขังทรมานไว้ในพระบรมมหาราชวังเพื่อจะให้อตฝิ่นเสีย องค์วัตถาต้องกักขังอยู่หลายเดือน อยู่มา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แลท่านเสนาบดีทั้งปวง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กิริยาองค์วัตถาเรียบร้อยลงมาก เห็นจะอดฝิ่นได้ ขอรับพระราชทานให้พ้นจากที่ขัง ก็ได้พระราชทานยกโทษให้ แล้วได้ให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไปตามเดิม องค์วัตถาได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ เนือง ๆ ทรงพระราชปฏิสันถารปราสัยไต่ถามทางงานอยู่ไม่ขาด ตัวฟ้อนก็จะพระราชทานให้ แต่องค์วัตถาไม่รับมา การค้างอยู่ ครั้นองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัย เมื่อองค์วัตถาจะออกมาเยี่ยมเยียนศพ ก็ได้โปรดพระราชทานพานทองคำ คนโททองคำ โถนทองคำ เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ โดยทรงพระมหากรุณาเมตตา แลองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า กับองค์วัตถา ก็มิใช่ผู้อื่น เป็นพี่น้องร่วมบิดากัน ให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า จงสมัครสโมสรปรองดองกับองค์วัตถาให้ดี อย่าให้มีข้อบาดหมางให้แตกร้าวกันให้เป็นที่ครหาติเตียนแก่พระยาพระเขมรไพร่พลเมืองได้ เงินทองสิ่งของ ๆ องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า แลสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ จะจัดแบ่งปันให้องค์วัตถาให้สมควร จะได้เป็นกำลังทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ที่องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมร จะถือว่า องค์วัตถาคบคนในพระบรมมหาราชวัง ไม่ควรจะได้มรดกนั้น ไม่ถูก ถ้าองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมร จัดแจงการเรียบร้อยไม่มีความหมองหมางกันแล้ว ความดีความสรรเสริญก็จะมีอยู่กับองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมร สืบไป ถ้าองค์วัตถาได้ส่วนแบ่งปันแล้ว จะพามารดาญาติพี่น้องบ่าวไพร่ทาสเข้ามาทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพฯ ก็ให้ได้มาตามใจสมัคร ฤๅองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาพระเขมร พร้อมกันจะขอองค์วัตถาไว้ช่วยคิดราชการ ก็ตามแต่จะเห็นชอบเห็นควรนั้นเทอญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยจะทรงทนุบำรุงบุตรหลานเชื้อวงศ์ขององค์สมเด็จพระหริรักษามหาอิศราธิบดีให้สืบสกุลวงศ์ไปอย่างเดียว หนังสือมา ณ วัน ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โท[2]

ร่างตรานี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงทำไว้ เรียน ฯพณฯ สมุหนายก ทราบแล้ว ครั้น ณ วัน ค่ำ มีรับสั่งว่า ถ้าโปรดเกล้าฯ จะทรงทอดพระเนตร ก็ให้ทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าไม่ทอดพระเนตร ให้เขียนประทับตราไปตามร่างนี้เถิด เมื่อมีรับสั่งนั้น พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาราชวรานุกูล พระมหาเทพ เฝ้าอยู่ด้วย

วัน ๑๐ ฯ [3] ได้ส่งตรานี้ให้พระยาราชประสิทธิ์คลังวิเศษรับไป

เลขที่ ๑๕๕
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ชื่อ ให้องค์พระนโรดมฯ แบ่งมรดกให้องค์วัตถา

  1. คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
  2. ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๐๓
  3. วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๓