ข้ามไปเนื้อหา

ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 27

จาก วิกิซอร์ซ
องค์พระนโรดมฯ กราบทูลว่า ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญา
แลถวายสัจจปฏิญญาเป็นข้าพระบารมีไปจนสิ้นชีวิต

องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชขอปรนิบัติมายัง พณ หัวเจ้าท่าน ลูกขุน ณ ศาลา ขอได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ณ กรุงเทพฯ ให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ด้วย ณ วัน ๑๒ ๑๑ ค่ำ ปีกุน เบญจ พระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ ออกไปถึงเมืองอุดงมีไชยนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับพระยาพระเขมรพร้อมกันเรียนเรื่องราวความอัดมิราลมาทำหนังสือสัญญากับเมืองเขมร ดูทีจะพูดจาแข็งแรงนัก ข้าพระพุทธเจ้าจะของดไวเคอยบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯ ก็ไม่ยอม ถ้าจะขัดขืนไม่ทำสัญญา ก็เห็นจะเกิดเป็นความอริวิวาทกันขึ้น แล้วแต่ก่อนโปรดว่า ให้ฝรั่งเศสทำหนังสือสัญญา ณ กรุงเทพฯ ครั้งนี้ อัดมิราลเดเลอกรันดิเอ แม่ทัพฝรั่งเศสเมืองไซ่ง่อน บังคับให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือสัญญา ณ เมืองเขมร ข้าพระพุทธเจ้าคิดกลัวจะมีความผิดกับกรุงเทพฯ เป็นอันมาก แต่ข้าพระพุทธเจ้าคิดกลัวไปว่า ถ้าเกิดวิวาทขึ้นกับฝรั่งเศส พระยาพระเขมรแลราษฎรทั้งปวงจะพากันติเตียน ยกโทษข้าพระพุทธเจ้าว่า ตั้งแต่ออกมาจากกรุงเทพฯ บ้านเมืองเกิดทัพศึกกับอ้ายปาสุทศ[1] ราชครั้งหนึ่งแล้ว เดี๋ยวนี้ จะมาเกิดทัพศึกกับฝรั่งเศสขึ้นอีก ความครหาติเตียนข้าพระพุทธเจ้าก็จะมากขึ้น ด้วยใจพระยาพระเขมรแลราษฎรทุกวันนี้เป็นสามพวกอยู่ ก็จะพากันว่า ถ้าได้ผู้นั้นผู้นี้เป็นเจ้าบ้านเมืองไม่สบายฤๅ ก็จะสมเหมือนคำคนที่มีใจขัดขวางแผ่นดิน ก็จะมีคำพูดมากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าปรึกษากับพระยาปาจิณบุรี[2] แลพระยาพระเขมร พร้อมกันเห็นว่า ความข้อนี้สิ้นปัญญาแล้ว จึ่งต้องยอมทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส แต่ใจข้าพระพุทธเจ้ามีความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่เดิมอย่างไร ก็คงอยู่ตามเดิม คิดจะให้ได้คงอยู่เป็นข้าสำหรับพระบารมีต่อไปจนสิ้นชีวิต มิได้มีจิตผันแปรสิ่งใดเลย แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด พระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ ปรึกษากับข้าพระพุทธเจ้าว่า ครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายอมทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสแล้ว ในกรุงเทพฯ ก็มีพระเดชพระคุณมากกับเจ้านายพระยาพระเขมรสืบ ๆ มาแต่โบราณจนถึงกาลทุกวันนี้ เจ้านายผู้ครองแผ่นดินเมืองเขมรสืบ ๆ มาแต่ก่อนได้พึ่งพระบารมีในกรุงเทพฯ มากกว่าข้างญวน ฤๅได้พึ่งญวนมากกว่ากรุงเทพฯ ประการใดก็ให้ข้าพระพุทธเจ้าพระยาพระเขมรตรวจดูในพงศาวดารเมืองเขมร ข้าพระพุทธเจ้าเรียนพระยาราชวรานุกูล แม่ทัพ ว่า พงศาวดารเมืองเขมรเมื่อบ้านเมืองเกิดจลาจลในครั้งนี้ พงศาวดารก็เสื่อมหมดแล้ว พระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ ว่า ได้คัดสำเนาพงศาวดารเมืองเขมรจากกรุงเทพฯ ออกมาให้ข้าพระพุทธเจ้า พระยาพระเขมร อ่านดู จะได้ทราบว่า ในกรุงเทพฯ มีคุณมาก ฤๅเจ้าเมืองญวนมีคุณมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้ากับพระยาพระเขมรได้ทราบความ เห็นว่า กรุงเทพฯ มีคุณกับเจ้าเมืองเขมรมาทุก ๆ ครั้ง แลเจ้าเมืองซึ่งแปรใจไปพึ่งญวนครั้งใด ญวนก็ข่มขี่ย่ำยีเอาแต่ประโยชน์ทุกครั้งมา จนถึงครั้งนักองค์จัน พระอุทัยราชาธิราช พระยาพระเขมรทั้งปวงย่อมทราบแล้ว แล้วพระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ แจ้งความกับข้าพระพุทธเจ้า พระยาพระเขมร ว่า แต่ก่อน เมืองเขมรเป็นเมืองอยู่ในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองญวน เดี๋ยวนี้ ฝรั่งเศสมาได้เมืองญวนเป็นของฝรั่งเศส เป็นประเทศใหญ่ มีอำนาจมากกว่าญวน ครั้งนี้ จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าจะได้เป็นเจ้าครอบครองแผ่นดินเมืองเขมร แล้วให้ข้าพระพุทธเจ้ามีใจซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ ถ้าสืบไปเมื่อหน้า ผู้ครองแผ่นดินเมืองเขมรเป็นคนแปรใจไป จะมีความขัดขวางต่อกรุงเทพฯ โดยเหตุอย่างใด ความไมตรีในกรุงเทพฯ ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศไป ให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือสัญญากับกรุงเทพฯ จึงจะดี เจ้านายเมืองเขมรเคยประพฤติอ่อนน้อมกรุงเทพฯ มาแต่ก่อนอย่างไร ก็ให้คงอยู่ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้า กับญาติพี่น้อง พระยาพระเขมร ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ชอบแล้ว จะได้เป็นอย่างธรรมเนียมแลความเจริญในบ้านเมืองต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรึกษากับพระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ แลพระยาพระเขมร พร้อมกัน เรียงข้อหนังสือสัญญาประทับตราสำหรับแผ่นดินเมืองเขมร กับตราพระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ ตราพระยาปาจินบุรี ตราพระยาพระเขมร ไว้เป็นสำคัญ แล้วให้เขียนพงศาวดารเมืองเขมรร้อยผูกติดไว้แก่ข้อสัญญาด้วยแล้ว ถ้าข้อหนังสือสัญญานั้นไม่ถูกต้องเป็นประการใด ขอให้ พณ หัวเจ้าท่าน ลูกขุน ณ ศาลา โปรดช่วยแก้ไข ข้าพระพุทธเจ้าจะยอมแก้ตามทุกประการ อนึ่ง ด้วยขุนนางในเมืองเขมรซึ่งจะมีความป่วยไข้ถึงอนิจกรรมไป พระยากลาโหม หมก ว่าที่สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ที่ถึงอนิจกรรมไป ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระยาศรีธรรมาธิราช เหม ว่าที่สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาวัง ชื่อ พรหม ว่าที่พระยายมราช ถึงอนิจกรรมไป ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานให้พระยากลาโหม ศุก ว่าที่พระยายมราช ว่าราชการตามตำแหน่ง ช่วยคิดอ่านราชการกับข้าพระพุทธเจ้าให้ได้เป็นข้าสำหรับพระบารมี ณ กรุงเทพฯ ต่อไป แล้วแต่จะทรงพระเมตตาโปรด แลราชการในเมืองอุดงมีไชยกับเมืองขึ้นเมืองอุดงมีไชย โดยเดชพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปราบปรามซึ่งเสี้ยนหนามในบ้านเมือง ก็สงบราบคาบลงแล้ว เมื่อ ณ วัน ๑๐ ฯ  ๑๒ ค่ำ ปีกุน เบญจ[3] มีฝรั่งเศศชื่อ สิณติก มาเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง มาทอดอยู่ที่ท่ากระพงหลวง เลเดร ฝรั่งเศส กับหิณกาศดอกตูหมอ ซึ่งเอาเรือกลไฟมาทอดประจำอยู่ที่กระพงหลวง พาฝรั่งศิณติกขึ้นมาหาข้าพระพุทธเจ้าที่เมืองอุดงมีไชย ข้าพระพุทธเจ้าได้ต้อนรับเลี้ยงให้รับพระราชทานตามสมควรแก่ทางพระราชไมตรีเหมือนอย่างเคยมาแต่ก่อน แล้วข้าพระพุทธเจ้าถามฝรั่งสิณติกว่า มานี่ด้วยกิจธุระวิ่งใด ฝรั่งสิณติกว่า อัดมิราลเดเลอกรันดีเอ แม่ทัพฝรั่งเศสเมืองไซ่ง่อน ใช้ให้มาลาดตะเวนตามลำแม่น้ำเมืองเขมร ขึ้นมาเยี่ยมข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าถามฝรั่งสิณติกด้วยราชการฝรั่งกับญวนเป็นสุขสบายแก่กันฤๅประการใด ฝรั่งสิณติกตอบข้าพระพุทธเจ้าว่า เมื่อฝรั่งสิณติกขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อนนั้น ฝรั่งกับญวนก็ยังเป็นปกติแก่กันเหมือนแต่ก่อน หาได้มีผันแปรเป็นประการใดไม่ ครั้นเวลาบ่ายสองโมงเศษ ฝรั่งเลเตร กับหิณกาศดอกตูหมอ กับฝรั่งสิณติก ก็ลาข้าพระพุทธเจ้าลงไปกำปั่นที่กระพงหลวง อนึ่ง ครัวแขกจามที่หนีลงไปอยู่เมืองโจดกเมื่อครั้งก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือไปถึงสมเด็จพระประเทศให้ขึ้นมาอยู่เมืองโจดก ก็ขึ้นมาเมืองอุดงมีไชยบ้าง ครั้น ณ วัน ๑๓ ค่ำ ปีกุน เบญจ[4] สมเด็จประเทศพาพวกครอบครัวขึ้นมาเมืองอุดงมีไชยอีก จำนวนครัวเรือนแขกจามที่ขึ้นมาเมืองอุดงมีไชย ทั้งครั้งก่อนครั้งหลัง เป็นคนชายหญิงใหญ่น้อย ๑,๐๐๐ เศษ แล้วสมเด็จประเทศขึ้นมาพาข้าพระพุทธเจ้า แล้วไปพระยาราชวรานุกูล พระยาปาจินบุรี แม่ทัพ แล้วสมเด็จประเทศลาข้าพระพุทธเจ้ากลับไปยังเมืองโจดกว่า จะไปพาครอบครัวที่ค้าองยู่ ณ เมืองโจดกนั้นขึ้นมาอีก แลพงศาวดารเมืองเขมรกับสัญญานั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เขียนสามฉบับ ขอรับพระราชทานไว้ในเมืองอุดงมีไชยฉบับหนึ่ง มอบให้พระยาราชวรานุกูลฯ แม่ทัพ นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายสองฉบับ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ปรนิบัติมาวัน ๑๒ ค่ำ ปีกุน เบญจ[5]


  1. ตามพงศาวดารกัมพูชาว่า ชื่อ บา เป็นออกญาสุทศ เป็นคนพิการ มือเท้าง่อย เดินไม่ได้ เกลี้ยกล่อมผู้คนเป็นขบถ แต่แพ้ ถูกจับได้ และตายที่เมืองโพธิสัตว์
  2. ชื่อ นก น้องเจ้าพระยายมราช ครุฑ
  3. ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๖
  4. ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๖
  5. ตรงกับวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๖