การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคสอง/บทที่ 2
แคว้นเขมรจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเป็นดังนี้.—
๑.Province (จังหวัด)
๒.Khet (เขตต์)
๓.Srok (สรก)
๔.Khand (ขัณฑ์)
๕.Khum (คุ้ม)
การแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของแคว้นเขมร จะเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้.—
เขมร | ไทย | |
Province และเขตต์ | จังหวัด | |
สรก | อำเภอ | |
ขัณฑ์ | ตำบล | |
คุ้ม | หมู่บ้าน |
จังหวัดของเขมรนั้นมีการปกครองผิดกับจังหวัดในแคว้นลาว คือ จังหวัด (Province) คงมีชาวฝรั่งเศสเป็นเรสิดังต์เดอฟรังส์ ซึ่งเทียบเท่ากับข้าหลวงประจำจังหวัดของไทย เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเช่นเดียวกันกับในแคว้นลาว แต่ในแคว้นเขมรยังกำหนดจังหวัดนั้น ๆ เป็นเขตต์อีกชื่อหนึ่งด้วย ซึ่งแท้จริงก็มีท้องที่ตามอาณาเขตต์ของจังหวัดเรสิดังต์ (Province) นั้นเอง แต่ที่กำหนดขึ้นเช่นนี้ก็เพื่อให้ข้ารัฐการชาวพื้นเมืองได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฝ่ายเขตต์ อันเป็นตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดหรือเจ้าเมืองฝ่ายพื้นเมือง
เมื่อเป็นดังนี้ รูปการจึ่งเป็นว่า จังหวัดในแคว้นเขมรนั้นมีเจ้าเมืองสองคน คนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส เรียกว่า เรสิดังต์เดอฟรังส์ อีกคนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมือง เรียกว่า เจ้าฝ่ายเขตต์ เรสิดังต์เดอฟรังส์นั้นย่อมสังกัดขึ้นตรงต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์เช่นเดียวกับในแคว้นลาว ส่วนเจ้าฝ่ายเขตต์นั้นขึ้นกับคณะรัฐมนตรี แต่แท้จริง อำนาจบริหารกิจการในจังหวัดนั้น ๆ ย่อมตกอยู่กับเรสิดังต์เดอฟรังส์เป็นเด็ดขาด ฉะนั้น ถ้าจะถือว่า ตำแหน่งเจ้าฝ่ายเขตต์เป็นเสมือนปลัดจังหวัด ก็พอจะได้ การที่ฝรั่งเศสจัดตำแหน่งผู้ปกครองในแคว้นเขมรดังนี้ ก็คงจะเนื่องด้วยให้เห็นเป็นเกียรติยศสมกับที่แคว้นเขมรมีกษัตริย์และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารรัฐการแห่งรัฐของตน ซึ่งโดยแท้จริงก็เป็นเพียงแต่ในนามดังกล่าวแล้วนั้น ทั้งนี้ อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า การที่ฝรั่งเศสจัดเช่นนี้ ก็คือว่า ฝรั่งเศสจะดำเนินการปกครองบังคับบัญชาราษฎรประการใด ก็ไม่ต้องไปบังคับถึงตัวราษฎร เพียงแต่บังคับสั่งเสียแสดงความประสงค์แก่ข้ารัฐการชาวพื้นเมืองแล้ว ข้ารัฐการพื้นเมืองเป็นผู้บังคับใช้อำนาจแก่ราษฎรพลเมืองอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เป็นทางให้บาปตกอยู่แก่ฝ่ายพื้นเมือง ส่วนฝรั่งเศสย่อมเอาตัวรอดพ้นจากบาปไปได้
ตำแหน่งผู้ปกครองท้องที่ในแคว้นเขมรเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้.—
เขมร | ไทย | |
Résident de France | ข้าหลวงประจำจังหวัด | |
(ชาวฝรั่งเศส) | ||
เจ้าฝ่ายเขตต์ | ||
(ชาวพื้นเมือง) | ||
Délégué | นายอำเภอชั้นเอก | |
(ชาวฝรั่งเศส) | ||
เจ้าฝ่ายสรก | นายอำเภอ | |
เจ้าฝ่ายขัณฑ์ | กำนัน | |
แม่คุ้ม | ผู้ใหญ่บ้าน |
แคว้นเขมรแบ่งการปกครองเป็น ๑๔ จังหวัดดังนี้.—
๑.พระตะบอง
๒.กำปอด
๓.กันดาล (ศาลากลางตั้งที่พนมเป็ญ)
๔.กำปงจาม
๕.กำปงสะปือ
๖.กำปงทม
๗.กระแจะ
๘.เปรเวง
๙.โพธิสัตว์
๑๐.สตึงเตรง
๑๑.เสียมราฐ
๑๒.กำปงชนัง
๑๓.สวายเรียง
๑๔.ตาแก้ว
ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีเรสิดังต์เดอฟรังส์ชาวฝรั่งเศส เทียบได้กับตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดของไทย เป็นผู้ปกครอง ดำเนินงานรับผิดชอบต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นเขมร และมีปลัดจังหวัด หัวหน้าแผนกต่าง ๆ ชาวฝรั่งเศส เช่นเดียวกับจังหวัดในแคว้นลาว และจังหวัดนั้น ๆ ได้กำหนดนามอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เขตต์ มีเจ้าฝ่ายเขตต์เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยปลัดเขตต์และพนักงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองบริหารกิจการประสานกับเรสิดังต์เดอฟรังส์
ท้องที่ในเขตต์จังหวัดซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ ตั้งเป็นอำเภอพิเศษ เรียกว่า Délégation มีเดเลเกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจเช่นเดียวกับเดเลเกในแคว้นลาว
เขตต์ ๆ หนึ่งแบ่งเป็นสรก ขัณฑ์ คุ้ม มีผู้ปกครองเป็นชาวพื้นเมืองเช่นเดียวกับเขตต์ จึงจะได้กล่าวถึงตำแหน่งนี้ในบทที่เกี่ยวกับเจ้าและข้ารัฐการพื้นเมือง
ท้องถิ่นที่ยกฐานะเป็นเทศบาล จัดการปกครองเช่นเดียวกับเทศบาลในแคว้นลาว.