การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคสอง/บทที่ 4
ศาลยุตติธรรมในแคว้นเขมรแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าวเป็นคู่ความ อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคนพื้นเมืองโดยฉะเพาะ
๑.ศาลฝรั่งเศสใช้กฎหมายฝรั่งเศสพิจารณาคดีเกี่ยวกับคนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าว คณะศาลเป็นคนชาติฝรั่งเศส
๒.ศาลเขมรใช้กฎหมายเขมรพิจารณาพิพากษาในปรมาภิไธยกษัตริย์ และมีดังนี้:―
ก.ศาลาละหุ
ศาลนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษา ๑ คน เรียกว่า Juge de l'aix (ผู้พิพากษา) และจ่าศาล และมีในท้องที่ซึ่งห่างไกลที่ชุมนุมชนใหญ่
ศาลนี้มีอำนาจเปรียบเทียบคดีแพ่งและตัดสินคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๑๐๐ เหรียญและคดีอาญามโนสาเร่ คณะศาลเป็นชาวเขมร
ช.ศาลชั้นต้น (ศาลาดำบองตามจังหวัดและศาลาลูกขุนที่พนมเป็ญ)
ศาลนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษา ๑ คนกับจ่าศาล ๒ คน
ศาลนี้มีอำนาจเท่าศาลาละหุและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในท้องที่ซึ่งไม่มี Juge de l'aix (ผู้พิพากษา) คณะศาลเป็นชาวเขมร
ค.ศาลอุทธรณ์
ศาลนี้ประกอบด้วยอธิบดีผู้พิพากษา และรองอธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษา ๔ คน ผู้พิพากษาสำรอง ๒ คน และจ่าศาล ๒ คน
ศาลนี้ตั้งอยู่ณะเมืองพนมเป็ญ และมีอำนาจทางพิจารณาคดีอุทธรณ์จากศาลล่างทั่วอาณาจักร
ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ องค์คณะผู้พิพากษาต้องมี ๓ คน คณะศาลเป็นชาวเขมร
ง.ศาลอาญา (ศาลาอุกฤษ)
ศาลนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ๓ คน ผู้พิพากษาผู้ช่วย ๒ คน และจ่าศาล ๑ คน
ศาลนี้ตั้งอยู่ที่พนมเป็ญ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทุกตัวบทกฎหมายทั่วอาณาจักร คณะศาลเป็นชาวเขมร
จ.ศาลฎีกา (ศาลาวินิจฉัย)
ศาลนี้ประกอบด้วยกรรมการ ๓ คน คนหนึ่งเป็นประธาน
ศาลนี้ตั้งอยู่ที่พนมเป็ญ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีฎีกาทั่วอาณาจักร คณะศาลเป็นชาวเขมร