ข้ามไปเนื้อหา

คำพิพากษาฯ คดีประทุษฐร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8/ส่วนที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ
คำแถลง
  • คดีหมายเลขดำ
  • ที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑
  • คดีหมายเลขแดง
  • ที่ ๑๒๖๖/๒๔๙๔
ตราครุฑ
ตราครุฑ
  • ศาลฎีกา
  • วันที่ ๒๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
ความอาญา
ระหว่าง พนักงานอัยยการ กรมอัยยการ โจทก์

นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และ
นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลย จำเลย

ข้าพเจ้า พนักงานอัยยการ กรมอัยยการ โจทก์ ขอยื่นคำแถลง มีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

ข้อ๑.คดีเรื่องนี้ ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตด้วยการถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัยตามเหตุผลแห่งคำพยานหลักฐาน ไม่มีทางที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น โจทก์จึงเห็นว่า ประเด็นข้อนี้ควรยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองนั้น

ข้อ๒.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลย ตามเหตุผลทั่วไป ในกระบวนการพิจารณาของศาล เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า ลำพังบุคคลภายนอกไม่มีทางทำการปลงพระชนม์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้เลย ถ้าหากนายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลย ไม่สมคบร่วมคิดกระทำผิดด้วย เมื่อมีจำเลยทั้ง ๒ นี้ร่วมมือด้วยแล้ว การกระทำการปลงพระชนม์ย่อมเป็นการสะดวกและง่ายดาย ตลอดจนการกระทำทั้งหลายเพื่อปกปิดการกระทำผิดย่อมจะดำเนินไปตามแผนการณ์ อย่างใดก็ดี พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง ๒ นี้ได้ปรากฏอยู่มากมายหลายประการ ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้ยกมากล่าวไว้แล้ว แสดงถึงว่า จำเลยทั้ง ๒ ได้ร่วมกระทำผิดรายนี้ตามแผนการณ์โดยปราศจากข้อสงสัย ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยทั้ง ๒ นี้ก็ควรยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เช่นเดียวกัน

ข้อ๓.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายเฉลียว ปทุมรส จำเลย ตามที่โจทก์ได้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้นี้อีกครั้งหนึ่งนั้น ก็โดยโจทก์เชื่อมั่นว่า หลักฐานพยานโจทก์มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยผู้นี้ได้เช่นกัน โจทก์ได้เรียนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้นี้ในฟ้องฎีกาของโจทก์ ตามที่ศาลอุทธรณ์ไดพิจารณาเป็นลำดับ คือ ในข้อที่จำเลยผู้นี้สนิทชิดชอบกับนายปรีดี พนมยงค์ ในข้อสาเหตุที่จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ ในข้อที่จำเลยพูดกับพันเอก ประพันธ์ กุลพิจิตร ว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจะไม่ได้เสด็จไปต่างประเทศ และในข้อที่ว่า ได้มีการคบคิดกันวางแผนการณ์จะทำการปลงพระชนม์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่บ้านพลเรือตรี กระแส ปวาหะนาวิน ศรยุทธเสนี โดยมีนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นพยานสำคัญ มาแล้วนั้น โจทก์ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ตามข้อเท็จจริง เป็นที่แจ้งประจักษ์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างล้นเกล้าล้นกระหม่อมกับนายปรีดี พนมยงค์ นั้น นับแต่พระองค์ท่านได้ทรงสนพระทัยในกิจราชการบริหารของประเทศชาติเป็นพิเศษ โดยรับสั่งให้ข้าราชการชั้นอธิบดีเข้าเฝ้าทูลถวายความรู้เกี่ยวกับราชการในหน้าที่เป็นประจำเสมอมา และทรงรับฟังเหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไป แม้จากผู้ที่อยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น แล้วเริ่มมีความเห็นขัดแย้งกัน อาทิ เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามที่จะให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงเห็นพ้องด้วยความเห็นของตน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จแล้ว ในที่สุด นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวกับนายวงษ์ เชาวนะกวี พยานโจทก์ ว่า ต่อไปจะไม่พิทักษ์ราชบัลลังก์ ดังนี้ โจทก์เห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ มีความแค้นเคืองล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างมากถึงขนาด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ได้ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องถวายความพิทักษ์แก่ราชบัลลังก์ของพระองค์ มิให้ผู้ใดทำการละเมิด เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวดังนี้ ย่อมเป็นข้อแสดงเท่ากับว่า นายปรีดี พนมยงค์ ยอมให้มีการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง โจทก์ไม่มีข้อสงสัยในถ้อยคำของนายวงษ์ เชาวนะกวี ว่า จะเสกสรรค์ปั้นเรื่องมากล่าวใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยเหตุผลประการใด เป็นข้อที่ควรรับฟังได้ เหตุผลเป็นมาอย่างไรจึงทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ถึงกับกล่าวเช่นนั้น ตัวนายปรีดี พนมยงค์ คนเดียวเป็นผู้รู้ดี ส่วนคนภายนอกจะทราบได้ก็เพียงเท่าที่มีพฤติการณ์แวดล้อมและตัวนายปรีดี พนมยงค์ แสดงออกให้ปรากฏเท่านั้น ประกอบกับกรณีที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ พยานโจทก์ เป็นทีเล่นทีจริงว่า จะสละราชสมบัติให้ในหลวงองค์ปัจจุบัน แล้วสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เมื่อไดรับเลือกแล้ว มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ควรฟังได้เช่นกัน การรับสั่งเช่นนี้จะเป็นเรื่องที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงตั้งพระทัยจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์เห็นว่า เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ ยิ่งเมื่อปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างเปิดเผยว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงสนพระทัยในกิจราชการบริหารเป็นพิเศษ เช่น ให้ข้าราชการชั้นอธิบดีเข้าเฝ้า และทรงรับฟังเหตุการณ์เกี่ยวกับบ้านเมือง ดังได้เรียนมาแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ย่อมจะรู้สึกว่า อาจไม่ใช่ทรงรับสั่งเล่น ๆ หรือตอนแรกว่าเล่น แต่สุดท้ายอาจเป็นความจริงขึ้นมาก็ได้ เมื่อประชาชนรักพระมหากษัตริย์มากถึงขนาด การเป็นนายกรัฐมนตรีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมดูจะไม่ยาก หากสภาพการเป็นจริงเช่นนั้น ฐานะของนายปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนพวกที่ร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน จะเป็นอย่างไรต่อไป เหตุการณ์บ้านเมืองมิกลับไปสู่สถานะสมบูรณาญาสิทธิราชโดยปริยายอีกหรือ เป็นข้อที่นายปรีดี พนมยงค์ อาจคิดได้ เพราะเป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้ โจทกืถือว่า เหตุผลข้อนี้สำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น เป็นเหตุผลที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ มีความโกรธเคือง และคิดทำลายล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสีย เมื่อเหลือในหลวงองค์ปัจจุบันพระองค์เดียวแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อต้นเหตุแห่งการปลงพระชนม์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่ที่นายปรีดี พนมยงค์ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างนายเฉลียว ปทุมรส กับนายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นความสำคัญในคดีนี้ และเมื่อประกอบกับสาเหตุที่จำเลยนี้ต้องพ้นตำแหน่งหน้าที่ไปด้วยเหตุประพฤติตนไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ตลอดจนการที่จำเลยได้กล่าวยืนยันกับพันเอก ประพันธ์ กุลพิจิตร ว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจะไม่ได้เสด็จไปต่างประเทศ เพียงเท่านี้ โจทก์เห็นว่า เป็นพยานประพฤติเหตุแวดล้อมกรณีพอที่จะเชื่อได้ว่า นายเฉลียว ปทุมรส จำเลย ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการปลงพระชนม์ล้นเกล้าล้นกระหม่อม และเมื่อประกอบกับกรณีที่จำเลยนี้ได้ไปร่วมประชุมวางแผนการณ์ที่บ้านพลเรือตรี กระแส ปวาหะนาวิน ตามที่โจทก์ได้เรียนไว้ในฎีกาแล้ว โจทก์เห็นว่า คำพยานหลักฐานของโจทก์ควรฟังได้แน่สนิทว่า นายเฉลียว ปทุมรส จำเลย ได้สมคบร่วมคิดกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลด้วย

โดยเฉพาะในกรณีที่จำเลยนี้ได้ไปร่วมประชุมวางแผนการณ์ปลงพระชนม์ที่บ้านพลเรือตรี กระแส ปวาหะนาวิน ศรยุทธเสนี ตามคำให้การยืนยันของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานสำคัญของโจทก์นั้น ที่จริง นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานโจทก์ ก็ให้การตรงไปตรงมา มิได้มีข้อแตกต่างขัดแย้งกับพยานปากใด ศาลล่างทั้งสองอ้างเหตุสงสัยในเหตุผลที่หยุมหยิมจนเกินไป ดังที่โจทก์ได้เรียนไว้ในฎีกาแล้ว จึงไม่ขอเรียนซ้ำอีก เพียงแต่ขอเรียนย้ำว่า โจทก์เชื่อในความบริสุทธิของพนักงานสอบสวน ซึ่งมี พล.ต.ท. พระพินิจชนคดี เป็นหัวหน้า และนายชวน จนิษฐ ขุนเทพประสิทธิ์ พยาน ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อยู่เป็นอย่างมาก และเหตุการณ์แวดล้อมบ่งชัดว่า หากนายตี๋ ศรีสุวรรณ ให้การเท็จ มิใช่ความจริงแล้ว ย่อมไม่พ้นที่ พล.ต.ท. พระพินิจชนคดี นายชวน จนิษฐ และขุนเทพประสิทธิ์ จะต้องเป็นผู้เสี้ยมสอนแนะนำอย่างแน่นอน เพราะลำพังนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไม่อาจที่จะล่วงรู้เหตุการณ์ตอนที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สุมนชาติว่า จะสละราชสมบัติให้ในหลวงองค์ปัจจุบัน แล้วพระองค์จะสมัครเป็นผู้แทนเพื่อทรงรับตำแหน่งนายกได้

ข้อ๔.ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นไปในทำนองว่า การสอบสวนและการดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยไม่ชอบ และเป็นเรื่องที่นักการเมืองถือโอกาสเอากรณีสวรรคตนี้มาเล่นเป็นการเมืองใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ และพวกจำเลยในคดีนี้ โจทก์จึงขอเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นชัดแจ้งว่า การต่อสู้ของจำเลยเป็นไปในรูปโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตนอย่างชัด ๆ

ก่อนอื่น ขอเรียนว่า การสูญเสียพระมหากษัตริย์ในลักษณะล้นเกล้าล้นกระหม่อมนี้ไม่เคยปรากฏแก่ประชาชนชาวไทยมาก่อน นับแต่วาระแรกที่ประชาชนได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันโดยที่ไม่ทราบข่าวประชวรมาก่อน ทุกคนย่อมมีจิตใจจดจ่อเพื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ประชาชนต้องผิดหวังตามคำแถลงการณ์หลายฉบับได้ปรากฏข้อความเคลือบแคลงสงสัยเป็นลำดับมา ยิ่งกว่านั้น ความภายในที่ได้มีการปฤกษาหารือในการออกคำแถลงการณ์ที่ไม่ตรงกับข้อตกลงในที่ประชุมได้รั่วไหลออกมา ตลอดจนพิธีการถวายการปฏิบัติต่อพระบรมศพก็ขาดตกบกพร่อง ผิดหลักการและตัวบทกฎหมาย เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนประการต่าง ๆ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลสมัยนั้นไม่สามารถให้ความแจ่มกระจ่างได้ ยิ่งดำเนินการไป ยิ่งปรากฏความผิดของจำเลยและพรรคพวกมากขึ้น โจทก์เข้าใจความประสงค์ของประชาชนและรัฐบาลขณะนี้ในการที่จะให้มีการคลี่คลายปัญหากรณีสวรรคตของล้นเกล้าล้นกระหม่อมว่า เพื่อให้ได้ความจริงว่าเป็นอย่างไรแน่เท่านั้น ไม่มีใครประสงค์จะให้เป็นกรณีถูกลอบปลงพระชนม์เลย เพราะนอกจากเป็นการสลดใจอย่างสุดซึ้งแล้ว ยังเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการเมือง เฉพาะอย่างยิ่ง พาดพิงมาถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเป็นที่รับรองว่า ได้เคยทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติมามาก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ย่อมเป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่หมู่คณะเป็นอย่างมาก ฉะนั้น การที่จะมีผู้ใดจงใจใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ นั้น โจทก์เห็นว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

จำเลยได้พยายามยกเอาความแตกต่างจากผลการทดสอบซึ่งพยานผู้ชำนาญการพิเศษของโจทก์ไดทำการทดลองมาอ้างเพื่อหักล้างน้ำหนัก คำพยานเหล่านั้นที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามความรู้ความชำนาญของตน แต่จำเลยหาได้นำพยานผู้ชำนาญการพิเศษมาสืบแสดงว่า ผลแห่งการพิสูจนของพยานโจทก์เป็นการผิดหลักวิชาแต่ประการหนึ่งประการใดไม่ โจทก์เห็นว่า อันการทดลองต่าง ๆ ที่พยานโจทก์ได้กระทำมาแล้วนั้นเป็นเรื่องของการทดลองเทียบเคียงเพื่อให้พยานได้วินิจฉัยได้ตามหลักวิชาเท่านั้น การที่จำเลยพยายามจะให้วินิจฉัยผลการทดลองเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างที่พยานยืนยันนั้น เท่ากับจำเลยพยายามที่จะให้ศาลวินิจฉัยในฐานะเป็นผู้ชำนาญการพิเศษเสียเอง ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟังข้อกล่าวอ้างของจำเลยนั้น โจทก์เห็นว่า ชอบด้วยวิธีพิจารณาคำพยานหลักฐานเป็นอย่างดีแล้ว.

  • ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
  • ลงชื่ออรรถวินิจเนตินาทโจทก์

คำแถลงฉบับนี้ ข้าพเจ้า หลวงอรรถวินิจเนตินาท พนักงานอัยยการ เป็นผู้เรียง และได้รอฟังคำสั่งศาลอยู่ ถ้าไม่รอ ให้ถือว่า ทราบแล้ว และข้าพเจ้า นายอมร มิลินทานุช เสมียนกองคดี กรมอัยยการ เป็นผู้พิมพ์.

  • ลงชื่ออรรถวินิจเนตินาทผู้เรียง
  • ลงชื่ออมร มิลินทานุชผู้พิมพ์