งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 8
นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมิได้เอ่ยถึง แต่เป็นผลที่งอกงามขึ้นตามสภาพและตามความจำเป็นของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญของสถาบันผู้แทนปวงชน เราไม่จำเป็นต้องก้าวย่างเข้าไปอภิปรายหัวข้อนี้ให้ยืดยาว เพราะผู้เขียนได้บรรยายไว้เต็มอัตรากว่านี้แล้วใน รัฐศาสตร์รายไตรมาส ฉบับเดือนธันวาคม 1912[1] และยิ่งล่าสุดกว่านั้น (มิถุนายน 1914) นายเฮนรี ซาโต ได้เผยแพร่หนังสือชื่อ วิวัฒนาการของพรรคการเมืองในญี่ปุ่น[2] ซึ่งเราได้อ้างถึงมาบ้างแล้ว อูเอฮาระ[3] ก็ได้อภิปรายหัวข้อนี้ไว้เหมือนกัน[4]
ประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองในญี่ปุ่นนั้นอาจแบ่งออกเป็นช่วงเวลาดังต่อไปนี้ (1) ช่วงเป็นตัวอ่อน ปี 1867–1882 (2) ช่วงจัดระเบียบ ปี 1882–1890 (3) ช่วงพัฒนา ปี 1890–1898 (4) ช่วงมีอิทธิพล ปี 1898–1911 (5) ช่วงมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น ปี 1911 เรื่อยมา แต่ในเรื่องนี้ เราเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับช่วงเวลา 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ปี 1890 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น
การเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 กรกฎาคม 1890 นั้น[5] นำมาสู่ผลการเลือกตั้งที่มีสมาชิกแตกแยกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย 10 กลุ่ม แต่กระนั้น บางกลุ่มก็หลอมรวมกันเป็นพรรคการเมือง 4 หรือ 5 พรรคเป็นผลสำเร็จ ซึ่งในจำนวนนี้ พรรคใหญ่ที่สุด คือ จิยูโต หรือพรรคเสรีนิยม[6] หลายปีทีเดียวที่กลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า (ไคชินโต[7] หรือชิมโปโต)[8] เป็นพรรคโดดเด่นที่สุด และรัฐบาลก็คอยหาช่องเป็นพันธมิตรกับแต่ละพรรคเหล่านี้ตามลำดับ ในปี 1898 พรรคทั้งสองดังกล่าวกลบฝังความบาดหมางเอาไว้ แล้วผนึกกำลังกันก่อตั้งเค็นเซโต หรือพรรครัฐธรรมนูญนิยม[9] พรรคใหม่นี้ได้รับเชิญให้เข้าจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในทันทีทันใด ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า คณะรัฐมนตรีโอกูมะ-อิตางากิ[10] เพราะมาจากหัวหน้าพรรคทั้งสองที่ผนึกกำลังกัน คณะรัฐมนตรีที่สองพรรคเชื่อมเข้าหากันนี้ไม่นานก็ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งภายใน และรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นการหลอมรวมกันเพียงหนึ่งเดียว ก็สลายตัวลงสู่องค์ประกอบดั้งเดิม ครั้นปี 1900 เซยูไก[11] พรรคใหม่ของอิโต[12] ซึ่งมีกลุ่มเสรีนิยมกลุ่มเดิมเป็นแกนกลาง ก็ได้รับเชิญให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน ซึ่งดำรงอยู่ต่อมาเพียงสั้น ๆ ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นดูประหนึ่งจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความนิยมในช่วงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ อนึ่ง ในเรื่องความพยายามครั้งแรกนั้น ก็เหมือนที่อูเอฮาระนำเสนอ คือ "ความสำคัญจริง ๆ อยู่ในข้อที่ว่า ได้ทำให้อคติเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพรรคเมืองจะเป็นรัฐมนตรีมิได้นั้นสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง"[13] คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิกับยามาโมโตะ[14] นั้นเป็น "คณะรัฐมนตรีแบบมีพรรคการเมือง" แท้ ๆ และคณะรัฐมนตรีของโอกูมะ[15] ก็เป็นเช่นนั้นยิ่งกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็น "คณะรัฐมนตรีที่อิงตัวบุคคล" โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีตัวโอกูมะเองเป็น "นายก" อยู่ด้วยก็ตาม
และนี่ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงลักษณะเด่นอย่างแปลกประหลาดของพรรคการเมืองญี่ปุ่น นี่เป็นองค์ประกอบส่วนบุคคลซึ่งทำให้ฝักฝ่ายและพรรคการเมืองต่าง ๆ ระดมตัวอยู่รายรอบคนมากกว่ารายรอบวิธีการ หรือก็คือ อิงตัวบุคคลมากกว่าจะอิงหลักการ แน่ล่ะ ลักษณะเด่นเช่นนี้เป็นสิ่งเหลือรอดมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ดังที่โอซากิ (บัดนี้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม)[16] เคยชี้เอาไว้ในบทความในนิตยสารชื่อ ชินเซกิ (ศตวรรษใหม่) เขาว่า "ข้อเท็จจริง ก็คือ นักการเมืองส่วนใหญ่ของพวกเรายังคงติดพันอยู่กับความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ทัศนคติที่พวกเขามีต่อประธานพรรคนั้น เป็นอย่างเดียวกับที่บริวารของไดเมียวมีต่อเจ้านายตนทุกประการ"
ความแปลกประหลาดอีกอย่าง คือ สายใยของพรรคการเมืองนั้นไม่แน่นแฟ้น และหลักการของพรรคการเมืองก็ไม่แน่นอน ปัจเจกบุคคลทั้งหลายย่อมเห็นว่า การแปรพักตร์จากพรรคหรือฝักฝ่ายหนึ่ง ๆ ไปสู่อีกอันหนึ่งนั้นไม่ยากเลย ซึ่งมักเป็นไปโดยไม่ต้องละทิ้งหลักการของตนก็ได้ ถ้าจะมีอยู่สักหลัก! โดยมากแล้ว สาเหตุในเรื่องนี้ คือ ความที่แนวนโยบายของพรรคนั้นไม่แน่นอนและกวาดกว้าง หรือสภาพที่ไร้หลักการเด่นชัดอย่างแท้จริงอันจะช่วยจำแนกพรรคต่าง ๆ ออกจากกัน ตัวอย่างเช่น มีการพบว่า การเพิ่มภาษีที่ดินนั้นได้เสียงสนับสนุนและคัดค้านจากพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน ตามแต่สถานการณ์ ส่วนโอกูมะ[17] และโอซากิ[16] ซึ่งตอนนี้ได้ "อยู่ในวงการ" แล้ว ก็นำเสนอแผนเพิ่มกำลังทหารบกซึ่งพวกคนเคยคัดค้านอย่างแข็งขันสมัยที่ "อยู่นอกวงการ" และบุคคลเหล่านี้ก็มิได้สนใจที่ใครกล่าวหาว่า ไร้ความคงเส้นคงวา พวกเขาดูจะเห็นพ้องกับเอเมอร์สัน[18] ว่า "ความคงเส้นคงว่าแบบโง่ ๆ ก็คือ เรื่องสยองขวัญสำหรับคนใจแคบ"
แม้จะมีข้อด้อยประการใด พรรคการเมืองญี่ปุ่นก็ได้สร้างความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่แท้ เจแปนไทมส์ ฉบับ 12 ตุลาคม 1911 เขียนว่า รัฐบาลแบบมีพรรคการเมืองคงจะได้รับการตอบรับดี "ถึงจะมีส่วนเลวทั้งหลายในระบบพรรคก็ตาม เพราะว่ารัฐบาลเช่นนี้จะช่วยขจัดระบอบอำมาตย์แบบอัตตานิยมที่เข้าถือครองความเป็นใหญ่ในประเทศชาติ" ซาโต[19] กล่าวว่า
"การจัดตั้งรัฐบาลโอกูมะจึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นชัยชนะของหลักการเรื่องรัฐบาลแบบมีพรรคการเมือง และบัดนี้ ฮากูชากุโอกูมะ[20] ผู้เป็นนายก ก็สมใจแล้วที่ได้ออกมามีชัยเหนือฝ่ายตรงข้าม หลังจากที่เขาต่อสู้มาหลายปีเพื่อความก้าวหน้าทางรัฐธรรมนูญของประเทศอันเป็นที่รักของเขา"[21]
เวลานี้ ดูค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองญี่ปุ่น แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ได้ประชาชนในจักรวรรดิมาคอยหนุนหลังแล้ว
- ↑ Clement, E. W. (1912). "Political Parties in Japan". The Political Science Quarterly 27 (4): 669–681. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Satoh, H. (1914). Evolution of Political Parties in Japan: A Survey of Constitutional Progress. Tokyo: K.M. Kawakami. OCLC 259706032. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Uyehara, G. E. (1910). The Political Development of Japan, 1867–1909. London: Constable. OCLC 466274954. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คาวากามิ, แนวคิดทางการเมืองของญี่ปุ่นสมัยใหม่, โชกวาโบ, โตเกียว, 1903; และ เอกสารของเลย์ใน รายงานการประชุมของสมาคมเอเชียแห่งญี่ปุ่น, โตเกียว, เล่ม 30, หน้า 363–462 ก็ทรงคุณค่าเช่นกัน
- ↑ ดู 1890 Japanese general election (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ดู Liberal Party (Japan, 1890) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ชื่อพรรคการเมือง ดู Kaishintō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ชื่อพรรคการเมือง ดู Shimpotō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ดู Kenseitō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีของโอกูมะ ชิเงโนบุ กับอิตางากิ ไทซูเกะ ดู First Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ชื่อพรรคการเมือง ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ อิโต ฮิโรบูมิ ดู Itō Hirobumi (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ เรื่องเดิม, หน้า 241.
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิ คิมโมจิ และยามาโมโตะ ทัตสึโอะ ดู Second Saionji Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ อาจหมายถึง คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ 16.0 16.1 ยูกิโอะ โอซากิ ดู Yukio Ozaki (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ โอกูมะ ชิเงโนบุ ดู Ōkuma Shigenobu (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Emerson, R. W. (1841). "Self-Reliance". Essays: First Series: 79–117. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ เฮนรี ซาโต (Henry Satoh) นามปากกาของไอมาโระ ซาโต (Aimaro Satō) ดู Aimaro Satō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ "ฮากูชากุ" เป็นบรรดาศักดิ์ญี่ปุ่น ดู hakushaku ส่วน "โอกูมะ" คือ โอกูมะ ชิเงโนบุ ดู Ōkuma Shigenobu (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ เรื่องเดิม, หน้า 106.