ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 9

จาก วิกิซอร์ซ
ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น (ค.ศ. 1916) โดย เออร์เนสต์ วิลสัน เคลเมนต์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 9 ความคิดเห็นสาธารณะ
9. ความคิดเห็นสาธารณะ

ขั้นตอนหนึ่งที่มีนัยสำคัญที่สุดในความก้าวหน้าทางการเมืองอันดำเนินไปในญี่ปุ่นใหม่ในช่วงรัฐธรรมนูญนิยม 25 ปีที่ผ่านมานั้น คือ พัฒนาการในการออกความคิดเห็นสาธารณะแบบโจ่งแจ้ง จากมุมมองหนึ่ง ในช่วงที่ใช้ระบบเจ้าขุนมูลนายนั้น ไม่เคยมีความคิดเห็นแบบสาธารณะเลย หรือมากที่สุดก็เป็นแต่ในขอบเขตของเรื่องนั้น ๆ ซึ่งค่อนข้างคับแคบและอยู่ในระดับท้องถิ่น ทว่า เมื่อมีการให้สิทธิและเอกสิทธิ์แก่ประชาชน กับทั้งการเผยแผ่การศึกษา และการที่สื่อสิ่งพิมพ์ทวีความสำคัญและอำนาจมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็คือ ความคิดเห็นสาธารณะมีวิวัฒนาการเป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก จริงอยู่ว่า "และน่าเศร้าจังที่มันจริงอยู่" ว่า การแสดงความเห็นเช่นนั้นอย่างเด่นชัดที่สุดมักปรากฏผ่านความรุนแรงของฝูงผู้ชุมนุม แต่แม้เรื่องอย่างนั้นจะเป็นของคู่กันซึ่งน่าเศร้าแต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ก็ตามที ความคิดเห็นสาธารณะดังที่แสดงออกในสื่อสิ่งพิมพ์และตามแท่นปราศรัยนั้นจะเมินเฉยอีกต่อไปมิได้ หากแต่ต้องนำมาพิจารณาทุกครั้งไป และแม้จะมี "สื่อสีเหลือง"[1] แต่สื่อสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นก็คงเป็นผู้สรรค์สร้างและป่าวประกาศความคิดเห็นสาธารณะที่ใช้การได้

ที่คณะรัฐมนตรีคัตสึระ[2] มีชีวิตราชการอยู่ได้ 2 เดือนก็ล่มจมไปในเดือนกุมภาพันธ์ 1913 นั้น ก็มิใช่เพราะอื่นใดนอกจากความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้หากจะมีใครสงสัยสงกาก็คงมีแต่เพียงประปราย และข้อที่ว่า คณะรัฐมนตรียามาโมโตะ[3] ต้องรับผิดชอบเรื่องอื้อฉาวของกองทัพเรือ[4] จนต้องออกจากอำนาจไปทั้งคณะในเดือนมีนาคม 1914 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเสียงสนับสนุนจากเซยูไก[5] พร้อมเสียงข้างมากอย่างใหญ่โตอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรก็ตามนั้น ก็เพราะความคิดเห็นสาธารณะดุจเดียวกัน และเป็นความคิดเห็นสาธารณะนี้เองที่อุ้มชูให้คณะรัฐมนตรีโอกูมะ[6] อยู่รอดมาได้หลายเดือนผ่านเสียงข้างมากที่ไม่เป็นใจของเซยูไกเหล่านั้น จนสุดท้ายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 1915 ก็เป็นอันล้มกระดานได้ทั้งแถบ และเป็นผลให้โอกูมะได้เสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ก็เป็นธรรมดาอยู่ที่ความคิดเห็นสาธารณะนั้นคงจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียทีเดียว และบางทีก็ไม่ยุติธรรมเสียอีก ในปี 1913 สมาชิกฝ่ายเซยูไกในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เทิดทูนบูชาของประชาชนเนื่องจากได้แสดงการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อคัตสึระ แต่พอปี 1914 หลังจากสนับสนุนคณะรัฐมนตรียามาโมโตะ พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องเสี่ยงถูกประณามหยามเหยียดในทางส่วนตัวจนยับเยินคามือผู้ชุมนุม และต้องได้รับการคุ้มกันเป็นพิเศษมิให้ถูกประทุษร้าย ฉะนั้น จึงจริงแท้ทีเดียวที่ผู้คนเป็นได้ทั้งผู้ทุบทำลายรูปเคารพและผู้เชิดชูบูชาวีรชน

ไม่จำต้องเจียระไนให้มากความว่า ความคิดเห็นสาธารณะในญี่ปุ่นคงจะรุนแรงน้อยลง และเป็นปรกติมากขึ้น และมีอิทธิพลสูงยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าประชาชนที่ได้สิทธิเลือกตั้งนั้นมีจำนวนมากขึ้น เป็นความจริงที่ว่า ในรอบ 25 ปีนี้ จำนวนผู้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด ดังที่อาจเห็นได้จากสถิติดังต่อไปนี้[7]

ปี 1890 . . . . . . . . . . 453,474 คน
ปี 1892 . . . . . . . . . . 460,914 คน
ปี 1894 . . . . . . . . . . 464,278 คน
ปี 1896 . . . . . . . . . . 467,607 คน
ปี 1898 . . . . . . . . . . 501,459 คน
ปี 1902 . . . . . . . . . . 983,193 คน
ปี 1904 . . . . . . . . . . 757,788 คน
ปี 1908 . . . . . . . . . . 1,582,676 คน
ปี 1912 . . . . . . . . . . 1,503,968 คน
[ปี 1915 . . . . . . . . . . 1,546,241 คน]

การเพิ่มขึ้นในปี 1902 นั้น เป็นเพราะลดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินลง[8] การลดลงในปี 1904 นั้น เป็นเพราะลดภาษีที่ดินลง การเพิ่มขึ้นในปี 1908 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปถึงฮกไกโดและเขตชุมชนเมืองใหม่ ๆ หลายแห่ง ส่วนการเพิ่มขึ้นในปี 1915 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิออกไปถึงจังหวัดโอกินาวะ

ลักษณะเด่นประการหนึ่งซึ่งน่าหดหู่ใจ คือ ผู้เลือกตั้งหลายต่อหลายคนไม่ออกไปใช้เอกสิทธิ์ของตน การแก้ไขในเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ย่อมจะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคและการขยายสิทธิออกไปในวงกว้างขึ้น การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 1915 แสดงให้เห็นทีเดียวว่า เกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างชัดเจน ขณะที่อัตราเฉลี่ยของผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนนในปี 1898 นั้น คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 12 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด ในปี 1903 และ 1904 คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 14 ในปี 1908 เกินร้อยละ 14 และในปี 1912 เป็นเกือบร้อยละ 10.1 แต่ในปี 1915 เป็นเพียงร้อยละ 8 ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกอะไรได้มากพอดู

ต่อไปนี้ คือ สถิติการเลือกตั้งในปี 1915 แบบเต็ม[9]

จำนวนผู้เลือกตั้ง . . . . . . . . . . 1,546,241
จำนวนผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนน . . . . . . . . . . 121,548
จำนวนผู้ไปออกเสียงลงคะแนน . . . . . . . . . . 1,424,693
จำนวนคะแนนเสียงที่เสีย . . . . . . . . . . 7,557
จำนวนคะแนนเสียงที่ดี . . . . . . . . . . 1,417,136

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มีผู้เลือกตั้งที่เห็นคุณค่าของ "คะแนนเสียงหนึ่งเสียงอันล้ำค่า" เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าที่เป็นมาแต่ก่อน

น่าเสียดายที่ในญี่ปุ่นยังไม่มีการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรี แต่ก็มีการอภิปรายกันถึงสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้าสำหรับบุรุษแล้ว ร่างกฎหมายที่จะให้เกิดผลในเรื่องนั้นได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาหนหนึ่งแล้ว แต่ไปคาอยู่ในหิ้งที่สภาขุนนาง แน่ล่ะ คงจะไม่ฉลาดถ้าจะอนุมัติอย่างฉับพลันจนสุดโต่งถึงขั้นให้มีสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้า คงจะดีกว่าถ้าจะค่อย ๆ ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปโดยวิธีลดจำนวนคุณสมบัติด้านภาษีที่จำเป็นสำหรับการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนลง คาดหมายกันว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีโอกูมะยังอยู่รอดปลอดภัยจนถึงสมัยประชุมสามัญครั้งต่อไปของสภานิติบัญญัติช่วงฤดูหนาวปีหน้า (1916) คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อยังให้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่นที่มีมา 25 ปีแล้วสมบูรณ์พูนพร้อมยิ่งขึ้น


  1. สื่อที่ขายข่าวแบบโลดโผนและเกินจริง ดู yellow journalism (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีคัตสึระ ทาโร เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Third Katsura Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. คณะรัฐมนตรีชุดแรกที่มียามาโมโตะ กนโนเฮียวเอะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู First Yamamoto Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสมยอม (ฮั้ว) กันจัดซื้อจัดจ้าง ดู Siemens scandal (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. กลุ่มการเมืองที่เรียกว่า ริกเก็งเซยูไก ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. หนังสือรายปีญี่ปุ่น ประจำปี 1912 และ 1914
  8. หมายถึง การกำหนดคุณสมบัติโดยอิงทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ ดู property qualification (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ได้มาจาก ฯพณฯ โช เนโมโตะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ