ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/ภาคผนวก 1

จาก วิกิซอร์ซ
ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น (ค.ศ. 1916) โดย เออร์เนสต์ วิลสัน เคลเมนต์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
ภาคผนวก 1 รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น

ภาคผนวก

เรา ผู้สืบทอดบัลลังก์อันรุ่งเรืองจากผู้มาก่อนเรา ขอสาบานด้วยความนอบน้อมและด้วยพิธีการต่อพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และต่อเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ว่า เราจักรักษารูปแบบการปกครองแต่โบราณ และประกันรูปแบบนั้นให้พ้นจากความเสื่อมถอย ตามรอยนโยบายอันยิ่งใหญ่ที่ได้ก่อกำเนิดมาร่วมกับฟ้าและกับดิน

โดยที่ได้คำนึงถึงครรลองกิจการมนุษย์อันมีแนวโน้มจะรุดหน้า และโดยสอดคล้องพ้องกันกับความล้ำหน้าแห่งอารยธรรม เราเห็นเป็นการสมควรที่จะสถาปนากฎหมายรากฐานอันจัดรูปแบบเข้าเป็นบทบัญญัติที่ชัดแจ้งแห่งกฎหมาย จะได้เกิดความกระจ่างและชัดเจนแก่พระประศาสน์ที่พระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ได้ประทานไว้ ซึ่งในแง่หนึ่ง ราชอนุชนเราจะได้มีแนวทางชัดแจ้งสำหรับครรลองที่ตนจะก้าวตามไป และในอีกแง่หนึ่ง จะเป็นการเปิดให้พสกนิกรเราได้มีสิทธิกระทำการต่าง ๆ ในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนเรา และกฎหมายเราจะได้รับการปฏิบัติตามสืบไปชั่วจิรัฐิติกาล ด้วยการนั้น เราจะยังให้เสถียรภาพประเทศเราทวีความมั่นคง และจะส่งเสริมสวัสดิภาพประชาชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้นเรา และบัดนี้ เราจึงสถาปนากฎหมายราชวงศ์และรัฐธรรมนูญขึ้น กฎหมายเหล่านี้ย่อมอยู่ภายใต้คำอธิบายกฎเกณฑ์อันยิ่งใหญ่ในการดำเนินการปกครองซึ่งพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ได้ประทานไว้เท่านั้น ที่เราโชคดีที่ได้บรรลุผลงานชิ้นนี้ในรัชกาลของเราโดยสอดรับกับแนวโน้มแห่งกาลเวลานั้น เราเป็นหนี้พระคุณดวงพระวิญญาณอันรุ่งโรจน์ของพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา

ครั้งนี้ เราน้อมกระทำคำอธิษฐานต่อพระองค์เหล่านั้น และต่อพระปิตุราชผู้เลื่องลือของเรา และวอนขอความอนุเคราะห์จากดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และกระทำคำสาบานด้วยพิธีการต่อพระองค์ว่า ไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาใดในวันข้างหน้า จะไม่ละเลยในการเป็นตัวอย่างต่อพสกนิกรเราในอันที่จะปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งได้สถาปนาขึ้นไว้ในการนี้

ขอพระเทววิญญาณจงเป็นองค์พยานในคำสาบานของเรานี้ด้วยเทอญ

โดยที่การได้เห็นความรุ่งเรืองแห่งบ้านเมืองเรา กับทั้งสวัสดิภาพของพสกนิกรเรานั้น เรานับเป็นความปีติและรุ่งโรจน์ในหัวใจแห่งเรา ด้วยการนี้ เราขออาศัยอำนาจสูงสุดที่เรารับสืบทอดมาจากราชบรรพชนเราประกาศใช้กฎหมายรากฐานถาวรฉบับนี้ เพื่อประโยชน์แห่งพสกนิกรเราในกาลปัจจุบันและผู้สืบเชื้อสายของเขาเหล่านั้น

พระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และราชบรรพชนองค์อื่น ๆ ของเรา ได้ก่อตั้งจักรวรรดิเราไว้บนพื้นฐานอันจะดำรงคงอยู่สืบไปชั่วกาลนานผ่านความอนุเคราะห์และสนับสนุนจากบรรพบิดาแห่งพสกนิกรเรา การที่ความสำเร็จอันโชติช่วงนี้เป็นความวิจิตรอยู่ในหน้าพงศาวดารบ้านเมืองเรา ก็ด้วยคุณความดีอันรุ่งโรจน์ของราชบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเรา และความภักดีและมีน้ำใจกล้าหาญของพสกนิกรเรา ความรักที่เขาเหล่านั้นมีต่อบ้านต่อเมืองของตน และจิตวิญญาณสาธารณะของเขาเหล่านั้น เมื่อเห็นว่า พสกนิกรเราสืบเชื้อสายมาจากพสกนิกรผู้ภักดีและมีความเป็นเลิศของราชบรรพชนเรา เราจึงไม่สงสัยเลยว่า พสกนิกรเราจะมีวิสัยทัศน์ของเราเป็นเครื่องชี้ทาง และจะเห็นซึ้งในความมานะบากบั่นของเรา และเมื่อร่วมมือกันด้วยความปรองดอง เขาเหล่านั้นจะร่วมรู้สึกไปกับเราถึงความหวังของเราที่จะให้ความรุ่งโรจน์ของบ้านเมืองเราเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ทั้งในแหล่งปิตุภูมิและในต่างชาติต่างเมือง และที่จะมีเครื่องประกันความมั่นคงของผลงานอันราชบรรพชนเราประทานให้เรานั้นสืบไปชั่วนิจนิรันดร์

โดยที่ได้ขึ้นสู่บัลลังก์แห่งการสืบสันตติวงศ์ไม่ขาดสายไปชั่วนิรันดรกาลผ่านบารมีแห่งบรรพชนเรา โดยที่ปรารถนาจะส่งเสริมสวัสดิภาพ กับทั้งให้การพัฒนาและความสามารถด้านศีลธรรมและสติปัญญาแก่พสกนิกรอันเป็นที่รักของเรา ดุจเดียวกับที่บรรพชนเราได้สนับสนุนมาด้วยความห่วงใยเปี่ยมเมตตาและความเอาใจใส่อย่างรักใคร่ และโดยที่หวังจะรักษาความรุ่งเรืองแห่งแผ่นดินไปพร้อมกับประชาชนเราและความสนับสนุนของเขาเหล่านั้น ในการนี้ เราจึงประกาศใช้กฎหมายอันเป็นรากฐานแห่งแผ่นดิน ตามราชหัตถเลขาของเรา ลงวันที่ 14 เดือน 10 ปีเมจิที่ 14 [12 ตุลาคม 1881] เพื่อแสดงหลักการอันจะเป็นเครื่องชี้นำการกระทำของเรา และบ่งชี้ถึงสิ่งที่ทายาทเรา และพสกนิกรเรา รวมถึงผู้สืบเชื้อสายของเขาเหล่านั้น จะต้องดำเนินตามตลอดไป

เราได้รับสืบทอดสิทธิแห่งรัฏฐาธิปัตย์ในแผ่นดินมาจากบรรพชนเรา และเราจะประทานสิทธินั้นแก่ทายาทเรา ในกาลข้างหน้าไม่ว่าเราหรือทายาทเราก็จะไม่มีผู้ใดมิได้ถือครองสิทธินั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มอบให้ไว้ในการนี้

บัดนี้ เราขอประกาศว่า จะเคารพและคุ้มครองความมั่นคงในสิทธิและทรัพย์สินของประชาชนแห่งเรา และรับประกันแก่ประชาชนว่า จะได้อุปโภคสิทธิเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ ภายในขอบเขตของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

ให้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิเป็นครั้งแรกของปีเมจิที่ 23 [1890] ส่วนเวลาเปิดประชุมนั้น ให้ได้แก่วันที่รัฐธรรมนูญนี้เริ่มใช้บังคับ

ในกาลอนาคตเมื่อปรากฏความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญนี้ ให้เรา หรือผู้สืบทอดเรา มีสิทธิริเริ่มเรื่องนั้น และเสนอร่างเพื่อการนั้นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ให้สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิออกเสียงลงคะแนนในร่างนั้นตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญนี้วางไว้ และมิให้ทายาทเรา หรือพสกนิกรเรา พยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในทางอื่นใดเลย

ให้ถือว่า รัฐมนตรีของเรารับผิดชอบในการบังคับตามรัฐธรรมนูญนี้แทนเรา และให้พสกนิกรเรา ทั้งในปัจจุบันก็ดี และในอนาคตก็ดี มีหน้าที่ภักดีต่อรัฐธรรมนูญนี้ตลอดไป

  • [พระนามาภิไธย]
  • [พระราชลัญจกร]

วันที่ 11 เดือนยี่ ปีเมจิที่ 22 [11 กุมภาพันธ์ 1889]

[รัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ]

มาตรา1ให้จักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ภายใต้รัชกาลและการปกครองของจักรพรรดิเป็นลำดับไม่ขาดสายไปชั่วกาลนิรันดร์

มาตรา2ราชบัลลังก์นั้นให้มีผู้สืบทอดเป็นรัชทายาทชายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายราชวงศ์

มาตรา3จักรพรรดิทรงมีความศักดิ์สิทธิ์และจะทรงถูกละเมิดมิได้

มาตรา4จักรพรรดิทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิ ทรงนำสิทธิทั้งหลายในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มารวมไว้ในพระองค์เอง และทรงใช้สิทธิเหล่านั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา5จักรพรรดิทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยความยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มาตรา6จักรพรรดิทรงอนุมัติกฎหมาย และทรงบัญชาให้นำกฎหมายไปประกาศใช้และบังคับใช้

มาตรา7จักรพรรดิทรงเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ทรงเปิด ปิด และเลื่อนการประชุมนั้น และทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา8เนื่องจากมีความจำเป็นรีบด่วนในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จักรพรรดิย่อมจะทรงออกพระราชกำหนดแทนกฎหมาย ในเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิไม่อยู่ในสมัยประชุม

พระราชกำหนดเช่นว่านั้น จะได้ยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิในสมัยประชุมถัดไป และเมื่อสภานิติบัญญัติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว ให้รัฐบาลประกาศว่า พระราชกำหนดนั้นจะเป็นอันสิ้นผลสืบไปในอนาคต

มาตรา9จักรพรรดิทรงออกหรือจัดให้มีการออกพระราชกำหนดที่จำเป็นต่อการบังคับตามกฎหมาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ หรือการส่งเสริมสวัสดิภาพของพสกนิกร แต่ห้ามมิให้ใช้พระราชกำหนดแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายใด ๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าในทางใด

มาตรา10จักรพรรดิทรงกำหนดการจัดองค์กรสำหรับฝ่ายต่าง ๆ ในการปกครอง และเงินตอบแทนสำหรับเจ้าพนักงานพลเรือนและทหารทั้งปวง และทรงแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลเหล่านั้น ข้อยกเว้นอันบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้หรือในกฎหมายอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ (ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ) ตามลำดับ

มาตรา11จักรพรรดิทรงมีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดต่อกองทัพบกและกองทัพเรือ

มาตรา12จักรพรรดิทรงกำหนดการจัดองค์กรและท่าทีในทางสันติของกองทัพบกและกองทัพเรือ

มาตรา13จักรพรรดิทรงประกาศสงคราม ทรงระงับศึก และทรงกระทำสนธิสัญญา

มาตรา14จักรพรรดิทรงประกาศกฎหมายภาวะปิดล้อม[3]

เงื่อนไขและผลแห่งกฎหมายภาวะปิดล้อมนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา15จักรพรรดิพระราชทานบรรดาศักดิ์ ยศ อิสริยาภรณ์ และเครื่องหมายเกียรติยศอย่างอื่น

มาตรา16จักรพรรดิทรงบัญชาให้มีการนิรโทษกรรม อภัยโทษ ลดโทษ และล้างมลทิน

มาตรา17การสำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ให้มีขึ้นโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายราชวงศ์

ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช้อำนาจอันเป็นของจักรพรรดิในพระนามาภิไธยจักรพรรดิ

มาตรา18เงื่อนไขอันจำเป็นแก่การเป็นพสกนิกรญี่ปุ่นนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา19พสกนิกรญี่ปุ่นอาจได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่พลเรือนหรือทหารโดยเสมอภาคกัน และอาจเข้ารับตำแหน่งหน้าที่สาธารณะอื่นใด ตามคุณสมบัติที่กำหนดในพระราชกำหนดกฎหมาย

มาตรา20พสกนิกรญี่ปุ่นย่อมรับผิดชอบต่อการเข้ารับราชการในกองทัพบกหรือกองทัพเรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา21พสกนิกรญี่ปุ่นย่อมรับผิดชอบต่อหน้าที่เสียภาษีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา22พสกนิกรญี่ปุ่นมีเสรีภาพในเคหสถานและในการเปลี่ยนเคหสถานภายในขอบเขตของกฎหมาย

มาตรา23มิให้จับกุม คุมขัง พิจารณา หรือลงโทษพสกนิกรญี่ปุ่นคนใด เว้นแต่เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา24มิให้พรากพสกนิกรญี่ปุ่นไปเสียจากสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยตุลาการที่กฎหมายกำหนด

มาตรา25มิให้เข้าไปและค้นในบ้านพสกนิกรญี่ปุ่นคนใดโดยปราศจากยินยอมของผู้นั้น เว้นแต่ในกรณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

มาตรา26ความลับในจดหมายของพสกนิกรญี่ปุ่นทุกคน ให้เป็นอันละเมิดมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่ระบุไว้ในกฎหมาย

มาตรา27สิทธิในทรัพย์สินของพสกนิกรญี่ปุ่นทุกคน ให้เป็นอันละเมิดมิได้

มาตรการอันจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา28ให้พสกนิกรญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในความเชื่อทางศาสนา ภายในขอบเขตอันไม่เป็นที่เสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อยและไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของตนในฐานะพสกนิกร

มาตรา29ให้พสกนิกรญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในการพูด การเขียน การประชุมสาธารณะ และการสมาคม ภายในขอบเขตของกฎหมาย

มาตรา30พสกนิกรญี่ปุ่นอาจถวายฎีกา โดยปฏิบัติตามรูปแบบการถวายความเคารพอย่างเหมาะสม และโดยดำเนินตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษสำหรับเรื่องนั้น

มาตรา31บทบัญญัติซึ่งมีในหมวดนี้ มิให้กระทบต่อการใช้อำนาจอันเป็นของจักรพรรดิ ในยามสงครามหรือในกรณีที่มีความฉุกเฉินระดับชาติ

มาตรา32บรรดาบทบัญญัติแต่ละบทที่มีในมาตราก่อน ๆ หน้านี้แห่งหมวดนี้ ซึ่งไม่ขัดกับกฎหมายหรือระเบียบและวินัยแห่งกองทัพบกหรือกองทัพเรือ ให้ใช้บังคับแก่เจ้าพนักงานและผู้คนในกองทัพบกและกองทัพเรือด้วย

มาตรา33สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้ประกอบด้วยสภาสองสภา คือ สภาขุนนาง และสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา34ให้สภาขุนนางประกอบด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ชนชั้นขุนนาง และบุคคลทั้งหลายที่จักรพรรดิทรงเสนอชื่อเข้าสู่สภานี้ ตามพระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนาง

มาตรา35ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งมา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลือกตั้ง

มาตรา36มิให้ผู้ใดเป็นสมาชิกทั้งสองสภาในเวลาเดียวกัน

มาตรา37กฎหมายทุกฉบับต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มาตรา38ให้สภาทั้งสองออกเสียงลงคะแนนในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมา และแต่ละสภาจะริเริ่มร่างกฎหมายเองก็ได้

มาตรา39ร่างพระราชบัญญัติซึ่งสภาหนึ่งสภาใดในสภาทั้งสองไม่เห็นชอบด้วยนั้น มิให้ยกขึ้นพิจารณาอีกในระหว่างสมัยประชุมเดียวกัน

มาตรา40สภาทั้งสองชอบจะแถลงข้อความจริงเกี่ยวกับกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดต่อรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อคำแถลงข้อความจริงเช่นว่านั้นถูกบอกปัด จะกระทำขึ้นอีกเป็นครั้งสองในระหว่างสมัยประชุมเดียวกันมิได้

มาตรา41ให้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิทุกปี

มาตรา42ให้สมัยประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิดำเนินไปเป็นเวลาสามเดือน ในกรณีจำเป็น จะขยายเวลาแห่งสมัยประชุมนั้นด้วยพระราชบัญชาก็ได้

[4]เวลาแห่งสมัยประชุมวิสามัญนั้น ให้กำหนดด้วยพระราชบัญชา

มาตรา44การเปิด ปิด และขยายสมัยประชุม และการเลื่อนประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดินั้น ให้มีผลพร้อมกันทั้งสองสภา

ในกรณีที่มีพระราชบัญชาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนประชุมสภาขุนนางไปพร้อมกัน

มาตรา45เมื่อมีพระราชบัญชาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชบัญชาเป็นอันยังผลให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ และให้เรียกประชุมสภาชุดใหม่ภายในห้าเดือนตั้งแต่วันที่ถูกยุบ

มาตรา46มิให้เปิดอภิปรายและมิให้ออกเสียงลงคะแนนในสภาหนึ่งสภาใดของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ เว้นแต่มีสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแห่งสภานั้น ๆ มาประชุม

มาตรา47การออกเสียงลงคะแนนในสภาทั้งสองให้ถือตามเสียงข้างมากเด็ดขาด ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงชี้ขาด

มาตรา48การพิจารณาปรึกษาของสภาทั้งสองนั้น ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย ทว่า การพิจารณาปรึกษาจะดำเนินการในที่ประชุมลับก็ได้ เมื่อมีคำเรียกร้องของรัฐบาลหรือมีมติของสภา

มาตรา49แต่ละสภาในสภาทั้งสองของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิจะมีคำกราบบังคมทูลต่อจักรพรรดิก็ได้

มาตรา50สภาทั้งสองจะรับฎีกาที่พสกนิกรเสนอมาก็ได้

มาตรา51สภาทั้งสองจะตราระเบียบที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการกิจการภายในของตน นอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมรูญและในกฎหมายสภาก็ได้

มาตรา52สำหรับความคิดเห็นใด ๆ ที่ได้กล่าวหรือการออกเสียงลงคะแนนใด ๆ ที่ได้กระทำในสภา มิให้สมาชิกสภาใดถูกจัดให้รับผิดชอบในเรื่องนั้นภายนอกสภาของตน กระนั้น เมื่อสมาชิกผู้นั้นเองเผยแพร่ความคิดเห็นของตนด้วยคำกล่าวสาธารณะ ด้วยเอกสารที่พิมพ์หรือเขียน หรือด้วยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ให้สมาชิกผู้นั้นมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้นตามกฎหมายทั่วไป

มาตรา53ในระหว่างสมัยประชุม ให้สมาชิกสภาทั้งสองพ้นจากการถูกจับกุมโดยปราศจากความยินยอมของสภา เว้นแต่ในกรณีความผิดซึ่งหน้า หรือความผิดอันเกี่ยวโยงกับสภาพความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือความเดือดร้อนในต่างประเทศ

มาตรา54รัฐมนตรีก็ดี และผู้แทนรัฐบาลก็ดี จะเข้านั่งประชุมและกล่าวในสภาใด ณ เวลาใดก็ได้

มาตรา55ให้รัฐมนตรีแต่ละคนถวายคำแนะนำต่อจักรพรรดิ และรับผิดชอบในคำแนะนำนั้น

บรรดากฎหมาย พระราชกำหนด และพระราชหัตถเลขา ไม่ว่าประเภทใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ

มาตรา56ให้องคมนตรีสภาพิจารณาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญของแผ่นดินเมื่อจักรพรรดิทรงหารือด้วย ตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดองค์กรขององคมนตรีสภา

มาตรา57ให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจตุลาการตามกฎหมาย[และ]ในพระนามาภิไธยจักรพรรดิ

การจัดองค์กรของศาลยุติธรรม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา58ให้แต่งตั้งตุลาการจากบรรดาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามกฎหมาย

มิให้พรากตุลาการผู้ใดไปเสียจากตำแหน่งของผู้นั้น เว้นแต่โดยวิธีมีคำพิพากษาทางอาญาหรือลงโทษทางวินัย

มาตรา59การพิจารณาและพิพากษาของศาลนั้น ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย อย่างไรก็ดี เมื่อมีความหวาดเกรงว่า การเปิดเผยเช่นนั้นอาจเสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อย หรือต่อการรักษาศีลธรรมสาธารณะ จะงดการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายหรือคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมก็ได้

มาตรา60เรื่องทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลพิเศษนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

มาตรา61มิให้ศาลยุติธรรมรับพิจารณาอรรถคดีใดซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิที่อ้างว่า ถูกละเมิดโดยมาตรการอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และซึ่งให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลคดีปกครองอันมีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ

มาตรา62การกำหนดภาษีใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงอัตรา (ภาษีที่มีอยู่แล้ว) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ดี บรรดาค่าธรรมเนียมทางปกครองหรือรายได้อย่างอื่นอันมีสภาพเป็นค่าชดเชยนั้น มิให้จัดเข้าเป็นประเภทตามข้อบทข้างต้น

เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้ในงบประมาณ การเพิ่มเงินกู้ของชาติ และการทำสัญญาว่าด้วยความรับผิดอย่างอื่นอันอยู่ในขอบอำนาจของท้องพระคลังแห่งชาตินั้น ต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มาตรา63ภาษีที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันนั้น ให้เก็บไปตามระบบเดิม ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายใหม่มาปรับรูปแบบ

มาตรา64รายจ่ายและรายได้แผ่นดินนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิด้วยวิธีงบประมาณประจำปี

รายได้ทั้งใด ๆ ทั้งปวงที่เกินการจัดสรรอันระบุไว้ในลักษณะและวรรคต่าง ๆ ของงบประมาณก็ดี หรือที่มิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณก็ดี ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิในภายหลัง

มาตรา65ในเบื้องแรก ให้ยื่นงบประมาณต่อสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา66รายจ่ายของราชวงศ์นั้น ให้ท้องพระคลังแห่งชาติออกให้ทุกปี ตามจำนวนที่กำหนดไว้ให้ในปัจจุบัน และไม่ต้องได้รับความยินยอมในเรื่องนั้นจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่า จำเป็นต้องเพิ่มรายจ่าย

มาตรา67รายจ่ายทั้งหลายที่กำหนดไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญให้ตั้งอยู่บนอำนาจอันเป็นของจักรพรรดิก็ดี และรายจ่ายที่อาจได้เกิดขึ้นจากผลของกฎหมาย หรือที่ตกเป็นข้อผูกพันรัฐบาลตามกฎหมายก็ดี มิให้สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิบอกปัดหรือลดจำนวนลงโดยปราศจากความเห็นพ้องจากรัฐบาล

มาตรา68เพื่อสอดรับกับความต้องการอันเป็นพิเศษ รัฐบาลจะขอความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นกองทุนรายจ่ายต่อเนื่องสำหรับช่วงปีที่กำหนดไว้แล้วก็ได้

มาตรา70เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดพร่องไปอันไม่อาจเลี่ยงได้ในงบประมาณ และเพื่อสอดรับกับความต้องการอันมิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณ ให้มีการบัญญัติถึงกองทุนสำรองไว้ในงบประมาณ

มาตรา70ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนต้องรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หากไม่อาจเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิได้เพราะเงื่อนไขภายนอกหรือภายในประเทศ รัฐบาลอาจใช้มาตราทางการคลังทั้งปวงที่จำเป็นโดยวิธีออกพระราชกำหนดก็ได้

ในกรณีที่เอ่ยไว้ในข้อบทก่อนหน้า ให้เสนอเรื่องต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ณ สมัยประชุมถัดไป และให้เรื่องนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา

มาตรา71เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิมิได้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องงบประมาณก็ดี หรือเมื่องบประมาณมิได้เกิดขึ้นจริงก็ดี ให้รัฐบาลบังคับตามงบประมาณสำหรับปีที่ผ่านมา

มาตรา72บัญชีสุดท้ายสำหรับรายจ่ายและรายได้แผ่นดินนั้น ให้คณะกรรมการตรวจเงินตรวจสอบและรับรอง และให้รัฐบาลเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิพร้อมรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการดังกล่าว

การจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงิน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่างหาก

มาตรา73ในกาลอนาคตเมื่อปรากฏความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ การเสนอร่างเพื่อการนั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้กระทำโดยพระราชบัญชา

ในกรณีข้างต้น มิให้สภาใดเปิดอภิปราย เว้นแต่มีสมาชิกอย่างน้อยสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมาประชุม และมิให้ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างใด เว้นแต่ได้รับเสียงข้างมากเป็นอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกที่มาประชุม

มาตรา74การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายราชวงศ์ ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาปรึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มิให้แก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติใด ๆ ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วยกฎหมายราชวงศ์

มาตรา75ในช่วงที่มีการสำเร็จราชการแทนพระองค์ ห้ามจัดให้มีการแก้ไขปรับปรุงอย่างใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายราชวงศ์

มาตรา76บทกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมาย กฎ พระราชกำหนด หรือจะเรียกชื่ออย่างใดก็ตาม ให้คงมีผลบังคับต่อไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนี้

บรรดาสัญญาหรือคำสั่งที่มีอยู่ ซึ่งก่อข้อผูกพันแก่รัฐบาล หรือซึ่งเกี่ยวโยงกับรายจ่าย ให้อยู่ในขอบเขตของมาตรา 67


  1. คำแปลอย่างเป็นทางการจาก เจแปน วีกลี เมล 15 กุมภาพันธ์ 1889
  2. ภาษาญี่ปุ่น คือ "春興殿" (ชุงโกเด็ง) แปลว่า "หอคันฉ่องศักดิ์สิทธิ์" ภาษาอังกฤษเรียกเพียง "sanctuary" (หอศักดิ์สิทธิ์) เป็นอาคารในพระราชวังที่เคียวโตะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. คือ กฎอัยการศึก ดูตัวอย่างในกฎหมาย ลงวันที่ 9 สิงหาคม 1849 ว่าด้วยภาวะปิดล้อม ของฝรั่งเศส (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. ต้นฉบับตกวรรคแรกของมาตรา 43 ซึ่งฉบับภาษาญี่ปุ่นว่า "第四十三條 臨時緊急ノ必要アル場合ニ於テ常會ノ外臨時會ヲ召集スヘシ" (มาตรา 43 ในกรณีฉุกเฉินอันเป็นวิสามัญ จะเรียกประชุมวิสามัญนอกเหนือไปจากการประชุมสามัญก็ได้) ส่วนฉบับภาษาอังกฤษว่า "Article XLIII.—When urgent necessity arises, an extraordinary session may be convoked, in addition to the ordinary one." (มาตรา 43 เมื่อเกิดความจำเป็นรีบด่วน จะเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพิ่มเติมจากสมัยสามัญก็ได้)
    รายการอ้างอิง: (1) Dai-Nippon Teikoku Kenpō [Constitution of the Empire of Japan]. n.p.: Ōkurashō Insatsu-kyoku. 1889. น. 4.  (2) The Constitution of Japan: With the Laws Appertaining Thereto, and the Imperial Oath and Speech. Yokohama: "Japan Gazette" Office. 1889. น. 6.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)