งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (ค.ศ. 1908) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 1 สอดส่องเข้าไปในประวัติศาสตร์สยาม

มุมหนึ่งในอาณาบริเวณพระบรมมหาราชวัง บางกอก

ส ย า ม
บทที่ 1
สอดส่องเข้าไปในประวัติศาสตร์สยาม

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านได้ร่ำเรียนมาแล้วในวิชาประวัติศาสตร์อังกฤษของท่านว่า ครั้งหนึ่ง เกาะอันเป็นบ้านเมืองของพวกเรานี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่าป่าเถื่อนไร้อารยธรรมซึ่งถูกเหล่าผู้รุกรานที่บุกขึ้นฝั่งของเรามาจากดินแดนอีกฟากหนึ่งของทะเลเหนืออัปเปหิมายังเนินเขาทางเหนือและตะวันตก ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน พวกจูต แซกเซิน เดน และแองเกิล กรีธาพลรบเข้าสู่ชายฝั่งของเรา ฆ่าฟันผู้คน เผาบ้านผลาญเรือน และช่วงชิงปศุสัตว์ และพวกแองเกิล หนึ่งในเผ่าผูกรุกรานเหล่านี้ ก็เป็นที่มาของชื่อเรียกพื้นที่ส่วนหนึ่งของเกาะเรา ซึ่งทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันว่า อิงแลนด์ หรือก็คือ แองเกิลแลนด์ ดินแดนของพวกแองเกิล

ทีนี้ สยามก็เหมือนกัน ด้วยผู้คนที่อาศัยในสยาม ณ เวลานี้ก็สืบลูกสืบหลานมาจากเหล่าผู้รุกรานที่ไหลบ่าเข้ามาในแว่นแคว้นแล้วขับไล่ผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมออกไปสู่เนินเขา ไม่มีใครมั่นใจนักว่า ชาวสยามมาจากที่ใดแน่ แต่ก็เป็นไปได้ว่า บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาอยู่บนที่ลาดแถบภูเขาในทิเบต บรรพบุรุษของเขาเหล่านี้เป็นชนชาติป่าเถื่อนและแข็งแกร่งซึ่งไว้รอยสักตามร่างกาย พวกเขาลงมาจากภูเขาและตั้งรกรากในจีน ณ ที่นั้นพวกเขากลายเป็นกลุ่มคนรักสงบ หากินจากไร่นา เพาะพันธุ์พืชผล และเลี้ยงสัตว์เป็นฝูง และคงจะไม่คิดอันใดมากมายเกี่ยวกับสงครามและการนองเลือดอีก ผู้คนเหล่านี้เป็นที่รู้จักว่า ฉาน จากนั้น วันหนึ่ง ก็เกิดมีหมู่คนมากมายเข้ามารุกรานพวกฉาน และขับไล่ผู้คนส่วนใหญ่ในกลุ่มพวกเขาออกไปจากถิ่นฐานบ้านเรือน บางส่วนตกเป็นทาสอยู่ในดินแดนเดิม ส่วนที่เหลือกลายเป็นคนร่อนเร่เดินทางไปข้างตะวันตกและตั้งรกรากในแว่นแคว้นนั้น ซึ่งบัดนี้เราเรียกกันว่า พม่า และในที่สุด กลุ่มผู้พลัดถิ่นบางส่วนก็เดินหน้าสู่ฝั่งที่เป็นหุบผาและเนินขาทางภาคเหนือของสยาม และผู้คนกลุ่มนี้ก็คือที่เราเรียกลูกหลานของเขาว่า ชาวสยาม จริง ๆ แล้วคำว่า "สยาม" ก็คือคำว่า "ฉาน" อันเป็นนามของเหล่าผู้ตั้งรกรากในดินแดนนี้เป็นกลุ่มแรกสุด ชาวโปรตุเกสเป็นหนึ่งในชาติยุโรปหมู่แรกที่มาเยือนประเทศอันไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแห่งนี้ และเมื่อชาวโปรตุเกสกลับคืนบ้านเมืองในยุโรปอีกครั้ง แล้วไปเล่าขานเรื่องราวของผู้คนที่ตนได้พบเจอในอินเดียนอกแผ่นดินใหญ่ ก็สะกดและออกเสียงคำว่า "ฉาน" เป็น "สยาม" และเราก็ได้ชื่อ "สยาม" มาเพราะเหตุนั้น ชาวสยามไม่เคยเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ ชื่อพื้นถิ่นสำหรับเรียกขานผู้คน คือ "ไทย" ซึ่งแปลว่า "เสรี" และสำหรับพวกเขาแล้ว ประเทศสยาม ได้แก่ "เมืองไทย" หรือก็คือ "ดินแดนแห่งเสรีชน" เสมอ

เราจะไม่ร่ำไรอยู่ตรงนี้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวยืดยาวว่า ในการสู้รบกับกลุ่มคนทั้งหลายในเขตแดนของตน (อันได้แก่ บรรดาผู้อาศัยในกัมพูชา พะโค อานัม และพม่า) นั้น ชาวสยามเขาทำกันอย่างไรในห้วงหลายร้อยปี ประวัติศาสตร์ช่วงนี้มากด้วยเรื่องราวพิสดารของคนกล้าหาญและเหี้ยมโหด ซึ่งสองคนในกลุ่มนี้มีค่าให้พูดถึง ณ ที่นี้เพียงคำสองคำ

ชาวกรีกนาม คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามาถึงสยามในราวยุคเดียวกับที่ชาลส์ที่ 2 ครองราชย์ในอังกฤษ ฟอลคอน กับข้าหลวงสยามจำนวนหนึ่ง ผจญเหตุเรืออับปางอยู่บนชายฝั่งอินเดีย และข้าหลวงสยามเชื้อเชิญฟอลคอนให้แวะมาประเทศของพวกตนบ้าง ฟอลคอนรับคำเชิญ และข้าหลวงสยามก็แนะนำเขาต่อพระเจ้าแผ่นดิน ฟอลคอนเป็นคนหลักแหลมยิ่ง และได้กลายเป็นพระสหายและที่ปรึกษาคนสำคัญขององค์กษัตริย์ เขาสร้างป้อมและวัง ทั้งยังก่อกำแพงโดยมีหอคอยขนาดย่อมเสริมอยู่เป็นช่วง ๆ รอบเมืองอันเป็นราชธานีในครั้งนั้น ซากวังที่ชาวกรีกผู้นี้สร้างขึ้นยังมีให้เห็นอยู่ในนครเก่า ฟอลคอนเริ่มมีอำนาจมากจนเจ้าชายและขุนนางสยามเกิดริษยา ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินประชวรลงจนไม่อาจทรงกุมบังเหียนแห่งอำนาจได้อีกต่อไป เจ้าชายที่ไม่พอพระทัย พร้อมด้วยพระสหาย ก็ตกลงกันจะกำจัดชาวต่างชาติคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดินผู้นี้เสีย คืนมืดมิดคืนหนึ่ง ฟอลคอนถูกเรียกไปร่วมประชุมบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เขาก็รุดไปวังโดยไม่ทันคิดว่า สิ่งใดรอคอยเขาอยู่ เมื่อเขามาถึง เขาก็ถูกจับกุมและโยนใส่คุก สุดท้ายแล้ว เขาถูกทรมานจนตาย

ทีนี้ สักร้อยปีให้หลังได้ อันตรงกับสมัยซึ่งจอร์จที่ 3 เสวยราชย์ในอังกฤษ และเป็นสมัยที่พวกเรากำลังรบรากับชาวอมริกันผู้อยู่ในอาณานิคม เพราะเขาไม่ยอมจ่ายภาษีที่เราเพียรพยามกำหนดให้เขานั้น ก็เกิดมีชาวต่างชาติอีกผู้หนึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจอันยิ่งใหญ่ในสยาม ชาวต่างชาติผู้นี้เป็นคนจีนนาม พญาตาก ชาวพม่าได้รุกรานสยามและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้ ฉะนั้น พญาตากจึงรวบรวมกองทัพซึ่งหลัก ๆ แล้วประกอบด้วยโจรผู้ร้าย แล้วนำกองทหารอันดุร้ายนี้มาขับไล่ชาวพม่าออกไปสิ้น เมื่อพญาตากได้ชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้แล้ว เขาก็มาบางกอก และจัดให้ตนได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศ และบางกอกก็กลายเป็นราชธานีของสยามมาตั้งแต่ยุคของคนผู้นี้ พญาตากมิได้ครองราชย์นานนัก เพราะหลังจากนั้นระยะหนึ่ง เขากลายเป็นบ้า เขาหนีไปอยู่สำนักสงฆ์แล้วนุ่งห่มจีวรนักบวช แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อเขามากนัก เพราะชายที่เคยเป็นเพื่อนและนายทหารคนสำคัญของเขา จับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีสติวิปลาสนี้ฆ่าเสีย แล้วขึ้นครองราชย์แทน คนผู้ยึดอำนาจนี้ได้ขึ้นเสวยราชย์ในปี 1782 และองค์กษัตริย์ผู้ทรงปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้ทรงเป็นเหลนของเขา พระนามและพระยศเต็มของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน คือ พระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในยามที่มีพระชนม์ไม่เต็ม 7 ชันษา และพระพลานามัยในเวลานั้นก็เปราะบางมากถึงขั้นที่ทีแรกหวาดเกรงกันว่า จะไม่ทรงอยู่รอดได้ ทว่า ในวันที่เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ฝนตกหนักหนา และเหตุฉะนั้น เหล่าพสกนิกรของพระองค์จึงรู้สึกยินดีปรีดากันยิ่งนัก เพราะหากฝนตกตอนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระองค์จะทรงดำรงพระชนมชีพได้หลายปีเป็นแน่ และก็เป็นจริงดังนั้น เพราะพระองค์ก็ยังทรงพระชนม์อยู่ หลังจากเสวยราชย์มาจนบัดนี้ก็ราว 29 ปีแล้ว