งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ
แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 3: ราคาของสินค้ากำหนดโดยอะไร?

บท III
 
ราคาของสินค้ากำหนดโดยอะไร?

ราคาของสินค้ากำหนดโดยอะไร?

โดยการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ระหว่างการเสนอซื้อกับเสนอขาย ราคาของสินค้ากำหนดโดยการแข่งขันสามส่วน

ผู้ขายหลายคนเสนอขายสินค้าเดียวกัน ผู้ใดขายสินค้าคุณภาพทัดเทียมกันได้ถูกที่สุด ย่อมขับผู้ขายคนอื่นออกจากสนามและครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่เป็นของตน ผู้ขายจึงต่อสู้แย่งชิงยอดขายและตลาดจากกันและกัน แต่ละคนต้องการขาย ขายให้เยอะที่สุด และหากเป็นไปได้ก็ขายแต่เพียงผู้เดียว โดยกีดกันผู้ขายคนอื่นทั้งหมด แต่ละคนขายถูกกว่าคนอื่น จึงเกิดการแข่งขันระหว่างผู้ขายซึ่งกดราคาของสินค้าที่เสนอขายต่ำลง

แต่ยังมีการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อ ในการนี้ทำให้ราคาของสินค้าที่เสนอซื้อสูงขึ้น

สุดท้ายก็มีการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ผู้ต้องการซื้อราคาถูกที่สุด กับผู้ต้องการขายราคาแพงที่สุด ผลของการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้แข่งขันทั้งสองฝ่าย นั่นคือ การแข่งขันภายในของฝ่ายใดรุนแรงกว่า ระหว่างทัพของผู้ขายกับทัพของผู้ซื้อ อุตสาหกรรมนำสองทัพใหญ่มาประชันกันในสนามรบ และแต่ละทัพก็สู้กันเองภายในระหว่างพลรบในชั้นยศของตน ทัพที่ทหารสู้กันเองน้อยกว่าก็จะมีชัยเหนือฝ่ายตรงข้าม

สมมุติว่ามีฝ้ายร้อยมัดในตลาด ในขณะเดียวกัน มีผู้ซื้อฝ้ายหนึ่งพันมัด ในกรณีนี้ อุปสงค์มากกว่าอุปทานสิบเท่า การแข่งขันระหว่างผู้ซื้อจึงรุนแรงอย่างยิ่ง แต่ละคนพยายามคว้าไว้หนึ่ง หรือหมดร้อยหากทำได้ ตัวอย่างนี้ไม่ได้สมมุติตามอำเภอใจ เราเคยผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์การพาณิชย์ที่ฝ้ายขาดแคลน เมื่อนายทุนบางคนจับมือกันพยายามซื้อฝ้าย ใช่แค่ร้อยมัด แต่อุปทานทั้งหมดบนโลก ในกรณีนี้ ผู้ซื้อคนหนึ่งจึงจะพยายามขับคนอื่นออกจากสนามด้วยการเสนอซื้อมัดฝ้ายในราคาที่เทียบกันแล้วสูงกว่า ผู้ขายฝ้ายเห็นว่าทหารฝ่ายตรงข้ามกำลังแก่งแย่งกันเองอย่างรุนแรงที่สุด จึงมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าขายหมดร้อยมัดแน่ แล้วก็จะระวังไม่ขัดขากันกดราคาลงในเวลาที่ศัตรูแข่งกันดันราคาขึ้น สันติมาเยือนทัพผู้ขายในบัดดล ยืนตระหง่านเหนือผู้ซื้ออย่างกับเป็นคนหนึ่งคนเดียวกัน กอดอกในเชิงปรัชญา และคงจะเรียกร้องได้ไร้ขีดจำกัด หากเพียงผู้คะยั้นคะยอซื้อที่สุดไม่ได้มีขีดจำกัดของตัวที่แน่นอน

ดังนั้น เมื่ออุปทานของสินค้าน้อยกว่าอุปสงค์ การแข่งขันระหว่างผู้ขายจะมีน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย ในสัดส่วนเดียวกันที่การแข่งขันนี้ลดลง ผู้ซื้อจะแข่งขันกันเข้มข้นขึ้น ผลลัพธ์: ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นที่รู้กันดีว่ากรณีตรงข้าม ผลลัพธ์ตรงข้าม เกิดบ่อยกว่า เมื่ออุปทานเกินอุปสงค์ ผู้ขายแข่งขันกันไม่คิดชีวิต และขาดแคลนผู้ซื้อ บังคับให้ต้องขายสินค้าที่ราคาต่ำอย่างน่าสมเพช

แต่ราคาขึ้น ราคาลง มันคืออะไร? ราคาสูง ราคาต่ำ คืออะไร? ทรายเม็ดเดียวสูงโด่งเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ หอคอยต่ำเตี้ยเทียบกับภูเขา และหากความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานกับอุปสงค์เป็นตัวกำหนดราคา ความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานกับอุปสงค์กำหนดโดยอะไร?

หันไปหาพลเมืองคนใดก็ดี ไม่รีรอแม้พริบตาเดียว เช่นอเล็กซานเดอร์มหาราช เขาจะตัดเงื่อนปมทางอภิปรัชญานี้ด้วยตารางสูตรคูณ และกล่าวต่อเรา: “ถ้าต้องจ่ายร้อยเหรียญเพื่อผลิตสินค้าที่ฉันขาย และขายแล้วได้ร้อยสิบเหรียญ——แน่อยู่แล้วในหนึ่งปี——ก็เป็นกำไรที่สุจริต สะอาด และสมเหตุสมผล แต่ถ้าแลกเปลี่ยนแล้วได้มาร้อยยี่สิบหรือร้อยสามสิบเหรีญ ก็เป็นกำไรที่สูงขึ้น และถ้าได้มากถึงสองร้อยเหรียญ ก็เป็นกำไรที่มหึมาผิดธรรมดา” แล้วอะไรหรือที่พลเมืองท่านนี้ใช้เป็นมาตรฐานของกำไร? ต้นทุนการผลิตสินค้าของเขานั่นเอง ถ้าเขาแลกเปลี่ยนสินค้าเขาได้สินค้าอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า เขาก็จะขาดทุน ถ้าเขาแลกเปลี่ยนสินค้าเขาได้สินค้าอื่นที่ต้นทุนมากกว่า เขาก็จะกำไร และเขาคำนวณว่ากำไรขึ้นหรือลงตามระดับที่มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าเขาอยู่เหนือหรือใต้เลขศูนย์ของเขา——ต้นทุนการผลิต

เราได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ทำให้ราคาขึ้นแล้วก็ลง สูงแล้วก็ต่ำ หากราคาของสินค้าขึ้นไปมากเพราะอุปทานขาดแคลนหรืออุปสงค์โตไม่สมสัดส่วน ราคาของสินค้าอื่นย่อมต่ำลงในอัตราส่วนเดียวกัน เพราะราคาของสินค้าเพียงแค่แสดงอัตราส่วนที่แลกได้กับสินค้าอื่นออกมาเป็นเงินตรา ยกตัวอย่างเช่น หากราคาผ้าไหมหนึ่งหลาขึ้นจากสองเป็นสามเหรียญ ราคาของเงินจะตกเทียบกับผ้าไหม และราคาของสินค้าอื่นทั้งหมดหากคงที่ก็จะตกเหมือนกันเมื่อเทียบกับราคาผ้าไหม จะแลกผ้าไหมเท่าเดิมได้ต้องนำมาแลกเปลี่ยนในปริมาณที่มากกว่าเดิม แล้วจะส่งผลอะไรหากราคาของสินค้าอย่างหนึ่งสูงขึ้น? ทุนกองหนึ่งจะกระโจนเข้าไปในอุตสาหกรรมสาขาที่รุ่งเรือง และทุนจะอพยพเข้าตำบลอุตสาหกรรมอันเป็นที่ชอบจนกระทั่งไม่ให้ดอกผลเกินกว่ากำไรปรกติวิสัย แต่ค่อนข้างที่ราคาของผลผลิตจะจมดิ่งใต้ต้นทุนการผลิตเพราะผลิตมากเกินไปเสียมากกว่า

ในทางกลับกัน: หากราคาของสินค้าต่ำลงใต้ต้นทุนการผลิต ทุนก็จะถอนตัวเลิกผลิตสินค้านี้ ยกเว้นกรณีที่เป็นอุตสาหกรรมในสาขาที่ล้าสมัยไปแล้วและจึงชะตาขาด การผลิตสินค้าดังกล่าว (ก็คืออุปทาน) จะลดลงไปเรื่อย ๆ เหตุเพราะทุนหนี จนกระทั่งกลับมาสอดคล้องกับอุปสงค์และราคาขึ้นมาระดับเดียวกับต้นทุนการผลิตอีกครั้ง แต่ค่อนข้างที่อุปทานจะลดต่ำลงใต้อุปสงค์แล้วราคากลับขึ้นมาเหนือต้นทุนการผลิตอีกครั้งเสียมากกว่า เพราะราคาปัจจุบันของสินค้าอยู่เหนือหรือใต้ต้นทุนการผลิตเสมอ

เราเห็นว่าทุนย้ายถิ่นเข้าออกแว่นแคว้นแต่ละอุตสาหกรรมจากที่หนึ่งไปอีกที่อยู่เสมอ ราคาสูงส่งผลให้ย้ายเข้าจนล้นเมือง ราคาต่ำทำให้ย้ายออกจนเมืองร้าง

เรายังสามารถแสดงจากอีกมุมให้เห็นว่าไม่เพียงแค่อุปทานเท่านั้น แต่อุปสงค์ยังกำหนดโดยต้นทุนการผลิตเช่นกัน แต่นี่จะพาเราออกนอกประเด็นเกินไป

เราเห็นว่าการผันผวนของอุปทานและอุปสงค์นำราคาของสินค้ากลับมาที่ต้นทุนการผลิตตลอดเวลา ราคาจริงของสินค้าอยู่เหนือหรือใต้ต้นทุนการผลิตก็จริง แต่การขึ้นลงนั้นถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ทำให้ภายในระยะเวลาหนึ่ง บวกลบกระแสขึ้นลงของอุตสาหกรรมแล้ว สินค้าจะแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันตามต้นทุนการผลิตของตัวเอง ราคาของมันจึงกำหนดโดยต้นทุนการผลิตของมัน

อย่าเข้าใจคำว่าการกำหนดราคาสินค้าโดยต้นทุนการผลิตในแบบเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพี นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าราคาเฉลี่ยของสินค้าเท่ากับต้นทุนการผลิตเป็นกฎเกณฑ์ และถือว่าความเคลื่อนไหวไร้ระเบียบ ที่ขึ้นแล้วทดด้วยลง ลงทดด้วยขึ้น เป็นอุบัติเหตุ เราจะถือความผันผวนเป็นกฎและให้การกำหนดราคาสินค้าโดยต้นทุนการผลิตเป็นอุบัติเหตุก็ได้——ดังที่นักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ ทำไปแล้ว แต่ความผันผวนนี้เอง หากเพ่งมองดู นำพามาซึ่งหายนะใหญ่หลวงสะท้านโลกทะลวงฐานรากสังคมกระฎุมพี——ความผันผวนนั้นเองที่บังคับให้ราคาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ระเบียบอุบัติในองค์รวมของความเคลื่อนไหวไร้ระเบียบ ตลอดกระบวนวิถีอนาธิปไตยอุตสาหกรรม ในความเคลื่อนไหววัฏจักร กล่าวได้ว่า การแข่งขันถ่วงดุลความฟุ่มเฟือยด้วยความฟุ้งเฟ้อ

เราจึงเห็นว่าราคาของสินค้ากำหนดโดยต้นทุนการผลิต ในแบบที่เวลาซึ่งสินค้าราคาสูงขึ้นเหนือต้นทุนการผลิต จะทดด้วยเวลาซึ่งต่ำลงใต้ต้นทุนการผลิต และในทางกลับกันด้วย แน่นอนว่านี่ใช้ไม่ได้กับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่ใช้ได้เฉพาะกับอุตสาหกรรมสาขาหนึ่งทั้งสาขา เช่นเดียวกัน ใช้ไม่ได้กับนักอุตสาหกรรมเจ้าใดเจ้าหนึ่ง แต่ใช้ได้เฉพาะกับทั้งชนชั้นของนักอุตสาหกรรม

การกำหนดราคาโดยต้นทุนการผลิตเหมือนกับการกำหนดราคาโดยเวลาแรงงานที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้า เพราะต้นทุนการผลิตประกอบด้วย อันดับแรก ราคาวัตถุดิบและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ฯลฯ นั่นก็คือราคาของผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งใช้จำนวนวันทำงานเท่ากันในการผลิต ดังนั้นแสดงถึงเวลาแรงงานปริมาณหนึ่ง และอันดับสอง ราคาของแรงงานโดยตรง ซึ่งก็วัดด้วยระยะเวลาเช่นกัน

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน