ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทนำ

จาก วิกิซอร์ซ
แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
คำนำโดย ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

บทนำ

จุลสารฉบับนี้ปรากฏครั้งแรกเป็นชุดบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์น็อยเออไรนิชเชอฉบับวันที่ 4 เมษายน 1849 เป็นต้นไป เนื้อหาประกอบด้วยปาฐกถาของมาคส์ในปี 1847 ต่อหน้าสมาคมกรรมกรเยอรมันในบรัสเซลส์ แต่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นจนถึงตอนนี้ คำสัญญากับผู้อ่านว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป” ท้ายบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับที่ 269 ก็ไม่กลายเป็นจริง สืบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ณ เวลานั้น รัสเซียรุกรานฮังการี และการลุกฮือใน เดรสเดิน อีเซอร์โลน เอลเบอร์เฟลด์ ฟัลทซ์ และบาเดิน ทำให้หนังสือพิมพ์ถูกระงับเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1849 และท่ามกลางเอกสารของมาคส์ที่หลงเหลือนั้น ก็ไม่พบต้นฉบับสำหรับบทความต่อ ๆ ไป

มีการตีพิมพ์แรงงานรับจ้างและทุนออกมาโดยอิสระหลายฉบับ ล่าสุดเผยแพร่ในปี 1884 โดยสมาคมการพิมพ์สหกรณ์สวิสในฮ็อททิงเงิน-ซือริช จนบัดนี้ ทุกฉบับมีเนื้อหาตรงตามต้นฉบับทุกตัวอักษร แต่ในเมื่อจะนำฉบับปัจจุบันมาหมุนเวียนใช้ทำใบโฆษณาชวนเชื่ออย่างน้อย 10,000 ฉบับ ผมจำต้องถามตัวเองว่า ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ มาคส์เองจะยอมให้ใช้ฉบับพิมพ์ใหม่ตรงตัวโดยไม่ดัดแปลงเลยหรือไม่?

ในทศวรรษ 1840 มาคส์ยังเขียนบทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองไม่เสร็จ และกว่าจะเสร็จก็ปลายทศวรรษ 1850 แล้ว ด้วยเหตุนี้ งานเขียนที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนบทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนแรกเสร็จคลาดเคลื่อนจากงานเขียนหลังปี 1859 ในบางจุด และมีศัพท์และประโยคที่ไม่แน่นอนหรือแม้กระทั่งผิดหากมองกลับไปจากมุมมองของงานเขียนภายหลัง แน่นอนว่าในฉบับธรรมดาสำหรับสาธารณชนทั่วไป มุมมองเดิมก็มีที่ทางเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางความคิดของผู้เขียน และทั้งผู้เขียนและสาธารณชนย่อมมีสิทธิเข้าถึงฉบับพิมพ์ใหม่ของงานเขียนเก่าอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ในกรณีนั้น ผมไม่นึกฝันไปเปลี่ยนแม้แต่คำเดียว แต่เมื่อเป็นฉบับที่กำหนดไว้สำหรับโฆษณาชวนเชื่อโดยเฉพาะ ในกรณีนี้ มาคส์เองจะนำงานเก่า ๆ ตั้งแต่ปี 1849 มาดัดแปลงให้เข้ากับจุดยืนใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย และผมมั่นใจว่าที่ผมดัดแปลงและต่อเดิมเนื้อหาบางจุดเข้าไปในฉบับนี้ ที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ในทุกประเด็กหลัก เป็นการกระทำตามเจตจำนงของมาคส์ ดังนั้น ผมขอกล่าวต่อผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ จุลสารฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่มาคส์เขียนไว้ในปี 1849 หากแต่เป็นประมาณการของสิ่งที่มาคส์น่าจะเขียนหากเขียนในปี 1891 มากกว่านั้น สำเนาต้นฉบับมีอยู่ทั่วแล้ว และก็เพียงพอแล้วจนกว่าผมจะสามารถเผยแพร่งานของมาคส์ฉบับสมบูรณ์ที่มิได้ดัดแปลงในภายภาคหน้า

การดัดแปลงของผมมีหนึ่งจุดเป็นหลัก หากอิงตามเนื้อหาเดิมแล้ว คนทำงานขายแรงงานของเขาแลกกับค่าจ้างจากนายทุน หากอิงตามเนื้อหาปัจจุบัน เขาขายพลังแรงงานของเขา ผมจำต้องอธิบายจุดนี้แก่เหล่าคนงาน ให้เข้าใจว่าเราไม่ได้นั่งเล่นคำหรืออย่างไร แต่กำลังพูดถึงหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดในเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งแขนง และแก่เหล่ากระฎุมพี ให้ยอมรับว่าเหล่าคนงานไร้การศึกษา ผู้สามารถเข้าใจการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ยากที่สุดได้อย่างง่ายดายนั้น เก่งกาจกว่าเหล่าผู้ “มีวัฒนธรรม” ที่หยิ่งยโส ผู้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากเยี่ยงนี้ได้แม้ใช้เวลาทั้งชีวิต

เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิก[1] ยืมนิยามปัจจุบันของผู้ผลิตมาจากธรรมเนียมอุตสาหกรรม ว่าซื้อและจ่ายค่าแรงงานให้ลูกจ้าง แนวคิดนี้ใช้ได้พอสมควรสำหรับธุรกิจของผู้ผลิต ไม่ว่าในการทำบัญชีหรือการคำนวณราคา แต่เมื่อถูกยืมมาใช้ในเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างซื่อ ๆ แล้ว ก็ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและความสับสนแสนประหลาดอย่างแท้จริง

ที่ราคาของสินค้าทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือสินค้าที่เรียกว่า “แรงงาน” เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับแล้ว ว่ามันขึ้นลงเป็นผลจากพฤติการณ์หลากหลาย ซึ่งมักไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าเองแม้แต่น้อย จึงดูเหมือนเป็นกฎว่าราคาถูกกำหนดโดยความบังเอิญล้วน ๆ ดังนั้น เมื่อเศรษฐศาสตร์การเมืองเสนอตนเป็นวิทยาศาสตร์อีกสาขา ภารกิจแรกคือการแสวงหากฎเกณฑ์เบื้องหลังความบังเอิญดังกล่าว อย่างที่เห็นเป็นสิ่งที่กำหนดราคาสินค้า ซึ่งแท้จริงมันนี่เองที่ควบคุมความบังเอิญนี้ ท่ามกลางราคาของสินค้าต่าง ๆ กวัดแกว่งผันผวน ขึ้น ๆ ลง ๆ จะสืบค้นเจอจุดกึ่งกลางคงที่จุดหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่ราคาของสินค้ากวัดแกว่งผันผวนขึ้นลงไปมารอบ ๆ กล่าวสั้น ๆ ว่า: จากราคาของสินค้า เศรษฐศาสตร์การเมืองแสวงหามูลค่าของสินค้ามาเป็นกฎกำกับ ซึ่งสามารถใช้อธิบายความผันผวนของราคาได้ทั้งหมด และสามารถลดรูปทั้งหมดเป็นกฎนี้ได้ในที่สุด

และแล้ว เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิกก็พบว่ามูลค่าของสินค้ากำหนดโดยแรงงานที่มีอยู่ข้างในและจำเป็นต่อการผลิต แล้วก็พอใจกับคำอธิบายนี้ เราจะหยุดตรงนี้เลยก็ได้ตอนนี้ แต่เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ผมจะต้องเตือนผู้อ่านว่า วันนี้ คำอธิบายนี้ไม่เพียงพออีกต่อไป มาคส์เป็นคนแรกที่สอบสวนคุณสมบัติสร้างมูลค่าของแรงงานอย่างถี่ถ้วน และพบว่าไม่ใช่แรงงานอันจำเป็นทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขทั้งหมด ไม่ว่าเท่าที่เห็นหรือที่จำเป็นจริง ๆ ต่อการผลิตสินค้า มอบขนาดของมูลค่าแก่สินค้านั้นซึ่งสอดคล้องกับปริมาณของแรงงานที่ใช้ไป ดังนั้น วันนี้ที่เรากล่าวโดยย่อ แบบเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์อย่างริคาร์โด ว่ามูลค่าของสินค้ากำหนดโดยแรงงานอันจำเป็นในการผลิต เรารวมข้อสงวนและข้อจำกัดจากมาคส์ด้วยเสมอ เท่านี้พอแล้วสำหรับเรา ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ในบทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองปี 1859 และในทุนเล่มแรก

แต่ทันใดที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้การกำหนดมูลค่าด้วยแรงงานอย่างนี้กับสินค้า “แรงงาน” เขาขยับจากข้อขัดแย้งหนึ่งไปข้อขัดแย้งใหม่ มูลค่าของ “แรงงาน” กำหนดอย่างไร? ก็โดยแรงงานอันจำเป็นที่มีอยู่ข้างใน แต่มีแรงงานอยู่ข้างในแรงงานของคนงานในหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หนึ่งปี เท่าใด? ก็แรงงานหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หนึ่งปี หากแรงงานเป็นมาตรวัดมูลค่าทั้งปวง เราจะสามารถแสดงออก “มูลค่าของแรงงาน” เป็นแรงงานได้เท่านั้น แต่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมูลค่าของแรงงานหนึ่งชั่วโมงเลย ถ้าเรารู้แค่ว่ามันเท่ากับแรงงานหนึ่งชั่วโมง เหตุฉะนี้ เราไม่ได้ก้าวเข้าใกล้เส้นชัยของเราเลยแม้แต่น้อย ได้แต่วกวนซ้ำซากกับที่

เศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกจึงพยายามหาทางใหม่ กล่าวว่า: มูลค่าของสินค้าเท่ากับต้นทุนการผลิต แล้วต้นทุนการผลิตของ “แรงงาน” คืออะไร? เพื่อตอบคำถามนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำต้องดัดงอตรรกะเล็กน้อย แทนที่จะสืบสวนต้นทุนการผลิตของแรงงานเอง น่าเสียดายที่ไม่สามารถสืบหาได้ พวกเขาหันมาสืบสวนต้นทุนการผลิตของคนงานแทน และอย่างหลังนี้สืบหาได้ โดยเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัยและสถานการณ์ แต่ในสภาพสังคมหนึ่ง ในละแวกหนึ่ง และในสาขาการผลิตหนึ่ง อย่างน้อยมีค่าในระยะที่แคบพอสมควร ปัจจุบันเราอาศัยภายใต้ระบอบการผลิตแบบทุนนิยม และภายใต้ระบอบนี้มีชนชั้นของประชากรขนาดใหญ่ที่เติบโตอย่างคงที่ ผู้มีชีวิตอยู่ได้ต่อเมื่อทำงานให้เจ้าของปัจจัยการผลิต——อุปกรณ์ เครื่องจักร วัตถุดิบ และปัจจัยการยังชีพ——แลกกับค่าจ้าง ต้นทุนการผลิตของกรรมกรบนฐานของวิถีการผลิตรูปแบบนี้ประกอบด้วยผลรวมของปัจจัยการยังชีพ (หรือราคาของมันเป็นตัวเงิน) ซึ่งโดยเฉลี่ยจำเป็นเพื่อให้เขาสามารถทำงาน คงไว้ซึ่งความสามารถทำงานนั้น และเพื่อทดแทนเขาเมื่อลาออก ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งอายุ โรค หรือความตาย ด้วยกรรมกรคนใหม่——กล่าวคือ เพื่อแพร่พันธุ์ชนชั้นแรงงานให้คงจำนวนเท่าที่จำเป็น

สมมุติว่าราคาตัวเงินของปัจจัยการยังชีพเหล่านี้เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 3 เหรียญต่อวัน กรรมกรคนนี้จึงจะได้ค่าจ้างรายวัน 3 เหรียญจากนายจ้าง นายทุนให้เขาทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันเป็นการแลกเปลี่ยน มากไปกว่านั้น นายทุนของเราจะคำนวณตัวเลขประมาณแบบนี้: สมมุติว่ากรรมกรของเรา (เป็นช่างเครื่อง) ต้องสร้างส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของเครื่องจักร ซึ่งทำเสร็จภายในหนึ่งวัน วัตถุดิบ (เหล็กและทองเหลืองที่เตรียมให้แล้วตามที่จำเป็น) มีต้นทุน 20 เหรียญ ถ่านหินที่ใช้ในเครื่องจักรไอน้ำ ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องกลึง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ทำงานมีค่าเท่ากับ 1 เหรียญสำหรับหนึ่งวันและกรรมกรหนึ่งคน ค่าจ้างหนึ่งวันเท่ากับ 3 ชิลลิงตามสมมุติฐานของเรา ทั้งหมดทั้งมวลชิ้นส่วนของเครื่องจักรชิ้นนี้เท่ากับ 24 เหรียญ

แต่นายทุนคำนวณว่าเขาจะได้เงินจากลูกค้าเฉลี่ยแล้ว 27 เหรียญ มากกว่ารายจ่ายไป 3 เหรียญ

3 เหรียญที่นายทุนเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองมาจากไหน? หากอิงตามคำกล่าวอ้างของเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก ในระยะยาวแล้ว สินค้าขายที่มูลค่าของตัวเอง นั่นก็คือ ขายที่ราคาที่สอดคล้องกับปริมาณของแรงงานที่จำเป็นในสินค้า ราคาเฉลี่ยของชิ้นส่วนเครื่องจักรของเรา——27 เหรียญ——จึงเท่ากับมูลค่าของมัน หรือเท่ากับปริมาณของแรงงานที่มีอยู่ข้างในนั่นเอง แต่จากทั้งหมด 27 เหรียญ 21 เหรียญเป็นมูลค่าของสิ่งที่มีอยู่ก่อนช่างเครื่องเริ่มทำงานเสียอีก 20 มาจากวัตถุดิบ 1 มาจากเชื้อเพลิงที่เผาไประหว่างทำงานและค่าเสื่อมประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่เหลืออีก 6 เหรียญเป็นมูลค่าที่เพิ่มให้มูลค่าของวัตถุดิบ แต่ตามสมมุติฐานของนักเศรษฐศาสตร์ของเราแล้ว 6 เหรียญเกิดจากแรงงานที่กรรมกรใส่เข้าไปในวัตถุดิบได้เท่านั้น ตามนี้ แรงงานเขาสิบสองชั่วโมงได้สร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมา 6 เหรียญ ดังนั้นมูลค่าของแรงงานสิบสองชั่วโมงเท่ากับ 6 เหรียญ สุดท้ายเราค้นพบว่า “มูลค่าของแรงงาน” มีค่าเท่าใด

“ประเดี๋ยวนะ!” ช่างเครื่องคนนี้ตะโกน “หกเหรียญหรือ? แต่ฉันได้เงินแค่ 3 ชิลลิงเองนี่! นายทุนคนนี้สาบานหนักหนาว่ามูลค่าของแรงงานเราสิบสองชั่วโมงมีค่าไม่เกิน 3 เหรียญ และหากฉันขอให้เป็น 6 เหรียญ เขาคงหัวเราะเยาะเย้ย คุณเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟัง?”

หากก่อนหน้านี้เราได้วงจรอุบาทว์มากับมูลค่าของแรงงาน คราวนี้เราพุ่งเข้าชนข้อขัดแย้งที่แก้ไม่ได้อย่างจัง เราหามูลค่าของแรงงานแล้วเราก็พบว่ามากเกินกว่าจะใช้ได้ สำหรับกรรมกร มูลค่าของแรงงานสิบสองชั่วโมงเท่ากับ 3 เหรียญ สำหรับนายทุน มันเท่ากับ 6 เหรียญ ซึ่งเขาจ่ายค่าจ้างให้กรรมกร 3 เหรียญ และเก็บที่เหลือ 3 เหรียญเข้ากระเป๋าตัวเอง อิงตามนี้แล้ว แรงงานไม่ได้มีมูลค่าเดียว แต่มีอยู่สองค่า และยังเป็นมูลค่าที่ต่างกันอย่างมากอีกด้วย!

ทันทีที่เราลดรูปมูลค่า ซึ่งขณะนี้แสดงออกเป็นเงิน กลายเป็นเวลาแรงงาน ข้อขัดแย้งนี้ยิ่งเหลวไหลกว่าเดิม หากแรงงานสิบสองชั่วโมงสร้างมูลค่าใหม่ 6 เหรียญ แสดงว่าในหกชั่วโมงสร้างมูลค่าใหม่เท่ากับ 3 เหรียญ——จำนวนที่กรรมกรได้แลกกับแรงงานสิบสองชั่วโมง กรรมกรคนนี้ได้ผลผลิตจากแรงงานสิบสองชั่วโมงเท่ากับแรงงานหกชั่วโมง เราจึงถูกบังคับให้สรุปได้หนึ่งในสองแบบ: ว่าแรงงานมีมูลค่าสองค่า ค่าหนึ่งมากกว่าอีกค่าสองเท่า หรือว่าสิบสองเท่ากับหก! ไม่ว่ากรณีไหนก็เหลวไหลทั้งสิ้น จะไหลไปทางไหน ก็หาทางออกจากข้อขัดแย้งนี้ไม่ได้ตราบที่ยังพูดถึงการซื้อขาย “แรงงาน” หรือพูดถึง “มูลค่าของแรงงาน” และปรากฏว่านักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ประสบกับสถานการณ์เดียวกัน สาขาสุดท้ายของเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก——สำนักริคาร์โด——พังทลายลงโดยส่วนมากก็เพราะข้อขัดแย้งที่แก้ไขไม่ได้เดียวกัน เศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิกพาตัวเองเข้าซอยตัน และผู้พบทางออกจากซอยตันคือ คาร์ล มาคส์

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตของ “แรงงาน” แท้จริงแล้วเป็นต้นทุนการผลิตของตัวกรรมกรที่มีชีวิตอยู่นี้เอง ไม่ใช่ของ “แรงงาน” และสิ่งที่เขาขายให้นายทุนก็ไม่ใช่แรงงาน “ทันใดที่แรงงานของเขาเริ่มขึ้น” มาคส์กล่าว “มันหยุดเป็นของเขา และฉะนั้นเขาไม่สามารถขายได้อีกต่อไป” อย่างมากที่สุด เขาขายแรงงานในอนาคตได้ คือการยอมรับข้อผูกมัดว่าจะทำงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จภายในเวลาหนึ่ง แต่เช่นนี้เขาไม่ได้ขายแรงงาน (ซึ่งต้องกระทำก่อนอื่น) แต่เขาทิ้งพลังแรงงานของเขาให้นายทุนแลกกับจำนวนเงินที่กำหนดไว้เป็นเวลาเท่าหนึ่ง (ในกรณีของค่าจ้างรายเวลา) หรือสำหรับการทำภารกิจที่กำหนดให้สำเร็จ (ในกรณีของค่าจ้างรายชิ้นงาน) เขารับจ้างหรือขายพลังแรงงานของเขา แต่พลังแรงงานนี้เติบโตมาพร้อมกับเจ้าของและแยกทั้งสองจากกันไม่ได้ ต้นทุนการผลิตมันจึงประจวบกับต้นทุนการผลิตของของตัวเขาเอง สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าต้นทุนการผลิตของแรงงานจริง ๆ แล้วคือต้นทุนการผลิตของกรรมกรเอง และฉะนั้นของพลังแรงงานเขา เหตุฉะนี้ เรายังสามารถตามรอยจากต้นทุนการผลิตพลังแรงงานย้อนกลับไปหามูลค่าของพลังแรงงานได้ แล้วกำหนดปริมาณของแรงงานทางสังคมอันจำเป็นต่อการผลิตพลังแรงงานคุณภาพเท่าหนึ่ง ที่มาคส์ทำไว้ในบท “การซื้อขายพลังแรงงาน”[2]

แล้วสิ่งต่อไปหลังจากกรรมกรขายพลังแรงงานแล้ว นั่นก็คือหลังจากที่ทิ้งพลังแรงงานไว้กับนายทุนแลกกับจำนวนเงินที่ตกลงกัน——ไม่ว่าค่าจ้างเป็นรายเวลาหรือรายชิ้นคืออะไร? นายทุนจะพากรรมกรไปยังที่ทำงานหรือโรงงานของเขา ซึ่งมีสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นทั้งหมดสำหรับงาน——วัตถุดิบ วัสดุเสริม (ถ่านหิน สีย้อม ฯลฯ) เครื่องมือ และเครื่องจักร ที่นี่คนงานเริ่มทำงาน ดังข้างบน ค่าจ้างรายวัน 3 เหรียญ และจะเป็นค่าจ้างรายวันหรือรายชิ้นงานก็ไม่ต่างกัน เราสมมุติอีกว่าในเวลาสิบสองชั่วโมง คนงานเพิ่มมูลค่าใหม่ 6 เหรียญให้มูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ไปด้วยแรงงานของเขา ซึ่งนายทุนทำให้มูลค่าใหม่กลายเป็นจริงผ่านการขายชิ้นงานสำเร็จ จากมูลค่าใหม่นี้ เขาจ่ายค่าจ้างคนงาน 3 เหรียญ และเก็บที่เหลืออีก 3 เหรียญไว้กับตัวเอง อย่างนี้แล้วหากกรรมกรสร้างมูลค่า 6 เหรียญในสิบสองชั่วโมง ในหกชั่วโมงเขาจะสร้างมูลค่า 3 เหรียญ ด้วยเหตุนี้ กรรมกรจึงทำงานให้นายทุนหกชั่วโมงซึ่งมีค่าเท่ากับค่าจ้าง 3 เหรียญที่เขาได้รับ หกชั่วโมงผ่านไป ทั้งสองฝ่ายหายกัน ไม่ติดหนี้กันสักเพนนีเดียว

“ประเดี๋ยวนะ!” คราวนี้นายทุนตะโกนออกมา “ผมจ้างกรรมกรคนนี้ทั้งวันสิบสองชั่วโมง แต่หกชั่วโมงมันแค่ครึ่งวัน เพราะฉะนั้นก็ทำงานให้ขันแข็งต่อไปจนกว่าจะครบอีกหกชั่วโมง——อย่างนั้นแล้วเราถึงจะหายกัน” และคือความจริงที่กรรมกรจำต้องจำนนต่อเงื่อนไขในสัญญาซึ่งเขาจำยอมเข้าร่วมตาม “เจตจำนงเสรีของเขา” ในสัญญา เขาผูกมัดตัวเองให้ทำงานสิบสองชั่วโมงแลกกับผลผลิตของแรงงานที่มีค่าเท่าแรงงานหกชั่วโมงเท่านั้น

ค่าจ้างตามชิ้นงานก็เช่นกัน สมมุติว่าคนงานของเราทำสินค้าได้ 12 ชิ้นในสิบสองชั่วโมง แต่ละชิ้นใช้วัตถุดิบรวมค่าบำรุงรักษาราคา 2 เหรียญและขายราคา 212 เหรียญ ตามสมมุติฐานเดิม นายทุนให้กรรมกรเสี้ยวเหรียญต่อชิ้น ทั้งหมดรวม 3 เหรียญแลกกับสิบสองชิ้นงาน เพื่อได้เงินนี้ คนงานต้องใช้เวลาสิบสองชั่วโมง นายทุนได้เงิน 30 เหรียญแลกกับงานสิบสองชิ้น ลบค่าวัตถุดิบและบำรุงรักษาไป 24 เหรียญ เหลือ 6 เหรียญ จ่ายค่าจ้าง 3 เหรียญและเก็บที่เหลือ 3 เหรียญเข้ากระเป๋า เหมือนตะกี้เลย! อย่างนี้คนงานก็ใช้แรงงานหกชั่วโมงให้ตัวเอง นั่นคือเพื่อทดแทนค่าจ้าง (หรือครึ่งชั่วโมงต่อชั่วโมงในสิบสองชั่วโมง) และอีกหกชั่วโมงให้นายทุน

โขดหินที่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดติดอยู่ ตราบใดที่เริ่มจากมูลค่าของแรงงาน หายไปในทันใดที่เราเปลี่ยนมาเริ่มจากมูลค่าของพลังแรงงาน พลังแรงงานในสังคมทุนนิยมปัจจุบันคือสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าชนิดอื่น แต่เป็นสินค้าที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ความแปลกประหลาดได้แก่การเป็นแรงสร้างมูลค่า แหล่งของมูลค่า และมากไปกว่านั้น หากจัดการอย่างดี การเป็นแหล่งของมูลค่าที่มากกว่าที่ตัวเองมี ในสภาพการผลิตปัจจุบัน พลังแรงงานของมนุษย์ใช่เพียงผลิตมูลค่าในหนึ่งวันมากกว่าที่ตัวเองมีและมีราคา แต่ด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์แต่ละครั้ง ด้วยสิ่งประดิษฐ์ทางเทคนิคใหม่ ๆ ผลผลิตส่วนเกินต่อวันก็เพิ่มขึ้นเหนือต้นทุนรายวัน ทว่าผลคือ เวลาทำงานต่อวันที่กรรมกรใช้ผลิตมูลค่าเทียบเท่าค่าจ้างของเขาจะสั้นลง และในทางกลับกัน เวลาทำงานที่เขาต้องทำให้เปล่ากับเหล่านายทุนจะยาวนานขึ้น

และนี่เองคือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมสมัยใหม่ทั้งมวล: ชนชั้นแรงงานเป็นผู้ผลิตมูลค่าแต่เพียงผู้เดียว เพราะมูลค่าเป็นเพียงการแสดงออกอีกรูปแบบหนึ่งของแรงงาน สังคมทุนนิยมปัจจุบันตั้งให้การแสดงออกนี้เป็นแรงงานอันจำเป็นทางสังคมซึ่งมีอยู่ในสินค้าชิ้นหนึ่ง แต่มูลค่าเหล่านี้ที่คนงานผลิตไม่ตกเป็นของคนงาน หากแต่ตกเป็นของเจ้าของวัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมือ และเงิน ซึ่งทำให้พวกเขาเหล่านี้สามารถซื้อพลังแรงงานของชนชั้นแรงงานได้ ดังนั้น ชนชั้นแรงงานได้ผลตอบแทนเพียงส่วนหนึ่งจากผลผลิตทั้งมวลที่ผลิตเอง และอย่างที่เราได้เห็นไป ส่วนที่เหลือที่ตกเป็นของชนชั้นนายทุน ซึ่งอย่างมากที่สุดต้องแบ่งปันกับชนชั้นเจ้าของที่ดินเท่านั้น ก็เพิ่มพูนขึ้นไปทุกครั้งที่มีการค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ในขณะที่สัดส่วนซึ่งตกเป็นของชนชั้นแรงงาน (ต่อคน) ก็เพิ่ม แต่น้อยนิดและแสนช้าเฉื่อย หรือไม่เพิ่มเลย และภายใต้บางเงื่อนไขอาจถึงกับลดลง

แต่การค้นพบและสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ที่แทนที่กันอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และผลิตภาพของแรงงานมนุษย์ที่สูงขึ้นวันต่อวันในอัตราอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน สุดท้ายให้กำเนิดความขัดแย้งที่ทำให้สังคมทุนนิยมในปัจจุบันจำต้องพังทลายลง ในด้านหนึ่ง เกิดความมั่งคั่งเหลือจะวัดได้และความลื่นไหลยิ่งยวดของผลิตภัณฑ์จนผู้ซื้อมิอาจรับมือได้ ในอีกด้านหนึ่ง สังคมส่วนใหญ่แปลงเป็นชนกรรมาชีพ แปรสภาพเป็นกรรมกรรับจ้าง และด้วยการนั้น ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์สำหรับตนเองจากความลื่นไหลยิ่งยวดของผลิตภัณฑ์ได้ การแบ่งแยกสังคมเป็นชนชั้นขนาดเล็กซึ่งรวยเกินพอดี กับชนชั้นของกรรมกรรับจ้างขนาดใหญ่ซึ่งปราศจากทรัพย์สินทั้งสิ้น แสดงถึงสังคมที่รัดคอตัวเองด้วยความลื่นไหลยิ่งยวดของตน ขณะเดียวกันที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมขาดการป้องกันจากความต้องการสุดขีดโดยสิ้นเชิง สภาวะนี้นับวันยิ่งไร้เหตุผลและความจำเป็นยิ่งขึ้นไป มันจะต้องถูกกำจัดทิ้งเสีย และกำจัดได้ ระเบียบสังคมใหม่เป็นไปได้ สังคมซึ่งความแตกต่างทางชนชั้นในปัจจุบันจะหายไป และซึ่ง——บางทีหลังจากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสั้น ๆ ซึ่งอาจบกพร่องในบางแง่มุม แต่อย่างไรก็มีประโยชน์มากในทางจริยธรรม——ที่นั่นจะมีปัจจัยสำหรับชีวิต สำหรับความเพลิดเพลินในชีวิต และสำหรับพัฒนาการและกิจกรรมของกายินทรีย์และมนินทรีย์ทั้งมวล ผ่านการใช้และการพัฒนาต่อไปอย่างเป็นระบบของพลังการผลิตอันมหึมาของสังคม ซึ่งแม้ตอนนี้ก็มีอยู่แล้ว ด้วยทุกคนจำต้องทำงานโดยเท่ากัน ความมุ่งมั่นของเหล่าคนงานที่จะบรรลุซึ่งระเบียบสังคมใหม่นี้กำลังเติบโตยิ่งกว่าเดิม และจะพิสูจน์ตนในทั้งสองฝั่งฝากสมุทรวันเมย์เดย์ที่จะถึงนี้ และในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

ลอนดอน, 30 เมษายน 1891.

  1. “คำว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิก ผมหมายถึงเศรษฐศาสตร์ซึ่ง ตั้งแต่สมัยวิลเลียม เพตตี ได้สอบสวนความสัมพันธ์การผลิตจริงในสังคมกระฎุมพี ตรงข้ามกับเศรษฐศาสตร์แบบหยาบที่จัดการกับภาพลักษณ์เท่านั้น ครุ่นคิดไม่หยุดกับเนื้อหาที่เศรษฐศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์จัดหามาให้แต่ช้านาน และแสวงหาคำอธิบายที่เป็นไปได้ของปรากฏการณ์ที่เด่นชัดอย่างยิ่งสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของชนชั้นกระฎุมพี แต่สำหรับที่เหลือจำกัดตัวเองไว้กับการจัดระบบอย่างอวดรู้ และป่าวประกาศความคิดซ้ำซากของชนชั้นกระฎุมพีที่พอใจในโลกของตัวเอง ซึ่งสำหรับพวกเขา เป็นโลกที่ดีที่สุดท่ามกลางโลกที่เป็นไปได้ทั้งหมด ราวกับเป็นสัจธรรมนิรันดร์” (คาร์ล มาคส์, ทุน, หน้า 53)
    เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิกจบลงที่เดวิด ริคาร์โด ผู้แทนผู้ยิ่งใหญ่ของมัน——ผู้แปล
  2. ทุน, เล่ม 1, บทที่ 6.

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน